ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ และผู้ขายบริการทางเพศในสังคมไทย

ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ และผู้ขายบริการทางเพศในสังคมไทย

ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ และผู้ขายบริการทางเพศในสังคมไทย

**คำเตือน - เนื้อหาบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ**   หากจะพูดถึงนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ และผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย หลายคนคงคุ้นเคยกับบุคคลที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีรุ้งเป็นหลัก การแต่งหน้าฉูดฉาดทั้งอายแชร์โดว์และสีลิปสติก รวมทั้งการวาดคิ้วที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ  The People มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ต้น-ศิริศักดิ์ กับเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อความหลากหลายในสังคมไทย สังคมที่แม้จะถูกขนานนามว่าเป็น ‘สวรรค์ของ LGBTQ+’ นั้น แต่ก็ยังมีคำถามอยู่อีกมากมายในการเลือกปฏิบัติทางเพศอยู่   เพราะแตกต่าง จึงเห็นปัญหา ต้น-ศิริศักดิ์ ไชยเทศ เป็นชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ครอบครัวของเขาต้องถือบัตรต่างด้าว เขาเล่าว่าในตอนเด็กต้องคอยหลบในตู้เสื้อผ้าเวลาตำรวจมาตรวจที่บ้าน  ต้นบอกกับเราว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีผมและขนขึ้นตามร่างกายมาตั้งแต่เกิด โดยหาสาเหตุไม่ได้ และไม่ได้เป็นโรคอะไรทั้งนั้น และในวัยเด็ก ต้นเล่าว่าตัวเขาเองดำเนินชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่อาจจะมีลักษณะตุ้งติ้งบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่รู้กันของกลุ่มเพื่อนและชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่กดทับต้นมาตั้งแต่เด็ก เขามักจะโดนดูถูกด้วยคำพูดที่ปะปนไปด้วยเชื้อชาติ เพศสภาพ และสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ‘กะเทยแกว’ ‘กะเทยหัวโล้น’ ‘กะเทยอัปลักษณ์’ ซึ่งไม่เพียงแค่ความรุนแรงทางคำพูดเท่านั้น เขายังเคยโดนทำร้ายร่างกายอีกด้วย ช่วงมัธยมฯ เป็นช่วงที่เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ต้นเล่าว่า วันหนึ่งในคาบเรียนวิชาพละ ซึ่งใช้หน้าเสาธงเป็นสถานที่เรียน เขาได้ถือพัดเดินเข้ามาเรียนตามปกติ ซึ่งในวันนั้นเขาเข้าเรียนสายเล็กน้อย ครูได้ชี้หน้าเขาและพูดว่า  “อย่ามาเป็นกะเทยแถวนี้นะ ถ้าเป็นกะเทยฉันจะกระโดดถีบให้หลังหัก เป็นกะเทยมันเสียชาติเกิด” เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโรงเรียน เพื่อนนักเรียนและผู้ปกครองที่ทราบต่างไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของครูคนนี้ แต่ตัวต้นนั้นกลับไม่สามารถบอกเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อและแม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดเรื่องเพศของตนเองกับพ่อแม่จนทำให้กลายเป็นโรคกลัวครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน  อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ต้นจำได้ขึ้นใจ คือ เพื่อนผู้หญิงในห้องได้เทกระเป๋าของต้น เพื่อให้เพื่อนคนอื่น ๆ มามุงดูตลับแป้ง เขารู้สึกอายมาก จนทำให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเขา ต้นจึงเริ่มหนีเรียนไปอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ต้นรู้สึกว่าหากหนีต่อไปต้องเสียการเรียนแน่ เขาจึงตัดสินใจกลับมาเรียนตามปกติ ซึ่งดูเหมือนเหตุการณ์จะดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าการกลับมาโรงเรียนในครั้งนี้กลับเป็นต้นเหตุของ ‘การฆ่าตัวตาย’ ต้นได้เขียนอธิบายเรื่องอัดอั้นตันใจของตนเองลงในสมุดการบ้านซึ่งมีใจความส่วนหนึ่งว่า ‘เหตุใดโลกนี้จึงโหดร้ายมาก ทำไมการที่ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้ต้องมีแต่คนมาคอยรังแก’ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ต้นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 1 เดือน เมื่อต้นกลับมาจากการรักษาตัว สถานการณ์ในโรงเรียนของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อผู้อำนวยการ ครู และเพื่อนในโรงเรียนกลับมาให้ความสำคัญและไม่รังแกเขาอีก เพราะพี่สาวของต้นได้นำสมุดเล่มนั้นมาแจ้งให้โรงเรียนทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกิจกรรม   จากเด็กกิจกรรมสู่การต่อสู้เพื่อตนเอง ในช่วงแรก ต้นเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ แต่ก็ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจมากนัก เพราะเขามักจะพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นมักพูดถึงประเด็นยาเสพติด หรือเอดส์  เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เขาพบเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยได้เลือกตัวแทนนักศึกษาคนหนึ่งเพื่อไปประชุมที่ต่างประเทศ เขาเองรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และคิดว่าควรมีการคัดเลือกอย่างมีระบบ ต้นจึงเข้าไปพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย และได้คำตอบว่า “เธอจะไปได้ยังไง เธอเป็นกะเทย อันนี้เป็นภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เธอเป็นกะเทย เธอไปไม่ได้ มันเสียภาพลักษณ์” นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ต้นศึกษาอยู่เป็นมหาวิทยาลัยคริสต์ ซึ่งไม่เคยมีการประกวดดาวเทียม (การประกวดคัดเลือกตัวแทน LGBTQ+  ของนักศึกษาใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่น) มาก่อน ต้นในฐานะตัวแทนนักศึกษาจึงต้องการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากไม่ผ่านการอนุมัติจากคณบดีในมหาวิทยาลัย “สมัยก่อนตอบโต้รุนแรง เรายังไม่เกิดการเรียนรู้ ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้กลับซึ่งไม่ถูกต้อง” ต้นกล่าวเสริม   'เสาร์ซาวเอ็ด' จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ เมื่อก้าวสู่ช่วงวัยทำงาน เขาเริ่มจากการเป็นเอ็นจีโอ (NGOs) พร้อมทำธุรกิจส่วนตัวที่บ้านควบคู่ไปด้วย แต่ต้นก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ อย่างการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดขบวนเชียงใหม่ไพรด์ (Chiang Mai Pride) และการประชุมในวันไอดาฮอต (IDAHOT) ในปี 2551 ต่อมาในปี 2552 ต้นเริ่มมีแนวคิดว่าควรมีการจัดขบวนพาเหรดเชียงใหม่ เกย์ ไพรด์ (Chiang Mai Gay Pride) เพื่อให้ทุกคนได้ออกมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายตามมาจากกลุ่มอนุรักษนิยมในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นวันงาน กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็น ‘กลุ่มรักเชียงใหม่ 51’ ได้เข้ามาล้อมพื้นที่จัดงานด้วยรถบรรทุก พร้อมเครื่องขยายเสียง และป้ายต่อต้าน เพื่อไม่ให้สามารถจัดงานเชียงใหม่ เกย์ ไพรด์ (Chiang Mai Gay Pride) ได้ พร้อมขว้างปาสิ่งของและด่าทอผู้ที่เข้าร่วมงาน จนเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ต้นและคณะผู้จัดงานได้ขอเจรจาเพื่อเดินทางกลับบ้าน จึงได้รับข้อเสนอจากผู้คัดค้านการจัดงานมา 3 ข้อ คือ  1. ยุติการจัดงาน  2. ห้ามจัดงานเชียงใหม่ เกย์ ไพรด์ (Chiang Mai Gay Pride) ไปอีก 1,500 ปี 3. คลานเข้าไปขอโทษกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย สุดท้ายต้นและเพื่อน ๆ จึงตัดสินใจยุติการจัดงาน และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า เสาร์ยี่สิบเอ็ด นอกจากนี้ในทุกวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงกลายเป็นวันยุติความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย “ที่ผ่านมา เราโดนมาคนเดียว จัดการคนเดียว แต่เหตุการณ์นี้ LGBTQ+ ทั้งประเทศโดน เพราะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแบบเหมารวม”  และนี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ต้นประกาศตัวว่า เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   Sex Worker นอกจากเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้นออกมาเคลื่อนไหวคือ เรื่องการค้าประเวณี หรือ Sex Worker “เราขายบริการ ไม่ได้ขายตัว ศักดิ์ศรีของเนื้อตัวร่างกายของผู้ขายบริการยังมีอยู่ครบ” ต้นมองว่าปัญหาเกิดจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี พ.ศ. 2539 เป็นพระราชบัญญัติที่กดขี่ข่มเหงพนักงานบริการทางเพศ เหตุใดรัฐจึงมาจำกัดสิทธิทางร่างกายของประชาชนที่อยากประกอบอาชีพนี้ ต้นมองว่าปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ และคุ้มครองพนักงานตามกฎหมายแรงงาน หากอาชีพขายบริการทางเพศเข้าสู่กฎหมายแรงงานแล้วจะทำให้เกิดการตรวจสอบและแก้ปัญหาการค้าประเวณีได้ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาการเข้ามาทำงานของเด็ก เพราะตามกฎหมายแรงงาน เด็กไม่สามารถทำงานได้  ด้วยเหตุนี้ต้นจึงเริ่มขับเคลื่อนประเด็นผู้ขายบริการทางเพศควบคู่ไปกับประเด็น LGBTQ+ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่คนทั้งสองกลุ่มไปพร้อมกัน   ทุกคนต้องบวชได้ นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ (Pride month) หลายคนพยายามผลักดันสมรสเท่าเทียมและพระราชบัญญัติคู่ชีวิต แต่ต้นกลับมองเห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศ หรือพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพ “การรับรองอัตลักษณ์มันปลดล็อกจริง ๆ คำว่าอัตลักษณ์ทางเพศหมายถึงว่าจะต้องครอบคลุมทุกเพศ ไม่ใช่แค่ชายและหญิง ไม่ใช่แค่นายหรือนางสาว แต่ครอบคลุมไปถึง Non-Binary, Gender X หรือ Third Gender” ต้นกล่าว ปัญหาของการไม่มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น ในกรณีที่ผู้หญิงข้ามเพศ ต่อให้สวยแค่ไหน ในเอกสารราชการก็ยังใช้คำว่า ‘นาย’ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศ และปัญหาต่าง ๆ เช่น เมื่อเข้ารับราชการก็ต้องแต่งกายตามคำนำหน้าของตน และเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องพักรักษาตัวในตึกผู้ป่วยชาย เป็นต้น หลายคนอาจได้รับการยอมรับให้แต่งกายตามเพศสภาพ แต่บุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง น่าแปลกใจที่ในประเทศไทยต้องสวย รวย เก่ง เท่านั้นถึงจะถูกยอมรับ ต้นจึงคิดแคมเปญนี้ขึ้น โดยนำเครื่องแต่งกายของอาชีพต่าง ๆ มาประยุกต์และตกแต่งด้วยสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียน ชุดข้าราชการ ชุดหมอ ชุดรับปริญญา และสุดท้ายที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในตอนนี้ คือ ชุดพระ ในแคมเปญ #ทุกคนต้องบวชได้ “เราทำแคมเปญนี้ เราไม่ได้ต้องการที่จะล้อเลียนหรือต่อต้าน ทุกอย่างที่ทำตามเคสจริง” ต้นกล่าว ต้นยกตัวอย่างกรณีที่มีเกย์ต้องการที่จะบวช แต่กลับถูกปฏิเสธ เนื่องจากชาวบ้านเหมารวมจากรสนิยมทางเพศว่าเป็นชายรักชาย คือ กะเทย ทั้งที่ความจริงแล้วเขาเป็นเกย์ จึงไม่สามารถจะบวชได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยังเกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน โดยต้นอธิบายแคมเปญ #ทุกคนต้องบวชได้ เพิ่มเติมว่า แคมเปญนี้ไม่ได้หมายถึงใครจะทำอะไรก็ได้ หรือกะเทยจะได้สิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น แต่ทุกคนต้องอยู่ในกฎเดียวกัน ใครทำผิดระเบียบก็ว่าไปตามผิดเป็นรายบุคคลไป   สิทธิ  LGBTQ+ ที่อยากเห็นในสังคมไทย ต้นเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ที่ระบุไว้ว่า ‘ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสมอกัน’ แต่สุดท้ายแล้วต้นตอของปัญหาเกิดจากผู้ออกกฎหมาย ซึ่งหากรอให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบก็คงต้องรอไปอีกนาน ดังนั้นต้นจึงต้องต่อสู้และขับเคลื่อนเรื่องนี้ในทุกรัฐบาล “สังคมไทยเข้าใจผิดว่า ‘เมืองไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+’ เพราะ เมืองนอกมีกฎหมายปาหิน ประเทศไทยอาจจะไม่มีกฎหมายแบบนั้น แต่อย่าลืมว่าก็ยังมีการทำร้ายร่างกายอันเกิดจากเหตุแห่งความเกลียดชัง LGBTQ+ ในสังคมไทย หรือแม้กระทั่งในสื่อโทรทัศน์ กลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังเป็นเป้าหมายในการ sexual harassment ทั้งทางคำพูดและการกระทำอยู่ “ชุมชน LGBTQ+ กันเองเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เนื่องจาก LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน และมีการแบ่งชนชั้นในระหว่างกลุ่มกันเอง เช่น กะเทยเมือง กะเทยสวย กะเทยควาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เมื่อมีการผลักดันกฎหมายจึงไปไม่ถึงไหน เพราะหลายคนมองว่าไม่ได้มีความสำคัญกับชีวิตของตนเอง และชีวิตเป็นแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว” ต้นกล่าวเสริม เมื่อถามถึงสิทธิของ LGBTQ+ ไทยในอีก 5 ปี ในฐานะนักเรียกร้องสิทธิ ต้นตอบกลับมาด้วยความมั่นใจว่า “คาดหวัง คาดหวังว่ามันจะไปไกล ที่ผ่านมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อกฎหมายเปลี่ยน ความเข้าใจและความเคารพของคนในสังคมจะตามมา” ต้นหวังว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องจะเกิดเร็วกว่าช่วง 10 หรือ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็น สมรสเท่าเทียม พระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพ ยุติการเลือกปฏิบัติทางเพศ การศึกษาต้องปฏิรูป และสื่อต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะสิ่งที่ต้นอยากเห็นในสังคมไทยคือการเคารพซึ่งกันและกัน “ความเข้าใจและการเคารพแค่นั้น...แค่คุณเคารพและเข้าใจมันจบแล้ว เคารพซึ่งกันและกัน เคารพความต่าง และอยู่ร่วมกับความต่างให้ได้” ต้นยิ้มพร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “คนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้ขายบริการทางเพศไม่ต้องการอะไรที่นอกเหนือจากคนอื่น แค่ต้องการเรียกร้องในสิ่งที่เราควรจะได้อยู่แล้วในฐานะมนุษย์”   เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior) ภาพ: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)