เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ติดตั้ง
ปิด
read
history
30 เม.ย. 2565 | 15:00 น.
อิปโปลิต โรมานอฟ: ประดิษฐ์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันแรกในรัสเซีย แต่คนมีอำนาจไม่เห็นด้วย จนต้องย้ายถิ่นฐาน
เพื่อให้ ‘ผู้คน’ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ
เพื่อแทนที่ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างชนชั้น
เพื่อ ‘พัฒนา’ งอกงามความเป็นอารยะให้เมืองแปลกหน้า
‘อิปโปลิต โรมานอฟ’ วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวจอร์เจีย* จึงพยายามเค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในหัวออกมา เพื่อให้ ‘ช่องว่าง’ ในสังคมรัสเซียแคบลง โดยอาศัยพื้นฐานของวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยเร่งกระบวนการนี้ให้ขยับใกล้ความจริงมากขึ้น
*บางแหล่งข้อมูลอ้างว่าเขาคือชาวรัสเซีย เนื่องจากจอร์เจียเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนที่ในช่วงสงครามเย็นจะแยกตัวออกมาเป็นสาธารณรัฐจอร์เจียอย่างในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงขอระบุว่าเขาคือชาวจอร์เจีย แทนที่จะเป็นชาวรัสเซีย เนื่องจากเขาเกิดและโตที่จอร์เจีย
การประดิษฐ์สิ่งที่เหนือจินตนาการให้กลายเป็นจริงคงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนอาจมองว่า ‘บ้า’ ไม่ก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ สิ่งที่เหล่าผู้กล้า กล้าแหวกกรอบที่จำกัดคำว่า ‘บ้า’ ออกมานั้นกำลังงอกเงย และทำให้ชีวิตเพื่อนร่วมโลกก้าวสู่ทิศทางที่ยิ่งกว่าเหนือจินตนาการ
อิปโปลิตเองก็เช่นกัน เขาคือ ‘คนบ้า’ แห่งศตวรรษที่ 19 ที่ฐานะสูงศักดิ์ก็ไม่อาจช่วยลบคำจำกัดความนี้ออกไปจากชนชั้นที่เขาดำรงอยู่ การถูกมิตรสหายต่างชาติหัวเราะความคิดแปลกประหลาดที่พรั่งพรูออกมา กลายเป็นเรื่องปกติที่เขามักได้รับกลับมาเสมอ และคนบ้าคนนี้ กำลังสร้างเสียงหัวเราะให้แก่ชาวเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง ผ่านการป่าวประกาศ และเร่ออกหาเงินทุนสำหรับโครงการสุดยิ่งใหญ่ นั่นคือการสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตการคมนาคมในประเทศรัสเซียไปอย่างสิ้นเชิง
รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของรัสเซีย
อิปโปลิต วลาดิมีร์โรวิช โรมานอฟ (Ippolit Vladimirovich Romanov) เกิดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1864 เมืองทิฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลิซี) ประเทศจอร์เจีย ในครอบครัวขุนนางเก่าแก่ แม้ข้อมูลต้นตระกูลของเขาจะเลือนราง จนทำให้ภูมิหลังของชายผู้นี้ไม่ปรากฏชัดในหน้าตำราเรียน แต่สิ่งที่เด่นชัดคือ เขาเป็นชายคนแรกที่บอกชาวรัสเซียว่าจะสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ขึ้นในปี 1899 ขณะที่มีอายุ 35 ปี
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างดุเดือด ยุคของการใช้ความล้ำสมัยอย่างเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต และเริ่มมีความคิดที่จะใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทำหน้าที่ในการผลิตแทนมนุษย์
การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องที่นักประดิษฐ์หนุ่มคิดว่าเป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด เพราะเขาเห็นอีกหลายต่อหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ ล้วนมีความพยายามในการสร้าง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ขึ้นมาทั้งสิ้น
เมื่อมองกลับมาที่รัสเซีย ประเทศที่อนุรักษนิยมขั้นสุด กลับมีข่าวลือแปลก ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานเจ็บป่วยและล้มตาย โครงการรถยนต์ไฟฟ้าของเขาจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะข่าวลือที่ทรงพลังกว่าหลักวิทยาศาสตร์ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจในสิ่งประดิษฐ์ที่เขาทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างมันขึ้นมา
ความคิดของอิปโปลิตไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่เป็นความคิดที่อยู่ผิดที่ผิดเวลามากกว่า ด้วยความพยายามอย่างสุดกำลังของเขา วันที่ 15 สิงหาคม 1899 ‘Cuckoo’ สิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตการเดินทางก็เสร็จสิ้น เขานำรถ 2 แบบ 2 สไตล์ ออกไปทดสอบที่ถนนบริเวณพระราชวังพาฟลอฟส์ ท่ามกลางนักข่าวและประชาชนที่ยืนเบียดเสียดกันแน่นขนัด เพื่อรับชมสิ่งประดิษฐ์ตัวใหม่กันอย่างใจจดใจจ่อ
โดยแบบแรกมีลักษณะคล้ายกับรถแท็กซี่อังกฤษ แต่คนขับจะยืนบังคับทิศทางรถอยู่ด้านหลัง ส่วนแบบที่ 2 จะเป็นลักษณะเปิดโล่ง ไม่มีหลังคา เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศของรัสเซียในช่วงหน้าร้อน ทั้ง 2 แบบสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2 ที่นั่ง ขณะที่ตัวรถมีน้ำหนักรวม 750 กิโลกรัม (แบตเตอรี่ 370 กิโลกรัม)
รถยนต์ไฟฟ้าของเขา มีความโดดเด่นและแตกต่างจากรถนอกหลายจุด ตั้งแต่การชาร์จ 1 ครั้ง ที่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 60 กิโลเมตรด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง และการออกแบบแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็กและบาง เพื่อให้ตัวรถไม่มีน้ำหนักมากจนเกินไป ส่วนวิธีการทำงานภาพรวมทั้งหมด ว่ากันว่าใช้หลักการทำงานเดียวกันกับในรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาในปัจจุบัน
กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา
รถยนต์ไฟฟ้าของเขาได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้พบเห็น แต่ความแปลกประหลาด พิสดารของเครื่องจักรตัวนี้ กลับทำให้ชาวบ้านหวาดผวา จนนำมาสู่การซุบซิบนินทาว่านี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้ามาทำลายชีวิตมากกว่าช่วยพัฒนา
อีกทั้งกฎหมายของรัสเซียในช่วงปี 1900 ยังไม่อนุญาตให้ติดตั้งแท่นชาร์จไฟฟ้าไว้ตามบ้านเรือนหรือพื้นที่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุอัคคีภัย ด้วยเหตุนี้ อิปโปลิตจึงต้องรื้อโครงการใหม่ เปลี่ยนเป็นโครงการที่จับต้องได้ และช่วยให้ชาวรัสเซียทุกชนชั้น สามารถใช้รถโดยสารสาธารณะร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะทางสังคม
ต่อมาในเดือนมกราคม 1901 อิปโปลิตยื่นเรื่องต่อสภาดูมาแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เสนอโครงการ ‘รสบัสไฟฟ้า’ ที่จะเปิดนำร่องที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นที่แรก โดยรถบัสของเขาสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 คน วิ่งได้ไกล 60 กิโลเมตรด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง
พร้อมทั้งขอให้ทางการจัด 10 เส้นทางในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ออกแบบมาเพื่อรถโดยสารไฟฟ้าของเขาโดยเฉพาะ หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งประดิษฐ์ของหนุ่มจอร์เจียรายนี้ปลอดภัย และเหมาะที่จะนำมาใช้บนถนนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
“เมื่อข้าพเจ้าขับรถบนถนนที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน และลองเลี้ยวไปยังเส้นทางที่วางระบบรางสำหรับม้าลากจูง จากนั้นจึงขับไปยังบริเวณที่วางรางรถยนต์ไฟฟ้า ข้าพเจ้าไม่พบปัญหาใด ๆ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่มีสะดุด อีกทั้งยังไม่พบแรงสั่นสะเทือนระหว่างตัวรถและพื้นถนนอีกด้วย”
ในที่สุดอิปโปลิตก็ได้รับอนุมัติจากสภาดูมา ให้นำรถบัสไฟฟ้าเข้ามาประจำการในเมืองได้ แต่การอนุมัติก็เป็นเพียงขั้นตอนแรกเริ่มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่เขาใฝ่ฝัน เพราะรัฐบาลเพียงแค่ ‘อนุมัติ’ แต่ไม่ให้งบประมาณในการผลิต
เขาจึงร้องขอเงินทุนจากเหล่านักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์ แต่กลับไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่บรรดานักลงทุน หากมีรถบัสไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ครั้งละมาก ๆ ในคราวเดียว นายทุนน้อย-ใหญ่ก็ย่อมเสียผลประโยชน์ เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีจะทำให้ธุรกิจรถม้าที่กำลังเฟื่องฟู ย่ำแย่ลงไปอีก นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ไม่มีใครสนใจร่วมทุนกับอิปโปลิต
นอกจากไม่สนใจแล้ว ยังขัดขวางและเที่ยวป่าวประกาศว่ารถยนต์ไฟฟ้าของนักประดิษฐ์ต่างถิ่นอันตราย และส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถึงจะไม่มีมูล แต่ข่าวลือย่อมแพร่กระจายได้เร็วกว่าความเป็นจริง เพราะเรื่องซุบซิบนินทาคือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน
ย้ายประเทศ
อิปโปลิตตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับชาวรัสเซียอีกกว่า 2 ล้านคน ในปี 1917 ช่วงเวลาที่ไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมาชีพโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากไฟที่ร้อนรุ่มอยู่ในใจของเขา
จุดหมายปลายทางของเขาคือประเทศที่พร้อมสนับสนุนทุกความคิดเห็น โดยไม่มองว่าความฝันของเขาเป็นเรื่องไร้สาระ สุดท้ายเขาก็เลือกจะลงเอยที่ ‘นิวยอร์ก’ เมืองสุดแสนจะศิวิไลซ์ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ และโอกาสอีกมากมายให้เขาไขว่คว้า
ชีวิตในสหรัฐฯ ของเขาไม่ปรากฏชัด มีเพียงบันทึกคร่าว ๆ ว่าเขาได้ย้ายประเทศไปอยู่นิวยอร์ก และเสียชีวิตลงในปี 1944 ขณะอายุ 79 ปี
ความมุ่งมั่นและสู้ชีวิตไม่ถอยของเขา ได้จารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่ง ประเทศหลังม่านเหล็ก ‘เกือบ’ จะมีรถยนต์ไฟฟ้าขับว่อนกันเต็มเมือง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็กลายเป็นเพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะโดนขัดขวางจากผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ร้อยปี การถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุน ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา
ภาพ: Public domain
อ้างอิง:
http://n-metro.ru/%D0%B8%D0%B7%D0%BE%D0%B1%D1%80%D0%B5%D1%82%D0%B0%D1%82%D0%B5%D0%BB%D1%8C-%D0%B8%D0%BF%D0%BF%D0%BE%D0%BB%D0%B8%D1%82-%D1%80%D0%BE%D0%BC%D0%B0%D0%BD%D0%BE%D0%B2/
https://feldgrau.info/engines/19321-ippolit-vladimirovich-romanov-izobretatel-pervogo-rossijskogo-elektromobilya
https://plus.rbc.ru/news/5a27f6fd7a8aa9058878745c
https://www.kolesa.ru/article/iz-rossii-v-sssr-tupikovaya-istoriya-otechestvennykh-elektromobiley
https://www.rbth.com/history/334964-first-russian-electric-car-hippolyte-romanov
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Russia
USSR
Russian Electric Car
Ippolit Romanov
related
‘เปโดร ปาสคาล’ เด็กจากครอบครัวผู้ลี้ภัย สู่นักแสดงเจ้าพ่อซีรีส์ฮิต จาก GOTs ถึง Last of Us
เพลง ‘Viva La Vida’ ของ Coldplay จากการตีความกษัตริย์ทรราชย์ สู่คดีโดนฟ้องว่าก๊อปปี้ทำนอง
ชีวิตและงานศิลปะลายจุดของ ‘ยาโยอิ คุซามะ’ ศิลปินผู้สมัครใจอาศัยในรพ.จิตเวชตั้งแต่ยุค 70s
ชีวิต ‘ดอนนี่ เยน’ ดารานักบู๊แถวหน้าเอเชีย เคยติดหนี้เกือบสิ้นท่า ได้ดีอีกหนเพราะภรรยา
‘Royal India’ ร้านอาหารอินเดียคิวยาว อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของย่านพาหุรัด Little India ในกรุงเทพฯ
1
2
3