01 พ.ค. 2568 | 11:40 น.
KEY
POINTS
ในหนังสือ ‘The Life and Death of Classical Music’ ที่เขียนโดย ‘นอร์แมน เลอเบรคท์’ (Norman Lebrecht) ซึ่งออกวางขายครั้งแรกในปี 2007 นั้น ในภาคแรกของหนังสือ (Maestros) เขาอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีคลาสสิกได้อย่างเห็นภาพ ด้วยเนื้อหาคมคาย ผ่านน้ำเสียงการเล่าที่แสบสัน เต็มไปด้วยเบื้องหลังวงในที่แทบไม่มีใครกล้าเล่า
โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘เคลาส์ ไฮย์มันน์’ (Klaus Heymann) นักธุรกิจที่มีลักษณะไม่ต่างจาก ‘แกะดำทำธุรกิจ’ ของวงการเท่าใดนัก
ขณะที่ร้านขายซีดีดนตรีคลาสสิกทยอยปิดตัวลงทีละแห่ง บริษัทเพลงเก่าแก่ อย่าง ‘EMI’ ถูกรวมกิจการ บางค่ายอย่าง ‘Deutsche Grammophon’ ต้องหันไปโปรโมตนักร้องโอเปร่าในชุดรัดรูป หรือจับมือกับวง ‘ABBA’ เพื่อขายแผ่นเพลงครอสโอเวอร์ โลกของดนตรีคลาสสิกดูเหมือนกำลังจะจมหายไปพร้อมกับยุคของมันเอง
แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ไม่จมไปด้วย เขากลับว่ายทวนน้ำอย่างสบายใจราวกับรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า สึนามิจะมาเมื่อไร
เคลาส์ ไฮย์มันน์ ไม่ได้เป็นนักดนตรี ไม่ใช่วาทยกร หรือโปรดิวเซอร์ที่มีหูทอง เขาเป็นเพียงนักธุรกิจชาวเยอรมันที่ย้ายมาอยู่ฮ่องกงในยุค 1960s และเริ่มทำค่ายเพลงในช่วงที่ใครหลายคนเริ่มพับกิจการกันหมด
เขาไม่ชอบคำว่า ‘ศิลปิน’ (ในความหมายของลัทธิบูชาศิลปิน) เพราะมันชวนให้คนเหล่านั้นคิดว่าตัวเองมีสิทธิเรียกร้องค่าตัวแพงขึ้นทุกครั้งที่ผลงานขายดี
‘Naxos’ เป็นค่ายเพลงที่เขาก่อตั้งในปี 1987 เป็นค่ายเพลงที่ปฏิเสธการพึ่งพาศิลปินนำ ไม่มีงบโฆษณา ไม่มีคอนเสิร์ตเปิดตัว ไม่มีแถลงข่าว ไม่มีปรากฏการณ์บนเวที แต่กลับขายดีจนสร้างยอดรายได้ปีละหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐในยุครุ่งเรือง ด้วยสูตรลับเพียงอย่างเดียว “ขายถูกกว่าทุกคน และจ่ายน้อยกว่าที่ใครกล้าจ่าย”
ในขณะที่ค่ายใหญ่ อย่าง ‘Deutsche Grammophon’ จ่ายศิลปินเป็นเงินก้อนบวกค่าลิขสิทธิ์ระยะยาว ไฮย์มันน์ จ่ายให้ครั้งเดียวแบบเหมา นักดนตรีได้รับไม่กี่ร้อยเหรียญต่อแผ่นที่ขายได้เป็นหมื่นเป็นแสน ไม่มีโบนัส ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ย้อนหลัง
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือกรณีของ ‘ราฟาเอล วอลล์ฟิสช์’ (Raphael Wallfisch) นักเชลโลชาวอังกฤษ ซึ่ง นอร์แมน เขียนถึงกรณีนี้ว่า ผลงานของเขาขายได้ในระดับ best-seller แต่สิ่งที่ได้กลับมา มีค่าตัวเพียงครั้งเดียว และ ‘ความเงียบ’ จากค่ายเพลงที่ไม่คิดจะทบทวนสัญญาเดิม คือข้อเท็จจริงอันแข็งกระด้างที่สุดในระบบ Naxos จะไม่มีใครได้รับเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าผลงานนั้นจะกลายเป็นตำนานหรือไม่
ในโลกที่ศิลปินคลาสสิกหลายคนใช้เวลานับสิบปีเพื่อสร้างชื่อ เคลาส์ ไฮย์มันน์ อาจจะใช้เวลาไม่ถึงสิบวินาทีในการตัดสินใจว่า ใครควรได้บันทึกเสียงกับค่ายของเขาหรือไม่
เขาไม่ถามถึงเทคนิค ไม่สนใจประวัติการแสดงสด ไม่เคยเชิญใครมานั่งคุยเรื่องแรงบันดาลใจ “ถ้าฟังแล้วใช้ได้ และค่าตัวไม่เกินงบ เราก็อัด” เขาเคยกล่าวไว้แบบไม่อ้อมค้อม
ในยุคที่ค่ายใหญ่อย่าง EMI ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ในการวางแผนบันทึกซิมโฟนีของ ‘Mahler’ หรือคอนแชร์โตของ ‘Bartók’ ค่าย Naxos จะเลือกใช้วงดนตรีราคาถูกจากสโลวาเกียหรือสโลวีเนีย จ่ายค่าจ้างแบบเหมาให้ทั้งวาทยกรและนักดนตรี โดยไม่มีสัญญาระยะยาว ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ไม่มีโบนัส
เขาให้เหตุผลที่ฟังดูไม่ใช่อารมณ์ศิลป์นัก “ถ้าคุณทำให้ศิลปินกลายเป็นดาวเด่น เขาจะคิดว่าตัวเองมีค่าเกินจริง แล้วเรียกราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนธุรกิจอยู่ไม่ได้”
และนั่นไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นแนวปฏิบัติจริง
แม้แต่การพบปะพูดคุยกับศิลปิน เจ้าของค่าย Naxos ก็หลีกเลี่ยงที่จะพบเจอ เขาให้เหตุผลว่า “ศิลปินบางคนมีเสน่ห์มากเกินไป คุยไปคุยมา คุณจะใจอ่อนและยอมจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย” ในความคิดของเขา การเจรจากับศิลปินไม่ต่างอะไรกับ ‘กับดักทางธุรกิจ’
ระบบของ ไฮย์มันน์ อาจฟังดูเย็นชา แต่มีเหตุผลรองรับแบบตรงไปตรงมา กล่าวคือ นักดนตรีไม่ได้เป็นหัวใจของแบรนด์ เพราะแบรนด์ของ Naxos ไม่ได้ขาย ‘คน’ แต่มุ่งขาย ‘เพลง’
หน้าปกอัลบั้มของ Naxos จึงมักไม่ใส่ชื่อศิลปินเลยด้วยซ้ำ หรือใส่ในขนาดฟอนต์ที่เล็กที่สุด ส่วนชื่อที่โดดเด่นที่สุดบนปก คือชื่อคีตกวี เช่น Bach, Beethoven, Brahms ในขณะที่ผู้บรรเลงไปแอบอยู่หลังปกอย่างเงียบ ๆ ในฟอนต์เล็ก ๆ เสมือนเป็น ‘แรงงานนิรนาม’ ในสายพานการผลิต
ถ้าโลกของ Deutsche Grammophon เปรียบได้กับ ‘วิหารเสียงทอง’ ของวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ โลกของ Naxos ก็เหมือน ‘โกดังเก็บเสียง’ ที่มีคนผลิตอยู่หลังม่าน โดยไม่มีใครรู้ชื่อ และในขณะที่วิหารหลายแห่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา โกดังของ ไฮย์มันน์ กลับสร้างกำไรได้ทุกปี เพราะเขาไม่เคยเชื่อว่าความลุ่มหลงในตัวศิลปินคือธุรกิจที่ยั่งยืน
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 Naxos กลายเป็นแบรนด์ที่ไม่ว่าใครจะ ‘ดูถูก’ แค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มัน “ขายได้จริง” และขายดีเสียด้วย
พวกเขาเริ่มต้นด้วยราคาขายที่ถูกกว่าคู่แข่งทุกราย ซีดีแผ่นละ 6 ดอลลาร์ ในขณะที่ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง EMI หรือ Sony Classical วางขายที่ 15 – 18 ดอลลาร์ต่อแผ่น ไม่ต้องบอกก็พอเดาได้ว่าผู้บริโภคเลือกอะไร
แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่าราคา คือ ‘ช่องทางการขาย’ ที่ ไฮย์มันน์ เลือกใช้ เขาเจาะไปที่ร้านขายของในสถานีบริการน้ำมันในนอร์เวย์, ร้าน Woolworth’s ในอังกฤษ, หรือแม้กระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่เคยขายดนตรีคลาสสิกมาก่อน เขาพิสูจน์ว่าคนธรรมดาทั่วไปจะซื้อเพลงคลาสสิก ถ้าราคาไม่แพงจนทำให้รู้สึกว่าต้องมีปริญญาดนตรีถึงจะฟังได้
เพียงไม่กี่ปีหลังเปิดตัว Naxos ขายซีดีได้มากกว่า 10 ล้านแผ่น และกลายเป็น 1 ใน 6 ซีดีคลาสสิกที่ขายดีที่สุดของโลกในช่วงกลางทศวรรษ 1990s แม้จะไม่มีศิลปินคนไหนที่คนจดจำได้เลยก็ตาม
ฝั่งอุตสาหกรรมเอง เริ่มมีเสียงเยาะเย้ยเบา ๆ ว่า “ใคร ๆ ก็ทำแผ่นแบบนั้นได้” แต่พอเวลาผ่านไป และค่ายใหญ่ทยอยปิดแผนกคลาสสิกของตัวเองลงทีละราย เสียงเยาะเย้ยถากถาง กลายเป็นเสียงเครียดเงียบ ๆ
บางคนอาจยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า “เขาอ่านตลาดออกจริง ๆ” แต่หลายคนโดยเฉพาะนักวิจารณ์และศิลปินมองว่า ไฮย์มันน์ ได้ทำให้ดนตรีคลาสสิก กลายเป็น ‘สินค้าขายส่ง’ มากกว่าจะเป็นงานศิลปะ
ผู้เชี่ยวชาญในวงการเคยเปรียบเทียบว่า Naxos “ทำกับดนตรีคลาสสิก เหมือน IKEA ทำกับเฟอร์นิเจอร์” คือทุกอย่างดูดีพอใช้ ราคาถูก และถ้าหักพังเสียหาย ก็ไม่มีใครเสียใจมากนัก
นักวิจารณ์บางคน ถึงกับเรียก Naxos ว่า ‘Muzak สำหรับห้องสมุด’ เพราะหลายผลงานถูกจัดทำขึ้นเพื่อ “เติมเต็มแค็ตตาล็อก” มากกว่าทำเพื่อความลุ่มลึกของการตีความ
แต่ ไฮย์มันน์ กลับภูมิใจกับภาพลักษณ์แบบนั้น “ผมไม่เคยคิดว่า Naxos จะไปแย่งพื้นที่กับค่ายอย่าง DG หรือ Philips เราแค่สร้างตลาดของเราเอง คนที่ไม่รู้จักว่า (วาทยกร) ฮาร์นอนคอร์ท (Harnoncourt) คือใคร แต่รู้ว่าอยากฟัง Vivaldi”
Naxos ไม่ได้เป็นคู่แข่งของค่ายใหญ่ในแง่ ‘ศิลปะ’ ก็จริง แต่กลับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในแง่ ‘การอยู่รอด’
ที่สำคัญคือ เฮย์มานน์ ไม่เคยปิดบังว่า เขาไม่ได้ทำธุรกิจนี้ เพราะ ‘รักดนตรีคลาสสิก’ แบบโรแมนติก เขาแค่ชอบฟังเพลง มีหูที่ดีพอ และมองเห็นว่าตลาดดนตรีคลาสสิกยังเปิดช่องให้คนที่กล้าล้มโต๊ะเดิม ๆ
และใช่! เขาล้มโต๊ะนั้นลงจริง ๆ !
ในขณะที่ Naxos สร้างยอดขายซีดีได้เกินสิบล้านแผ่นภายในไม่กี่ปี และนำดนตรีของ Beethoven, Brahms, Mahler ไปสู่บ้านเรือนที่ไม่เคยเปิดแผ่นเพลงคลาสสิกมาก่อน คำถามหนึ่งกลับค่อย ๆ ดังขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่นักดนตรีมืออาชีพ
แล้วราคาที่แท้จริงของความสำเร็จแบบนี้คืออะไร?
หากเป็น ‘ราฟาเอล วอลล์ฟิสช์’ เขาคงไม่ได้ถามด้วยโทนปรัชญา เขาเคยบันทึกอัลบั้มเชลโล กับ Naxos ในราคาค่าตัวแบบเหมาจ่าย เขาไม่ได้มองว่า มันเป็นโปรเจกต์ที่สำคัญอะไรนักในตอนนั้น แต่กลับกลายอัลบั้มนั้นเป็นผลงานที่ขายดีที่สุดของค่ายในกลุ่มเครื่องสายเดี่ยว ยอดขายไต่ขึ้นไปหลายหมื่นแผ่นในช่วงเวลาอันสั้น
แต่เมื่อเขาติดต่อกลับไปยังค่าย เพื่อถามอย่างสุภาพว่า ไพอจะมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมหรือค่าลิขสิทธิ์บางส่วนบ้างไหมไ สิ่งที่เขาได้รับกลับมา คือความเงียบ หรืออาจเรียกว่า ‘นโยบายบริษัท’
เพราะสำหรับ ไฮย์มันน์ ทุกคนที่บันทึกเสียงกับ Naxos เซ็นสัญญาแบบเดียวกันหมด รับเงินครั้งเดียว และยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจลง ณ จุดนั้น ไม่ว่าผลงานจะขายได้ 500 แผ่น หรือ 500,000 แผ่น
หากคุณถามว่า “ยุติธรรมไหม” ไฮย์มันน์ จะตอบว่า “แน่นอน เพราะทุกคนรู้กติกาตั้งแต่ต้น” หากคุณถามว่า “ดีต่อศิลปินไหม” เขาจะตอบว่า “แล้วพวกเขาจะได้บันทึกงานของตัวเองไว้หรือเปล่าล่ะ ถ้าไม่มีเรา?”
แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ระบบที่งดงามนักในสายตาของนักอุดมคติ แต่ระบบนี้เอื้อให้ศิลปินโนเนมในยุโรปตะวันออกได้มีโอกาสบันทึกเสียงสักครั้งหนึ่งในชีวิต ให้วงออร์เคสตราเล็ก ๆ ได้แสดงผลงานของ Bartók หรือ Janáček, และให้เด็กในโรงเรียนเล็ก ๆ ในเท็กซัส ได้ฟังเพลงของคีตกวี Vaughan Williams ในราคาที่ห้องสมุดพอซื้อไหว
บางคนบอกว่านี่คือ ‘การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม’ แต่บางคนเห็นว่า นี่คือ “การทำให้ศิลปินเป็นแรงงานราคาถูก ภายใต้ความคลุมเครือของความศักดิ์สิทธิ์ในเสียงดนตรี”
เสียงบางเสียงในวงการ ถึงกับตั้งคำถามว่า Naxos คือ ‘โรงงานเสียงในระบบอุตสาหกรรมเสรีนิยม’ ที่ลดคุณค่าของนักดนตรีให้เหลือเพียงบรรทัดสุดท้ายของใบแจ้งหนี้เท่านั้น
และยิ่งเศร้ากว่านั้นคือ... หลายค่ายเริ่มทำตาม
เมื่อเห็นว่า Naxos ยังอยู่รอดได้ และมีกำไรต่อเนื่อง ค่ายเพลงอื่นที่เคยยึดมั่นใน ‘อุดมคติศิลป์’ ก็เริ่มทบทวนกลยุทธ์เดิมของตน มีการลดต้นทุน ลดสเกล ลดความซับซ้อน และเริ่มมองว่าศิลปินก็คือ ‘ต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง’
แม้แต่ค่ายอย่าง EMI ที่เคยภูมิใจใน ‘การบ่มเพาะศิลปินระดับโลก’ ก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับศิลปินที่ “ต้นทุนต่ำและเข้ากับตลาด” มากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990s
ในขณะที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง EMI และ Sony Classical ยังถกเถียงกันไม่จบว่าจะ “เอายังไงดีกับยุคดิจิทัล” เคลาส์ ไฮย์มันน์ กลับประกาศเปิดตัว ‘Naxos Music Library’ ในปี 2002 อย่างเงียบ ๆ และกลายเป็นหนึ่งในก้าวที่ล้ำหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมดนตรีคลาสสิก
Naxos Music Library ไม่ได้มุ่งขายตรงให้ผู้บริโภคทั่วไปในแบบเดียวกับ iTunes หรือ Spotify แต่หันไปจับตลาดที่ไม่มีใครมองเห็นในตอนนั้น คือ ห้องสมุด มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา
ไฮย์มันน์ เข้าใจดีว่าดนตรีคลาสสิกไม่ได้เป็น ‘สินค้าที่ผู้คนไล่ตาม’ แต่เป็น ‘เนื้อหาอ้างอิง’ ที่ต้องใช้ในหลักสูตร ประกอบงานวิจัย และการเรียนการสอนในสาขาดนตรีทั่วโลก เขาจึงสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้บรรณารักษ์และอาจารย์สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลเพลงนับล้านแทร็กในราคาสมเหตุสมผล พร้อม metadata ครบถ้วน และระบบค้นหาแบบมืออาชีพ
ผลลัพธ์คือ ปัจจุบัน Naxos Music Library มีผู้ใช้งานในกว่า 3,000 สถาบันในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก (Naxos.com, April 2025) และคลังแทร็กของระบบเพิ่งทะลุ 3 ล้านแทร็กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา
ขณะที่ค่ายอื่นมัวแต่ต่อสู้เรื่องลิขสิทธิ์ออนไลน์ ไฮย์มันน์ มองเกมขาด และเริ่มสร้าง ‘แพลตฟอร์มของตัวเอง’ โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง อย่าง Apple หรือ Amazon
วิสัยทัศน์ของเขาไม่ได้หยุดแค่ระบบฟังเพลง แต่ยังรวมถึง บริการจัดจำหน่ายระดับโลก ซึ่งช่วยให้เขาขยายอาณาจักรโดยไม่ต้องสร้าง ‘ค่ายในเครือ’ ใหม่เลย ตัวอย่างล่าสุด คือการเข้าซื้อกิจการของ ‘Chandos Records’ ในปี 2024 ซึ่งถือเป็นค่ายเพลงอินดี้คุณภาพสูงของอังกฤษ ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Grammy และ ICMA หลายครั้ง
ไฮย์มันน์ ยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงการบริหารหรือแนวทางของ Chandos แต่จะช่วยให้เข้าถึงผู้ฟังทั่วโลกผ่านระบบจัดจำหน่ายของ Naxos และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผลงานคุณภาพที่มักถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ฟังเฉพาะทางเท่านั้น
ไม่ใช่แค่สตรีมมิงเท่านั้นที่เขาเข้าใจ เขายังรู้ว่า ‘แพ็กเกจ’ คือคำตอบของโลกยุคใหม่ในช่วงปลายปี 2024 เขาเปิดตัวแคมเปญ ‘Klaus Heymann Recommends’ โดยคัดเลือกอัลบั้มจากแคตตาล็อกของ Naxos ที่เขาเห็นว่าสมควรถูกค้นพบใหม่ อาทิ บทเพลงของ Charles Ives, Gabriel Fauré และ Ferrucio Busoni และมอบตราแนะนำของเขาเองบนหน้าปก
นี่ไม่ใช่แค่ความพยายามสร้างอำนาจเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังเป็นการยืนยันว่า ไฮย์มันน์ ไม่เพียงแต่ก่อตั้งค่ายเพลง เขายังคงเป็น ‘บรรณาธิการใหญ่’ ของโลกดนตรีคลาสสิกยุคดิจิทัลด้วยมือของเขาเอง
โลกที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธเสียงของเขา เริ่มหันมารับฟัง และอาจต้องยอมรับว่า คนที่ไม่ยอมเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘อุดมการณ์ดนตรีคลาสสิก’ กลับเป็นคนที่พามันรอดพ้นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดของยุคสมัย
เคลาส์ ไฮย์มันน์ ไม่เคยพูดว่าตัวเองหลงใหลดนตรีคลาสสิก เขาไม่เคยร้องไห้เพราะฟัง Mahler ไม่เคยพูดว่าบทเพลงของ Schubert เปลี่ยนชีวิตเขา เขาเพียงแค่ชอบฟังเพลง และยิ่งกว่านั้น เขาชอบ ‘บริหารจัดการระบบ’ ที่ทำให้เสียงเหล่านั้นไปถึงผู้คนได้มากที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด
เขาไม่เคยสร้าง ‘ตำนาน’ ไม่สร้าง ‘เทพเจ้าแห่งเวที’ ไม่เชิดชู ‘นักดนตรีอัจฉริยะ’ เขาเพียงแต่สร้างระบบที่ทำให้เพลง 100,000 แทร็กออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเลย
Naxos ในปี 2025 คือเครือข่ายระดับโลก มีทั้งแคตตาล็อกบันทึกเสียง บริการสตรีมมิง ระบบจัดจำหน่ายระดับทวีป และอำนาจต่อรองกับตลาดมากกว่าค่ายเพลงคลาสสิกใด ๆ ในโลก ในขณะที่ชื่อของค่ายใหญ่ อย่าง Teldec หรือ Philips Classics ได้ยุติการดำเนินงานหรือถูกควบรวมกับค่ายอื่น
แต่ก็เป็นไปได้ว่า ในความสำเร็จนั้นเอง ได้ฝังกลบบางสิ่งไว้เงียบ ๆ ความเชื่อในดนตรีในฐานะ ‘งานศิลป์’ ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างศิลปินกับบทเพลง และภาพของห้องอัดเสียงที่เงียบงันและศักดิ์สิทธิ์ ที่ศิลปินทุ่มเทแรงใจให้กับเสียงโน้ตแต่ละตัวราวกับเป็นคำอธิษฐาน
ไฮย์มันน์ ไม่ทำลายสิ่งเหล่านี้โดยตรง เขาเพียงแค่ไม่จำเป็นต้องเชื่อในมัน และนั่นอาจเป็นคำถามสุดท้ายที่เราต้องเผชิญ
ในโลกที่ศิลปะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เรายังมีสิทธิจะฝันถึงความบริสุทธิ์ทางศิลปะอยู่หรือไม่?
บางทีคำตอบอาจอยู่ที่เครื่องเล่นซีดีเครื่องหนึ่งกำลังเล่นแผ่นบันทึกเสียงไวโอลินของนักดนตรีนิรนามจากวงในสโลวาเกีย ที่ไม่มีใครจำชื่อได้ แต่เสียงของเขายังคงล่องลอยในห้องนั่งเล่นของใครบางคน ด้วยสนนราคาของซีดีที่ไม่เกินค่ากาแฟหนึ่งแก้ว
นั่นแหละอาจจะเป็นชัยชนะที่เงียบงันที่สุด ของ เคลาส์ ไฮย์มันน์
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images
ที่มา:
Lebrecht, Norman. The Life and Death of Classical Music: Featuring the 100 Best and 20 Worst Recordings Ever Made. Anchor Books, 2007.
“Naxos Founder Klaus Heymann Acquires Chandos Records.” The Violin Channel, 25 Oct. 2024, https://theviolinchannel.com/naxos-founder-klaus-heymann-acquires-chandos-records.
- “Klaus Heymann: On 25 Years of Naxos and Classical Music.” Deceptive Cadence – NPR Music, 2012, https://www.npr.org/sections/deceptivecadence/2012/09/27/161887367/klaus-heymann-on-25-years-of-naxos?utm_source=chatgpt.com
“New on Naxos – April 2025.” Naxos.com, Apr. 2025, https://www.naxos.com/FeaturePages/Details/?id=New_on_Naxos_April_2025
Ng, David. “Klaus Heymann, Classical Music Label Founder, on Stealing from a U.S. Army Base, Arguments in Hong Kong, and Always Being Ahead of the Curve.” South China Morning Post, 2 Mar. 2023, https://www.scmp.com/lifestyle/arts-culture/article/3212024/classical-music-label-founder-stealing-us-army-base-arguments-hong-kong-and-always-being-ahead-curve