14 พ.ค. 2567 | 17:25 น.
“คุณพ่อตายไปแล้ว พ่อตาผมก็ตายไปแล้ว ถ้าผมตายไป เรื่องทุกอย่างก็จบไปด้วยหรือไม่ ไม่รู้ จะดีไม่ดีก็ช่าง ผมไม่รู้ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้อะไรแล้ว”
‘พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร’ ให้สัมภาษณ์ประโยคข้างต้นนี้ ผ่านสารคดี ‘หากไม่มีวันนั้น… 14 ตุลา 2516’ ในวาระ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเดือนตุลาคม 2556
พ.อ.ณรงค์ เป็นทั้งทายาททางสายเลือด และทายาทางการเมืองของ ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ขณะเดียวกัน พ.อ.ณรงค์ ยังเป็นลูกเขยของ ‘จอมพล ประภาส จารุเสถียร’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ โดย พล.อ.ณรงค์ สมรสกับบุตรสาวคนที่ 3 ของจอมพล ประภาส นั่นก็คือ ‘สุภาพร กิตติขจร’
ชื่อของบุคคลทั้งสาม ถูกร้อยเรียงกันอย่างยากที่จะแยกขาด ‘ถนอม – ประภาส – ณรงค์’ ในยามที่มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ ‘14 ตุลา’ หรือ ‘วันมหาวิปโยค’
พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 2476 จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จปร.รุ่นที่ 5 และโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโรงเรียนนายร้อยยอดนิยมของบรรดาเชื้อพระวงศ์ และผู้ทรงอำนาจจากประเทศต่าง ๆ
ภายหลังการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม หรือฉายาก่อนหน้านั้นคือ ‘นายกฯ คนซื่อ’ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงและราชบัลลังก์ บทบาทของ พ.อ.ณรงค์ ซึ่งเป็นลูกคนที่สอง ก็โดดเด่นขึ้น
เมื่อการรัฐประหารเสร็จสิ้นลง พ.อ.ณรงค์ ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิวัติราชการ (ก.ต.ป.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปราบทุจริต ควบด้วยตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 พัน.2 รอ.)
ในเวลานั้น มีการคาดการณ์ว่า พ.อ.ณรงค์ จะก้าวขึ้นมาเป็น ‘ทายาททางการเมือง’ ของบิดาและพ่อตา ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาพการ ‘สืบทอดอำนาจ’ ที่อาจทำให้คนบางกลุ่มไม่มีโอกาสเติบโต ท่ามกลางข่าวการแสดงอิทธิพลที่มี พ.อ.ณรงค์ ตกเป็นศูนย์กลาง
จวบจนเหตุการณ์สำคัญอย่าง 14 ตุลา พ.อ.ณรงค์ ได้กลายเป็นหนึ่งในสามบุคคลฝั่งรัฐบาลที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด และท้ายที่สุดทั้งพ.อ.ณรงค์ รวมถึงบิดาและพ่อตา ก็จำต้องเดินทางออกจากประเทศ
อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังเกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ การเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญและคืนอำนาจให้ประชาชน รัฐบาลจอมพล ถนอม ตอบโต้ด้วยการจับกุมประชาชน จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องของบรรดานักศึกษา แล้วจึงขยายเป็นการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอยด้วยการให้สัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ
แต่แทนที่เหตุการณ์จะจบลงด้วยดี กลับเกิดความรุนแรงขึ้นในวันต่อมา การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 857 ราย
พ.อ.ณรงค์ เล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านสารคดี หากไม่มีวันนั้น… 14 ตุลา 2516 ไว้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ ‘ขบวนการนักศึกษา’ ที่เจ้าตัวเผยว่า ได้ห้ามทางพ่อตาแล้วว่าอย่าไปจับ แต่ก็ไม่สำเร็จ ทั้งยังยืนยันด้วยว่า ตัวเขาไม่เคยมองเด็กพวกนี้เป็น ‘ศัตรู’ เลย ติดจะสงสารด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าเด็ก ๆ ถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือ’
ในขณะที่อีกด้าน เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งปราบปรามผู้ชุมนุม ทั้งที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
พ.อ.ณรงค์ เชื่อว่าเบื้องหลังความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา คือความพยายามที่จะ ‘โค่นอำนาจ’ ของ ถนอม – ประภาส – ณรงค์ โดย ‘คนคนหนึ่ง’ ที่พลาดหวังจากตำแหน่งสำคัญ
พ.อ.ณรงค์ มองว่า ความพลิกผันที่เกิดจากการออกคำสั่งซ้อน ทำให้สถานการณ์ลุกลามเป็น ‘มหาวิปโยค’ โดยในวันที่ 14 ตุลา หรือ 1 วันหลังจากที่บิดาลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ เขาถูกขอให้เดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศชั่วคราว
“แหม ชั่วคราว เล่นซะหลายปี เราก็แย่” พ.อ.ณรงค์ เล่าถึงความหลัง ที่ต้องระหกระเหินไปอยู่เยอรมนีนาน 5 ปี
หลังมีการประกาศแต่งตั้งให้ ‘สัญญา ธรรมศักดิ์’ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น นายกรัฐมนตรี ความรุนแรงยังดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2516 กระทั่งมีข่าวว่า ถนอม – ประภาส – ณรงค์ ออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงสงบลง
หลังจากนั้นทรัพย์สินมหาศาลของสองตระกูล ‘กิตติขจร’ และ ‘จารุเสถียร’ ถูกทางการยึดไป ไม่เว้นแม้แต่ ‘บ้านถกลสุข’ ที่ พ.อ.ณรงค์ ใช้เป็นที่พำนัก
“ทรัพย์สินที่ใช้อยู่เกือบไม่มีอะไรเป็นชื่อเรา เวลานี้ ผมเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยบ้านตัวเอง”
หลังจากเหตุการณ์สงบลง ทายาททั้งสองตระกูลต่างก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ ขณะที่ตระกูลกิตติขจรพยายามยื่นคำร้องให้ทางการพิจารณาคืนทรัพย์สินบางส่วนให้จอมพล ถนอม แต่ก็ไร้ความคืบหน้า
พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางกลับประเทศไทย และลงสมัคร ส.ส. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดพรรคชาติไทย ในปี 2526 ก่อนจะเข้าร่วมกับพรรคเสรีนิยม ที่มี ‘ปรีดา พัฒนถาบุตร’ เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาเมื่อพรรคมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร พ.อ.ณรงค์ จึงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน จากนั้นจึงลงสมัคร ส.ส. ในจังหวัดเดิม และได้รับเลือกตั้งมาอีก 2 สมัย ในปี 2529 และ 2531 นอกจากนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็น ‘สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ ปี 2534 ถึง 21 มีนาคม 2535
เมื่อวาระ 14 ตุลา ที่ประชาชนหวนรำลึกถึงชัยชนะในการโค่นล้มเผด็จการทหาร เวียนมาถึงคราใด พ.อ.ณรงค์ ทำได้เพียงปล่อยให้สังคมพิพากษา “ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร จะเห็นว่าผมเป็นเขียดเป็นกิ้งกือ เป็นหมาอะไรก็ได้ ผมก็อยู่ของผมอย่างนี้” พร้อมทั้งกล่าวในตอนท้ายการสัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า
“เมื่อผมตายเมื่อไรก็จบ คุณพ่อตายไปแล้ว พ่อตาผมก็ตายไปแล้ว ถ้าผมตายไป เรื่องทุกอย่างก็จบไปด้วยหรือไม่ ไม่รู้ จะดีไม่ดีก็ช่าง ผมไม่รู้ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้อะไรแล้ว”
พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ถึงแก่อนิจกรรมแล้วขณะมีอายุ 90 ปี ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลพระมงกุฏ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Nation Photo
อ้างอิง :
ปิดฉาก “พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” ลูกจอมพลถนอม เสียชีวิตในวัย 90 ปี
46 ปี 14 ต.ค.ส่องธุรกิจทายาท ‘กิตติขจร-จารุเสถียร’ ที่ยังหลงเหลือ?
“ณรงค์ กิตติขจร” ย้อนชีวิต เบื้องหลังอำนาจซ้อนอำนาจ 14 ตุลา มหาวิปโยค “เป็นพรหมลิขิต ฟ้าดินต้องการให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปฝืนชะตาอาจตายก็ได้”
ปิดฉากชีวิต "ณรงค์ กิตติขจร" บุตรชาย "จอมพลถนอม"
จาก 14 ตุลาฯ 16 ถึง 6 ตุลาฯ 19: การเบ่งบานและร่วงโรยของประชาธิปไตยไทย
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พิมพ์เขียว ‘ข้ออ้าง’ การยึดอำนาจในไทย
“แม่ช้อยนางรำ” กับเหตุ ฮ.ตกที่ทุ่งใหญ่ จุดเริ่มต้น 14 ตุลา