จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์

จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์

คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์

“ถึงพ่อแม่ของเด็ก ๆ ที่เป็นเกย์

ได้โปรดอย่าผลักไสและโปรดอยู่เคียงข้างลูกของพวกคุณ”

เนิ่นนานมาแล้วที่คนทุกยุคทุกสมัยได้ยินประโยค “ไม่มีรักใดยิ่งใหญ่กว่าครอบครัว” ซึ่งแทบไม่มีใครค้านเพราะความรักของพ่อแม่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ ทว่าหลายครอบครัวบนโลกใบนี้ยังต้องเจอกับความเจ็บปวด ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะรับตัวตน แนวคิด หรือสิ่งที่ลูกเป็นได้ ผลคือพวกเขาแตกหัก ตัดขาด สะบั้นสัมพันธ์ที่หลายคนกล่าวว่าเป็นสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นได้อย่างไม่ไยดี ย้ำเตือนความจริงว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีรักยิ่งใหญ่เสมอไป ช่วงทศวรรษที่ 1970 ถือเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดความเท่าเทียม เสรีภาพ และความเป็นตัวเองในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเข้มข้น ทว่าประเด็นเรื่องความแตกต่างทางเพศกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก มีเด็กชายหญิงหลายคนทะเลาะกับพ่อแม่ ถูกตบตี โดนไล่ออกจากบ้านด้วยเหตุผล ‘รสนิยมทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพแต่กำเนิด’ พ่อแม่ในช่วงเวลานั้นรู้สึกรับไม่ได้กับการที่ลูกชายหยิบกระโปรงของน้องสาวมาใส่ หรือเห็นลูกสาวตัวเองสวมกางเกงพี่ชายออกไปวิ่งเล่นกับเด็กผู้ชายข้างบ้าน ซ้ำร้ายเมื่อรู้ว่าพวกเขารักใคร่ชอบพอกับเพศเดียวกัน การทำร้ายร่างกายและคำด่าทอมากมายก็พรั่งพรูออกมาจากปากของบุพการี จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ จีน โซเบลสัน แมนฟอร์ด (Jeanne Sovelson Manford) มีอาชีพเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก เธอมีโอกาสได้คลุกคลีกับเด็ก พูดคุย รับรู้ความคิดความรู้สึกของพวกเขา พร้อมกับทำความเข้าใจว่าในสังคมไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายหรือหญิงถูกแบ่งชัดเจน ยังมีเด็ก ๆ อีกมากที่มีรสนิยมแตกต่างจากกรอบที่สังคมตีไว้มาหลายร้อยปี และรู้สึกว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลยสักนิด ซึ่งเป็นความคิดหัวก้าวหน้ามาก ๆ ในช่วงยุค 1970 จีนมีลูกสามคนและลูกชายคนหนึ่งเป็นเกย์ แต่เธอไม่เคยต่อว่าลูกชายว่าเป็นพวกวิปริตผิดเพศ ในเดือนเมษายน 1972 เธอได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลในย่านควีนส์ว่า ‘มอร์ตี้’ ลูกชายคนหนึ่งของเธอถูกรุมทำร้ายขณะกำลังแจกใบปลิวเรื่องการเคลื่อนไหวสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ มีรายงานว่าเขาถูกเตะต่อย โดนกระทืบ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาห้ามแล้วนำตัวมอร์ตี้ส่งโรงพยาบาล เหตุการณ์นี้สร้างความรู้สึกโกรธแค้นให้กับจีนเป็นอย่างมาก เพราะถึงแต่ละคนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากแค่ไหน ถึงคุณจะไม่เห็นด้วยมากเท่าไหร่ก็ไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายลูกชายของเธอ นอกจากบันทึกของเจ้าหน้าที่ จีนได้ทราบข่าวจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามอร์ตี้ถูกรุมต่อยอยู่นานกว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปห้าม เพราะเหตุความรุนแรงทำให้กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในยุคนั้นอดรนทนไม่ไหว ส่วนใหญ่ก็มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นบาร์แทบทุกคืน ดูถูกพวกเกย์ด้วยคำหยาบคาย ทำร้ายร่างกายพวกเขาทั้งที่ไม่มีใครขัดขืนหรือหนีการจับกุม ยังไม่รวมถึงกฎหมายอย่างการห้ามเพศเดียวกันจับมือกันในที่สาธารณะ ห้ามแต่งกายด้วยชุดของเพศตรงข้ามเกินสามชิ้น ห้ามสถานบันเทิงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่คนที่มีท่าทางเหมือนพวกรักร่วมเพศ (ที่ไม่มีเกณฑ์ตัดสินแน่ชัด) เอื้อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจกับประชาชนชาว LGBTQ+ ได้อย่างเต็มที่ จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ เมื่อความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม จีนจึงเขียนจดหมายประท้วงการกระทำที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนที่รุมทำร้ายลูกชายรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่นิ่งดูดาย แล้วส่งจดหมายดังกล่าวไปยังสำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ (The New York Post) ซึ่งบรรณาธิการสำนักข่าวก็ยินดีตีพิมพ์เรื่องราวและคำประท้วงของเธอลงหนังสือพิมพ์ คดีทำร้ายร่างกายเล็ก ๆ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายคนเริ่มจับจ้อง รายการโทรทัศน์กับวิทยุหลายเจ้าเชิญจีนไปร่วมพูดคุยถึงกรณีดังกล่าว เสียงของแม่คนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับชาวเกย์ดังขึ้นไปอีกขั้น

“พวกเขามีสิทธิอะไรมาทำร้ายลูกชายของฉันรวมถึงทำร้ายคนอื่น ๆ ทำไมตำรวจถึงไม่ปกป้องคนที่ถูกทำร้าย ?”

ช่วงเวลาที่จีนกำลังเดินสายสัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ผู้คนในนิวยอร์กยังคงจดจำเรื่องราว ‘การลุกฮือที่สโตนวอลล์ปี 1969’ กันได้ คืนวุ่นวายเกิดเพราะตำรวจบุกจับชาวเกย์ในบาร์ สโตนวอลล์ อิน ลุกลามจนเกิดการปะทะกินเวลานานจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน เหตุการณ์คืนนั้นทำให้ชาว LGBTQ + ส่วนใหญ่ไม่อยากหลบซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยุติธรรมอีกต่อไป จนทำให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทั่วมหานครนิวยอร์ก ซึ่งจีนกับสามีและลูกชายก็มักร่วมขบวนอยู่บ่อยครั้ง วันที่ 25 มิถุนายน 1972 จีนร่วมเดินอยู่ในขบวนไพรด์บนถนนคริสโตเฟอร์ ถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘Parents of Gays Unite in Support for our children’  ถึงแม้คนส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 จะมองว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นพวกมีความผิดปกติทางจิตหรือวิกลจริต (ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด) จนมองว่าเป็นอาชญากรรม การที่จีนซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ แต่ออกมาเดินถือป้ายบอกให้พ่อแม่ของเด็ก ๆ ช่วยสนับสนุนและอยู่ข้าง ๆ ลูก ทำให้เกิดผลที่หลากหลาย ชาวเกย์หลายคนในขบวนพอเห็นข้อความบนป้ายก็วิ่งเข้ามากอด บ้างก็หอมแก้ม กล่าวขอบคุณทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางคนถึงกับพูดว่า “ฉันอยากให้แม่ฉันอยู่ที่นี่บ้าง” จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ ถึงป้ายของเธอจะได้ใจเด็ก ๆ แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ของผู้ใหญ่บางคนมองว่าจีนยอมก้าวลงถนนร่วมกับ ‘พวกนั้น’ (ชาว LGBTQ+) เป็นเพราะแค่อยากช่วยลูกชายจิตป่วย ซึ่งเธอก็ไม่ได้ออกมาโต้ตอบคำวิจารณ์นี้ แต่บอกแค่เพียงว่า “มันเป็นสิ่งที่แม่ที่ดีเขาทำกัน” การยืนหยัดอยู่เคียงข้างลูกชายของจีนสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อชุมชนผู้หลากหลายทางเพศ แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็ต้องคอยรับโทรศัพท์กับจดหมายต่อว่าเพราะไม่พอใจที่ลูกชายของเธอเป็นเกย์ ขนาดเธอเป็นแม่ที่รักและปกป้องลูกจากสังคมที่ไม่ยอมรับยังโดนคนอื่นทำร้ายขนาดนี้ แล้วเด็กที่ครอบครัวผลักไสซ้ำยังถูกสังคมเหยียดหยามจะต้องแตกสลายมากขนาดไหน นอกจากนี้เธอยังเห็นข่าวความรุนแรงที่เยาวชนต้องเจออยู่บ่อยครั้งจนเกินรับไหว จีนกับเพื่อน ๆ อุดมการณ์เดียวกันจึงร่วมกันก่อตั้งองค์กร Parent, Families and Friends of Lesbian and Gays (PFLAG) ในปี 1973 และจัดประชุมครั้งแรกในโบสถ์ Duane United Methodist ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่บาทหลวงของโบสถ์นี้อนุญาตให้พวกเขาวางแผนรณรงค์ให้ผู้ปกครองยอมรับในความแตกต่างของเด็ก ๆ   จีน แมนฟอร์ด อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเยาวชนอย่างหนัก มีเด็กหลายคนต้องออกจากบ้านแล้วกลายเป็นพวกไร้บ้าน ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม มีชีวิตที่ตกต่ำเพียงเพราะรสนิยมทางเพศแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม จีนออกเดินสายตามโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ทั่วนิวยอร์ก กล่าวสุนทรพจน์ให้ผู้ปกครองอย่าโกรธเกลียดลูกตัวเอง เพราะเธอเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถมีส่วนช่วยกันเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ทำให้โลกใบนี้ปลอดภัยและเป็นมิตรกับชาว LGBTQ+ แล้วอนาคตข้างหน้าจะต้องดีกว่าเดิม จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ เดือนตุลาคม 2009 บารัค โอบามา ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์ในแคมเปญด้านสิทธิมนุษยชน ถึงที่มาของการก่อตั้งองค์กร PFLAG ของจีน แมนฟอร์ด เขากล่าวขอบคุณจีนจากใจที่มีส่วนช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่มีบาดแผลจากครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงช่วยกระตุ้นให้ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นชาว LGBTQ+ ได้เปิดอกทำความเข้าใจกับลูกหลานของตัวเองมากขึ้น ลบความเข้าใจเดิมว่าเกย์เป็นโรคร้ายที่น่าอับอาย เพื่อให้ทุกคนยอมรับตัวตนของกันและกัน ในขบวนไพรด์ประจำปี 1990 และ 1993 จีนที่อายุเข้าสู่เลขเจ็ดได้กลายเป็นแนวหน้าของขบวนไพรด์ไปเสียแล้ว เธอเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวเกย์รุ่นใหม่ พวกเขายกย่องสิ่งที่เธอทำ พวกเด็ก ๆ เชื้อเชิญให้จีนนั่งอยู่บนรถแห่นำขบวนที่ผู้ได้รับเกียรติส่วนใหญ่มักเป็นชาว LGBTQ+ แต่เธอกลับเป็นหญิงชราที่ได้รับความรักมากมาย ทำให้ชาวเกย์กล้าเปิดใจว่าผู้ชายผู้หญิงคนอื่น ๆ ก็อาจจะยอมรับเขาเหมือนที่จีนยอมรับในความแตกต่างของทุกคน   จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ ด้านมอร์ตี้ เขาสามารถลบคำด่าทอว่าเป็นลูกชายโรคจิตด้วยการใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่น ๆ เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก มีชีวิตอยู่กับแฟนหนุ่มอย่างมีความสุขและอยู่กับแม่ที่รักเขามากกว่าใคร หลังต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นมนุษย์มาอย่างยาวนาน จีนได้ไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับสามีและลูกสาวคนสุดท้องในซานฟรานซิสโก ก่อนจากโลกใบนี้ไปอย่างสงบเมื่อปี 2013 ด้วยวัย 92 ปี หนึ่งเดือนหลังจากการตายของจีน แมนฟอร์ด ประธานาธิบดีโอบามาได้มอบเหรียญเกียรติยศรางวัลพลเรือนให้แก่เธอ วันที่ 26 เมษายน 2014 ถนน 171 ที่อยู่ระหว่างถนนสาย 33 ถึง 35 ในย่านควีนส์ของนิวยอร์กได้รับการตั้งชื่อว่า ‘Jeanne, Jules, Morty Manford PFLAG Way’ เป็นชื่อถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของครอบครัวแมนฟอร์ด ในปี 2019 จีน แมนฟอร์ด เป็นหนึ่งในห้าสิบบุคคลที่ถูกบรรจุลงในหมวด ‘วีรบุรุษผู้บุกเบิก’ ที่อุทิศตนเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ชื่อของเธอจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสโตนวอลล์ร่วมกับ มาร์ชา พี. จอห์นสัน ซิลเวีย ริเวรา และนักต่อสู้คนอื่น ๆ อีก 48 คน   [caption id="attachment_26790" align="aligncenter" width="1200"] จีน แมนฟอร์ด: คุณแม่ยุค 70s ที่ออกมารณรงค์ไม่ให้คนทิ้งลูกเพียงเพราะเป็นเกย์ ลูกสาวของจีน แมนฟอร์ด[/caption]

“ฉันมีลูกเป็นเกย์ และฉันก็รักเขามากจริง ๆ

ฉันจะไม่ยอมทนกับเรื่องไร้สาระอย่างการเหยียดเพศและทำร้ายร่างกายเพียงเพราะเขาเป็นเกย์แน่นอน”

  ที่มา https://makinggayhistory.com/podcast/episode-1-6/ https://jwa.org/people/manford-jeanne https://www.nytimes.com/2013/01/11/obituaries/jeanne-manford-founder-of-pflag-dies-at-92.html?auth=login-facebook   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์