ฐปณีย์ เอียดศรีไชย “สื่อและการปรับตัวเพื่อ disrupt”

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย “สื่อและการปรับตัวเพื่อ disrupt”

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย “สื่อและการปรับตัวเพื่อ disrupt”

แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย คือนักข่าวที่คลุกคลีกับการทำข่าวในประเด็นการเมืองและสังคมมาร่วม 20 ปี สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากแพลตฟอร์มวิทยุและโทรทัศน์ และเมื่อเทคโนโลยีออนไลน์รุกคืบ ฐปณีย์ที่นอกจากปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 (33 HD) ก็ยังก่อตั้งเพจ The Reporters รายงานข่าวความเคลื่อนไหวทุกเหตุการณ์อย่างรวดเร็วฉับไว ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของ The People เราได้ชวนฐปณีย์มาถ่ายทอดมุมมอง “สื่อและการปรับตัวเพื่อ disrupt” ก่อนที่เธอจะลงพื้นที่ไปทำข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบที่ จ.ยะลา ในช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันเดียวกับที่เธอขึ้นเวทีทอล์กนั่นเอง   “จริง ๆ วันนี้ (6 พฤศจิกายน) ณ เวลานี้ (14.45 น.) ควรไปอยู่ที่ จ.ยะลา เพราะเกิดเหตุที่น่าเศร้าใจเหตุการณ์หนึ่ง ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีการใช้อาวุธปืนสงครามกระหน่ำยิงใส่ป้อมของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน ซึ่งนี่คือเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์หนึ่งที่นักข่าวต้องรายการข่าวเรื่องนี้ “ถ้าถามว่าทุกวันนี้ ทุกท่านทราบข่าวจากที่ไหน ณ ปัจจุบัน ใครทราบข่าวจากทีวีบ้าง ยกมือได้ไหมคะ เมื่อเช้า มีใครทราบข่าวจากเฟซบุ๊กบ้างคะ (ยกมือเกือบทั้งห้อง) แน่นอนค่ะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ช่องทางที่เราจะได้เห็นก็อาจจะเป็นเฟซบุ๊ก นั่นแสดงว่าคนที่เสพข่าวหรือดูข่าวปัจจุบันมักจะเห็นข่าวครั้งแรกจากโซเชียลมีเดีย นั่นคือเราหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูจากเพจข่าวที่เราสนใจ หรือหน้าฟีดใดก็ตามที่ขึ้นข่าวนี้เป็นที่แรก ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเมื่อก่อนที่เราจะดูข่าวทางทีวีเป็นหลัก ซึ่งทีวีก็มีช่วงเวลาของการรายงานข่าว ไม่ได้มีข่าวให้ดูทุกช่วงที่เราต้องการ “อย่างที่ทุกท่านทราบนะคะ ดิฉันเองเป็นนักข่าว แล้วทุกท่านก็จะรู้จักกับคำว่า ‘คุณกิตติคะ’ เพราะในยุคที่ทีวีเป็นสื่อที่มีคนดูมากมาย ที่เราเรียกกันว่าสื่อหลัก คนก็จะคุ้นเคยกับการดูรายการข่าวทีวี คำว่า ‘คุณกิตติคะ’ นั้นก็มาจากการที่เราออกทีวีให้คนดูได้เห็นทุก ๆ วัน มันก็กลายเป็นภาพจำ แต่ถามว่าสำหรับคนที่เป็นนักข่าว จะมีคนดูสักกี่คนหรือว่าจดจำนักข่าวคนหนึ่งได้ ในยุคหนึ่ง รายการทีวีอาจมีคนติดตามเยอะ แต่พอเวลาผ่านไปก็อาจมีคนติดตามน้อยลง ซึ่งก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือที่มาที่ไปของคำว่าสื่อทีวีก็เจอสภาพการ disrupt จากที่มีช่องหลัก ๆ ก็มีทีวีดิจิทัลที่มีหลายช่อง “การมีสื่อทีวีดิจิทัลขึ้นมาหลายช่อง ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงและความล่มสลายเร็วกว่าที่ทุกคนคิดไว้ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โอ้โห...คนทำทีวีคือดีใจมาก มีช่องเพิ่มขึ้น มีรายการเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึง 5 ปี ทีวีดิจิทัลหลายช่องก็ต้องปิดตัวลงอย่างที่เราเห็น แล้วก็เกิดสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับคนทำทีวี นั่นคือเพื่อนที่ทำงานทีวีกว่าพันคนที่จะต้องออกจากงานไปโดยไม่รู้ตัว นั่นคือผลกระทบจากทีวีดิจิทัลที่มันอาจจะมากเกินไป แล้วก็เกิดขึ้นในยุคที่มีโซเชียลมีเดียขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับคนที่ดูข่าวหรือว่าเสพข่าวด้วย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย “สื่อและการปรับตัวเพื่อ disrupt” “สิ่งที่ดิฉันกำลังจะบอกทุกคนคือ แม้ว่าตัวของสื่อจะมีจำนวนมากขึ้นและมีคอนเทนต์มากขึ้น แต่ถามว่าใครล่ะที่จะอยู่รอด ก็คือคนที่สามารถจะทำคอนเทนต์ที่เป็นที่ถูกใจและเป็นที่สนใจของคนติดตามและคนดูข่าว คือเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรทุกอย่างให้มันเหมือนกัน ถึงตอนนี้คนอาจจะดูข่าวทีวีน้อยลง แต่รายการข่าวทีวีก็มีการปรับตัว ถ้าสนใจข่าวที่เป็นทอล์กฉาดฉานก็อาจจะเลือกดูรายการนี้ ถ้าชอบข่าวแบบนั้นก็เลือกดูรายการนั้น แต่ถ้าคุณยังชอบข่าวแบบรายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ กลางคืนคุณก็ดูข่าว 3 มิติ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกแบบไหน “ดิฉันเป็นนักข่าวมา 19 ปีแล้ว เกิดมาจากการเป็นนักข่าววิทยุ แล้วก็เกิดมาในยุคที่เรายังใช้โทรศัพท์แบบหยอดเหรียญในการรายงานข่าว มาเป็นนักข่าวที่ไอทีวีก็มาในยุคที่เรียกว่าอะนาล็อก แต่ก็เป็นยุคที่โอ้โห...มีดาวเทียม สามารถรายงานข่าวในที่ต่าง ๆ ได้ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น ‘ข่าว 3 มิติ’ ช่อง 3 มาทำทีวีที่อยู่ในยุคเฟื่องฟูมาก แล้วก็เมื่อ 5 ปีก่อนที่เกิดเหตุข่าวต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ทำให้คนทีวีต้องปรับตัว เพราะว่ามีทั้งข่าวจากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม ทำให้เราทำทีวีอาจจะช้ากว่า คนไม่มารอดูทีวีเราตอนกลางคืนแล้ว คนไปดูไลฟ์เฟซบุ๊กแทน “เพราะฉะนั้นก็เลยเปลี่ยนตัวเอง เราก็มีเพจส่วนตัว มีทวิตเตอร์ มีช่องทางในโซเชียลมีเดียให้เราได้รายงานข่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ผ่านทวิตเตอร์ แล้วเราก็มาตั้งคำถามกับตัวเราเองว่าในวันหนึ่งมีเหตุการณ์ เราไปทำข่าวทั้งวัน แต่เราต้องรอออกรายการข่าวตอนกลางคืนอย่างเดียว เรารู้สึกเสียดายของ ขณะเดียวกันเราเห็นเพจออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมาย ทุกคนสามารถมีเสรีภาพที่จะทำงาน ทำข่าวต่าง ๆ ได้ทุกรูปแบบ เพราะว่าในโครงสร้างของทีวี บางครั้งเราไม่สามารถรายงานข่าวในสไตล์ของเราได้ เช่น ข่าวการเมืองที่มีส่งผลกระทบ หรือการทำข่าวเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่สามารถที่จะออกทีวีได้ทั้งหมด “นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมเราอิจฉาคนทำสื่อออนไลน์ เพจที่เกิดใหม่ เช่น The People, The Standard, Way, The Cloud ต่าง ๆ เราเห็นแล้วเรารู้สึกอิจฉาพวกเขาที่เขาสามารถทำงานได้ดั่งใจเรา ในขณะที่บางทีเรายังทำไม่ได้ ก็เลยกลับมาตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรในฐานะคนข่าวที่ยังมีลมหายใจ มีจิตวิญญาณ มีอุดมการณ์ เราจะทำข่าวในแบบของเราได้ ก็เลยมาตั้งเพจ The Reporters นั่นเอง เพื่อจะตอบสนองความเป็นนักข่าวของเราที่สามารถทำข่าวได้อย่างหลากหลายในแบบที่เราชอบ และเพื่อที่จะตอบสนองให้คนดูได้ติดตามข่าวของเราได้ทุกรูปแบบนั่นเอง”   *ทอล์กนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานครบรอบ 1 ปี The People: Do You Hear THE PEOPLE Talk? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องคริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท