ผ่าความคิด ‘พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ กรีดศพได้ปัญญา ความตายต่อหน้าสอนได้ทุกเรื่อง

ผ่าความคิด ‘พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ กรีดศพได้ปัญญา ความตายต่อหน้าสอนได้ทุกเรื่อง

‘แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ แพทย์นิติเวช มาพร้อมรูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นสะดุดตา มีบทบาทหลากหลายทั้ง ผู้อำนวยการสถาบัน มาสู่บทบาทสว. ซึ่งถูกพูดถึงมากในช่วงเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้ง

  • ‘แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ ทำงานนิติเวช และงานต่าง ๆ มากมาย ก่อนก้าวมาสู่บทบาทสว. ที่มีภาพลักษณ์แต่งตัว ทำสีผมจัดจ้าน
  • ‘แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์’ ทำงานกับตำรวจ และทหาร แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่น การทำงานบางอย่างนำมาสู่คดีความที่ทำให้คุณหญิงหมอต้องต่อสู้
  • ช่วงเลือกตั้ง 2566 ‘แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์’ ตัดสินใจชัดเจน และมีมุมมองเฉพาะตัวต่อการเมืองสมัยใหม่ในไทย

The People พูดคุยกับ ‘คุณหญิงหมอ’ แพทย์นิติเวชชาวไทย ผู้มาพร้อมรูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นสะดุดตา และสร้างความฮือฮาจากการไขคดีดังมากมายในอดีต จนก้าวมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 12 ทำหน้าที่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ  

แม้ชีวิตจะดูมีสีสันและมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามช่วงวัย  แต่ทว่า ระหว่างทางนั้นก็ไม่ได้ราบเรียบแม้แต่น้อย มีเหตุให้ต้องพบเจอกับอุปสรรคและเรื่องราวต่างๆ เพื่อทดสอบตัวเองอยู่เป็นระยะๆ

‘คุณหญิงหมอ’ ที่ไม่เหมือนใคร แต่คนไทยคุ้นเคย จะมีวิธีคิดและหลักการการทำงานอย่างไร ที่ส่งผลให้ในวันนี้ เธอมี ‘จุดยืน’ ที่แน่วแน่มั่นคง แม้บางขณะต้องปะทะกับคลื่นลมที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงเหลือเกิน 

The People: เส้นทางทางการแพทย์ ตั้งแต่เด็ก ตั้งใจจะมาเป็นคุณหมอนิติเวชเลยหรือเปล่า 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ความจริงตั้งแต่เด็ก เป็นคนชอบวิทยาศาสตร์ แล้วก็คิดว่าคงจะชอบสืบสวนสอบสวนคู่กันกับศิลปะ ศิลปะในความหมายคือวาดรูปก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าวาดดี หรือเย็บปักถักร้อยออกแบบอะไร แต่พอตอนสอบเข้า รู้สึกไม่สนุกกับด้านศิลปะ ก็เลยเป็นวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ตอนนั้นก็เหมือนอะไรที่ดีที่สุด ก็คือเป็นหมอ พอมาเป็นหมอ ไปทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดปีแรก ก็เริ่มพบว่า โอ้โห ปัญหาในวงการแพทย์มันเยอะนะคะ แล้วถ้าเราจะเลือกแก้ปัญหาใหญ่ ๆ มันจะต้องไปเป็นปลัดกระทรวงฯ ซึ่งเราคงไม่ถนัด ก็เลยมาตัดสินใจเลือกเป็นสาขาที่ขาดแคลน 

ก็เลือกดูว่าใน 4 สาขาขาดแคลน อันไหนที่จะเข้ากับชีวิต ในความหมายคือเราอยากจะแต่งตัวบ้างอะไรบ้าง ก็เลือกที่พยาธิกายวิภาคค่ะ (Anatomical Pathology เป็นวิชาว่าด้วยการเรียนรู้ร่างกายของมนุษย์โดยละเอียด) แต่พยาธิกายวิภาคมันยังไม่ใช่นิติเวช มันเป็นการตัดตรวจชิ้นเนื้อ และมีการตรวจศพ 10% 

แล้วพอเราทำงาน มันกลายเป็นว่าเสน่ห์ของงานพยาธิกายวิภาคอันหนึ่งคือการตรวจศพ การตรวจศพเนี่ยมันเหมือนวัด มันเหมือนโลกแห่งธรรมะ มันเหมือนการสืบสวนสอบสวน หมายความว่าก่อนผ่า เอ๊ะ เป็นอะไร ประมาณนี้ มันคงเป็นพื้นฐานที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอันที่เราชอบ แล้วพอไปทำงานในพิษณุโลกมั้ง เราก็เริ่มทำงานฝาก ก็คืองานนิติเวช ผ่าศพแล้วรู้สึกชอบ เพราะฉะนั้น ก็ใช้เวลา 10 ปีหลังจากเป็นพยาธิแพทย์ แล้วเราก็ถึงได้พบว่าเราเบื่ออันนั้นแล้ว เราชอบนิติเวช ก็เลยมาสอบความเชี่ยวชาญ ความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มก็จะได้เป็น 2 บอร์ด พยาธิกายวิภาคกับนิติเวช อันนี้ก็คือที่มา แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เลือกมาตั้งแต่ต้น 

The People: แล้วครอบครัวเห็นด้วยหรือผลักดันไหม เพราะเท่าที่รู้มาทางสายนี้ไม่ได้ทำรายได้เท่าไหร่ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ต้องบอกว่าโชคดีมากที่พ่อไม่เคยถามเลยว่าเรียนอะไร แล้วมันจะทำเงินไหม ไม่เคยเลยค่ะ ทั้งพ่อทั้งแม่ เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้สนับสนุน แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางขัดแย้ง แล้วเราก็ไปของเราเรื่อย ๆ สนุกดีค่ะ 

The People: อยากให้คุณหมอยกตัวอย่างคดีดัง ๆ ที่ทำให้เป็นที่รู้จัก 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ต้องใช้คำว่าจังหวะชีวิตเปลี่ยนมากกว่ามั้ง เพราะว่าคดีดังมันก็เยอะนะ แต่ว่าทำไมมันมาเจอกันกับเรา ก็น่าจะเป็นเพราะว่าบุคลิกแปลก เพราะฉะนั้น ครั้งแรกที่ปรากฏต่อสื่อ มันเป็นความแตกต่าง คือเขาบอกหมออะไรวะอะไรประมาณนี้นะ คนก็งง

คดีแรกไม่ใช่ศพค่ะ เป็นการตรวจเลือดพ่อแม่ลูก มนต์สิทธิ์ คำสร้อย แล้วหลังจากนั้นมา มันก็เหมือนจุดเริ่มต้นของ DNA ก็มามีคดีเจนจิรา คือนักศึกษาแพทย์ที่ถูกฆ่าหั่นศพ เป็นงานที่ทำให้เป็นที่รู้จัก โดยที่มาพร้อมกันกับความเกลียด คือตำรวจก็ไม่ชอบ ควบคู่กันมาทันที เกิดอะไรขึ้น ก็ต้องตอบว่าเขาไม่รู้เบื้องหลังว่าคดีนี้มันคือลูกศิษย์เราใช่ไหมคะ แล้วเราเองเราก็อยู่ในวงการนี้มาตลอดว่าถ้าใช้หลักฐานผิด สุดท้ายจำเลยกลับคำ ก็จะทำให้เรียกได้ว่าคนตายตายฟรี เราก็มีความเห็นค้านกับที่ตำรวจกำลังทำว่าเขาฆ่าที่โรงแรม 99

อันนี้คือจุดที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ มันมีหมอที่บุคลิกแปลกคือผม แล้วก็ยังทำงานแบบกล้าไปขัดตำรวจอะไรประมาณนี้ แล้วสุดท้ายมันก็มีความสำเร็จ คือการตรวจด้วย DNA ก็เลยยิ่งทำให้มันเรียกว่าชีวิตเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าคดีดัง ก็ใช่ แต่ว่าสำหรับตัวเอง คือมันเหมือนธรรมะจัดสรรให้ขึ้นจังหวะเปลี่ยน

จากคดีแรก ก็มาเป็นคดีคุณห้างทอง ธรรมวัฒนะ จริง ๆ มันก็มีอีกหลาย ๆ คดี แต่ว่าคดีที่สังคมสนใจมันจะเป็นพวกนี้ค่ะ อย่างคดีวิสามัญจัดฉากก็มี คดีที่ผู้ต้องหาถูกจับ แล้วก็ถูกซ้อม แล้วถูกเผาไข่ แต่ตอนแรกไม่รู้ ญาติต้องแห่ศพขึ้นมาจากสุราษฎร์ธานี  

The People: แล้วมีคดีของทนายสมชายด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ตอนคดีทนายสมชาย คือเมื่อย้ายมาอยู่กระทรวงยุติธรรม ก็มีเรื่องนี้ขึ้นมาพอดี พร้อม ๆ กันกับเรื่องของนโยบายยาบ้ากับปัญหาภาคใต้ด้วย แก้ปัญหาสงครามยาบ้า ประมาณนั้นค่ะ 

The People: ความยากนี่มีกระทั่งเคสของคุณหมอผัสพรด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: คือทั้งหมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นคดีคุณหมอผัสพร หรือคดีอะไรทั้งหลาย ความยากคือการทำงานกับตำรวจ ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นความผิดนะ แต่ว่าวันใดวันหนึ่งที่เป้าหมายของการทำงานมันไม่เหมือนกัน มันจะขัดกัน คือหมอไม่เคยมองเป้าหมายเรื่องใครจะเก่งกว่าใคร เป้าหมายคือเราต้องการให้ความจริงปรากฏ คนผิดต้องได้รับโทษ และที่สำคัญที่สุดต้องเป็นความยุติธรรม มันต้องมี 3 อันครบนะ

หมายความว่าไง คือบางทีมันมีความจริงอยู่ 10 ชิ้นอย่างนี้ แต่ว่าคุณจับใส่ไปในสำนวนแค่ 3 ชิ้น คุณก็ได้ลงรับโทษแค่ 3 ส่วน อันนี้เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราคืออย่างนี้ ความจริงปรากฏอย่างนี้

แต่ตำรวจเขามีความรู้สึกว่างานนี้เป็นงานเขา ถ้าฉันไม่ทำก็ต้องไม่ให้มีใครมาทำ ฉันทำไม่ได้ก็ต้องไม่มีใครมาทำประมาณนี้นะคะ มันก็เลยทำให้ทุกคดีเหมือนกันหมด ก็คือจะเกิดความไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่บางอันไม่เป็นคดี เช่น สึนามิ ต้องตอบเลยว่าคนที่ทำงานกับศพ หมอพรทิพย์มากกว่าตำรวจใช่ไหมคะ แล้วเราเองก็มีความตั้งใจจากคดีเจนจิรา ว่าเราอยากจะตั้งศูนย์พิสูจน์ศพนิรนาม แล้วพอมันเกิดภัยพิบัติสึนามิปุ๊บ เราก็หาวิธีช่วย แล้วนักการเมือง รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นคนส่งเราไปอยู่ตรงบริเวณนั้นเอง ต้องบอกว่าก็คุณตำรวจตัดสินใจผิดเองไง คุณดูไม่ออกว่าหน้างานคุณจะต้องให้ใครเป็นคนทำ แล้วพอเราไปจับงานนี้ สังคมก็มาเห็นความสำคัญ ทีนี้คุณก็จะดึงออกไม่ได้ กลายเป็นแบบนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะจับอะไรที่ไหนค่ะ 

The People: เหมือนคุณหมอเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: คนภายนอกจะดูว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราทำความเข้าใจ ถ้าหมอเป็นตำรวจ หมอก็ว่าเหนื่อยนะ เพราะอะไรรู้ไหม คือตัวหมอพรทิพย์จะมุ่งไปที่ข้างหน้าอย่างที่บอก ทำความจริงให้ปรากฏตามกระบวนการยุติธรรม แต่อีกคนนึงต้องทำงานอยู่ตรงนี้ พอใครไปทำงานที่มันน่าจะเป็นของคุณ คุณก็คอยขัดคอยขวาง มันก็เลยเหมือนไม้เบื่อไม้เมาโดยตลอด

ก็เคยได้ฟังตำรวจเขาพูดในภายหลังนะคะ คือบางครั้งเราก็นึกว่าเขาคิดว่าเราไม่เก่งเหรอ ไม่ได้เรื่องเหรอ เขาบอกไม่ใช่ แต่เขาบอกว่าถ้าเมื่อไหร่คุณหมอพรทิพย์เข้ามาอยู่ในคดี มันจะไม่จบตามที่เขาอยากให้เป็น หมายความว่ามันต้องเป็นไปตามคุณหมอ ก็คือ 3 อย่างเมื่อกี้ คือหลักฐานก็ต้องเอาให้หมดสิ ไม่ใช่เอาแค่นี้แล้วจบอะไรอย่างนี้ เขาก็ไม่ค่อยชอบ 

The People: การทำงานของตำรวจเหมือนเขาใช้ดุลยพินิจเป็นหลัก แต่คุณหมอใช้การวิเคราะห์ แล้วก็หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: คือจะใช้แบบไหนก็ต้องบอกตรง ๆ ว่ามันไม่มีตำราเขียนนะ ไม่มีตำราไหนเขียนว่าความยุติธรรม แค่นี้ก็เรียกว่ายุติธรรมแล้ว หรือว่าต้องครบทั้งหมดถึงจะยุติธรรม สมมติอย่างนี้ ไม่มีใครบอก หมอก็ใช้หลักพุทธ หลักธรรมะ ก็คือใจเขาใส่ใจเราใช่ไหมคะ เรามีหน้าที่ทำอะไร ก็ทำให้ดีที่สุด ส่วนการลงโทษมันไม่ใช่ธรรมะไง เรื่องลงโทษมันเป็นบททางกฎหมาย ทีนี้พอเราทำเต็มที่ เขากลับไม่ชอบ ก็แล้วแต่ คล้าย ๆ อย่างนั้น มันคนละวิธีคิดค่ะ

The People: คุณหมอมีสโลแกนว่า “สืบจากศพ” อันนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้ง หรือคุณหมอตั้งเองคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่รู้จะใช่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ไหมนะคะ เพราะว่าเขาชวนเราเขียนบทความ แล้วก็รวมทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรก แล้วชื่ออันนี้ก็ตั้งจากทีมงานของสำนักพิมพ์ Amarin Printing คือการรวมบทความที่เราเขียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศพ เป็นสืบจากศพค่ะ 

The People: หนังสือที่ออกมาหลายเล่ม ชื่อจะคล้าย ๆ กันใช่ไหม  

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ใช่ค่ะ ก็คือ สืบจากศพ สู้เพื่อศพ รักเป็นศพ สอนด้วยศพ อะไรประมาณนี้ แล้วก็ไม่น่าเชื่อนะคะ รวมทั้งพ็อกเก็ตบุ๊คฝรั่งด้วย 30 กว่าเล่มเลยค่ะ

The People: ว่ากันว่า รายได้ของคุณหมอจากการเขียนมากกว่าเป็นหมอซะอีก 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ต้องตอบว่าสำหรับหมอพรทิพย์ การเขียนคือรายได้ที่ทำให้เราสามารถรวบรวมได้ เพราะว่ามันมีแต่เงินเดือนไง สมัยก่อนไม่มีอย่างอื่น แล้วเราไม่เปิดร้าน ไม่มีค่าอะไรพิเศษ เราคิดว่ามันเป็นธรรมะจัดสรร หรือบางทีเรานึกไปลึก ๆ ค่ะ ก็คือพลังของคนตายเขาจัดสรรมาให้เรา แล้วมันก็เป็นเหมือนกุญแจไข เพราะบางคนอ่านเรื่องของเรา แล้วเอามาปรึกษา แล้วก็ไปช่วยไขคดีตัวเอง เช่น คดีน้องชายหรือพี่ชายเขาถูกยิง แล้วก็ตายไปแล้วตั้ง 10 ปี ตำรวจก็ไม่ฟ้อง เขากล่าวหาว่าคนตายขับรถจะชนตำรวจ ก็เลยโดนยิง แต่พออ่านตำราเรา หรืออ่านหนังสือเรา เขาก็เลยรู้ว่า อ๋อ เราดูวิถีกระสุนได้นะ ดูเขม่าอะไรประมาณนี้ เขาก็เอามาปรึกษา แล้วก็เอาไปฟ้องคดี จนในที่สุดตำรวจคนที่ยิงก็ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตอย่างนี้ค่ะ 

ผ่าความคิด ‘พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ กรีดศพได้ปัญญา ความตายต่อหน้าสอนได้ทุกเรื่อง

The People: คล้าย ๆ คดีของนักแม่นปืนคนหนึ่ง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: เคสนี้จำชื่อไม่ได้ แต่จำได้ก็คือไปยิงเขา สุดท้ายหนีตำรวจมา แล้วก็พบว่าตายด้วยปริศนากระสุนปืน 5 นัด แล้วมีเขม่าอยู่ที่มือ ซึ่งเขม่าที่มือก็ต้องมีเพราะไปยิงเขาใช่ไหมคะ แต่ว่าเขม่าที่มีในตำแหน่งหนึ่ง มันอยู่ที่ฝ่ามือค่ะ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้  

อย่างคดีนี้ ตำรานิติเวชเยอรมัน เขียนโดยคุณหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องปืนมาก ๆ เขียนชัดมากเลยว่า เมื่อไหร่ที่เราเจอเขม่าที่ฝ่ามือ แพทย์นิติเวชต้องนึกถึงการยกมือขึ้นป้องกระบอกปืน เหมือนเคสนี้เป๊ะเลยค่ะ นี่คือสิ่งที่เราเจอมาทั้งชีวิต ว่าด้วยความที่เนื้องานมันออกไปทางความเห็น ซึ่งบางทีความเห็นมันประกันเรื่องประสบการณ์ไม่ได้ ความเป็นวิชาการเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันก็อันตรายเหมือนกันนะคะ

The People: อย่างคดีคุณแตงโม คุณหมอก็ไม่ได้เข้าไปทำตั้งแต่แรก แต่เห็นแล้วทนไม่ไหวใช่ไหมคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ใช่ค่ะ คือคดีแตงโม เรารู้หน้าที่เราว่าเราอยู่ในช่วงการปฏิรูป ก็เฝ้าติดตามเฉย ๆ เสร็จแล้วประหนึ่งว่า แม่เขาสงสัยขึ้นมาในระหว่างทาง แล้วต้องการให้เราชันสูตรศพซ้ำ ซึ่งตัวเองไม่อยากทำแล้ว เพราะว่าเราออกมาจากการเป็นข้าราชการ แต่ว่ามันก็เหมือนแตงโมเนี่ยดลใจ เพราะเราได้เห็นแผล มันเป็นบาดแผลที่ไม่ใช่มีใครทำหรอก หมายความว่าไม่ได้เป็นการกระทำจากการผ่าศพ แล้วสุดท้ายบาดแผลตัวนี้มันก็ไปเข้ากับบทความทางวิชาการในต่างประเทศ ซึ่งเผอิญในตอนแรก เขาไม่ได้เอามาใช้สรุปว่าการเป็นบาดแผลแบบก้างปลา มันจะเกิดจากการที่ร่างสวนกันกับเรือ

แล้วเรือนั้นจะต้องมี 2 ใบพัด เพราะใบพัดใบนึงจะหมุนตามหมุนทวนอะไรอย่างนี้ นี่คือตัวอย่าง ซึ่งหมอเป็นคนค้านตั้งแต่แรกว่าไม่มีทางตกท้ายเรือ เพราะว่าตกท้ายเรือมันจะกลิ้งฟิ้วไป อะไรอย่างนี้ แต่แผลที่มันสม่ำเสมอเนี่ยเป็นไปไม่ได้ นี่คือทำให้เห็นว่า งานที่เราทำมันต้องระมัดระวังเรื่องการวิเคราะห์มาก ๆ ว่าใช้ความลำเอียงไม่ได้ ต้องใช้วิชาการ แต่คดีแตงโมก็หยุดอยู่แค่นั้น จนกระทั่งล่าสุดที่ว่ามีภาพ เขาแกะคลิปโทรศัพท์ในรถ แล้วก็ได้ยินเสียงพูดคุยกันว่าทุกคนอยู่หัวเรือกันหมด 

The People: แต่ละคดีมีความแตกต่าง มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน อย่างสึนามิก็อย่างหนึ่ง เรื่องจำนวนคน จำนวนศพด้วย คุณหมอทำงานอย่างไร

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ความจริงแล้วนะคะ ไม่เคยนึกว่าชีวิตจะเป็นอย่างนี้ คือที่เราเลือกเป็นหมอผ่าศพเป็นนิติเวชเนี่ย เพราะว่าเราอยากอยู่เงียบ ๆ อยากอยู่ในโลกที่เราเป็นตัวของเราเอง หมายความว่าทำงานได้เต็มที่ คือเราไม่ต้องแบบมีใครมาห้ามว่าพอแล้วหมอ แค่นี้พอ ไม่ต้องไปต่อ เหมือนกับมีกั๊ก ๆ ไว้อะไรอย่างนี้ เราไม่ชอบทำงานแบบนั้น แต่ว่าวันหนึ่งชีวิตมันเปลี่ยน ตอนที่ย้ายมาอยู่รามาธิบดี มันคือเรื่องของกรรมหรือธรรมะจัดสรร เพราะฉะนั้น พอชีวิตมันเปลี่ยน ก็เลยกลายเป็นว่า โอ้โห แต่ละคดีมันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความคิดส่วนตัวจริง ๆ เตรียมตัวมาตั้งแต่ตอนคดีเจนจิราแล้วนะ เพราะเจนจิราเป็นคดีพลิกชีวิต ดังมากเลยค่ะ แล้วพอดังมากปุ๊บ เรารู้สึกเลยว่าไม่ใช่แล้ว  

คือไม่ใช่ว่าจะให้เราหาประโยชน์จากคดี แต่เราคิดว่าเรากำลังถูกลิขิตให้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม คือความคิดตอนนั้นนะคะ แล้วก็ความคิดอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้หนักแน่นขึ้น ก็คือตอนปี 46 เหมือนปาฏิหาริย์ที่ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานคุณหญิง ใช้คำว่าปาฏิหาริย์เลยค่ะ เพราะว่าหมออยากเป็นคุณทองแดง แต่เรารู้ว่างานเราไม่ได้เข้าใกล้พระองค์ท่านเลย แล้วคุณพ่อยังบอกว่าพระองค์ท่านไม่ชอบหรอกคนผมแดงอะไรอย่างนี้ แล้วพอเราได้ปุ๊บเนี่ย เรารู้ทะลุเลยค่ะว่าต้องเจออะไรที่หนักในอนาคต แล้วมันก็เจอจริง ๆ เหมือนยามนี้เจอ ป.ป.ช. คือมันยังไม่จบสักทีนึง แต่ว่าเราก็รู้ว่านั่นคือกำลังใจที่พระองค์พระราชทานให้ ว่าต้องสู้นะ คือสู้เพื่อให้งานมันสำเร็จอะไรอย่างนี้ค่ะ

The People: พูดถึง ป.ป.ช.คุณหมอพูดถึง GT200 ด้วยไหม...ตอนนั้นเหมือนว่าเรายืนยันไปแล้ว แล้วก็สั่งซื้อด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ใช่ค่ะ คือเวลาที่ไม่ได้รับรู้เรื่องจริง แล้วฟังจากสื่อก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อน ต้องเล่าลำดับสั้น ๆ ก็คือว่าปี 47 หลังจากที่สถาบันตั้งขึ้น เราก็ลงไปดูทางภาคใต้ เนื่องจากเขาขอความช่วยเหลือ ตอนนั้นยังไม่มีนิติวิทยาศาสตร์ทางใต้ เราก็ลงไป ทีนี้การทำงานมันมีทั้งตำรวจ ทหาร

ตำรวจเนี่ยเราไม่ค่อยยุ่ง แต่ทหาร พอมันระเบิดปั๊บ ก็บอกบ้านนู้นเกี่ยวข้องอะไรประมาณนี้ เราก็มีความรู้สึกว่าน่าจะใช้วิทยาศาสตร์ แล้วก็เพื่อป้องกันการซ้อม ปรากฏว่าในระหว่างทำงาน เราเห็นทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือใช้อุปกรณ์ตัวนี้ สรุปแล้วคือมันคือยุทธภัณฑ์ค่ะ มันไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่เวลานั้น สื่อจะไม่ตี เพราะตอนนั้นมันเหมือนผู้คนจะเกลียดทหารว่างั้นเถอะ 

ส่วนตัวหมอ หมอไม่อยากเสียดินแดนไง เราก็ลงไป แรก ๆ ไม่ได้ใช้เอง แต่เราให้ทหารสกรีนใช้ตัวนี้ สมมติว่าเราต้องตรวจบ้านในโรงเรียนปอเนาะ 200 หลัง ทหารก็จะใช้อุปกรณ์นี้สกรีน สิ่งที่เราเห็น ณ วันนั้นก็คือถ้าทหารเขาใช้ แล้วมันตัดตรงจุดไหน เราเข้าตรวจ เราก็มักจะตรวจเจอหลักฐาน เช่น คราบของระเบิด คราบยาเสพติด เราก็มีความสงสัยหรือว่าสนใจว่าเครื่องนี้ใช้ได้นะ แต่ว่าไม่ได้ใช้พิสูจน์ เพราะมันเป็นยุทธภัณฑ์ค่ะ

ทีนี้พอช่วงเหตุการณ์มันถี่ขึ้น เขาไม่มีคนพามาเดินให้เรา เจ้าหน้าที่เราก็ไม่กล้าเข้าที่เกิดเหตุเพราะกลัว คือมันมีความรู้สึกเหมือนห้อยคอ ห้อยพระ มีไอ้ตัวนี้ใช้ได้ก็โอเคใช่ไหมคะ หมอก็ใช้เงินที่เขาให้มาซื้อ แล้วก็งบเหลือจ่ายมาซื้อ ก็ซื้อ 3-4 ตัว ในขณะที่ทหารนี่ซื้อเป็นพันนะ แล้วก็เกิดวิกฤตการเมือง จำได้เลยว่าเป็น NGO … ก็คือบอกว่าไอ้เครื่องตัวนี้เอามาใช้จับคนเข้าคุก ความที่เราเป็นคนดังแล้วเราลืมไง แล้วเราก็พูดเลยค่ะว่า มีใช้แล้วทำให้รู้สึกปลอดภัยสัก 10% 20% ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย แต่นึกภาพออกไหมคะว่า ผู้ฟังเขาจะเอาไปเขียน เขาก็จะบอกว่าคุณหมอพรทิพย์ยืนยัน พอมันสร้างความจงเกลียดจงชังปุ๊บ มันก็ไปกระตุ้นเลยว่าไปดูสิเครื่องนี้เครื่องอะไร แล้วก็เตรียมฟ้อง 

แต่แทนที่เขาจะไปใส่ใจว่าทหารซื้อเป็นพันเครื่องน่ะ ถ้าจะได้ประโยชน์ต้องได้ที่ตรงนั้น 3 เครื่องของเราจะไปได้อะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้น เรื่องมันเริ่มต้นจากตรงนั้น ตั้งแต่ปี 2553 สืบมาราธอน แต่ ป.ป.ช. ไม่เคยถามอะไรหมอเลย แล้วจู่ ๆ ปี 64 ก็มีหนังสือให้เราชี้แจง แล้วก็มีเวลาเหลืออยู่ประมาณ  4 เดือนจะหมดคดี ซึ่งเราก็รู้ทันทีว่า ถ้าเราขอแบบคนอื่น ขอสิทธิ์ชี้แจง คือหานู่นนี่ ป.ป.ช. จะรวบคดีฟ้องเลย อ้าว เราก็พยายามในภาวะซึ่งมันหาหลักฐานยาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วสุดท้าย ป.ป.ช. ก็ฟ้อง ฟ้องไม่ฟ้องธรรมดานะคะ เราขอความเป็นธรรม แล้วอัยการก็อุตส่าห์บอกมีอีก 3-4 คนเนี่ยมันไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่ ป.ป.ช. ก็ยังจะฟ้อง แล้วก็เพิ่งเมื่อสัก 2-3 อาทิตย์ที่เราได้เห็นในเนื้อของการฟ้องเป็นครั้งแรก เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยไม่มีความยุติธรรมค่ะ 

The People: เหมือนคุณหมอจะบอกว่าถูกกลั่นแกล้ง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: 100% ค่ะ คือถ้าคำฟ้องนั้นบอกว่าหมอพรทิพย์ทำให้ชาติเสียหายกับเครื่องเดียวที่มีราคาเพิ่มขึ้นแปดหมื่น แล้วเราไม่ได้เป็นคนเซ็นนะ ฟ้องเอาเป็นเอาตายเลยค่ะ แล้วพันเครื่องทำไม ผบ.ทบ. ไม่โดน บอกได้เลยว่ามันมีธงค่ะ แล้วยังไม่พอนะ พอฟ้องเสร็จ ป.ป.ช. ออกคลิปอีก เลขาฯก็ออกคลิปมานั่งเหมือนกับด่าหมอพรทิพย์ ประจานให้ฟังเลยเนี่ยว่ามีหลักฐาน เราบอก เฮ้ย ยังเพิ่งขึ้นศาลนะ มันยังไม่ผิดนะ คุณเอาสิทธิ์อะไรมาด่าเรา เอามาเหมือนกับ GT ทั้งหมดเนี่ย เป็นเราทั้งหมด นี่คือสิ่งที่กำลังเจออันล่าสุดอยู่ตอนนี้ แต่เราคิดว่าเมื่อมันไม่มีโอกาสในการที่จะขอความเป็นธรรมได้แล้ว สุดท้ายเราก็สู้แล้วค่ะ 

The People: ทำงานมาตลอดชีวิต คุณหมอมองกระบวนการยุติธรรมยังไง

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: กระบวนการยุติธรรมของไทยเรามันมีเป็นส่วน ๆ ค่ะ แล้วแต่ละส่วนก็จะยึดหลักแค่ว่าต้องการความอิสระ แต่ละส่วนจะพัฒนาไปไม่เหมือนกัน อย่างสิ่งที่หมอเห็นว่าพัฒนามาเรื่อย ๆ แล้วก็ยังรับฟัง ยังดูดีคือศาลค่ะ ในขณะที่ต้นกระบวนการยุติธรรมเลย เราพูดความจริงก็คือว่า ตำรวจส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นพนักงานสอบสวน เมื่อตำรวจไม่อยากเป็นพนักงานสอบสวน ก็แปลว่าคนที่เริ่มต้นทำสำนวนก็มีคุณภาพไม่เพียงพอสิ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นปัญหาเรื่องที่ 1 ก็คือว่าในแต่ละหน่วยไม่ได้ใส่ใจที่จะมุ่งเป้าหมายให้เกิดความเป็นธรรมเต็มที่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คืออันที่ 2 ค่ะ คือรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่าควรจะมีกระทรวงใดเป็นเจ้าภาพ

อย่างเช่น ในต่างประเทศเขาจะมีกระทรวงยุติธรรม หมอคิดว่าปี 2540 มีการเขียน เพราะว่ามันมีการตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักกิจการยุติธรรม มันก็จะคล้าย ๆ กับ Institute of Justice ในกระทรวงยุติธรรม หน่วยนี้จะต้องเป็นหน่วยรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น ทำไมคดีฟ้องแล้วศาลยก ทำไมจับไม่ได้ อะไรประมาณนี้ มาทบทวนทำวิจัย เพื่อที่จะแก้ปัญหา ไม่มีค่ะ หน่วยนี้ไม่มี แล้วก็ปัญหาใหญ่เรื่องที่ 3 ก็คือนักการเมืองค่ะ กระทรวงที่จะทำงานเรื่องนี้คือกระทรวงยุติธรรม เป็นกระทรวงเกรด C เรียกได้ว่า C- ด้วยซ้ำไป ต่ำสุดเลย แล้วก็นักการเมืองจะไม่แตะ เพราะว่าตำรวจจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก

เรื่องสุดท้าย หมอว่าคนไทยชอบไปเชื่อเรื่องเวรเรื่องกรรมมากไป จนกระทั่งไม่ต่อสู้หรือไม่ลุกขึ้นที่จะทำให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นในประเทศไทย หมอลุกขึ้นทำให้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่เคยได้รับความเป็นธรรมแบบนั้น แต่เรากลับพบว่าหลาย ๆ คนงอมืองอเท้า หมายความว่าช่างมันเถอะหรือปล่อยมันไป คุณพ่อสอนหมอว่า ถ้าเจอเศษแก้วแตกต้องเก็บ แล้วถ้าเราทุกคนเห็นแก้วแตกแล้วก็เดินไป บอกช่างมันเถอะ มันก็คงเต็มเมืองเลย แต่ถ้าเราเจอปั๊บ เราช่วยกันเก็บ แล้วจะช่วยกันดูซิ ใครมันเอามาโยน ปัญหากระบวนการยุติธรรมก็มองเป็น 4 ส่วนแบบนี้ค่ะ

ผ่าความคิด ‘พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ กรีดศพได้ปัญญา ความตายต่อหน้าสอนได้ทุกเรื่อง

The People: ถ้าระบบความยุติธรรมเปรียบเสมือนศพ คุณหมอผ่ามาทั้งชีวิต เจอความจริงอะไรบ้าง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ศพมันพูดไม่ได้ค่ะ ความยุติธรรมมันก็ช่วยตัวมันเองไม่ได้ แต่มันอยู่ที่คนที่ต้องทำหน้าที่ ที่จะค้นหาความจริง และจะทำให้ความยุติธรรมมันปรากฏ เพราะฉะนั้น ความจริง ความยุติธรรมไม่ได้เป็นวัตถุค่ะ มันไม่ได้อยู่ให้เรามองเห็นเป็นก้อนเป็นอาหาร แต่มันอยู่ที่พวกเราต้องเข้าใจมัน แล้วก็ทำมันให้ปรากฏ เพราะว่ามันก็เหมือนศพ มันไม่เห็นอะไรเลยในศพ หรืออาจจะเกลียดด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเราเข้าใจปุ๊บ เราก็จะหาความจริงแทนได้

The People: ถึงวันนี้ คุณหมอยังเชื่อมั่นหรือศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่เคยเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมหรือศรัทธาเลย แต่ว่าหมอเป็นคนศรัทธาในหลักแห่งพุทธค่ะ คือมนุษย์มันเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาชดใช้กรรม แล้วหมอก็เชื่อว่าถ้าเราเกิดมาแล้วเราทำความดี ก็กำจัดความชั่ว เรื่องนี้ไม่เคยเปลี่ยนความเชื่อ พูดง่าย ๆ คือว่า จะทำความดีด้านใดก็ได้ เผอิญเราอยู่ด้านกระบวนการยุติธรรมไงคะ ไม่ใช่ว่าเราก็จะบ้าระห่ำทำนะคะ คือมันเหมือนช่วงชีวิตจัดสรร เรายังอยู่ เราก็ทำ

ยกตัวอย่างเช่นในความหมายคือความจริงเกษียณแล้ว ก็ไม่น่าจะทำอะไรได้อีก แต่จู่ ๆ รัฐธรรมนูญ 60 มันดันเขียนท่อนหนึ่ง แล้วก็มีการเสนอชื่อให้ไปเป็น สว. ถามมาว่าจะเอาไม่เอาอะไร ประมาณนี้ เราก็อยากทำเรื่องกระบวนการยุติธรรม เราก็ถือว่าเส้นทางเมื่อมันเปิด เราก็ยังอยากทำ แต่ถ้าเส้นทางมันปิด ก็ไม่ทำ ก็ทำความดีอื่น เพราะฉะนั้น ไม่เคยศรัทธากระบวนการยุติธรรมไทย แต่ว่าศรัทธาเรื่องการทำความดี เพราะเราทำเราได้ค่ะ เราไม่ทำก็คือเราไม่ได้ คนอื่นทำแบ่งให้เราไม่มีวันได้ ต้องทำเอง

The People: การเป็น สว. เหมือนเป็นประตูที่ก้าวมาสู่บทบาททางการเมือง คุณหมอตั้งใจจะทำอะไร หรือว่าอยากจะปฏิรูปอะไร

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ต้องบอกว่า เราก็รู้สึกว่าอยากจะทำเรื่องกระบวนการยุติธรรมค่ะ ครั้งแรกนี่คือสมัครนะ ตอนเป็น สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ไม่ได้คัดเลือก ไม่ได้รับคัดเลือกก็ไม่เป็นไร ทีนี้พอมาเป็น สว. เราก็เข้าเลย อันที่เราชอบเลยค่ะ ก็คือกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ น่าเสียดายที่เผอิญว่า จังหวะเวลาประชุมคือเราไม่ทันเกม เนื่องจากเราไม่เคยทำงานพวกนี้มาก่อน เขาจะวางตัว คือจะมีคนอยากเป็นประธานกรรมาธิการ เพราะเขารู้ว่าประธานกรรมาธิการจะมีอำนาจอะไรบ้าง ประธานจะตั้งอนุ อนุก็จะตั้งกรรมาธิการที่อยู่ภายใน ตั้งที่ปรึกษา สมมติเราสมัครวันนี้ พรุ่งนี้ อ้าวตายแล้ว ชื่อประกาศเต็มหมดแล้ว ตำรวจหมดเลย แล้วเราไปอยู่ตรงไหน ทั้ง ๆ ที่ชื่อเรา งานของเราอยู่ในรัฐธรรมนูญนะ ลองนั่งอยู่แป๊บนึงค่ะ ไม่สำเร็จ 

… แล้วก็มาเป็นกรรมาธิการของสิทธิมนุษยชนแทน ก็เรียกได้ว่าใช้อีกด้านหนึ่งเพื่อทำให้มันเกิดสิ่งดีๆ ขึ้น แต่ถามว่าสามารถทำอะไรได้เต็มที่ได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ เพราะว่ามันเป็น สว. ที่มาในระบบเหมือนข้าราชการ มีผู้บังคับบัญชาเป็นประธาน และผู้บังคับบัญชาก็มักจะเป็นทหารหมด ไม่ทหารก็จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าทุกคนก็จะเกรงใจ คือเราเองเสนออะไรซึ่งมันเป็นสิ่งที่รับรองได้ว่าดี คือแม้แต่วิธีประชาสัมพันธ์ เขายังไม่รับเราเลยค่ะ คือเขาจะไม่คิดนอกกรอบเด็ดขาด แล้วอะไรที่พอมันผ่านไปเนี่ย แล้วเราพูดแล้ว แล้วเป็นยังไง การรับฟังความเห็นคนอื่นยากมาก อันนี้คือสิ่งที่เห็นนะคะ มันก็เลยทำให้โอกาสที่เราอยู่ในนี้ มันไม่ได้ทำอะไรได้เท่าไหร่ แต่เราก็ได้พยายามเต็มที่แล้วค่ะ 

The People: มองภาพรวมของการเมือง ตั้งแต่ที่ก้าวเข้ามาจนถึงวันนี้เป็นยังไงบ้าง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: มันจะต้องย้อนไปนิดหนึ่งว่า การเมืองของเดิมก่อนที่จะมีรอบนี้ค่ะ มันก็จะเป็นเหมือนนักการเมืองเข้ามา แล้วนักการเมืองที่เข้ามาเนี่ย ถ้าไม่ใช้เงินไม่มีทางได้ ทีนี้เมื่อมันไม่ได้ใช้เงินไม่มีทางได้ ก็แปลว่ามันต้องมีนายทุน เมื่อมันมีนายทุนแล้วเลือกตั้งเข้ามา ทุกคนต้องอยากเป็นรัฐบาล เป็นก็เพื่อที่จะหาเงินมาคืนนายทุน อันนี้คือวงจรอุบาทว์ ซึ่งเป็นมาอยู่เดิม แล้วพอมันอุบาทว์หนักทีก็ปฏิวัติทีใช่ไหมคะ เวลาที่มันอุบาทว์หนัก ๆ เนี่ย เราก็ไม่มีวิถีทางกฎหมาย หรือวิถีทางการเมืองจะแก้ได้ มันก็เลยเห็นเป็นวัฏจักร ในช่วงที่หมอรับราชการ ก็จะเห็นไม่ต่ำกว่า 4-5 หนแล้วมั้ง แล้วมันก็เหมือนเดิม คือทหารปฏิวัติมาแล้วก็เสียของทุกครั้งเสมอมา ทีนี้พอมาถึงครั้งนี้บ้าง มันเป็นครั้งที่มีคำสัญญาว่าอยากจะปฏิรูปค่ะ เสร็จแล้วปรากฏว่าก็ร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาเป็นว่า สว. โหวต

นี่คือเกี่ยวกับตัวเองเลย เราเองก็ครั้งแรกที่เข้ามาทำ ก็มีความตั้งใจจริงใจ หวังว่าจะได้มีโอกาสทำ ก็ทำตามแนวเขา คือรัฐธรรมนูญมันมาถูก มันมีการรับรองมาถูกไหมคะ แต่ปรากฏว่าผ่านมาได้ปีนึงก็เห็นแล้วค่ะว่าเป็นการเมืองแบบเดิม ต่อให้หัวของรัฐบาลจะเป็นคนที่มาจากการปฏิวัติ สุดท้ายคุณก็ต้องแบ่ง แบ่งเค้ก แล้วก็คุณก็จะไม่แตะอะไรที่มันไปแตะอำนาจ เช่น กระบวนการยุติธรรมเนี่ยเขาก็ไม่แตะ เพราะฉะนั้นแล้วการเมืองอันนี้ทำอะไรให้ดีขึ้นไหม หมอก็ว่าไม่ค่ะ ไม่ได้ทำอะไรให้มันดีขึ้น เราไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีไม่สร้างอะไรนะคะ หมอบอกตรงนี้ไว้เลยว่าไม่ค่อยมีสื่อยอม นายกรัฐมนตรีท่าน (พลเอกประยุทธ์) มีกรรม ในความหมายคือความดีนะ ที่จะต้องช่วยปัญหาแผ่นดิน 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือตอนนั้นที่มันทางตันเรื่องการเมือง 2 คือเปลี่ยนราชบัลลังก์ เปลี่ยนราชบัลลังก์มันก็จะไม่แข็งแรง มันก็ต้องได้คนที่จงรักภักดี และ 3 คือโควิด-19

ใน 100 ปีมี 3 ผลงานนี้ หมอก็ว่าท่านควรจะภูมิใจและพอใจใช่ไหมคะ แต่ในเส้นทางทางการเมือง ไม่สำเร็จหรอกค่ะ แต่ถ้าท่านอยากจะอยู่ต่อเพื่อทำรถไฟฟ้าสีม่วง อันนั้นเราไม่สนับสนุน เพราะมนุษย์ธรรมดาก็ทำได้ เพราะว่าเมื่อช่วงที่ขึ้นมาไม่สามารถทำให้การเมืองมันดีขึ้นได้ ในโลกนี้มีนะที่เกาหลีค่ะ แต่ก่อนคอร์รัปชั่นมาก ทหารก็ต้องมาปฏิวัติอย่างนี้ แล้วเกาหลีเขาเปลี่ยนด้วย เขาทำกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และเขาให้การศึกษาประชาชน เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่ารอบนี้การเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยน แล้วไงอีก หนักกว่าเก่าอีก เลือกตั้งรอบใหม่เข้ามา คือด้วยความที่หมอไม่ได้เอาตัวเป็นพรรคใครใช่ไหม เราก็เลยไม่ทุกข์ มันก็เลยมีทั้งข้อที่ดีใจที่มีความชัดเจน

สิ่งที่ดีใจนะ คือ 1. ไม่มีเรื่องคุณทักษิณอีกแล้ว มันไม่มีแลนด์สไลด์ 2.ไม่มี 3 ป. แล้วเหมือนกัน และอันที่ 3 เป็นครั้งแรกที่ไม่ต้องใช้เงินนะคะ การใช้เงินมันเป็นการเมืองรุ่นเก่า แต่นี่มันดีมากเลย คือคุณเลือกใครก็ไม่รู้ ฉันขออย่างเดียว คือฉันเลือกพรรคก้าวไกลใช่ไหมคะ

แต่ว่าทันทีที่หมอเห็น ก็คือ ว้า ทำไมมันต้องมีความก้าวร้าวตามมา ก็เลยเหมือนว่ารัฐบาลที่อยู่ ก็ไม่ได้เตรียมอะไรเพื่อจะเจอ ซึ่งไม่ผิดนะ หมอคาดไว้แล้วว่าจะเป็นอย่างนี้ เพราะว่าในระหว่าง 8 ปีคุณไม่ได้ทำงานข่าวให้รู้เรื่องเลย หรือว่าความเกลียดมันไปถึงไหน อะไร อย่างนี้ จะอ้างว่า อุ๊ย ฉันทำความดีนู่นนี่ มันไม่ใช่  

The People: เมื่อมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย คุณหมอรู้สึกว่า ยังไม่ค่อยถูกใจนัก เพราะว่าอาจจะมีความก้าวร้าว? 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ ต้องใช้คำว่าอย่างนี้ คือดีใจที่การเมืองจะเปลี่ยน แต่ว่ากลายเป็นความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่ ไม่ใช่คำว่าถูกใจค่ะ ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่เลย คือตลอดเวลามันก็มีขัดแย้งใช่ไหม สีเหลืองสีแดง เอาแล้วคราวนี้เป็นหนักกว่านั้นอีก ก็คือว่าลุกขึ้นมาปากพูดประชาธิปไตย มือก็ถือประชาธิปไตย แต่ขอโทษ ใครเห็นค้านไม่ได้ กูฟัดไล่ ด้อมส้มไล่ถล่มอะไรอย่างนี้ คือเรามองว่าพวกนี้ไม่ยอมส่องกระจกตัวเอง แต่ไอ้พวกเราซึ่งเป็นพวกไม่ได้เล่นการเมือง มันก็เลยติดร่างแหไปหมด ประมาณนั้นค่ะ 

The People: ช่วงแรกที่อยากจะได้คะแนนจาก สว. ทางคุณหมอหรือหลาย ๆ ท่าน ก็บอกว่าขอปิดสวิตช์แล้วกัน แต่ตอนหลังทางคุณหมอก็บอกว่าจะเปิดก็ได้ แต่มีข้อแม้ คือจะต้องไม่แตะ 112 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ใช่ค่ะ คือเรื่องนี้จริง ๆ แล้วการมาขอเสียงเนี่ย ก็สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเขาไม่รอบคอบตั้งแต่แรก ก็เมื่อคุณก็รู้ว่าคุณจะต้องลงเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญอันนี้ คุณก็ต้องการเสียง สว. ใช่ไหม แล้วร้องแรกแหกกระเชอทำไม ว่าปิดสวิตช์ ๆๆ ตั้งแต่เข้ามา

ส่วนเราเอง เราไม่ได้ประชด คือเราก็ศึกษา เรามีหลักการของเราว่าทำไมเราปิดสวิตช์ ไม่เกี่ยวกับจะเป็นใครนะคะ ต่อให้มีประยุทธ์มาให้เลือกครั้งที่ 2 ให้เป็นประวิทย์ หมอก็ปิดสวิตช์ เพราะว่าหลักการมันไม่ถูก และ 2 วัตถุประสงค์คือเขาต้องการนายกฯ ที่มาเพื่อปฏิรูป เพราะงั้นเราก็ปิดสวิตช์ แต่พอก้าวไกลเข้ามา เอ้า แล้วคุณมาบังคับฉัน ทั้ง ๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณเอาแต่ด่า แล้วแถมด่ากลุ่มอาจารย์ว่าเป็นช้างป่วยถูกไหมคะ ก็คือมันเป็นพวกหัวคับแคบ เราเป็นข้าราชการ เราเป็นพวกที่มุ่งหวังทำงาน ไม่ได้หวังเพื่อร่ำรวยในชีวิต 

เราก็เหมือนกับ เฮ้อ จะรับเขาได้ยังไง หากจะเปิดสวิตช์ให้ ก็ขอให้ถอยเรื่องนี้ออกไป แล้วก็ไม่เคยได้รับทราบเรื่องพวกนี้ จนกระทั่งมีคนนึงที่ติดต่อมาแล้วก็คุย เขาก็ตอบว่าหาเสียงไปแล้ว ซึ่งหมอก็ตอบได้ว่าประชาชนที่เลือกเขามา ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดหรอก พอดีเราคุยในเนื้อหากฎหมายที่เขาเคยเสนอเอาไว้ มันคือกฎหมายที่จะทำให้ทุกคนด่ากันได้อย่างสบายมากเลย เพราะคุณไปลดโทษการก้าวร้าวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โทษจะเบา ด่าศาลก็ได้ ด่าเราก็ได้ ทุกวันนี้หมอก็โดนด่าจะตายอยู่แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้เลย จะไปด่าใน Facebook ด่าในอะไร แล้วนี่คุณไปลดโทษขนาดนี้ สังคมไม่ต้องอยู่ด้วยกันแล้วมั้ง มันเหมือนพายุโหม ตรงไหนมันก็เอาเข้าไปถล่มเป็นอวตาร นี่คือสิ่งที่เรารับไม่ได้ ที่เขาไม่เคยยอมรับว่าสิ่งนี้เขาทำไม่ถูก ก็เมื่อใกล้กำหนดมันก็ชัดขึ้นนะ เพราะว่าตอนแรกเขาก็ดูเหมือนว่าจะไปทำ MOU แต่ตอนหลังก็ไม่ใช่

The People: ถ้าเกิดต่อไป ความเป็นจริงคุณพิธา ได้นั่งตำแหน่งนายกฯ และเป็นพรรครัฐบาลด้วย คุณหมอมองอนาคตประเทศชาติ หรือการเมืองอย่างไรบ้าง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: หมอว่ามันจะเปลี่ยนไปหมดทุกอย่าง แต่ว่าหมอว่ามันดูเป็นวิกฤตนะ เชื่อสิคะ ไอ้ที่คุยมาทั้งหมดน่ะ มันทำไม่สำเร็จหรอก มันไม่มีทาง คือไม่ใช่ว่าไปดูถูกนะ คือมันเอาฝันมาเขียน ฝันนั้นดีค่ะ แต่ว่าพูดง่าย ๆ คือกรุงโรมไม่เคยสร้างในวันเดียว ไม่มีวัน แล้วทำไมคุณทำลายตัวคุณเองอย่างนี้ คือคุณใช้กระบวนการเหมือนเล่นละคร เล่นหนัง หาเสียงสนับสนุน

คือเราเห็นผู้ว่าฯ กทม.ผ่านมาแล้ว มันมีฝันของคนที่อยากได้ มาแล้วเป็นยังไง กทม. ดีขึ้นไหม นี่มันประเทศไทยใหญ่กว่า กทม. เยอะ เพราะฉะนั้น เราก็เลยมองว่า ต่อให้เขาได้นะคะ ประเทศไทยจะดีขึ้น คือหลังจากนี้นักการเมืองที่จ่ายตังค์ทั้งหลาย ทุกอย่าง ทุกพรรคต้องเปลี่ยนหมดเลยค่ะ เพราะว่าทางนี้ก็เข้ามา เขาบริหารไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป แต่ไอ้เรื่องความก้าวร้าวหรือเรื่องอะไรต่ออะไร ยังเชื่อในหลักธรรมะแห่งพุทธ ไม่มีวันชนะอธรรม เพราะฉะนั้นอธรรมเนี่ยไม่ได้แปลว่าอยู่ในฝั่งเขาเท่านั้น คือทุกคนที่โกงกินแผ่นดิน หมดเวลาของคุณแล้ว ทุกพรรคเลยนะ 

The People: ตอนที่คุณหมอรู้ว่าจะเป็น สว. แล้วรู้อนาคตไหมว่าจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ก็ตอนที่จะเป็น สว. ตอนนั้น ไม่นึกว่าจะถึงเร็วขนาดนี้ ในความหมายคืออะไร ความจริงก่อนหน้าจะเป็น สว. ตอนนั้นเป็น สปท.(สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ถ้าเวลาเราไม่เอาใจไปอยู่ในใครนาน ๆ นะ เราจะมองได้ว่า สังคมที่อยู่ภายใต้ผู้ที่ทำปฏิวัติ มันจะกด พอมันกด คุณจะเป็นคนดีหรือไม่ดีก็ช่าง มันเป็นธรรมชาติ คือการกดเอาไว้ จะทำให้มันเกิดการดันออกข้าง ๆ เราเคยบอกว่านักการเมืองต้องรีแบรนด์ พรรคทุกพรรคต้องรีแบรนด์ให้คนรุ่นใหม่ อันนั้นคิดแค่นั้นนะ ไม่ได้คิดขนาดก้าวไกลที่จะออกมา คือต้องให้คนรุ่นใหม่เขาได้แสดงพลังอะไรประมาณนี้ แล้วก็ไม่ได้นึกว่าจะเกิดอะไรแบบนี้

แต่อันที่ 2 นึกเอาไว้อยู่ในเรื่องของการสื่อสาร แต่ก่อนเราจะปกครองคนเหมือนกับสัมผัสกันโดยตรง เราไม่รู้หรอกว่า ณ ปัจจุบันอิทธิพลที่มันเข้ามาอยู่ในวัยรุ่น มันเป็นอิทธิพลที่มาทางโซเชียล ซึ่งคนละแพลตฟอร์มกัน อันนี้เรารับรู้ แต่เราไม่ได้เข้าไปอยู่กับเขา คือหมอไม่เล่นทวิตเตอร์ ไม่ได้ไปเล่น TikTok ไม่อะไรเลย แต่เรารู้ว่าตรงนี้เป็นอีกหนึ่งโลก ซึ่งเป็นโลกที่คาดไว้เหมือนกัน แล้วก็คุยมา 2 ปีแล้วค่ะ ชวนสมาชิก สภา สว.ให้มาสนใจ แล้วมาทำการบ้านกันไหม ไม่มีใครสนใจค่ะ มันก็ตรงกับคำพระที่ท่านเคยบอกหมอไว้ว่า คุณหมอจำไว้นะ แว่บแรกคิดอะไรให้เชื่อว่าสิ่งนั้นถูก แต่ว่าเขาไม่ฟังหรอก แล้วพอมาวันหนึ่ง มันก็จะเป็นตามนั้น อันนี้คือสิ่งที่เราคาดอยู่แล้วว่าจะเป็นเช่นนี้ แต่ไม่นึกว่าจะถูกด่าขนาดนี้ 

ผ่าความคิด ‘พญ. คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์’ กรีดศพได้ปัญญา ความตายต่อหน้าสอนได้ทุกเรื่อง

The People: คุณหมอพูดทุกฝั่งเลย ทั้งลุงตู่ ทั้งก้าวไกล คุณหมอวิพากษ์วิจารณ์ได้หมด แล้วคุณหมอจะอยู่อย่างไร

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ใช้คำว่า เราแสดงความเห็นแล้วกัน เพราะว่าเราไม่ได้ไปตัดสินว่าเขาไม่ดี แต่เรามองแบบแฟร์ ๆ คือถ้าคนจะขึ้นบริหารประเทศ แล้วฟังคำวิจารณ์ไม่ได้เลยเนี่ย อย่าเป็นนะคะ หมอรู้ว่าหลายคนบอกว่า ทำไมหมอพูดถึงลุงตู่อย่างนี้ แต่มีใครบ้าง ที่บอกว่าเขาเกิดมาเพื่อ 3 สิ่งนี้ของประเทศไทย ไม่มีเขา ประเทศไทยไม่ผ่านวิกฤติ ถูกไหมคะ เราต้องรู้ เรามีภาระหน้าที่เท่าไหน เรามาช่วยกันอย่างอื่นดีไหม เพราะว่าเรื่องวิธีการ มันก็เป็นการเมือง ทหาร เพราะฉะนั้น ถามว่า จากนี้จะอยู่อย่างไร ก็เราเป็นประชาชน ไม่มีใครมารุกรานอะไรเราได้แน่นอน เพราะว่าเราเป็นเมืองพุทธ ถ้าหมอไปเล่นการเมืองอาจจะยุ่ง หรือถ้ายังอยู่ในตำแหน่งราชการอาจจะยุ่ง นี่เราไม่มี เราเกษียณแล้ว 70 แล้ว 

The People: จะไม่เล่นการเมือง?

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่เล่นแน่นอนค่ะ 

The People: คุณหมอกลัวใครบ้างไหม ฟาดมาหมดแล้ว ทั้งตำรวจ ทหาร นักการเมือง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่อยากให้ใช้คำว่าฟาด คือเป็นคนที่คุณพ่อสอนอย่างเดียวว่าให้เกรงใจคนดี ๆ ต้องเกรงใจตัวเองด้วยมั้ง คือพุทธสอนเราว่า เกิดมาคนเดียวก็ตายคนเดียว อย่าหลงตนเอง อย่าทระนง ประมาณนั้นน่ะค่ะ 

The People: ก็คือไม่กลัวใคร แต่ว่าเกรงใจแทนใช่ไหม 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: บอกไม่ถูก คือสนใจว่าตัวเราจะตายดี ไม่ตายดีเท่านั้น 

The People: เห็นมีข่าวว่าคุณหมอโดนขู่โดนอะไรด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ก็ไม่ใช่ว่าไม่กลัวเขานะ คือถ้าเราจะต้องเป็นอะไรตาย เพราะเราไปทำเขามา ไม่ได้ไปโกรธเขาว่า เขาทำอะไรเราค่ะ ประมาณนั้นนะ 

The People: ก็คือจะอยู่อย่างคุณหมอนี่แหละ ใช่มั้ยคะ

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: อย่างเรื่องตำรวจนี่เราอธิบายให้ฟังแล้วว่าจริง ๆ แล้วหมอมุ่งเพื่อ 3 อย่าง แต่ตำรวจเนี่ยไม่ได้มุ่ง เพราะฉะนั้น จะถามว่าทำไมหมอจะต้องกลัวตำรวจ ในเมื่อสิ่งที่หมอมุ่ง มันถูก ถูกไหมคะ

ขณะเดียวกันกับนายกฯ ประยุทธ์ หลายคนถามว่า แล้วหมอไปว่าเขาทำไม เอ้า ก็ตอนที่เป็นประเด็นเนี่ย คือตอนที่มีทุนจีนสีเทาแล้วก็หลาย ๆ เรื่อง คือท่านนิ่ง แล้วก็ตอนที่หมอเริ่มรู้สึกว่ามันต้องพูด ก็คือตอนที่เปลี่ยนผู้บริหารของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยการเอาผู้ที่มีปัญหา มันไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลนะ แต่หลักการ คือเวลาหน่วยใดมีปัญหา ก็เอาไอ้คนมีปัญหาไปไว้หน่วยอื่น เท่ากับเขาไม่นึกถึงหน่วยนี้ ซึ่งในมุมนี้หมอเสียดาย เพราะว่าเดิมเคยนับถือ เพราะว่าเราทำงานด้วยกันตอนที่อยู่ภาคใต้

ท่านนายกฯ ก็รู้ว่าหมอทำงานยังไง แล้วหมอก็รู้ด้วยว่า เพราะนายกฯ ว่าหมอก่อน มันเหมือนกับเรารู้ว่าเขาไม่ได้ศรัทธาเรา ก็คือตอนที่โดนย้ายไปเป็นผู้ตรวจฯ คำพูดที่ท่านบอกคือ ท่านบอกว่า หมอรู้ไม่ใช่เหรอว่าตำรวจเกลียดหมอ หมอบอก รู้ เขาบอกว่า หมอมีหน้าที่แค่ตรวจแล้วก็รายงาน ไม่มีหน้าที่วิเคราะห์ เป็นเราฟังเนี่ย เราจะรู้สึกบวกหรือลบคะ กับคนที่ทำงานในพื้นที่มา 10 กว่าปี เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้เหตุระเบิดมันมากขึ้น เพื่อไม่ให้มันเกิดการซ้อม ไม่ให้เกิดการจับผิดตัว อะไรประมาณนี้ แต่คนที่คุมนโยบายพูดกับหมออย่างนี้ เพราะฉะนั้น ใครรักก็รักเหอะ เราก็ว่ากันตามเนื้องานว่าอย่างนั้นเถอะ

The People: เหมือนคุณหมอเคยพูดว่า จะเดินข้ามสะพานไปหาความจริง แต่ก็เหมือนกับว่ามีคนมาพังสะพานนั้นแล้ว คุณหมอน้อยใจหรือว่าปลงอะไรบางอย่างหรือเปล่า 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: อันนี้ไม่รู้ใครโควต ไม่ใช่หมอนะ แต่ถ้าถามประเด็นว่า เรื่องน้อยใจ มันจะมีแค่เหนื่อยใจ เพราะน้อยใจมันคือการที่ไม่เข้าใจชีวิตค่ะ เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา มันก็คืออดีตที่เราเคยทำเอาไว้ จะในชาตินี้ภพนู้นภพก่อนหน้านั้น หมอจะไม่เคยโทษใครเลยค่ะ แต่ว่าอาจจะเหนื่อยใจแบบ เฮ้อ เจออีกแล้วอะไรอย่างนี้ ไม่น้อยใจเด็ดขาด 

The People: เวลาคุณหมอทำงานก็จะเจอญาติผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยกัน หรือคนที่วิพากษ์วิจารณ์คุณหมอ มาว่าคุณหมอแรง ๆ คุณหมอมีวิธีรับมือหรือจัดการกับตรงนี้ยังไงบ้าง 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ทุกครั้งที่เราเจอความทุกข์ พระพุทธเจ้าจะสอนให้เราเหมือนกับแกะมัน เราก็จะแกะมันทุกครั้งที่เราทุกข์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายใน คือภายนอกมันมากระทบ คือมันด่า แต่ปัจจัยภายในก็คือถ้ามีคนว่าแล้ว ใจเราเป็นยังไง คือบางคนก็จะน้อยอกน้อยใจ นี่คือภายใน ทีนี้เราฝึกมานานแล้วว่า เราจะฟัง แล้วเราก็จะทวนตัวเราว่าเราผิดไหม ถ้าเราผิดเราก็แก้ แต่ถ้าเราไม่ผิด เราไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น การปิดประตูวิพากษ์วิจารณ์ มันก็ปิดได้ คล้าย ๆ ว่าฝึกมาเรื่อย ๆ ล่าสุด บททดสอบเราคือตอนคดีแตงโมค่ะ ที่เจอทนาย… แบบไม่เคยรู้จักไม่เคยเจอกันเลย ด่า อู้ย ด่าแบบเสีย ๆ หาย ๆ ถามว่าเรารู้สึกอะไร คือเรารู้ว่าเขาไม่ควรด่า แต่ว่าเราก็สำรวจใจเรา ใจเราก็นิ่ง นิ่งพอที่จะรู้สึกว่าถ้าเขาด่าแล้วเราไม่รู้สึก มันก็คือกลับไปสู่เขาทั้งหมดแล้ว คล้าย ๆ อย่างนั้นน่ะค่ะ ก็คือเราก็จะฝึกอย่างนี้ 

The People: คุณหมอศึกษาธรรมะด้วยใช่ไหม 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ศพค่ะ ศพมันสอนเรา คือความตายต่อหน้าสอนเราทุกเรื่องเลยค่ะ 

The People: ศพมีกระซิบมาบอกคุณหมอบ้างไหม ให้มาช่วยเขาหรืออะไรอย่างนี้ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ค่ะ โชคดีที่ภพภูมิแบบนี้มันไม่มาเจอกัน แต่ว่าที่บอกว่าศพสอนเราเนี่ย ก็คือมันอยู่ที่เราจะมอง คือหมอเรียนรู้จากศพว่าความตายนี่ไม่แน่นอนเลย มันไม่ใช่ว่าคนดีต้องตายดี เราเห็นแล้วก็จะใช้ชีวิตไม่ประมาท แล้วเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน ก็มีอะไรให้น่าเรียนรู้ ที่พูดว่า ศพเป็นเหมือนหนังสือธรรมะ หรือเป็นวัดแห่งใหญ่ เวลาได้ผ่าเนี่ย มันคือการสอนเรา เราเคยแม้แต่กระทั่งที่รู้สึกแว็บขึ้นมาว่า คนที่นอนให้เราผ่าเป็นคุณพ่อ เราจะคิดออกเลยค่ะว่าความเกลียด หรือความทุกข์ ความคิดลบในใจของมนุษย์ที่มีต่อกันเนี่ย ทันทีที่เขาตาย มันจบค่ะ แล้วเราก็แกะสิคะ อะไรของเรา คือทำไมเราต้องถืออันนี้เอาไว้ เราเกิดความรู้สึกเลยว่า โอ๊ย เราน่าจะอย่างนู้นอย่างนี้ดีกว่าอะไรอย่างนี้ นี่คือบทเรียน และตั้งแต่นั้นมามันก็เลยเหมือนกับปล่อยวาง ไม่มีความผูกอาฆาตผูกความไม่ชอบอะไรอย่างนี้ อันนี้คือเราได้เรียนจากศพ

The People: แสดงว่าเวลาคุณหมอได้กรีดพิสูจน์ศพ ตอนนั้นคุณหมอก็จะเริ่มนิ่งและคิดเลยใช่ไหมคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ใช่ค่ะ ทุก ๆ ครั้งเราจะนิ่งไง พอนิ่งเสร็จแล้วมันมีบางอย่างซึ่งแว่บมา พระท่านตอบว่า ไอ้ที่แว่บมาน่ะคือปัญญาค่ะ ประมาณนั้น 

 

The People: กลับมาที่คุณหมอบอกว่าสังคมตื่นตัว ตะลึงกับคุณหมอคนนี้ ซึ่งไม่เหมือนใครเลยด้วยภาพลักษณ์ อันนั้นคุณหมอตั้งใจที่จะเป็นแบบนั้นในวิชาชีพนี้หรือเปล่า 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: อย่างที่บอกว่าตอนแรกที่อยากจะเรียน มันอยากเรียนคู่ คือชอบทั้งศิลปะแล้วก็อันนี้ เสร็จแล้วเราก็ไม่รู้ตัวเองหรอกค่ะว่าอะไรมันจะดำเนินไปอย่างไร แต่เรารู้ว่าเมื่อเราเริ่มหมดพันธะเรื่องเรียน อีกด้านหนึ่งมันก็แสดงออกมาในความชอบส่วนตัว ก็คือการแต่งตัว แล้วเราก็เริ่ม คือเราจะไม่ปล่อยไปตามเรื่อย ๆ ไง  เราจะเหมือนกับตั้งคำถามตัวเองเป็นอะไร คือเราก็ถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเราชอบแต่งตัวแบบนี้ ทำไมเราต้องสีผมไม่เหมือนกัน 2 ข้าง อะไรประมาณอย่างนี้ 

แล้วพอมันค่อย ๆ ศึกษาเนี่ย มันก็จะได้เหตุผล เหตุผลอย่างแรกเลย ก็คือมันก็คงเป็นความชอบส่วนตัวตามลัคนาราศี อันที่ 2 ก็คือว่าเราชอบเพราะว่ามันทำให้เรามีพลังค่ะ มีพลังความคิดสร้างสรรค์อะไรต่ออะไร คือหมอไม่เคยสนใจที่จะใส่แล้วให้คนดูนะ คือก็เราชอบของเรา แล้วอุตส่าห์เลือกเรียนสาขาขาดแคลนแล้ว ฉะนั้น เราไม่ได้แต่งเพราะเราอยากโอ้อวด แต่เราแต่งเพราะเราชอบ แล้วก็มันหลบซ่อนได้อยู่ในอาชีพสายนี้ เพราะว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตั้งแต่ดั้งเดิม มันจะเป็นผู้ไม่มีลมหายใจ คือเราไม่ได้ไปแตะกับสังคมภายนอกค่ะ 

The People: คือไม่ได้อยากให้เป็นที่สะดุดตา 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่เลยค่ะ ไม่ค่ะ เป็นความสุขส่วนตัว เป็นความชอบ และความสุข 

The People: รู้สึกมีพลังด้วย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ใช่ เหมือนเขาเรียกว่า...ช่วงนี้ละครดัง มันฮีลใจ คือเหมือนงานเราเหนื่อย ความจริงหมอเป็นคนมีความคิดบวกตลอดเวลานะ เพราะว่าศพเนี่ยใครว่ามันน่าเกลียด แต่หมอว่ามันให้เราเยอะ เพราะฉะนั้นทำนองเดียวกัน ก็คือว่าการแต่งตัวพวกนี้มันเป็นศิลปะที่ทำให้เราสนุก หรือมีพลังแค่นั้นเอง ไม่มีอะไร รู้ว่าเป็นคนแปลก แต่ว่าเราได้ค้นลงไปที่ก้นบึ้งของมันแล้วว่ามันไม่ได้ผิด มันอาจจะผิดก็แค่วัฒนธรรม สตางค์ก็สตางค์เรา  

The People: วงการหมอเขามีแอบ ๆ ค้อนคุณหมอมั้ยคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่แอบค่ะ เขาว่าตรง ๆ แต่ว่าพอเรามาตามดูในภายหลัง ทำสีอย่างนี้กับกัดสีผม จะใส่สีแดงหรือคุณจะกัดมันทั้งหัวเหมือนฝรั่ง หมอจะใส่ชุดเปรี้ยว มันก็เหมือนกับคนใส่กระโปรงสั้นรองเท้าสูงอะไรอย่างนี้ มันคือแฟชั่น 

The People: เขาพูดถึงความน่าเชื่อถือด้วยไหม 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: หลายคนอาจจะมองว่าทำให้เราดูไม่น่าเชื่อถือ แต่ว่าตัวหมอ ๆ ไม่สนใจเปลือก หมอสนใจแก่น เพราะฉะนั้น งานของเราใช้คือเราจะพิสูจน์ด้วยตัว ด้วยงานที่อยู่ข้างใน ก็เลยไม่เคยคำนึง ไม่กังวลเลยเรื่องพวกนี้ มีเคยถูกเตือนว่าโตแล้วนะ เหมือนกับให้เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนสไตล์แต่งตัว เปลี่ยนสีปาก ก็รู้ว่าเขาอาจจะอยากแต่งตั้ง เราก็บอก เราไม่อยากเป็นน่ะ เราก็อยากทำงานอยู่อย่างนี้ ยังไงเราก็ไม่เปลี่ยน 

The People: จากหมอ แล้วก็มาเป็น สว. ด้วย คนก็นึกว่าผู้ทรงคุณวุฒิอะไรต่าง ๆ มีทำให้คุณหมอหวั่นไหวบ้างมั้ย

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ค่ะ เพราะว่าอยู่ที่ตัวเรา ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ถ้ามันไม่เป็นจริง เราก็ไม่สน เพราะว่าความจริงคืออะไรเราจะรู้ตัวดีที่สุด คืออาจจะเป็นเหมือนเกราะกำบังไม่ให้จิตเราตกและไม่ให้จิตเราหลง เพราะว่าสิ่งที่หมอทำ หมอบอกได้ว่ามันคือการทำความดี ถ้าคุณเอามาเช็ก คุณจะด่า คุณเอามาเถียงสิ แล้วอันนี้มันไปอะไรคุณ นอกจากรบกวนสายตาคุณ ถูกไหมคะ แต่ว่าในเส้นทางเราเนี่ย เรากำลังทำความดี ดูอันนี้ดีกว่าไหม ก็เลยไม่ค่อยได้สนใจ 

The People: คุณหมอมีกำหนดประจำ เช่น ต้องไปทำสีผมครั้งหนึ่งต่อเดือน มีเป็นตารางอย่างนั้นเลยไหม 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่ ยาวทีก็ตัดที ส่วนสีผม เราก็รู้วิธีทำ ก็ 4 เดือนทำหน พอมันจางแล้วก็ไปเจออะไรใหม่ ๆ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เอาสีมาป้ายๆ ก็เอามาแก้ขัดชั่วคราว ก็คือแปรงสีฟันป้ายหลังสระผมเสร็จ สระผมทีก็จะหลุดออกไปอย่างนี้ค่ะ ขี้เกียจไปทำสีที่ร้านอย่างนี้ 

The People: มีร้านประจำใช่มั้ยคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: มีค่ะ ก็เป็นชลาชล คุณสมศักดิ์ เขาดูแลค่ะ

The People: แล้ว Accessories ต่าง ๆ คุณหมอมีแหล่งซื้อหรือว่ามีขาประจำที่ไหน 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่มีค่ะ ก็เป็นความชอบ ไม่มียี่ห้อ เดิมทีไม่เกี่ยวกับมู พอตอนหลัง อ้าว กำไลมันเริ่มเป็นมู ก็จากสร้อยมาอยู่ที่กำไลบ้าง คือมันเป็นความชอบโดยที่เราไม่เข้าใจตัวเราเองเลย ชอบมาตั้งแต่เด็ก

The People: มีเยอะไหมคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: เยอะๆ เป็นกระบะ ๆ เลยค่ะ แต่ว่าไม่เป็นเพชรนะ (หัวเราะ) คือเราก็ไม่รู้เราจะบ้าไปทำอะไร ชอบสีสัน 

The People: คุณหมอเล่าถึงครอบครัวบ้างนะคะ มีวิธีเลี้ยงลูกยังไง มีบังคับบ้างมั้ย

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: สำหรับครอบครัว พอดีกับพี่วิชัยจะเหมือนเพื่อน เราก็จะตกลงกันทำความเข้าใจแล้วว่า ลูกเนี่ยเราต่างมีกรรมที่ทำให้เกิด เรามีหน้าที่ใส่สิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็สิ่งที่คิดว่ามันจะเป็นวัคซีนปกป้องก็คือเรื่องของความดีค่ะ ไม่ทำบาป อีกอันหนึ่งก็คือจะปล่อยให้เขาได้เป็นตัวของเขาเอง คือเขาคิดอะไรแล้วเขาก็เลือกของเขา อย่าเป็นภาระสังคมประมาณนั้นน่ะ ส่วนเราก็ต้องปรับตัว เสาร์อาทิตย์ไม่สามารถบอกได้ล่วงหน้าว่าจะได้เจอกันไหม ยกเว้นว่าลูกบอกว่าไปไหม ๆ พ่อแม่รีบเตรียมตัวเลย ไปเลย นี่คือเด็กสมัยนี้ 

The People: เวลาคุณหมอเจอเรื่องหนัก ๆ มา ลูกหรือว่าสามีมีปลอบใจคุณหมอมั้ยคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ส่วนใหญ่สามีเนี่ยจะไม่ได้เลย เพราะว่าเขาเป็นนายธนาคาร คือ based ของเขาก็จะเป็นเหมือนกับทำงานธนาคาร ต้องได้ดอกเบี้ยถูกไหมคะ จะไม่สามารถขอคำแนะนำได้ เพราะว่าหลักคิดคนละแบบ คือหมอเป็นนักสู้ไง แต่ว่าบางครั้งเขาก็จะดูแลเรา คือเขาไม่ได้ทำให้เราแย่ แต่ว่าลูกกลับเก่งกว่า คุยด้วยได้ สบายกว่าค่ะ เขาเข้าใจมากกว่า 

The People: คุณหมออยากให้มีคนแบบคุณหมอเพิ่มขึ้นไหม ถึงจะเพียงพอกับสังคมที่ขาดความยุติธรรม 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ตอบไม่ได้เลย เพราะว่าหมอไม่เคยมีความหวังเลย เราถอยออกมา แล้วเราได้มาดูคุณหมอรุ่นใหม่ค่ะ หมอนิติเวช เราสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เขาได้รับฟังเรื่องตัวเราเป็นด้านลบ พูดง่าย ๆ คือเราไม่รู้จักกัน แต่เขามีความไม่ชอบเราอยู่เยอะ ซึ่งถามว่าหมอเกลียดเขาไหม ไม่เกลียด แต่หมอรู้เลยว่าใครป้อนข้อมูล แล้วที่สำคัญ ถ้าเราคิดได้ เราก็จะไม่ทุกข์ทรมาน คือในชีวิตเรา เราไม่เคยคิดไปเอาอะไรจากใครเลย เหมือนเด็ก ๆ พวกนี้ หมายถึงพวกหมอ เขาไม่เคยรู้ว่าหมอเป็นคนสร้างระบบที่ทำให้นิติเวชมันดีขึ้น

The People: คุณหมอวาดฝันว่านิติวิทยาศาสตร์ นิติเวช จะเติบโตไปแค่ไหนคะ 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่มีฝันเหลือแล้ว นี่พูดจริง ๆ นะ คือไม่มีฝันเหลือนานแล้ว เพราะว่าทันทีที่เราจบในช่วงเกษียณอายุ ซึ่งมันเกษียณมา 8 ปีแล้วเนี่ย มันทำให้เห็นเลยว่ามันน่าจะไปไม่รอด เพราะว่ามันไม่มีคนมาต่อ ก็เลยไม่ฝันแล้ว คือปล่อยไปตามธรรมชาติ นึกถึงเรื่องพวกนี้มันจะเครียดเปล่า ๆ ให้มันเป็นอะไรมันก็เป็นไป เราเกิดมาเพื่อทำแค่นี้ ก็ทำแค่นี้ จะได้ไม่กังวลค่ะ 

The People: แต่สถาบันฯ เคยจะถูกยุบ แล้วก็กลับขึ้นมาใหม่ แสดงว่ามันต้องสำคัญกับการพิสูจน์อะไรหลายอย่าง  

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: นั่นน่ะสิคะ เหมือนธรรมะจัดสรรนะ อย่างที่บอก จู่ ๆ มีรัฐธรรมนูญ 60 คือตอนแรกเขาจะยุบแล้วนะ เขาบอกว่าหมอพรทิพย์เกษียณก็ยุบได้แล้ว 

The People: คุณหมอเคยมีสืบจากศพเป็นสโลแกน  ณ วันนี้คุณหมออยากมีสโลแกนประจำตัวอะไรบ้างมั้ย 

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: ไม่มีค่ะ รู้แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้สืบจากศพ แต่เป็นสืบจากวัด มันมีที่มาที่ไปนะคะ คือตลอดเวลาในการทำงาน เราไม่เคยคิดว่าเพราะเราเก่งค่ะ แต่เราคิดว่าเราเป็นใครบางคนที่ชีวิตมันลิขิตให้มาแก้ปัญหาประเทศ ไม่ได้หมายความว่าดีกว่าใครด้วยนะ แต่เรามีลิขิตชีวิตเรื่องนี้ ทีนี้ถามว่าเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติของประเทศไทย มันก็ได้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับความเป็นพุทธศาสนา มันก็เลยทำให้เรามีความรู้สึกว่าภูมิใจ แล้วเมื่อไม่ได้ทำงานพวกนี้ ก็จะไปตามรอยพระมหากษัตริย์บ้าง วัดบ้าง สนุกมากเลย โห อดีตของไทยเรามีค่ามาก อันนี้คือที่ทำอยู่ ที่เหลือในชีวิตค่ะ 

The People: แสดงว่าหลังจากนี้อาจจะเข้าวัด หรือธรรมะศึกษามากขึ้น

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: มันไม่ใช่เข้าวัด แต่ว่าทำงานในอีกแบบนึง คือวัดของหมอมันอยู่ในตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว

The People: คุณหมอเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ถึงกับเอาชีวิตคุณหมอไปสร้างเป็นหนังมาแล้ว และในวันที่คุณหมอไม่อยู่แล้ว อยากจะให้คนจดจำคุณหมอในแบบไหนคะ

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์: คือตั้งแต่แรกมาเลยเนี่ย เราก็ไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะว่ามันเหมือนเขาชอบเราที่เปลือก คือความเปรี้ยว เป็นตัวของตัวเอง เห็นเราแล้วก็ โอ้โห ชอบมาก ก็อยากให้เขาได้เห็นว่าเราเป็นคนที่ใช้ชีวิต คือทุกจังหวะวินาที เราจะสะสมความดี แล้วก็ไม่คิดว่าธุระไม่ใช่ แล้วก็เป็นคนที่ประคับประคองตัวเอง ทั้งเติมความสุขหรือกำจัดความทุกข์ คือไม่พยายามไปคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องมาช่วยมาดูแลเรา อยากจะให้จำในภาพนี้มากกว่า  

ตอนช่วงคดีแตงโม ก็ได้เห็นบางอย่าง จริง ๆ หมอหายไปจากสื่อนานแล้วนะคะ แต่แตงโมเนี่ยดึงกลับเข้ามาอีกที แล้วการกลับมาครั้งนี้ หมอมองแล้วก็เชื่อว่าเขาเห็นอะไรบางอย่าง เรื่องความเป็นธรรม เพราะทุกคนจะบอกว่าคุณหมอหาความเป็นธรรมให้แตงโมด้วยนะ อยากจะบอก ... คืออย่าคอยฝากคนอื่นให้ทำสิ่งดี ๆ กับสังคม แต่ให้ทำด้วยตัวเอง คือของหมอมีแต่คนฝากให้ทำ อย่างเช่น สู้ให้แตงโมหน่อยนะ อะไรประมาณนี้

จริง ๆ แล้วสังคมมันดีขึ้นได้ง่าย ๆ เลย ถ้าเราทุกคนช่วยกัน ก็อยากจะฝากไว้สุดท้ายตรงนั้นน่ะค่ะ อย่าเอาแต่ตำหนิ แต่ให้ลงมือช่วยกัน