จุดเริ่มต้นของ ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ กับเสียงพากย์การ์ตูนตัวแรก ‘ชินจัง’

จุดเริ่มต้นของ ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ กับเสียงพากย์การ์ตูนตัวแรก ‘ชินจัง’

ก่อนมาเป็น ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ หรือ WANYAYAM นักพากย์เสียงที่ใครหลายคนยกให้เป็นบุคคลสร้างแรงบันดาลใจและให้ความบันเทิง กับเส้นทางการฝึกพากย์ด้วยการ์ตูนตัวโปรด ‘ชินจัง’

  • กว่า 7 ปีที่  ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ เติบโตมากับการพากย์เสียง ซึ่งเธอรักในการใช้เสียงพากย์ไม่รู้ตัวตังแต่เด็ก
  • ชินจัง ตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์แรกที่แยมหลงรัก และพยายามฝึกเสียงให้เหมือนที่สุด
  • ครั้งหนึ่งแยมเคยฝันอยากเป็น ‘ผู้ประกาศข่าว’ 

“แยมไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักพากย์ เพราะไม่มีผลงานการพากย์หนัง หรือว่าพากย์การ์ตูนมาก่อนเลย จะเรียกตัวเองว่านักพากย์ก็ยังรู้สึกเขิน ๆ นิดหนึ่ง”

ประโยคเปิดใจของ ‘แยม’ หรือ WANYAYAM (วรรญา ไชยโย) ครีเอเตอร์สาวที่สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับคนที่ฝันอยากเป็นนักพากย์เสียง แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มจากจุดไหน อีกส่วนหนึ่งคือ เธอเป็นแรงผลักดันให้กับคนที่อยากลองพากย์เสียงแต่ไม่กล้า

 

‘ชินจัง’ ตัวการ์ตูนแรกที่ลองพากย์เสียง

แยมบอกกับ The People ไว้ว่า “จุดเริ่มต้นจริง ๆ แยมเป็นคนที่ชอบดูการ์ตูนมาตั้งแต่แรกแล้ว แล้วตัวการ์ตูนแรกที่ทำให้อยากลองพากย์ก็คือชินจังนี่แหละค่ะ ชอบมาก แล้วก็ดูบ่อยมาก ก็ลองพากย์ตามแบบคำต่อคำได้เลยตามไดอาล็อก”

นอกจากนี้ แยม ยังพูดถึงไดอะล็อกในการ์ตูนชินจังที่ชอบพากย์เสียง เช่น ฉากพุดดิ้งของฉัน ก็จะเป็นตอนที่ชินจังร้องเพลงว่า “คุณพุดดิ้งรอก่อนนะ อ๋อ คุณพุดดิ้งนิมนิ้มนิ่มนิ่ม” เธอบอกว่ามันเป็นพาร์ทที่น่ารักของชินจังกับพุดดิ้งที่เธอจำได้ขึ้นใจ

ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการฝึก แยมบอกว่า โชคดีที่เนื้อเสียงของชินจังกับเธอเข้ากันเลยทำให้ใช้เวลาไม่นานมากในการฝึกพากย์

“เราเอาคาแรกเตอร์มาผสานกับเสียงของชินจังด้วย เช่น คาแรกเตอร์มีอายุเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เสียงพากย์เหมือนมากขึ้น เลยทำให้แยมชอบเสียงของชินจัง และเราก็ใช้เวลาฝึกไมานานด้วย”

จุดเริ่มต้นของ ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ กับเสียงพากย์การ์ตูนตัวแรก ‘ชินจัง’

 

แยมกับนักพายก์คนโปรด

เป็นปกติที่คนเราจะมีแรงบันดาลใจหรือต้นแบบมาจากใครสักคนหนึ่ง สำหรับแยม นักพากย์เสียงที่เธอชื่นชอบก็คือ ‘ตุ๊ก-อรุณี นันทิวาส’ เพราะเธอมองว่าคน ๆ นี้เขามีเนื้อเสียงที่คล้ายกับเธอ และก็ทำให้เธอเลือกตัวการ์ตูนที่จะพากย์เสียงตาม ตุ๊ก-อรุณี ด้วย

เช่น โคนัน ยอดนักสืบจิ๋ว, ซึเนโอะ, ช็อปเปอร์ในเรื่องวันพีช เป็นต้น ซึ่งชินจังก็เป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์โปรดที่ทำให้ ตุ๊ก ฝึกพายก์ด้วยเช่นกัน

ช่วงรื้อกล่องความทรงจำ

แยม เล่าไปถึงช่วงที่เธอค้นหาตัวเองก็คือ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ และเลือกทำโปรเจ็กต์จบเป็นการพากย์นิทานเสียงให้เด็กตาบอด หลังจากนั้นก็เก็บผลงานเอาไปส่งประกวด

จนในที่สุด แยม ได้เข้าทำงานเป็นผู้ผลิตรายการ podcast ให้บริษัทแห่งหนึ่ง และใช้ทักษะการพากย์เสียงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่เธอเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในชื่อเพจว่า WANYAYAM

แยมได้พูดว่า “เราหยิบการพากย์เสียงมาทำโปรเจกต์จบ ก็เหมือนได้รื้อกล่องความทรงจำในวัยเด็กอีกครั้ง”

แยมบอกว่า ตอนนั้นเธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจะชอบการพากย์เสียงจนนำมาเป็นอาชีพได้ ซึ่งเธอยังบอกอีกว่า เมื่อก่อนตอนที่ยังเป็นเด็กเธอเป็นคนที่ขี้อายไม่ได้ ไม่ใช่คนกล้าแสดงออกเหมือนตอนนี้

ตอนเด็ก ๆ แยมไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพราะพวกเขาต้องทำงานในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่แยมเป็นเด็กที่ชอบดูการ์ตูนมาก ทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการ์ตูนเรื่องโปรด ดังนั้น พ่อแม่มักจะส่งพวกเทปซีดีการ์ตูนกลับมาให้ที่บ้าน

นอกจากนี้ แยม เป็นเด็กที่ชอบเล่นกับช้อนส้อม และตุ๊กตาหมี แล้วจินตนาการเป็นไดอะล็อกที่อยู่ในการ์ตูน แน่นอนว่าเธอชอบการพากย์เสียงตั้งแต่นั้น เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

เธอซึมซับการใช้เสียงทีละเล็กละน้อยอย่างที่เธอไม่รู้ตัว จนถึงวันที่แยมหยิบความชอบของตัวเองมาทำเป็นโปรเจกต์จบช่วงมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาว่าทำไมการทำตัวจบในครั้งนั้นจึงเป็นการรื้อฟื้นกล่องความทรงจำวัยเด็กของเธอตั้งแต่นั้นมา

 

จุดเริ่มต้นของ ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ กับเสียงพากย์การ์ตูนตัวแรก ‘ชินจัง’

 

ช่วงการฝึกพากย์-การ์ตูนที่ทำเสียงยาก

เมื่อถามเพิ่มว่า แยม มีเคล็ดลับในการฝึกการพากย์อย่างไร เธอบอกว่า กว่า 7 ปีที่เธออยู่กับการพากย์เสียงมา เธอตกผลึกวิธีการฝึกพากย์เสียงด้วยตัวเอง โดยมีเคล็ดลับมาบอกกับ The People ว่า “อย่างแรกง่าย ๆ เลย พากย์ตามตัวละครที่เราชอบก่อน พากย์ตัวละครที่มันเข้ากับกล่องเสียงของเรา แล้วก็ฝึกให้ใกล้เคียงกับตัวละครนั้นมากที่สุด”

“อย่างที่สองคือ ลองออกแบบให้เขา อย่างแยมพากย์นิทานมาก่อน แยมจะฝึกทักษะ 5 ข้อ ก็คือ อายุ เพศ คาแรกเตอร์ ลักษณะเฉพาะ แล้วก็ขนาดตัว”

“อย่างเช่น โดราเอมอน จะเป็นน้ำเสียงแบบนี้ ลักษณะเฉพาะของเขาก็คือเขาจะมีแก้มที่มันแบบลงไปนิดหนึ่ง เขาจะมีจมูกอย่างนี้ หลังจากนั้นเราก็มาดูขนาดของตัวโดราเอมอน ซึ่งแยมก็สรุปๆได้ว่า น้ำเสียงเขาก็จะเป็นปกติแบบที่แยมพูดไม่ได้ต้องเป็นเสียงที่เล็กลงไปอีกหน่อย เป็นต้น”

“หลังจากนั้นเราก็ผสมเข้าไปอีกว่า เขาน่าจะมีคาแรกเตอร์ยังไง นิสัยใจคอยังไง เป็นคาแรกเตอร์ที่ใจดี เราก็ใส่ความใจดีเข้าไป เช่น ใส่เสียงหัวเราะเข้าไปแบบนี้ค่ะ”

“สำหรับแยมเราคิดว่า ต้องค่อย ๆ ฝึกเพิ่ม เราอาจจะเปลี่ยนทักษะก็ได้ เอาตัวละครที่ชอบมาจินตนาการว่า ถ้าโดราเอมอนแก่จะเป็นยังไง หรือ ถ้าเด็กลงมาหน่อยจะเป็นยังไง”

นอกจากนี้ แยม ยังบอกอีกว่า คาแรกเตอร์การ์ตูรที่รู้สึกว่าพากย์เสียงยากมากคือ ‘Donald Duck’ เป็นตัวการ์ตูนที่พูดไม่รู้เรื่องแต่ก็ขยันพูด เธอบอกว่าพยายามหาเทคนิคที่ฝึกพากย์แล้วไม่เจ็บคอซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 เดือน ถือว่าเป็นตัวการ์ตูนที่พากย์ยากและใช้เวลานานด้วย

 

จุดเริ่มต้นของ ‘แยม - วรรญา ไชยโย’ กับเสียงพากย์การ์ตูนตัวแรก ‘ชินจัง’

 

อนาคตของแยม-นักพากย์เสียง

ใครจะคิดว่า ความฝันในวัยเด็กอีกหนึ่งอย่างของ แยม ก็คือ ‘อาชีพผู้ประกาศข่าว’ ซึ่งเธอเล่าติดตลกว่า หน้าตาสวย ๆ แบบเธอก็ต้องเป็นผู้ประกาศข่าวอยู่แล้ว

หากหลายคนรู้แบบนี้ก็อาจจะดีใจหรือเสียใจก็ได้ เพราะถ้าตอนนั้นเธอเป็นผู้ประกาศข่าวจริง ๆ เราอาจไม่มีทางได้เห็นตัวตนที่ทะเล้นของผู้หญิงที่ชื่อ แยม ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เธอยังมีแพลนในอนาคตลึก ๆ ด้วยว่า อยากถ่ายทอดความรู้ที่เธอมีทั้งหมดให้กับเด็กที่สนใจ

“แยมรู้สึกว่า หน้าตาของเราหรือเสียงของเรา สักวันหนึ่งมันก็จะค่อย ๆ สลายหายไปตามอายุของเรา แยมคิดว่าหลังจากนี้อีก 40 ปี น้ำเสียงของแยมอาจจะไม่ได้อย่างนี้แล้วก็ได้ แยมเลยอยากจะถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ หรือเทคนิคต่าง ๆ ให้กับเด็กที่สนใจและไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหนก่อน”

“ตอนนี้แยมยังไม่รู้ว่าจะต้องตั้งเป็นสถาบันการสอนเลยมั้ย หรือเป็นแค่วิทยากรตามที่ต่าง ๆ หรือเป็นอาจารย์สอนพิเศษอะไรอย่างนี้ แต่รู้สึกว่าอยากถ่ายทอดความรู้ในอนาคตค่ะ”