ระยะทางเกือบหกร้อยกิโลเมตร จากอุดรธานีถึงอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เดินทางเพียง 8 ชั่วโมง ถ้าใช้รถยนต์เป็นพาหนะ แต่สำหรับชายคนหนึ่งเขาใช้เวลาเดินเท้ามากกว่าหนึ่งล้านก้าว ใช้เวลานานถึง 22 วัน เพื่อจุดประสงค์เดียวคือ รณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง อะไรคือแรงผลักดันให้ “แม็ค-ชัยฤทธิ์ เขาวงศ์ทอง” คนธรรมดาคนหนึ่ง ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างตามที่เขาเชื่อมั่น “ประโยคแรกที่คนถามเลยคืออยู่พรรคอะไร เขาคิดว่าเราเดินสายหาเสียง แต่จริงๆ คือเราทำในนามภาคประชาชน เราเดินเท้าเพื่ออยากเห็นท้องถิ่นของตัวเองเจริญด้วยการกระจายอำนาจ” เนื่องจากบรรยากาศประเทศไทย กำลังคึกคักจากกระแสการเลือกตั้งใกล้จะมาถึง หลังจากถูกเว้นช่วงไปนานหลายปี ทำให้ตลอดเส้นทางเดินเท้าจากอุดรธานีถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร ของชัยฤทธิ์ เขาวงศ์ทอง หรือที่หลายคนเรียกว่า “ทนายแม็ค” ถูกเข้าใจผิดบ่อยครั้งว่าเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกหนึ่งราย
จริงแล้วทนายแม็ค เป็นคนท้องถิ่นอุดรธานีโดยกำเนิด จบจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ก่อนจะไปเรียนต่อด้านนิติศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งปริญญาตรีและโท จนได้ดีกรีนิติศาสตร์มหาบัณฑิตติดตัว รวมถึงผ่านศึกษาหลักสูตร ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า แล้วมาเปิดสำนักงานทนายความของตัวเองที่บ้านเกิด จนได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภา เทศบาลนครอุดรธานี และเครือข่ายผู้นำยุคใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศไทย “ที่ทำให้ผมได้มาทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาต้องขอบคุณภรรยาเลย เพราะจุดเริ่มจากมีผู้ใหญ่มาเห็นในงานแต่งงาน เลยได้ทาบทามให้ลองมาลงสมัครดู ทั้งที่ก่อนหน้าก็ไม่มีประสบการณ์ด้านการเมือง พื้นฐานครอบครัวก็ไม่ได้อยู่ในสายนี้มาก่อนเลย” จากจุดเปลี่ยนในงานวิวาห์ จนตอนนี้เขากลายมาเป็นพ่อลูกสองคนที่กำลังอยู่ในวัยน่ารัก ชายหนุ่มคนนี้ได้มีโอกาสทำงานในเส้นทางองค์กรท้องถิ่นมาหลายปี จนได้เห็นข้อบกพร่องของระบบอำนาจรวมศูนย์ ซึ่งไม่เปิดช่องให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง ทั้งในทางปฏิบัติ และข้อกฎหมายหลายอย่าง ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดบริการสาธารณะที่ดีกับประชาชนได้ เพราะว่าอำนวจตัดสินใจส่วนท้องถิ่นถูกจำกัด งบประมาณส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง บางอย่างที่เป็นความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น กลับต้องส่งเรื่องเข้าไปยังส่วนกลางทำให้เกิดความล้าช้า ไปจนถึงบางครั้งไม่ผ่านความเห็นชอบเลยก็มี “พอได้มาทำงานบริการประชาชนก็รักเลย อาจเพราะเราชอบงานบริการ ได้ทำงานบริการคน ได้คิดพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เกิดกับอุดรได้ แต่เราเป็นคนคิดนอกกรอบไปไกลมาก อยากพัฒนาเหมือนต่างประเทศที่เจริญ ให้น้ำประปาดื่มได้ มีระบบขนส่งมวลชน ฝันว่าอยากทำให้อุดรธานีเป็นเมืองน่าอยู่มีสวัสดิการ ความเป็นอยู่ที่ดี มีโรงเรียนดีๆ มีโรงพยาบาลได้มาตรฐานอยู่ใกล้บ้าน แต่มันพัฒนาได้แค่นี้ ทั้งที่ยังไปไกล เพราะติดที่กรอบปัญหา พอเห็นปัญหาเราเริ่มหาว่าการกระจายอำนาจมันเป็นยังไงจนเริ่มได้คำตอบ”
จริงคุณพ่อผมเป็นนักปกครอง เคยเป็นนายอำเภอบ้านผือ แต่ผมไม่ได้เดินตามเส้นทางคุณพ่อเลย ตรงกันข้ามเสียอีกเพราะเรื่องการกระจายอำนาจนี่ฝ่ายปกครองเขาไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
จากการที่เขาได้ศึกษางานวิจัยของ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงานของนักวิจัยอีกหลายคน เขาได้ข้อมูลว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่แค่ทางออกของประเทศ แต่เป็นทางรอดของประเทศ ถ้าอำนาจตัดสินใจถูกโอนย้ายไปที่ท้องถิ่น งบประมาณถูกจัดสรรปันส่วนขึ้นตรงกับแต่ละจังหวัดอย่างเท่าเทียม จังหวัดหัวเมืองจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว “จริงคุณพ่อผมเป็นนักปกครอง เคยเป็นนายอำเภอบ้านผือ แต่ผมไม่ได้เดินตามเส้นทางคุณพ่อเลย ตรงกันข้ามเสียอีกเพราะเรื่องการกระจายอำนาจนี่ฝ่ายปกครองเขาไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมเคยสอบปลัดอำเภอติด แต่พ่อไม่อยากให้เป็น เพราะมองว่าอนาคตอาจจะมีการเลือกตั้งผู้ว่านายอำเภอ และไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่คุณพ่อพูดวันนั้น กลายลูกชายกำลังขับเคลื่อนอยู่”
ผ่านมาเกือบ 15 ปี ตอนนี้ ทนายแม็ค ชัยฤทธิ์ ได้เริ่มต้นก้าวเดินในเส้นทางการกระจายอำนาจ ที่ครั้งหนึ่งพ่อของเขาได้เคยพูดไว้ โดยร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายฯ เพื่อเดินเท้ารณรงค์โครงการกระจายอำนาจ ผลักดันให้การกระจายอำนาจเป็นวาระแห่งชาติ แล้วเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้คนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้นตลอดเส้นทางเดินเท้าเกือบหนึ่งเดือน
ขอนแก่นบางทีเยอะกว่ากรุงเทพอีก แค่ต้องรอส่วนกลางอย่างกรมควบคุมมลพิษเข้ามา ถ้าให้แก้ปัญหาด้วยตัวเองอาจจะมีวิธีการที่เร็วกว่านี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่ารัฐบาลส่วนกลางไกลปัญหาไม่เห็นปัญหาเท่าคนในท้องถิ่น
สาเหตุที่เลือกการเดินเท้ารณรงค์ ชายหนุ่มวัย 36 คนนี้ได้บอกว่า การเดินเป็นช่องทางที่จะเข้าถึงคนทั่วไป เพื่อสื่อสารให้เข้าใจได้ดีที่สุด เพราะการเข้าถึงบริการสาธารณะให้ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจของคนในท้องถิ่นก่อน ที่ผ่านมาเวลาที่การบริการสาธารณะติดขัด คนในท้องถิ่นมักจะไม่เข้าใจเหตุผล ว่าเกิดจากการที่หน่วยงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจ และเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่ไปก้าวก่ายไม่ได้ อีกทั้งการรณรงค์ด้วยการเดินเท้า เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ใช้งบประมาณไม่เยอะเมื่อเทียบกับวิธีอื่น โดยหลังจากจบการเดินในแต่ละวัน ตอนเย็นทนายแม็คได้จัดเวทีสาธารณะแต่ละจุด เพื่อพูดให้ความรู้แก่คนทั่วไป ซึ่งใน 22 วันที่ผ่านมาบางวันมีคนมาฟังมากถึง 300 คน แต่บางครั้งก็มีคนมาฟังเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น “ผมเลือกเดินที่มีระยะเวลาพิสูจน์อะไรบ้างอย่าง มีระยะเวลานานพอในการทำกิจกรรม ผมเดินเพื่อได้เจอคนจริงๆ ได้เห็นคนทำไร่ทำสวน การเดินช่วยให้เห็นอะไรเยอะขึ้น ตอนที่ไปลาดบัวขาวที่สีคิ้ว คนมาฟังแค่ 20 กว่าคน แต่มีคุณยายคนหนึ่งมาฟังตอนเย็น ตอนเช้าก็มารอส่งเรา เอากล้วยเอาน้ำดื่มมาให้ แล้วก็ให้โชคดีมีชัย”
งบประมาณที่ใช้ในการเดินเท้ารณรงค์ ส่วนหนึ่งมาจากเงินสนับสนุนของมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายฯ รวมถึงเงินส่วนตัวที่ทางทนายแม็คลงขันกับเพื่อนที่เชื่อมั่นในแนวคิดเดียวกัน มีความมุ่งมั่นอยากให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง โดยพวกเขาเชื่อว่าไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น โดยทนายแม็ค ยอมลาออกจากตำแหน่งประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าจังหวัดอุดนธานี (YEC) เพื่อมาทำกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ “อย่างน้อยเราได้สื่อสารว่าการบริการสาธารณะที่ดีได้ต้องเริ่มที่ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดปัญหาก่อน แต่ว่าทำไม่ได้เพราะติดขัดกฎหมาย ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่ราชการส่วนกลางบอกว่าท้องถิ่นห้ามฉีดวัคซีน เพราะไม่ใช่ภาระหน้าที่ เป็นงานของกรมปศุสัตว์ ทำให้โรคพิษสุนัขบ้านกลับมาระบาด แล้วค่อยมาบอกว่าท้องถิ่นทำได้ หรืออย่างเรื่องฝุ่นละอองที่ต่างจังหวัดอย่างขอนแก่นบางทีเยอะกว่ากรุงเทพอีก แค่ต้องรอส่วนกลางอย่างกรมควบคุมมลพิษเข้ามา ถ้าให้แก้ปัญหาด้วยตัวเองอาจจะมีวิธีการที่เร็วกว่านี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่ารัฐบาลส่วนกลางไกลปัญหาไม่เห็นปัญหาเท่าคนในท้องถิ่น” ตัวอย่างต้นแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ทนายแม็คมองไว้คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่รูปแบบการเมืองการปกครองใกล้เคียงกับไทย แต่มีการกระจายอำนาจไปแต่ละท้องถิ่นให้ดูแลกันเอง มีการแบ่งงบประมาณให้แต่ละจังหวัดอย่างเหมาะสม ทำให้แต่ละจังหวัดมีนโยบาย ต่างจากประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่เข้มแข็ง ถ้าไทยทำได้แบบญี่ปุ่นเราน่าจะพัฒนาไปได้เร็วมาก ไม่ต้องส่งเรื่องไปส่วนกลางให้เกิดความล่าช้า ซึ่งคนที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือนักการเมือง แต่เขารู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่มีใครจริงใจในการแก้ไขปัญหา อาจจะเพราะเรื่องการผูกขาดงบประมาณ “การกระจายอำนาจไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน การกระจายอำนาจเป็นการทำให้บริการสาธารณะสะดวกและรวดเร็วขึ้น อำนาจอื่นๆ ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง มันเป็นวาทกรรมที่หยิบยกมาว่าการกระจายอำนาจเป็นการแบ่งแยกดินแดน เพราะจริงแล้วประเทศไทยเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้ว”
อีกเรื่องที่ถูกหยิบยกมาโต้เถียง ว่าการกระจายอำนาจมีข้อเสียเพราะจะทำให้เกิดเจ้าพ่อท้องถิ่น และการทุจริตคอรัปชัน ทางนักเดินเท้าให้ความเห็นว่า ท้องถิ่นอาจมีตัวเลขว่ามีคดีขึ้นสู่ศาลมากกว่าส่วนกลาง แต่เปรียบเทียบแล้วความเสียหายเกิดขึ้นน้อยกว่าหลายเท่าตัว แต่มองอีกด้าน สาเหตุที่ส่วนท้องถิ่นมีคดีเกิดขึ้นเยอะ มาจากการตรวจสอบกันเองของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เทียบกับอำนาจส่วนกลางบางแห่งที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นไม่มีการร้องเรียนไม่ได้หมายความว่าไม่มีการโกงเกิดขึ้น “เมื่อการกระจายอำนาจเกิดขึ้น เมื่ออำนาจตัดสินใจและงบประมาณไม่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การที่คนจะมาลงทุนเลือกตั้ง แล้วทุจริตเชิงนโยบายขนาดใหญ่จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่คุ้มค่า ทำให้เงื่อนไขในการเกิดการรัฐประหารก็จะไม่เกิดขึ้นอีก การกระจายอำนาจเลยเป็นวิธีหนึ่งในการตัดจุดเริ่มของวงจรอุบาทว์ที่วนเวียนเกิดขึ้นในประเทศไทย” กิจวัตรประจำวันตลอด 22 วัน ของทนายหนุ่มจากเมืองอุดรธานี คือการตื่นเช้ามากินอาหารง่ายๆ อย่างข้าวเหนียวไก่ย่าง แล้ววอร์มร่างกายเพื่อให้พร้อมกับการเดินทางไกล ระหว่างเดินอาจมีมีไลฟ์สดในโซเชียลบ้าง หรือเจอคนก็แวะเข้าไปทักทายส่งแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปให้อ่าน
การกระจายอำนาจไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน การกระจายอำนาจเป็นการทำให้บริการสาธารณะสะดวกและรวดเร็วขึ้น อำนาจอื่นๆ ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง
พอถามว่าหลังผลตอบรับครั้งนี้ จะเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจต่อไปอย่างไร ทนายแม็ค-ชัยฤทธิ์ เขาวงศ์ทอง ตอบอย่างมุ่งมั่นว่า “ไม่ว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยเรายืนยันว่าจะไม่หยุดทำ นี่เป็นก้าวแรกของผม แล้วยังเป็นก้าวต่อไปในการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ ถ้าคิดแล้วต้องลงมือทำ ต้องเสี่ยงต้องชนกับอำนาจรัฐ จริงๆ อยากให้คนอื่นมาเสี่ยงแทนเราแหละแต่ยังไม่มีคนที่ทำแทนเรา เราเลยต้องลงมือทำเอง”
ขอบคุณภาพ : Facebook Decentralization.thai