รสชาติที่หายไป และความหิวที่ไม่มีวันอิ่ม

รสชาติที่หายไป และความหิวที่ไม่มีวันอิ่ม

รสชาติหายไปไหน? สำรวจความอยากที่ไม่เคยอิ่ม ผ่านงานของ ‘มาร์ค แชทซ์เคอร์’ กับคำถามใหญ่ว่า “ทำไมเรากินมากขึ้น แต่ไม่เคยพอใจ?”

KEY

POINTS

เคยสงสัยไหมว่าเหตุใดอาหารบางอย่างที่เราตั้งใจจะกินแค่ชิ้นเดียว กลับจบลงที่การกินจนหมดถุง ทั้งที่ความอร่อยของมันก็ไม่ได้น่าประทับใจขนาดนั้น หรือเหตุใด การไดเอ็ตที่เริ่มต้นอย่างสวยงามมักจะจบลงด้วยน้ำหนักที่กลับมาเท่าเดิม หรือบางทีอาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

คำถามเหล่านี้ คือใจกลางของปริศนาที่นักข่าวอาหารและนักเขียนมือรางวัล อย่าง ‘มาร์ค แชทซ์เคอร์’ (Mark Schatzker) ได้อุทิศเวลานับทศวรรษเพื่อไขคำตอบ ผลงานของเขาไม่ได้ชี้ไปที่ ‘สารอาหารปีศาจ’ ตัวใหม่ แต่ชี้ไปที่สิ่งที่ถูกมองข้ามมาตลอด นั่นคือ ‘รสชาติ’ (flavor)​

เขาแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจต่ออุตสาหกรรมอาหาร จากการที่ผู้ผลิตไม่ ‘แยแส’ ต่อรสชาติที่แท้จริง 

“อาหารที่เรากินในวันนี้ยังดูเหมือนอาหารอยู่ก็จริง แต่รสชาติของมันกลับต่างไปจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง” หรือ “รสชาติไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย รสชาติคือวิธีของร่างกายในการบอกว่ามันต้องการอะไร”

แชทซ์เคอร์ ไม่ใช่นักเขียนสายอาหารธรรมดา เขาคือนักสืบแห่งรสชาติ ผู้เดินทางข้ามพรมแดนจากโลกวารสารศาสตร์ไปสู่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เขาเป็นนักเขียนประจำของ ‘Modern Diet and Physiology Research Center’ และมีผลงานตีพิมพ์ในสื่อชั้นนำ อย่าง ‘The New York Times’ และ ‘The Wall Street Journal’ พื้นฐานด้านจิตวิทยาและชีวเคมี ทำให้เขามีมุมมองที่ไม่เหมือนใครในการเชื่อมโยงสิ่งที่เรารู้สึก เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในร่างกาย 

“ผมไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์อาหารอย่างเป็นทางการ แต่ผมอยากรู้ว่ารสชาติที่หายไปจากอาหาร มันหายไปตอนไหน ทำไม และจะเอาคืนได้อย่างไร” เขาเล่าไว้ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ทำให้เขากลายมาเป็น ‘นักรื้อฟื้นภูมิปัญญาแห่งการกิน’ ในแบบที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกระแสหลักมักมองข้าม

ในหนังสือเล่มแรกของเขา ‘Steak: One Man’s Search for the World’s Tastiest Piece of Beef’ (2010) อาจดูเหมือนการตามหา ‘สเต๊ก’ ที่อร่อยที่สุดในโลก แต่แท้จริงแล้ว เป็นบทสำรวจเชิงลึกว่า ‘ความอร่อย’ นั้น เชื่อมโยงกับแหล่งที่มา วิธีเลี้ยงวัว อาหารที่วัวกิน และคุณภาพชีวิตของวัวอย่างแยกไม่ออก เขาค้นพบว่า เนื้อที่อร่อยที่สุด ไม่ใช่เนื้อจากห้องแล็บหรือเทคโนโลยี แต่คือเนื้อจากวัวที่ได้ใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติบนทุ่งหญ้า

จากหนังสือ Steak นำไปสู่การตั้งคำถามที่ใหญ่กว่าในหนังสือ 2 เล่มสำคัญของเขา นั่นคือ ‘The Dorito Effect’ (2015) และ ‘The End of Craving’ (2021) 

ปรากฏการณ์ที่รสชาติสวนทางกับโภชนาการ

ในหนังสือ The Dorito Effect พลิกกระแสความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับ ‘อาหารขยะ’ (junk food) เสียใหม่ แชทซ์เคอร์ เขียนได้สนุก เข้าใจง่าย และเปลี่ยนวิธีมองอาหารโดยสิ้นเชิง แน่นอน เขาไม่หยุดอยู่ที่การประณามน้ำตาลหรือไขมันเป็นตัวการสำคัญ แต่เสนอว่า สิ่งที่ควรจับตามากที่สุด คือ ‘รสชาติที่หลอกลวง’ ซึ่งกำลังบิดเบือนความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอาหารอย่างเงียบ ๆ 

The Dorito Effect คือแก่นของปัญหา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากสองแนวโน้มที่สวนทางกัน  

ประการแรก ‘อาหารมีรสชาติจืดชืดลง’ (Big Bland) ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ได้มุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณสูง ทนทานต่อโรค และมีรูปลักษณ์สวยงาม ผลที่ตามมาคือ ไก่เนื้อโตไวใน 35 วัน แต่ให้สภาพของเนื้อที่แสนจืดชืด หรือมะเขือเทศมีสีแดงสด แต่กลับไร้รสชาติ 

อาหารที่เคยมีรสชาติเข้มข้นในตัวเอง กลับจืดชืดลงเรื่อย ๆ จากลักษณะการผลิตเชิงอุตสาหกรรม

ประการที่สอง ‘เทคโนโลยีในการสร้างรสชาติสังเคราะห์ดีขึ้น’ (Big Flavor) เทคโนโลยีด้านรสชาติก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด นักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดและสังเคราะห์สารให้กลิ่นรส (Flavorings) ที่เหมือนของจริงได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้เราสามารถ ‘เติม’ รสชาติกลับเข้าไปในอาหาร ตั้งแต่รสทาโก้ในแผ่นข้าวโพดทอด ไปจนถึงรสไก่ในซุปก้อน หรือรสสตรอว์เบอร์รีในโยเกิร์ต ทั้งที่ไม่มีสตรอว์เบอร์รีแม้แต่ชิ้นเดียว

การถือกำเนิดของ Doritos ในยุค 1960s เปลี่ยนโฉมหน้ารสชาติของอาหารไปตลอดกาล จุดเปลี่ยนอยู่ที่การตัดสินใจใส่ ‘รสทาโก้’ ลงไป ทั้งที่ในความเป็นจริง Doritos ไม่มีเนื้อ ไม่มีผัก ไม่มีชีส ไม่มีซัลซา มีเพียงเศษแป้งข้าวโพด และ ‘flavorings’ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำอื่นใด นอกจาก ‘มายา’ 

อุตสาหกรรมการเกษตรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับผลผลิต ปริมาณ และรูปลักษณ์มากกว่ารสชาติ (ซึ่งลงเอยที่กำไร) ไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มกลายเป็นเนื้อจืด ๆ ที่ต้องคลุกซอสจึงจะกินได้ ผักผลไม้ที่โตเร็วและใหญ่ขึ้น แต่กลับขาดความหอมหวานและรสชาติที่แท้จริงไปอย่างน่าใจหาย 

ปัญหาสุขภาพยุคใหม่อย่างโรคอ้วนและการกินมากเกินไป จึงไม่ได้มาจากแคลอรีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่สมองไม่สามารถประเมิน ‘คุณค่าจริง’ ของอาหารได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่ลิ้นสัมผัสไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ร่างกายได้รับจริง

“เราได้เปลี่ยนระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อพาร่างกายไปสู่ความสมบูรณ์ทางโภชนาการ ให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนมาทำร้ายเราเอง”

นี่คือสิ่งที่ทำให้อาหารยุคใหม่จำนวนมาก เป็น ‘อาหารจอมลวง’ (impostor food) รสจัด กลิ่นแรง แต่ไร้เนื้อแท้ ทำให้เรากินเข้าไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าจะเจออะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึก “อิ่มพอ” จนกว่าจะหมดถุง แล้วเราก็หยิบถุงใหม่อีกครั้ง

จุดที่น่าสะเทือนใจคือแม้กระทั่งอาหารที่เราเชื่อว่าทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น โยเกิร์ต ชา กาแฟ หรือแม้แต่เนื้อดิบ ล้วนมี ‘flavor additives’ แฝงอยู่ โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว การสวม ‘แว่นตารสชาติ’ ที่แชทซ์เคอร์พูดถึง ทำให้เราหลงคิดว่าเรากำลังกินสิ่งหนึ่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มันคืออีกสิ่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง

หยุดความอยากด้วยรสชาติที่แท้จริง

หาก The Dorito Effect คือหนังสือที่เปิดโปงความลวงของรสชาติในอาหารยุคใหม่ หนังสือ The End of Craving คือบทต่อมาที่ มาร์ค แชทซ์เคอร์ พยายามตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงอยากกินมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่รู้ว่าไม่ควร และทำไมคำว่า ‘อิ่ม’ จึงไม่สามารถหยุดความอยากได้อีกต่อไป

“เรามักเชื่อว่าการกินมากเกินไป คือสาเหตุของโรคอ้วน ทั้งที่ความจริง ก็เช่นเดียวกับน้ำมูกหรืออาการไอ มันเป็นเพียงอาการที่สะท้อนถึงปัญหาที่ลึกกว่านั้น”

เขาชี้ให้เห็นว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้สร้าง ‘ชัยชนะ’ ทางโภชนาการด้วยการเติมวิตามิน อย่าง ไนอาซิน (B3) ลงในแป้งขาว เพื่อขจัดโรคเพลลากรา (pellagra) ซึ่งเป็นโรคขาดสารอาหารที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสนในศตวรรษก่อนหน้า ชัยชนะนี้ยิ่งใหญ่และรวดเร็ว เพียงไม่กี่ปี โรคเพลลากราก็หายไปจากอเมริกาเกือบสิ้น

แต่ในระยะยาว กลับปรากฏว่า ‘อาหารที่ถูกเสริม’ เหล่านี้ ไม่ได้ทำให้สุขภาพดีขึ้นเท่าไร ตรงกันข้าม มันคือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่ความอยากและความอิ่มไม่สอดคล้องกันอีกต่อไป

อาหารที่เรากินมีการเติมวิตามิน สารทดแทนไขมัน สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นและรส แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายรู้สึกพึงพอใจ ตรงกันข้าม ร่างกายสับสน สมองไม่สามารถ ‘จับคู่’ ระหว่างรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการได้ จึงเกิดความอยากซ้ำซ้อน ซึ่งไม่อาจดับได้ด้วยการกิน 

แชทซ์เคอร์ อธิบายว่า ความอยากอาหารที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหาด้านเจตจำนงหรือวินัย แต่มาจากความผิดเพี้ยนของระบบสื่อสารในร่างกายเองที่เกิดจากอาหารที่ผ่านการ “ปรุงแต่งให้ดีเกินไป” ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมไร้น้ำตาลที่ให้ความหวานโดยไม่มีแคลอรี ซึ่งทำให้สมองเกิดความสับสน เพราะหวานควรหมายถึงพลังงาน แต่กลับไม่มีพลังงานจริง ผลที่เกิดขึ้นคือการกระตุ้นให้กินมากขึ้น

ในทางตรงข้าม วัฒนธรรมอาหารในบางประเทศ อย่าง อิตาลี กลับสะท้อนปรัชญาการกินที่ยึดถือ ‘ความพึงพอใจ’ มากกว่า ‘ความพยายามควบคุม’ พวกเขาไม่ได้บังคับตัวเองให้งดของหวาน แต่ใส่ใจในคุณภาพ ปริมาณ และความรู้สึกที่อาหารให้ การกินจึงไม่ใช่การทำสงครามกับตนเอง แต่เป็นการสมานฉันท์กับร่างกายผ่านรสชาติ

ดังนั้น คำตอบของ แชทซ์เคอร์ อยู่ที่การฟื้นความสัมพันธ์กับรสชาติที่แท้จริง รสชาติที่มาจากอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารสอดคล้องกับสิ่งที่ลิ้นสัมผัส รสชาติที่สมองสามารถ “เชื่อถือ” ได้

กลไกในสมอง เมื่อ ‘ความอยาก’ เอาชนะ ‘ความพึงพอใจ’ 

หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ มาร์ค แชทซ์เคอร์ เสนอไว้ คือการแยกแยะระหว่างสองพฤติกรรมที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ ‘ความอยาก’ (wanting) กับ ‘ความพึงพอใจ’ (liking)

แชทซ์เคอร์ อธิบายว่า มนุษย์มีระบบประสาทที่ขับเคลื่อนการกินด้วยสองแรงผลักในสมองซึ่งต่างกัน หนึ่งคือ wanting ซึ่งขับเคลื่อนด้วยสารโดปามีน (dopamine) และอีกหนึ่งคือ liking ซึ่งสัมพันธ์กับระบบโอปิออยด์ (opioid system) ในสมอง ความอยากคือแรงกระตุ้นให้ ‘คว้า’ อาหารมาโดยเร็ว ในขณะที่ความพึงพอใจ คือการได้ลิ้มรสและรับความสุขจากมัน 

ปัญหาคืออาหารยุคใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่ผ่านการปรุงแต่งรส ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้น wanting อย่างรุนแรง แต่กลับไม่มีสิ่งใดมาสนอง liking ให้รู้สึก ‘พอ’

“เราคิดเป็นรสชาติ เราฝันถึงรสชาติ… รสชาติคือความอยากดั้งเดิมที่ฝังอยู่ในตัวเรา”

แชทซ์เคอร์ ชี้ว่า เรากำลังใช้ชีวิตภายใต้ ‘โดปามีนพีค’ ตลอดเวลา จากอาหารที่หลอกล่อให้เรากินมากขึ้น แต่แทบไม่สร้างความสุขหลังการบริโภคเลย นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของโภชนาการ แต่คือปัญหาทางอารมณ์ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับอาหาร

เขายกตัวอย่างไก่ที่ถูกเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม จนไม่มีรสชาติของ ‘ไก่’ เหลืออยู่เลย เราต้องคลุกซอส ปรุงรส หรือทอดจนกรอบ เพื่อกระตุ้นความอยากซ้ำซ้อน โดยไม่มีเนื้อแท้รองรับ 

ในทางตรงข้าม อาหารที่มีรสชาติตามธรรมชาติ เช่น ผักพื้นบ้าน ไก่ที่เลี้ยงกลางแจ้ง หรือมะเขือเทศพันธุ์ดั้งเดิม อาจไม่ได้จัดจ้านในทันที แต่กลับมอบความรู้สึกพึงพอใจแบบลึกซึ้งเมื่อได้กินอย่างตั้งใจ และนั่นคือ liking ซึ่งมีพลังบำบัดได้จริง

“อาหารที่เรากินในวันนี้ยังดูเหมือนอาหารอยู่ก็จริง แต่รสชาติของมันกลับต่างไปจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง”

แนวคิดนี้มีความหมายทางปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง เพราะการควบคุมอาหารด้วยการจำกัดแคลอรี หรือบังคับตนเองให้ “ห้ามกิน” โดยไม่เปลี่ยนคุณภาพของสิ่งที่กินเลย เป็นเพียงการกด wanting โดยไม่เติมเต็ม liking ผลคือร่างกายจะโหยหาความอยากกลับมาในรูปแบบใหม่เสมอ กลายเป็นวัฏจักรของการกิน การอด และการพ่ายแพ้

คำตอบอาจอยู่ที่การ ‘ฟื้นรสชาติที่แท้จริง’ ขึ้นมาใหม่ เพราะรสชาติไม่ใช่แค่เรื่องของลิ้น แต่คือระบบสื่อสารซับซ้อนที่สมองใช้ในการประเมินคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร เราอาจไม่ต้องกินน้อยลง หากเราเริ่มจากการกินสิ่งที่ดีและแท้จริงมากขึ้น

สมองของเราฉลาดกว่าที่คิด

ในโลกที่ข้อมูลด้านโภชนาการท่วมท้น ผู้คนจดแคลอรี หลีกเลี่ยงไขมัน คำนวณสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต แต่กลับไม่มีความสุขกับการกินมากขึ้น มาร์ค แชทซ์เคอร์ มองว่าความพยายามควบคุมอาหารในยุคสมัยนี้ อาจเกิดจากการไม่เชื่อใน ‘ความฉลาด’ ของร่างกายตัวเอง

เขาแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่สมองของมนุษย์ แต่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มีความสามารถพิเศษที่เรียกว่า ‘nutritional wisdom’ หรือ ‘ภูมิปัญญาในการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง’ โดยไม่ต้องมีฉลากโภชนาการใด ๆ มาเป็นตัวช่วย

การทดลองของ ‘เฟร็ด โพรเวนซา’ (Fred Provenza) นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของแพะและแกะในธรรมชาติ พบว่าสัตว์เหล่านี้สามารถเลือกพืชที่มีสารอาหารที่ร่างกายขาดได้อย่างแม่นยำ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อร่างกายต้องการสารชนิดใดโดยเฉพาะ รสชาติของพืชที่มีสารนั้น จะ “อร่อยขึ้น” อย่างเห็นได้ชัดในสายตาของสัตว์ 

“สัตว์เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงรสชาติของอาหารเข้ากับผลลัพธ์ที่ร่างกายได้รับ รสชาติกลายเป็นสัญญาณ และคุณค่าทางโภชนาการคือรางวัล”

แชทซ์เคอร์ เชื่อว่ามนุษย์ก็มีความสามารถเช่นเดียวกัน เพียงแต่ระบบนี้กำลังถูกรบกวนอย่างหนักจาก ‘อาหารยุคใหม่’ ที่รสชาติปรุงแต่งเข้มข้นเกินจริง แต่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อสมองได้รับสัญญาณของความอร่อย แต่ไม่มีสารอาหารจริงตามมา มันจึงสับสน และเรียกร้องให้กินเพิ่ม เพื่อหวังจะเจอสิ่งที่ต้องการในครั้งต่อไป

เขายกตัวอย่างเด็กทารกที่สามารถเลือกอาหารที่มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้อย่างแม่นยำ หากปล่อยให้พวกเขาเลือกกินเอง โดยไม่มีการบังคับหรือหลอกล่อด้วยรสหวานหรือสีสัน 

ถ้าเราเลิกสวมแว่นตาแห่งความกลัว แล้วเริ่มไว้วางใจร่างกายของตนเองผ่านการกินอาหารที่แท้จริง สมองจะค่อย ๆ ฟื้นความสามารถในการ ‘เลือก’ และ ‘พอ’ ได้เอง

รสชาติบำบัด

ในโลกที่เราถูกพร่ำสอนให้กลัวอาหาร แคลอรี และไขมัน มาร์ค แชทซ์เคอร์ กลับชวนเรามองอาหารด้วยสายตาใหม่ ด้วย ‘ความไว้วางใจ’ เขาไม่ได้เรียกร้องให้เรานับแคลอรี หรือเลิกกินของอร่อย ตรงกันข้าม เขาเสนอให้เราเริ่มจาก ‘ความอร่อย’ แต่ต้องเป็นความอร่อยที่แท้จริง

รสชาติไม่ได้เป็นศัตรูของสุขภาพ แต่คือ ‘ภาษาธรรมชาติ’ ที่ร่างกายใช้สื่อสารกับเรา เมื่อรสชาติกับคุณค่าทางโภชนาการสอดคล้องกัน เรากินเพื่อเติมเต็ม ไม่ใช่เพื่อหนีความว่างเปล่า 

คำตอบของ แชทซ์เคอร์ ไม่ใช่การปฏิเสธเทคโนโลยี หรือย้อนกลับไปกินแบบดั้งเดิมอย่างสุดโต่ง แต่คือการฟื้น ‘ความสัมพันธ์ที่ซื่อสัตย์’ ระหว่างมนุษย์กับอาหาร เขาเสนอให้เรากลับไปสนใจตรงแหล่งที่มา กลับไปกินสิ่งที่ร่างกายไว้ใจ และให้ความสำคัญกับ liking มากกว่า wanting ความพึงพอใจที่ลึกซึ้ง มากกว่าความอยากที่วูบวาบ

ใน The Dorito Effect เขาเล่าถึงหญิงชราคนหนึ่งในแคนซัส ที่ได้กินไก่พันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ แล้วถึงกับร้องไห้ออกมา เพราะรสชาตินั้นคือ ‘ความทรงจำ’ ที่เธอไม่ได้สัมผัสมานานหลายสิบปี ไม่ใช่แค่รสของไก่ แต่คือรสของชีวิตจริงที่เธอเคยรู้จัก และนั่นคือสิ่งที่ แชทซ์เคอร์ อยากให้เรากลับไปสัมผัสอีกครั้ง

หากความเจริญของยุคนี้ทำให้เรากินมากขึ้น แต่สุขภาพแย่ลง กินเก่งขึ้น แต่ความพอใจน้อยลง บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเรากินมากเกินไป แต่อยู่ที่ว่าเรากิน “ไม่เป็น” ต่างหาก

คำว่า ‘รสชาติบำบัด’ (The Delicious Cure) ไม่ใช่ถ้อยคำล้อเล่น แต่คือการโอบรับ ‘รสชาติที่แท้จริง’ ซึ่งเป็นแนวทางจริงจังที่สุดที่เราจะฟื้นความสัมพันธ์กับอาหาร สุขภาพ และตัวเราให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ด้วยการฟังร่างกาย ฟังสมอง และดื่มด่ำกับรสชาติแท้จริงของอาหาร... อย่างที่เคยเป็น

 

เรื่อง: เอกประภู บรรณสรณ์

 

ที่มา:

Schatzker, Mark. The Dorito Effect: The Surprising New Truth About Food and Flavor. Simon & Schuster, 2015.

Schatzker, Mark. The End of Craving: Recovering the Lost Wisdom of Eating Well. Simon & Schuster, 2021.