09 ก.ค. 2568 | 14:36 น.
KEY
POINTS
ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่มีอะไรอันตรายเท่า ‘คนที่เคยไว้ใจ’
คำพูด คำสัญญา หรือความลับที่เราเคยมอบให้ใครสักคนในวันที่เชื่อมั่น สามารถกลายเป็น ‘มีดโกน’ ในวันที่ความสัมพันธ์นั้นพังลง
เสียงของ ‘การแฉ’ จึงดังกว่าความจริง เพราะมันไม่ใช่แค่ ‘การเล่า’ แต่มันคือ ‘การลงโทษ’ ไม่ใช่แค่ต้องการให้คนอื่นรู้ แต่ต้องการให้ใครบางคน ‘เจ็บ’ เหมือนที่เราเคยเจ็บ
นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย-อังกฤษ ‘เมลาเนีย ไคลน์’ (Melanie Klein) ผู้บุกเบิกทฤษฎีวัตถุสัมพันธ์ อธิบายว่า เมื่อมนุษย์รักใครสักคน เราจะวางภาพของอีกฝ่ายในจิตใจไว้ในฐานะ ‘วัตถุที่ดี’ (good object) ซึ่งเป็นตัวแทนของความปลอดภัยและความรัก
แต่เมื่อวันหนึ่งเราถูกทำร้ายหรือผิดหวัง ภาพวัตถุที่ดีนี้อาจแตกสลาย และจิตใจจะใช้กลไกที่เรียกว่า ‘การแบ่งแยก’ (splitting) เพื่อแยกแยะและแปลงภาพอีกฝ่ายเป็น ‘วัตถุที่เลวร้าย’ (bad object) เพื่อให้เรารับมือกับความเจ็บปวดและความสับสนนี้ได้
ความแค้นจึงไม่ใช่แค่โกรธชั่วขณะ แต่เป็นกลไกของจิตใจในการรื้อฟื้นสมดุลหลังความไว้ใจถูกทำลาย
‘มิเชล ฟูโกต์’ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า “อำนาจไม่เคยล่องลอย แต่มันฝังอยู่ในทุกโครงสร้างของความรู้” ใน ‘Discipline and Punish’ เขาอธิบายว่า ผู้ที่ครอบครองอำนาจในสังคม คือผู้ที่สามารถ ‘นิยามความจริง’ ได้
เมื่อถูกทำให้เจ็บในความสัมพันธ์ บางคนจึงเลือกแฉ เพื่อทวงคืนบทบาทของ ‘ผู้เล่าเรื่อง’ กลับมา
การเปิดเผยความลับที่เคยเป็นของส่วนตัว กลายเป็นการ ‘reclaim power’ ในพื้นที่สาธารณะ แม้ต้องแลกด้วยการเปิดแผลของตัวเองก็ตาม
‘ไมเคิล แมคคัลลัฟ (Michael McCullough) นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยไมอามี ได้ศึกษาเรื่อง ‘การให้อภัย’ และ ‘การล้างแค้น’ มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยเขาพบว่า พฤติกรรมแก้แค้นในมนุษย์ไม่ได้เกิดจากความป่าเถื่อน แต่มีรากจากวิวัฒนาการ
การล้างแค้นคือ ‘กลไกป้องกันตนเอง’ ที่บอกสังคมว่า “อย่าทำร้ายฉันซ้ำอีก” มันคือวิธีเรียกร้องศักดิ์ศรีกลับคืนมา หลังเรารู้สึกว่าตัวเองถูกเหยียบย่ำ
เมื่อถูกลดค่าด้วยการนอกใจ หลอกใช้ หรือทรยศในความสัมพันธ์ บางคนจึงเลือก “ทำลายคุณค่า” ของอีกฝ่ายบ้าง ด้วยข้อมูลที่เคยได้รับตอนที่เขาไว้ใจเรา
ในปี 2008 ‘เควิน คาร์ลสมิธ’ (Kevin Carlsmith), ‘แดเนียล กิลเบิร์ต’ (Daniel Gilbert) และ ‘ทิโมธี วิลสัน’ (Timothy Wilson) ตีพิมพ์งานวิจัยใน ‘Journal of Personality and Social Psychology’ ทดลองให้คนที่ถูกกระทำไม่เป็นธรรม มีโอกาส ‘ล้างแค้น’
ผลคือ กลุ่มที่ได้แก้แค้น รู้สึกดีเพียงชั่วคราว แต่ยังคงมีอารมณ์โกรธและหมกมุ่นกับเหตุการณ์นั้นได้นานกว่าคนที่เลือกไม่ล้างแค้น
เพราะการแก้แค้น แม้จะให้ความรู้สึกเหมือนได้ชัยชนะ แต่ความรู้สึกนั้นอยู่ไม่นาน แล้วอะไรบางอย่างก็จะย้อนกลับมาอีก ความว่างเปล่า ความเจ็บ หรือความรู้สึกผิดที่ไม่มีใครตัดสิน
‘แดเนียล คาฮ์เนมัน’ (Daniel Kahneman) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเจ้าของรางวัลโนเบล อธิบายไว้ในหนังสือ ‘Thinking, Fast and Slow’ (2011) ว่า มนุษย์มักตัดสินใจโดยใช้ ‘ทางลัดทางอารมณ์’ (heuristics) มากกว่าเหตุผลลึกซึ้ง
เมื่อเห็นโพสต์แฉที่สะเทือนอารมณ์ คนจึงมักเชื่อทันทีว่าคือความจริง โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าข้อเท็จจริงนั้นมีพื้นฐานเพียงพอหรือไม่
เห็นได้จากพฤติกรรมการแห่กดแชร์ หรือด่าทอผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่รู้จักพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
‘เรอเน่ ชีราร์’ (René Girard) นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส เสนอทฤษฎี ‘แพะรับบาป’ (Scapegoat Mechanism) ว่า สังคมมักเลือกใครบางคนให้รับความเกลียดชังของกลุ่ม เพื่อระบายความตึงเครียดที่อัดแน่น
ในยุคโซเชียล ‘แพะ’ ที่ว่า อาจถูกเลือกเพราะพาดหัวที่แรงพอ รูปประกอบที่สะเทือนใจ หรือคำบรรยายที่ชี้นำดีพอ ไม่มีระบบไต่สวน ไม่มีข้อเท็จจริงรอบด้าน มีเพียงการรุมประณามที่ทำงานไวพอ ๆ กับอัลกอริทึม
ที่น่ากังวลไม่ใช่แค่คนที่ลุกขึ้นมาแฉ แต่คือสังคมที่เสพการแฉอย่างเพลิดเพลิน โดยไม่แยกว่า สิ่งที่ได้ยินนั้นคือ ‘ความจริง’ หรือ ‘ความแค้น’
นักปรัชญาอย่าง ‘อริสโตเติล’ (Aristotle) เคยกล่าวใน ‘Nicomachean Ethics’ ว่า “ความกล้าหาญไม่ได้อยู่ที่การพูดทุกอย่างที่คิด แต่คือการรู้ว่าเมื่อใดควรพูด และเมื่อใดควรเงียบ”
บางคนเลือกพูด เพื่อให้โลกรู้ว่าเขาเจ็บ บางคนเลือกพูด เพื่อทำให้คนอื่นเจ็บกลับ แต่บางคนเลือกเงียบ เพื่อไม่ให้ใครต้องเจ็บเพิ่ม
‘เอเวอเร็ตต์ เวอร์ธิงตัน’ (Everett Worthington Jr.) นักจิตวิทยาคลินิกผู้ศึกษาเรื่องการให้อภัยมายาวนาน พบว่า คนที่ฝึกให้อภัย แม้ในใจ ไม่เพียงมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า แต่ยังลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังได้จริง (Forgiveness and Reconciliation, 2006)
เพราะความแค้นอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ชนะ แต่การชนะที่ไม่ต้องทำให้ใครล้ม คือชัยชนะที่สง่างามกว่า
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
อ้างอิง:
“Object Relations Theory: Stages, Examples & Therapy.” Study.com, Study.com, https://study.com/learn/lesson/object-relations-theory-stages-examples-therapy.html. Accessed 9 July 2025.
“Object Relations Theory.” EBSCO Research Starters, EBSCO Industries, Inc., https://www.ebsco.com/research-starters/psychology/object-relations-theory. Accessed 9 July 2025.
Finkel, Eli J., and Erica J. Boothby. “The Complicated Psychology of Revenge.” Association for Psychological Science, 19 May 2022, https://www.psychologicalscience.org/observer/the-complicated-psychology-of-revenge. Accessed 9 July 2025.
“René Girard.” Internet Encyclopedia of Philosophy, https://iep.utm.edu/girard/. Accessed 9 July 2025.
McCullough, Michael. “Getting Revenge and Forgiveness.” On Being, On Being Studios, https://onbeing.org/programs/michael-mccullough-getting-revenge-and-forgiveness/. Accessed 9 July 2025.
Bachrach, D., et al. “Revenge as a Therapeutic Narrative: Implications for Mental Health Services and Interventions.” Mental Health and Social Inclusion, vol. 28, no. 3, 2024, pp. 145–158, https://www.emerald.com/insight/content/doi/10.1108/mhsi-05-2024-0076/full/html. Accessed 9 July 2025.
Frijda, Nico H., et al. “Why Revenge Is Sweet.” PubMed, National Center for Biotechnology Information, U.S. National Library of Medicine, 2009, https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19025285/. Accessed 9 July 2025.