วีระเทพ ป้อมพันธุ์: นักฟุตซอลตัวเทพที่พลิกเส้นทางมาสู่ฟุตบอลทีมชาติไทย กับจุดเริ่มต้นจากโอกาสในยุคปฏิวัติลูกหนังไทย

วีระเทพ ป้อมพันธุ์: นักฟุตซอลตัวเทพที่พลิกเส้นทางมาสู่ฟุตบอลทีมชาติไทย กับจุดเริ่มต้นจากโอกาสในยุคปฏิวัติลูกหนังไทย

วีระเทพ ป้อมพันธุ์: นักฟุตซอลตัวเทพที่พลิกเส้นทางมาสู่ฟุตบอลทีมชาติไทย กับจุดเริ่มต้นจากโอกาสในยุคปฏิวัติลูกหนังไทย

ฟุตบอลซีเกมส์ 2021 (ที่แข่งปี 2022) ทีมชาติไทยอกหักทั้งประเภทชายและหญิง ความพ่ายแพ้ในนัดชิงชนะเลิศของทั้งสองชุดเกิดขึ้นในเกมที่แข่งกับเวียดนามทั้งคู่ ท่ามกลางผลลัพธ์น่าผิดหวัง แฟนบอลทีมชาติไทยชุดยู – 23 ยังได้เห็นแง่มุมบวกจากทีมชายชุดนี้หลายจุด ที่ต้องพูดถึงคือผลงานของวีระเทพ ป้อมพันธุ์ ฟันเฟืองชิ้นสำคัญของทีมชายซึ่งมีผลงานน่าสนใจทั้งแง่ฟอร์มโดยรวมและสถิติ ที่สำคัญคือ เขาเป็นคนใส่สกอร์ช่วยช้างศึกเฉือนชนะอินโดนีเซีย 1-0 ในเกมรอบตัดเชือกทำให้ไทยเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ ลูกยิงที่ส่วนหนึ่งหลายคนมองกันว่ามาจากทักษะส่วนตัวด้วยเช่นกัน วีระเทพ ป้อมพันธุ์ (เตอร์) เกิดปี พ.ศ.2539 ที่จังหวัดนนทบุรี ในครอบครัวที่คุณพ่อสนับสนุนให้เล่นฟุตบอลอย่างเต็มที่ นอกจากครอบครัวแล้ว สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยรุ่นพี่แถวบ้านที่ชอบเตะฟุตบอลกันเป็นชีวิตจิตใจ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดนนทบุรี ฟุตซอลกลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงทำให้เตอร์เริ่มต้นชีวิตฟุตซอลของเขาตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นมา หลังจากสั่งสมฝีเท้ามาเรื่อย ๆ เตอร์เริ่มจริงจังกับฟุตซอลมากขึ้นเมื่อตัดสินใจเข้าเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านฟุตซอล และรุ่นพี่ส่วนใหญ่ที่จบจากที่นี่มักจะได้เล่นในฟุตซอลลีกอาชีพด้วย ช่วงเวลา ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ เตอร์เริ่มแสดงฝีเท้าได้อย่างโดดเด่นจนไปเตะตาโรงเรียนปทุมคงคา หนึ่งในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านฟุตซอลระดับประเทศเข้าอย่างจัง จนต้องมาสู่ขอให้ไปร่วมทีมด้วย ซึ่งหลังจากปรึกษากับคุณพ่อและอาจารย์แล้ว ทั้ง 2 ท่านเห็นว่าโอกาสดีเช่นนี้ควรต้องคว้าไว้ เตอร์จึงตัดสินใจย้ายไปเรียนและเล่นฟุตซอลให้กับโรงเรียนปทุมคงคาในเวลาต่อมา ชีวิตในรั้วปทุมคงคากับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ชีวิตฟุตซอลที่ปทุมคงคาของเตอร์ (ม.4-ม.6) เรียกได้ว่าเป็นช่วงไล่ล่าความสำเร็จ เขาและเพื่อนๆ ช่วยกันไล่เก็บทั้งประสบการณ์และถ้วยรางวัลมากมาย แต่เวทีหนึ่งที่ทำให้เขาแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างจริงจังคือ ฟุตซอลเดินสาย เพราะเวทีนี้ไม่มีจำกัดอายุเหมือนบอลนักเรียน การเล่นบอลเดินสายเป็นข้อห้ามอย่างหนึ่งของทางโรงเรียน เพราะเวทีนี้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย หากโดนรุ่นใหญ่ทั้งหลายเตะเอา แต่ด้วยความอยากลองวัดระดับฝีเท้า เตอร์และเพื่อนแอบหนีไปเตะบอลเดินสายจนได้ แต่สุดท้ายก็ไม่รอดสายตาของอาจารย์จนต้องโดนทำโทษอยู่เสมอ แม้จะโดนทำโทษอย่างไร แต่กลิ่นอายของการเป็นผู้ชนะก็หอมหวนเกินกว่าจะหยุดพวกเขา โดยเฉพาะการได้ชนะผู้ใหญ่ที่มักไล่เตะพวกเขาอยู่เป็นประจำ เตอร์และเพื่อนยังคงรวมทีมไปประลองกำลังกับพวกผู้ใหญ่อยู่เสมอ (เตอร์ใช้คำว่า “ดื้อตีน”) จนเริ่มเกิดคำถามในหมู่แฟนบอลว่า เด็กพวกนี้มันคือใคร ทำไมมันเล่นดีจัง จนมาถึงวันหนึ่ง พวกเขาทะลุไปได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ คู่ชิงในครั้งนั้นมีนักฟุตซอลในลีกอาชีพร่วมอยู่ด้วย อาจารย์ที่เคยห้ามอยู่เสมอเริ่มอยากรู้ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนั้น และผลปรากฏว่าพวกเขาสามารถเอาชนะและได้แชมป์มาครอง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ข้อห้ามไม่ให้เล่นบอลเดินสายก็คลายลง เหลือเพียงการเตือนให้ดูแลตัวเองให้ดีจากอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ จุดเปลี่ยนสำคัญของเตอร์คือ การตัดสินใจว่าจะไปเป็นเทพฟุตซอลที่ชลบุรีบลูเวฟ (สโมสรฟุตซอลอันดับต้นๆ ของไทย) หรือไม่ เตอร์เล่าย้อนไปถึงช่วงนั้นว่า ในช่วง ม.5 และ ม.6 มีสโมสรฟุตซอลยักษ์ใหญ่ของประเทศถึง 2 สโมสร คือ สโมสรชลบุรี บลูเวฟ และการท่าเรือ เอฟซี มาชวนไปเซ็นสัญญาร่วมทีม แต่ตัวเขาเองมีเป้าหมายว่าอยากเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามกับชีวิตว่า ถ้าเล่นฟุตซอลกับชลบุรีไปด้วย แล้วต้องไปเรียนที่จุฬาฯ ไปด้วย จะไหวไหม การเดินทางไกล การต้องเรียนหนัก ทำให้เขาลังเลอย่างยิ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังจากปรึกษาคุณพ่ออีกครั้ง เขาเลือกไม่เซ็นสัญญากับชลบุรี บลูเวฟ แล้วเลือกไปเรียนต่อที่จุฬาฯ แทน ฟุตบอลสโมสรและทีมชาติ โอกาสจากการปฏิวัติวงการฟุตบอลไทย ชีวิตที่จุฬาฯ เดิมทีเตอร์ตั้งใจว่าจะเข้าเรียนในรอบโครงการฟุตซอลรอบแรกของจุฬาฯ แต่ปัญหาคือคะแนน GAT/PAT ของเขาไม่ถึง จึงทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ ทางจุฬาฯ เสนอทางออก (ที่ดีมากๆ) ให้กับเขา โดยการแนะนำให้มาคัดตัวในโครงการฟุตบอลแทน และฟุตบอลเองก็น่าจะไปได้ไกลกว่าฟุตซอลด้วย ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ มีลีกอาชีพที่มั่นคง หลังจากลองทำตามคำแนะนำ เตอร์คัดตัวผ่านในโครงการฟุตบอล แล้วหันหลังให้ฟุตซอลมุ่งสู่ฟุตบอลสนามใหญ่อย่างเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่การเปลี่ยนในครั้งนี้ไม่ได้ราบรื่นนัก ในช่วงปีแรกเขายังไม่ค่อยได้รับโอกาสเท่าใดนัก เพราะการเล่นฟุตซอลมาโดยตลอด ทำให้ต้องปรับตัวกับรูปแบบของฟุตบอลสนามใหญ่มากพอสมควร หลังจากปรับตัวอย่างหนัก เตอร์เริ่มค้นพบว่าจุดเด่นของพวกนักฟุตซอลเช่นเขา คือการเอาตัวรอดในที่แคบ ซึ่งหมายถึงการมีทักษะครองบอลที่ดี เหนียวแน่น เสียบอลยาก เตอร์จึงนำจุดเด่นตรงนี้มาปรับใช้ในการเล่น แล้วเขาก็เริ่มได้เป็นขาประจำของทีม ในช่วงที่เตอร์อยู่ชั้นปี 2 ขณะนั้นจุฬาฯ มีทีมฟุตบอลอาชีพของตัวเอง คือ ทีมจามจุรี ยูไนเต็ด อยู่ในศึกออมสิน ลีกโปร (ไทยลีก 3) เขาเริ่มได้รับโอกาสได้เล่นฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจังในช่วงนั้นเอง ทักษะการครองบอล เล่นง่าย เอาตัวรอดเก่ง อันเป็นจุดเด่นของเขาไปเตะตาเข้าอย่างจัง (อีกครั้ง) กับสโมสรระดับต้น ๆ ของประเทศอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด จนต้องมาสู่ขอไปร่วมทีม ด้วยความที่ต้องเรียนหนักในคณะครุศาสตร์ อีกทั้งยังต้องฝึกสอนในปี 5 ทางสโมสรจึงยังไม่ปล่อยตัวให้เมืองทองฯ เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ การกระโดดข้ามจากลีกระดับ T3 ไปสู่ลีกสูงสุดของประเทศไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ทำให้เตอร์ต้องรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ทันที ในทีมเมืองทองฯ ขณะนั้นเต็มไปด้วยซุปเปอร์สตาร์ระดับทีมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ธีรศิลป์ แดงดา สารัช อยู่เย็น หรืออดิศร พรหมรักษ์ ในครั้งแรกที่เจอ เขามีแต่ความตื่นเต้น เพราะเคยเห็นนักฟุตบอลแค่ในทีวี แต่วันนี้คือได้เป็นเพื่อนร่วมทีมกัน ต่อมาสารัช อยู่เย็น ย้ายไปเล่นให้กับสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ทำให้ตำแหน่งกองกลางของทีมว่างลง จึงกลายเป็นโอกาสของเตอร์ที่จะได้เริ่มแสดงฝีเท้าอย่างเต็มตัว แม้ความกดดันจะถาโถมเข้ามา คำถามที่ว่าเขาจะมาแทนสารัชได้มั้ย วีระเทพคือใครมาจากไหน เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เตอร์ก็ฝ่าฟันมาได้ เขาคิดแค่ว่า เขาไม่ได้มาแทนใคร เขาคือผู้เล่นคนหนึ่ง มีสไตล์การเล่นเป็นของตัวเอง และเขาจะช่วยทีมให้ดีที่สุด ซึ่งทำให้แฟนบอลต่างรักเขาแบบที่เป็นในทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ย้ายไปเมืองทองฯ ในปีแรก คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องฝึกสอนในช่วงที่อยู่ปี 5 ด้วย เตอร์ เล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า ชีวิตการฝึกสอนช่วงแรกต้องตื่นตี 5 เพื่อจะให้ไปถึงทันที่โรงเรียนตอน 8 โมง พอสอนเสร็จ 4 โมงเย็น ก็ขับรถไปซ้อมที่เมืองทองฯ ทำอย่างนี้ทุกวัน ได้พักบ้างบางเสาร์อาทิตย์ เตอร์บรรยายสภาพชีวิตในตอนนั้นว่า หนักมาก เพราะใช้เวลาเกือบ 13-14 ชั่วโมงในการทำกิจกรรมที่หนักทั้งสมอง (การสอน) และร่างกาย (ซ้อมฟุตบอล) การซ้อมในช่วงนั้นจึงเต็มที่ได้แค่ประมาณ 50% ด้วยภาระหนักทั้งวันดังที่ได้กล่าวมา ยังโชคดีที่สโมสรเองก็เข้าใจ แต่ประสบการณ์ของการฝึกสอนก็สอนชีวิตให้เขาอย่างมาก เตอร์ใช้วิธีการสร้างความเป็นครูโดยกลับไปเริ่มที่พื้นฐานคือ อะไรที่เราชอบจากการถูกครูสอนตอนเด็ก เราก็ทำแบบนั้นกับเด็ก อะไรที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่ไปทำกับเด็ก ดังนั้น แนวทางของเขาจึงเป็นครูที่รีแลกซ์ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย กล้าจะเข้าหาและเรียนรู้ไปกับเขา ไม่ต่างจากแนวทางการเล่นฟุตบอลของเขาที่ทำหน้าที่คอยผ่อนคลายให้ทีมเล่นง่ายขึ้นดังที่เขาได้ทำมา กิจวัตรประจำในช่วงนั้น คือ ตื่นเช้าไปสอน ตอนเย็นซ้อมบอล กลับบ้านไปเตรียมสอน กลายเป็นกิจวัตรที่สร้างให้เขาเป็นคนที่มีความรับผิดชอบอย่างมาก และความรับผิดชอบนี้เองที่เขาเอามาปรับใช้ในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบในตัวเองสูงเช่นกัน ทานอาหารที่ดี มาซ้อมตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ก้าวไปสู่การนักฟุตบอลอาชีพที่มีคุณภาพ โอกาสครั้งสำคัญอีกครั้งของเตอร์คือเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยในปัจจุบัน การติดทีมชาติครั้งแรกเริ่มจากช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ถูกเรียกติดทีมชาติในช่วงฟีฟ่าเดย์ ชุดที่อุ่นเครื่องกับทีมนครปฐม ยูไนเต็ด ครั้งที่สองคือมีชื่อเป็น 1 ใน 47 นักเตะที่โค้ชอากิระ นิชิโนะ เรียกเข้าแคมป์เก็บตัวของทีมชาติ เพื่อคัดตัวไปสู้ศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก รอบ 2 โซนเอเชีย ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ความเทพในนามทีมชาติมาปรากฏชัดเจนภายใต้การคุมทีมของ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทยคนปัจจุบัน ที่ใส่ชื่อของเขาไปลุยศึก ซูซูกิ คัพ 2020 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเตอร์ได้รับโอกาสลงสนามเป็นตัวจริงในเกมส์นัดสุดท้ายของกลุ่มเอ แล้วเขาก็ไม่ปล่อยโอกาสไปไหน เมื่อจัดการโชว์ฟอร์มเทพพาทีมไล่อัดเจ้าภาพสิงคโปร์ไปได้ 2 ประตูต่อ 0 พร้อมทำสถิติจ่ายบอลสำเร็จสูงสุดในสนามด้วยความแม่นยำถึง 88 เปอร์เซ็นต์ พาทีมจบรายการด้วยการคว้าแชมป์ ศึกซีเกมส์ ในปี 2022 เตอร์ถูกเรียกมาติดทีมชาติในฐานะนักเตะอายุเกิน ด้วยความหวังจากโค้ชมาโน่ที่ต้องการให้เขามาช่วยประคองทีมช้างศึกชุดยู - 23 ซึ่งเขาสามารถทำผลงานได้อย่างน่าชื่นชมทั้งสถิติส่วนตัวและการเป็นฟันเฟืองสำคัญของทีม แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ทีมชุดนี้จะไปไม่ถึงแชมป์ก็ตาม จากโต๊ะเล็กสู่สนามใหญ่ การตัดสินใจที่ถูกต้อง ถูกต้องที่ 1 คือ เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เพราะฟุตบอลสนามใหญ่กลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติวงการฟุตบอลอาชีพในปี พ.ศ.2552 ที่ทำให้อาชีพนักฟุตบอล เป็นอาชีพที่มั่นคง รายได้ดี และหากสามารถสร้างทุนให้กับตัวเองได้ดีก็สามารถอยู่ในวงการได้อีกยาวนาน รวมไปถึงมีความเป็นสากล หากพัฒนาฝีเท้าได้ดีจริงก็สามารถไปเล่นในลีกต่างประเทศได้ ดังตัวอย่างของชนาธิป สรงกระสินธ์ ธีรศิลป์ แดงดา และธีราทร บุญมาทัน นอกจากนั้น การแข่งขันยังมีลีกในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ลีกสมัครเล่น ไล่ไปจนถึงลีกภูมิภาคจนมาถึงลีกสูงสุด ซึ่งการมีลีกต่าง ๆ ที่ชัดเจนนี้เองที่ทำให้เกิด “โอกาส” และ “พื้นที่” สำหรับผู้คนที่หวังจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างกว้างขวาง เห็นได้ชัดจากกรณีของเตอร์ที่ใช้เวทีของไทยลีก 3 ในนามจามจุรี ยูไนเต็ด ในการเป็นที่ปล่อยของ จนนำมาสู่ความสนใจของสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างเมืองทองฯ ในที่สุด ซึ่งหากเตอร์ตัดสินใจเป็นเทพฟุตซอลต่อไป แน่นอนว่าเขาคงอยู่ไปได้สบาย ๆ หากแต่ความสำเร็จและโอกาสต่าง ๆ คงไม่เปิดกว้างให้เขาอย่างในปัจจุบัน เตอร์กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันมีน้อง ๆ นักฟุตซอลมาปรึกษาเยอะมากว่า อยากจะเปลี่ยนเส้นทางมาสู่นักฟุตบอลแบบเตอร์บ้าง แต่ไม่รู้จะไปเส้นทางไหนดี ซึ่งคำแนะนำของเขาคือ ฝึกให้หนัก แล้วหาโอกาสจากลีกล่าง ๆ ดู เช่น ลีกภูมิภาค (ที่ยังมีเปิดคัดตัวอยู่) แล้วค่อยไต่เต้าจากจุดนั้น ถ้าโชว์ฟอร์มดี เดี๋ยวต้องมีโอกาสมาหาเราแน่นอน แต่ต้องสู้ก่อน ต้องทำงานหนักก่อน คำทิ้งท้ายนี้เตอร์อาจจะไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ แต่อาจเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวของเขาที่ตั้งเป้าหมายแบบท้าทายตัวเองอยู่เสมอ และสู้เพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นอยู่เสมอเช่นกัน ถูกต้องที่ 2 คือเป็นประโยชน์กับทีมชาติ นับตั้งแต่การปฏิวัติวงการในปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ทีมชาติไทยมีทรัพยากรนักเตะที่มีคุณภาพให้เลือกอย่างหลากหลายมากขึ้น หากเทียบกับสมัยที่ลีกอาชีพของไทยยังเป็นแบบกึ่งอาชีพในยุคก่อนหน้าที่นักฟุตบอลทีมชาตินั้นมักจะเป็นชุดเดิม โดยมีนักฟุตบอลใหม่ ๆ แทรกเข้ามาน้อยมาก หากแต่ในปัจจุบัน ชื่อของนักเตะอย่างเทพเตอร์ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ หรือโฟแบร์ อนันต์ ยอดสังวาลย์ ล้วนโผล่ขึ้นมาในแบบที่แฟนบอลต้องรีบค้น Google ว่านี่คือใคร หากแต่แฟนบอลไทยพันธุ์แท้ที่ติดตามไทยลีกอย่างต่อเนื่องอาจไม่เซอร์ไพรส์เท่าใดนัก เพราะทั้ง 2 เทพนี้ล้วนกำเนิดมาจากลีกล่างของไทย อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของวีระเทพ เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากการพัฒนาวงการลีกอาชีพไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้นักฟุตบอลฝีเท้าเทพทั้งหลายได้แสดงฝีเท้าของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ซึ่งผลดีโดยตรงต่อทีมชาติตามมา ความเทพของเทพเตอร์ หากไม่มีพื้นที่ให้แสดงฝีเท้า ให้ยึดเป็นอาชีพที่มั่นคง ความเทพนั้นคงจำกัดวงอยู่ในวงการที่เล็กแคบและไม่มีบันไดมาถึงระดับชาติได้เช่นทุกวันนี้ หากแต่ความเทพนั้น นอกจากจะผ่านการเคี่ยวกรำฝึกฝนอย่างหนักผ่านการสร้างความเป็นมืออาชีพของสโมสร ยังต้องการพื้นที่ในการปล่อยของ นั่นก็คือลีกอาชีพที่เข้มแข็งนั่นเอง แม้ผลงานของทีมชาติในช่วงที่ผ่านมาจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่บ้าง แต่หากลองพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ยังมีด้านที่น่าชื่นชมอยู่บ้าง นั่นก็คือ การมีผู้เล่นหน้าใหม่ฝีเท้าดีผลัดเปลี่ยนกันเช้ามาให้แฟนบอลได้ยลโฉมอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่า ความเทพของเทพเตอร์ การพัฒนาลีกอาชีพ และความแข็งแรงของฟุตบอลทีมชาติ ทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกัน เป็นความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้ หากต้องการให้ฟุตบอลทีมชาติพัฒนาไปอย่างยั่งยืน เรื่อง: พงศกร สงวนศักดิ์ ภาพ: แฟ้มภาพวีระเทพ ป้อมพันธุ์ จาก Getty Images แหล่งอ้างอิงข้อมูล: “วีระเทพ ป้อมพันธุ์” จากแข้งโต๊ะเล็ก สู่นักเตะจ่ายบอลแม่นสุดไทยลีก | GRAPH TO GO | EP.13 https://www.youtube.com/watch?v=kOyxOozZi60 คลิป “การเป็นครู ทำให้ชีวิตผมโตขึ้น” วีระเทพ ป้อมพันธุ์ - ballboy talk Ep.2 https://www.youtube.com/watch?v=2NAU0D9BQf8