‘บิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค’ โศกนาฏกรรมของอัจฉริยะผู้เปราะบาง

‘บิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค’ โศกนาฏกรรมของอัจฉริยะผู้เปราะบาง

‘บิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค’ อัจฉริยะนักดนตรีแจ๊สผู้หลงใหลเสียงดนตรีของคนผิวสี บทเพลงของเขางดงามเกินกว่าจะลืม แต่ชีวิตจริงกลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกแจ๊สไม่เคยลืม

KEY

POINTS

  • เสียงคอร์เน็ตอันโดดเด่นของบิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค กลายเป็นตำนาน 
  • ชีวิตจริงที่เจ็บปวดของอัจฉริยะผู้ไม่เป็นที่ยอมรับ 
  • โศกนาฏกรรมของศิลปินผู้เปราะบางในยุคแจ๊สเฟื่องฟู 

ณ รุ่งอรุณแห่งแจ๊ส (Jazz Age) ช่วงทศวรรษ 1920s ท่ามกลางสังคมอเมริกันที่ก้าวสู่วัตถุนิยมอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังขีดเส้นแบ่งแยกทางสีผิวอย่างเข้มข้น มีเด็กหนุ่มผิวขาวคนหนึ่งจากครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน ในเมืองดาเวนพอร์ต รัฐไอโอวา เลือกที่จะหันหลังให้กับขนบธรรมเนียมและเสียงดนตรีคลาสสิกที่ครอบครัวคาดหวัง 

เขาผู้นั้นคือ ลีออน บิสมาร์ก ‘บิกซ์’ ไบเดอร์เบ็ค (Leon Bismark ‘Bix’ Beiderbecke 1903-1931) ผู้ซึ่งหัวใจของเขาถูกปลุกเร้าด้วยมนต์เสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส อันเป็นการแสดงออกทางจิตวิญญาณของชาวแอฟริกันอเมริกัน

หนุ่มผิวขาวคนนี้สามารถสร้างสรรค์เสียงดนตรีได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับการยอมรับจากแวดวงดนตรีแจ๊ส แม้กระทั่งสุดยอดฝีมือนักดนตรีผิวดำ อย่าง ‘หลุยส์ อาร์มสตรอง’ (Louis Armstrong) แต่ชีวิตจริงด้านในของเจ้าตัว กลับเต็มไปด้วยแรงกดดันจากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับต่อการข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีของคนผิวสี ทุกอย่างจึงเดินไปสู่หนทางที่ตีบตัน จนต้องตรอมใจ และเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 28 ปี

ภูมิหลังและแรงบันดาลใจเริ่มแรก

บิกซ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปี 1903 ในครอบครัวที่ชื่นชอบดนตรีคลาสสิก แต่สำหรับเขาแล้ว เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น เสียงเพรียกจากดนตรีรูปแบบใหม่นั้นช่างเย้ายวนเกินกว่าจะต้านทาน เขาปฏิเสธการเรียนดนตรีในระบบ และเลือกที่จะเรียนรู้จากแผ่นเสียง

ภาพของเด็กหนุ่มที่ก้มตัวลงข้างเครื่องเล่นแผ่นเสียง ฟังแผ่นเชลแล็คความเร็ว 78-rpm ของวง ‘Original Dixieland Jazz Band’ (ODJB) เพื่อแกะทุกตัวโน้ตจากโซโลคอร์เน็ตของ ‘นิค ลาร็อคกา’ (Nick LaRocca) และบรรเลงตาม ด้วยการเคาะไปบนคีย์เปียโน คือภาพสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่มาจากข้างใน

ดาเวนพอร์ต ซึ่งเป็นเมืองท่าริมแม่น้ำมิสซิสซิปปีในเวลานั้น เป็นประตูสู่โลกใหม่ให้แก่ บิกซ์ เรือกลไฟที่ล่องขึ้นมาจาก นครนิวออร์ลีนส์ ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำพาดนตรีแจ๊สอันร้อนแรงมาเทียบท่า เขาได้ซึมซับสุ้มเสียงและจิตวิญญาณจากนักดนตรีแจ๊สผิวดำเหล่านั้น ที่บรรเลงให้ความบันเทิงอยู่บนเรือ Riverboat เสียงดนตรีอันแปลกแปร่งจากดนตรีที่คุ้นเคยได้ดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำ เป็นซาวด์แทร็คอันแนบแน่นกับชีวิตวัยเยาว์

สำหรับ บิกซ์ แล้ว “แรงขับเคลื่อนในการเป็นนักดนตรีแจ๊สนั้นลึกซึ้งและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเติมเต็มตัวตนของเขา” การเลือกเดินบนเส้นทางดนตรีของ ‘คนดำ’ ในยุคสมัยนั้น จึงไม่ใช่แค่ความรักหลงใหล แต่คือการประกาศตัวตนที่แตกต่างจากขนบของชนชั้นกลางผิวขาวอย่างสิ้นเชิง

หนุ่มผิวขาวผู้หลงใหลในดนตรีของคนดำ

แม้ บิกซ์ จะ ‘เชิดชู’ หลุยส์ อาร์มสตรอง ในฐานะราชาแห่งวงการแจ๊ส แต่เขาไม่เคยยอมให้อิทธิพลของ หลุยส์ ครอบงำ เหมือนนักดนตรีแจ๊สคนอื่น ๆ ในยุคนั้น ตรงกันข้าม เขากลับนำแรงบันดาลใจมาหลอมรวมกับพรสวรรค์เฉพาะตัว เกิดเป็นสไตล์ที่นักวิจารณ์หลายคนมองว่า เป็นพัฒนาการในแนวทางที่ “ส่งเสริมซึ่งกันและกัน” (complementary) กับสไตล์อันร้อนแรงของ หลุยส์ เขาไม่ได้ลอกเลียนแบบ แต่เป็นการตอบสนอง และสร้างบทสนทนาทางดนตรีใหม่ขึ้นมา

หากเสียงคอร์เน็ตของ หลุยส์ เลือกที่จะประกาศกร้าวถึงพลังภายในอันพุ่งพล่านร้อนแรง แนวทางของ บิกซ์ นำเสนอในทิศทางที่แตกต่าง ด้วยท่าทีนุ่มนวล เยือกเย็น และเชื้อเชิญให้ฟัง 

ในหมู่เพื่อนนักดนตรีผิวขาว เขาคือ ‘ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม’ และมีอิทธิพลอย่างสูง วิสัยทัศน์ทางดนตรีของ บิกซ์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่แจ๊ส เขาขยายขอบเขตความเข้าใจด้วยการศึกษาผลงานของคีตกวีอิมเพรสชันนิสต์ชาวฝรั่งเศส อย่าง ‘โคลด เดอบูซ์ซี’ (Claude Debussy) และ ‘มอริซ​ ราเวล’ (Maurice Ravel) การผสมผสานมิติทางฮาร์โมนีที่ซับซ้อนของดนตรีคลาสสิกเข้ากับอิสรภาพในการด้นสดของแจ๊ส คือสิ่งที่ทำให้ บิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค ก้าวข้ามคำจำกัดความของนักดนตรีธรรมดา และกลายเป็นศิลปินผู้มีมิติและน่าค้นหา

“ครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงคอร์เน็ตของ บิกซ์ มันเหมือนมีสายฟ้าฟาดลงมากลางห้อง... ผมไม่เคยได้ยินเสียงแบบนั้นมาก่อนในชีวิต มันทั้งงดงามและน่าทึ่งในเวลาเดียวกัน”  บัด ฟรีแมน (Bud Freeman) นักแซ็กโซโฟนเทเนอร์ในกลุ่มวัยรุ่นผิวขาว ‘Austin High Gang’ เคยเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้ฟัง บิกซ์​ เล่นสดกับวง ‘The Wolverines’

เสียงระฆังแก้วที่โลกต้องสดับฟัง

มีคำเปรียบเปรยถึงสุ้มเสียงคอร์เน็ตของ บิกซ์ มากมาย อาทิ โทนเสียงที่ “กลมกลึงไพเราะราวกับเสียงระฆัง” (bell-like) นักวิจารณ์และเพื่อนนักดนตรีต่างพรรณนาว่า มัน “เหมือนเด็กสาวเอ่ยคำว่า ใช่” (like a girl saying yes) หรือ “เที่ยงตรงไม่ผิดเพี้ยนดุจส้อมเสียง” (unerring as a tuning fork) เขาไม่ได้เน้นการเล่นโน้ตสูงเสียดฟ้า แต่กลับค้นพบความงามในย่านเสียงกลาง (middle register) ของคอร์เน็ต ทำให้สไตล์การเล่นมีลักษณะคล้ายการ “ขับขานบทเพลงผ่านเครื่องดนตรี”

ด้วยโทนเสียง “สะอาด กังวาน และทุกตัวโน้ตถูกบรรเลงอย่างตรงไปตรงมา” สิ่งนี้สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนจากนักโซโลผิวดำร่วมสมัย ที่มักใช้เทคนิคของเสียงคำราม (growls) การลากเสียง (smears) หรือการใช้ครึ่งวาล์ว (half-valving) เพื่อสร้างสำเนียงที่หลากหลาย บิกซ์ เลือกเส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ของเสียง พัฒนารูปแบบการหายใจ และการวางนิ้วที่ไม่เหมือนใคร เพื่อสร้างโทนเสียงในแบบฉบับของตนเอง

อัจฉริยภาพของ บิกซ์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความไพเราะของโทนเสียง แต่ยังอยู่ที่โครงสร้างทางความคิดเบื้องหลังการด้นสดของเขา ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า ‘correlated phrasing’ หรือ ‘การร้อยเรียงวลีดนตรีที่สัมพันธ์กันอย่างมีตรรกะ’ โซโลของเขาไม่ใช่การเป่าโน้ตไปเรื่อย ๆ แต่เป็นการสร้างเรื่องราว แต่ละวลี แต่ละประโยคทางดนตรี จะนำไปสู่วลีถัดไปอย่างสมเหตุสมผลและงดงาม

บทเพลง ‘Royal Garden Blues’ ที่บันทึกเสียงในปี 1924 คือตัวอย่างชั้นครูของสไตล์นี้ โซโลของ บิกซ์ ในเพลงดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นดั่ง ‘บทประพันธ์ขนาดย่อม’ (mini-composition) ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง โซโลส่วนใหญ่ของเขาเป็นการ ‘ตีความทำนองหลัก’ (melodic paraphrases) มากกว่าจะเล่นไปตามคอร์ดที่กำหนด ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ “ความน่าประหลาดใจที่ซับซ้อนแต่เป็นธรรมชาติ” ขึ้นมาได้

สไตล์ของ บิกซ์ เป็นการผสมผสานอันน่าทึ่งระหว่าง “การนำขนบของดนตรี ‘คลาสสิก’ มาใช้กับความรู้สึกแบบ ‘โรแมนติก’” 

บทเพลง ‘Singin the Blues’ บันทึกเสียงปี 1927 ร่วมกับวง ‘Frankie Trumbauer and His Orchestra’ ในส่วนท่อนโซโล่ของคอร์เน็ต ได้รับการยกย่องว่า “สมบูรณ์แบบ” และ “ทรงอิทธิพลมากที่สุด” บทหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ส โซโล่ที่มีความยาว 24 ห้องของ บิกซ์ ในเพลงนี้ คือบทสรุปของทุกสิ่งที่ทำให้เขาเป็นตำนาน ไม่ได้เน้นความเร็วหรือความหวือหวา แต่เป็นการสร้าง ‘บทกวี’ ผ่านเครื่องดนตรี ทุกโน้ตถูกวางอย่างไตร่ตรอง มีการใช้ ‘correlated phrasing’ ที่แต่ละวลีเชื่อมต่อกันอย่างงดงามราวกับถูกประพันธ์ไว้ล่วงหน้า โทนเสียงของเขาในเพลงนี้ คือตัวอย่างชั้นเลิศของเสียงที่ “กลมกลึงราวกับระฆัง” และเต็มไปด้วยความรู้สึกโหยหา (wistful) แต่ก็สง่างามอยู่ในที 

โซโล่บทนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อนักดนตรีรุ่นหลัง โดยเฉพาะ ‘เลสเตอร์ ยัง’ (Lester Young) นักแซ็กโซโฟนผู้ยิ่งใหญ่ที่สารภาพว่าเขาสามารถร้องโซโล่ของ บิกซ์  ในเพลงนี้ได้ทุกตัวโน้ต

“มีนักดนตรีมากมายพยายามที่จะเล่นให้เหมือน บิกซ์ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครเล่นได้เหมือนเขาเลย” หลุยส์ อาร์มสตรอง เคยให้มุมมองไว้ ขณะที่ ‘โฮกกี คาร์ไมเคิล’ (Hoagy Carmichael) นักแต่งเพลงและเพื่อนสนิทของ บิกซ์ ย้ำว่า “โน้ตของ Bix ไม่ได้ถูก ‘ตี’ ออกมา แต่เขา ‘ลูบไล้’ มัน... เหมือนนักระนาดเหล็ก (mallet player) โน้ตแต่ละตัวที่ออกมาจึงดูเหมือนมีรัศมีเรืองรองอยู่รอบ ๆ”

นอกเหนือจากคอร์เน็ตแล้ว บิกซ์ ยังเป็นนักเปียโนที่มีพรสวรรค์อย่างน่าทึ่ง การบันทึกเสียงโซโลเปียโนครั้งแรกของเขาในเพลง ‘Big Boy’ (1924) ได้สร้างความประหลาดใจให้กับเพื่อนนักดนตรีร่วมสมัยอย่างมาก ในช่วงท้ายของชีวิต เขาหันมาให้ความสนใจกับการเล่นเปียโนและการประพันธ์เพลงมากขึ้น ผลงานชิ้นเอกอย่าง ‘In a Mist’ และ ‘Candlelights’ ได้กลายเป็นมรดกทางดนตรีที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในฮาร์โมนีที่ได้รับอิทธิพลมาจากคีตกวีอิมเพรสชันนิสต์ และเป็นเครื่องยืนยันว่า บิกซ์ คือศิลปินผู้มีวิสัยทัศน์ทางดนตรีที่กว้างไกลอย่างแท้จริง

ทว่า เสียงอันบริสุทธิ์และอัจฉริยภาพทางดนตรีที่ส่องสว่างนั้น กลับมีเงามืดทาบทับชีวิตอยู่ เขาคือบทสรุปของ ‘บุคคลแห่งยุคแจ๊สผู้กลายเป็นโศกนาฏกรรม’ ดั่งตัวละครที่หลุดออกมาจากหน้ากระดาษในนวนิยายของ ‘เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์’ (F. Scott Fitzgerald) ผู้ลุกโชนอย่างเจิดจ้าและดับสลายไปในเวลาอันสั้น

ชีวิตที่เดินไปสู่ความหายนะ

บิกซ์ จากโลกไปด้วยวัยเพียง 28 ปี ในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1931 ด้วยโรคปอดบวมซึ่งถูกซ้ำเติมจากพิษสุราเรื้อรังที่กัดกินเขามานานหลายปี การดื่มเหล้าไม่ได้เป็นเพียงนิสัย แต่เป็นกลไกการหลบหนีจากความขัดแย้งในใจและแรงกดดันมหาศาลที่มีต่อชีวิต 

นักวิจารณ์ชี้ว่า บิกซ์ ขาด ‘เครื่องมือทางอารมณ์และศีลธรรม’ (emotional and moral equipment) ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดในโลกธุรกิจบันเทิง เขาไม่สามารถประนีประนอมหรือสละซึ่งความซื่อตรงต่อศิลปะของตนเองได้

ในปี 1930 ซึ่งเป็นปีก่อนเสียชีวิต สภาพของ บิกซ์ ทรุดหนัก เขาไม่สามารถทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง และมีภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน เสียงคอร์เน็ตที่เคยสดใสเริ่มสะท้อนถึงความอ่อนล้าทั้งทางเทคนิคและจินตนาการ เป็นสัญญาณเตือนถึงจุดจบที่กำลังจะมาถึง

เรื่องราวของ บิกซ์ ไม่ใช่แค่การต่อสู้กับปีศาจในใจตนเอง แต่ยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยชนะกับความคาดหวังของครอบครัวที่เขาทั้งรักและต้องการการยอมรับมาตลอดชีวิต 

ในกรงทองของความคาดหวัง

ไบเดอร์เบ็ค เป็นครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ที่ได้รับการนับหน้าถือตาในเมืองดาเวนพอร์ต พวกเขายึดมั่นในคุณค่าของความขยันหมั่นเพียร ความมีระเบียบวินัย และการมีหน้ามีตาทางสังคม (respectability) ดนตรีในบ้านไบเดอร์เบ็ค คือดนตรีคลาสสิกที่บรรเลงในห้องนั่งเล่นเพื่อความสุนทรีย์ คือสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมชั้นสูง และการขัดเกลาทางจิตใจ แต่ไม่ใช่อาชีพที่น่าเชิดชู พ่อของเขาคาดหวังให้ลูกชายสืบทอดธุรกิจ หรือประกอบอาชีพที่มีเกียรติและมั่นคง

ในสายตาของครอบครัวไบเดอร์เบ็ค ดนตรีแจ๊สในช่วงทศวรรษ 1920s ไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็น ‘ดนตรีชั้นต่ำ’ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานเริงรมย์, ซ่องโสเภณีริมแม่น้ำ และบาร์เหล้าเถื่อน (speakeasies) ในยุคต้องห้าม (Prohibition Era 1920-1933) การที่ บิกซ์ หลงใหลในดนตรีรูปแบบนี้ และใช้ชีวิตคลุกคลีกับนักดนตรีตามเรือกลไฟ จึงเป็น ‘ความเสื่อมเสีย’ ที่น่าอับอายต่อวงศ์ตระกูล พวกเขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมลูกชายที่เกิดในครอบครัวที่ดีพร้อม ถึงเลือกเส้นทางที่ดูไร้อนาคตและน่าดูแคลนเช่นนี้

หลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่สุดของแรงกดดันจากครอบครัว เกิดขึ้นในปี 1921 เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจส่งเขาไปยังโรงเรียนประจำ Lake Forest Academy ซึ่งมีลักษณะคล้ายโรงเรียนทหารที่เข้มงวด จุดประสงค์ที่แท้จริงไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่คือความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะ ‘ดัดนิสัย’ และ ‘ดึง’ เขาออกมาจากอิทธิพลของดนตรีแจ๊สในดาเวนพอร์ต 

แต่ผลลัพธ์กลับตาลปัตรอย่างน่าขัน โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชิคาโก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของดนตรีแจ๊สที่ร้อนแรงยิ่งกว่าดาเวนพอร์ตเสียอีก บิกซ์ จึงมักแอบหนีเข้าไปในเมืองเพื่อฟังและเล่นดนตรี จนกระทั่งถูกทางสถาบันฯ ไล่ออกในที่สุด ความพยายามที่จะ ‘แก้ไข’ ของครอบครัว กลับผลักไสให้เขาดำดิ่งสู่โลกของแจ๊สลึกยิ่งกว่าเดิม

นี่คือแก่นกลางของโศกนาฏกรรม แม้ในช่วงที่ บิกซ์ มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นดาวเด่นในวงออร์เคสตราของ ‘พอล ไวท์แมน’ (Paul Whiteman) ซึ่งเป็นวงที่โด่งดังที่สุดในอเมริกา และมีรายได้สูงมาก แต่ในสายตาของครอบครัว เขาไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

พวกเขาไม่สามารถมองข้ามภาพของ ‘นักดนตรีเต้นรำ’ ที่ใช้ชีวิตไม่เป็นหลักแหล่งและดื่มเหล้าจัดไปได้ ความสำเร็จสำหรับพวกเขา คือธุรกิจที่มั่นคง ครอบครัวที่เป็นปึกแผ่น และการเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมบ้านเกิด ไม่ใช่ชื่อเสียงจอมปลอมในโลกที่พวกเขาชิงชัง มีเรื่องเล่าว่าแม้แต่ตอนที่ บิกซ์ กลับบ้านพร้อมกับเงินทองมากมาย พ่อของเขาก็ยังคงผิดหวังและมองว่ามันเป็นเงินที่ได้มาจากอาชีพที่ไม่น่าภาคภูมิใจ

บิกซ์ รักครอบครัวของเขามาก และการไม่ได้รับการยอมรับนี้ได้สร้างบาดแผลลึกในใจ เขามีความรู้สึกผิด (guilt) และมองตัวเองว่าเป็น ‘ความล้มเหลว’ (a failure) ไม่ว่าคนทั้งโลกจะยกย่องเขามากเพียงใดก็ตาม แอลกอฮอล์จึงกลายเป็นเครื่องมือในการระงับความเจ็บปวดจากความขัดแย้งนี้ การดื่มเหล้าอย่างหนักของเขา (รวมถึงเหล้าเถื่อนที่ไร้คุณภาพปนเปื้อนโลหะหนักในเวลานั้น) ส่วนหนึ่งคือการหลบหนีจากความจริงที่ว่า เขาไม่มีวันเป็นลูกชายในแบบที่พ่อแม่ต้องการได้เลย

บาดแผลจากการไม่เป็นที่ยอมรับของครอบครัวนี้ ไม่เคยได้รับการเยียวยา และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่นำพาอัจฉริยะผู้นี้ไปสู่การทำลายตัวเองในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางอาชีพของ บิกซ์ เหตุที่เขาอ่านโน้ตดนตรีได้ไม่คล่องแคล่ว ทำให้พลาดโอกาสสำคัญและสร้างความตึงเครียดในการทำงานร่วมกับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ เช่น วงของ ฌอง โกลด์เค็ตต์ (Jean Goldkette) และ พอล ไวท์แมน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เขาอยู่กับวงของ ไวท์แมน ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญที่สุดในชีวประวัติของเขา

แฟนเพลงจำนวนมาก มองว่า พอล ไวท์แมน คือ ‘ตัวร้าย’ ที่บีบคั้นพรสวรรค์ของ บิกซ์ ด้วยงานเรียบเรียงเพลงเชิงพาณิชย์ และจำกัดพื้นที่ ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ด้นสดอย่างอิสระ ทำให้ บิกซ์ รู้สึก “ไม่มีความสุขและคับข้องใจ” อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลอีกด้าน ได้เสนอภาพที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะ บิกซ์ เอง ก็มีความสนใจที่จะร่วมงานกับวงดนตรีขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนและท้าทาย ถึงขนาดเคยขอให้นักเรียบเรียงเพลงของวง อย่าง ‘เฟอร์ดี โกรเฟ’ (Ferde Grofé) เขียนพาร์ทสำหรับให้เขาเล่นในบทเพลงคลาสสิกด้วยซ้ำ ความจริงนี้ จึงอาจเป็นการต่อสู้ ระหว่างความต้องการอิสรภาพทางศิลปะและความทะเยอทะยานในใจของ บิกซ์ เอง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มสลายในปี 1929 ซึ่งยิ่งเพิ่มความกดดันและความสิ้นหวังให้แก่ผู้คนในยุคนั้น

“บิกซ์ เป็นคนจิตใจดี สบายๆ ... เป็นแค่ศิลปินคนหนึ่ง และคุณมองดูก็รู้ได้เลยว่า เขาคงจะอยู่บนโลกนี้ได้อีกไม่นาน... เขามีความบริสุทธิ์บางอย่างที่โลกใบนี้พร้อมจะขย้ำให้แหลกสลาย” เมซซ์​ เมซซ์โรว (Mezz Mezzrow) นักคลาริเน็ตและแซ็กโซโฟนเคยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างแหลมคม

บันทึกความทรงจำของ ‘ราล์ฟ เบอร์ตัน’ (Ralph Berton) ในปี 1974 วาดภาพนักคอร์เน็ตคนนี้ไว้อย่างเจ็บปวดว่า เขาเป็นคนที่ “ไร้ทิศทาง และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ ผู้ซึ่งค้นพบที่หลบภัยในดนตรีแจ๊ส แต่กลับกลายเป็น ความรักที่มืดมิดและสับสน ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง” 

บิกซ์ ไบเดอร์เบ็ค คือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากคนทั้งโลก แต่ตัวเขาเองกลับไม่มีความสุขจากความสำเร็จที่ตนเองได้รับ ผู้จากโลกไปก่อนวัยอันสมควร เหลือไว้เพียงสุ้มเสียงทางดนตรีอันงดงามที่ยังดังก้องอยู่ในประวัติศาสตร์แจ๊สตลอดไป

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ภาพ: Getty Images 

 

ที่มา:

Sudhalter, Richard M. Lost Chords: White Musicians and Their Contribution to Jazz, 1915–1945. Oxford University Press, 1999. 

James, Burnett. Bix Beiderbecke. A. S. Barnes and Company, Inc., 1961. 

Kennedy, Rick. Jelly Roll, Bix, and Hoagy: Gennett Records and the Rise of America's Musical Grassroots. Indiana University Press, 2013. 

Sudhalter, Richard M., and Philip R. Evans. Bix: Man and Legend. Arlington House, 1974.