ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

ขยายพื้นที่ ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง เพราะทุกคนมีความหลากหลายและซับซ้อน

ท่ามกลางกระแสซีรีส์วายไทยและคู่จิ้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด กระทั่งมีแฟนคลับต่างชาติ และคว้ารางวัลในต่างแดน เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ได้รับรางวัล International Drama of the Year จากงาน Seoul International Drama Awards 2021 คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์ ได้รับรางวัลซีรีส์วายยอดเยี่ยมจากงาน Asia Top Awards 2023

ปัจจุบันคนในสังคมอาจคุ้นเคยกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ มากขึ้นจากพื้นที่สื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือรายการบันเทิงต่าง ๆ แต่ภาพที่ปรากฏเหล่านั้นไม่อาจฉายถึงความหลากหลายมากพอ และยังคงมีภาพเหมารวม โดยเฉพาะการที่พวกเขาต้องเป็นคนเก่ง กล้าแสดงออก และสร้างสีสันความสนุก

หากพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดา จะเก่งหรือไม่เก่ง จะกล้าแสดงออกหรือขี้อาย หากพวกเขาไม่ตรงตามความคาดหวังของสังคม จะยังได้รับการยอมรับหรือไม่

ชวนสำรวจอคติ ภาพเหมารวม และการเลือกปฏิบัติซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศยังคงเผชิญอยู่ในสังคมไทย เมื่อสังคมไทยที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างและยอมรับ LGBTQIAN+ ทว่าแม้แต่ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยังต้องเคยพบกับอุปสรรคมากมาย ก่อนสภาจะมีมติให้ผ่านได้อย่างยากลำบาก

 

ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

การยอมรับความหลากหลายทางเพศที่ยังคงถูกบดบังภายใต้ความหลากหลาย 

“ประเทศไทยค่อนข้างเป็นมิตรกับประชากรกลุ่มความหลากหลายทางเพศระดับหนึ่ง แต่การมีพื้นที่ส่วนนี้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยยอมรับพวกเขาแล้ว เพราะยังคงมีการกำหนดบทบาท จำกัดหน้าที่ สร้างเงื่อนไขว่าต้องเก่ง ต้องดี ถึงจะได้รับการยอมรับ”

อาจารย์นอตติ หรือ ผศ. ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภาพเหมารวมต่อ LGBTQIAN+ ที่ปรากฏในสังคม ทำให้ความหลากหลายในกลุ่มพวกเขาเองถูกบดบัง ทั้งที่ LGBTQIAN+ แต่ละกลุ่มมีประเด็นปัญหา เงื่อนไข และประสบการณ์แตกต่างออกไป

“ผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่า ‘ชายจริงหญิงแท้’ ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกัน ชอบอะไรไม่เหมือนกัน มีความสามารถไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้สังคมยังมอง LGBTQIAN+ ในฐานะ ‘สายพันธุ์’ หนึ่ง ที่มีลักษณะนิสัยและคุณสมบัติต่าง ๆ เฉพาะติดตัวมา เช่น ต้องกล้าแสดงออก ต้องสามารถสร้างเสียงหัวเราะได้”

มากไปกว่านั้น การมองความหลากหลายภายในกลุ่ม LGBTQIAN+ เอง ยังคงมีบางกลุ่มที่ไม่ได้รับความเข้าใจ เช่น Aromantic ที่ไม่มีแรงดึงดูดกับผู้อื่นในทางด้านความรู้สึกผูกพัน หรือมีแรงดึงดูดน้อยมาก Asexual ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น หรือ Non-Binary ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีตัวตนอยู่เหนือกรอบชายหญิง เป็นต้น หรือบางสถานการณ์ผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็เหยียดหรือไม่เข้าใจกันเองด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจตัดสินได้ว่าทุกคนในสังคมไทยเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้งแล้วจริง ๆ เพราะมีทั้งคนที่เข้าใจ คุ้นเคย และมองความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันคนบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจหรือตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว 

 

ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ แม้จะเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยไม่เคยเจอความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาก่อน อาจารย์นอตติชวนพิจารณาบริบทสังคมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อวิถีชีวิตและมุมมองต่อเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ กระทั่งการแต่งงานย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในอดีตคนอาจแต่งงานและมีลูกเร็ว ขณะที่ปัจจุบันผู้คนคำนึงถึงความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกและสภาพคล่องทางการเงิน

เช่นเดียวกัน มุมมองเรื่องตัวตนทางเพศ ซึ่งแต่ละคนย่อมมีความเปลี่ยนแปลงและเลือกออกแบบความสัมพันธ์ของตัวเองได้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการเรียนรู้กันและกันให้มากขึ้น เปิดใจยอมรับมุมมองใหม่ในการเข้าใจเรื่องเพศ โดยปราศจากอคติที่ว่าคุณลักษณะที่ไม่ตรงตามกรอบชายจริงหญิงแท้ที่สังคมคุ้นเคย จะต้องเป็นความผิดปกติเสมอไป 

 

ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

 

“เราจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา พวกเขาแค่มีมุมมองการใช้ชีวิตและตัวตนแตกต่างจากขนบ ถ้าเราปรับมุมมองโดยให้พื้นที่ยอมรับเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่หลากหลายขึ้น สังคมก็น่าจะมีพื้นที่ให้กับตัวตนและความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้”

นอกจากนี้ การให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัจจุบันข้อมูลส่วนมากอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งอาจมีถูกบ้าง ผิดบ้าง และการศึกษากระแสหลักยังอยู่ในขั้นการพัฒนาเพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ขณะที่ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้ระบบการศึกษาของไทยอาจต้องใช้เวลาวิ่งให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

“ทุกครั้งที่สังคมพัฒนาไป มนุษย์ย่อมมีการมองตัวเองที่เปลี่ยนแปลง มีการออกแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นแนวโน้มเรื่องเพศของมนุษย์จะหลากหลายและซับซ้อนขึ้น”

ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ เพิ่มเติมได้ทาง อยู่-ร่วม-สุข: เรื่องเล่าความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด LGBTI+

 


 

ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง ปรับความเข้าใจ มอง LGBTQIAN+ อย่างมนุษย์คนหนึ่ง

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์