ศึกใหญ่สองตระกูลแห่งมังกรสุพรรณ ‘จองชัย-ประภัตร’ หลังยุคบรรหารโมเดล สู่เลือกตั้ง 66

ศึกใหญ่สองตระกูลแห่งมังกรสุพรรณ ‘จองชัย-ประภัตร’ หลังยุคบรรหารโมเดล สู่เลือกตั้ง 66

จังหวัดสุพรรณบุรี มีบ้านใหญ่ 2 หลัง คือฝั่ง ‘จองชัย เที่ยงธรรม’ และอีกฝั่งคือ ‘ประภัตร โพธสุธน’ หลังผ่านยุค บรรหาร ศิลปอาชา ที่เคยหลอมรวมตระกูลใหญ่มาอยู่ใต้ธงพรรคเดียวกัน กลับเป็นคำถามขึ้นมาในช่วงศึกเลือกตั้ง 2566

  • บ้านใหญ่แห่งสุพรรณบุรี มีฝั่ง ‘จองชัย เที่ยงธรรม’ และอีกฝั่งคือ ‘ประภัตร โพธสุธน’ ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญ
  • หลังยุค ‘บรรหารโมเดล’ มีคำถามถึงจุดยืนทางการเมืองของทั้งสองฝั่ง ท่ามกลางศึกเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึง

ฤดูเลือกตั้งปี 2566 หลายคนคงมีคำถามว่า การเมืองแบบ ‘สุพรรณบ้านเรา’ จะหลอมรวมเป็นปึกแผ่นอย่างนี้ไปอีกกี่ปี หลังจาก วราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายคนเดียวของบรรหาร ศิลปอาชา เข้ามารับไม้ต่อ เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

ย้อนไปการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เฉพาะ จ.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ชนะยกจังหวัด ได้เก้าอี้ ส.ส. 4 ที่นั่ง และได้คะแนนรวมทุกเขต 255,920 คะแนน

ชัยชนะของพรรคชาติไทยพัฒนา คือความสำเร็จของบรรหาร ที่หลอมรวมตระกูลการเมือง ตระกูลเศรษฐีเมืองสุพรรณให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับแบ่งความรับผิดชอบในแต่ละอำเภอ

อ.เมืองสุพรรณบุรี ดูแลโดยตระกูลศิลปอาชา และสรชัด สุจิตต์ ส.ส.สุพรรณบุรี หลานชายคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา รับผิดชอบ

อ.บางปลาม้า ดูแลโดยตระกูลประเสริฐสุวรรณ มีทายาทหมอเอื้อ ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี รับผิดชอบ

อ.สองพี่น้อง ดูแลโดยตระกูลจันทร์สว่าง นิติวัฒน์ จันทร์สว่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสุวัฒน์ จันทร์สว่าง รองนายก อบจ.สุพรรณบุรี รับผิดชอบ

อ.อู่ทอง ดูแลโดยตระกูลมาตรศรี นพดล มาตรศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 3 รับผิดชอบ

อ.สามชุก ดูแลโดยตระกูลจันทร์สุวรรณ บุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี ลูกชายกำนันดิน รับผิดชอบ

อ.ศรีประจันต์ อ.ดอนเจดีย์ ดูแลโดยตระกูลโพธสุธน ประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี รับผิดชอบ

อ.สามชุก ดูแลโดยตระกูลจันทร์สุวรรณ บุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี ลูกชายกำนันดิน รับผิดชอบ

อ.ศรีประจันต์ อ.ดอนเจดีย์ ดูแลโดยตระกูลโพธสุธน ประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี รับผิดชอบ

นี่คือภูมิศาสตร์การเมืองฉบับสุพรรณบ้านเรา ที่บรรหาร ศิลปอาชา ได้ออกแบบไว้ โดย วราวุธ ศิลปอาชา ร่วมกับ 3 ตระกูลใหญ่คือ โพธสุธน, เที่ยงธรรม และประเสริฐสุวรรณ รับสืบทอดมรดกการเมือง ด้วยคำขวัญ ‘สุพรรณพัฒนา ด้วยชาติไทยพัฒนา’

จะว่าไปแล้ว การดำรงอยู่ของพรรคชาติไทยพัฒนา มิใช่มีแค่ตระกูลศิลปอาชาเท่านั้น หากแต่ยังมี 2 เสาหลักที่คอยค้ำยันโครงสร้างพรรคนี้ไว้คือ คือ จองชัย เที่ยงธรรม และ ประภัตร โพธสุธน

 

คนโตบ้านกล้วย

อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มีบ้านใหญ่ 2 หลังที่คนแถวนั้นรู้จักดีคือ บ้านกล้วย ต.บ้านกร่าง เป็นบ้านเกิดของ จองชัย เที่ยงธรรม ส่วนที่บ้านไร่ ต.วังน้ำซับ เป็นสถานที่ตั้งบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ของ ประภัตร โพธสุธน

จองชัย เที่ยงธรรม เป็นหลานชาย วิภาส อินสว่าง คหบดีใหญ่ตลาดบ้านกล้วย และอดีตกำนันตำบลบ้านกร่าง ซึ่งคนแถวถิ่นบ้านกร่าง ส่วนใหญ่นามสกุล ‘อินสว่าง’

ลูกจีนบ้านกล้วย ออกจากบ้านเกิดไปต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จองชัยจึงเปิดสำนักงานทนายความ-บัญชี อยู่แถวเชิงสะพานปิ่นเกล้า ยึดอาชีพทนายความอยู่หลายปี จึงแต่งงานกับมุกดา สาวบัญชีจุฬาฯ

การเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 จ.สุพรรณบุรี มี ส.ส. 2 คน ตามกติกาแบ่งเขตเรียงเบอร์ ซึ่งเขต 2 ประกอบด้วย อ.ดอนเจดีย์ อ.ศรีประจันต์ อ.สามชุก อ.เดิมบางนางบวช และอ.ด่านช้าง

จองชัย เที่ยงธรรม หลานชายกำนันวิภาส ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 สังกัดพรรคกิจสังคม ระหว่างการหาเสียง ชูสโลแกน ‘คิดอะไรไม่ออก บอกจองชัย’

ด้วยบุคลิกภาพและนิสัยส่วนตัวของจองชัย ที่พูดคำไหนคำนั้น ใจนักเลง เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน ใครเข้าพบขอความช่วยเหลือ ก็ตอบสนองทันที สโลแกน ‘คิดอะไรไม่ออก บอกจองชัย’ ได้ใจชาวบ้านอย่างมาก

จากการเลือกตั้งหนนั้น จองชัย ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.มาทุกสมัย กระทั่งปี 2562 ส่งไม้ต่อให้ลูกชาย ‘เสมอกัน เที่ยงธรรม’ ลงลุยสนามแทน

 

เฮียเม้งบ้านไร่

สำหรับ ประภัตร โพธสุธน หรือ เง็กเม้ง แซ่เฮ้ง ลูกชายเถ้าแก่โรงสีใหญ่บ้านไร่ ลงสมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี สังกัดพรรคชาติไทย ตั้งแต่ปี 2518 โดย ‘เฮียเม้ง’ เพิ่งเรียนจบมาจากเศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากอินเดีย และมีอายุครบ 25 ปี

สมัยโน้น ประภัตรเป็นไอ้หนุ่มผมยาว ขับรถโรงสีข้าวออกไปตามบ้านนอกบ้านนา อาศัยเวทีรำวงลูกเสือชาวบ้าน เป็นเวทีหาเสียง จึงได้รับเลือกเป็น ส.ส. ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

หลังประภัตร เป็น ส.ส.สุพรรณบุรี บรรหาร ศิลปอาชา ก็ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกในปี 2519 สังกัดพรรคชาติไทย เหมือนกัน แต่เป็น ส.ส.คนละเขต  

ช่วงการเลือกตั้งปี 2526, 2529 จองชัย กับประภัตร ลงสนามสุพรรณฯ เขต 2 อยู่กันคนละพรรคและต่อสู้กันเอง แต่ก็ได้เข้าสภาฯ ทั้งคู่ เพราะกติกาเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์

การเลือกตั้งปี 2531 บรรหาร ศิลปอาชา ส่ง บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณฯ ไปกล่อมเฮียจองชัย มาร่วมลงเรือลำเดียวกัน เฮียจองชัยจึงมาสังกัดพรรคชาติไทย ทำให้บรรหารสามารถพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีไปได้อย่างรุดหน้า

สัญญาสงบศึก 2 ตระกูล กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบรรหารโมเดล ที่หลอมรวมตระกูลใหญ่ ๆ ในสุพรรณบุรี มาอยู่ใต้ร่มธงพรรคชาติไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ในปัจจุบัน

 

ศึกบ้านใหญ่ศรีประจันต์

แม้ ‘จองชัย-ประภัตร’ จะอยู่พรรคเดียวกัน แต่ก็ยังมีเรื่องศักดิ์ศรีบารมี ‘บ้านใหญ่’ ที่สองฝ่ายขัดแย้งกันมาแต่ในอดีต

ดังนั้น การเลือกตั้งปี 2562 ที่สนามสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.สามชุก อ.ศรีประจันต์ อ.ดอนเจดีย์ (บางตำบล) และอ.อู่ทอง (บางตำบล) จึงเกิดศึกบ้านใหญ่ศรีประจันต์ ระหว่าง จองชัย เที่ยงธรรม พรรคภูมิใจไทย กับประภัตร โพธสุธน พรรคชาติไทยพัฒนา

สาเหตุที่เฮียจองชัย ต้องลงสนามชนเฮียเม้ง มาจากปมผู้สมัคร ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 4 อ.เดิมบางนางบวช ซึ่งตามข้อตกลงเดิม เสมอกัน เที่ยงธรรม ลูกชายจองชัย เป็นตัวยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา แต่กำนันโอ๋ - ยุทธนา โพธสุธน หลานชายประภัตร จะลงแข่งด้วย ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

เฮียจองชัยรู้สึกว่า ตระกูลโพธสุธน ไม่รักษาสัจจะที่เคยตกลงกันไว้ สมัยบรรหารยังมีชีวิตอยู่ จึงต้องกระโดดลงมาชนกับประภัตร แม้เฮียจองชัยจะแพ้ แต่ลูกชายเข้าสภาฯ ได้ เพราะฝ่ายหลานชายประภัตร ถอนตัวไม่ลง ส.ส.เขต

หลังเลือกตั้งสมัยที่แล้ว จองชัยอำลาพรรคภูมิใจไทย หวนคืนพรรคชาติไทยพัฒนา โดยคุณหญิงแจ่มใส เป็นกาวใจให้จองชัยกับประภัตร กลับมารักกันเหมือนเดิม 

อย่างไรก็ตาม จองชัยยังพูดถึงประภัตรว่า อย่าลืมคำมั่นสัญญาเดิม เพราะหากวันใดวันหนึ่ง คนในตระกูลโพธสุธนลงแข่งกับลูกชายเฮียจองชัย ก็ต้องทำศึกกันอีก

ปัจจุบัน กำนันโอ๋ ยุทธนา โพธสุธน หลานชายประภัตร ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และลงพื้นที่พบชาวบ้านแถว อ.เดิมบางนางบวช เหมือนเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง เริ่มพัดผ่านลุ่มน้ำท่าจีน โมเดลการเมืองแบบสุพรรณบ้านเรา จะจีรังยั่งยืนไปได้นานแค่ไหน คนสุพรรณจะเป็นผู้ให้คำตอบในคูหาเลือกตั้ง

 

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: แฟ้มภาพ (ซ้าย) จองชัย เที่ยงธรรม (ขวา) ประภัตร โพธสุธน ภาพจาก NATION PHOTO