มหากาพย์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ The Long Walk Home เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าหนังชีวิต

มหากาพย์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ The Long Walk Home เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าหนังชีวิต

ชีวิตของชายชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เดินทางจากบ้านครั้งแรกเมื่ออายุ 17 เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหาร การเดินทางกลับบ้านครั้งประวัติศาสตร์ของทักษิณ คือปี 2566 ขณะอายุ 74 ปี ระหว่างทาง เขาผ่านเรื่องราวที่มหากาพย์ยิ่งกว่าหนังชีวิต

  • ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นออกจากเมื่ออายุ 17 เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหาร หลังจากนั้นก็เริ่มเส้นทางตำรวจ นักธุรกิจ และนักการเมือง
  • เส้นทางนักการเมืองของทักษิณ นำพาเขามาเผชิญมรสุมรัฐประหาร พร้อมกับคดีความต่าง ๆ จนต้องเดินทางจากบ้านไปกลายเป็นคนไกลบ้าน
  • การเดินทางกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองทั้งปี 2551 และ 2566 อีกทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ถูกคนจับตาว่า จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมและการเมืองไทย

‘ทักษิณ ชินวัตร’ เดินทางจากบ้านครั้งแรกเพื่อไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเตรียมทหาร การจากบ้านเกิดของเด็กหนุ่มวัย 17 ในครั้งนั้นถูกนิยามว่าเป็นการเดินทาง “ครั้งยาวนานที่สุด เพื่อจบชีวิตเด็กบ้านนอก เดินทางเข้ากรุงเพื่อเรียนต่อในเส้นทางที่ไม่ได้วาดหวังไว้ในตอนแรก”

การเดินทางของเด็กหนุ่มวัย 17 ถูกเล่าผ่านมุมมองของชายอายุ 50 ในตอนนั้น ทักษิณ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างสูง เพิ่งก่อตั้งพรรคไทยรักไทยหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับปี 2540) ชื่อเสียงและความทะเยอทะยานของเขาเป็นความหวังของสังคมไทย

ไม่มีใครรู้ว่า ความสำเร็จและหายนะกำลังรออยู่ข้างหน้า - ถึงรู้ เขาก็อาจจะเลือกเดินเข้าไปเช่นเดิม

หลายปีต่อมา ทักษิณต้องจากบ้านอีกครั้ง - แต่ครั้งนี้ เป็นการเดินทางจากบ้านยาวนานกว่าครั้งไหน

หากการเดินทางจากบ้านที่ ‘สันกำแพง’ ในวัย 17 คือการจบชีวิตเด็กบ้านนอกไปสู่ชีวิตนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จก่อนจะขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย การจากบ้านหลังถูกรัฐประหารปี 2549 ก็เป็นการจบชีวิตนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง ขณะเดียวกันก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ ‘ต้องสงสัย’ จากข้อกล่าวหามากมายและถูกขับไล่อย่างรุนแรงที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คำแถลงของคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประหนึ่งบทสรุปชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีและเหตุจำเป็นนอกกติกาว่า “สร้างความแตกแยกในสังคม มีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง การเอื้อประโยชน์ และแทรกแซงองค์กรอิสระ จนทำให้หน่วยงานเหล่านั้นทำงานไม่ได้” ตามมาด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง “มีการหมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง”

หลังจากนั้น เขาถูกกล่าวหาด้วยคดีทุจริตหลายคดี ยึดทรัพย์ และถอดยศ เหลือเพียง ดร. และนายกฯ นำหน้าชื่อทักษิณผู้เป็นที่รักของประชาชนฝ่ายสนับสนุนเขา

เมื่อมองอดีตจากจุดยืนของปัจจุบันไปยังบางฉากของ ทักษิณ ชินวัตร จะพบเรื่องราวของเด็กชายบ้านนอกแห่งอำเภอสันกำแพง ผู้กลายเป็นชายวัย 74 ผู้โหยหาบ้าน และยังคงเสาะหาหนทางที่จะนำพาเขาคืนกลับสู่ครอบครัว

การ ‘กลับบ้าน’ เป็นถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน การกลับบ้านเป็นอารมณ์ร่วมกันของคนทั้งโลก การกลับบ้านคือความเคลื่อนไหวที่ปรากฎในโลกปกรณัม ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง บทละคร วรรณกรรม ภาพยนตร์ บทเพลง และในชีวิตของผู้คน

การกลับบ้านจึงเป็นทั้งเรื่องส่วนตัวและเป็นผลรวมของความสัมพันธ์ทางสังคม การกลับบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2023 หยุดเวลาของการเป็นผู้พลัดถิ่นไว้ที่ 17 ปี ต่อจากนี้ ‘การเมือง’ จะย้อนกลับหรือเดินไปในทิศทางใด

“สำหรับผม” ทักษิณ ย้ำเรื่องสำคัญ “ชีวิตที่แท้จริงคือครอบครัว”

 

นักเรียนนายร้อย

อายุ 15 ปี ทักษิณช่วยธุรกิจร้านกาแฟ สวนส้ม โรงภาพยนตร์ศรีวิศาล รวมถึงกิจการรถเมล์ ก่อนที่จะหยุดงานทั้งหมดของครอบครัวในวัย 17 เพื่อเดินทางจากเชียงใหม่ไปเรียน ‘เตรียมทหาร’

ทักษิณบอกว่า นี่คือ ‘เส้นทางที่ไม่ได้วาดหวังไว้ในตอนแรก’ เพราะเขารักวิชาคณิตศาสตร์ เทคโนโลยีเรียกร้องความสนใจจากเขาได้มากกว่าสิ่งใด เด็กชายมองเห็นอนาคตของตนในชั้นเรียนคณะวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่หลังเรียนจบ ม.ศ.3 เมื่อปี 1965 ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นโรงเรียนชายล้วน เด็กหนุ่มใช้เวลาช่วงฤดูร้อนสมัครเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมที่ Assumption Commerce แต่ห้องเรียนทำให้เด็กชายบ้านนอกอึดอัด

“ไม่อยากเรียนแล้ว ไม่คุ้น ไม่ชอบด้วย ผู้หญิงฉอเลาะอาจารย์เหลือเกิน กูทำไม่เป็น” เขาบ่นกับเพื่อนผู้มาจากเชียงใหม่ด้วยกัน เพื่อนจึงแนะนำให้สอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันการศึกษาซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตบุคลากรเข้าสู่การเมืองไทย

หากความไม่เท่าเทียมระหว่างชนบทกับเมืองในบ้านเกิดสอนให้รู้จักความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ช่วงเวลาในโรงเรียนเตรียมทหารก็แนะนำให้รู้จักกับความเท่าเทียม แต่ที่จริงแล้วก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ในการสร้างวินัยในสังคมลำดับชั้น

เพราะไม่ว่าจะมาจากไหน เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ยากจนหรือร่ำรวย เมื่อเข้ามาเรียนเตรียมทหาร ทุกคนจะถูกปรับให้เท่าเทียมกันด้วยกฎระเบียบเคร่งครัด ทุกคนต้องเคารพผู้บังคับบัญชา เชื่อผู้อาวุโสกว่าโดยไม่มีข้อยกเว้น

เขาเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 หลายปีต่อมาเมื่อเขาต้อง ‘ไกลบ้าน’ ในฐานะผู้ลี้ภัยใช้ชีวิตในคฤหาสน์ที่เมืองดูไบ เขาตอบคำถามที่ถามถึง ‘คนการเมือง’ ที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร ทักษิณ เลือกเอ่ยชื่อของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ความจริงโรงเรียนเขาสอนให้เรารักกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน” ทักษิณในวัย 73 กล่าวถึงสถาบันที่เขาภาคภูมิใจ “แต่พอมีเรื่องการเมืองเข้ามา ก็แทงกันฉุบฉับๆ มันควรจะสร้างสรรค์มากกว่านี้ ความจริงมันควรจะมีความเป็นสุภาพบุรุษ ความจริงแล้วโรงเรียนเขาสอนให้เราเป็นสุภาพบุรุษ”

แต่ตอนนั้น เมื่อถึงเวลาต้องเลือกเหล่าเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อย เด็กหนุ่มผิวขาวหน้ารูปเหลี่ยมแห่งเชียงใหม่เลือกโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาเรียนกฎหมาย จิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา การสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปราม การพิสูจน์หลักฐานด้วยวิทยาศาสตร์ ต้องเรียนแม้กระทั่งการถ่ายรูป ล้างฟิล์ม อัดภาพ

ทักษิณ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าตอนและประธานค่ายปฏิคม ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเพื่อนนักเรียนกับอาจารย์ผู้สอนและครูผู้ฝึก

“จะว่าไปแล้ว หน้าที่หลักของหัวหน้าตอนอย่างผมคือวิ่งช่วยเพื่อนกับครู และคอยประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายมากกว่า เพราะผมไม่ใช่หัวหน้าช่างฟ้อง แล้วก็ไม่ใช่คนเอาใจเพื่อนไปเสียหมด” เป็นมุมมองที่เขามองตัวเอง

ปี 1973 (พ.ศ. 2516) เขาได้ประดับยศเป็นว่าที่ร้อยตรี เป็นนายร้อยห้อยกระบี่เรียนจบด้วยคะแนนอันดับหนึ่งของรุ่น 26 พร้อมได้รับทุนจาก ก.พ.ไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Criminal Justice ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์น เคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม จนเกิดการสลายการชุมนุม แต่รัฐบาลทหารไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้

 

เรียลโพลิติค กับอุดมคติของคนหนุ่ม

หลังการเลือกตั้งในปี 1975 (พ.ศ. 2518) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลผสม การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรคจึงเป็นไปด้วยกลเม็ดเด็ดพราย ร้อยตำรวจตรีทักษิณในตอนนั้นถูกเรียกตัวไปเป็นนายตำรวจติดตาม ปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น

“ท่านใช้งานผมมากที่สุด และถ่ายทอดวิทยายุทธ์ทางการเมืองต่าง ๆ ให้ชนิดหมดเปลือก ตั้งแต่การประสานนักการเมือง การเจรจาใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้ผูกใจกับเรา ทำให้ผมรู้จักนักการเมืองหลายท่าน” แต่ประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับร้อยตำรวจตรีหนุ่มในตอนนั้นคือการได้ดำเนินงานการเมืองแบบพิเศษ

“สำหรับควบคุม สส.ไม่ให้แตกแถว ให้กฎหมายสำคัญผ่านสภาได้สะดวก หรือควบคุมสภาให้สงบเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ผมได้เข้าไปรับรู้โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นการเมืองที่ไม่สะอาดนัก ทำให้ผมไม่ค่อยสบายใจมาจนถึงทุกวันนี้” ทักษิณ เล่า

ตำรวจหนุ่มวัย 25 ต้องกลั่นกรองจดหมายร้องทุกข์ต่างๆ ที่เข้าทำเนียบไม่ขาดสาย จดหมายเหล่านี้มาจากความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน ชาวนาชาวไร่ กลุ่มรถร่วม บ.ข.ส. กลุ่มกรรมกร กลุ่มต่อต้านฐานทัพอเมริกา นี่คือความทุกข์ยากแห่งยุคสมัยที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทักษิณในวัยเบญจเพสได้สบตาความทุกข์ยากนั้น

“ผมเริ่มเชื่อมโยงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านรอบข้างตอนเป็นเด็กบ้านนอก ความยากจนข้นแค้นของลูกหนี้เงินผ่อน จักรเย็บผ้าตามท้องทุ่งซึ่งเคยเดินไปเก็บสตางค์ให้พ่อ กับอีกหลายชีวิตอันอัตคัด ประกอบขึ้นเป็นภาพคล้ายจิ๊กซอว์ของสังคมไทยที่แสนจะบูดเบี้ยวไม่เท่าเทียมกัน” เขากล่าวเมื่อครั้งริเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

ปี 1976 (พ.ศ. 2519) นายตำรวจหนุ่มตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอกด้านอาชญาวิทยาที่อเมริกาพร้อมกับภรรยาที่เขาพบรักเมื่อปี 1970 ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1973 ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อและใช้ชีวิตร่วมกันในสหรัฐอเมริกา

ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต ทักษิณได้ศึกษาแนวคิดของ จอห์น ล็อก, โทมัส ฮอพ, วอลแตร์, มองเตสกิเออร์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ “เป็นความสร้างสรรค์ที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผม ซึ่งเป็นโลกทัศน์ที่เปลี่ยนอนาคตของคนเรียนวิชาการเป็นตำรวจอย่างผม ให้เลิกอาชีพตำรวจแล้วผันไปสู่เส้นทางอื่นโดยเฉพาะเส้นทางการเมือง”

แต่การเดินทางไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้นทำให้เขาไม่ได้อยู่รู้เห็นเหตุการณ์การล้อมสังหารประชาชนครั้งที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“เป็นความบังเอิญอย่างประหลาดที่ช่วงเวลามาเรียนต่อต่างประเทศของผมสองครั้งตรงกับสองเหตุการณ์สำคัญ คราวแรกตรงกับ 14 ตุลาคม 2516 หนสองตรงกับ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นเหตุให้ผมพลาดการรับรู้สองสถานการณ์ด้วยตนเอง แต่ได้โทรศัพท์สอบถามข่าวคราวแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกับเพื่อนในเมืองไทย”

หลายปีต่อมา ระหว่างพลัดถิ่นอยู่ต่างแดน ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนกลางเมืองหลวง ประชาชนเหล่านี้มองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้รวมถึงพรรคการเมืองที่ถูกทำให้อยู่บนสายพานของกระบวนตุลาการภิวัตน์

เป็นอีกครั้งที่เขาพลาดการรับรู้สถานการณ์ในเดือนเมษา-พฤษภาคม 2010 (พ.ศ. 2553) ด้วยตนเอง แต่เขาเฝ้ามองจากระยะไกลและใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ‘โฟนอิน’ จากแดนไกล เข้าร่วมปราศรัยกับผู้คนในที่ชุมนุมราวกับได้ปรากฎตัวในพื้นที่และเวลาเดียวกับผู้สนับสนุน

เหมือนไกล แต่ใกล้ ขณะเดียวกันก็เหมือนจะใกล้ แต่แสนไกล

 

ไม่รบในสงครามที่ต้องแพ้

หลังเรียนจบปริญญาเอกเมื่อปี 1979 (พ.ศ. 2522) ดร.ทักษิณ กลับมารับราชการในกรมตำรวจ แต่ไม่นานนายตำรวจหนุ่มเริ่มมองหาทางเลือกอื่น เพราะเริ่มเหนื่อยหน่ายต่อระบบที่แข็งตายตัว อืดอาด และเสียเวลามากเกินไป

“ไม่เหมาะกับผม ซึ่งคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และนิยมการทำงานแบบยืดหยุ่น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และที่สำคัญ ผมเบื่อการเมืองในระบบราชการ” ทักษิณระบุ

ทักษิณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่างระหว่างรับราชการตำรวจ เขาเริ่มจากค้าขายผ้าไหมในนาม ‘พ.ชินวัตร’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา ซื้อหนังจากไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เดินสายฉายในเขตภาคเหนือ เริ่มจาก ‘บ้านทรายทอง’ เวอร์ชันที่จารุณี สุขสวัสดิ์ แสดงคู่ พอเจตน์ แก่นเพชร

“แต่อะไรก็คงไม่สำคัญเท่าความต้องโฉลกกัน เพราะนางเอกชื่อพจมาน ชื่อเดียวกับภรรยาตัวเอง” เขาระบุถึงความพ้องพานระหว่างธุรกิจกับชีวิตราวบุพเพสันนิวาส

หลังจากนั้น เขาทำกิจการโรงภาพยนตร์, ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ล้มเหลว ตั้งต้นสร้างธุรกิจใหม่เพื่อชำระหนี้จากธุรกิจเก่า นี่คือรูปแบบการทำธุรกิจของทักษิน จนสามารถผลักดัน ‘ชินวัตร’ จนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ผมจะไม่ fighting a losing war”

เขาเผยวิธีคิดการทำธุรกิจ “ก่อนปิดร้าน พ.ชินวัตร ผมจะเคลื่อนไปหาการค้าซึ่งใหญ่กว่าที่พอจะนำเงินมาใช้หนี้เก่าได้ คือธุรกิจฉายหนัง เมื่อธุรกิจฉายหนังซบลง ผมก็เริ่มทำคอนโดมิเนียมทันที แล้วหลังจากคอนโดมิเนียมส่อเค้าล้มเหลว ผมก็สร้างบริษัทด้านคอมพิวเตอร์รองรับไว้ก่อน”

ต่อมา ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ ก่อนจะเปลี่ยน บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด เมื่อเดือนมิถุนายน 1983 (พ.ศ. 2526) เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมแก่หน่วยงานของรัฐ ก่อนที่จะล้มเหลวอีกครั้งหลังจากการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 1984 (พ.ศ. 2527)

และเช่นเดียวกับทุกรอยต่อของธุรกิจใหม่ที่เริ่มต้นกับธุรกิจเก่าที่กำลังจะล้มเหลว เขาไม่รอล้ม เดินหน้าสร้างธุรกิจใหม่ทันทีแม้ว่าความล้มเหลวครั้งล่าสุดจะทำให้มูลค่าหนี้สินสะสมอยู่ที่ 200 ล้านบาทก็ตาม

 

โกรธ แต่ไม่แค้น

ปี 1986 บริษัทต่างชาติชื่อ แปซิฟิก เทเลซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ของสหรัฐ ผู้ดำเนินการระบบโทรศัพท์ 12 ล้านเลขหมายในแคลิฟอร์เนียและเนวาดา เข้ามาร่วมทุนกับชินวัตร คอมพิวเตอร์ ก่อตั้งเป็นบริษัท แปซิฟิค เทเลซิส เอนจิเนียริ่ง จำกัด โดยมีบริษัท แปซิฟิค ประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นอันดับสองคือ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์

ทันทีที่การร่วมทุนแล้วเสร็จ บริษัทชนะการประมูลการให้บริการวิทยุติดตามตัว หรือ เพจเจอร์ จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. (ในยุคนั้น)  ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี เพื่อเปิดให้บริการ ‘แพ็คลิงก์’ ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล

1 ปีต่อมา ทักษิณลาออกจากราชการตำรวจ เดินหน้าบนเส้นทางธุรกิจเต็มตัว

“ไม่นานหลังความสำเร็จ ความขัดแย้งระหว่างผมกับแปซิฟิคฯ ก็เริ่มก่อเค้า” เขาขายหุ้นในบริษัทแปซิฟิคฯทิ้งจนหมด และเซ็นสัญญาเอาไว้ว่าจะไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับ ‘แพ็คลิงก์’ เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ทักษิณเริ่มธุรกิจ Bus Sound ให้บริการวิทยุบนรถเมล์ ขสมก. ลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท แต่ก็ล้มเหลวจนหันมาทำบริษัทเซฟตี้ ออร์เดอร์ ซิสเต็ม เอส.โอ.เอส. เครื่องส่งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือไปที่ Call Center แต่ก็ลงเอยเช่นเดียวกับทุกธุรกิจที่ล้มเหลวมาก่อนหน้า

ปี 1990 (พ.ศ. 2533) องค์การโทรศัพท์ฯจัดประกวดราคาประมูลสัมปทานโทรศัพท์ไร้สาย สัมปทานนี้เป็นที่สนใจของบริษัทการสื่อสารขนาดใหญ่หลายแห่งในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นอีริคสัน ฮัทชิสัน และรวมถึง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส ด้วย

“ผมมีทางเลือกเดียวคือดับเครื่องชน” เขาเสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงถึง 13,000 ล้านบาท มากพอจะทำให้ชนะการประมูลได้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์ไร้สาย หรือเซลลูลาร์ 900

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทักษิณได้ยื่นซองสัมปทานในธุรกิจเพจเจอร์ที่เคยทำร่วมกับบริษัทแปซิฟิคฯ ในนาม ‘แพ็คลิงก์’ เมื่อพ้นวาระสัญญา 3 ปี เขาจึงกลับมาในตลาดนี้อีกครั้งด้วยการสร้าง ‘โฟนลิงก์’

เพจเจอร์ที่ชื่อ ‘โฟนลิงค์’ เปิดบริการในเดือนมิถุนายน ปี 1990 กลายเป็นคู่แข่งแพ็คลิงก์ทันที แม้โฟนลิงก์จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ได้เปรียบแพ็คลิงก์หลายด้าน เพราะมีเขตให้บริการครอบคลุมไปยังต่างจังหวัด การติดต่อเข้าศูนย์ใช้หมายเลข 3 ตัว คือ 151 และ 152 ขณะที่คู่แข่งต้องใช้หมายเลข 7 ตัวเหมือนหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว

ความสำเร็จของโฟนลิงก์ทำให้สื่อมวลชนวิเคราะห์ย้อนกลับไปยังอดีตความขัดแย้งทางธุรกิจของทักษิณกับแพ็คลิงก์

“จริงอยู่ที่ผมเป็นคนโกรธแล้วจำ” ทักษิณบอกในเวลาต่อมา และย้ำว่าต้องแยกให้ออกระหว่างความโกรธกับความแค้น “สำหรับการทำธุรกิจหรือแม้กระทั่งเรื่องการเมืองเช่นกัน เราโกรธได้ตามประสาปุถุชน แต่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งคือ อย่าแค้น”

สำหรับนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ความแค้นจะชักนำไปสู่ความไขว้เขว สำหรับนักการเมืองผู้ได้รับความนิยมและถูกโจมตีอย่างหนัก ความโกรธต้องจดจำ เพราะการจดจำจะทำให้ไม่ตัดสินใจผิดซ้ำ

หลายปีต่อมา เมื่อต้องกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่น เขายังคงรักษาหลักการนี้ไว้ไม่ไขว้เขว แม้ว่าเบื้องหลังของการทำรัฐประหารปี 2549 จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะผ่าน ‘วิกิลีกส์’ (WikiLeaks)

“จงลืมอดีตเสียดีกว่า ถึงเวลาที่ต้องปรองดอง” ทักษิณในวัย 61 กล่าว

 

ยังไม่ถึงเวลาดื่มกาแฟของกัปตัน

โครงการโฟนลิงก์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงเวลาที่ดีของธุรกิจชินวัตรรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย ในช่วงไล่เลี่ยกันนั้นเขาทำธุรกิจเคเบิลทีวี ไอบีซี และเซลลูลาร์ 900 และก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำ ‘เครือชินวัตร’ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพร้อมกับการบริหารงานแบบมืออาชีพ

“นี่เป็นที่มาอันแท้จริงของทรัพย์สินของผมกับครอบครัว” ทักษิณบอก “ผมขายหุ้นของตัวเองแล้วนำมาปลดเปลื้องหนี้สินทั้งหมด”

โครงการดาวเทียมไทยคมถูกปล่อยขึ้นในห้วงความคิดของดร.ทักษิณ ก่อนที่จะเข้าร่วมประมูลสัมปทานกับภาครัฐ แต่เมื่อเอ่ยปรึกษากับภรรยาผู้ที่เขายกย่องเธอมาทั้งชีวิต เธอคัดค้าน

“น้องอ้อต้องเข้าใจ” เขาหว่านล้อมด้วยอุปมาอุปไมยเปี่ยมเสน่ห์ “เหมือนเราขับเครื่องบินขึ้นไป ถ้าเครื่องโผจากพื้นดินแล้วยังขึ้นไปไม่ถึงความสูงระดับ 30,000 ฟุต กัปตันก็ไปกินกาแฟไม่ได้ เพราะเครื่องบินยังบินไม่ได้ระดับ”        

ทักษิณ เคยกล่าวถึงคุณหญิงพจมานไว้ว่า “เป็นคนรักความเรียบง่าย สมถะ ชอบอะไรที่มั่นคงแน่นอน” ด้วยเหตุนี้ เธอจึงอยากให้คู่ชีวิตรับราชการ หรือเป็นเพียงมืออาชีพธรรมดาคนหนึ่ง มีเงินเดือนแค่พอกินพอใช้        

“เธอไม่ชอบให้ผมเสี่ยงทำธุรกิจ ไม่อยากให้เล่นการเมือง เพราะรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ไม่ปลอดภัย ความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอก็คือ มีครอบครัวเล็ก ๆ มั่นคงอบอุ่น มีเงินพอกินพอใช้เท่านั้น” ทักษิณบอก

ดาวเทียมไทยคมถูกยิงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1993 (พ.ศ. 2536) ณ เฟรนช์เกียนา อเมริกาใต้ แต่แทนที่กัปตันจะผละจากห้องนักบินเพื่อไปดื่มกาแฟ เขากลับเดินไปทวงสัญญาที่เคยขอไว้กับภรรยา - ทำงานการเมือง

ปีถัดมา ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ชินคอร์ปอเรชัน ด้วยการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในโควต้าของพรรคพลังธรรมที่ตอนนั้นมีหัวหน้าพรรคชื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ซึ่งในอีกหลายปีต่อมาจะออกมาเป็นแกนนำมวลชนโจมตีและขับไล่ในอีกไม่กี่ปีถัดมาเมื่อทักษิณขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง

แต่ตอนนั้น คำชวนของอดีตจปร.รุ่น 5 ผู้นี้ ได้กลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองของนักธุรกิจหนุ่มวัย 45 คำถามแรกที่เขาถามตนเองคือ “จุดเริ่มต้นบนถนนการเมือง ควรเป็นพรรคพลังธรรมหรือไม่”

ในตอนนั้น นักการเมืองที่ทักษิณ ชื่นชมมีชื่อว่า ‘ชวน หลีกภัย’ และเคยถูกพรรคประชาธิปัตย์ทาบทามให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2535

เขายอมรับจุดเด่นของพรรคพลังธรรมในแง่ของการเป็นพรรคที่ยึดมั่นอุดมการณ์ เดินเข้าหาประชาชนแทนการซื้อเสียง แต่จุดอ่อนของพรรคในมุมมองของดร.ทักษิณคือ “พรรคพลังธรรมขาดการสนับสนุนจากคนส่วนบนของประเทศที่เรียกกันว่า Political Elite ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองไทยหากไม่มี Political Elite เข้ามาช่วยเหลือแล้วมักประสบความสำเร็จยาก เพราะปรัชญาพื้นฐานของพรรคการเมืองคือการรวบรวมกลุ่มคนต่าง ๆ หลากหลายเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ”

นักธุรกิจหนุ่มก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 1996 (พ.ศ. 2539) และ 1997 (พ.ศ. 2540) ก่อนที่เขาจะพบว่าวัฒนธรรมองค์กรภายในพรรคการเมืองที่เขาพยายามจะเปลี่ยนให้ร่วมสมัย อาจไม่ใช่สนามที่จะรบชนะ จึงไม่ ‘fighting a losing war’

มหากาพย์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ The Long Walk Home เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าหนังชีวิต

อีคารัสกับดวงอาทิตย์: ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่การเมืองไทยทำไม่ได้

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มุ่งเน้นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน การบริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใส มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตประชาชนมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนมีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่การเมืองได้มากขึ้นและง่ายมากขึ้น ทำให้ผู้นำสามารถแสดงศักยภาพแห่งความเป็นผู้นำได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพร้อมใจกันประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

ดร.ทักษิณ แสดงถ้อยแถลงในวันเปิดตัวพรรคไทยรักไทยเมื่อ 14 กรกฎาคม 1998 ณ โรงแรมสยามซิตี้ พร้อมกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 25 คน พรรคไทยรักไทยถือกำเนิดหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับปี พ.ศ. 2540) นับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกภายใต้กฎเกณฑ์ทางการเมืองใหม่

ชื่อ ‘ไทยรักไทย’ หมายถึง การรวมพลังความรักและความเสียสละของคนไทย เป็นการมอบคืนให้กับแผ่นดิน เพื่อแก้วิกฤตการณ์และฟื้นฟูประเทศ ส่วนสโลแกนคือ ‘คิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน’ ถูกอธิบายผ่านมุมมองที่มองว่าการเมืองไทยที่ผ่านมาดำเนินมาด้วยความห่างไกจากสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมืองแบบสร้างสรรค์’

“จุดยืนของผมจะทำการเมืองสร้างสรรค์ ไม่เล่นการเมืองแบบทำลายล้าง อนาคตพรรคไม่ได้หวังว่าจะเป็นพรรคที่โตที่สุด แต่ต้องการผลักดันนโยบายที่ดีให้ไปสู่การปฏิบัติได้” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าว

3 ปีต่อมา พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และถือเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่บริหารประเทศครบวาระ 4 ปี นโยบายสำคัญที่ทำให้บทสนทนาในประเทศไทยเปลี่ยนไปและกำหนดทิศทางในการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองหลังจากนี้ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการพักหนี้เกษตรกร, โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

จากผลงานของพรรคไทยรักไทยทำให้เขาสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ. 2548) ไม่นานนักก็ถึงจุดเปลี่ยนผันทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายน เมื่อสนธิ ลิ้มทองกุล และจำลอง ศรีเมือง เริ่มเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ ทั้งสองอ้างเรื่องทุจริต ใช้อำนาจไม่ชอบ ปิดกั้นสื่อ และไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

กระแสต่อต้านทักษิณ เริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางของไทย หลังกรณีเทขายหุ้นในชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์และได้เงินมา 7.3 หมื่นล้านบาทโดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ฝูงชนนับหมื่นออกไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เขาลาออก

เหตุการณ์ดังกล่าวบานปลายจนทำให้นายทักษิณ ประกาศยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านหลักไม่ลงแข่ง และประชาชนจำนวนมากกาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2006 (พ.ศ. 2549)

แต่ยังไม่ถึงการจัดการเลือกตั้ง ก็เกิด ‘รัฐประหาร’ ในระหว่างที่ทักษิณอยู่ระหว่างร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เขาใช้เวลาสองปีท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองของประเทศ ระเหระหนเร่ร่อนไปประเทศต่างๆ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2008 (พ.ศ. 2551) เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริตที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ต่อด้วยการรายงานตัวต่ออัยการสูงสุดในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ในเครือชินคอร์ป

ทักษิณและภริยาเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากนั้นศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า ทักษิณมีความผิดในคดีดังกล่าว เขาไม่เดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกเลยอย่างน้อยก็เป็นเวลา 15 ปีต่อจากนี้

ข้อกล่าวหามากมายที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2006 (พ.ศ. 2549) นำไปสู่มติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย

5 ปีหลังรัฐประหาร ทอม เพลต นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันเดินทางไปสัมภาษณ์ ดร.ทักษิณ ที่เมืองดูไบ พวกเขาคุยกันถึงข้อกล่าวหาต่าง ๆ รวมถึงมุมมองที่ทักษิณ มีต่อตนเอง

ทอม เพลต ใช้ปกรณัมกรีกในการอุปมาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับทักษิณ เป็นมุมมองของนักข่าวผู้ใช้เวลาศึกษาและพูดคุยกับทักษิณในช่วงปี 2011-2012 (พ.ศ. 2554-2555) ซึ่งเราอาจจะมองต่างไปจากทอม เพลต ก็ได้ แต่สำหรับเพลต ทักษิณ อาจจะเหมือนอีคารัสที่ “บินสูงเกินตัว และปีนป่ายตรงเข้าหาศัตรูที่ขมขื่นของเขา และอาจเป็นการเหมาะสมที่ขณะเขาบินสูงที่สหประชาชาติ พวกเขาเห็นว่าเป็นเวลาที่ต้องเอาเขาลงแล้ว”

หลังจากถูกติดปีกให้บินหนีจากเขาวงกตที่บิดาเป็นผู้สร้าง บิดาได้เตือนอีคารัสว่า “หากบินใกล้กับมหาสมุทรเกินไป ปีกจะเปียกชื้นและทำให้หนักเกินกว่าที่จะบิน หากบินใกล้กับดวงอาทิตย์มากเกินไปความร้อนของดวงอาทิตย์จะละลายขี้ผึ้ง”

การเดินทางออกจากเขาวงกตของอิคารัส เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะหนีออกไปโดยมีชีวิตรอด

มหากาพย์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ The Long Walk Home เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าหนังชีวิต

เรือใบสีฟ้าของแฟรงค์ ซินาตรา, ความทรงจำของโทนี วูดซัม

“ผมรู้สึกขอบคุณที่อนุญาตให้พักผ่อน” ไม่แน่ชัดว่าถ้อยคำสื่อสารกับผู้นำเหล่าทัพนี้ เขากล่าวจริงใจหรือโวหารประชดประชัน “ตลอดชีวิตผม ชีวิตธุรกิจ และต่อมาก็ชีวิตการเมือง ผมทำงานหนัก ผมไม่มีเวลาให้ตัวเอง ขอบคุณแต่อย่าทำร้ายผมทางการเมือง”

ระหว่างพลัดถิ่นหลังรัฐประหาร ทักษิณ ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มูลค่าการซื้อสโมสรฟุตบอลเมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550) ใกล้เคียงตัวเลข 81.6 ล้านปอนด์ ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับที่มาของเงิน เพราะอดีตนายกรัฐมนตรียังมีคดีทุจริตติดพันในไทย แต่ คีธ แฮร์ริส (Keith Harris) ผู้บริหารเซมัวร์ เพียซ อินเวสต์เมนต์ แบงก์ (Seymour Pierce Investment Bank) บอกว่า “เงินโอนมาตามหลักการและตรวจสอบได้โดยโปร่งใส”

แฟนบอล ‘เรือใบสีฟ้า’ ผู้นิยมในตัว ‘ทักษิณ’ เรียกเขาว่า ‘แฟรงค์’ (Frank) อันเป็นชื่อของแฟรงค์ ซินาตรา (Frank Sinatra) เพราะนามสกุลชินวัตร (Shinawatra) ออกเสียงคลับคล้ายใกล้เคียงกับ ‘ซินาตรา’

“ผมรักฟุตบอลจริง” ทักษิณบอก “ผมซื้อทีมฟุตบอลเพราะผมรักฟุตบอล เมื่อครั้งที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมยังเคยเสนอซื้อทีมลิเวอร์พูล นั่นคือเมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547) ตั้งแต่ลี้ภัยผมคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่เช่นนั้นผมก็ไม่มีอะไรจะทำ”

แต่ใช่ว่ามหาเศรษฐีผู้รักในเกมกีฬาจะได้รับแต่เสียงชื่นชม กระแสต่อต้านมาจากฝั่งสิทธิมนุษยชน พวกเขาแสดงข้อมูลและข้อครหาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายการบริหารภายใต้นายกรัฐมนตรีผู้นี้โดยเฉพาะผลที่เกิดจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดต่อฝ่ายบริหารระดับสูงของพรีเมียร์ลีก

ปีต่อมา ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกขาย ไม่มีรายงานยืนยันมูลค่าอย่างชัดเจน แต่คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นราคามากกว่าสองเท่าตอนที่ซื้อมา เหตุผลที่ต้องขายสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะคำตัดสินของศาลในคดีทุจริต และในปี 2008 (พ.ศ. 2551) “ธนาคารแห่งประเทศอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของผม ผมไม่มีเงินพอจะสนับสนุนสโมสร” ทักษิณ ระบุ

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทักษิณ ชินวัตร ซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ราคาสุดคุ้ม ขายให้ชีคจากอาบูดาบี ได้กำไรงาม

ข้อวิจารณ์สำคัญที่กล่าวหาว่ารัฐบาลทักษิณ ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงเป็นข้อกล่าวหาที่มีน้ำหนัก ผลกระทบจากสงครามยาเสพติดและการสลายการชุมนุมในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงหลอกหลอนเหมือนผี

ในปี 2011 (พ.ศ. 2554) ทักษิณ กล่าวถึงนโยบายปราบยาเสพติดอย่างคนที่มีเวลานึกทบทวนถึงความผิดพลาดในอดีต

“คุณต้องเข้าใจด้วยว่า ตำรวจบางคน พวกเขาไม่ใช่คนดีเสมอไป” ทักษิณ บอก “เขามีกฎหมายและอาวุธอยู่ในมือ และอาจเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างในเรื่องขนยาเสพติด พวกเขาสามารถดำเนินการฆ่าตัดตอนเพื่อปกป้องตัวเองและธุรกิจผิดกฎหมายของพวกเขา คุณจึงต้องระวัง คุณไม่ควรใช้กำลัง หรือกฎหมายเพื่อกดขี่ วิธีการนั้นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย”

เป็นเวลาที่ยาวนานนับจากปี 2008 เขาไม่ได้กลับบ้านอีกเลย แต่การใช้โซเชียลมีเดียในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ก็เป็นการกลับบ้านที่ใกล้เคียงความหมายของการกลับบ้านที่สุด ‘โทนี่ วูดซัม’ (Tony Woodsome) กลายเป็นชื่อที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในแอปพลิเคชัน Clubhouse

“ชื่อ ‘โทนี่’ มาจากอาจารย์ของผม เขาออกเสียงทักษิณไม่ได้ เขาจึงขอเรียกว่าโทนี่” แต่นามสกุล ‘วูดซัม’ มาจากตอนที่เขาพำนักในประเทศอังกฤษ

“หมู่บ้านนั้นไม่มีเลขที่ เขาใช้ชื่อเป็นชื่อบ้าน บ้านที่ผมไปซื้อชื่อ ‘วูดซัม เมเนอร์’ แล้วผมก็อยากจะติดตามอีลอน มัสก์ อยากติดตามบารัก โอบามา ก็เลยตั้งชื่อแอคเคาท์ในโซเชียลมีเดียว่า Tony Woodsome”

เมื่อกลุ่ม ‘CARE คิด เคลื่อน ไทย’ จัด Clubhouse แอคเคาท์ที่ชื่อ Tony Woodsome จึงมีตัวตนในโลกออนไลน์

เราอยู่ในยุคที่อดีตออกไล่ล่าปัจจุบัน ปัญหากรือเซะและเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่ปี 2004 ได้เดินทางย้อนกลับมาเหมือนบูมเมอแรง เมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในห้วงที่เขาเป็นรัฐบาลต่อหน้าคนอีกรุ่น ต่อหน้าคนรุ่นใหม่ที่เขาต้องการสัมพันธ์และเรียนรู้ เขากลับตอบคำถามได้ไม่ดีนัก ความจริงแล้วต้องบอกว่า ไม่ดีเอาเสียเลย

“รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น” โทนี ตอบ “ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”

ความจริงแล้วเขาเคยตอบคำถามเดียวกันได้ดีกว่านี้ ย้อนกลับไปในปี 2011 ทักษิณให้สัมภาษณ์ทอม เพลต ว่า เขาเสียใจต่อการกระทำที่รุนแรงต่อชาวมุสลิมในยุคที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และถือเป็นความผิดพลาดที่ใช้นโยบาย ‘กำปั้นเหล็ก’ มากกว่า ‘ถุงมือกำมะหยี่’

“เทคนิคการกดขี่ของกฎหมายและระเบียบควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อ และมีอุดมการณ์ และไม่จำเป็นต้องเหมือนที่เรามี” ทักษิณ บอก และย้ำว่าแนวทางที่เหมาะสมควรเป็นการเจรจา เขาตอบในวันที่ประจักษ์ชัดถึงวลี ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ แต่คราวนี้มันกำลังเกิดกับตัวเขาและกลุ่มคนเสื้อแดง

“และที่พวกเขาใช้กฎหมายและระเบียบกับผมและผู้สนับสนุนของผม ผมเห็นจากระยะไกลจากที่นี่ พวกเขาไปไกลเกินควรเช่นกัน และพวกเขากำลังผิดพลาดอย่างมหันต์” ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ช่วงปี 2010-2011

ฟังดูดี แต่ทำไมการตอบคำถามในคลับเฮาส์ในอีก 10 ปีต่อมา หากนับจากปี 2010 เขาจึงเลือกใช้คำว่า “ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้”     

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความทรงจำ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ กับบทเรียน ‘กำปั้นเหล็ก’ ของทักษิณ  

มหากาพย์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ The Long Walk Home เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าหนังชีวิต

เขาจำอะไรไม่ค่อยได้?

หนังสือ Giants of Asia: Conversation with Thaksin เผยถึงความรับรู้ใหม่หลังรัฐประหารของอดีตนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นผู้นี้ว่า อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของมาเลเซียได้สัมภาษณ์ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งพวกเขามีความเข้าใจว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้มีทัศนคติที่แย่กับพวกเขา แต่หลังรัฐประหารผ่านไป 1 ปี พวกเขาสืบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นและพบว่า “เหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดและน่าอับอายเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะล้มผม” ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว

หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเขาเมื่อครั้งที่ขายหุ้นจากแพคลิงก์เพื่อมาทำโฟนลิงก์ หากพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งในทำนองว่า “จงลืมอดีตเสียดีกว่า ถึงเวลาที่ต้องปรองดอง”

ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง และถ้าทักษิณเชื่อถือข้อมูลนี้ ก็อาจทำให้เราพอเข้าใจอาการ ‘จำไม่ค่อยได้’ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของตนเอง

เพราะเขาต้องการกลับบ้าน การลืมอดีตที่ศัตรูเคยกระทำกับเขาน่าจะเป็นหนทางพาเขากลับบ้าน เพราะการแก้แค้นนำไปสู่การไขว้เขว เขาไม่คิดแก้แค้น อาการ ‘จำไม่ค่อยได้’ ในคลับเฮาส์ น่าจะเป็นการจำไม่ค่อยได้ว่าใครพยายามทำอะไรไว้กับเขาบ้าง

แต่สิ่งที่เขาต้อง ‘จดจำ’ คือความตายของประชาชนในช่วงเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าเขาไม่คิด ‘แก้แค้น’ ศัตรู แต่จำเป็นต้อง ‘โกรธ’ ตัวเอง

 

The Long Walk Home

ค่าเฉลี่ยของ ‘เวลา’ ในการจากบ้านของผู้ลี้ภัยอยู่ที่ 5-7 ปี ข้อมูลที่ดูเหมือนงานวิจัยนี้มาจากการ ‘อ่านระหว่างพลัดถิ่น’ ของอดีตนายกรัฐมนตรี

“ในประวัติศาสตร์ผู้ที่ถูกทำให้ต้องลี้ภัย พวกเขาก็เพียงออกนอกประเทศเพียง 5 ปี หรืออย่างมากก็ 7 ปี” ทักษิณ กล่าวประโยคนี้ตอนที่จากบ้านมาเป็นเวลา 5 ปี “ยาวพอแล้ว แต่ผมไม่ห่วงตัวเอง ผมห่วงประชาชนมากกว่า”

แต่ตอนนี้ เป็นเวลา 17 ปีแล้วที่ไม่ได้กลับบ้าน และดูเหมือนว่าในวัย 74 หลานและครอบครัวคือเหตุผลที่เขาอ้างถึงความจำเป็นในการหวนกลับ

“เดี๋ยวปู่กลับไปเลี้ยงนะ” ปู่โทนี่ พูดกับหลานน้อยนามโทนี่

อีกสิ่ง - ความรู้สึกผิดของเขาแขวนค้างไว้กับชีวิตของอดีตภรรยา มันเผยออกมาเมื่อถูกถามว่าเขามองเห็นใครในดวงตาของตนเอง จากการสัมภาษณ์ครั้งหลังสุดเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565)

“ผมเห็นคุณหญิง” คำตอบของเขาน่าสนใจ และสะท้อนส่วนลึกในใจที่ชวนให้ทั้งรู้สึกร่วมและคลางแคลง

“ผมสงสารคุณหญิง คือผมตัดสินใจที่จะกลับเมืองไทย เพราะว่าคุณหญิงรับภาระแทนผมมาเยอะ สงสาร”

หลายปีก่อน หลังหย่าขาดจากภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา 32 ปี เขาเคยกล่าวว่า คุณหญิงพจมาน เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนแง่มุมที่ตรงกับความจริง เธอกล้าเตือนในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า และสิ่งหนึ่งที่เคยเตือนคือเรื่องการเมือง

“ภรรยาผมไม่ชอบการเมืองเลย เราฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกันมาก และเมื่อผมประสบความสำเร็จทางการเงิน เธอบอกว่าเราน่าจะพักผ่อน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยกัน ไม่ต้องทำงานหนักแล้ว เพราะมีมากเกินพอแล้ว แต่ผมกลับรู้สึกว่าผมควรทำอะไรให้ประเทศชาติ” ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ในวัย 61 คำตอบของเขาชวนให้นึกถึงนิทานเชิงอุปมาเรื่องกาแฟของนักบินที่เคยอธิบายให้ภรรยาฟังเมื่อครั้งจะทำธุรกิจดาวเทียม

หลังถูกรัฐประหาร ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันในต่างประเทศระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจหย่า

“เราทะเลาะกันบ่อยครั้งว่า เราจะทำต่อหรือไม่ เธอบอกว่า ‘ฉันบอกแล้วว่าไม่ชอบการเมือง และยืนยันว่าไม่ชอบการเมือง แต่ฉันก็เข้าใจ ถ้าไม่ต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่ได้กลับบ้าน คุณจึงต้องสู้ แต่ปล่อยฉันไว้คนเดียว’ เราเข้าใจกัน และเราเป็นเพื่อนกัน แต่จากนั้นผมไม่ได้พบเธอเลย”

11 ปีต่อมา ชายชราวัย 73 บอกว่า ‘ถึงเวลากลับบ้าน’ เพราะ “คุณหญิงรับภาระแทนผมมาเยอะ”

เขาย้ำเรื่องสุขภาพหลายครั้ง และไม่น้อยที่แสดงให้เห็นความสนใจในเรื่องสุขภาพ กระทั่งลงรายละเอียดเรื่องกระบวนการทำงานในระดับเซลล์ของร่างกาย ซึ่งเป็นหลักฐานที่บอกว่า เขาต้องการมีชีวิตยืนยาว

“เมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว ผมก็ต้องทำตัวให้แข็งแรงขึ้น เพื่อชดเชยเวลาที่หายไป” ทักษิณ บอก และก่อนหน้านี้หลายปี ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 เขาเคยบอกว่า “เวลาอยู่ข้างผม เพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิด ยิ่งรอนานเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าความจริงจะปรากฎเข้าข้างผม”

ความจริงแล้ว เวลาอยู่ข้างทุกคน เพราะทุกคนมีเวลาในชีวิตอย่างจำกัด แต่เวลาคือสิ่งสัมพัทธ์ ในทุกคำมั่นสัญญา เวลาของผู้ให้คำสัตย์มีแนวโน้มจะสั้นกว่าเวลาของผู้รอคอย และในเวลาที่เหมาะสม การกระทำมักจะมอบผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ

“ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน” ทักษิณ ทวีตข้อความนี้ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 (พ.ศ. 2566) สิบกว่าวันก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 ของเดือนเดียวกัน “เพราะผมอายุจะ 74 ปีในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ครับ ขออนุญาตนะครับ"

เวลาถูกเลื่อนออกไปเหมือนเช่นการเดินทางทุกครั้งที่ผ่านมา การเดินทางกลับบ้านของ ‘ทักษิณ’ ตั้งอยู่บนเส้นทางที่สองข้างทางห้อมล้อมไปด้วยผู้มาเฝ้ารอต้อนรับ ขณะที่บนทางกลับบ้านสายเดียวกันก็มีเสียงตะโกนที่โห่ดัง พวกเขาต้องการรู้ ตรวจสอบ และรับรู้รายละเอียดบนตั๋วเดินทาง

เพราะการกลับบ้านของเขาถูกเล่าลือราวกับเรื่องเร้นลับ เหมือนชีวิตของอีลีทที่เคยกังขา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและตั้งอยู่บนความหวังที่จะมี ‘การเมืองแบบใหม่’

“ผมเป็นคนบ้านนอก ถึงแม้ฐานะเราอยู่ในอีลีท แต่แทนที่จะเข้าไปคบสังคมอีลีท กลับไปเข้าสังคมการเมือง เหมือนเราไม่รู้วิธีอยู่ในป่า แต่ถูกปล่อยเข้าไป บางทีเขาบอกว่า say yes อาจจะมี no ซึ่งเราไม่เข้าใจ เราแค่ yes คือ yes และ no คือ no พอเราเจอ yes but mean no เราตายแล้ว เพราะเราคิดว่าคนทุกคนคงเหมือนเรา”

เขาสรุปบทเรียนในวัย 73 ที่แลกมาด้วยความรู้ว่าตนเขลา “ชีวิตเราเรียบง่ายมาก แต่ชีวิตของคนอีลิทยิ่งเป็นนาน ๆ ยิ่ง complicate เร้นลับซับซ้อน อันนี้คือสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้”

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2023 (พ.ศ. 2566) เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สังคมคาดหวังให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยผนึกกำลังกัน ‘เปลี่ยนแปลง’ กลไกการเมืองที่ถูกวางไว้ในยุค คสช. แต่การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญ และเวลาก็ล่วงผ่านไปทุกที

พรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์ด้วยข้อหาร้ายแรงว่า ‘ตระบัดสัตย์’ หลังจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐปรากฎตัวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมองปรากฎการณ์นี้มาจากอีกมุม พวกเขายืนเคียงข้างพรรคเพื่อไทยและสนับสนุนให้การจัดตั้งรัฐบาลรวมถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทยลุล่วง เดินหน้าบริหารประเทศ

และ ‘ทักษิณ’ ก็ได้เลือก ‘เวลา’ นี้ ในการกลับบ้านด้วยเครื่องบินส่วนตัวจากสิงคโปร์ถึงสนามบินดอนเมืองในเวลา 9.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม 2023 (พ.ศ. 2566) สองข้างทางของถนนสู่ ‘บ้าน’ เต็มไปด้วยผู้รอต้อนรับและผู้รอคำตอบว่า อะไรคือสิ่งที่สังคมไทยจะต้องเผชิญนับจากนี้

“ผมเองสั่งครอบครัว ตายไม่เผา ให้เก็บไว้ ให้เก็บร่างไว้ไม่ให้เผา นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ ให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผม เป็นอมตะของครอบครัวของลูกหลาน” นี่คือความปรารถนาของชายวัย 73

แต่ข้อเท็จจริงคือว่า ไม่มีอะไรคงทนถาวรและเป็นอมตะ แม้ว่า ‘ความทรงจำ’ จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการประกันความมั่งคงของเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ และมันยังพาให้เรา ‘ก้าวข้ามอดีต’ และ ‘ไม่ผลิตความผิดพลาดซ้ำในอนาคต’ ที่สำคัญ ความทรงจำมีอำนาจ ‘ควบคุมปัจจุบัน’ แต่ความทรงจำมีข้อบกพร่องตรงที่มันพร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่เคยหยุดนิ่ง ห่างไกลจากความเป็นนิรันดร์

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพ: NATION PHOTO

อ้างอิง:

วัลยา. (2542). ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน

ทอม เพลต. (2555). จับเข่าคุย ทักษิณ ชินวัตร

ธนพงศ์ พุทธิวนิช. (2566). ดูหลังฉาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซื้อ ‘แมนฯ ซิตี้’ ราคาสุดคุ้ม ขายให้ชีคจากอาบูดาบี ได้กำไรงาม. เว็บไซต์ The People

BBC THAI. (2566). ทักษิณ ชินวัตร: ย้อนเหตุการณ์สำคัญ จากชีวิตพลัดถิ่นทักษิณสู่แผนการกลับบ้านครั้งล่าสุด

WAY. (2562). ก่อนถึงเวลาของ ทษช. ย้อนดูงานตุลาการภิวัตน์ ล้ม 3 นายกรัฐมนตรี ยุบ 4 พรรคการเมือง โมฆะ 2 การเลือกตั้ง

FAROSE. (2566). ไกลบ้าน EP73 ดารารับเชิญกิตติมศักดิ์ จากดูไบ

คุยแหลก แดกดึก. (2566). ทักษิณลั่นวาจา กรกฎาคม กลับแน่นอน มาแล้ว... สัมภาษณ์สุด exclusive ครอบครัว ชินวัตร

Thaksin Official. (2565). Long Distance Call