The Florida Project: ดิสนีย์แลนด์แดน (ไม่) เนรมิตของชีวิตสังคมชายขอบ 

The Florida Project: ดิสนีย์แลนด์แดน (ไม่) เนรมิตของชีวิตสังคมชายขอบ 

The Florida Project หนังที่ฉายภาพปัญหาของคนไร้บ้านในสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าเจ็บปวด เมื่อความฝันและการเป็นอยู่แบบ American Dream อยู่ใกล้เกินมองข้าม แต่ก็ห่างไกลเกินเอื้อมถึง เงามือที่ปกคลุมจึงเกิดเป็นเรื่องราวที่จะทำให้เห็นความเป็นอยู่ของชีวิตสังคมชายขอบ

/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง The Florida Project (2017) / หากกล่าวถึงความฝันของชาวอเมริกัน หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันในนาม ‘อเมริกันดรีม’ (American Dream) ภาพฝันในอุดมคติของแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป บ้างก็เห็นภาพชีวิตของตนเองกินหรูอยู่สบายริมหาดทรายที่สวยงาม บ้างก็เห็นชีวิตอันเรียบง่ายในชุมชนที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่มีมิตรไมตรีต่อกัน บ้างก็เห็นเสรีภาพในทุกตารางนิ้วบรรลุสมบูรณ์ และบ้างก็เห็นโอกาสถูกจัดสรรให้ประชากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อความฝันที่สวยงาแต่ในภาพอุดมคติที่ชาวอเมริกันมีร่วมกันกลับมีปัญหาหลังม่านของสังคมชายขอบที่ถูกทิ้งและเพิกเฉยอย่างน่าหดหู่ The Florida Project’ (2017) หรือ แดน (ไม่) เนรมิต ในชื่อฉบับภาษาไทย เป็นภาพยนตร์ที่จะพาผู้ชมไปสำรวจสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพที่กลับตาลปัตรจากอเมริกันดรีมที่ใครหลายคนมองว่าสวยงามและคาดหวังให้มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยผู้กำกับมือดีที่ถนัดเล่าเรื่องผู้คนในสังคมชายขอบอย่าง ฌอน เบเกอร์ (Sean Baker) ผู้แจ้งเกิดจาก Tangerine (2015) หนังที่ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือไอโฟน 5S ถ่ายทำหมดทั้งเรื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้สร้างจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์ในการถ่ายทำ (เป็นหลัก) แต่ดีเอ็นเอการเล่าเรื่องด้วยความเข้าใจมนุษย์ตัวเล็ก ๆ มนุษย์ชายขอบที่สังคมมักจะไม่ให้ความสนใจของฌอนยังคงเด่นชัดและยึดความสมจริงเป็นหลักดั่งเอากล้องไปถ่ายชีวิตของคนเหล่านั้นจริง ๆ (ซึ่งบางฉากก็ถ่ายชีวิตของคนจริง ๆ นั่นแหละ)   เงามืดหลังแดนเนรมิต “การที่ผมเห็นเด็ก ๆ ที่สถานะทางครอบครัวยังคงเรียกได้ว่าไร้บ้าน ต้องอาศัยและเติบโตในห้องเช่าราคาประหยัดที่รายล้อมด้วยความยากจนและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม แต่เมื่อชะเง้อมองออกไปก็สามารถเห็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขที่สุดของเด็กอย่างดิสนีย์แลนด์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลานจอดรถซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ เหล่านี้เลย มันทำให้ผมคิดว่าปัญหานี้ต้องมีสปอตไลท์ส่องไปให้ถึง ต้องมีคนเห็นให้ได้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่”  ขึ้นชื่อว่าฟลอริดา ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพที่จะแล่นผ่านหัวใครหลาย ๆ คนก็คงจะเป็นบรรยากาศเมืองริมหาดทรายพร้อมกับถนนที่ขนานไปกับต้นปาล์มเรียงกันเป็นแถวยาวเหยียด แถมยังมีสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ที่เป็นแลนด์มาร์คใหญ่และเป็นเป้าหมายที่ต้องไปเช็กอินไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หลาย ๆ คน บรรยากาศชวนฝันเหล่านี้สวยงามและน่าหลงใหล แต่เบื้องหลังสายรุ้งและท้องฟ้าสีพาสเทลกลับหม่นหมองไม่เหมือนฉากหน้า ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่เมืองออร์แลนโดหรือคิสซิมมีในรัฐฟลอริดา หรือแม้กระทั่งอยู่ละแวกที่ชะเง้อหน้ามองไปก็เห็นปราสาทดิสนีย์แห่ง Magic Kingdom แสนมหัศจรรย์ไม่ได้มีชีวิตดั่งฝันอย่างที่หลายคนวาดไว้ สาเหตุที่จุดประกายแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Florida Project เกิดจากการที่ คริส เบอร์กอช (Chris Bergoch) มือเขียนบทขับรถไปเยี่ยมแม่ที่เพิ่งย้ายบ้านไปอยู่ที่รัฐฟลอริดา ในขณะที่คริสกำลังเดินทางผ่านทางหลวงหมายเลข 192 (U.S. Route 192) (ซึ่งเป็นเส้นที่เราจะเห็นในหนัง) เขาได้เหลือบไปเห็นเด็ก ๆ หลายคนวิ่งเล่นกันอยู่ในลานจอดรถของบัตเจ็ตโมเต็ล (Budget Motel) ซึ่งพวกเธอดูไม่น่าจะใช่นักท่องเที่ยว  จากการพินิจพิเคราะห์ คริสจึงได้คำตอบว่าพวกเด็ก ๆ น่าจะอาศัยอยู่ที่นี่ แม้เบื้องหน้าจะเป็นภาพการวิ่งเล่นของเด็กธรรมดา ๆ ในลานจอดรถห้องเช่าราคาถูก แต่เบื้องหลังของภาพภาพนี้บอกกับคริสว่ามีปัญหาคนไร้บ้านซุกซ่อนอยู่ในห้องเช่าเหล่านี้ คริสคิดว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากในการนำมาตีแผ่ และคนที่จะสามารถเล่าเรื่องชีวิตชายขอบแบบนี้ได้เข้าใจถึงแก่นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก ฌอน เบเกอร์  ด้วยเหตุนี้เองโปรเจกต์ฟลอริดาจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น โดยแท้จริงแล้วฌอนสนใจประเด็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปขอทุนสร้างจากเจ้าไหน จึงหันไปทำหนังงบน้อย ๆ แต่ไอเดียบรรเจิดและแหวกแนวอย่าง Tangerine ก่อน และอย่างที่รู้กันว่าเรื่องราวดราม่าของสาวประเภทสองในย่านฮอลลีวูดที่ถ่ายทอดด้วยโทรศัพท์มือถือ iPhone 5s ก็ดังระเบิดระเบ้อ ถึงขั้นว่ามือถือเครื่องที่ใช้ถ่ายทำเครื่องหนึ่งถูก Academy Museum of Motion Picture ขอไปเพื่อไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ภาพยนตร์เรื่อง The Florida Project เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตช่วงปิดเทอมฤดูร้อนของเด็ก 6 ขวบที่ชื่อว่า ‘มูนี่’ (Moonee) รับบทโดย บรู๊คลิน พรินซ์ (Brooklynn Prince) และแม่เลี้ยงเดี่ยวตัวแรงที่ชื่อว่า ‘เฮลลีย์’ (Halley) รับบทโดย บริอา วิไนที (Bria Vinaite) ทั้งสองอาศัยอยู่ในห้องเช่าในบัตเจ็ตโมเต็ลสีม่วงดั่งปราสาทในการ์ตูนนามว่า ‘เมจิก คาสเซิล’ (Magic Castle) ณ เมืองคิสซิมมี (Kissimme) รัฐฟลอริดา ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจาก Magic Kingdom ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมความสนใจของบรรดานักท่องเที่ยว โดยมี ‘บ๊อบบี้’ ซึ่งนำแสดงโดยวิลเลม เดโฟ (Willem Dafoe) เป็นผู้จัดการโรงแรมปราสาทมหัศจรรย์นี้ ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่เมจิก คาสเซิลอยู่ในสถานะที่ไม่สุขสบายนัก เพราะสภาพโดยรอบเต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมและความยากจน มากไปกว่านั้น ใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสองแม่ลูกก็ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำเพื่อหาเงินมาประทังชีวิตและจ่ายค่าเช่าห้องเลขที่ 323 ที่เธอทั้งคู่อาศัยอยู่เป็นหลัก แต่แม้ว่าชีวิตประจำวันจะเต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย สถานะทางการเงินของเฮลลีย์ก็นับได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต นอกจากจะถูกไล่ออกจากการเป็นนักเต้นเปลื้องผ้า เหตุเพราะไม่ยอมมีอะไรกับนักท่องเที่ยวแล้ว เธอยังถูกปฏิเสธจากการสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเซตติ้งของภาพยนตร์จะดูทุกข์ยากและหม่นหมอง แต่สิ่งหนึ่งที่จะสร้างความสดใสให้กับผู้ชมคือเด็ก ๆ และโลกในจินตนาการของพวกเขา มองทุกอย่างให้เป็นสวนสนุกจากเลนส์ของเด็กอายุ 6 ขวบอย่างมูนี่   จาก The Little Rascals สู่ The Florida Project  “แม้ว่าตัวละครเด็ก ๆ ใน The Little Rascals จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจนข้นแค้น แต่สุดท้ายจุดโฟกัสของเรื่องจริง ๆ ก็คือความสนุกสนานในวัยเด็กนั่นแหละ” นอกจากเงามืดหลังดิสนีย์แลนด์ที่ทั้งฌอนและคริสสังเกตเห็นและลงไปศึกษา อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฌอนอยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาและหันโฟกัสไปที่เด็ก ๆ เหล่านี้ก็คงต้องย้อนกลับไปประมาณเกือบหนึ่งร้อยปี ในช่วงประมาณทศวรรษ 1920s ถึง 1930s มีชุดภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการผจญภัยของแก๊งเด็ก ๆ ท่ามกลางความยากจนในชื่อเรื่อง ‘Our Gang’ หรือ ‘The Little Rascals’  และแม้ว่าการผจญภัยเหล่านั้นถูกเล่าผ่านความยากจนแร้นแค้นหรือผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Depression) แต่อย่างที่ฌอนกล่าวในหลาย ๆ บทสัมภาษณ์ว่าจุดเด่นของเรื่องไม่ใช่ชีวิตที่ยากลำบากของเด็ก ๆ เหล่านั้น แต่เป็นความสนุกของความเป็นเด็กต่างหาก ถึงแม้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นจะใหญ่หลวงและก่อผลกระทบแก่คนทั้งโลกอย่างกว้างขวาง แต่หากมองจากมุมมองของเด็ก บ้านร้างโทรม ๆ หรือหมู่บ้านเก่า ๆ ก็เป็นสนามเด็กเล่นที่เล่นสนุกได้เหมือน ๆ กัน เมื่อมองผ่านเลนส์นี้ เลนส์ที่ใหม่ต่อโลกใบหนึ่งมาก ๆ อะไรก็สวยสดดั่งสีพาสเทลไปเสียหมด ในประเด็นที่คริสนำมาเสนอเกี่ยวกับปัญหาคนไร้บ้านของสังคมชายขอบในพื้นที่รัฐฟลอริดา ฌอนเล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่เขาจะตีแผ่ปัญหานี้และสามารถสร้าง ‘The Little Rascals เวอร์ชันปัจจุบัน’ (A Present-Day Little Rascals) แต่มากไปกว่าความบันเทิงจากสีสันวัยเด็กที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์สั้นเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ฌอนประกอบ The Florida Project ไปในแบบที่ซับซ้อนและสื่ออะไรบางอย่างกับคนดูได้มากกว่านั้น เพราะความบันเทิงแบบตลกขบขันเพื่อผ่อนคลายไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการทำโปรเจกต์นี้ แต่เป็นการตีแผ่และหันสปอตไลท์ไปที่สังคมชายขอบที่ต้องการความสนใจจากสังคมและภาครัฐเหล่านี้ด้วย   หวานขม คู่กันแรงกว่า “เห็นไหม เธอกำลังจะร้องไห้แล้ว ฉันทายถูกทุกครั้งแหละ เวลาผู้ใหญ่จะร้องไห้” หนึ่งแง่ที่ทำให้ แดน (ไม่) เนรมิต ประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของการตีแผ่ปัญหาให้คนดู ‘รู้สึก’ และ ‘เข้าใจ’ (ระดับหนึ่ง) ผู้คนชายขอบเหล่านี้มากขึ้นคือการนำเสนอโลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน โดยธรรมชาติความขมกับหวานก็เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกันดั่งแสงสว่างและความมืด หนึ่งสิ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสิ่งหนึ่งยังคงอยู่ แต่ในกรณีนี้ต่างออกไป เป้าหมายหลักในการสื่อสารข้อความสำคัญของเรื่องจากผู้กำกับจะบรรลุสมบูรณ์ไม่ได้ หากความขม (จากโลกของผู้ใหญ่) และความหวาน (จากโลกของเด็ก) ไม่ได้ถูกนำเสนอพร้อมกัน จุดเด่นในการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้คือการใช้ภาษาภาพเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกล้องอยู่ในระดับความสูงเดียวกับเด็ก ๆ จนเห็นผู้ใหญ่เพียงครึ่งตัว และในหลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่เหล่านั้น ที่กำลังเถียงกันกลายเป็นแบ็คกราวนด์เบลอ ๆ เสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่บทสนทนาเหล่านั้นเป็นจุดสำคัญในการดำเนินเรื่องต่อ แต่หนังเรื่องนี้ (และนี่คือจุดเด่น) ต้องการเล่าเรื่องของผู้ใหญ่ เล่าปัญหาของสังคมชายขอบเหล่านี้ ผ่านมุมมองของเด็ก 6 ขวบที่ไร้เดียงสา และไม่เข้าใจว่าพวกผู้ใหญ่เขาเถียงกันเรื่องอะไร การที่หนังเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพเหล่านี้เปรียบเสมือนสวมบทบาทให้ผู้ชมเป็นเด็กคนหนึ่งในแก๊งของมูนี่ และด้วยเหตุนี้เองที่สร้างความเจ็บปวดในใจหลาย ๆ คน เราไม่สามารถทำเป็นไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นกำลังคุยกันได้เลย เรารู้และตระหนักดีถึงปัญหารอบตัวเพื่อนสนิทเราอย่างมูนี่ แต่ไม่สามารถบอกเธอได้ ฟลอริดาจากในมุมมองของเด็ก 6 ขวบก็คงเป็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ในขณะเดียวกันเลนส์นี้ก็แคบเกินกว่าจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองการผจญภัยในละแวกโทรม ๆ ของฟลอริดายังคงสดใสและน่าสนุกในสายตาของมูนี่เสมอ นอกจากนั้น ภาษาภาพในการเล่าเหตุการณ์ของหนังเรื่องนี้ก็ยังตอกย้ำเราอีกว่า  ‘และนี่แหละคือสังคมที่เด็กเหล่านี้กำลังเติบโต นี่แหละคือสิ่งที่หมุนรอบชีวิตของเด็กเหล่านี้’ ณ จุดหนึ่งในเนื้อเรื่อง เฮลลีย์แม่ของมูนี่ก็อับจนหนทางถึงขีดสุด ไปเต้นเปลื้องผ้าก็โดนไล่ออก ไปสมัครทำงานร้านอาหารก็ไม่รับ ไปซื้อสบู่จากร้านขายส่งไปขายต่อก็เกือบโดนจับ ไปขโมยข้อมือเข้าดิสนีย์แลนด์ก็เสี่ยงเกินไป ทางเลือกสุดท้าย (?) ที่เธอเลือกทำเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าห้องก็คือ ‘การขายบริการ’  ขณะที่ดูหนัง ผู้ชมหลายท่าน (ในตอนแรก) อาจจะสงสัยว่าทำไมอยู่ดี ๆ หนังชอบตัดเข้าไปในซีนที่มูนี่อาบน้ำอยู่ในอ่าง เมื่อหนังดำเนินไปเรื่อย ๆ ก็ต้องตัดกลับมาที่ซีนนี้ตลอด ความจริงที่น่าหดหู่นี้มาเฉลยในภายหลังว่าการขายบริการเกิดขึ้นในห้องเช่าที่ลูกเธอก็อาศัยอยู่ด้วย เธอจึงต้องพามูนี่เข้าไปเล่นในอ่างน้ำในทุก ๆ ครั้งที่มีการค้าขายเกิดขึ้น  สืบเนื่องจากวีรกรรมของเฮลลีย์ หลังจากที่เธอทะเลาะกับ ‘แอชลีย์’ เพื่อนสนิทของเธอ ซึ่งเป็นแม่ของสกู๊ตตี้ และไม่คุยกันอีกเนื่องจากเฮลลีย์ปล่อยปละละเลยเด็ก ๆ รวมถึงสกู๊ตตี้ลูกของเธอ (ซึ่งอยู่ในการดูแลของเฮลลีย์ในช่วงกลางวัน) ให้ไปเล่นในบ้านร้างจนถึงขั้นก่อเพลิงจนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ แม้ว่าเด็ก ๆ จะวิ่งหนีกันมาทัน แต่แอชลีย์ก็สามารถที่จะจับพิรุธจากลูกเธอได้ เธอจึงสั่งห้ามไม่ให้สกู๊ตตี้ไปเล่นกับมูนี่อีกเป็นอันขาด ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างแอชลีย์และเฮลลีย์จึงจบลง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เฮลลีย์ที่อยู่ในสภาวะอับจนหนทางก็เดินกลับไปเคาะห้องของอดีตเพื่อนอย่างแอชลีย์เพื่อขอเงิน แต่ก็ถูกตอกกลับมาด้วยความจริงบางอย่างที่ไม่เสนาะหูนัก “มึงคิดว่าทุก ๆ คนที่นี่เขาไม่รู้เหรอว่ามึงทำอะไร? “และกูขอสาบานต่อพระเจ้าเลยนะ ถ้ากูรู้ว่าลูกกูเคยอยู่ในห้องมึงในขณะที่มึงขายหอย กูเอามึงตายแน่” หลังจากสิ้นสุดคำพูดของแอชลีย์ กล้องตัดสลับมาที่หลังสกู๊ตตี้กำลังมองไปที่ผู้ใหญ่สองคนกำลังทะเลาะกันเป็นภาพเบลอในฉากหลัง เพื่อที่จะตอกย้ำและพาคนดูไปประสบกับสิ่งที่สกู๊ตตี้ เด็กอายุไล่เลี่ยกับมูนี่ต้องเห็น เฮลลีย์จิกหัวแล้วดันแอชลีย์เข้าไปในห้องแล้วตบจนล้มไปนอนอยู่กับพื้น แล้วก็ตบซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น และเดินออกจากห้องไป ทิ้งไว้เพียงบาดแผลในจิตใจที่จะติดอยู่ในความทรงจำของเด็กคนหนึ่งไปตลอดกาล    เกร็ดเบื้องหลัง “เขาได้กลายร่ายเป็นฟลอริดาแมนคนนั้นจริง ๆ” การรับบทเป็นบ๊อบบี้ของ วิลเลม เดโฟ ในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดในอาชีพการแสดงของเขา และถึงแม้ว่าวิลเลมจะเป็นนักแสดงฮอลลีวูดเบอร์ใหญ่ที่มากด้วยความสามารถ แต่การทุ่มเทเพื่อบทบาทผู้จัดการโรงแรมในครั้งนี้ก็จัดเต็มเป็นอย่างมาก เขาขอทางทีมงานย้ายเข้าไปอยู่ในโรงแรมเมจิก คาสเซิลก่อนการถ่ายทำ 2 อาทิตย์เพื่อเรียนรู้และเข้าใจผู้คนเหล่านั้น รวมถึงการไปศึกษาบทบาทของผู้จัดการโรงแรมที่เป็นแรงบันดาลใจหลักของทีมเขียนบทด้วย หลังจากที่ได้คลุกคลีกับสภาพแวดล้อมและเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่แล้ว วิลเลมโผล่มาที่กองถ่ายพร้อมกับรายการสิ่งของที่เขาต้องการจะให้ทีมงานไปหามาให้เขา ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาหรือเสื้อผ้า เพื่อที่จะให้ตัวละครบ๊อบบี้ออกมาเป็นเหมือนภาพในหัวของวิลเลม  “พวกเขารู้แค่ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการไร้บ้าน” ถึงแม้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์จะรุนแรงและยากเกินกว่าที่แก๊งนักแสดงเด็ก ๆ จะเข้าใจ แต่อย่างไรพวกเขาก็มีบทที่ต้องพูดคำหยาบหรือแสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทางทีมงานได้คุยกับผู้ปกครองและสร้างกฎเหล็กในกองถ่ายว่า ห้ามทุกคนในกองพูดคำหยาบเป็นอันขาด ส่วนเด็ก ๆ สามารถพูดคำหยาบได้ก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงคำว่า ‘แอ็กชัน’ ของฌอน เบเกอร์ และเวลาสิทธิ์เหล่านั้นก็สิ้นสุดที่คำว่า ‘คัต’ แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานก็ได้พยายามสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าคำเหล่านี้เป็นคำหยาบและอย่านำไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งเด็ก ๆ ทุกคนก็เข้าใจในประเด็นนี้ดี นอกจากเนื้อหาของหนังจะเรียลแล้ว การถ่ายทำก็ ‘โคตร’ เรียลด้วย ขณะถ่ายทำทางทีมงานปล่อยให้นักแสดง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้ลองพูดลองคุยในแบบของตัวเอง โดยมีเพียงไกด์เล็ก ๆ ของซีนว่าเรื่องราวมันจะเป็นอะไรทำนองนี้นะ แล้วให้เด็ก ๆ คุยในแบบของตัวเองเลย ซึ่งมันก็ออกมาธรรมชาติเป็นอย่างมากอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์  หากจะยกระดับความเรียลไปมากกว่านั้น เราจะสังเกตได้ว่าตลอดเรื่องจะมีฉากที่เฮลิคอปเตอร์บินอยู่ตลอดเรื่อง นั่นเป็นเพราะว่าทางทีมงานมีงบน้อยเกินกว่าที่จะไปจ้างให้พวกเขาหยุดบิน ทางทีมงานเลยใส่มันเข้าไปในหนังซะเลย หากเฮลิคอปเตอร์ที่บินว่อนในเรื่องยังคงไม่เรียลพอ แม้ว่าทางทีมผู้สร้างจะมีบทหนังอย่างชัดเจน แต่ในบางฉาก เช่น ฉากที่สองแม่ลูกไปขายน้ำหอมให้แก่นักท่องเที่ยว บทก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘เราจะถ่ายฉากนี้แบบกล้องสไตล์แคนดิด’ โดยจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ที่จะสามารถให้ทีมงานถ่ายนักแสดงในฉากนี้อย่างไกล ๆ ได้ ซึ่งบริอาและบรู๊คลินก็ได้ไปทำการขายน้ำหอมเหล่านั้นกับ ‘คนจริง ๆ ไม่ใช่ตัวแสดง’ ซึ่งหากเทคไหนผ่าน ทีมงานก็ต้องวิ่งไปหาผู้คนเหล่านั้นเพื่อให้เซ็นยินยอมการปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์   คอลเอาต์เพื่อปัญหาชายขอบ “สิ่งสำคัญที่เราอยากให้คนดูได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้คือการรับรู้ว่า ครอบครัวแบบนี้มีอยู่จริง คนที่ประสบปัญหาแบบนี้มีอยู่จริง ๆ มีเฮลลีย์ตัวจริง มีมูนี่ตัวจริง และพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ และเราต้องการให้ทุก ๆ คนช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย และเราก็คาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น” แดน (ไม่) เนรมิต เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่นอกจากจะเป็นหนังดราม่าครอบครัวที่ดีมาก ๆ แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นเป้าหมายหนึ่งของผู้สร้างก็คือความอยากจะตีแผ่เรื่องราวปัญหาที่เหล่าบรรดาผู้คนชายขอบเหล่านี้ต้องประสบอยู่ในทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่าเนื้อหาในหนังจะดูหดหู่ แต่ความจริงที่ผู้คนท้องถิ่นที่ต้องอาศัยอยู่ในคิสซิมมีหรืออร์แลนโดต้องพบเจอไม่ได้ต่างอะไรจากในหนังเลย หากมองแบบผิวเผิน ผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในบัตเจ็ตโมเต็ลคงไม่ถูกนับว่าเป็นคนไร้บ้าน แต่โดยหลักการแล้ว พวกเขาเหล่านั้นคือคนไร้บ้าน เพราะหลังคาที่คุ้มหัวเขาอยู่นั้นช่างชั่วคราวและปราศจากความแน่นอน ไม่ว่าจะในแง่ของรายได้อันน้อยนิดที่ต้องนำมาจ่ายค่าเช่าห้องเดือนชนเดือน (หรือสัปดาห์ชนสัปดาห์ด้วยซ้ำในบางราย) หรือกฎของห้องเช่าว่าห้ามผู้พักตั้งรกรากถาวร (อยู่ยาวเป็นเดือน) สภาวะที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญไม่ต่างจากคนไร้บ้านเท่าไรนัก  “ชีวิตเราก็ไม่ต่างอะไรจากหนังเรื่องนี้ เอาจริง ๆ มันก็คือชีวิตเรานี่แหละ มันคือสิ่งที่เราต้องเจอทุก ๆ วัน ซึ่งเราก็พยายามจะพาตัวเองออกไปจากจุดนี้ แต่มันก็ยากมาก ๆ จริง ๆ เราคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้จะส่งสารไปหาผู้ชมทุกคนว่ายังมีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่นะ หากทุกคนไม่ช่วยกัน ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปในสังคมเรา” สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อผู้คนเหล่านี้ต้องก้าวขาเข้าไปติดกับกับดักความยากจน (Poverty Trap) ที่เกิดจากการที่เขาไร้บ้านและต้องอาศัยอยู่ที่ห้องเช่ารายวัน จากการเข้าไปศึกษากับคนพื้นที่จริง ๆ พบว่าคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะกู้เงินเพื่อออกรถเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาถูกมองว่าเป็นคนไร้บ้านและไม่น่าจะรับผิดชอบภาระหนี้สินได้ สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่สถานที่ทำงานปฏิเสธที่จะให้โอกาสคนเหล่านี้ในการทำงานและหาเลี้ยงชีวิตตนเอง เป็นเรื่องน่าหดหู่ที่เหล่าผู้คนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์และคุณภาพชีวิตที่แย่อยู่แล้ว ยังต้องถูกตัดโอกาสในการจะตะเกียกตะกายออกไปจากกับดักความจนนี้ได้ แสงสว่างของโอกาสในการจะลืมตาอ้าปากมันช่างริบหรี่ไม่ต่างจากในภาพยนตร์เลย “และผมอยากจะบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของออร์แลนโดและคิสซิมมี แต่ตอนนี้มันคือปัญหาระดับชาติ เพราะมันเกิดขึ้นไม่ว่าจะในนิวเจอร์ซีย์ บอสตัน ชิคาโก หรือซานเบอร์นาร์ดิโน ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตอนปี 2008 หรือก่อนเหตุการณ์นั้นด้วยซ้ำ ที่หลาย ๆ ครอบครัวไม่สามารถมีที่อยู่ที่มั่นคงและถาวร การที่เขาไม่ได้นอนตามถนนไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้อยู่สถานะคนไร้บ้าน หลาย ๆ ครอบครัวต้องทำงานตัวเป็นเกลียวเพื่อที่จะมีที่ซุกหัวนอนไปวัน ๆ ผมอยากจะบอกว่าการมีบ้านอยู่มันเป็นสิทธิพื้นฐานในการเป็นมนุษย์คนหนึ่งนะ”  เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ที่มา:  The Florida Project (2017) by Sean Baker https://insidethemagic.net/2021/01/walts-disney-florida-project-lp1/ https://www.theguardian.com/us-news/2017/oct/15/in-the-shadow-of-disney-living-life-on-the-margins https://www.youtube.com/watch?v=eX8RbSHN9hY https://www.youtube.com/watch?v=xWOLWrrhNk8 https://www.youtube.com/watch?v=OK4j5XoFiN0 https://www.youtube.com/watch?v=XoCHyjQnMGU&ab_channel=Oscars https://www.brightwalldarkroom.com/2019/12/05/the-florida-project-disney-broken-circle/ Making ‘The Florida Project’ by Film at Lincoln Center Podcast