รวิโชติ ธำรงนาวาสวัสดิ์: ทายาท “หลวงธำรงฯ” อดีตนายกฯ และสมาชิกคณะราษฎร ผู้เปิดตัวทำงานการเมืองกับพรรคประชาชาติ

รวิโชติ ธำรงนาวาสวัสดิ์: ทายาท “หลวงธำรงฯ” อดีตนายกฯ และสมาชิกคณะราษฎร ผู้เปิดตัวทำงานการเมืองกับพรรคประชาชาติ

รวิโชติ เป็นหลานตาของ “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” หรือ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย

เกือบ 8 ปีที่คนไทยว่างเว้นจากการ “เลือกตั้ง” และเป็น 8 ปีที่การเมืองไทยพลิกผันไปมา จากรัฐบาลเลือกตั้งสู่รัฐบาลที่ควบคุมอำนาจรัฐบาลเลือกตั้งอีกที หันกลับมาดูบรรยากาศเวลานี้กำลังอยู่ในโหมดที่น่าจะนิ่งมากขึ้น หลังโรดแม็ป “เลือกตั้ง” ที่รัฐบาลเคยประกาศว่าจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ถูกเลื่อนไปเลื่อนมาหลายครั้ง การปักหมุดวันหย่อนบัตร 24 ก.พ. ปี 2562 (ที่ต่อมามีการเลื่อนเป็น 24 มีนาคม) กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ “นักการเมือง” ต้องหาพรรคสังกัด หลายพรรคเปิดตัวสมาชิกทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งขยับเข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรกในรอบนี้ด้วย รวิโชติ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นอีกคนที่ตัดสินใจเดินสู่สนามการเมืองในรอบนี้ ในวัยเลขสาม ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานในด้านวิชาการ สังคม และหลักสูตรต่างๆ มาพอสมควร รวิโชติ เลือกพรรค “ประชาชาติ” ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อปักหมุดทำงานการเมือง เขามาสมัครเป็นสมาชิกและพร้อมเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในนามตัวแทนพรรคด้วย หลายคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ กับรวิโชติ เพราะคนใหม่ๆ ที่เดินเข้าสู่สนามการเมือง เพื่อเปิดเกมการเลือกตั้งรอบนี้มีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่รวิโชติมีความน่าสนใจในเชิงแบ็คกราวนด์ไม่น้อย รวิโชติ เป็นหลานตาของ “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” หรือ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย วันวิสาข์ วัณโณ มารดาของรวิโชติ บุตรสาวหลวงธำรงฯ แต่งงานกับ ดร.วิโชต วัณโณ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคเพื่อชาติ เรียกว่าลูกชายกับพ่อ อยู่คนละค่าย ทำงานคนละสังกัด แต่เชื่อว่าเป้าหมายเดียวกันคือประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน ก่อนขยับเข้าสู่เวทีการเมือง รวิโชติเคยผ่านงานในภาคเอกชนเป็นผู้ช่วยประสานโครงการวิจัย จากนั้นมาทำงานต่อในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ประจำภาคใต้ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ก่อนจะขยับมาช่วยงาน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะเลขานุการ และ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว รวิโชติ เล่าว่าที่เขาตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชาติ เพราะ “อุดมการณ์” ของพรรค เขาแจกแจงให้ฟังตั้งแต่ การไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ การสร้างความเท่าเทียม การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งในสังคมโดยสันติวิธี รวมทั้งมีนโยบายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย และนั่นคือเหตุผลหลักที่ผลักเขาสู่ถนนการเมือง ในฐานะหลานของอดีตนายกรัฐมนตรี และคุณตาของเขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎรที่มีส่วนสำคัญต่อการพลิกเปลี่ยนประเทศไทยสู่วิถีประชาธิปไตย รวิโชติบอกว่า มรดกที่ได้รับมา คือ เรื่องราวของคุณตาในการสร้างความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งได้หล่อหลอมความเป็นตัวตนเขา รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจที่นำเขาเข้าสู่เส้นทางการทำงานทางการเมืองในวันนี้ รวิโชติ ยังตอบข้อสงสัยถึงความไม่เป็นหนึ่งเดียวระหว่างพ่อลูกในการทำงานการเมืองคนละพรรคว่า ที่ผ่านมาเขาและพ่อคุยกันเรื่องการเมืองมาตลอด ขอความรู้จากพ่อเสมอ แต่เรื่องการอยู่คนละพรรคเป็นเรื่องของ “จังหวะ” การตัดสินใจตอบรับเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชาติ เกิดขึ้นก่อนที่พ่อของเขาจะชวนไปทำงานการเมืองที่พรรคเพื่อชาติด้วยกันไม่นาน รวิโชติไม่เปลี่ยนใจตามที่พ่อชวน เพราะเขาเห็นว่านี่คือความสวยงามของประชาธิปไตยที่เราสามารถแสดงออกทางการเมือง และอยู่ร่วมกันอย่างเคารพในเหตุผลของกันและกัน “สุดความสามารถในทุกโอกาสที่ได้รับแน่นอน” รวิโชติพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเมื่อถูกถามถึงความคาดหวังต่อการมาทำงานการเมือง ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของคุณตา รวิโชติขยายความถึงสัมพันธ์และชีวิตที่เขาได้สัมผัสตัวตนของคุณตาผ่านคำบอกเล่าของแม่ว่า คุณแม่มักเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่าคุณตาเรียนเก่งมาก เพราะคุณตาขยันและมีความพยายาม จึงทำให้คนคนหนึ่งที่เกิดในครอบครัวเล็กๆ ที่ ตำบลหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโอกาสได้เข้าร่วมในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทย ในชีวิตส่วนตัวคุณตาตื่นเช้ามากและเป็นคนตรงต่อเวลามากๆ “ผมเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่รับราชการทั้งสองท่าน คุณพ่อเป็นอาจารย์สอนที่รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณแม่เป็นนักการทูต คนรอบข้างมักบอกเสมอว่าผมได้รับบุคลิกมาจากทั้งสองท่าน” ชีวิตในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยทำให้รวิโชติได้พบกับ สมชัย ศรีสุทธิยากร ครั้งแรก ตอนนั้นรวิโชติเข้าเรียนที่รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยโครงการผู้มีความสามารถดีเด่นด้านกีฬา ประเภทฮอกกี้ สมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์ รวิโชติมีโอกาสได้เรียนกับสมชัยเพียงวิชาเดียว กระทั่งได้พบกันอีกครั้งที่สภาพัฒนาการเมือง และคงเพราะได้ปฏิบัติงานให้กับอาจารย์ของเขาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับโอกาสให้มาช่วยงานที่ กกต. นอกจากเป็นเลขาฯ และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้ง งานประเมินผลผู้บริหาร งานกลั่นกรองงบประมาณ และงานไต่สวนข้อเท็จจริง บทบาทใหม่ของรวิโชติ ถือว่าเป็นก้าวย่างที่ท้าทายไม่น้อย เพราะการเมืองในภาวะดึงดูดและการต่อสู้อย่างหนักจากทุกพรรค ยิ่งทำให้สมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงร้อนแรง การเผชิญกับกลยุทธ์และวิธีทางการเมืองต่างๆ อาจไม่ง่าย ครั้งหนึ่งรวิโชติ เคยสวมหมวกอยู่ข้างกายผู้ควบคุมกติกาอย่าง กกต. แต่เวลานี้ เขาตัดสินใจลงมาเป็น “ผู้เล่น” เมื่อเปลี่ยนหมวกใบใหม่ใส่สวม รวิโชติจึงมีแต่ต้องพิสูจน์ตนเองต่อประชาชนเท่านั้น และนับแต่นี้สังคมกำลังจับตาดูจังหวะก้าวใหม่ของเขาอยู่ พอๆ กับที่เขาก็น่าจะจัดวางชีวิตตัวเองใหม่ แบบที่คุณตาของเขาเคยเลือกทางเดินใหม่ให้กับประเทศไทยมาแล้วนั่นเอง   เรื่อง: ปากกา สลักชื่อ