ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

‘ชัยธวัช ตุลาธน’ อดีตเลขาธิการพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนล่าสุด รอดชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 แสดงความคิดเห็น และเล่าความทรงจำในอดีต มาจนถึงวันที่พรรคก้าวไกลได้สส. เป็นอันดับ 1 (แต่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล)

  • ชัยธวัช ตุลาธน นักเคลื่อนไหวที่ผันมาทำงานการเมือง จากพรรคอนาคตใหม่ - ก้าวไกล กระทั่งก้าวมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในปี 2566
  • ชัยธวัช ตุลาธน ผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 มาแล้ว และมีแนวคิดทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย

The People สัมภาษณ์ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เพื่อนสมัยมัธยมของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ - นักศึกษาธรรมศาสตร์

ต่อมาในวัยทำงานได้ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และล่าสุดร่วมกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล

ชัยธวัช มองตัวเองในฐานะผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ทำให้เขารู้สึกว่าประชาชนได้รับการปฏิบัติเหมือนมาขออาศัยอยู่ วันไหนผู้มีอำนาจอยากจะยิงทิ้งก็ทำได้โดยไม่มีใครรับผิด ประชาชนยังไม่เป็นพลเมืองเต็มขั้น การทำพรรคการเมืองก็เพื่อต่อสู้ในฐานะผู้แทนราษฎร

แม้หลังเลือกตั้ง 2566 เป็นพรรคที่มีจำนวนสส. อันดับ 1 แต่เขารู้สึกมีสัญญาณชัดว่า พรรคก้าวไกลเหมือนเป็นปีศาจของระบบการเมืองไทยที่ผู้มีอำนาจดั้งเดิมจะไม่อนุญาตให้เป็นรัฐบาลได้โดยง่าย

นักศึกษารุ่นทะเลาะกับคนเดือนตุลา

The People: ตอนทำกิจกรรมตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษา ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เดือนตุลาอย่างไร นามสกุลของคุณชัยธวัช เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เดือนตุลาด้วยไหม

ชัยธวัช ตุลาธน: ไม่เกี่ยวเลยครับ จริง ๆ เป็นนามสกุลเก่าของคุณแม่ ก็คือ เมื่อก่อน ผมใช้แซ่ของเตี่ย ‘แซ่โค้ว’ แต่ว่า หลังจากที่เตี่ยเสียไป สักพักหนึ่งคุณแม่ก็กลับไปใช้นามสกุลเดิม ภายหลังก็เปลี่ยนไปใช้นามสกุลเดียวกับคุณแม่ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาอะไรทั้งสิ้น

ตอนช่วงที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เรื่องคนเดือนตุลาอะไรเนี่ย ผมไม่ค่อยมี... คืออาจจะแตกต่างจากนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมาก เขาจะเติบโตมาจากการอ่านประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา อ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของคนเดือนตุลา เริ่มแรกผมไม่ได้โตมาแบบนั้นเลย ค่อนข้างนอกขนบ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าผมชอบร้องเพลงเพื่อชีวิต ผมก็ร้องได้เพราะเพื่อน ๆ น้อง ๆ เขาจะร้องกันเยอะ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนอินอะไรขนาดนั้น

แล้วก็อาจจะเป็นเพราะว่ามันคาบเกี่ยว ผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 2539 แม้ว่าคนเดือนตุลาหลายคนจะเป็นนักการเมือง จะมาเป็น NGO มาเป็นนักวิชาการแต่ก็ไม่ได้มีการรวมตัวทำกิจกรรมในนามคนเดือนตุลาอะไรกว้างขวาง เพราะว่าคนเดือนตุลา ในมุมมองผม เริ่มกลับมารวมตัวกันอะไรชัดเจน ในหลังปี 2539-2540

ผมจำได้ว่า ผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 2539 เป็นปีที่คนเดือนตุลากลุ่มเล็กๆ เพิ่งเริ่มจะกลับมารวมตัวกันใหม่ ในวาระที่ครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา 2519 แล้วก็ยังเก้ ๆ กัง ๆ กับบทบาททางการเมือง เพราะว่าส่วนใหญ่ก็จะกระจัดกระจาย ไปทำงานหลากหลาย แล้วก็ความคิด ความเชื่อเรื่องการปฏิวัติสังคม มันไม่มีแล้วตอนนั้น

เมื่อก่อนความคิดฝ่ายซ้าย ความคิดแบบมาร์กซิสต์ หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มันล่มสลายไปแล้ว เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังบูม โลกาภิวัตน์ ทุกคนตื่นเต้นกับการเทรดหุ้น ร่ำรวยจากการขายที่ดิน กำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5

เพราะฉะนั้น บรรยากาศทางปัญญาทางความคิด มันไม่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม หรือความคิดฝ่ายซ้ายแบบเมื่อก่อนมันไม่ได้รับความนิยมแล้วนะ คนเดือนตุลาส่วนใหญ่ก็บอกว่า มันใช้ไม่ได้แล้ว

ปี 2539 ยี่สิบปี 6 ตุลา 2519 เขาเริ่มกลับมา เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่คนเดือนตุลากลับมารียูเนียนกันใหม่ แต่ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้มีกิจกรรมทางการเมืองอะไร งานเดือนตุลาที่จัดกันในมหาวิทยาลัย ก็จะเป็นงานที่นักศึกษาจัดกันเองกลุ่มเล็ก ๆ เราไม่ได้มีบรรยากาศแบบ โอ้โห รุ่นพี่เดือนตุลามาแบบอะไรเยอะแยะ เป็นงานของนักศึกษา

ในประสบการณ์ของผม คนเดือนตุลา มาจริง ๆ น่าจะหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ก็คือพอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลาย ๆ คน ก็ต้องเรียกว่า ล้มละลายทางเศรษฐกิจ กลับมามีความคิดเอียงซ้ายในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองอีกครั้ง อาจจะประจวบกับการที่พี่ ๆ หลาย ๆ คน ก็เริ่มกลับมาเตรียมตัวทำพรรคการเมือง ซึ่งภายหลังเป็นพรรคไทยรักไทย เรียกว่า กลับมาสู่ยุทธจักรอีกครั้ง แล้วก็อันนี้เราถึงเริ่มเห็นบทบาทของคนเดือนตุลาตัวเป็น ๆ แม้กระทั่งในแวดวงกิจกรรม ในแวดวงการเมือง ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้งหลังจากนั้น

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวผมก็เลยไม่ได้เริ่มต้นชีวิตกิจกรรม หรือเริ่มต้นสนใจการเมืองจากสิ่งที่เรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ เลย เราก็มาอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมประเภทที่หลุดออกมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตของคนรุ่นเดือนตุลา ออกจะแบบเบื่อ ๆ ด้วยซ้ำในการอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตอะไรแบบนั้น

แล้วก็พอช่วงคนเดือนตุลา เริ่มกลับมาในวงการกิจกรรมทางการเมือง หลาย ๆ ครั้งก็ทะเลาะกัน เถียงกัน รุ่นผมมักจะถูกมองว่าเป็นรุ่นที่ไม่เชื่อฟัง เป็นเด็กดื้อกับรุ่นพี่เดือนตุลา

หลาย ๆ คน ก็จะเถียงกันเวลาวิเคราะห์สังคมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง รุ่นผมนะ ก็จะถูกมองว่า ไม่ค่อยเชื่อฟังเท่าไหร่ เพราะเราก็เห็นไง เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนไปของรุ่นพี่หลายคน ก่อนและหลังวิกฤตเศรษฐกิจว่า เฮ้ย แม่งเปลี่ยนไปเว้ย

ก่อนหน้านั้น ไม่มีนะครับ ประเภทที่จะเห็นการกลับมาบอกเล่าอย่างภาคภูมิใจกับการเข้าร่วมการปฏิวัติในป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะว่าอย่างที่เรียนก็คือตอนแรกเนี่ย คนเดือนตุลาก็ช่วงหนึ่งที่ป่าแตกหลังการปฏิวัติล้มเหลว ความภาคภูมิใจที่จะมาบอกเล่าตัวเองและนิยามตัวเองว่าเป็นนักปฏิวัติ มันเป็นกระแสต่ำ หลายคนก็ต้องปกปิดตัวเองด้วยซ้ำ ไม่เปิดเผยว่าเป็นใครเคยทำอะไรมาก่อน

พวกพี่ ๆ เขาเริ่มกลับมาเจอกันอีกครั้งจริง ๆ ก็ปี 2539 อย่างที่ผมบอก 20 ปี 6 ตุลา 2519 แต่ก็ยังไม่มีกิจกรรมการเมืองอะไร แต่พอวิกฤตเศรษฐกิจ คนจากเดิมที่เคยร่ำรวย จากการเทรดหุ้นขายที่ดิน กลายมาเป็นนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายอีกครั้ง พูดถึงมาร์กซิสต์ วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม ใส่หมวกดาวแดง ใส่ชุดทหารป่า เราเห็นทั้ง 2 ช่วงเวลา เพราะฉะนั้น มันก็แปลก ๆ ดี สำหรับตัวเอง

เราเริ่มเรียนรู้การทำกิจกรรมทางการเมืองจากการสัมผัสการชุมนุมของชาวบ้านมากกว่าจากการสนใจอ่านหนังสืออะไรแบบนี้

 

คนเดือนตุลากับพรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร

The People: บรรยากาศตอนที่คนเดือนตุลาไปเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยกับคุณทักษิณ ชินวัตร ในความทรงจำของคุณชัยธวัช ตอนนั้นมองเห็นอะไร อย่างไรบ้าง

ชัยธวัช ตุลาธน: ตอนนั้นยังไม่เห็นอะไร เพราะว่าเราก็จะเจอบ้างมีคนมาแนะนำ คนโน้นคนนี้เป็นใคร แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จริง ๆ อย่างที่เรียน ผมเองไม่ได้เติบโตมาจากการอ่านประวัติเดือนตุลาอะไรเยอะแยะ ก็ไม่ได้รู้สึกแบบ เจอคนโน้นคนนี้แล้วว้าว

ตอนนั้นเจอพี่อ้วน ภูมิธรรม ด้วยนะ ผมเจอพี่อ้วนด้วย แต่แกคงจำผมไม่ได้หรอก แต่ว่าผมเจออยู่

ตอนผมยังทำสนนท.อยู่ แต่ก็แค่รู้ว่าพี่ ๆ พวกนี้เริ่มกลับมาสู่ยุทธจักรอีกครั้งเป็นแผงเลย แล้วก็บางส่วนเคยเจออยู่แล้วสำหรับคนที่มาร่วมในม็อบสมัชชาคนจน มาช่วยเหลือชาวบ้าน ก็จะเจอบ้าง แต่จะเจอเยอะเลยช่วงนั้น

จำได้ ตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลชวน 2 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็มีการออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลชวน 2 เรื่องขายชาติ ตอนนั้นเริ่มมีการปลุกกระแสโจมตีนโยบายรัฐบาลที่เดินตามไอเอ็มเอฟอะไรพวกนี้

คนเดือนตุลาก็เริ่มกลับมา แล้วก็ต่อต้านรัฐบาลชวน มีการจัดชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลลาออก เราเริ่มเห็นคนเดือนตุลาเยอะขึ้น

ตอนนั้นผมก็เป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ด้วยช่วงหนึ่งบางครั้งก็จะถูกชวนไปทำโน่นทำนี่ บางทีเราก็ปฏิเสธ เพราะเราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาและแนวทางนะครับ ก็มีบ้าง

ผมว่ามันมีเรื่องตลกอันหนึ่ง พอเรามองย้อนหลังกลับไป ที่ผมบอกว่า คนเดือนตุลาเริ่มกลับมาตอนนั้น ถ้าจำได้ ถ้าหลายคนทัน รุ่นนั้นจะเริ่มมีการมาตั้งกลุ่มปอคูณปอใช่ไหม แล้วก็อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ขึ้นมาเป็นผู้นำ

แล้วก็เต็มไปด้วยเพื่อน ๆ น้อง ๆ เดือนตุลา เต็มไปหมด เผยแพร่ความคิด ก็คึกคักมากเลย แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นพรรคไทยรักไทย

เรามองย้อนหลังเลยเข้าใจว่า ทั้งหมดทั้งมวล ตั้งแต่การเคลื่อนต่อต้านรัฐบาล (ชวน หลีกภัย) จนมาถึงพยายามสร้างกระแสจัดตั้งปอคูณปอ จนมาถึงการเลือกตั้ง (2544) หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 เราก็เลยเห็นว่า อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตั้งพรรคไทยรักไทยด้วย อันนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูกนะ พอเรามองย้อนหลังจะเห็น

ประเด็นคือ ผมคิดว่าองคาพยพในการเคลื่อนไหวตอนนั้น สุดท้ายนำไปสู่การเกิดขึ้นของไทยรักไทยด้วยส่วนหนึ่ง ที่น่าสนใจก็คือว่า องคาพยพนั้น ถ้าถอดกลุ่มแกนนำของไทยรักไทยออก ต่อมาก็คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเวลาต่อมาเป็นคนกลุ่มเดียวกันเลย แต่ว่าแค่ถอด พี่ ๆ น้อง ๆ คนเดือนตุลาที่ร่วมกันสร้างไทยรักไทยออก ก็คือไม่มีคุณทักษิณอยู่บนเวที ไม่มีกลุ่มเครือข่ายคุณทักษิณอยู่บนเวที มันก็คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันนี้น่าสนใจมาก ถ้ามองย้อนหลัง ส่วนเป็นไปได้อย่างไร เดี๋ยวว่ากันอีกทีหนึ่ง

เมื่อกี้ถามว่า ตอนนั้นเห็นอะไรใช่ไหม ตอนนั้นยังไม่ค่อยเห็นอะไร แต่พอเหตุการณ์ผ่านไป แล้วมองย้อนกลับไป เราเห็นว่า น่าสนใจดี ตลกดีที่มูฟเมนต์ทางการเมืองช่วงปลายสมัยรัฐบาลชวน 2 กลุ่มที่พยายามจะขับไล่รัฐบาลชวน 2 ในสถานการณ์ภายหลังที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีการเคลื่อนไหวมากมายจนกระทั่งเกิดการตั้งพรรคไทยรักไทย แล้วชนะเลือกตั้ง องคาพยพที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคักตอนนั้น ถ้าตัดองค์ประกอบของคนที่เป็นแกนนำไทยรักไทยออกไป เกือบทั้งหมดกลายมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลายมาเป็นเสื้อเหลืองที่ขับไล่ไทยรักไทย

ส่วนกลายมาเป็นอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องคุยกันยาวเลย แต่นี่เราเห็นในฐานะที่เราได้ร่วมอยู่ในหลายเหตุการณ์ เราเห็นว่ามีความตลกอยู่เหมือนกัน

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล กับประวัติศาสตร์ 2475

The People: พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ไม่ได้สืบทอดเจตนารมย์คนเดือนตุลา แต่ย้อนไปสืบทอดเจตนารมย์ของคณะราษฎร 2475 ใช่หรือไม่

ชัยธวัช ตุลาธน: จะพูดอย่างนั้นได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ คืออนาคตใหม่เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของคณะราษฎร ผมว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ ผมก็ว่า มันเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ ปัญหาทางการเมืองและข้อจำกัดของพรรคการเมืองในช่วงก่อนหน้ามีอนาคตใหม่ ตอบโจทย์ต่อข้อจำกัดของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ณ เวลานั้นมากกว่า

มันไม่ใช่เกิดขึ้นมาเพราะต้องการสืบทอดเจตนารมย์ของใคร เพียงแต่ว่า มันเกิดปรากฏการณ์การกลับมาของคณะราษฎรอีกครั้งในสังคมไทย ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ มันมีจริง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 มันไม่ใช่เรื่องพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล แต่มันเหมือนการกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาของคณะราษฎรหรือความคิดทางการเมืองในก่อนยุค 2500 กลับมาอีกครั้ง หลังรัฐประหาร 2549 นะครับ

อันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองทำให้คนกลับไปรื้อฟื้นหรือกลับไปเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบัน เข้ากับความคิดและประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยก่อนปี 2500 ซึ่งอันนี้ก็น่าสนใจมาก ถ้าตอนผมเป็นนักศึกษา หรือเป็นนักกิจกรรมเนี่ย มันเป็นยุคที่เราไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ได้เชื่อมโยงแบบนั้น

ตอนนั้นมันจะเป็นยุคการเมืองภาคประชาชน ภาคประชาสังคม พูดกันเรื่องประชาธิปไตยทางตรง สำหรับนักกิจกรรมและนักวิชาการหัวก้าวหน้าจะไม่สนใจการต่อสู้ในเชิงสถาบันทางการเมืองเท่าไหร่ ยิ่งการตั้งพรรคการเมืองยิ่งไม่อยู่ในความคิดเลย

คือหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 หลังการหมดของการเมืองแบบฝ่ายซ้ายแบบเดิม ยุคคนเดือนตุลา ยุคพรรคคอมมิวนิสต์ มันเริ่มเข้าสู่ยุค ‘การเมืองภาคประชาชน’ ที่จริงผมเองไม่ค่อยชอบคำนี้

ยุคนั้น NGO เริ่มพูดถึงวัฒนธรรมชุมชน สิทธิชุมชน พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยทางตรง การชุมนุม การเรียกร้องสิทธิ มันจะบรรยากาศทางการเมือง หรือความคิดทางการเมืองจะไม่เหมือนกันเลยกับในเวลาต่อมา คือหลังปี 2549 เหตุการณ์การโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยด้วยกลุ่มเสื้อเหลือง แล้วก็มีการยกเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามา เพื่อโจมตีกันในทางการเมือง แล้วก็มีการรัฐประหารโดยบอกว่าจะมาปฏิรูประบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อันนี้มันค่อย ๆ ส่งผล ทำให้ นักวิชาการ ปัญญาชน คนที่สนใจการเมืองกลับมาคิดเรื่องปัญหาทางการเมืองในแง่สถาบันทางการเมือง แล้วมันก็เลยกลับไปเชื่อมโยง ทำให้นักวิชาการ ปัญญาชนจำนวนหนึ่งเริ่มเขียนงาน เริ่มผลิตผลงานที่ต่างไปจากยุคที่ผมเป็นนักศึกษาเป็นนักกิจกรรม

คือมีการกลับไปพูดถึงการต่อสู้ของคณะราษฎร แล้วก็การโต้การปฏิวัติของคณะราษฎร พูดถึงอำนาจของประชาชน พูดถึงสภา พูดถึงสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ แม้กระทั่ง ตัวละครที่ก่อนหน้านี้อาจจะดูเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในยุคผมเป็นนักศึกษา จอมพล ป. ไม่ได้ถูกมองแบบ โอ้โห เป็นฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย แต่ถูกมองเป็นนักชาตินิยม คอนเซอร์เวทีฟมาก เป็นคนมีส่วนสร้างวิธีคิดแบบอำนาจนิยมในสังคมไทย

พอหลังรัฐประหาร 2549 ประวัติศาสตร์เรื่องของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดดเด่นกว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อีกนะครับ กลายเป็นฮีโร่ ถูกยก ถูกศึกษา ถูกพูดถึงในด้านดี อันนี้ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ด้วยปัญหาทางการเมือง มันผลักให้คนจำนวนหนึ่งกลับไปเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา กับปัญหาทางการเมืองที่เคยมีในประเทศไทยก่อนปี 2500

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตั้งเป้าหมายว่าจะไปสืบทอดเจตนารมย์ของใคร เราเติบโตขึ้นมาภายใต้บรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ แล้วเราก็เห็นข้อจำกัดของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยหลัง 2549 เป็นต้นมา เห็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลัง 2549

แล้วเราก็เห็นปัญหาการเมืองแบบเหลือง - แดง ที่เรารู้สึกว่า การแบ่งการเมืองแบบเหลือง - แดง แบ่งฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย มันอาจจะตีโจทย์การเมืองไทยไม่แตกนัก พวกนี้ต่างหากที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

‘ฟ้าเดียวกัน’ ยุคเริ่มต้น

คนปัจจุบันอาจจะรับรู้หรือเข้าใจว่า ฟ้าเดียวกันต้องทำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตอนเริ่มต้นไม่ใช่อย่างนั้นเลยนะ ตอนเริ่มต้น ฟ้าเดียวกันเกิดขึ้นจากความหงุดหงิดว่า ในสังคมไทย การถกเถียงกันในทางวิชาการทางปัญญาอย่างเข้มข้นเนี่ย มันไม่มี

แล้วมันไม่มีความคึกคักในการที่จะผลิตงานมาถกเถียงกันเกี่ยวกับการเมืองสังคมไทยอย่างเข้มข้น แล้วก็ไม่มีคนสนใจด้วย ขณะเดียวกันมันก็จะมีงานแบบนักเคลื่อนไหว NGO ซึ่งเรารู้สึกว่าคุณภาพมันไม่ได้ เลยอยากจะสร้างพื้นที่ตรงกลางขึ้นมา ทำวารสาร ทำหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันอย่างจริงจังมากขึ้น

แล้วก็ตอนนั้นเนื้อหาหลัก ๆ ไม่ได้มีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เลยนะ เป็นเรื่องศึกษาความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับสากลบ้าง ในประเทศไทยบ้าง วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดต่าง ๆ ของแนวคิดทางเลือกวัฒนธรรมชุมชน แนวคิดแบบการเคลื่อนไหวของ NGO ภาคประชาชน ว่ามันใช่หรือเปล่าอะไรแบบนี้

ถัาไปดูย้อนหลัง ฟ้าเดียวกันฉบับช่วงรุ่นแรกไม่มีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เลยนะ ส่วนจุดเปลี่ยนก็คือ บรรยากาศทางการเมืองนี่แหละ คือช่วงแรกอาจจะมีอยู่บ้าง เป็นนักวิชาการบางคน เช่น อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แน่นอนอาจารย์ก็สนใจเรื่องนี้ แกก็มาเขียนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักเลยตอนนั้น

แล้วพอในยุคเริ่มต้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแล้ว เวลามีเรื่องอะไร เช่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาใหม่ เราก็ยังไปทำสกู๊ป ทำบทความถกเถียงกันเรื่องปัญหาสามจังหวัด วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล รวบรวมข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรแบบนี้

แล้วมีฉบับหนึ่ง เราเอา CD สลายการชุมนุมที่ตากใบซึ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรพยายามจะเซ็นเซอร์ เราก็เอามาเผยแพร่ ฟ้าเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากบรรยากาศหรือปัญหาทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย หลังปี 2549

เพิ่งจะหลัง 2549 นี่แหละ ที่คนกลับมาเริ่มสนใจ ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น อันนี้ในแง่วงการวิชาการนะครับ เพราะว่าประเด็นนี้มันถูกดึงกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ไม่มี

 

ชัยธวัชเพื่อนธนาธร สมัยนักเรียนเตรียมอุดม

The People: คุณชัยธวัชเป็นเพื่อนกับคุณธนาธร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำกิจกรรมอะไรร่วมกันมาบ้าง

ชัยธวัช ตุลาธน: รู้จักกันที่โรงเรียนเตรียมอุดม ก็คือตอนผมอยู่ ม. 5 คุณธนาธรก็ขึ้น ม. 4 พอดีเรียนโปรแกรมเดียวกัน เรียกว่าโปรแกรมเตรียมวิศวะ ก็รู้จักกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ผมเข้าเตรียมอุดมปี 2536 คุณธนาธรก็เข้าปี 2537 เจอกันปี 2537

ตัวผมเองก็เข้าจุฬาฯ ก่อนคุณธนาธรหนึ่งปี คุณธนาธรก็เข้าธรรมศาสตร์ ผมเองก็ทำกิจกรรมหลากหลาย ก็เหมือนนักกิจกรรมทั่วๆ ไป แล้วก็ตอนแรกก็ทำกิจกรรมอยู่ในมหาวิทยาลัย

 

จุดเปลี่ยนมาสนใจการเมือง

สิ่งที่อาจจะถือว่า เป็นจุดเปลี่ยนส่วนหนึ่งที่เริ่มสนใจปัญหาทางการเมืองมากขึ้น ก็น่าจะเป็นในช่วงปลาย ๆ เข้าสู่ปี 2540 ที่ตอนนั้นมีม็อบสมัชชาคนจน ตอนนั้นผมอยู่ปี 1 ที่จุฬาฯ มีม็อบสมัชชาคนจนเข้ามาชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลซึ่งตอนนั้น เราก็จะรู้จักกันคือ ม็อบ 99 วัน สมัชชาคนจนที่เขามารวมตัวกัน ปักหลักชุมนุม รวม ๆ หลาย ๆ ปัญหา แล้วก็ชุมนุมยาวนานถึง 99 วัน ตอนนั้นผมอยู่ปี 1

พี่ ๆ ค่ายชมรมชาวเขาก็พาเราไปพูดคุยกับพี่น้องชาติพันธุ์ที่มาชุมนุมด้วย เพื่อที่จะให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้นก่อนที่จะไปค่ายชาวเขา เราก็ตามเข้าไป แม้ว่าก่อนหน้านั้น เราจะอ่านหนังสือพิมพ์ติดตามข่าวการเมือง แต่เราก็ไม่เคยมาสัมผัสการชุมนุมจริง ๆ ไม่เคยมาสัมผัสปัญหาของชาวบ้านในระดับลึกมาก่อน มันก็เป็นภาพที่ strike เราระดับหนึ่งนะว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันมาชุมนุมอยู่เต็มไปหมดเลย เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสการชุมนุมของชาวบ้าน ก็ทำให้เราเริ่มเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น

ก็เลยเปลี่ยนใจ ไม่ไปค่าย แต่ไปชุมนุมหน้าทำเนียบ เรารู้สึก เฮ้ย ทำไมต้องไปค่ายวะ ชาวบ้านเขามาอยู่ที่นี่แล้ว เราก็เลยไม่ได้ไปค่ายเลย เราก็กลับไปที่หอพัก แล้วก็เก็บเสื้อผ้าไปนอนอยู่ในม็อบเลย

ม็อบสมัชชาคนจน ชุมนุม 99 วัน ก็ไปฝังตัวไปกินไปนอน ไปอยู่กับกลุ่มนั้นทีกลุ่มนี้ที อันนั้นก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกอันหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาสังคมไทยมากขึ้น อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเจอทั้ง NGO นักวิชาการ เพื่อน ๆ นักกิจกรรมจากหลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มเข้าสู่การเข้าไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น

ส่วนคุณธนาธร ก็เข้ามหาวิทยาลัยหลังผมหนึ่งปี ตอนนั้นปีหนึ่งเขาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ไม่ได้เจอกันสักเท่าไหร่ แล้วพอคุณธนาธร มาทำกิจกรรมที่ อมธ. คือ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะมาเจอกับผมบ้างตอนที่ผมเริ่มเข้าไปทำกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ตึกกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้วในนั้นก็จะมีสำนักงานของ อมธ. ด้วย ก็จะได้พบปะเจอกันบ้าง แล้วก็มีบางกิจกรรมที่เราได้ทำร่วมกันบ้าง

ตอนปี 2 เริ่มเข้าไปร่วมกิจกรรมกับ สนนท. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตอนปี 2 ผมก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสนนท. แล้วพอปี 3 ก็ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการ สนนท. พร้อม ๆ กับเป็นประธานชมรมจุฬาทักษิณ

หลังจากที่ผมหมดวาระเป็นเลขาธิการ สนนท. คุณธนาธรถึงเข้ามาทำ สนนท. มากขึ้น จริง ๆ ก็จะเหลื่อม ๆ กัน แต่คุณธนาธรไม่ได้เป็นเลขาฯ สนนท.

เราก็เห็นปัญหาที่ประชาชนถูกกระทำจากนโยบายรัฐ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ ผมว่าเรื่องการตกผลึกทางความคิดว่าปัญหาทางการเมืองเป็นอย่างไร มันก็สั่งสมมาเรื่อย ๆ มากกว่า ผมคิดว่า ในช่วงเป็นนักศึกษา ได้เรียนรู้ เห็นรูปธรรมของปัญหา ผมคิดว่า เรื่องความคิดทางการเมืองมันค่อย ๆ สั่งสมกันขึ้นมาตามสถานการณ์ทางการเมืองด้วย

ช่วงผมเป็นนักศึกษาเนี่ย นอกจากได้มาคลุกคลีเริ่มต้นจากสมัชชาคนจนแล้ว ในภายหลังผมก็เริ่มไปเข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการแรงงานด้วย ภายหลังคุณธนาธร ก็มาเข้าร่วมกิจกรรมกับคนงานอยู่บ้าง แล้วก็ระหว่างนั้นในช่วงปี 2540 ก็มีการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปการเมือง รณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว ก็ไปร่วมรณรงค์ด้วย เป็นประสบการณ์ที่เราหล่อหลอมมา

 

แยกย้ายไปทำงาน ก่อนตั้งสำนักพิมพ์และล่าสุดตั้งพรรคการเมือง

คุณธนาธร หลังเรียนจบ ไม่ได้อยากเป็นนักธุรกิจอะไร เขาก็ไปสมัครเป็น NGO นานาชาติ แต่ว่าพอคุณพ่อเสียชีวิต ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมารับช่วงในการบริหารธุรกิจต่อ ซึ่งตอนนั้น เขาก็ไม่อยากเป็นนักธุรกิจ เราเองในฐานะเพื่อนก็รับรู้อยู่ เขาก็รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้มีโอกาสไปทำงานอาสาสมัคร NGO อะไร อย่างที่ตัวเองต้องการ

ผมเองคนหนึ่งก็บอกคุณธนาธรว่า ไปทำธุรกิจเถอะ อย่าคิดว่าไปเป็นนักธุรกิจแล้วมันจะเหมือนกับไปขูดรีดคนงาน หรือไปทำอะไรที่มันไม่ชอบธรรมละทิ้งอุดมการณ์ไปรับใช้ระบบทุนนิยมอะไรแบบนั้น คือผมก็บอกเขาว่า การขูดรีดแรงงานเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของนายทุน หมายความว่า มันไม่ใช่เรื่องคนดีหรือคนไม่ดี มันเป็นเรื่องระบบ เรื่องโครงสร้าง การที่เราจำเป็นที่จะต้องไปบริหารธุรกิจให้ครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าโดยจิตใจคุณจะดีหรือไม่ดี เพราะมันเป็นเรื่องระบบ ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ในเชิงระบบ ก็ไปเถอะ

แล้วก็ยังบอกเขาว่า ดีแล้วล่ะ จริง ๆ แล้วไปหาประสบการณ์ สักวันหนึ่งอาจจะได้ใช้ประสบการณ์ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ก็ได้

ส่วนผมเองก็ก่อนเรียนจบก็เริ่มทำงานแล้ว พอเรียนจบอีกสักพักหนึ่งก็คิดว่า อยากจะทำงานสำนักพิมพ์ของตัวเอง เพื่อที่จะทำงานในเชิงความคิดอย่างจริงจัง ระหว่างนั้น แม้ว่าคุณธนาธร จะทำธุรกิจผมก็ทำงานอีกแบบหนึ่ง แต่บางทีเวลามีประเด็นในทางการเมืองสำคัญ ๆ เราก็ได้พบปะพูดคุยกันบ้าง เป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ก็จะมีการนัดเจอกันบ่อย ๆ

ในช่วงปี 2553 จริง ๆ ก็ต้องเรียกว่าเพื่อน ๆ หลายคนเริ่มกลับมาเจอกันมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 พอหลังรัฐประหาร 2549 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร วันรัฐประหารเลยเนี่ย ผมอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ก็คือได้ทุนไปทำงานวิจัยหนึ่งปีที่ฟิลิปปินส์กับที่โตเกียว วันรัฐประหารก็อยู่ที่ฟิลิปปินส์

ตลกมากเลย กำลังแบบว่า มันเป็นวันที่ที่ฟิลิปปินส์ เขาเรียกว่า long march เดินขบวนทั่วประเทศมาที่มะนิลา เพื่อจะรำลึกวันที่โค่นล้มเผด็จการมาร์กอส ผมก็อยู่ร่วม long march จากต่างจังหวัดของฟิลิปปินส์ กำลังจะเดินเท้าเข้ามะนิลา ก็ได้รับแจ้งจากเพื่อนว่าเกิดรัฐประหารแล้ว เราก็รีบนั่งรถกลับไปที่มะนิลา แล้วคุยกันกับเพื่อนในเมืองไทยว่า จะต้องทำอะไรกันบ้าง อย่างไร แล้วหลังจากนั้นหนึ่งปีผมก็กลับเมืองไทย

จำได้ว่า กลับมาเมืองไทย งานแรกเลยก็คือ มาช่วยกันรณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ก่อนหน้านั้นก็มีกิจกรรมต้านรัฐประหารอะไรกัน ก็เริ่มมาเจอเพื่อน ๆ มากขึ้น เพื่อน ๆ ที่ยังให้ความสำคัญกับปัญหาบ้านเมือง

ตอนอยู่ต่างประเทศก็ช่วยคิดช่วยอะไรแบบออนไลน์ ตอนนั้นอยู่ต่างประเทศ แต่กลับมารับหน้าที่รณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญ 2550 หลังจากนั้นก็เริ่มมีเสื้อแดง เราก็ไปเข้าร่วมการชุมนุมเหมือนคนทั่วไป เป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็เรื่อยมา จนไปถึงปี 2553 เราก็นัดเพื่อน ๆ ไปร่วมชุมนุมด้วย ไปในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

วันที่ 10 เม.ย. 2553 จำได้ว่า เช้าวันนั้น เราได้รับแจ้งว่า มีข่าวสารว่าอาจจะมีการสลายการชุมนุม อะไรแบบนี้ เราก็เลยชวนเพื่อน ๆ มาเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่เช้าวันที่ 10 เม.ย. 2553 แล้วก็อยู่จนถึงช่วงค่ำ ช่วงค่ำก็เกิดการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงอย่างที่ทราบกันดี ที่มีภาพคุณธนาธร ถูกกระสุนยางยิง เราอยู่ด้วยกันที่แถว ๆ สี่แยกคอกวัว ไปในฐานะประชาชนไม่ได้เกี่ยวกับแกนนำ ก็ชวนเพื่อน ๆ ด้วยกันไป

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ต้านรัฐประหาร 2557

ตอนหลังการรัฐประหารปี 2557 ในหมู่เพื่อน ๆ เองรวมถึงคุณธนาธรด้วย เราก็เริ่มมาคิดจริงจังว่า เอ๊ะ ในเมื่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง น่าจะมีความพยายามที่จะสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ไหม ที่จะมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งรูปแบบหนึ่งก็เป็นรูปแบบพรรคการเมือง แต่ก็ได้แต่คิด คุยกัน ยังไม่ได้ลงมือทำจริงจัง

ส่วนใหญ่ก็เกิดกิจกรรมแบบว่า ต่อต้านรัฐประหารปี 2557 แล้วผมเองก็ไปเข้าร่วมบ้าง เช่น ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งตอนนั้นก็มีคุณอานนท์ นำภาด้วย แล้วก็ผ่านไปจนพอมามีร่างรัฐธรรมนูญของคสช. ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ตอนนั้นเราก็ร่วมกันรณรงค์โหวตโน ตอนที่ทำประชามติ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีการคิดอ่านหรือว่าทำอะไรเรื่องพรรคการเมืองจริงจังนะครับ จนกระทั่งหลังประชามติแพ้ถึงเริ่มกลับมาคิดจริงจัง

ผ่านไปสักพักหนึ่ง บรรยากาศทางการเมือง เราสัมผัสได้ถึงความผิดหวังหรือสิ้นหวังของคนที่รู้สึกว่า สุดท้ายรัฐธรรมนูญของคสช.ก็มาบังคับใช้ ต่อไป การต่อสู้เพื่อหวังว่าจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีก ก็คงเป็นไปได้ยาก มันเริ่มมีบรรยากาศที่สิ้นหวัง ไม่คิดว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันจะประสบความสำเร็จ

ตอนนั้น พอเราเห็นบรรยากาศแบบนั้น เราเริ่มกลับมาคุยกันว่า เออ มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะคล้าย ๆ กับรื้อฟื้นโครงการที่เราคิดกัน หรือเราควรจะมีองค์กรทางการเมืองเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยองค์กรใหม่ขึ้นมาไหม รวมถึงเรื่องพรรคการเมือง มันควรจะเป็นทางออกหนึ่งไหมอะไรแบบนี้นะครับ แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือ หลังประชามติใหม่ ๆ ก็ยังไม่ได้ลงมือจริงจังอะไรมากนัก แล้วตัวเองตอนนั้น ผมเองก็ไปอยู่เชียงใหม่อยู่หลายปี ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน

 

ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ปี 2560

พอถึงประมาณกลางปี 2560 ก็ถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่กลับมาคุยกันจริงจังอีกครั้ง อันนี้ก็ด้วยเรื่องส่วนตัวด้วย ตอนหลังผมคิดทำการเมืองแบบพ่อคน จุดเริ่มต้นคือรู้สึกหงุดหงิดกับโรงเรียนของลูกด้วย คือลูกผมก็ไปเรียนโรงเรียนชั้นนำของเชียงใหม่

แล้วสุดท้าย ลูกก็รู้สึกแบบแอนตี้โรงเรียน มีวันหนึ่ง ผมก็นั่งคิดเรื่องนี้ เราก็นั่งนึกแล้วรู้สึกว่า ถ้าโรงเรียนมันเป็นแบบนี้ ขนาดโรงเรียนที่เรียกว่าอันดับหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างนี้ มันจะมีอนาคตได้อย่างไรประเทศนี้ ก็นั่ง ๆ อยู่ที่บ้าน แล้วก็คิด

แล้วก็แวบหนึ่งรู้สึกว่า แล้วจะบ่นทำไมวะ จะมัวแต่บ่นทำไม ทำไมไม่ลองเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองสักตั้งหนึ่ง อันนี้ผสมกัน อารมณ์แบบส่วนตัวด้วย

พอคิดเสร็จปุ๊บ หลังจากนั้น ผมเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ เลย แล้วก็มาคุยกับคุณธนาธรที่บ้านว่า โปรเจกต์ที่จะทำพรรคการเมือง เอาเลยดีไหม มันก็มาผสมกัน การต่อสู้ทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองกับประเด็นส่วนตัวที่เรารู้สึกว่าจะมัวไปบ่นทำไม อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ก็ลองดูด้วยตัวเองสักตั้งหนึ่งจะได้ไหม อย่างนี้เลยนะครับ

ก็มารวมกัน เริ่มคุยกันกลางปี 2560 ซึ่งก็เริ่มด้วยคนสองคนขยายกลายเป็นสามคน สี่คน ห้าคน อะไรแบบนี้ เราก็ไม่เคยทำพรรคการเมือง

ในระหว่างนั้น เราก็เริ่มที่จะนั่งวิเคราะห์ว่า ถ้าจะทำพรรคการเมือง แนวทางจะเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์อยู่ตรงไหน ความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ มีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะเอื้อให้การทำพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ แนวคิดจะเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์ทางการเมืองเป็นอย่างไร เราก็เริ่มคิดและเริ่มที่จะเดินสายไปขายฝัน ผมก็ประมาณสักเดือนสิงหาคมปี 2560 ก็เริ่มต้นแล้ว

ผมจำได้ ครั้งแรกที่เริ่ม บรรยากาศเหมือนรวบรวมจอมยุทธ์ คนที่เรารู้จักคนที่กระจายไปอยู่แวดวงต่าง ๆ บางคนก็เป็นนักวิชาการ บางคนก็ทำงานส่วนตัว เป็น NGO เป็นอะไรแบบกระจัดกระจาย เราก็เริ่มเหมือนมีโปรเจกต์ไปขายฝันแล้วก็ไปเล่าว่า เราจะทำพรรคการเมืองกันนะ ความเป็นไปได้อย่างนี้ จะเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์จะเป็นอย่างไร จำได้ว่าเดือนสิงหาคมเป็นครั้งแรกที่ผมก็ไปที่มหาสารคาม ไปขายฝันครั้งแรก แล้วก็ค่อย ๆ กระจายไปตรงโน้นตรงนี้ รวมถึงที่เชียงใหม่

ตอนที่เสนอครั้งแรก ผมว่าไม่มีใครเชื่อ คือเหมือนแบบ มันจะเป็นไปได้เหรอวะ ผมว่าแทบไม่มีคนเชื่อทุกอย่างที่เราคุย เหมือนแบบคนกลุ่มแรก ๆ ที่มาคุยกันก็ยังบอก เออว่ะ ยอมรับด้วยซ้ำ แม้กระทั่งมาเป็นพรรคแล้ว ก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ 

กลางปี 2560 เริ่มคุย ปลายปีเริ่มขายฝัน เริ่มถกเถียงกันมากขึ้น ค่อย ๆ ขยายคน แล้วก็ตัดสินใจกันจริง ๆ ก็คือ ตอนสิ้นปี 2560 ตอนนั้นกำลังจะปิดปีใหม่ แล้วก็ในหมู่แกนนำด้วยกัน อ.ปิยบุตร คุณธนาธร อะไรแบบนี้ เพื่อน ๆ กลุ่มไม่ใหญ่มากนักก็บอกว่า เดี๋ยวปิดปีใหม่นี้กลับไปคุยกัน ต่างคนแยกย้ายไปอยู่กับครอบครัว กลับไปคิดดี ๆ ว่าจะทำหรือไม่ทำพรรคการเมืองนี้

เราก็บอกว่า ถ้าตัดสินใจทำ ทุกคนต้องแบบตกลงกันนะโว้ย ทำเลยนะ จะไม่หันหลังกลับไปอีก คือไม่หันหลังกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกแล้ว เหมือนตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตัวเองครั้งใหญ่

แล้วก็ก่อนปิดปีใหม่ (2560) ผมจำได้ว่า ก็ปรึกษาหารือ รุ่นพี่หลาย ๆ คนเหมือนกัน รวมถึงรุ่นพี่คนเดือนตุลาบางคน ซึ่งภายหลังก็กลับไปช่วยงานพรรคเพื่อไทย พี่คนนี้ ก่อนที่จะปิดปีใหม่ก็ไปกินข้าวกัน

แกก็อยู่ในฝั่งที่เห็นด้วย สนับสนุนพวกผมที่จะทำพรรคการเมืองขึ้นมา แล้วก็พูดประโยคหนึ่งที่ทำให้เรากลับไปคิดในช่วงปิดปีใหม่ แกบอกว่า มันไม่มีอะไรรับประกันว่าสิ่งที่พวกคุณทำ มันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าคุณทำ เมื่ออนาคตคุณหันหลังกลับมา คุณจะได้ไม่เสียใจว่า ทำไมวันนั้นไม่ทำ

อันนี้ โห เป็นวรรคทองมาก ๆ นะครับ แล้วก็ทำให้เราเอากลับไปคิด แล้วพอเปิดมาปีใหม่เราก็ตกลงเราทำ ที่ตลกร้ายมาก ๆ ก็คือ พี่คนนี้ ตอนหลังก็กลับไปช่วยพรรคเพื่อไทย (หัวเราะ) ผมคิดว่านี่มันเป็นประโยคสำคัญนะ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลับไปคิด แม้ว่าตอนนี้จะอยู่คนละพรรคแล้ว

The People: หลังเลือกตั้ง 2562 และ หลังเลือกตั้ง 2566 ประเมินสิ่งที่ทำมาอย่างไร

ชัยธวัช ตุลาธน: สิ่งที่ทำมาเหรอ ผมคิดว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป แม้ว่าเราจะถูกยุบพรรค ก็คงตัดสินใจทำเหมือนเดิม เพราะว่าผมคิดว่ามันคุ้มค่า คือถ้าเราลองย้อนว่า การเมืองไทยที่ไม่มีพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีก้าวไกล ในปี 2562 หน้าตามันจะเป็นแบบไหน ผมก็เชื่อว่า มันจะไม่เหมือนในปัจจุบันเลย คือไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น ผมก็คิดว่า มันคุ้มค่าที่ได้ทำ

The People: หลังเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้จำนวนส.ส.อันดับ 1 แต่ว่า ก็จะเจออุปสรรคกับกติกาที่ไม่เอื้อให้พรรคอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลได้โดยง่าย คุณชัยธวัชอยากจะพูดถึงอุปสรรคเหล่านี้อย่างไร

ชัยธวัช ตุลาธน: จริง ๆ ต้องบอกว่า หลังเลือกตั้ง แน่นอนว่า เราดีใจ เราชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 แล้วเราก็แอบมีความหวังว่า เราจะได้เป็นรัฐบาล เราเตรียมทีมกันเพื่อจะแปลงจากนโยบายให้เป็นระดับปฏิบัติ ทำกันอย่างเต็มที่นะครับ

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็พอจะรู้ตัวอยู่ว่า แม้เราจะชนะการเลือกตั้ง แต่ end game มันมีคนพยายามไม่ยอมให้เราเป็นรัฐบาลแน่นอน แนวโน้มหลักคือ จะไม่ได้เป็นรัฐบาลนะ แต่ไม่ใช่ว่าประเมินแบบนี้แล้วเราจะเล่นละครหลอก ๆ คือไม่ใช่

เราก็พยายามที่จะผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่ออย่างน้อยเป็นรัฐบาลให้ได้ ถามว่ารู้สึกอะไร หรือสะท้อนอะไร ผมคิดว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันก็สะท้อนปัญหาใหญ่ทางการเมืองที่ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญเลยที่ทำให้เกิดพรรคอนาคตใหม่

เราถอดบทเรียนว่า ปัญหาทางการเมืองที่เราเห็น ตั้งแต่ปลายยุครัฐบาลไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา มีรัฐประหาร 2 ครั้ง จนถึงปัจจุบันคืออะไร แล้วเราก็มองว่า ปัญหาสำคัญก็คือว่า การเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง แม้จะมีรัฐประหารบ่อยครั้ง แต่สุดท้าย มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันต้องกลับสู่การเลือกตั้งอยู่ดี

แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 สิ่งที่เราเห็นคือ อำนาจโดยเฉพาะไทยรักไทย อำนาจจากการเลือกตั้ง เริ่มเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ความยอมรับของประชาชนต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่สุดท้ายเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่มันยังมีระบบการเมืองที่ยังไม่ลงตัวว่า เราจะอยู่ในระบบระเบียบไหนที่จะยอมรับที่จะอยู่ร่วมกันได้ และอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พยายาม ออกแบบ รัฐประหารก็แล้ว เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็แล้ว ออกแบบการเมืองให้อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมให้อำนาจจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจสูงสุดจริง ๆ นี่ก็เป็นปัญหาแห่งยุคสมัยที่ยังแก้ไม่ออกนะครับ

แล้วอำนาจ 2 อันนี้มันปะทะกันอยู่ เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งด้วยว่า ถ้าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ทำไมต้องทำพรรคการเมือง เพราะพื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎร มันกลายเป็นพื้นที่ใจกลางของปัญหาความขัดแย้งที่มันปะทะกันอยู่มา 2 ทศวรรษแล้ว

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเข้าไปเป็นผู้เล่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลง คุณต้องกระโดดเข้าไปพื้นที่นี้เลย ก็คือสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนปัญหาที่เรามองเห็นและเป็นที่มาของการทำพรรคการเมือง แล้วมันก็ยังมีอยู่ อันนี้ผมคิดว่า มองโลกในแง่ดีก็คือ อย่างน้อยมันทำให้สังคมตระหนักขึ้น และเข้าใจปัญหามากขึ้นว่าใจกลางของปัญหาของสังคมการเมืองไทยมันอยู่ตรงไหน ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ

The People: หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ตอนประกาศรวม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล เลือกเกมวัดใจสว. หวังว่า สว.จะโหวตให้ ตอนนั้นก้าวไกลมีหลักการไม่เอาขั้วรัฐบาลเดิม หรือเป็นเพราะต่อสายไปหาพรรคขั้วรัฐบาลเดิมแล้วเขาไม่มาจับมือด้วย?

ชัยธวัช ตุลาธน: ตอนนั้นหลัก ๆ เลยคือ เราคิดว่า ผลการเลือกตั้งมันออกมาเป็นอย่างนี้ มันชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการพลิกขั้วรัฐบาล เปลี่ยนขั้วรัฐบาล จากฝ่ายค้านที่ประชาชนเห็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วประชาชนมอบเสียงให้ ถ้ารวมกันเฉพาะเพื่อไทยกับก้าวไกลก็ประมาณ 25 ล้านเสียง อยากให้มาบริหารประเทศมาแทนขั้วอำนาจเดิม

ดังนั้น ทิศทางมันชัดอยู่แล้วว่า เราต้องการที่จะพลิกขั้วรัฐบาล เราก็ไม่มีการไปติดต่อพรรคขั้วรัฐบาลเดิม แล้วเราก็คิดว่า 312 เสียงประมาณนี้ มันมีเสถียรภาพเพียงพอแล้วที่จะจัดตั้งรัฐบาล เหลืออย่างเดียวก็คือโจทย์ สว.

แล้วเราคิดว่า ถ้าเราแพ็กกันแน่นจริง ๆ ไม่แตก มันสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นะครับ แน่นอน มันมีแรงต้านจากสว. มีแรงต้านจากฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ หรือมีขั้วเดิมอาจจะชิงไปจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่เราเชื่อว่า มันยากกว่าฝั่ง 312 เสียงเสียอีก ก็คิดแบบนั้นจริง ๆ เราคิดว่า ถ้าเราแพ็กกันแน่น กดดันดีจริง ๆ สว. ก็น่าจะยอม

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

The People: ฟีดแบ็กที่มาถึงคุณชัยธวัช เป็นอย่างไร หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พูดปิดท้ายตอนจบการแถลงข่าว 8 พรรค ที่พรรคเพื่อไทย

ชัยธวัช ตุลาธน: มันก็ดราม่า จริง ๆ ก่อนหน้านี้คือ ผมในหมู่น้อง ๆ คนทำงานด้วยกัน ผมจะถูกมองว่าเป็นคนดุ แต่หลังจากวันนั้นก็กลายเป็นแบบน่าสงสาร น่าเห็นใจ อะไรแบบนี้ ก็เปลี่ยนไปเลยนะครับ ก็งง ๆ อยู่

แต่วันนั้นก็ไม่มีอะไรหรอก ผมก็นิ่งฟังอะไรแบบนี้เฉย ๆ ก็ขอบคุณที่ประชาชนให้กำลังใจเยอะมาก ส่วนหนึ่งอาจจะไปสะท้อนความรู้สึกในหัวใจของหลาย ๆ คนที่มีความรู้สึกร่วม

The People: การที่เป็นพรรคมีสส. มากอันดับ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ประสบการณ์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การทำงานอย่างไร

ชัยธวัช ตุลาธน: ผมคิดว่า สิ่งที่เราอาจจะเผชิญในอนาคต คือมันมีสัญญาณชัดว่า พรรคก้าวไกลเป็นสัตว์ประหลาด เป็นปีศาจของระบบการเมืองไทยที่ผ่านมา ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในอดีต แล้วมันไม่ง่ายที่ผู้มีอำนาจดั้งเดิมต่าง ๆ เขาจะอนุญาตให้พรรคแบบก้าวไกลเติบโตได้ และชนะการเลือกตั้งในอนาคตอย่างง่าย ๆ อันนี้ก็อาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ในอนาคตของการเมืองไทย

ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง มันจริงหรือเปล่าที่ผู้มีอำนาจต่าง ๆ จะอนุญาตให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ก้าวหน้าในอนาคตจริง ปล่อยให้เกิดการเลือกตั้ง รัฐบาลสามารถอยู่ 3-4 ปีได้ ปล่อยให้พรรคก้าวไกลเข้าสู่การเลือกตั้งแบบง่าย ๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่เราเห็นอยู่

แต่ในส่วนของพรรคเอง ผมคิดว่า สิ่งที่เราเตรียมกันวันนี้ก็คือว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็คือ ต้องทำพรรคให้เข้มแข็งให้มากที่สุด ไม่ว่าตั้งแต่ตัวผู้แทนราษฎรของเราเองที่จะต้องเพิ่มศักยภาพทำงานให้หนัก แล้วก็ต้องทำงานทั้งในสภาและนอกสภาให้เยอะกว่าเดิม

ในสมัยที่แล้ว ในช่วงอนาคตใหม่ถูกยุบ เราฟื้นฟูพรรคมาเป็นก้าวไกล เราก็ต้องบอกว่า มีกำลังที่จำกัด ประกอบกับภาวะโควิด-19 เราต้องเลือกที่จะโฟกัสงานในสภาเป็นหลักเพื่อสร้างความยอมรับ

แต่หลังจากนี้ เฉพาะงานในสภาไม่พอ มันต้องทำงานกับข้างนอกให้มากขึ้น แล้วก็สร้างความพร้อมให้ตัวเอง ให้ประชาชนเห็นว่า เรามีความพร้อมและเหมาะสมที่จะบริหารประเทศจริง ๆ นโยบายหลาย ๆ อย่างที่เราได้หาเสียงไว้ เราคิดอยากจะผลักดันต้องเข้มข้นมากขึ้น ลงลึกพร้อมปฏิบัติมากขึ้น และทำความเข้าใจกับสังคมให้มากกว่าเดิม

ในส่วนของพรรคที่ต้องเข้มแข็งมากขึ้นก็คือ พรรคต้องขยายขึ้น สมาชิกพรรคต้องมากขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพรรคมากขึ้น อาสาสมัครอะไรต่าง ๆ ต้องทำให้พรรคเข้มแข็งพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งเราไม่รู้ว่า มันจะราบเรียบปกติ หรือจะเกิดความรุนแรงอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้หมด นี่ก็คงต้องเตรียมพร้อมสำหรับพรรคเอง

The People: พรรคก้าวไกลเป็นพรรคอุดมการณ์ ด้วยอายุพรรคใหม่ มีความหวังมากมาย มั่นใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่คำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลักเหมือนนักการเมืองยุคก่อนๆ

ชัยธวัช ตุลาธน: เรื่องพรรค ผมว่าอันดับแรกเลย อย่าไว้ใจคน คือผมไม่เชื่อเรื่องคนดี ใจคนเนี่ยมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ วันนี้ คนนี้ โอ้โห มีอุดมการณ์มากเลย มีความคิดดีมากเลย วันหนึ่งเปลี่ยนไปได้ จะด้วยข้อจำกัดในชีวิตของเขา หรือเงื่อนไขอะไรบางอย่าง หรือเมื่อเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอำนาจ ทุกคนเปลี่ยนได้หมด ผมคิดว่า สิ่งที่ต้องพยายามทำ คือ ‘ระบบ’ ซึ่งนี่ก็ยังเป็นโจทย์ของเรานะครับว่า ระบบอะไรที่ดีที่จะทำให้พรรคไม่ออกนอกลู่นอกทาง ยังเดินตามภารกิจหรือเป้าหมายที่เดิมคิดเอาไว้ได้ อันนี้ต่างหาก วันนี้ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ยังอยู่ในช่วงทดลอง

เอาแค่เฉพาะแบบชีวิตประจำวันของผู้แทนฯ คือเวลาเราบอกว่า เราอยากจะทำการเมืองแบบใหม่ที่ไม่เหมือนการเมืองในอดีต คำถามเลย ทำไงวะ? รูปธรรมอะไร มันไม่ใช่แค่บอกว่า จะไม่ทำงานการเมืองแบบเก่า คือไม่ไปแข่งกันฉีดยุงใส่ซองงานศพ อะไรแบบนี้ แล้วคุณจะกลายเป็นนักการเมืองคุณภาพใหม่

แต่จะต้องแสวงหาว่า สิ่งที่เรียกว่าการเมืองแบบใหม่คืออะไร ต้องทดลองทำภายใต้สภาพแวดล้อมแบบกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ชาวบ้านประชาชนเขาเรียกร้องนักการเมืองแบบที่เขาคุ้นเคย เพราะเขาไม่ได้เห็นว่า อะไรแบบใหม่ที่ดีกว่าคืออะไร อันนี้เอาแค่ชีวิตประจำวันของการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรก็ต้องคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลาว่า อะไรคือความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่เราจะสร้างระหว่างพรรคการเมือง ผู้แทนราษฎร กับประชาชน

เราก็พยายามถอดบทเรียน ถอดประสบการณ์จากสส. ทุกวันนี้ประชุมสส. ครั้งหลังสุด ผมก็ยังบอกว่า นี่คือเป็นโจทย์ของทุกคนที่ต้องช่วยกันทำเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับพรรค อันนี้นี่เรื่องการทำงานทุกวันจะทำให้นักการเมืองของพรรคถูกยึดโยง ถูกตรวจสอบกับประชาชน กับสมาชิกพรรค กับพรรคอย่างไร ก็ต้องมีการออกแบบ

ดังนั้น เป็นที่มาของสิ่งที่เราพยายาม ตั้งแต่ไอเดียเริ่มต้นตอนพรรคอนาคตใหม่ เราก็คิดว่า เราอยากทำพรรคที่มีฐานมาจากสมาชิก คนที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์กับนโยบายของพรรคมาช่วยกันสร้างมาช่วยกันทำ เป็นฐานหลัก ไม่ใช่สร้างพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองมาลงเลือกตั้งเป็นศูนย์กลางของพรรค เราก็พยายามออกแบบระบบ พอเราเริ่มบอกว่า เราจะทำพรรคอนาคตใหม่ เราเลยไม่ได้เริ่มต้นจากการไปวิ่งหาคนมาลงเลือกตั้ง

ต้นปี 2561 เราเริ่มตัดสินใจสร้างพรรค เราก็ไม่ได้เริ่มต้นด้วยไปวิ่งหาคนมาลงเลือกตั้งให้ครบทุกเขต เรามาประกาศหาคนมาลงเลือกตั้งจริง ๆ ปลายปี 2561 ด้วยซ้ำ แต่ด้วยวิธีคิดที่พยายามออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ให้มีศูนย์กลางอยู่ที่นักการเมืองของพรรค ไม่ได้บอกว่านักการเมืองของพรรคไม่ดี แต่เรากำลังพูดในเชิงระบบ อยากให้ศูนย์กลางของพรรคอยู่ที่สมาชิกพรรค ที่มาช่วยกันสร้างพรรค และมามีบทบาทที่จะยึดโยง หรือแม้กระทั่งตรวจสอบตรวจทานนักการเมืองของพรรคให้ได้

การเริ่มต้นสร้างพรรคก็เลยเริ่มต้นจากการไปประกาศว่า เราอยากจะสร้างพรรคแบบนี้มีอุดมการณ์แบบนี้ มีนโยบายแบบนี้ ใครเห็นด้วยกับเราบ้างก็ชวน เราก็เลยเริ่มสร้างพรรคจากอาสาสมัครของแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด แล้วค่อย ๆ สร้างเป็นกลไก เป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา แล้วถึงค่อยมาเฟ้นหาคนมาลงเลือกตั้ง แล้วเราก็ให้ความสำคัญกับโครงสร้างตรงนี้ ไม่ใช่ให้นักการเมืองของพรรคมาเป็นคนกำหนดควบคุมชีวิตของพรรค ซึ่งเราคิดว่าระบบแบบนั้นมันจะทำให้มีปัญหาในระยะยาว

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะออกแบบว่า เราจะทำยังไงให้พรรคยังสามารถดำรงอยู่ในเป้าหมายในภารกิจในอุดมการณ์ไม่เพี้ยนในอนาคตได้ คือวันนี้ก็ยังไม่มีบทสรุปว่า โครงสร้างพรรคแบบไหนที่มันจะดีที่สุด ยังอยู่ในช่วงที่ทดลอง ปฏิรูป

หลังเลือกตั้งนี้ เราก็ยังอยู่ในช่วงพยายามที่จะปฏิรูปพรรคอีกครั้งควบคู่กันไป การพยายามออกแบบโครงสร้างของพรรคก็เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่า จำเป็นต้องคิดกับมันอย่างจริงจัง การพยายามที่จะพัฒนาความคิด ความเข้าใจของคนในพรรค ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่พรรค อาสาสมัครของพรรค คนทำงานของพรรคในแต่ละจังหวัด รวมถึงนักการเมืองของพรรค ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านรูปธรรมในการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นเพื่อหล่อหลอมคน อันนี้ก็ต้องทำ

ผมไม่มีคำตอบหรอกว่า อะไรจะเป็นคำตอบที่ทำให้พรรคไม่ออกนอกลู่นอกทาง จริง ๆ มันพูดง่าย แต่ทำยาก แต่คำตอบก็คือ อย่าเชื่อที่คน อย่าทำให้พรรคมันผูกติดอยู่กับคน แต่พยายามคิดค้นหาระบบที่ดี

 

เลือกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ปี 2554 และมีจุดเปลี่ยนก่อนรัฐประหาร 2557

เรื่องพรรคการเมือง ผมคิดว่าพอเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมการต่อต้านรัฐประหาร ตั้งแต่ยุคก่อนมีเสื้อแดง มามีเสื้อแดง มีการชุมนุมใหญ่เสื้อแดงปี 2552 ปี 2553 เราก็เข้าร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มีการเลือกตั้งปี 2554 หลังเหตุการณ์ปี 2553 ผมว่าทุกคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน เลือกพรรคเพื่อไทยหมด รวมถึงคนฝั่งอนาคตใหม่ ก้าวไกลตอนนี้ด้วย

แต่ว่า มันก็เริ่มมีจุดเปลี่ยนสำคัญ อย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ภายหลังมีประเด็นเรื่องคุณทักษิณจะกลับบ้าน แล้วก็นำมาสู่เรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย

ในช่วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เราก็มีความคาดหวังมากว่า พออำนาจมันเปลี่ยนขั้ว เราคิดว่า มันจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สามารถคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงได้ แต่ว่าสุดท้าย เหตุการณ์มันก็จบด้วยการเสนอพ.ร.บ.เหมาเข่ง ซึ่งตอนนั้น ก็มีข้อถกเถียงว่า มันควรจะนิรโทษกรรมให้กับชาวบ้านไปก่อน ส่วนแกนนำ ไม่ควรจะเอาไปรวมกัน เพราะว่าเดี๋ยวชาวบ้านทั่วไป ประชาชนทั่วไป จะมีปัญหาแล้วก็ไม่มีใครได้นิรโทษกรรมเลย

ก็เนี่ย ก็เป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น เสื้อแดงก็แบ่งเป็น 2 ฝั่ง โอเคก็ผ่านเรื่องนั้นไป การเสนอพ.ร.บ.เหมาเข่ง ก็กลายเป็นชนวนอันหนึ่งที่นำไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วก็การบอยคอตการเลือกตั้ง แล้วก็การรัฐประหาร (2557)

คือตอนเหตุการณ์ปี 2553 ผมกับคุณธนาธรก็อยู่จนถึงวันที่ 19 พฤษภา ที่มีการสลายการชุมนุม ตอนนั้นผมอยู่แถวบ่อนไก่คลองเตย แล้วก็เย็นวันนั้น มันมีการประกาศเคอร์ฟิวส์ในกรุงเทพฯ เราก็รีบออกจากกรุงเทพฯ ก่อนเวลาเคอร์ฟิวส์ ก็ไปอยู่นิ่ง ๆ นอกเมือง 3 - 4 วัน แล้วก็คุยกัน ผมก็คุยกับคุณธนาธรว่า เอ... เรากลับไปเนี่ย เราควรทำอะไร เราก็คิดว่า ในฐานะผู้รอดชีวิต จากการสลายการชุมนุม เรารู้สึกว่า เรา... เราควรจะทำอะไร ให้กับ... (น้ำตาไหล)

เราคิดว่า สิ่งที่เราน่าจะทำได้ในฐานะ ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งก็คือ การกลับไปทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนที่เขาเสียชีวิต บาดเจ็บ แล้วก็ถูกจำคุก ก็นำมาสู่โครงการที่คิดว่าเราน่าจะรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงจากคนที่เป็นพยานในเหตุการณ์ แล้วก็คนที่อยู่ในคุก คนที่บาดเจ็บเพื่อหวังว่า ข้อมูลเหล่านี้ มันจะกลายเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อบันทึกในประวัติศาสตร์ไว้ แล้วก็จะเป็นฐานสำคัญสำหรับไปดำเนินคดีกับคนที่สลายการชุมนุมในอนาคต

นอกจากนั้น ก็จะมีคนที่ถูกจับกุมเยอะ อยู่ในเรือนจำ ก็ได้ประสานงานกับทนายความเสื้อแดงบ้าง หรือทนายความนักสิทธิมนุษยชนคนรุ่นใหม่ ทนายความรุ่นใหม่ ก็เริ่มรู้จักกันเยอะในยุคนั้นที่คอยมาดูแลคดีความให้กับชาวบ้าน

ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รอดชีวิตจากปี 53 สู่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สส. ที่ 1 แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ผู้รอดชีวิต

The People: ความทรงจำปี 2553 เจอเหตุการณ์อะไรที่ยังรู้สึกสะเทือนใจ นำมาสู่นโยบายการทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง

ชัยธวัช ตุลาธน: ผมคิดว่า เหตุการณ์ปี 2553 มันก็ต้องเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย คือ โอเค บางคนอาจจะมองว่า ในอดีตการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็ตายกันเยอะมาก เป็นสงครามในยุคสงครามเย็นมีกองกำลังติดอาวุธสู้กัน มันก็อีกแบบหนึ่ง รุนแรงกว่าในแง่หนึ่ง เรียกว่าสงคราม

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มันก็รุนแรงมากในแง่ที่แบบ โอ้โห เอาคนไปแขวนคอ ตอกอก แล้วก็เอาไปเผา นั่งยาง อะไรแบบนี้ แต่เหตุการณ์ปี 2553 มันก็รุนแรงมากในแง่ที่มันเป็นการใช้กำลังอาวุธล้อมปราบคนกลางเมืองในยุคสังคมไทยสมัยใหม่ ที่มันแบบนึกภาพไม่ออกว่ายอมรับให้เกิดอย่างนั้นได้อย่างไร แล้วก็ยืดเยื้อหลายวันมาก

ถ้านับเฉพาะ 13-19 พฤษภา 2553 นี่ก็ 6 วัน วันที่ 13 พฤษภาคม เป็นวันที่ เสธ.แดงถูกยิง ส่วนเดือนเมษา เกิดขึ้นวันที่ 10 เมษาวันเดียว ในเดือนพฤษภาเกิดขึ้นอย่างรุนแรงคือ 13 - 19 พฤษภา 2553 ผมว่ามันรุนแรงมาก ในแง่มันเลือดเย็นมาก มันอาจจะไม่ใช่ไปบุกแขวนคอ ตอกอก เหมือน 6 ตุลา 2519 แต่ว่า มันเกิดเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธสงครามค่อย ๆ ล้อมปราบ มีสไนเปอร์ยิง คนตายทีละคนทีละคน จนนำไปสู่การกระชับพื้นที่ แล้วก็สลายการชุมนุมในที่สุด ในแง่หนึ่ง มันเลือดเย็นมาก เป็นการล้อมปราบกลางเมืองกรุงเทพมหานครด้วยอาวุธสงครามเต็มรูปแบบ

ผมว่ามันก็คงเป็นฝันร้าย สำหรับหลาย ๆ คน คือส่วนใหญ่ช่วงนั้น ผมจะอยู่บริเวณบ่อนไก่ คลองเตย ซึ่งเป็นโซนที่มีผู้เสียชีวิตเยอะที่สุดทุกวัน เราจะเจอทุกวัน คนที่ถูกสไนเปอร์ยิงทุกวัน แล้วก็บรรยากาศจะเป็นอย่างไร ผู้ชุมนุมก็เผายาง เพื่อให้มีควันบังตัวเองใช่ไหมครับ บอกไม่ถูก เออ อยู่แบบสงครามกลางเมือง ก็ถูกไล่ยิง ค่อย ๆ ถูกยิงอย่างเลือดเย็น กลางคืนก็จะแบบ มีวัยรุ่นปิดไฟมอเตอร์ไซต์ แล้วก็ขับมอเตอร์ไซต์เข้าไป เพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง เช่น อาจจะก่อกวน หรือพยายามจะไปส่งคน หรือไปส่งอาหาร มีคนพยายามแอบหลบเข้าไปตามซอกซอยเพื่อที่จะไปส่งข้าวส่งน้ำให้กับคนที่อยู่ตรงราชประสงค์

ทุกอย่างก็จะมืด เงียบ ได้ยินเสียงปืน ปั้ง ๆ ๆ ก็บอกไม่ถูก ผมคิดว่า บางสถานการณ์ ทุกคนก็จะไม่กล้าแม้แต่ขยับ เพราะถ้าคุณขยับคุณอาจจะเป็นเป้าของสไนเปอร์ ผมมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ในสังคม ผมคิดว่าที่มันร้ายกว่านั้น ก็คือว่า พอเหตุการณ์เกิดขึ้น เฮ้ย เหมือนสังคมอนุญาตให้มันเกิดขึ้นเฉย ๆ เลย ได้ยังไงวะ

ผมว่า อันนี้มันมีปัญหามาก ๆ ผมคิดว่าขณะที่ด้านหนึ่งเหมือนเรามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีอะไรที่อย่างน้อยก็ไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาค เรารู้สึกว่าเราทันสมัยมากแล้ว แต่พอในช่วงเวลาหนึ่ง สังคมไทย ยังสามารถอนุญาตให้ฆ่าคนได้แบบไม่ต้องรับผิดชอบขนาดนี้ อันนี้มันแบบ barbarian (ป่าเถื่อน) ขนาดไหน มันเป็นปัญหาที่ต้องคิด เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา

ส่วนใหญ่ เพื่อน ๆ ก็บางทีกระจัดกระจายกัน คุณธนาธรก็เจอกันบ้างเป็นบางช่วงแล้วก็กระจายตัวกันบ้าง คือรอบราชประสงค์มันจะมีหลายจุด มีผู้ชุมนุมคอยไปรวมตัวกัน คือหลังจากที่วันที่เสธ.แดงถูกยิง แล้วศอฉ. ก็บอกว่า เขาจะขอคืนพื้นที่ กระชับวงล้อม ใช้คำที่ดูไม่รุนแรง คือ พวกผมเอง แล้วก็ประชาชนจำนวนหนึ่ง เราก็ออกไปอยู่รอบราชประสงค์แทนที่จะไปอยู่ตรงใจกลางสี่แยก เพื่อที่จะไม่ทำให้ถูกล้อม

ยกตัวอย่างเช่น บ่อนไก่ที่คลองเตย ผมก็พยายามที่จะไปตั้งอีกเวทีหนึ่ง เป็นเวทีย่อย ซึ่งไม่เกี่ยวกับ นปช.เลย แล้วก็พยายามที่จะส่งสารว่า อย่าฆ่าประชาชน เราก็พยายามทำสติ๊กเกอร์เผยแพร่ แผ่นปลิวบอกว่า อย่าฆ่าประชาชน แล้วเราก็คิดว่า เวทีแบบนั้น บางทีคนที่อยากจะเข้ามาชุมนุมก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ตรงในวงล้อมแล้ว เสี่ยงมาก ก็อยู่รอบ ๆ แบบนั้น

เมื่อกี้เราพูดถึงความรุนแรง มันสะท้อนความรู้สึกแบบหนึ่ง ซึ่งมันชวนตั้งคำถามว่าทำไมสังคมไทยยังอนาญาตให้ฆ่าคน ฆ่าประชาชน โดยที่ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเลยได้อย่างไร ในระดับที่เอาอาวุธสงครามล้อมยิงกันกลางเมือง

มันสะท้อนว่า ในแง่หนึ่ง เวลาเราบอกเราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เอาเข้าจริง ๆ เราไม่ได้เป็นเลยนะ เราถูกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจบางกลุ่มบางฝ่าย เหมือนแบบ มาขออาศัยเขาอยู่ วันไหนที่เขาอยากจะกำจัดทิ้ง หรือล้อมยิงคุณ เขาสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องมีใครรับผิดเลย นี่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ เรายังไม่เป็นพลเมืองเต็มขั้น

ดังนั้น มันทำให้ผมคิดว่า การทำพรรคการเมือง การพยายามต่อสู้ในฐานะผู้แทนราษฎร มันมีความหมายมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยตอนนี้ เพราะว่ามันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังต่อสู้กันว่า ราษฎรหรือประชาชน มันอยู่ตรงไหนในประเทศนี้ อำนาจของประชาชน อำนาจของราษฎรมีมากแค่ไหนอย่างไร แล้วสถาบันทางการเมือง คือสภาผู้แทนราษฎร มันอยู่ตรงไหน มันมีอำนาจแค่ไหน ใครเป็นคนที่จะมามีอำนาจในการกำหนด หรือตัดสินว่าประเทศนี้ควรจะไปทางนี้ ควรจะทำเรื่องนี้ ไม่ทำเรื่องนี้ มันอยู่ตรงไหน

อันนี้เป็นความสำคัญที่มันจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองมาสู้ ไม่ใช่แค่การมีพรรคการเมืองที่จะมาทำให้ราคาน้ำมันถูกลง เศรษฐกิจดีขึ้น แน่นอน เป็นรัฐบาลไหนนี่ก็ต้องทำ แต่ปัญหาที่มันมากกว่านั้นก็คือว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในประเทศนี้ อำนาจของแต่ละคน อำนาจของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปยังสิ่งที่เรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญ แค่ไหน อย่างไร แล้วมีอำนาจจริงหรือเปล่า หรืออำนาจอยู่ตรงอื่น อันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ยังคงต้องต่อสู้กันต่อไป

ถ้าใครได้ร่วมประสบการณ์อยู่ จุดที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ไม่ใช่แยกราชประสงค์นะครับ แยกราชประสงค์คือวันสุดท้ายที่ทหารบุกเข้าไปเพื่อจะตัดสินใจสลายการชุมนุมวันนั้น ณ ใจกลาง แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คืออยู่รอบนอก คือประชาชนที่พยายามจะเข้าไปที่ราชประสงค์บ้างหรืออะไรบ้างตั้งแต่วันที่ 13 - 18 พฤษภา 2553 คืออยู่ตรงนั้น

ฉะนั้น คนที่ถูกยิงเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงราชประสงค์ แต่อยู่ตรงรอบนอก ตรงบริเวณถนนพระราม 4 ตรงบ่อนไก่ น่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเยอะที่สุด ตรงราชปรารภ บริเวณประตูน้ำ ยาวไปถึงซอยรางน้ำ ก็คือ มีผู้เสียชีวิตเยอะ เพราะว่ามีการใช้อาวุธสงคราม ใช้กระสุนจริงยิงตั้งแต่วันที่ 13 - 18 พฤษภา 2553 ก่อนที่จะบุกเข้าไป ดังนั้น คนเสียชีวิตส่วนใหญ่จะไปอยู่ช่วงนั้น แล้วมันเหมือนกับ killing field มันเป็นอย่างนั้นเลย

หลังวันที่ 19 พฤษภา 2553 เราก็คิดกันและคิดกับตัวเองด้วยว่าเราจะทำอะไรให้กับคนที่เสียชีวิตคนที่บาดเจ็บล้มตายได้บ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่พยายามจะทำ fact finding เหตุการณ์ สุดท้ายก็มีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนแล้วก็ทนายความรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยกันทำจนเป็นเล่มนั้น แล้วก็คิดว่า อันนี้มันจะเป็นฐาน มันไม่ใช่แค่บันทึกข้อเท็จจริง จะเป็นฐานในแง่ข้อมูลพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินคดี หรือคืนความยุติธรรมให้กับคนได้