เมลานี เพอร์กินส์ : เมื่อ ‘Storytelling’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ ‘Canva’ สตาร์ทอัพหมื่นล้าน

เมลานี เพอร์กินส์ : เมื่อ ‘Storytelling’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ ‘Canva’ สตาร์ทอัพหมื่นล้าน
ถ้าต้องทำสไลด์พรีเซนต์งานหรือทำกราฟิกโดยไม่ต้องเรียน Photoshop และ InDesign เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึง ‘Canva’ เว็บไซต์สำหรับทำสไลด์ เรซูเม่ และกราฟิกสารพัดรูปแบบโดยไม่ต้องมีพื้นฐานด้านโปรแกรมหรือการออกแบบมาก่อน Canva เปิดตัวในปี 2013 ก่อนจะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน ปี 2021 ซึ่งนับเป็นสตาร์ทอัพระดับ Decacorn (ธุรกิจมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน Canva นับล้านคน ใน 190 ประเทศทั่วโลก ส่วน ‘เมลานี เพอร์กินส์’ (Melanie Perkins) ผู้ร่วมก่อตั้ง Canva ได้ติดอันดับในลิสต์ the 2016 Forbes 30 Under 30 และ Most Powerful Women International 2021 ในเว็บไซต์ fortune.com แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เพอร์กินส์ได้ยินคำปฏิเสธจากนักลงทุนมานับร้อยครั้ง  “ปกติแล้วสิ่งที่คุณจะทำหลังจากคำว่า ‘ไม่’ ครั้งที่ 100 ครั้งที่ 80 หรือแม้แต่ครั้งที่ 20 คือการ ‘หยุดทำ’ แต่คุณแค่ต้องอดทนต่อไป” และนี่คือเรื่องราวของ เมลานี เพอร์กินส์ หญิงสาวช่างฝันผู้ไม่มีคำว่า ‘ยอมแพ้’ ในพจนานุกรมของชีวิต   เด็กสาวช่างฝัน ผู้ ‘ลงมือ’ สร้างฝันให้เป็นจริง เมลานี เพอร์กินส์ เกิดในเมืองเพิร์ธ (Perth) ประเทศออสเตรเลีย แม่ของเธอเป็นคุณครู ส่วนพ่อของเธอเป็นวิศวกร ด้วยความที่เป็นเด็กสาวช่างฝัน ครอบครัวของเพอร์กินส์จึงมักจะแซวเธอเล่น ๆ ว่า  “เพอร์กินส์มีแพลนนับร้อยเพื่อจะเปลี่ยนโลก”  แต่ใช่ว่าเพอร์กินส์จะเฝ้าฝันเพียงอย่างเดียว เธอลงมือทำโปรเจกต์นับร้อยในหัวทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอนเวลา 04.30 น. ทุกวันเพื่อฝึกซ้อมสเก็ตก่อนไปโรงเรียน เพราะตอนนั้นเธอฝันอยากจะเป็น ‘นักสเก็ตมืออาชีพ’  หรือช่วงวัยรุ่น เพอร์กินส์ในวัย 14 ปี อยากจะมีธุรกิจของตัวเอง เธอจึงเริ่มขาย ‘ผ้าพันคอแฮนด์เมด’ ตามร้านค้าและตลาดทั่วเมืองเพิร์ธ  จนเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เธอเลือกเรียนด้านการสื่อสาร จิตวิทยา และการพาณิชย์ที่ University of Western Australia ส่วนเวลาว่างเธอมักจะสอนเพื่อน ๆ ใช้โปรแกรมอย่าง InDesign และ Photoshop ซึ่งกว่าเพื่อนแต่ละคนจะใช้โปรแกรมเหล่านี้คล่องพอจะทำกราฟิกสวย ๆ ได้ ก็ใช้เวลาเรียนรู้นานนับเดือน แถมงานบางชิ้นอย่างการทำโปสเตอร์ ต้องผ่านการเปลี่ยนไซซ์ เซฟเป็นไฟล์ pdf ก่อนจะนำไปพิมพ์ที่ร้าน  ‘งั้นจะดีกว่าไหม…ถ้าเราทำทุกอย่างได้ในคราวเดียวกัน ด้วยเครื่องมือในรูปแบบออนไลน์ ?’ เธอเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ พร้อมกับความคิดที่ว่า ถ้าไม่ลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ อาจจะมีคนคว้าโอกาสสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เธอมองเห็น ดังนั้น ในปี 2007 เพอร์กินส์จึงชวน ‘คลิฟฟ์ ออเบรชท์’ (Cliff Obrecht) มาเริ่มโปรเจกต์ใหม่ไปด้วยกัน โดยทั้งคู่ตั้งใจว่า อยากจะหาเครื่องมือสำหรับการสร้างงานดีไซน์ดี ๆ ได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน หรือต้องใช้เวลาแสนนานเพื่อเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม “เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสตาร์ทอัพคืออะไร เราแค่มีปัญหาที่เราอยากจะหาทางแก้ไข” แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรและต้นทุน เพอร์กินส์และออเบรชท์จึงเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (niche) คือกลุ่มนักเรียนมัธยมก่อน เพื่อทดสอบว่าไอเดียนี้จะเวิร์กจริงหรือเปล่า  และนั่นคือที่มาของ ‘Fusion Books’ ธุรกิจแรกของทั้งคู่ที่มีโมเดลเดียวกันกับ Canva แต่ทำเฉพาะหนังสือรุ่นของนักเรียนมัธยมแทน 5 ปีต่อมา Fusion Books กลายเป็นบริษัท yearbook ขนาดใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียที่ขยายธุรกิจไปกว่า 400 โรงเรียน ทั้งในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์   เมื่อความสำเร็จของ Fusion Books พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไอเดียของเธอน่าจะไปต่อได้ เพอร์กินส์จึงมองหาลู่ทางสำหรับก้าวต่อไป แต่การใช้ชื่อเดิมอาจไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร เพราะคำว่า ‘fusion’ มักจะถูกใช้อยู่บ่อย ๆ ส่วนคำว่า ‘books’ ก็จำกัดขอบเขตการทำงานมากเกินไป เพอร์กินส์จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘Canvas Chef’ แทน เพื่อสื่อถึงซอฟต์แวร์ที่เปรียบเสมือน ‘เชฟ’ ผู้มีวัตถุดิบสำหรับการออกแบบอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ ภาพประกอบ และภาพถ่าย  ทว่าผู้ร่วมก่อตั้งอย่างออเบรชท์ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ จนพนักงานคนหนึ่งในทีมวิศวกรบอกว่า ‘canvas’ ออกเสียงว่า can-va ในภาษาฝรั่งเศส พวกเขาจึงตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ ‘Canva’ มาจนถึงปัจจุบัน   คำปฏิเสธจากนักลงทุนนับร้อยครั้ง นอกจากเรื่องชื่อแล้ว ปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่เพอร์กินส์ต้องเผชิญเช่นเดียวกับสตาร์ทอัพอีกหลายแห่งคือการหา ‘เงินทุน’ และ ‘ทีมงาน’ เพอร์กินส์จึงต้องพยายามโน้มน้าวให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนกับ Canva  และแล้วโอกาสก็เดินทางมาถึง เมื่อปี 2011 Bill Tai ได้เดินทางมายังเมืองเพิร์ธเพื่อตัดสินการแข่งขันสตาร์ทอัพ เพอร์กินส์และออเบรชท์จึงนำไอเดียนี้ไปเสนอ Bill Tai แต่แทนที่เขาจะให้เงินลงทุน Bill กลับชวนทั้งคู่ไปร่วมงานรวมตัวกันของเหล่านักลงทุนสายเทคโนโลยีแทน หลังจากนั้น เพอร์กินส์และออเบรชท์ได้นำแผนธุรกิจไปพิตช์งานกับนักลงทุนจำนวนมาก แต่ยิ่งมากเท่าไร พวกเขายิ่งได้ยินคำว่า ‘ไม่’ เพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยเพอร์กินส์เล่าว่า เธอใช้เวลาพิตช์งานนานถึง 3 ปีกว่าจะได้เงินทุน 'ก้อนแรก’ จากนักลงทุน “ทุกครั้งที่เราเจอคำถามยาก ๆ หรือเหตุผลที่ผู้คนไม่ลงทุนกับบริษัทเรา เราจะโฟกัสสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ฉันแก้ไข pitch deck ทุกครั้งหลังการประชุม แทบจะมากกว่า 100 ครั้งใน 1 ปีเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้สามารถตอบคำถามหรือแก้ไขสิ่งที่เราเคยถูกปฏิเสธก่อนหน้านี้” เมลานี เพอร์กินส์ : เมื่อ ‘Storytelling’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ ‘Canva’ สตาร์ทอัพหมื่นล้าน

Photo By David Fitzgerald/Sportsfile for Web Summit via Getty Images

หลังถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า เธอก็เริ่มตระหนักได้ว่า ความล้มเหลวในช่วงแรก ๆ อาจเป็นเพราะเธอพูดถึง ‘วิธีแก้ไข’ มากกว่า ‘ปัญหา’ ที่พบ  “เพราะถ้าคนฟังไม่เข้าใจปัญหา พวกเขาจะไม่มีวันเข้าใจหนทางแก้ไข”  เพอร์กินส์เล่าในบทสัมภาษณ์กับ Inc. พร้อมเสริมว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะเล่าถึงปัญหาเหล่านั้นคือ ‘storytelling’ ไม่ใช่เพาเวอร์พอยต์แต่อย่างใด เพอร์กินส์จึงเปลี่ยนจากการเริ่มเล่าถึงข้อดีของ Canva มาเป็นการเล่าถึง ‘ความน่าหงุดหงิดใจ’ ของนักเรียนหรือคนทั่วไปที่ใช้โปรแกรมออกแบบไม่เป็น แถมยังต้องใช้เวลาทั้งเทอมเพื่อเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรมเหล่านี้ ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวช่วยย้ำเตือนถึงปัญหาที่นักลงทุนหลายคนก็เคยรู้สึกหงุดหงิดใจเช่นเดียวกัน  เพอร์กินส์เล่าว่า ‘การเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่อง’ คราวนั้นราวกับเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ครั้งสำคัญที่ทำให้ Canva เริ่มได้รับเงินลงทุนจนสามารถเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการได้ในเดือนสิงหาคม ปี 2013 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดี เพราะผู้คนเริ่มนิยมใช้อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ ซึ่งต้องการทำให้หน้าโปรไฟล์ของตัวเองดูดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ภายในปี 2014 Canva จะสามารถระดมเงินได้อีก 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมจำนวนผู้ใช้งานกว่า 600,000 คน และมีการสร้างงานออกแบบกว่า 3,500,000 ชิ้นในเว็บไซต์ของ Canva   Canva สตาร์ทอัพหมื่นล้าน “เราอยากให้ Canva เป็นเหมือน (เครื่องมือออกแบบ) ขั้นต้นที่คุณจะใช้ เราจึงเปิดให้ใช้งานฟรี” Canva เปิดให้ใช้งานเทมเพลตฟรีกว่า 40,000 แบบ ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเมื่อสมัครเวอร์ชันพรีเมียมแบบรายเดือน/รายปี หรือการซื้อภาพเพิ่มเติม ซึ่งจ่ายเพียง 1 ดอลลาร์ต่อชิ้นเท่านั้น เมลานี เพอร์กินส์ : เมื่อ ‘Storytelling’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ ‘Canva’ สตาร์ทอัพหมื่นล้าน แต่ไม่ว่าจะมีผู้ใช้งาน ‘ฟรี’ มากแค่ไหน สุดท้าย Canva ก็สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกุญแจสำคัญ นั่นคือ การใช้งานง่าย ประหยัดเวลา และราคาสบายกระเป๋า ในปีต่อ ๆ มา Canva จึงได้รับเงินลงทุนมากขึ้น จนกลายเป็นบริษัทมูลค่าหมื่นล้านได้ในปี 2021 ส่วนออฟฟิศของ Canva ได้ขยายไปยังเมืองปักกิ่ง (Beijing) และมะนิลา (Manila) หลายบริษัทกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Canva เช่น บริษัท McDonald’s ในประเทศจีน  แม้จะฟังดูเหมือนเพอร์กินส์เดินมาจนถึงปลายทางแห่งความสำเร็จ แต่เธอกลับบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของสิ่งที่เธออยากจะทำ “ฉันรู้สึกเหมือนได้ทำงานที่มันเหลือเชื่อมาก ๆ แต่เราเพิ่งจะทำสำเร็จไปเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราอยากทำ เพราะเราเพิ่งจะทำไปแค่ 1% ของสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นไปได้”   การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้ แน่นอนว่าเพอร์กินส์ตั้งใจจะเดินต่อไปบนเส้นทางสายธุรกิจ เพื่อทำอีก 99% ของเธอให้สำเร็จไปพร้อมกับออเบรชท์เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปี 2019 ทั้งคู่ไม่ได้เดินเคียงข้างกันในฐานะคู่หูทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเดินเคียงข้างกันใน ‘คู่ชีวิต’ เมื่อออเบรชท์ได้ขอเพอร์กินส์แต่งงานด้วยแหวนหมั้นราคา 30 ดอลลาร์ ระหว่างเดินทางไปที่คัปปาโดเกีย ประเทศตุรกี  ปัจจุบันคู่รักคู่นี้ยังคงใช้ชีวิตแต่งงานอันเรียบง่าย ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเรื่อยมา และเมื่อฝ่าฟันอุปสรรคมากมายจนสามารถผลักดันให้ Canva กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับเดคาคอร์นได้แล้ว เพอร์กินส์ได้ให้สัมภาษณ์กับ Inc. ถึงบทเรียนที่เธอตกตะกอนได้ว่า “อย่างแรกที่คุณต้องทำคือ แก้ปัญหาจริง ๆ ที่ผู้คนต้องเผชิญ สอง, คือ เลือกเจาะกลุ่มเฉพาะก่อนที่จะไปยังกลุ่มที่กว้างขึ้น (Go niche before you go wide) เราทดสอบไอเดียของ Canva กับธุรกิจแรกของเรา ‘Fusion Books’ ซึ่งเป็นไอเดียเดียวกับ Canva แต่ใช้สำหรับกลุ่มตลาดแบบ niche คือเด็กนักเรียนมัธยมในออสเตรเลีย เมื่อเราเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างและพิสูจน์ไอเดียนี้ได้ เราเลยตัดสินใจแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เริ่มทำให้ดีไซน์เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับทุกอย่าง จากโซเชียลมีเดียโพสต์ไปจนถึงเครื่องมือสำหรับสายมาร์เก็ตติ้ง  “สาม, คือจ้างและทำงานกับคนที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ เราโชคดีที่สร้างทีมที่แข็งแกร่งได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องการจะคว้าเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่  “สี่, เราโฟกัสไปที่โปรเจกต์และงานที่เราจะสร้างอิมแพคต์ได้มากที่สุด "และห้า, แค่เริ่มลงมือทำ!”   ที่มา: https://www.forbes.com/profile/melanie-perkins/?sh=bce12a71265d https://irishtechnews.ie/we-didnt-take-no-for-an-answer-even-after-100-times-melanie-perkins-ceo-of-globally-loved-canva/ https://www.inc.com/carmine-gallo/how-canvas-melanie-perkins-learned-to-pitch-persuasively-after-more-than-100-rejections.html https://fortune.com/most-powerful-women-international/2021/melanie-perkins/ https://peoplepill.com/people/melanie-perkins https://successstory.com/people/melanie-perkins https://www.forbes.com/sites/alexkonrad/2019/12/11/inside-canva-profitable-3-billion-startup-phenom/?sh=457bd8894a51 https://markupgrade.com/index.php?page=post&&id=164 https://www.smartcompany.com.au/startupsmart/advice/dorky-name-ever-naming-issues-canva-vinomofo-safetyculture-faced/    ที่มาภาพ: By Web Summit - DF1_8690, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=83701203