‘เฮลซ์บลูบอย’ น้ำหวานในตำนาน 63 ปี แต่ประวัติน้อยมาก แทบไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาผู้ก่อตั้ง

‘เฮลซ์บลูบอย’ น้ำหวานในตำนาน 63 ปี แต่ประวัติน้อยมาก แทบไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาผู้ก่อตั้ง

แบรนด์น้ำหวาน (เข้มข้น) ที่มักจะมีติดบ้านแทบทุกบ้าน หนึ่งเดียวที่คนไทยน่าจะนึกถึงก็คือ ‘เฮลซ์บลูบอย’ ที่มีโลโก้เป็นเด็กชายใส่ชุดเอี๊ยมกางเกงสีฟ้า ใส่หมวกสีเขียวแบบชาวไร่ พร้อมกับตัวหนังสือภาษาอังกฤษ Hale’s Blue Boy ดีไซน์คุ้นตา (เพราะไม่เคยเปลี่ยนเลย)

น้ำหวานเฮลซ์บลูบอย คือสินค้าที่เป็น ‘พระเอก’ ของบริษัท เฮลซ์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยเกี่ยวกับผลประกอบการของน้ำหวานยี่ห้อนี้ที่มีกำไรเฉลี่ยระดับ 1,000 ล้านบาททุกปี (ตั้งแต่ปี 2562 - 2564)

นอกจากการตลาดของเฮลซ์บลูบอยจะแข็งแรงแล้ว คุณภาพยังทำให้ขึ้นเป็นแบรนด์ในใจลูกค้า (Top of Mind Brand) ตลอดที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องราวของแบรนด์เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร กว่าที่จะเป็นเฮลซ์บลูบอยอย่างทุกวันนี้

 

เริ่มจากร้านโชห่วย4พี่น้องชาวจีนอพยพ

หลาย ๆ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย บางคนก็มีพื้นเพเดิมจากการ ‘อพยพ’ ซึ่ง 4 พี่น้องตระกูล ‘พัฒนะเอนก’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เฮลซ์บลูบอยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กัน

ซึ่งทุกวันนี้ก็แทบไม่มีใครรู้ชื่อจริงของพี่น้องทั้ง 4 คนเลย หนำซ้ำยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของผู้ก่อตั้งจริง ๆ อีกด้วย (เท่าที่หาข้อมูล)

รู้เพียงว่า 4 พี่น้องตระกูลพัฒนะเอนกเป็นชาวจีนอพยพที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย และเริ่มต้นทำธุรกิจแรกก็คือ ร้านโชห่วย จากนั้นพวกเขามองเห็นโอกาสว่าในไทยยังขาดพวกสินค้าประเภทน้ำหวาน (จะมีก็แค่น้ำอัดลมในยุคนั้น)

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้ง 4 พี่น้องลองศึกษาและทดลองทำน้ำหวานแบบเข้มข้นขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสูตรเฉพาะของที่บ้าน พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ‘เฮลซ์บลูบอย’

ซึ่งจุดเริ่มต้นของน้ำหวานนี้เกิดขึ้นในปี 2502 (แต่จดทะเบียนเป็นบริษัท เฮลซ์ เทรดดิ้ง ในปี 2521 ซึ่งตอนนั้นเริ่มขายเฮลซ์บลูบอยและน้ำตาลก้อนที่ใช้กับกาแฟ) และในปี 2558 เฮลซ์บลูบอยเริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก และขยายไปที่ยุโรป, อาเซียน, จีน

 

ที่มาของโลโก้เด็กผู้ชายใส่เอี๊ยม

แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีการสรุปว่าที่มาของโลโก้แบรนด์เฮลซ์บลูบอยมาจากไหน แต่ก็มีความคิดเห็นจากหลาย ๆ คนที่ระบุว่า “จริง ๆ แล้วชื่อแบรนด์คือ เฮลซ์ (Hale’s) ส่วน Blue Boy หมายถึง ‘Blue Collar Boy’ ที่แปลว่า เด็กผู้ชายชนชั้นแรงงาน” ซึ่งก็มีส่วนหลายอย่างตั้งแต่ชุด หมวก ฯลฯ

ขณะที่ข้อมูลจากที่อื่นบอกว่า ที่โลโก้เป็นชุดเอี๊ยมเหมือนคนงานก็เพราะว่า ‘กลุ่มเป้าหมาย’ แรกของเฮลซ์บลูบอยคือกลุ่มคนใช้แรงงาน เพราะขายในราคาไม่แพง ที่สำคัญดื่มแล้วช่วยดับกระหายได้ในวันที่อากาศร้อน ๆ

 

องค์กรอนุรักษนิยมชอบเติบโตแบบเงียบๆ

ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 2 ที่ดูแลธุรกิจเฮลซ์เทรดดิ้งก็คือ ‘ประยุทธ พัฒนะเอนก’ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายต่างประเทศ เคยเปิดเผยกับสื่อกรุงเทพธุรกิจโดยยอมรับตรง ๆ ว่า “องค์กรเราเป็นองค์กรที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม

“เราเลือกที่จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา ไม่ต้องการกู้หนี้ยืมสินมาสร้างการเติบโต” นอกจากนี้ ประยุทธยังพูดถึงทิศทางของเฮลซ์บลูบอยด้วยว่า “ไม่มีแพลนจะแตกไลน์ไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด และยังไม่คิดเข้าตลาดหลักทรัพย์”

ทั้งนี้ ประยุทธได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เราไม่ได้ต้องการที่จะโตมากมาย เป็นสไตล์คนจีน ที่โตแบบ step by step ไม่ใช่แบบ MBA เมืองนอก ดูอย่างวิกฤตเศรษฐกิจคุณจะเห็นหลาย ๆ บริษัทที่เขาต้องการโตเร็ว ๆ แล้วไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่พอเจอวิกฤตก็ล้มละลายเจ๊งไปเยอะมาก ซึ่งเราไม่ต้องการเป็นแบบนั้น”

สำหรับเฮลซ์บลูบอย แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่สปอตไลต์จับตัวได้ยาก (เพราะไม่ค่อยออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์) แต่เส้นทางการเติบโตของธุรกิจยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ทั้งยังเติบโตดีมากขึ้นด้วย ซึ่งหลายคนยกให้เฮลซ์บลูบอยเป็นธุรกิจที่มีความแน่วแน่ในสิ่งที่ตัวเองถนัด และเลือกที่จะทำมันให้ดีมากกว่าขยายไลน์ธุรกิจไปเรื่อย ๆ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าโมเดลแบบนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 

 

ภาพ: halesblueboy

อ้างอิง:

http://www.halesblueboy.co.th/th/about-us/

https://www.longtunman.com/39240

https://www.bangkokbiznews.com/business/726780

https://www.blockdit.com/posts/5cc7f2c821e9f50ff771d6ad

https://www.officemate.co.th/blog/%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%A5%E0%B8%8B%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A2/