ประชาธิปไตยที่ฆ่าคน มุมมืดใน ‘Squid Game 3’

ประชาธิปไตยที่ฆ่าคน มุมมืดใน ‘Squid Game 3’

‘Squid Game’ ซีซัน 3 กลับมาอีกครั้งพร้อมเกมเอาชีวิตรอดสุดโหด แต่กลายเป็นซีซันที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด ทั้งพล็อตที่อืด ความตลกร้ายที่หายไป และความรู้สึกที่ไม่อาจดึงกลับคืน

KEY

POINTS

  • พล็อตต่อเนื่องที่กลายเป็นดาบสองคม – การเลือกเริ่มเรื่องทันทีจากซีซันก่อนหน้าแม้จะดูสมจริง แต่กลับทำให้เนื้อเรื่องขาดจังหวะอารมณ์และแรงกระแทกที่ผู้ชมคุ้นเคย
  • เกมที่หนักดรามาแต่เบาอารมณ์ขัน – แม้จะพยายามเน้นประเด็นจิตวิทยาและการตั้งคำถามกับสังคม แต่ซีรีส์กลับสูญเสียเสน่ห์ของ ‘ความตลกร้าย’ ที่เคยเป็นจุดเด่น
  • เปิดทางสู่ ‘Squid Game USA’ อย่างไม่ประทับใจ – ซีซันนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงสะพานเพื่อส่งต่อแฟรนไชส์ไปสู่เวอร์ชันอเมริกัน โดยทิ้งบทสรุปที่ไม่ตราตรึงและตัวละครที่ขาดแรงจูงใจ

‘Squid Game 3’ เริ่มเรื่องแบบต่อเนื่องทันทีจากซีซันที่แล้ว แต่แทนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นครึ่งหลังของซีซันสอง ผู้สร้างกลับทำให้มันเป็นซีซันที่สามไปเลย และถ้าหลายคนยังจำเนื้อหาของภาคแรกได้ดี มันทั้งลุ้นระทึก ใจหายใจคว่ำ ไปจนถึงหัวเราะหยันกับความตลกร้ายที่ซ่อนอยู่ในเกมเอาชีวิตรอด ซีซันที่สามนี้อาจทำให้คุณสงสัยว่าความรู้สึกแบบนั้นมันหายไปไหนหมด บางทีความต่อเนื่องที่ซีรีส์ตั้งใจใส่มา อาจกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ทำให้เรื่องดูยืดยาวจนขาดแรงกระแทก บางทีความพยายามจะยกระดับเนื้อหาให้จริงจังขึ้นอาจทำให้เรื่องสูญเสียเสน่ห์เดิมโดยไม่รู้ตัว

**หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ ‘Squid Game 3’

ชีวิตหลังการปฏิวัติ

หลังความพ่ายแพ้ในความพยายามยึดอำนาจจากผู้คุมเกม การเสียชีวิตของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ส่งผลให้ ‘ซองกีฮุน’ หมายเลข 456 พระเอกผู้เป็นแชมป์เก่าและเป็นผู้นำการปฏิวัติในท้ายซีซันก่อน ตกอยู่ในภาวะเศร้าซึมและเสียใจอย่างหนัก ที่จริงฝั่งต่อต้านก็เศร้ากันถ้วนหน้า โดยเฉพาะตัว ‘ออนนีฮยอนจู’ พี่สาวข้ามเพศหมายเลข 120 จอมพลังที่รู้สึกผิดมากมายกับเรื่องที่เธอไม่สามารถกลับออกไปช่วยเหลือเพื่อน ๆ ได้สำเร็จเนื่องจากโดนสกัดเอาไว้ ซึ่งนั่นก็กลับกลายเป็นการรักษาชีวิตของพี่สาวเอง เพราะแทบไม่มีใครที่ออกไปจับอาวุธต่อสู้แล้วเอาชีวิตรอดกลับมาได้ 

เหตุการณ์นี้ทำให้ กีฮุน ตะคอกถามผู้คุมว่าทำไมไม่ฆ่าเขาให้ตายเสีย ซึ่งจะว่าไป คนดูเองก็สงสัยแบบนั้นเหมือนกัน กีฮุนมีความพิเศษอะไรอีกนอกเหนือจากการเป็นแชมป์เก่า หรืออาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างตัวกีฮุนกับฟร้อนต์แมนเอง ที่ทำให้เขายังมีชีวิตอยู่เล่นเกมต่อไปได้ และนี่คือจุดที่ผู้ชมเริ่มรู้สึกว่า Squid Game 3 จะพาเราไปไกลกว่าการเอาตัวรอด แต่จะเล่นกับ ‘แรงจูงใจ’ ของมนุษย์อย่างเข้มข้นกว่าที่เคยเป็น

เกมต่อมา กับการสวมบทบาทของผู้หนีและผู้ล่า

เกมแรกของซีซันนี้มีการแบ่งคนออกเป็นผู้หนีและผู้ล่า กติกามีอยู่ว่า ผู้หนีมีหน้าที่หนีการถูกล่าโดยใช้กุญแจที่มีคนละดอกในการไขประตูหนีจนกว่าจะเจอทางออก ส่วนผู้ล่ามีหน้าที่เดียว คือฆ่าผู้หนีคนหนึ่งให้ได้เพื่อที่ตัวเองจะได้มีสิทธิผ่านเข้ารอบถัดไปแทนคนที่ถูกฆ่า เป็นเกมที่สร้าง conflict และความกดดันได้ดีแบบที่เกมลูกหินในซีซันแรกทำไว้ แต่ความดึงดูดทางอารมณ์กลับให้ผลที่น้อยกว่า ทั้งที่มีความพยายามดึงดรามาในหลายส่วน (เกิดการสูญเสียตัวละครสำคัญ ดรามาระหว่างแม่และลูก และการคลอดลูกท่ามกลางเวลาที่กำลังหมดไปในเกม)

เกมนี้มีบางอย่างชวนให้นึกถึงการทดลองเลื่องชื่ออย่าง ‘The Standford Prison Experiment’ การทดลองเชิงจิตวิทยาที่จำลองสภาพเรือนจำโดยแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ นักโทษ และผู้คุม ก่อนที่การสวมบทบาทของกลุ่มผู้คุมจะเลยเถิดเป็นความรุนแรงเกินควบคุมและทำให้ต้องล้มเลิกการทดลองไป เหมือนกับที่มีตัวละครนักล่าอย่างหมายเลข 124 อดีตเพื่อนรักของธานอสจากซีซันก่อน และหมายเลข 333 ชายหนุ่มที่มีแรงจูงใจทั้งเรื่องเงิน และการพาคนรักกลับออกไป ที่เมื่อผ่านการฆ่าเพื่อนร่วมเกมจนสามารถเข้ารอบไปได้แล้ว พวกเขากลับยังไล่ล่าฆ่าคนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตนาเพื่อลดจำนวนผู้เข้ารอบและเพิ่มจำนวนเงินรางวัล 

เห็นได้ชัดว่ามันกลายเป็นเรื่องที่เกินขอบเขตและเหนือความควบคุมไปมาก เกมนี้จึงไม่ใช่แค่การวัดไหวพริบหรือแรงกาย แต่เป็นการเปิดเปลือยด้านมืดในใจคนออกมาอย่างเลือดเย็นที่สุด

 

และเพราะเหตุนี้เอง ที่ทำให้เราสูญเสียออนนี่ที่รักของเราไปในเกมนี้ พี่สาวผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีและเป็นที่รักที่สุดของเรื่อง ถูกคนที่ใจดำและเห็นแก่ตัวที่สุดของเรื่องทำร้ายถึงแก่ชีวิต แม้แต่วินาทีสุดท้ายก่อนตาย ทั้งที่สามารถหนีเอาตัวรอดไปได้สบาย พี่สาวยังมีแก่ใจกลับช่วยเหลือคนอื่น นี่คือตัวละครในอุดมคติที่สร้างมาให้คนหลงรักโดยแท้ การตายของพี่สาวเป็นฉากที่สะเทือนจิตใจคนดูที่สุดในซีซันนี้ ที่ชวนให้นึกถึงการตายอันน่าสะเทือนใจของหนุ่มปากีสถานอย่างหมายเลข 199 ในซีซันแรก และเป็นอีกครั้งที่ซีรีส์เลือกเชือดตัวละครที่ดีที่สุด เพื่อย้ำเตือนว่า

“ในโลกของ Squid Game นั้น ความดีไม่ใช่เกราะป้องกันความตาย”

หมายเลข 222 กับ ‘ลาภงอก’ ที่ไม่มีใครอยากได้

กิมมิคที่น่าสนใจมากที่สุดในซีซันนี้ คือ ผู้เล่นหมายเลข 222 คนใหม่ นั่นคือทารกน้อยที่ลืมตาดูโลกกลางเกมของผู้เล่น 222 สาวน้อยวัยรุ่นที่อุ้มท้องแก่มาเล่นเกมตั้งแต่ซีซันก่อน ทารก(ซีจี)น้อยคลอดออกมาก็กลายเป็นสมบัติของเกมทันทีโดยที่เกมไม่ต้องเหนื่อยคัดผู้เล่นมาเพิ่ม (ภาษากฎหมายเรียก ‘ลาภงอก’) แถมยังมีสิทธิในตัวเงินรางวัลที่มีอยู่เท่า ๆ กับผู้เล่นที่เหลือที่ยังรอดชีวิต เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้คนอื่นทันที เด็กน้อยจึงกลายเป็นเป้าโจมตีที่จะต้องโดนกำจัดในไม่ช้า ทารกน้อยที่ยังไม่สามารถดูแลปกป้องตัวเองได้ จึงมีกีฮุนเป็นคุณพ่อจำเป็นกระเตงเล่นเกมที่เหลือต่อไป ทั้งที่พ่อตัวจริงของเด็กก็ยังมีชีวิตอยู่ในเกมนั่นแหละ ตัวเด็กกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความไม่เป็นธรรม’ ตั้งแต่แรกเกิด และกลายเป็นภาพสะท้อนที่น่าหดหู่ของคนตัวเล็กที่ไม่มีทางเลือกในระบบที่โหดเหี้ยม

เกมกระโดดเชือกทำให้เราได้พบกับ ‘น้องยองฮี’ (หรือที่คนไทยเรียก ‘น้องโกโกวา’)และ ‘ชอลซู’ เพื่อนชายคนสนิทที่มาถือเชือกคนละฝั่ง รูปแบบเกมเดาได้ไม่ยาก สำหรับผู้เขียนแล้วเกมกระโดดเชือกนี้ไร้ซึ่งการจดจำโดยสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของความตื่นเต้นและความแปลกใหม่ใด ๆ (แต่ยอมรับว่าแอบตกใจในความไวของการแกว่งอยู่บ้าง) สิ่งเดียวที่ทำให้มันเป็นภาพจำก็เพราะเป็นเกมที่ถูกโปรโมตโดย Netflix Thailand เนื่องจากมีน้องโกโกวาและชอลซูตั้งตระหง่านอยู่ที่ลานคนเมือง และเป็นเกมที่ป้ายไฟของหมายเลข 222 ได้ถูกดับลง และถูกเปิดติดขึ้นมาใหม่ หลังการตัดสินใจแบบนึกสนุกเล่น ๆ ของเหล่าวีไอพีที่เข้ามาชมเกมในครึ่งหลัง

ตลกร้ายของ ‘ประชาธิปไตย’ เสียงข้างมากที่ไม่ได้ยืนยันความถูกต้อง

เกมสุดท้ายคือ ‘เกมปลาหมึก’ เกมเดียวกับที่พระเอกชนะมาในซีซันแรก เพียงแต่คราวนี้เป็นเกมปลาหมึกลอยฟ้า ที่ผู้เล่นที่แพ้ในเกมนี้จะต้องถูกผลักตกลงมา และเป็นเกมที่อาศัยเรื่องของการ ‘โหวต’ 

หลายคนรู้กันดีกว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความประชาธิปไตยอย่างยิ่งยวด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจมั่นคงจนสามารถพาประเทศไปอยู่แถวหน้าของเอเชียได้ในหลาย ๆ ด้าน และน่าจะเป็นความภาคภูมิใจเรื่องหนึ่งของชาวเกาหลีเองด้วย เป็นความคมคายอย่างหนึ่งของผู้เขียนบทที่นำความประชาธิปไตยจ๋าของตัวเองมาเล่นเป็นประเด็นให้ผู้ชมฉุกคิด โดยตั้งคำถามถึงความถูกความผิดของการใช้หลักการที่อ้างอิง ‘ประชาธิปไตย’ ในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน ผ่านการโหวตเสียงข้างมากของเหล่าผู้เล่นในทุก ๆ เรื่อง ที่เสียงข้างมากที่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ตามหลักมนุษยธรรม กลับกันการพยายามทำการปฏิวัติยึดอำนาจแบบใช้กำลังของฝั่งพระเอกเสียอีก ที่เป็นภารกิจที่คนดูลุ้นเอาใจช่วยให้สำเร็จลุล่วงไปได้ มันคือการตอกกลับประชาธิปไตยแบบกลวงเปล่า ที่แค่มีเสียงข้างมาก ไม่ได้แปลว่าทำสิ่งที่ถูก

เมื่อเรื่องเดินทางมาถึงบทสรุป

เกมดำเนินมาถึงเส้นชัย แต่จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ชนะ ต้องมีใครที่โดนกำจัดในเกมนี้เป็นคนสุดท้าย ระหว่างแชมป์เก่าชายกลางคน กับทารกที่เพิ่งคลอดได้เพียงสองวัน

การที่กีฮุนตัดสินใจดิ่งตัวเองลงมาเพื่อรักษาชีวิตทารกหมายเลข 222 เป็นภาพซ้ำกับการกระทำของน้องชายของเขาที่ทำไว้ในเกมสุดท้ายของซีซันแรก แต่การสละชีวิตของ ‘ซังอู’ เพื่อให้พี่ชายได้ชนะเงินรางวัลทั้งหมดไปนั้นมีเหตุผลรองรับที่คนดูเข้าใจได้ง่าย แต่การสละชีวิตของกีฮุนเพื่อเด็กที่เป็นลูกของคนแปลกหน้า ที่เขาเพิ่งรู้จักสองสามวัน เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถาม

อาจเป็นเพราะคนอย่างกีฮุนคงไม่อาจปลิดชีวิตทารกไร้เดียงสาเพื่อเอาตัวรอดเป็นผู้ชนะรับเงินรางวัลไปนอนรู้สึกผิดตลอดชีวิตได้อีกครั้ง หรือเพราะความล้มเหลวของแผนการณ์ที่วางไว้ เหตุผลตั้งต้นที่ทำให้เขาเลือกจะกลับเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในเกมแต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าและคร่าชีวิตคนจนแทบไม่เหลือ นาทีสุดท้ายของชีวิต กีฮุนจึงทำได้แค่ทิ้งท้ายไว้ราวกับจะพูดกับทั้งฟร้อนต์แมนและคนดูว่า

“เราไม่ใช่ม้าแข่ง เราเป็นคน”

หลังกีฮุนตาย และได้ผู้ชนะคนใหม่ ที่เหลือก็คือภาพของความโกลาหลของสถานที่เล่นเกม ซึ่งโดนถล่มจนไม่น่าจะจัดในที่เดิมได้อีก และบทสรุปของแต่ละคน ที่ว่ากันตามตรง ก็ไม่ได้น่าสนใจเท่าใดนัก

มีหลายส่วนผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจไปจนถึงขัดใจเล็ก ๆ อย่างตัวละครคู่แม่ลูกหมายเลข 149 และ 007 แม่ลูกคู่นี้สลับบทบาทกันตอนเริ่มเกม และเมื่อเวลาใกล้หมด ลูกชายที่ต้องฆ่าใครสักคนเพื่อเอาชีวิตรอดไปให้ได้ ก็เลือกที่จะฆ่าคนแปลกหน้า แม้ว่าแม่จะร้องขอให้ไว้ชีวิตเธอก็ตาม การที่แม่ร้องขอชีวิตสาวน้อยกับทารกที่เพิ่งเกิดนั้นเข้าใจได้ หรือแม้แต่การที่แม่เอาตัวเข้าขวางเพื่อให้ลูกชายปลิดชีพตัวเองแทนสาวน้อยคนนั้น ก็ยังเข้าใจได้ แต่การที่แม่ต้องยับยั้งถึงขั้นลงมือแทงลูกชายตัวเอง มันออกจะอยู่นอกเหนือความเข้าใจของผู้เขียนไปเสียหน่อย ที่คนเป็นแม่จะยอมทำร้ายลูกชายเพื่อปกป้องคนแปลกหน้าเช่นนี้ แต่ถ้าจะตีความให้ลึกลงไปอีก แม่อาจไม่ได้แค่เลือกคนแปลกหน้า แต่กำลังหยุดวงจรของความรุนแรงก่อนที่ลูกชายของเธอจะกลายเป็นสัตว์ในเกมอย่างถาวรก็เป็นได้

ต่อมามีการไปร้องขอเพื่อให้พระเอกที่กำลังหมดอาลัยตายอยาก กลับมาใช้ชีวิตที่เหลือทำประโยชน์ในการดูแลเด็กสาวและลูกน้อย เพื่อที่ตัวเองจะไปแขวนคอตายในเช้าวันถัดมา ซีซันนี้เป็นซีซันที่เต็มไปด้วยตัวละครที่มีตรรกะแปลก ๆ เลือกทำในสิ่งที่ย้อนแย้งกับสามัญสำนึกในบางเรื่อง ราวกับว่าไม่ได้ผ่านการระดมสมองเพื่อหาความมีเหตุมีผลของทีมเขียนบทเสียอย่างนั้น

นอกจากนี้ยังมี ‘แก๊งวีไอพี’ ที่เหมือน ‘กุ๊ยขี้ยา’ มากกว่าจะเป็นผู้มีอันจะกิน ไม่รู้สึกถึงความเป็นภัยอันตรายแบบที่เป็นในซีซั่นแรกเลยแม้แต่น้อย

ตำรวจหนุ่มน้องชายฟร้อนต์แมน สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ฉากบนเรือฉากในทะเลทั้งหมดนี่ มีทำไมก็ไม่แน่ใจนัก เพราะสุดท้ายก็ไม่ได้เสริมอะไรเส้นเรื่องหลักสักนิด ยกเว้นว่าจะพยายามมองในแง่ดี หรือนี่อาจจะเป็นความพยายามของซีรีส์ ที่โยนเงื่อนปมเผื่อไว้สำหรับภาคแยกหรือภาคต่อ แต่เมื่อยังไม่ชัดเจน มันก็กลายเป็นภาระของเนื้อเรื่องที่กำลังจะจบมากกว่าการเติมเต็ม เช่นเดียวกับแม่สาวเกาหลีเหนือ การใส่ดรามาช่วยเหลือพ่อลูกมะเร็งไม่ได้ดึงดูดให้เกิดความประทับอะไรมากมายขนาดนั้น

ปกติแม้จะดูด้วยความกดดันแค่ไหนก็ตาม แต่ซีรีส์จะพอมีอะไรเรียกเสียงหัวเราะอยู่เรื่อย ๆ ดังที่เห็นในสองภาคก่อน แต่กับซีซันนี้มีเพียงไม่กี่ครั้ง หนังตั้งใจจะเน้นดรามาเข้มข้นมากกว่า อารมณ์ขันตลกร้ายกลายเป็นสิ่งที่ผู้สร้างตัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

เรารู้จักฟร้อนต์แมนมากขึ้นจากการลงไปร่วมเล่นเป็นหมายเลข 001 ในซีซันก่อนก็จริง แต่ความรู้สึกของคนดูที่มีต่อฟร้อนต์แมนนั้นช่างบางเบาเหลือเกิน อีกทั้งเวลายังมีผลต่ออารมณ์ที่ต่อเนื่อง

การที่กีฮุนเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ 001 ในตอนนี้จึงไม่ส่งผลอะไรต่อจิตใจของคนดูเลย

ภาคต่อที่ใช้วิธีตัดจบภาคก่อนกลางคันตอนที่เหตุการณ์ในเรื่องกำลังถึงจุดพีค เพื่อนำมาหั่นเป็นอีกซีซันหนึ่ง แม้จะมีรีแคปให้ต้นเรื่องแล้วก็ตาม ก็ยากที่จะเรียบสนิทได้แบบไร้รอยต่อ ผู้เขียนคิดว่าตัวเองยังพอจำตอนจบจากภาคก่อนได้ดีเพราะเพิ่งดูจบไปเมื่อปลายปีก่อน บวกกับเวลาที่มีน้อย จึงไม่ได้ดูทวนซีซันสองก่อนแต่อย่างใด ใช้วิธีดูต่อซีซันสามไปเลย ก็พบว่าเกิดความไม่ต่อเนื่องของอารมณ์อย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นปัญหาของตัวผู้เขียนเพียงคนเดียว พอมาย้อนดูหลังจบเรื่องก็ไม่สามารถดึงอารมณ์ร่วมที่มอดดับไปแล้วให้กลับคืนมาได้ใหม่อีก 

ซีรีส์ทิ้งท้ายด้วยการเปิดตัวเซลล์แมนทางฝั่งตะวันตก ที่กำลังเล่นตั๊กจีตบหน้าคนอยู่ในซอกตึก เป็นเซลล์แมนหญิงที่รับบทโดยคนที่ทั้งโลกรู้จักเป็นอย่างดี ถือเป็นความฮือฮาเดียวของ Squid Game 3 ภายหลังจึงได้ข่าวการคอนเฟิร์ม ‘Squid Game USA’ ออกมาเรียบร้อยแล้ว (มันว้าวมากตอนที่เห็น ‘เคต แบลนเช็ต’ ในจอ แม้นาทีต่อมาจะเกิดคำถามอยู่นิดนึงว่า นี่เจ๊แกกำลังเล่นตั๊กจีเหรอ ตั๊กจีเนี่ยนะ)

ถ้าเทียบกับซีซันก่อนหน้า ที่อุดมไปด้วยฉากน่าจดจำมากมาย ผู้เขียนยังตะลึงกับโกโกวาเกมแรก เกมกระโดดข้ามกระจก เกมชักกะเย่อในภาคแรก หรือแม้แต่ม้าหมุนและเกมสี่ขาห้าคนในภาคที่แล้ว ก็ยังถือว่าทำออกมาได้น่าประทับใจ ขณะที่ซีซันนี้ก็ไม่มีอะไรสู้ได้เลย และเมื่อไฟไม่เหลือพอจะลุกเผาความรู้สึกคนดูให้ติด ซีซันที่ควรเป็นบทสรุปจึงกลับกลายเป็นแค่สะพานเชื่อมภาคใหม่ ที่ใครหลายคนอาจไม่อยากข้ามไปอีกแล้วก็เป็นได้ หลายคนทนดูเพื่อจะได้ทราบบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด ที่สุดท้ายก็ไม่ได้มีบทสรุปอะไรที่ตราตรึงใจ กลายเป็นเหมือนเรื่องปิดจบเพียงเพื่อจะรีบส่งไม้ต่อให้ Squid Game USA ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าเท่านั้น

 

เรื่อง: poonpun