สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า...รัก กับการกดทับจากสิ่งใหญ่ใหญ่ที่เรียกว่า Beauty Standard

สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า...รัก กับการกดทับจากสิ่งใหญ่ใหญ่ที่เรียกว่า Beauty Standard

การกดทับจากสิ่งใหญ่ใหญ่ที่เรียกว่า Beauty Standard

“พี่โชนคะ น้ำมีเรื่องจะบอกพี่โชน คือน้ำชอบพี่โชนมาก ชอบมา 3 ปีแล้ว น้ำทำทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่างก็เพื่อพี่ น้ำไปคัดเลือกนางรำ เล่นละครเวที ไปเป็นดรัมเมเยอร์ เรียนหนังสือให้เก่งก็เพื่อพี่ แต่ตอนนี้น้ำรู้แล้วว่าสิ่งที่น้ำควรทำมากที่สุด และน่าจะทำมาตั้งนานแล้ว คือบอกกับพี่โชนตรง ๆ ว่า น้ำชอบพี่โชน” ประโยคสารภาพรักคุ้นหูจากภาพยนตร์โรแมนติก อย่าง ‘สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก’ ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างมากทั้งจากคนดูในสังคมออนไลน์และเว็บบอร์ด ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างรายได้ทั่วประเทศถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากภาพยนตร์เรื่องกวน มึน โฮ ในปี พ.ศ. 2553 และติดอันดับ 1 ‘ที่สุดแห่งปี 2553 ด้านบันเทิง’ จากผลการสำรวจของเอแบคโพล พร้อมทั้งกวาดรางวัลมากมายทั้งตัวภาพยนตร์และนักแสดง นอกจากได้รับความนิยมในไทยแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน จนในปี พ.ศ. 2562 จีนได้นำสิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่า…รัก ไปรีเมกใหม่เป็นซีรีส์เวอร์ชันจีน ด้วยชื่อ A Little Thing Called First Love แม้วันเวลาจะผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ หากภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงเป็นภาพยนตร์รักที่เมื่อเราย้อนกลับไปดูเมื่อไร ก็คงทำให้หวนคิดถึงช่วงเวลาที่แอบชอบใครสักคน   /บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ สิ่งเล็กเล็ก…ที่เรียกว่ารัก (2010) /   ‘น้ำ’ ชื่อของเด็กสาวผิวคล้ำใส่แว่น ม.1 แอบไปหลงรัก ‘พี่โชน’ รุ่นพี่ ม.4  หนุ่มหล่อขวัญใจของสาว ๆ ในโรงเรียน น้ำจึงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สวยและเก่งขึ้น ทั้งยอมเอามะขามเปียกมาขัดผิว เอาขมิ้นทาตัวเหลืองทั้งตัว ยอมทำวิธีต่าง ๆ ตามหนังสือ 9 สูตรรักฉบับนักเรียน และพยายามไปสมัครทำกิจกรรมเยอะ ๆ เพื่อที่จะให้พี่โชนหันมาสนใจในตัวเธอสักครั้ง   ความเจ็บปวดจาก ‘มาตรฐานความงาม’ ด้วยรูปร่างหน้าตาของน้ำไม่ได้จัดอยู่บนมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ที่จำกัดกรอบ ‘ความสวย’ ว่าต้องหุ่นดี ผิวขาวเรียบเนียน หน้าใสไร้สิว ตาโต จมูกโด่ง ขาเรียวเล็ก เป็นภาพตามอุดมคติที่ถูกถ่ายทอดออกมาซ้ำ ๆ ทำให้น้ำต้องถูกจัดเข้าไปอยู่ในนิยามของคำว่า ‘ไม่สวย’ การโดนล้อเลียน การโดนดูถูก และการโดนแบ่งแยกจึงเกิดขึ้น  “หน้าตาแบบพวกพี่น้ำ ไม่มีใครอยากคบด้วยหรอก”  คำพูดของแป้ง น้องสาวของน้ำพูดถึงการคบเพื่อนกลุ่มเดิมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่ ป.1 เพราะน้ำมีเพียงเพื่อนอย่างเชียร์ กี้ นิ่ม ซึ่งทั้งสามคือคนที่ถูกมองว่า ‘ไม่สวย’ เช่นเดียวกัน เลยต้องอยู่รวมกันเท่านั้น แม้แม่ของน้ำจะบอกว่าคนเราคบกันไม่ได้ดูแค่เรื่องของหน้าตาอย่างเดียว หากแป้งก็ยังคงตอบกลับว่า ยังไงเราก็ต้องดูเรื่องหน้าตาก่อนอย่างอื่นอยู่ดี สิ่งที่ตอกย้ำคำพูดของแป้งมากขึ้นไปอีก คือการที่กี้อยากจะไปเข้าร่วมกลุ่มกับแก๊งโบว์ขาว กลุ่มสาวหน้าตาสะสวยตรงตามมาตรฐานความงาม แต่สุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาหาน้ำ เชียร์ นิ่มเช่นเดิม เพราะคนกลุ่มนั้นไม่ได้ต้อนรับเธอ และจากคำพูดของกี้ที่บอกว่า ‘เขาหาว่าเราแย่งซีน’ คล้ายเป็นคำปลอบใจขำ ๆ แต่แฝงไปด้วยความเจ็บปวดที่มองว่าตัวเองแปลกแยกจากคนกลุ่มนั้นจนไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้    เมื่อ ‘ความสวย’ สร้างโอกาสให้คนไม่เท่าเทียมกัน “น้ำว่านะ พวกเราโคตรไม่เหมาะกับคอนเซปต์ ขาว สวย หมวย อะไรสาวนาฏศิลป์นั้นเลยอ่ะ” “นั้นดิ กี่ปี ๆ นะ ครูอรเขาก็คัดแต่เด็กเก่ง ๆ สวย ๆ เข้าชมรมรำ แล้วพอรำทีนึงนะ คนก็แห่กันมาดูทั้งโรงเรียนเลยอ่ะ” “เออว่ะ ไม่เหมือนพวกเล่นละคร มีแต่พวกหน้าตาเห่ย ๆ แม่งแสดงไปก็ไม่มีใครดู” บทสนทนาของน้ำและเพื่อนในกลุ่มเริ่มต้นขึ้น ก่อนจะมีอีกเสียงแทรกเข้ามา “ถ้าไม่แน่ใจว่าสวยอ่ะ ก็ไปสมัครชมรมอื่นก็ได้นะ”  เฟย์ หนึ่งในสาวสวยที่แอบชอบพี่โชน พูดขึ้นมาเพื่อกระทบความมั่นใจของน้ำ ทั้งสองเลยเกิดการทะเลาะกันเล็กน้อย ผลักกันไปผลักกันมาจนไปชนโต๊ะรับสมัครชมรมนาฏศิลป์ที่ครูอรดูแลอยู่ ครูอรเลยไล่คนที่ก่อเรื่องออกจากแถวไป ยกเว้นเฟย์กับฝัน ซึ่งสองคนนี้มีรูปลักษณ์หน้าตาที่ดี สุดท้ายน้ำและเพื่อนจึงไปอยู่ที่ชมรมละครของครูอิน ชมรมที่ถูกมองและตัดสินไปแล้วว่า ‘เห่ย’ ทั้งหน้าตาและความสามารถ แม้จะซ้อมหรือทำการแสดงดีขนาดไหนก็ไม่มีคนมานั่งชม และไม่ได้รับความสนใจเท่ากับการแสดงของนางรำที่มีคนนั่งชมเต็มไปหมด แต่เมื่อน้ำเปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นคน ‘สวยตามมาตรฐาน’ คนในโรงเรียนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น อย่างวันวาเลนไทน์น้ำได้สติกเกอร์ติดเต็มเสื้อ พร้อมของขวัญมากมายจากใครหลาย ๆ คน ต่างจากเมื่อก่อนที่น้ำเคยถูกมองข้ามมาโดยตลอด เมื่อสังคมมีค่านิยมรูปแบบนี้ และการที่คนหน้าตาดีได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าคนหน้าตาธรรมดา (Beauty Privilege) น้ำและเพื่อน ๆ จึงถูกปิดกั้นทางโอกาส ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แสดงความสามารถอะไรเลยสักนิด หรือแม้แต่ความยุติธรรมที่ต้องได้รับโทษหรือรับผิดชอบการกระทำต่าง ๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะเรื่องของหน้าตากลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการถูกเลือกปฏิบัติ แล้วกลุ่มของคนที่ถูกมองว่าหน้าตาไม่ดีหรือธรรมดาก็จะถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบของสังคม ทั้งที่มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความงามและศักยภาพในแบบของตัวเอง แม้แต่น้ำเอง ก่อนที่จะก้าวข้ามผ่านพ้นวัยตามแนวภาพยนตร์ Coming of Age เพื่อเติบโตขึ้นไป เธอเองก็หนีไม่พ้นวาทกรรม ‘สวยตามมาตรฐาน’ ในรูปแบบนี้   ฉากที่ถูกฉายในอดีต หากปัจจุบันยังคงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน แม้เรื่องราวทั้งหมดจะวางให้ตัวละครส่วนใหญ่ในโรงเรียนหันมาให้ความสนใจน้ำในตอนที่เปลี่ยนตัวเองจนสวยตามมาตรฐานแล้ว แต่คนที่มองเห็นความสวยของน้ำมาตั้งแต่ต้นกลับเป็น ‘พี่โชน’ ผู้เป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงตัวเองของน้ำ เห็นได้จากตอนท้ายของเรื่อง พี่โชนนั่งเปิดดูสมุดแห่งความทรงจำที่ได้บันทึกภาพของน้ำและความในใจที่พูดถึงน้ำตั้งแต่ยังเป็นเด็กผู้หญิงที่ผิวคล้ำใส่แว่น และไม่ได้เป็นที่สนใจของคนในโรงเรียน พี่โชนยังคงชอบน้ำในแบบที่เป็นน้ำ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเลยด้วยซ้ำ แต่กว่าน้ำจะได้รู้ว่าพี่โชนรู้สึกอย่างไร น้ำต้องผ่านความเจ็บปวดทางจิตใจจากคนรอบข้างและพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปอยู่ในจุดที่เรียกว่า ‘สวย’ ให้ได้ รวมทั้งตัวละครอื่น ๆ ที่ไม่ได้มี พี่โชน ผู้มองเห็นความงามจากตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา และมักถูกสร้างให้เป็นตัวตลกในเรื่อง สิ่งเหล่านี้คล้ายกับภาพจำลองสังคมที่ถูกกดทับด้วย ‘ความงามตามมาตรฐาน’ (Beauty Standard) ซึ่งยังคงแฝงอยู่ในสังคมปัจจุบัน อย่างเช่นบางคนต้องทนเจ็บปวดกับคำพูดวิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอก (Body Shaming) จนบั่นทอนความมั่นใจในตัวเอง หากมองย้อนกลับมาทำความเข้าใจว่าทำไม ‘ความสวย’ จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างบาดแผลและความไม่เท่าเทียมกัน นั่นอาจเป็นเพราะสังคมเรายังมีทัศนคติเชิงอคติ หรือการเหมารวม (Stereotype) ที่เป็นการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต เกิดเป็นกรอบของความคิดและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะจัดกลุ่มบางอย่างเพื่อจะได้จำกัดความสิ่งนั้นง่ายขึ้น แต่ถ้าความคิดเหมารวมนี้มีมากเกินไปก็อาจกลายเป็นการแบ่งแยก การกดทับ และสร้างบาดแผลให้คนได้เช่นกัน ดังนั้น คนที่เกิดมาสวยก็ไม่ได้ผิดอะไร คนที่เกิดมาไม่ตรงตามมาตรฐานความงามนั้นก็ไม่ได้ผิดเช่นกัน ถ้าหากเราเปลี่ยนจากการมองว่า ‘ความแตกต่าง’ เป็น ‘ความหลากหลาย’ ในความงามของแต่ละคน ไม่แบ่งแยกหรือผลักไสใครออกจากพื้นที่สว่าง พร้อมทั้งสร้างบรรทัดฐานและการยอมรับความเป็นคนอย่างเท่าเทียม ความเจ็บปวดที่ถูกสร้างขึ้นอาจจะจางหายไปได้ในอนาคต  และสักวันหนึ่ง เราคงได้เจอคนที่ชอบเราในแบบที่เป็นเราอย่างพี่โชน หรือเราจะเป็นพี่โชนให้กับตัวเองและคนอื่นได้เช่นกัน   เรื่อง: ภัคจีรา ทองทุม