‘ตราม้า’ จากร้านขายหนังสือจีนเล็กๆ สู่อาณาจักรเครื่องเขียนรายได้พันล้าน

‘ตราม้า’ จากร้านขายหนังสือจีนเล็กๆ สู่อาณาจักรเครื่องเขียนรายได้พันล้าน

'ตราม้า' เป็นเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานที่เราคุ้นเคยมานาน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่โตเงียบๆ แต่รายได้ไม่เงียบตามเลย

เชื่อว่า ในช่วงวัยเรียนหรือแม้กระทั่งตอนนี้เอง หลายคนต้องเคยใช้เครื่องเขียน ‘ตราม้า’ ไม่ว่าจะเป็นดินสอ ปากกา สี ปากาเคมี ไม้บรรทัด ฯลฯ ซึ่งแบรนด์นี้ดูเหมือนจะเป็นแบรนด์ที่ไม่หวือหวา แต่รู้หรือไม่ว่า ตราม้ามีวางจำหน่ายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้กว่าพันล้านบาทเลยทีเดียว

‘ตราม้า’ เป็นเครื่องเขียนของ 'บริษัท นานมี จำกัด' ที่เดิมทีเป็นร้านหนังสือจีนขนาด 1 คูหาบนถนนพาดสาย ย่านเยาวราช โดย ‘ตั้งเซ็กกิม’ หรือ ‘ทองเกษม สุพุทธิพงศ์’ ชาวไทยเชื้อสายจีนผู้รักการอ่านและชอบศึกษาหาความรู้ ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2492 

ยุคนั้นร้านดังกล่าว ถือเป็นแหล่งรวมคลังความรู้ศาสตร์ตะวันออกจากจีน และเมื่อกิจการไปได้ดีในปี 2495 ทองเกษมจึงได้เริ่มต้นจดทะเบียนให้อยู่ในรูปของบริษัทใช้ชื่อ ‘นานมี’ ดำเนินธุรกิจขายปลีกหนังสือพิมพ์ วารสาร และนิตยสาร ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมถึงจัดจำหน่ายกระดาษ และเครื่องเขียน

ธุรกิจของนานมีถือว่าโตเร็วมากในช่วงปี 2500-2513 จากการเติบโตของธุรกิจหนังสือ ประกอบกับการมองเกมขาดของทองเกษมที่เห็นโอกาสของการขยายตัวด้านการศึกษาและพัฒนาคน  ทำให้สามารถขยายร้านจากคูหาเดียว เป็น 3 คูหา ตั้งบนถนนเจริญกรุง พร้อมกับทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานเพิ่มเติม ซึ่งได้รับการตอบรับดี จนสามารถเปิดสำนักงานใหญ่ขึ้นที่ถนนสุรวงศ์

และนี่เป็นอีกก้าวสำคัญของนานมีในการขยายอาณาจักรให้ใหญ่กว่าเดิม  

ในปี 2514 กลุ่มนานมีได้มีการตั้ง ‘บริษัท นานมี อุตสาหกรรม จำกัด’ ขึ้นมาสำหรับขยายกำลังการผลิต โดยเริ่มจากการผลิตเครื่องเขียนภายใต้ ‘ตราม้า’ และได้ผลิตลวดเย็บกระดาษ ออกสู่ตลาดในประเทศไทยหลังจากการได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจาก MAX Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น 

 กระทั่งในปี 2527 เป็นปีแห่งการขยับขยายครั้งสำคัญของนานมี ด้วยการย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ถนนสาทรเหนือ พร้อมได้ก่อตั้ง ‘บริษัท เอส.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด' ขึ้นมาเพื่อการผลิตสำหรับการส่งออกยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

ปัจจุบันนานมี เป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจการผลิต และจำหน่ายเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน และอุปกรณ์ศิลปะรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีแบรนด์อยู่ภายใต้ 6 แบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคย ได้แก่ HORSE (ตราม้า), นานมี, แอโรว์, แมกซ์, สีศิลปากร และวิจิตรรงค์ (สองแบรนด์หลังทำร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร) 

และนอกจากขายในไทยแล้ว ยังส่งออกไปขายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ขณะที่รายได้เมื่อดูจากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า 

บริษัท นานมี จำกัด

ปี 2562  มีรายได้ราว 397 ล้านบาท กำไรสุทธิ 40 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้ราว 322 ล้านบาท กำไรสุทธิ 30 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้ราว 315 ล้านบาท กำไรสุทธิ 33 ล้านบาท

บริษัท นานมี อุตสาหกรรม จำกัด

ปี 2562  มีรายได้ราว 1,211 ล้านบาท กำไรสุทธิ 142 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้ราว 1,110 ล้านบาท กำไรสุทธิ 128 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้ราว 940 ล้านบาท กำไรสุทธิ 114 ล้านบาท

บริษัท เอส. ซี. อุตสาหกรรม จำกัด

ปี 2562 มีรายได้ราว 25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.9 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้ราว 23 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้ราว 5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1 ล้านบาท

และนอกจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ เครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานแล้ว นานมียังมีธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาจีน รวมไปถึงสำนักพิมพ์ทองเกษม เกี่ยวกับสุภาษิต และวัฒนธรรมจีน สำนักพิมพ์นานมี ผลิตแบบเรียนจีน และหนังสืออื่นๆ ที่เป็นภาษาจีน รวมถึง ‘บริษัท  นานมี โฮลดิ้ง จำกัด’ จดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2555 ดำเนินธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย