ดูหลังฉาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซื้อ ‘แมนฯ ซิตี้’ ราคาสุดคุ้ม ขายให้ชีคจากอาบูดาบี ได้กำไรงาม

ดูหลังฉาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซื้อ ‘แมนฯ ซิตี้’ ราคาสุดคุ้ม ขายให้ชีคจากอาบูดาบี ได้กำไรงาม

‘ทักษิณ ชินวัตร’ คือชาวไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อซื้อสโมสร ‘แมนเชสเตอร์ ซิตี้’ ในราคาสุดคุ้ม ขายให้ชีคจาก อาบูดาบี ได้กำไรงาม ท่านชีคปั้นทีมจนพลิกโฉมลูกหนังยุโรป ก่อนสโมสรโดนพรีเมียร์ลีกตั้งข้อหาละเมิดกฎทางการเงิน

  • ทักษิณ ชินวัตร คือชาวไทยคนแรกที่ถือครองสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก่อนขายต่อให้ชีค มันซูร์ จากอาบูดาบี 
  • ในยุคชีค มันซูร์ สโมสรคว้าแชมป์ลีก และประสบความสำเร็จระดับสูงมากมาย กระทั่งในปี 2023 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อหาละเมิดกฎทางการเงินระหว่างช่วง 2009-2018

กลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) พรรคไทยรักไทยถือกำเนิดขึ้น นับจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เวลาล่วงเลยมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาส่งปฏิกิริยาลูกโซ่เชื่อมต่อกัน แพร่กระจายกันไปหลากหลายแวดวง และไม่น่าเชื่อว่า เส้นทางชีวิตและบทบาทในสายนักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมืองของแกนนำคนสำคัญอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จะพัวพันไปถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ด้วย

ขณะที่ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2001 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับมอบเสื้อแข่งของทีมปีศาจแดงมีเบอร์ 52 เท่ากับตัวเลขอายุของผู้นำชาวไทยในเวลานั้นปักอยู่ด้านหลัง โดยเป็นเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือชาวสกอตเป็นผู้ส่งมอบ อิทธิพลของวัฒนธรรมและความนิยมต่อฟุตบอลอังกฤษที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่าแค่ด้าน ‘กีฬา’ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้นำชาวไทยแล้วอย่างแน่นอน

เวลาผ่านไป 3 ปี สื่ออังกฤษต้องไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร อีกครั้งเมื่อในปี 2004 มีกระแสข่าวว่า นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทยสนใจซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล 30 เปอร์เซ็นต์ แม้ดีลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง (มีรายงานว่าบอร์ดสโมสรลิเวอร์พูลอนุมัติแล้ว แต่ดีลล่มลงในภายหลัง) อีกไม่นานนัก ชื่อเสียงเรียงนามของทักษิณ ชินวัตร กลับไปโด่งดังติดปากในเมืองแมนเชสเตอร์ ถิ่นฐานของสโมสรคู่อริของลิเวอร์พูล แต่ขยับออกจากโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปอีกไม่ไกลนัก  

ปี 2007 ทักษิณ ชินวัตร เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คาดว่ามูลค่าที่ซื้อมาในครั้งนั้นใกล้เคียงตัวเลข 81.6 ล้านปอนด์

ดีลครั้งนั้นผ่านระเบียบและมาตรการต่าง ๆ จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับที่มาของเงินจากที่ทักษิณ ชินวัตร ยังมีคดีทุจริตติดพันในไทย แต่จากปากคำของคนที่ดูแลดีลอย่าง คีธ แฮร์ริส (Keith Harris) ผู้บริหารเซมัวร์ เพียซ อินเวสต์เมนต์ แบงก์ (Seymour Pierce Investment Bank) บอกว่า “เงินโอนมาตามหลักการและตรวจสอบได้โดยโปร่งใสเข้ามาที่สหราชอาณาจักร” 

เวลาต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ยังผ่านระเบียบตรวจสอบประวัติบุคคลของพรีเมียร์ลีกที่มักเรียกกันว่า Fit and Proper Person Test (ซึ่งตัวระเบียบก็ถูกตั้งคำถามเหมือนกัน)

ขณะเดียวกัน การซื้อทีมก็เกิดกระแสต่อต้านเหมือนกัน มีเสียงทัดทานจากฝั่งสิทธิมนุษยชนซึ่งเขียนจดหมายถึงริชาร์ด สคูดามอร์ (Richard Scudamore) ฝ่ายบริหารระดับสูงของพรีเมียร์ลีก แสดงข้อมูลและข้อครหาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายการบริหารภายใต้นายกรัฐมนตรีผู้นี้ โดยเฉพาะผลที่เกิดจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด สถิติผู้เสียชีวิตจากนโยบายลักษณะนี้พบว่ามีตัวเลขมากกว่า 2,000 ราย

ท้ายที่สุดแล้ว ดีลธุรกิจขนาดใหญ่ในอังกฤษผ่านไปได้ลุล่วง ฝั่งที่ตัดสินว่าทักษิณ ชินวัตร ไม่เหมาะสมกับการบริหารกลับเป็นกองทัพไทย โดยก่อนหน้าดีลซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เกิดขึ้นประมาณ 7 เดือน ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) 

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 2006 (พ.ศ. 2549) ผ่านไปได้ 2 ปี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทยในปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง นักธุรกิจและนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดอีกรายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องเดินทางออกนอกประเทศหลังจากถูกศาลตัดสินว่าตัวเขาและภรรยามีความผิดในคดีทุจริต นับตั้งแต่นั้นมา ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เดินทางกลับไทยอีกเลย ยังคงเดินทางไปมาในต่างประเทศ

ระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่ปีระหว่าง ค.ศ. 2006-2008 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวทางการเมืองในไทย ข้ามฝั่งไปที่อีกฟากหนึ่งของโลก สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยุคมีทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ นำการเปลี่ยนแปลงหลากหลายแง่มุมมาสู่สโมสร ไม่ใช่แค่เรื่องในสนาม แฟนบอลทั่วโลกในเวลานั้นอาจยังไม่เห็นสัญญาณว่าช่วงเวลานี้จะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่จะดีดสถานะสโมสร ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากทีมที่ผลงานเป๋ไปมา หลังผ่านมือของทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว จะก้าวกระโดดกลายเป็นสโมสรชั้นนำของโลก มีสถานะทางการเงินระดับที่เรียกว่า ‘ร่ำรวย’ อันดับต้นของโลก

ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับเจมส์ มอนทาจ (James Montague) ผู้เขียนหนังสือ Billionaires Club บอกว่า เขาเคยสัมภาษณ์ (เคลาดิโอ) รานิเอรี และตัดสินใจว่าจะจ้างรานิเอรี (ให้เป็นกุนซือ)

เป็นที่รู้กันว่า เคลาดิโอ รานิเอรี (Claudio Ranieri) คือกุนซือที่พาเลสเตอร์ ซิตี้ เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงที่วิชัย ศรีวัฒนประภา (นามสกุลเดิมคือ รักศรีอักษร) เป็นเจ้าของสโมสรจิ้งจอกสีน้ำเงินในเลสเตอร์ ทีมที่ไม่กี่ฤดูกาลหลังจากนั้นก็สัมผัสความสำเร็จที่แฟนบอลทั่วโลกตกตะลึงจากที่พวกเขาเพิ่งทีมเลื่อนชั้นมาสู่ลีกสูงสุดได้ไม่กี่ปี ก่อนหน้านี้ยังต้องดิ้นรนให้รอดตกชั้น แล้วต่อมาถึงกับได้แชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างยิ่งใหญ่

หากอ้างอิงจากวาทะของทักษิณ ชินวัตร นั่นหมายความว่า ตัวเลือกแรกก่อนหน้าที่จะจ้างสเวน โกรัน อีริคสัน (Sven Goran Eriksson) มาคุมทีมคือรานิเอรี แต่ทักษิณ เล่าว่า เป็น ‘เอเยนต์’ ที่แนะนำว่าให้เปลี่ยนใจแล้วเลือกสเวน เพราะช่วงนั้นชื่อเสียงของสเวน ยังนำหน้ารานิเอรี 

ช่วงแรกที่สเวน เข้ามาคุมทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทำผลงานโดดเด่นด้วยชัยชนะ 3 เกมรวดจาก 3 เกมแรกของฤดูกาล หนึ่งในนั้นคือดาร์บี้แมตช์ที่แมนฯ ซิตี้ มีชัยเหนือแมนฯ ยูฯ คู่ปรับร่วมเมือง 1-0 ซึ่งทักษิณ ชินวัตร เล่ากับเจมส์ มอนทาจว่า เป็นความทรงจำที่ดีที่สุดสำหรับช่วงเวลาเป็นเจ้าของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในช่วงแรกที่ยังไม่มีใครจับทางได้ออกสตาร์ตฤดูกาลอย่างสวยหรู อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ในด้านการทำงานระหว่างเจ้าของสโมสรกับสเวน เริ่มเสื่อมถอยลง ทักษิณ เล่าว่า มีคนแนะนำเรื่องการบริหารสโมสรว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับงานของผู้จัดการทีมเพราะตำแหน่งนี้มีสิทธิตัดสินใจทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความคิดเห็นของนักธุรกิจผู้นี้กลับมองว่า เป็นคนออกทุน ทำไมจะมีปากมีเสียงไม่ได้ แต่ถ้ามีเสียงก็ย่อมไม่ได้ไปลงระดับเชิงลึก จะออกเป็นทางขวัญกำลังใจและแรงสนับสนุนเบื้องหลังมากกว่า

หลังจากที่ซื้อสโมสรและออกสตาร์ตอย่างงดงาม ทักษิณ เดินทางกลับไทยในช่วงปี 2008 หลังจากนั้น สถานการณ์ของสโมสรเริ่มถดถอยลง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสเวน กับเจ้าของสโมสร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำมาสู่การยกเลิกสัญญากับสเวน

ข่าวการยกเลิกสัญญาทำให้แฟนบอลเรือใบสีฟ้าที่เคยชื่นชอบทักษิณ และเคยเรียกอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ว่า ‘แฟรงค์’ (Frank) อันเป็นชื่อของแฟรงค์ ซินาตรา (Frank Sinatra) เพราะนามสกุลชินวัตร (Shinawatra) ออกเสียงคลับคล้ายใกล้เคียงกับคำว่า ‘ซินาตรา’ เริ่มหมดความนิยมในตัวนักธุรกิจชาวไทย 

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับแฟนบอลอาจไม่ได้หวานชื่นเหมือนช่วงแรกเริ่มฮันนีมูนใหม่ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

ปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักเหนือกว่ามหาศาล คือคำตัดสินของศาลต่อทักษิณและภริยาในคดีทุจริต ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า เขาซื้อสโมสรเพราะต้องการลงทุนกับทีมอย่างจริงจัง แต่เมื่อสถานการณ์ในไทยเป็นเช่นนั้น ผลกระทบที่ตามมาคือทรัพย์สินในมือที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะผลจากคดี

เมื่อไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ การบริหารสโมสรในพรีเมียร์ลีกแทบเป็นเรื่องยากลำบากสาหัส แฟนบอลทราบกันดีว่า การบริหารสโมสรใช้ต้นทุนมหาศาลในแต่ละเดือน ทักษิณ กล่าวไว้ว่า การบริหารสโมสรใช้เงินไปเดือนละ 4 ล้านปอนด์สำหรับค่าจ้างบุคลากรและเงินชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ต้องมีกระเป๋าหนาเท่านั้น ยังต้องมีหลายกระเป๋าอีกด้วย เมื่อไม่มีทุนพอ เขาต้องไปหยิบยืมจากหลายแหล่ง

ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน มีข่าวแว่วมาว่า สมาชิกราชวงศ์จากอาบูดาบี (Abu Dhabi) กำลังมองหาซื้อสโมสรฟุตบอล เวลานั้น มีข่าวว่า ชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน (Sheikh Mansour bin Zayed Nahyan) ล้มเหลวจากดีลเสนอซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลเช่นเดียวกับทักษิณ ที่เคยลองเดินเรื่องมาก่อนหน้านี้เช่นกัน

ทักษิณ เล่าว่า เขาเดินเรื่องติดต่อไปหาเอเยนต์ผู้หญิงรายหนึ่งพร้อมบอกว่า เขาขายสโมสรในราคาถูกกว่าลิเวอร์พูลมาก จนท้ายที่สุด ‘ชีค มันซูร์’ เข้ามาซื้อสโมสรแมนฯ ซิตี้ ต่อจากทักษิณ 

ไม่มีรายงานยืนยันมูลค่าการขายสโมสรครั้งนี้อย่างชัดเจนว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ แต่เจมส์ มอนทาจ คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านปอนด์ 

หากเทียบกับตัวเลขเงินลงทุนที่ทักษิณ ซื้อมาซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่เกือบ 81.6 ล้านปอนด์ แม้จะมีค่าใช้จ่ายลงทุนอื่นในยามบริหารสโมสรแล้ว เมื่อหักลบกันกับเงินรายได้จากการขาย เชื่อว่า ดีลขายแมนฯ ซิตี้ให้ราชวงศ์จากอาบูดาบี น่าจะทำกำไรก้อนโตให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ น่าเสียดายที่เจมส์ มอนทาจ ระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขให้กับเขา นอกเหนือจากกล่าวว่า 

“ราคาดี ทำกำไร”

แม้ทักษิณ ชินวัตร จะขายสโมสรไปตั้งแต่ปี 2008 จากบทสัมภาษณ์ที่เจมส์ มอนทาจ พูดคุยกับทักษิณ เขาชี้ว่า อดีตนายกฯ ยังไม่หายเสียดายที่เห็นสโมสรหลุดมือไป แต่หากมองในปลายทางแล้ว การเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในฟุตบอลอังกฤษ แมนฯ ซิตี้ ภายใต้เจ้าของใหม่ที่ทุ่มลงทุนมหาศาลดึงนักเตะและกุนซือแถวหน้าของโลกมาร่วมทีมยกระดับคุณภาพทีมมาเป็นสโมสรแถวหน้าของยุโรปได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี 

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกของสโมสรในรอบ 44 ปีเมื่อฤดูกาล 2011-12 ตามมาด้วยความสำเร็จอีกมากมายทั้งในแง่ถ้วยรางวัลและสไตล์การเล่นที่ถูกใจแฟนบอล

ในความเห็นของเจมส์ มอนทาจ บทเรียนในแง่ดีและข้อเสียจากเรื่องที่ทักษิณ ชินวัตร เข้าซื้อและขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีส่วนทำให้นักธุรกิจชาวไทยรายอื่นได้เห็นตัวอย่าง เขาเชื่อว่าหากไม่มีเส้นทางที่ทักษิณ ก้าวเดินกับทีมเรือใบสีฟ้า ก็อาจไม่ได้เห็นความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้ กับเจ้าของสโมสรชาวไทย

ในใจของทักษิณ ชินวัตร จะมีความเสียดายมากแค่ไหนก็ตาม จะมีความต้องการกลับเข้ามาสู่ธุรกิจฟุตบอลมากแค่ไหนก็ตาม ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อ 2018 ทักษิณ ยอมรับว่า มูลค่าสโมสรพรีเมียร์ลีกเวลานี้เป็นตัวเลขมากเกินกว่าจะมีศักยภาพทำกำไรที่เหมาะสมได้ และเคยมีข้อเสนอจากสโมสรพรีเมียร์ลีกผ่านตามาแล้ว แต่ในรายละเอียด กลับดูมีข้อสงสัยมากเกินกว่าจะไว้วางใจไปลงทุนในสถานการณ์แบบยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขการลงทุนเมื่อปี 2007 ทักษิณ ซื้อสโมสรแมนฯ ซิตี้ ด้วยมูลค่าราว 81 ล้านปอนด์เท่านั้น

เวลาผ่านมากว่าสิบปีแล้ว แต่ละคนมีเส้นทางเดินของตัวเองไม่ว่าจะเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี้, ทักษิณ ชินวัตร, สเวน โกรันอีริคสัน หรือใครก็ตาม หลงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำและบทบันทึกถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่นำมาสู่ความเป็นไปในปัจจุบันให้ผู้คนรุ่นหลังได้ศึกษารับรู้กัน

อัปเดต ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2023: ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 พรีเมียร์ลีก อังกฤษ แถลงตั้งข้อหาแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กรณีละเมิดกฎทางการเงินถึงหลักร้อยครั้งระหว่างช่วง 2009-2018 แต่ไม่ได้ระบุข้อมูลทางการเงินหรือพฤติกรรมอย่างแน่ชัด แต่สื่ออังกฤษอย่าง Sky Sports รายงานโดยยกตัวอย่างข้อมูลที่ถูกพูดถึงกัน เช่น สัญญาลับแบบสอดไส้ซึ่งส่งผลให้หนึ่งในผู้จัดการทีมในช่วงเวลานั้นได้รับเงินค่าจ้างมากกว่าที่แจ้งไว้กับพรีเมียร์ลีก 

สำหรับช่วงเวลาที่ระบุเป็นระยะเวลาที่ชีค มันซูร์ เข้ามาลงทุนใช้งบประมาณสร้างทีม และสโมสรได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยในช่วงเวลาดังกล่าว

แมนฯ ซิตี้ เคยถูกสหพันธ์ฟุตบอลทวีปยุโรป หรือยูฟ่า (UEFA) สอบสวนข้อหาละเมิดกฎแฟร์เพลย์ทางการเงินมาแล้ว และสโมสรนำเรื่องไปให้คณะอนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration for Sport (CAS)) พิจารณา ซึ่งฝ่ายกฎหมายใช้ช่องโหว่เรื่องอายุความทำให้รอดตัวมาได้ โดย CAS ตัดสินให้สโมสรไม่ต้องรับโทษแบนออกจากทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์สโมสรฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) ตามที่ยูฟ่าออกบทลงโทษแมนฯ ซิตี้ มาก่อนหน้านี้ และลดโทษปรับเงินลง

สำหรับกรณีล่าสุดในปี 2023 สื่อและนักวิจารณ์ต่างคาดการณ์ว่า หากแมนฯ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตัดสินว่ามีความผิด บทลงโทษมีความเป็นไปได้ในหลายระดับ โทษหนักที่สุดมีเอ่ยถึงขั้นขับออกจากลีก หรืออาจเป็นโทษตัดแต้ม (ยังไม่ชัดเจนว่าจะตัดแต้มย้อนหลัง หรือตัดแต้มของฤดูกาลปัจจุบัน) ส่วนโทษระดับเบาลงกว่านั้น อาจเป็นปรับเงิน 

ขณะที่สโมสรออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการระบุว่า พร้อมรับกระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการอิสระ และหวังว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปขั้นถึงที่สุดและได้ข้อยุติเสียที ในแถลงการณ์ยังมีข้อความแสดงท่าทีประหลาดใจ (surprise) กับข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎพรีเมียร์ลีกและเซอร์ไพรส์กับจำนวนหลักฐานที่พรีเมียร์ลีกได้รับมา 

 

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: ทักษิณ ชินวัตร ที่สนาม City of Manchester Stadium เมื่อปี 2007 ภาพจาก Manchester City FC via Getty Images

อ้างอิง:

“Thaksin completes Man City buyout”. BBC. Website. Published 6 JUL 2017. Access 16 JUL 2022.

Montague, James. The Billionaires Club. London: Bloomsbury, 2018.