11 ก.ค. 2568 | 16:46 น.
KEY
POINTS
ในหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีอเมริกัน มีบทเพลงไม่มากนักที่ทรงพลังและสร้างแรงสั่นสะเทือนทางสังคมได้เทียบเท่า ‘Strange Fruit’ ที่ขับร้องโดย บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) ด้วยน้ำเสียงที่แฝงด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว เนื้อหาที่บาดลึก และการเรียบเรียงดนตรีที่สอดประสานอย่างลึกซึ้ง เพลงนี้เป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ถึงความโหดร้ายของการแขวนคอด้วยศาลเตี้ย (lynching) และจุดประกายให้เกิดขบวนการสิทธิพลเมืองในเวลาต่อมา
‘Strange Fruit’ มาจากปลายปากกาของ อาเบล มีโรโพล (Abel Meeropol) ครูสอนหนังสือชาวยิวผิวขาวจากย่านบร็องซ์ นิวยอร์ก เขาเขียนเพลงนี้ภายใต้นามแฝง ลูว์อิว อัลแลน (Lewis Allan) หลังจากเห็นภาพถ่ายของการรุมประชาทัณฑ์แขวนคอคนดำในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ภาพศพที่ห้อยลงมาจากกิ่งไม้สร้างความสะเทือนใจแก่เขาอย่างรุนแรง จนกลั่นออกเป็นบทกวีชื่อ ‘Strange Fruit’ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 ในวารสารสหภาพครู ‘New York Teacher’
ทว่า มีโรโพล ไม่เพียงเขียนบทกวี เขายังได้ประพันธ์ทำนองไว้ด้วย จนเพลงนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองหัวก้าวหน้าของนิวยอร์ก โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1938 เมื่อ มีโรโพล นำเพลงนี้ไปเสนอให้ บาร์นีย์ โจเซฟสัน (Barney Josephson) เจ้าของ Café Society ในย่านกรีนนิช วิลเลจ บนเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก คาเฟ่ชื่อดังแห่งนี้เปิดรับลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติ ภายใต้สโลแกน “สถานที่ที่ผิด สำหรับคนที่ใช่” (The wrong place for the Right people)
โจเซฟสัน ประทับใจในพลังของบทเพลงอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของเขา เพราะจริง ๆ แล้วเขาตั้งใจทำคาเฟ่ให้เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทางดนตรีและความคิด เขาจึงแนะนำให้ บิลลี ฮอลิเดย์ เป็นผู้ขับร้อง โดยมองว่าน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความลึกซึ้งของเธอจะสามารถถ่ายทอดสารของเพลงนี้ได้อย่างทรงพลังที่สุด
แม้จะมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับปฏิกิริยาแรกของ ฮอลิเดย์ แต่ท้ายที่สุดเธอตกลงที่จะร้องเพลงนี้ และในปี 1939 เธอก็ได้บันทึกเสียงในเวอร์ชันที่กลายเป็นตำนานและสร้างความสะเทือนใจไปทั่ววงการ
เพื่อที่จะเข้าใจถึงพลังของ ‘Strange Fruit’ อย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องมองย้อนกลับไปในบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่การรุมประชาทัณฑ์คนดำยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัฐทางภาคใต้ ภายใต้กฎหมาย ‘Jim Crow’ ที่บังคับใช้การแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างเข้มงวด และการรุกรานของกลุ่มผิวขาวหัวรุนแรงสุดโต่ง ในนามขบวนการ คลู คลักซ์ แคลน (Klu Klux Klan) ต่อคนผิวดำและชนกลุ่มน้อย
สิ่งที่น่าตกใจก็คือ การรุมประชาทัณฑ์เหล่านี้ มักเป็นกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้นอย่างเปิดเผย มีผู้คนหลายร้อยหรือหลายพันคน ทั้งชาย หญิง และเด็ก มารวมตัวกัน เพื่อเป็นสักขีพยานในกระบวนการยุติธรรมแบบศาลเตี้ยนี้ โดยไม่มีใครถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
ในยุคสมัยที่ผู้คนจำนวนมากยังคงมีทัศนคติว่า คนผิวดำด้อยกว่าในความเป็นมนุษย์ Strange Fruit จึงเป็นบทเพลงที่ "ล้ำหน้า" ด้วยเนื้อหาที่ต่อต้านการรุมประชาทัณฑ์ แสร้างแรงสั่นสะเทือนในกลุ่มผู้ฟังทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่คนมีความรู้และมีแนวคิดเปิดกว้างด้านสิทธิพลเมือง
มีบันทึกว่าการแสดงที่ Café Society ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ผู้ชมถึงขีดสุด โจเซฟสัน สั่งให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ปิดไฟ เหลือเพียงสปอตไลท์ส่องที่ใบหน้าของ ฮอลิเดย์ และเธอจะเดินออกจากเวทีทันทีหลังเพลงจบโดยไม่มีการอังกอร์ การแสดงนี้สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชมจนเงียบงัน ก่อนที่เสียงปรบมือจะดังกระหึ่มตามมา
ในการบันทึกเสียง ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ Columbia Records ในเวลานั้นปฏิเสธที่จะอัดเพลงนี้ เพราะกลัวว่าจะสูญเสียลูกค้าทางภาคใต้ และเกรงจะเกิดกระแสขัดแย้งขึ้นในสังคม ฮอลิเดย์ จึงไปขอความช่วยเหลือจากค่ายเพลงอิสระ อย่าง Commodore Records โดยใช้เวลาบันทึกเสียงเพลงนี้เพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
แม้จะไม่ใช่เพลงฮิตติดชาร์ตและแทบไม่ได้ถูกเปิดทางวิทยุ แต่ Strange Fruit ก็ได้รับคำยกย่องอย่างล้นหลามจากสื่อหัวก้าวหน้า แซมมวล กราฟตัน (Samuel Grafton) แห่ง New York Post เขียนว่า เพลงนี้มีพลังที่ "ทำให้คุณต้องกระพริบตาและยึดเก้าอี้ไว้แน่น" และ "ทำให้ผมอยากจะลุกขึ้นไปชกหน้าใครสักคน" เพราะเนื้อหาของเพลงบอกเล่าให้สังคมรับรู้และเผชิญหน้ากับความไร้มนุษยธรรมในประเทศของตัวเอง
แม้ Strange Fruit ไม่สามารถหยุดยั้งการรุมประชาทัณฑ์คนดำได้โดยตรง แต่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดลงในจิตใจของผู้คน ซึ่งนำไปสู่ "ยุคใหม่ของการปฏิรูปสังคมอเมริกัน"
อาห์เมท เออร์เตอกึน (Ahmet Ertegun) ผู้ก่อตั้งค่าย Atlantic Records สะท้อนมุมมองว่าเพลงนี้ไม่ใช่แค่แผ่นเสียง แต่คือ "การประกาศสงคราม... จุดเริ่มต้นของขบวนการสิทธิพลเมือง" ศิลปินอย่าง Nina Simone และ Josh White ได้นำเพลงนี้ไปขับร้องเช่นกัน เพื่อสืบสานพลังของมันต่อไป
พลังของ Strange Fruit ไม่ได้จางหายไปตามกาลเวลา ตรงกันข้ามกลับเป็นบทเพลงที่ศิลปินร่วมสมัยหยิบยกขึ้นมาตีความใหม่อยู่เสมอ เพื่อเชื่อมโยงความเจ็บปวดในอดีตเข้ากับประเด็นทางสังคมในยุคปัจจุบัน
เจฟฟ์ บัคลีย์ (Jeff Buckley) ศิลปินอัลเทอร์เนทีฟร็อกผู้ล่วงลับ ได้สร้างเวอร์ชันที่ดิบและโหยหวนอย่างยิ่ง ด้วยกีตาร์เพียงตัวเดียว และเสียงร้องที่บาดลึก เขาสลัดความนุ่มนวลของดนตรีแจ๊สออกไป เหลือเพียงแก่นแท้ของความสยดสยอง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญหน้ากับความโหดร้ายนั้นโดยตรง
เพลง ‘Blood on the Leaves’ ในอัลบั้ม Yeezus (2013) คานเย เวสต์ (Kanye West) ได้นำเสียงร้องของ นีนา สิโมน ในเพลง Strange Fruit"มาใช้เป็นแซมเปิลอย่างชาญฉลาด เขาไม่ได้เล่าเรื่องการแขวนคอแบบศาลเตี้ยโดยตรง แต่ใช้ความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในแซมเปิลนั้น มาเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว การทำลายตัวเอง และผลกระทบจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ฟุ้งเฟ้อในสังคมคนผิวดำยุคใหม่ เป็นการเชื่อมโยงบาดแผลในประวัติศาสตร์ (เลือดบนใบไม้) เข้ากับความเจ็บปวดในยุคปัจจุบันได้อย่างทรงพลัง
นักร้องสาวเจ้าของเสียงโซลอันทรงพลัง แอนดรา เดย์ (Andra Day) ได้นำ Strange Fruit กลับมาสู่ความสนใจของคนรุ่นใหม่อีกครั้ง ผ่านการรับบทเป็น บิลลี ฮอลิเดย์ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The United States vs. Billie Holiday’ (2021) การขับร้องของเธอ ยืนยันว่าสารของเพลงนี้ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นต้องถูกบอกเล่าต่อไปในศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ ศิลปินหลากหลายแนวเพลง ตั้งแต่ ซูซี่ แอนด์ เดอะ แบลนชีส์ (Siouxsie and the Banshees) ไปจนถึง ค็อคโท ทวินส์ (Cocteau Twins) ก็ได้สร้างสรรค์เวอร์ชันของตนเองขึ้นมา พิสูจน์ให้เห็นว่า 'Strange Fruit' สามารถปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ทางดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไป
‘Strange Fruit’ เป็นบทเพลงที่ทรงพลังและสะเทือนอารมณ์ไม่เสื่อมคลาย คือเครื่องเตือนใจถึงอดีตอันเจ็บปวด และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ยังก้องกังวานมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
Phull, Hardeep. Story behind the Protest Song: A Reference Guide to the 50 Songs That Changed the 20th Century. Greenwood Press, 2008.
Barnet, Richard D., et al. The Story Behind the Song: 150 Songs that Chronicle the 20th Century. Greenwood Press, 2004.
ภาพ : Getty Images