‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรมที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ ซึ่งสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบของผู้คน

ลมหายใจของเมืองเป็นอย่างไร?
หลายคนที่รู้จักจักรวาล Marvel น่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่แต่เป็นผู้คน’ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่แค่แอสการ์ดจากภาพยนตร์เรื่อง Thor : ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า เท่านั้น แต่เมืองส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ เพราะแต่ละเมืองก็มีชีวิตไปจนถึงมีลมหายใจเป็นของตัวเองไม่ต่างจากผู้คน ส่วนมากเมืองใหญ่ที่ทันสมัยไม่ต่างกับคนที่มีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเหลือล้น กลับกันเมืองที่ผ่านยุครุ่งเรืองมาแล้วก็จะคล้ายกับคนที่เคลื่อนไหวอย่างเนิบช้าจากการผ่านร้อนหนาวมาเนิ่นนาน

แต่สำหรับเมืองสงขลา เรารู้สึกว่าเมืองเก่าแก่แห่งนี้แม้จะมีอายุอานามหลายร้อยปี มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ย้อนไปไกลจากการปรากฏชื่อในพงศาวดารในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. 1893 แต่ทุกวันนี้ก็ยังสัมผัสได้ว่าสงขลาเป็นเมืองที่มีลมหายใจที่แฝงไว้ซึ่งร่องรอยของเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านหลายยุคสมัย อันกลมกลืนไปกับวิถีชีวิต บ้านเมือง และการดำเนินชีวิตของคนสงขลา เราเลยอยากชวนทุกคนร่วมออกเดินทางไปสัมผัสพหุวัฒนธรรมที่เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของเมืองสงขลาที่รายล้อมไปด้วยอาคารบ้านเรือนโบราณซึ่งเก็บบันทึกเรื่องราวหลายร้อยปี ไปจนถึงการลองลิ้มรสอาหารเลิศรสที่ได้จากวัตถุดิบรสเลิศของเมืองสองเลที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อันไม่รู้จบของคนสงขลาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง

เราเชื่อว่าเส้นทางที่จะพาไปชมและอาหารชวนให้ชิม จะช่วยเปิดประตูให้ได้รู้จักสงขลามากยิ่งขึ้น หายใจลึก ๆ แล้วออกเดินทางไปค้นหาลมหายใจของเมืองสงขลาไปพร้อมกัน

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

โหนด นา เล วิถีที่สะท้อนชีวิตชาวคาบสมุทร

พูดถึงสงขลา สิ่งแรก ๆ ที่คนนึกถึงคือทะเลสาบสงขลา แน่ละ นอกจากเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่แล้ว ทะเลสาบสงขลายังเป็นทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งหรือทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) หนึ่งเดียวของไทย ร่วมกับอีก 117 แห่งทั่วโลก ไม่แปลกที่พื้นที่คาบสมุทรสงขลาจะมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทำให้บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีชุมชนโบราณเข้ามาตั้งรกรากย้อนไปได้ไกลกว่า 1,000 ปี ก่อนประวัติการก่อตั้งเมืองซิงกอรา เมืองท่าขนาดใหญ่ที่ต่อมาจะกลายเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบันซะอีก โดยส่วนใหญ่ผู้คนบนคาบสมุทรสทิงพระซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นโอบล้อมทะเลสาบสงขลา มีวิถีชีวิตที่เรียกว่า ‘โหนด นา เล’ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตที่ผูกโยงกับสวนตาลโตนด ทุ่งนา และท้องทะเล มาอย่างช้านาน ทั้งการประกอบอาชีพเก็บตาลโตนด การทำนาข้าว และออกทะเลหาปลา

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

จุดแรกที่เราอยากแนะนำคือการมาเรียนรู้วิถี ‘โหนด นา เล’

เพื่อเป็นการเข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนสงขลาที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีโหนด การอยู่ร่วมกับตาลโตนดของคนที่นี่ ที่มีทั้งการขึ้นตาลโตนด เฉาะลูกตาล ทำน้ำผึ้งแว่น และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด วิถีนา การทำนาที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งจะสลับกับอาชีพตาลโตนดและวิถีเล ของชาวเลที่ทำประมงน้ำจืดในทะเลสาบสงขลา และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงมาสัมผัสวิถี ‘โหนด นา เล’ วิถีที่สะท้อนชีวิตชาวคาบสมุทร ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน และยังคงสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้วิถีโหนดนาเล ชุมชนท่าหิน จังหวัดสงขลา ติดต่อได้ที่เบอร์ 081 275 7156

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

อ่านบันทึกยุคสมัยผ่านสามเมืองเก่า

เราพอจะเล่าประวัติโดยย่อของสงขลาที่มีการบันทึกไว้ได้ว่า เริ่มต้นจากชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ที่ได้ขยายจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่ชื่อซิงกอรา ซึ่งมีผู้ปกครองเป็นชาวมุสลิม และสร้างเมืองอยู่บริเวณหัวเขาแดง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งกองทัพมาปราบทำลายเมืองแล้วย้ายไปอยู่ที่บริเวณแหลมสน ไม่ไกลจากหัวเขาแดงมากนัก สงขลาช่วงนี้ถูกปกครองโดยคนจีน สลับกับคนพื้นเมืองยุคสุดท้ายของสงขลาเริ่มในยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นว่าสงขลาฝั่งแหลมสนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำจืด จึงได้ทำการย้ายเมืองสงขลาจากแหลมสนมาฝั่งบ่อยางในปัจจุบันเราจะพบร่องรอยสามยุคสมัยของสงขลา ได้จากสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่จำนวนมาก ตั้งแต่ป้อมปราการ กำแพงเมือง และตึกรามบ้านเรือน ไปจนถึงสัมผัสได้จากการดำเนินชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบ เช่น บริเวณหัวเขาแดง ซึ่งเคยเป็นเมืองซิงกอรา นอกจากจะไปชมป้อมปราการโบราณ ไปจนถึงกำแพงเมืองที่สร้างจากหินแดงแข็งแรงแล้ว อีกสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการไปเยือนชุมชนมุสลิม และชิมอาหารท้องถิ่นที่นั่น

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เป็นพื้นที่เชิงเขาริมทะเล อย่างที่บอกไปแล้วว่ามีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้ส่วนใหญ่บ้านเรือนจะทำด้วยวัสดุไม่ถาวร ทำให้หลงเหลือร่องรอยและหลักฐานไม่มากนัก สัญลักษณ์ของสงขลาฝั่งแหลมสนที่พบเห็นได้ชัดเจนคือซุ้มประตูบ่อเก๋ง ส่วนสงขลาฝั่งบ่อยางที่ย้ายมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเมืองเก่าที่เราสามารถเดินเที่ยวชมตึกรามและอาคารบ้านเรือนที่สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีนปนยุโรป มีลวดลายปูนปั้นประดับปรากฏอยู่ตามกรอบหน้าต่าง ไปจนถึงหัวเสาที่มีความสวยงาม โดยย่านเมืองเก่าจะกระจุกอยู่บริเวณถนนนางงาม นครใน นครนอก และยะลา ซึ่งบ้านเรือ หลายหลังที่มีอายุกว่า 100 ปี ยังคงถูกใช้งานจริงมาจนถึงปัจจุบัน

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

ไม่เพียงแต่ร้านรวงหรือตึกรามบ้านเรือนโบราณเท่านั้น เมืองสงขลาฝั่งบ่อยางยังเต็มไปด้วยศาสนสถานเก่าแก่ที่โดดเด่น ทั้ง วัดมัชฌิมาวาส หรือ วัดกลาง วัดเก่าแก่อายุกว่า 400 ปี และมัสยิดบ้านบน หรือมัสยิดอุสาสนอิสลาม ที่มีสถาปัตยกรรมไทยและจีนประยุกต์เช่นเดียวกับวิหารของวัดมัชฌิมาวาส

นอกจากนี้ในมุมต่าง ๆ ของย่านเมืองเก่าสงขลาฝั่งบ่อยาง มี street art ที่พาเราย้อนเวลาสู่อดีต ปลุกความทรงจำให้เราเห็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวสงขลาในอดีต รวมไปถึง โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น โรงสีข้าวโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่ถนนนครนอก ริมทะเลสาบสงขลา ที่นอกจากเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองเก่าสงขลาแล้ว
ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มในการผลักดันสงขลาสู่เมืองมรดกโลกอีกด้วย

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

ย่านเมืองเก่าสงขลาเลยเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิต ถ้าอยากมาชมเมืองเก่าสงขลา แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน เราแนะนำให้ไปเริ่มที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา พิพิธภัณฑ์ที่ได้ชื่อว่ามีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย ด้วยความเก่าแก่ของอาคารโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตก ตั้งอยู่ตรงข้ามกำแพงเมืองจังหวัดสงขลา บริเวณถนนวิเชียรชม

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

การเดินทางผ่านปลายลิ้น สัมผัสพหุวัฒนธรรมผ่านอาหารหลากรส

เราพอรู้กันแล้วว่าสงขลาเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าความที่เป็นเมืองท่าย่อมต้องมีผู้คนเดินทางมาพบปะแลกเปลี่ยนสิ่งของ ไปจนถึงวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่ทำให้สงขลาเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูงมาก จะเห็นได้จากอาหารการกินต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการปรับตัวอย่างกลมกลืนของผู้คนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น สังขยาสูตรจีนไหหลำอายุมากกว่า 100 ปี, ข้าวสตูหมู ที่เกิดในช่วงการขาดแคลนวัตถุดิบสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการนำวัฒนธรรมสตูแบบตะวันตกมาปรับใช้เครื่องเทศแบบมุสลิม และกระบวนการปรุงแบบจีน จนออกมาเป็นซุปสตูแบบกึ่งน้ำใสกึ่งน้ำข้นที่มีความอร่อยแบบผสมผสานกัน, เต้าคั่ว หรือ สลัดทะเลสาบ อาหารท้องถิ่นของชาวสงขลาที่ทำจากเต้าหู้แข็งทอด เส้นหมี่ราดน้ำตาลโตนดผสมพริกน้ำส้ม และโรยหน้าด้วยกุ้งทอดกรุบกรอบ

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

นอกจากนี้ด้วยภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม อีกทั้งคลื่นลมที่พอเหมาะทำให้สงขลาเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีที่หาที่ไหนไม่ได้ ไม่แปลกที่สงขลาจะมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวนมากทั้ง ไข่ครอบสงขลา, ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา, มะม่วงเบาสิงหนคร, ส้มโอหอมควนลัง ส้มจุกจะนะ
ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อย่าง ใยตาลคาบสมุทรสทิงพระ

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

ลายแทงการเดินทางผ่านปลายลิ้น เพื่อสัมผัสพหุวัฒนธรรมของเมืองสงขลา อาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อย เพราะร้านรวงส่วนใหญ่จะซ่อนอยู่ตามอาคารโบราณบนถนนนางงาม อย่างเช่น ร้านข้าวสตู เกียดฟั่ง ถนนนางงามที่ใครแวะมาเป็นต้องติดใจ หรือจะเดินทางไปเกาะยอเพื่อลิ้มรสปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ถ้าอยากรู้ว่าปลากะพงขนาดจัมโบ้ที่สดขนาดกินสดเป็นซาชิมิได้เป็นอย่างไร ติดต่อได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักเกาะยอ โทรศัพท์ 08 6962 4579

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

เมืองสร้างสรรค์สงขลา จากความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบของผู้คน

ลมหายใจของเมืองสงขลาเป็นอย่างไร?
เพราะลมหายใจของเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานที่ตั้ง แต่เกิดจากการดำเนินชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองให้ก้าวเดินไปข้างหน้า เมืองสงขลาก็เช่นกันที่ผู้คนต่างใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้เมืองนี้มีชีวิต แต่ยังคงช่วยกันเก็บรักษาความเป็นเมืองสงขลาแบบเดิมเอาไว้ไม่ให้สูญเสียเอกลักษณ์ที่สืบต่อกันมา ทั้งในเรื่องพหุวัฒนธรรมอันหลากหลาย การอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนโบราณที่เหมือนเครื่องเก็บบันทึกเรื่องราวหลายร้อยปีเอาไว้ ไปจนถึงอาหารเลิศรสที่ได้จากการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคงไว้ซึ่งวัตถุดิบชั้นดีของเมืองสองเล

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ

 

เราเลยรู้สึกว่าการไปเยือนสงขลา จึงอาจไม่เพียงแค่ไปเที่ยวเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจวิถีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อจะได้มีลมหายใจเดียวกับจังหวะการใช้ชีวิตของสงขลา แล้วช่วยให้สงขลายังคงมีความเป็นสงขลาให้พวกเราสามารถกลับมาเยี่ยมเยือนจุดหมายแห่งนี้ได้อย่างไม่รู้จบโดยที่ยังคงมีลมหายใจเดิมต่อไปอีกนานเท่านาน

 

‘สงขลา’ เยือนเมืองพหุวัฒนธรรม และลิ้มรสอาหารเลิศรสจากวัตถุดิบรสเลิศ