07 ก.ค. 2568 | 17:22 น.
KEY
POINTS
ในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส เครื่องดนตรีออร์แกน อย่าง ‘แฮมมอนด์ บีธรี’ (Hammond B3) นับเป็นภาพสะท้อนที่มีอัตลักษณ์ จากยุคสมัยอันรุ่งเรืองช่วงทศวรรษ 1960-1970 ด้วยสุ้มเสียงเฉพาะตัว เชื่อมโยงถึงบรรยากาศของแจ๊สคลับอันอบอวลด้วยควันบุหรี่ ชีพจรดนตรีเจือสำเนียงโซลและกอสเปล ที่หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมคนดำ
เมื่อ ‘แฮมมอนด์ บีธรี’ สถาปนาขึ้นมาเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทโดดเด่น โดยมีศิลปินที่เป็นเสาหลักของวงการ อย่าง จิมมี สมิธ (Jimmy Smith), บุ๊กเกอร์ ที โจนส์ (Booker T. Jones) จนถึงโจอี้ เดอฟรานเชสโก (Joey DeFrancesco) ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ในเวลาต่อมาจะมีนักดนตรีรุ่นหลังหาญกล้าเข้ามาท้าทายขนบ และตั้งคำถามต่อสารัตถะที่เคยดำรงอยู่
ด้วยสุ้มเสียงจากปลายนิ้วของ ‘ไบรอัน ชาเร็ตต์’ (Brian Charette) เขาไม่ใช่นักออร์แกนตามขนบเดิม แต่คือศิลปินผู้สวมมงกุฎหนามให้ตนเอง ด้วยสมญานาม ‘แกะดำแห่ง B3’
นั่นไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก เมื่อพิจารณาถึงเส้นทางดนตรีที่เขากำลังขีดเขียนขึ้นใหม่ ชาเร็ตต์ นำพาฮาร์โมนีอันซับซ้อนและโครงสร้างวิจิตรพิสดารของคีตกวีคลาสสิกร่วมสมัยอย่าง ‘โอลิวิเยร์ เมสเซียง’ (Olivier Messiaen 1908-1992) มาปะทะสังสรรค์ กับจังหวะสวิงอันเร่าร้อนและฟังกี้บลูส์ ที่เคยเป็นหัวใจของแฮมมอนด์ B3 ก่อนจะห่อหุ้มทั้งหมดด้วยชีพจรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกยุคใหม่
“ผมมีความสนใจที่หลากหลาย” ชาเร็ตต์ บอก “ทั้งออร์แกนแบบดั้งเดิม, เปียโนคลาสสิก, โอลิวิเยร์ เมสเซียง, ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และผมพยายามที่จะรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ในแบบที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ”
การมาเยือนประเทศไทยของเขาในครั้งนี้ ไบรอัน ชาเร็ตต์ จะร่วมงานกับ ‘ออซ นอย’ และ ‘เดฟ เว็คล์’ การรวมพลังของพวกเขาจึงเป็นปรากฏการณ์ที่แฟนเพลงจะได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อวิวัฒนาการบทล่าสุดของดนตรีแจ๊ส
เรื่องราวของนักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่หลายคนมักมีจุดเริ่มต้นในเมืองที่เป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม อย่าง นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก หรือ นิวยอร์ก แต่สำหรับ ไบรอัน ชาเร็ตต์ ตำนานบทแรกของเขาเริ่มต้นขึ้นในปี 1972 ณ เมืองเมอริเดน รัฐคอนเนตทิคัต เมืองที่ดูเงียบสงบแห่งนี้ ได้กลายเป็นแหล่งฟูมฟักอัจฉริยภาพทางดนตรีของเขา โดยมีคุณแม่แคเธอรีนเป็นผู้เพาะเมล็ดพันธุ์ และมีครูเปียโนคนแรกนาม ‘จอร์จ แม็คคินสทรี’ (George McKinstry) คอยรดน้ำพรวนดิน
เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียน Orville H. Platt High School ดนตรีได้กลายเป็นโลกทั้งใบของเขาอย่างแท้จริง ชาเร็ตต์ ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่เปียโน แต่ยังขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปสู่กีตาร์และทรัมเป็ต ก่อนจะมุ่งหน้าศึกษาดนตรีอย่างจริงจัง จนจบการศึกษาจาก University of Connecticut ในปี 1994
ที่สำคัญไปกว่านั้น เขาได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับครูดนตรีระดับปรมาจารย์หลายท่าน ทั้ง เอลเลน โรว์ (Ellen Rowe), เคนนี เวอร์เนอร์ (Kenny Werner) และนักทฤษฎีผู้ล่วงลับอย่าง ชาร์ลี บาแนคัส (Charlie Banacos) ซึ่งได้มอบศาสตราวุธทางดนตรีอันล้ำค่าให้แก่เขา
ก่อนที่โลกจะรู้จักเขาในฐานะนักออร์แกน ชาเร็ตต์ ได้สร้างชื่อในฐานะนักเปียโนดาวรุ่งอนาคตไกล เขาออกทัวร์กับตำนานแจ๊สรุ่นใหญ่ อย่าง ลู โดนัลด์สัน (Lou Donaldson) และฮิวสตัน เพอร์สัน (Houston Person) ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ประสบการณ์ที่ได้ร่วมบรรเลงเคียงบ่าเคียงไหล่กับยักษ์ใหญ่แห่งวงการตั้งแต่เยาว์วัย คือบทพิสูจน์ชั้นดีถึงฝีมืออันเจนจัดเกินวัยของเขา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาถึงในปี 1994-1995 เมื่อเขาตัดสินใจมุ่งหน้าสู่มหานครนิวยอร์ก ศูนย์กลางของดนตรีแจ๊สที่เปรียบเสมือนสังเวียนสำหรับผู้กล้า และที่ St. Mark's Bar นี่เอง ที่เขาได้พบกับ ‘เสียง’ ที่รอคอยมาทั้งชีวิต นั่นคือออร์แกน Hammond B3 ชะตาชีวิตได้นำพาให้เขาได้ลงไปคลุกคลีกับประสบการณ์ดิบเถื่อน บนเส้นทางสายบลูส์ที่เรียกกันว่า ‘Chitlin' Circuit’ (เครือข่ายการเล่นดนตรีของคนดำที่เกิดจากเงื่อนไขของการแบ่งแยกสีผิว)
การตระเวนเล่นดนตรีกับศิลปินบลูส์เหล่านี้ ไม่เพียงทำให้เขาคุ้นเคยกับออร์แกน แต่ยังเป็นการ ‘รับน้อง’ ที่ทำให้เขาได้ซึมซับจิตวิญญาณอันแท้จริงของมัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเลือดเนื้ออย่างแยกไม่ออก จากเด็กหนุ่มนักเปียโนผู้เรียบร้อยในวันนั้น เขาถือกำเนิดใหม่อีกครั้งในฐานะผู้สืบทอดและผู้ท้าทายบัลลังก์ของ Hammond B3
หากจะทำความเข้าใจศิลปะของ ไบรอัน ชาเร็ตต์ ให้ถึงแก่นแท้ เราจำต้องเดินทางผ่านตรอกซอยอันซับซ้อนในโลกความคิดของเขา ที่ซึ่งพรมแดนของดนตรีแนวต่าง ๆ ได้เลือนหายไป เหลือเพียงเจตจำนงในการสร้างสรรค์สุ้มเสียงอันเป็นของตนเองอย่างแท้จริง
ชาเร็ตต์ เรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น แกะดำแห่ง B3 ซึ่งไม่ใช่เพียงฉายาเท่ ๆ แต่คือคำประกาศอิสรภาพทางดนตรี เขาปฏิเสธการเดินทางบนเส้นทางสายหลักอันราบรื่นของออร์แกนแจ๊ส เพื่อออกสำรวจ ‘น่านน้ำที่ไม่เคยมีใครสำรวจ’ ปรัชญาของเขาตั้งอยู่บนหลักการแห่งความสมดุลแบบ ‘หยิน-หยาง’ เขาหยิบยืมความซับซ้อนทางฮาร์โมนีที่แหลมคมจากคีตกวีคลาสสิกแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง โอลิวิเยร์ เมสเซียง ซึ่งเป็นด้าน ‘หยิน’ ที่ลึกลับและหนักหน่วง มาหลอมรวมกับ ‘หยาง’ ซึ่งก็คือชีพจรของดนตรีบีบ็อพอันคุ้นเคยและจังหวะกรู้ฟที่ชวนขยับเท้า
สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ เขาสามารถนำเสนอแนวคิดนี้ ในรูปแบบที่ ‘ย่อยง่ายและไม่หยิ่งผยอง’ ทำให้ผู้ฟังทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก เป้าหมายของเขาชัดเจน นั่นคือการสร้าง ‘เสียงของตัวเอง’ ที่จดจำได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ของ Hammond B3 ที่เขารัก
“ผมคิดว่าดนตรีของผมทำให้บางคนเกาหัวแกรกๆ อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าเขาคุ้นชินกับเสียงออร์แกนในแบบดั้งเดิมที่มีโครงสร้างกลมกล่อมตามขนบ” ชาเร็ตต์ สารภาพ “สิ่งที่ผมพยายามคือการหาจุดสมดุลให้เจอ ที่ซึ่งผมจะมีเสียงของตัวเองโดยไม่ทำให้ใครรู้สึกแปลกแยก และทุกครั้งที่ลองทำอะไรใหม่ ๆ ผมก็เลือกจะทำอย่างอ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งเร้าเกินจำเป็น”
เสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของ ชาเร็ตต์ ไม่ได้เกิดจากแนวคิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการควบคุมเครื่องดนตรีในระดับปรมาจารย์ เทคนิคการเล่นเบสด้วยเท้า (Pedal Bass) ของเขาเป็นที่เลื่องลือ เขาสามารถสร้างไลน์เบสที่หนักแน่นและเป็นอิสระด้วยการ ‘thump’ หรือทิ้งน้ำหนักเท้าลงบนแป้นเหยียบ ผสานกับการเคลื่อนไหวแบบ ‘heel-toe’ ที่พลิ้วไหวราวกับนักเต้น
ส่วนที่เปรียบเสมือนจานสีของจิตรกร คือการปรับแต่งเสียงด้วย Drawbar (แถบควบคุมโทนเสียงที่เปรียบได้กับมินิอีควอไลเซอร์) ชาเร็ตต์ เปลี่ยนการตั้งค่า Drawbar แทบจะตลอดเวลาในระหว่างการแสดงสด เขาสามารถเนรมิตโทนเสียง ‘woody’ อันอบอุ่นแบบ Baby Face Willette หรือใช้ black drawbar เพื่อสร้างเสียงที่แหลมขึ้นจมูก (nasal) ที่ฉีกออกไป
เขายังมีเทคนิคเฉพาะตัว อย่าง ‘squabbling’ ที่ใช้มือทุบลงบนคีย์เพื่อสร้างเสียงบล็อกคอร์ดอันเกรี้ยวกราด ทั้งหมดนี้ คือการสร้างสีสันทางดนตรีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้การแสดงสดของเขาเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นที่คาดเดาไม่ได้
สำหรับ ชาเร็ตต์ การด้นสด (Improvisation) คือ ‘ภาพรวมของช่วงเวลา’ เขาไม่หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หากแต่ยอมรับและปล่อยวางมัน แล้วเดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในโน้ตตัวถัดไป ปรัชญานี้หยั่งรากลึกในแนวคิดเรื่อง ‘ความนิ่งของจิตใจ’ ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาจากการฝึกฝนกังฟู และการทำสมาธิแบบเต๋า ดนตรีจึงกลายเป็นเครื่องมือในการ ‘ลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น’ เหลือไว้เพียงแก่นแท้ของอารมณ์
มุมมองนี้ยังสะท้อนในการสอนของเขาด้วย ชาเร็ตต์ แนะนำให้ผู้เรียนมุ่งเน้นไปที่พื้นฐานอันเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เช่น การไล่ Major Scales ให้แม่นยำ และการควบคุมร่างกายให้ผ่อนคลายขณะเล่น เขาเชื่อว่าการหมกมุ่นกับการแกะเพลง (transcribing) โซโล่ของคนอื่นมากเกินไป หรือทฤษฎีที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น จะเป็นการสร้างกำแพงมากกว่าการเปิดประตู
เขาเน้นย้ำว่า เพียงแค่ปรับร่างกายให้สงบและเป็นอิสระ ผลลัพธ์ทางดนตรีก็จะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ในทันที นี่คือบทเรียนจากปรมาจารย์ผู้เข้าถึงแก่นของดนตรีอย่างแท้จริง
ปรัชญาและแนวคิดอันแหลมคมของศิลปินจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ มันได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘นฤมิตกรรม’ ที่จับต้องได้ และสำหรับ ไบรอัน ชาเร็ตต์ ผลงานในฐานะผู้นำวงของเขา คือบทพิสูจน์ชั้นดีถึงการเดินทางบนเส้นทางของ ‘แกะดำ’ ที่ไม่ได้เดินอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์และผู้ฟังทั่วโลก
บทพิสูจน์ล่าสุด คืออัลบั้ม Jackpot (2023) ที่ได้รับคะแนนสูงถึง 4 ดาวจากนิตยสาร Downbeat และไต่ขึ้นถึงอันดับ 9 บนชาร์ต Jazzweek ความสำคัญของอัลบั้มนี้ไม่ได้อยู่แค่ความสำเร็จเชิงสถิติ แต่ยังอยู่ที่การได้บันทึกเสียงในสถานที่อันเป็นดั่งวิหารศักดิ์สิทธิ์ของวงการแจ๊ส นั่นคือสตูดิโอของ ‘รูดี แวน เกลเดอร์’ (Rudy Van Gelder) วิศวกรเสียงในตำนานซึ่งเป็นเครื่องหมายการันตีถึงคุณภาพเสียงและการยอมรับในระดับสูงสุด
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ชาเร็ตต์ ได้ทลายกำแพงของวงออร์แกนทริโอแบบดั้งเดิม ด้วยอัลบั้ม Music for Organ Sextette (2012) ซึ่งได้รับคำชมว่าสามารถหลีกเลี่ยง ‘กับดักของอัลบั้มออร์แกนแจ๊สทั่วไป’ ได้อย่างชาญฉลาด แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงดนตรีขนาดใหญ่ที่ซับซ้อน นอกจากนี้ เขายังสำรวจมิติของออร์แกนอย่างลึกซึ้ง ผ่านผลงานเดี่ยว (Solo Organ) อย่าง Beyond Borderline (2019) ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างศิลปินกับเครื่องดนตรีคู่ใจ
ในมิติที่สร้างความประหลาดใจและตอกย้ำความเป็น ‘แกะดำ’ ของเขาได้ชัดเจนที่สุด คือการกระโดดข้ามพรมแดนไปสู่โลกของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในอัลบั้ม Kurrent (2017) และ Like the Sun (2020) ซึ่งออกกับค่าย ‘Dim Mak Records’ ของโปรดิวเซอร์ชื่อดัง อย่าง ‘สตีฟ อาโอกิ’ (Steve Aoki)
ในฐานะนักประพันธ์เพลง ชาเร็ตต์ มีความสามารถในการสร้างสรรค์บทเพลงได้อย่างรวดเร็ว โดยมีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวอันหลากหลาย ตั้งแต่โศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ในเพลง ‘Early America’ (ได้แรงบันดาลใจจาก Trail of Tears) ไปจนถึงแนวคิดทางจิตวิญญาณในเพลง ‘Microcosmic Orbit’ (จากการศึกษา Kung Fu และการทำสมาธิแบบเต๋า) ความสามารถนี้ทำให้เขาได้รับเชิญไปประพันธ์และแสดงร่วมกับวงออร์เคสตราชั้นนำในยุโรป อย่าง ‘The Jazz Dock Orchestra’ (นครปราก) และ ‘The Modern Art Orchestra’ (นครบูดาเปสต์)
ท่ามกลางการเดินทางสู่อนาคต ชาเร็ตต์ ไม่เคยลืมรากเหง้า เขามักจะนำบทเพลงของ แจ็ค แม็คดัฟฟ์ (Jack McDuff) ออร์แกนนิสต์คนโปรดของเขา มาบรรเลงเพื่อเป็นการคารวะแด่ผู้เป็นแรงบันดาลใจ เป็นการยืนยันว่านวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ย่อมต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเคารพต่ออดีตเสมอ
คุณค่าของนักดนตรีคนหนึ่งไม่ได้วัดจากผลงานในฐานะผู้นำวงแต่เพียงด้านเดียว หากยังสะท้อนผ่านการได้รับความไว้วางใจให้เป็น ‘นักดนตรีสมทบ’ หรือ ‘Sideman’ เคียงข้างศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนอื่น ๆ อีกด้วย และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อศิลปินที่ ไบรอัน ชาเร็ตต์ เคยร่วมงานด้วยแล้ว ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าอาณาจักรทางดนตรีของเขานั้นกว้างไกลเกินกว่าจะจำกัดอยู่แค่ในโลกของแจ๊ส
บทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุด คือการได้รับเชิญให้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปินระดับโลกที่เปรียบเสมือนสถาบันทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็น โจนี มิทเชล (Joni Mitchell), ชาก้า ข่าน (Chaka Khan), พอล ไซมอน (Paul Simon) และซินดี้ ลอเปอร์ (Cyndi Lauper) การทำงานกับศิลปินเหล่านี้ไม่ได้ต้องการเพียงฝีมือที่เจนจัด แต่ยังต้องการความเข้าใจในโครงสร้างเพลงป๊อปและรสนิยมทางดนตรีที่ลึกซึ้ง ซึ่งเขาสามารถตอบสนองได้อย่างไร้ที่ติ
ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงในโลกของแจ๊สสายเลือดแท้ การได้ร่วมบรรเลงกับตำนานที่ยังมีลมหายใจ อย่าง ลู โดนัลด์สัน (Lou Donaldson), ฮิวสตัน เพอร์สัน (Houston Person) และจอร์จ โคลแมน (George Coleman) เปรียบเสมือนการได้รับการประทับตรา ‘รับรองคุณภาพ’ จากปรมาจารย์สายตรง นอกจากนี้ เขายังสามารถโลดแล่นไปกับดนตรีร็อกและฟังก์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านการร่วมงานกับ เจโม (Jaimoe) มือกลองผู้ก่อตั้ง ‘The Allman Brothers Band’ และวงฟังก์ชื่อดัง อย่าง ‘Deep Banana Blackout’
ความสามารถอันหลากหลายของเขายังปรากฏผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในรายการ ‘The Martha Stewart Show’ และ ‘The Conan O'Brien Show’ เป็นการยืนยันถึงการยอมรับในวงกว้าง รายชื่อเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพของนักดนตรีคนหนึ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปได้ในทุกจักรวาลของเสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็ก ๆ ในคลับใต้ดิน หรือเวทีใหญ่ระดับโลกก็ตาม
เส้นทางการเป็น ‘แกะดำ’ ของ ไบรอัน ชาเร็ตต์ อาจดูเหมือนเป็นการเดินทางที่ทวนกระแส แต่ในโลกของนักวิจารณ์และผู้ฟังที่เข้าถึงแก่นของดนตรี ฝีมือและวิสัยทัศน์ของเขาได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์และต่อเนื่อง เกียรติยศที่เขาได้รับจึงเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จบนเส้นทางที่เขาเลือกเดิน
มาตรวัดที่สำคัญที่สุดในวงการแจ๊ส คือผลสำรวจนักวิจารณ์จากนิตยสาร DownBeat โดยชื่อของ ไบรอัน ชาเร็ตต์ ปรากฏอยู่ในอันดับต้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เขาเริ่มต้นจากการคว้ารางวัล ‘Rising Star: Organ’ ในปี 2014 ซึ่งเป็นการประกาศให้โลกรู้ถึงการมาถึงของดาวดวงใหม่ที่น่าจับตา นับจากนั้นเป็นต้นมา เขาติด Top 10 ในสาขานักออร์แกนยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง (2015-2020) ก่อนจะทะยานขึ้นสู่อันดับ 2 และ 3 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2024 เขาก็ยังคงยืนหยัดอยู่ในอันดับที่ 2 สาขาออร์แกน และอันดับที่ 6 ในสาขาคีย์บอร์ด
นอกเหนือจากเสียงของนักวิจารณ์แล้ว เขายังเป็นที่รักของผู้ฟัง ดังที่ปรากฏในการคว้ารางวัล ‘Fan's Decision Jazz Award for Best Organist’ จากนิตยสาร Hot House ในปี 2015
คำยกย่องที่ทรงพลังที่สุดมาจากนักวิจารณ์ชั้นนำของวงการ ‘บิลล์ มิลโควสกี’ (Bill Milkowski) กล่าวยกย่องเขาว่าเป็น ‘หนึ่งในนักเล่น B3 รุ่นใหม่ที่ดีที่สุด’ ขณะที่ ‘เคน คอลเลฟ’ (Ken Micallef) ได้สรุปตัวตนของเขาไว้อย่างแหลมคมว่า เขาคือผู้ที่ “เข้าใจทั้งขนบและอนาคตของ Hammond B3”
เบื้องหลังสุ้มเสียงอันสลับซับซ้อนและปรัชญาดนตรีที่ลุ่มลึกของ ไบรอัน ชาเร็ตต์ คือตัวตนของชายผู้หนึ่งที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับดนตรีเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแสวงหาความหมายและสมาธิผ่านศาสตร์แขนงอื่น ๆ ซึ่งได้หล่อหลอมวินัยและมุมมองต่อชีวิตที่สะท้อนกลับมาในงานดนตรีของเขาอย่างแยกไม่ออก
ความหลงใหลที่สำคัญที่สุดนอกโลกดนตรีของเขา คือ ‘กังฟูสายขาว’ (White Crane kung fu) เขาไม่ได้ฝึกฝนเพื่อเป็นงานอดิเรก แต่ทุ่มเทอย่างจริงจังจนได้รับ ‘สายดำ’ (black sash) ในปี 2008 ศาสตร์แห่งการต่อสู้แขนงนี้ ได้มอบวินัย สมาธิ และปรัชญาเรื่อง ‘ความนิ่งของจิตใจ’ ให้แก่เขา เป็นหัวใจสำคัญที่ปรากฏชัดในแนวทางการด้นสดและการสอนดนตรี นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ที่ชื่นชอบในเกมที่ต้องใช้สมาธิและกลยุทธ์อย่าง หมากรุก (chess) อีกด้วย
ความสนใจใคร่รู้ของ ชาเร็ตต์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ศาสตร์โบราณ ในวัยเยาว์เขาเคยศึกษา Computer Music และ Aeronautics ที่ Talcott Mountain Science Center ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมันสมองของนักคิด นักวิเคราะห์ ที่มีความสนใจในโครงสร้างและระบบอันซับซ้อน ไม่ต่างจากฮาร์โมนีที่เขาเลือกใช้ในบทเพลง
ทว่า เส้นทางของเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชาเร็ตต์ ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางกายภาพมาตั้งแต่เด็ก เขาเคยมีปัญหาด้านการได้ยินบางส่วน แต่ก็ได้รับการรักษาจนหายดี และที่น่าทึ่งที่สุดคือ นิ้วก้อยด้านขวาของเขาผิดรูปจากอุบัติเหตุ ทำให้ความสามารถในการใช้นิ้วแสดงดนตรีมีจำกัด การที่เขาสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพนี้ จนกลายเป็นนักดนตรีระดับโลกได้ คือบทพิสูจน์ถึงความทรหดและจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ
จากการเดินทางผ่านชีวิต ความคิด และผลงานของนักออร์แกนคนนี้ เราได้เห็นภาพของศิลปินผู้มีหลายมิติในคนเดียว เขาคือผู้บุกเบิกที่กล้าหาญ, นักประวัติศาสตร์ดนตรีผู้เคารพในรากเหง้า, ปรมาจารย์ผู้มีวินัยแห่งนักสู้, และนักปรัชญาผู้ถ่ายทอดสัจธรรมผ่านเสียงดนตรี ชาเร็ตต์ ไม่เพียงแต่สืบสานมรดกของเครื่องดนตรีอันเป็นตำนานอย่าง Hammond B3 เท่านั้น แต่ยังได้ท้าทายและขยายพรมแดนทางดนตรีให้กว้างไกลออกไปอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
สถานะของ ‘แกะดำแห่ง B3’ คือบทสรุปของเจตจำนงอันแน่วแน่ในการเป็นตัวของตัวเอง คือข้อพิสูจน์ว่านวัตกรรมที่แท้จริงมิอาจเกิดขึ้นได้จากการลบหลู่ประวัติศาสตร์ แต่เกิดจากการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แล้วจึงก้าวข้ามได้ด้วยสุ้มเสียงใหม่ของตนเอง
ในอีกไม่ช้า เสียงออร์แกนอันมีชีวิตชีวานี้ จะดังกังวานขึ้นสด ๆ ในประเทศไทย นี่คือโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง ที่เราจะได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อบทสนทนาอันน่าทึ่งระหว่าง ‘ขนบ’ และ ‘อนาคต’ สัมผัสถึงพลังและความพลิ้วไหวที่เกิดจากศิลปินผู้เป็นนายเหนือเครื่องดนตรีอย่างสมบูรณ์
หมายเหตุส่งท้าย: คนรักดนตรีในประเทศไทยจะได้พบกับ ไบรอัน ชาเร็ตต์ ได้ ใน Oz Noy, Dave Weckl & Brian Charette Live in Bangkok 2025 คอนเสิร์ตสุดเข้มข้นจากสามสุดยอดนักดนตรีระดับโลก ที่จะพาผู้ชมเดินทางข้ามแนวดนตรีไปสู่โลกในจินตนาการ ในวันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2025 ณ M Theatre ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บัตรมีจำหน่ายที่ Thai Ticket Major
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images
ที่มา:
"Brian Charette." Brian Charette Official Website, 2025, www.briancharette.com.
Milkowski, Bill. "Brian Charette Follows the Muse." DownBeat, 17 Jan. 2020, downbeat.com/news/detail/brian-charette-follows-the-muse.