12 ก.ย. 2566 | 16:26 น.
- สมชาย แซ่จิว อีกหนึ่งบุคคลสายโฆษณาที่มีบทบาทในแวดวงการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช่วงยุคพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงกลุ่มแคร์ (CARE)
- สมชาย แซ่จิว ยืนยันว่า ทำงานทางการเมืองโดยไม่เคยได้รับค่าตอบแทน เพื่อจะได้มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้
The People สัมภาษณ์ สมชาย แซ่จิว หรือ ‘พี่จิว’ ผู้สนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน แอดมินเพจ ‘เกร็ดก็เก่าเกย์ที่เล่าก็แก่’ ผู้เขียนหนังสือ เกร็ดเทพเจ้าจีน, แต้จิ๋ว แต่แจ๋ว, มังกรสยายเกร็ด นอกจากเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในทัวร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนด้วย ซึ่ง ‘พี่จิว’ พูดติดตลกในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า “พร้อมต้อนรับทัวร์จีน แต่ไม่พร้อมต้อนรับทัวร์การเมืองนะคะ”
มุกตลกนี้มีที่มา เนื่องจากภาคชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียของ ‘พี่จิว’ หลายครั้ง การโพสต์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง มีมุมมองที่เรียกทัวร์เรียกแขกอย่างไม่ได้ตั้งใจอยู่เสมอ
ภาคชีวิตส่วนตัวก็ไม่ได้อยู่แค่บนโลกออนไลน์ ‘พี่จิว’ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (creative director) ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง จึงชัดเจนว่า นักเขียนผู้นี้ไม่ใช่ NGO ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว หรือทีมงานนักการเมืองพรรคใด เจ้าตัวเล่าว่า คุยทุกพรรครักทุกคน และหากตัวเองไปรับเงินจากใครก็จะสูญเสียอิสระในการวิพากษ์วิจารณ์ และจะกลายไปเป็นลูกจ้างที่ไม่สามารถต่อว่าคนจ่ายเงินให้ตัวเองได้
The People: จาก ‘สลิ่ม’ มาใกล้ชิด ‘คนเสื้อแดง’
สมชาย แซ่จิว: เดิมไม่ได้เห็นด้วยและไม่เข้าใจการชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่มาสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แล้วรู้จักคนเสื้อแดงมากขึ้นในตอนปี 2553 ก่อนที่คนเสื้อแดงจะมีหลายเฉดอย่างปัจจุบัน
หลังจากมีการฆ่าคนเสื้อแดงใน ‘พฤษภา 2553’ และมีบิ๊กคลีนนิ่ง ก็เป็น trigger ที่ทำให้เรารู้สึกว่าผิดหลักการเพราะมันคือการทำลายหลักฐานระดับชาติ ตั้งแต่ตอนนั้นจึงเปลี่ยนข้าง หรือถ้าใช้คำแบบปัจจุบันคือ ‘พลิกขั้ว’ จากสลิ่มมาอยู่ใกล้ชิดคนเสื้อแดง
ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นคนเสื้อแดง แต่มาดูผู้คนที่เขาเรียกร้องสิทธิซึ่งตอนนั้นก็มีการใช้ Facebook กันแล้ว ก็ได้เข้าไปรู้จักผู้คนหลากหลาย รู้จักอานนท์ นำภา รู้จักพี่เหน่ง - พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ (พ่อน้องเฌอ) ซึ่งลูกเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์ ‘พฤษภา 2553’ หลังจากนั้นได้รู้จักใครต่อใครในฐานะผู้คนที่เรียกร้องสิทธิ
ส่วนตัวเราเองเข้าไปในฐานะประชาชน อาจจะด้วยความบังเอิญ เราเป็นครีเอทีฟโฆษณา ด้วยวิชาชีพตัวเองอาจจะสอดคล้องกับสิ่งที่คนเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการ เขาต้องการคนไปช่วยระดมความคิดไปต่อสู้เผด็จการ ทำให้เราไปร่วมกับเขาได้พอดี
ในการรณรงค์ต้องการคนที่สื่อสารได้ หรือทำอย่างไรให้ผู้คนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งไม่ได้บอกว่าตัวเองทำได้ดีนะ แต่จากตรงนั้นก็ทำให้ได้เข้าไปร่วมกับเขาพอดี
The People: คนในวงการโฆษณากับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
สมชาย แซ่จิว: จริง ๆ ก็มีคนในวงการโฆษณาที่เข้าไปก่อนหน้าเรา อย่าง ‘ป๋าแมว’ ประกิต กอบกิจวัฒนา หรือบรรดาศิลปินต่าง ๆ เขาก็ไปช่วยทำโปสเตอร์หรือทำอะไรต่าง ๆ มีคนอาชีพเดียวกับเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นก่อนแล้ว ป๋าแมวก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ก่อน
ส่วนตัวเราไปช่วยระดมความคิด และมีรับหน้าที่ทำเพลงแปลง ล้อเลียนรัฐบาล ทำเรื่องล้อเลียนรัฐบาล ถ้าการต่อสู้แบ่งเป็นฝ่ายบู๊กับบุ๋น เราอยู่ทางบุ๋นมากกว่า
อ่านบทสัมภาษณ์ แมว - ประกิต กอบกิจวัฒนา ผู้คิดคำ ‘ทำงาน ทำงาน’ และกลยุทธ์สื่อสารให้ ‘ชัชชาติ’
The People: พี่จิวไม่ใช่แนวสร้างอารมณ์โกรธแค้นชิงชังฝั่งตรงข้าม
สมชาย แซ่จิว: เราเน้นแนว parody มากกว่า เราไม่ค่อยเชื่อว่าความโกรธความเกลียดชังจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเท่าไหร่นัก มีบางคนชอบพูดกันว่า “เรายังโกรธไม่พอ” แต่ส่วนตัวเราเอง เรามีความรู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องสู้ด้วยความโกรธก็ได้ เราสู้ด้วยความสร้างสรรค์ ด้วยอารยะบางอย่างก็ได้
The People: เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเขียนใบลาออกสมาชิกพรรค หลังพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วเป็นรัฐบาลชุดล่าสุด
สมชาย แซ่จิว: ก่อนหน้านั้นก็เคยร่วมงานกับกลุ่มแคร์ (CARE) เพราะฉะนั้น รู้จักพี่อ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย รู้จักหมอเลี้ยบ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รู้จักใครต่อใครประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เดิมไม่เคยคิดจะเข้าพรรคการเมืองไหน มีแต่การไปช่วยพรรคการเมืองโน้น พรรคการเมืองนี้บ้าง
พอถึงจุดหนึ่ง หลังจากรู้จักมาหลายพรรคก็คิดว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นคำตอบที่ดีได้ ทั้งความเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง อันนี้เป็นเหตุผลให้เลือกเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นก็ไปสมัครพร้อมทูต รัศม์ ชาลีจันทร์
ถ้าถามว่า ทำไมถึงไปเลือกเพื่อไทย เพราะในตอนนั้นเราก็เชื่อตรงนั้นว่า เพื่อไทยน่าจะเจรจาต่อรองกับอำนาจเก่าได้ระดับหนึ่ง เพราะเราเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องการเจรจา การต่อรองอำนาจ ไม่ใช่การแตกหักชิงชังโกรธเกลียดเป็นศัตรูกัน
The People: เพื่อไทยได้เจรจาต่อรองทุกฝ่าย จนกระทั่งมีรัฐบาลผสมในปัจจุบัน แต่ทำไมพี่จิว จึงเขียนจดหมายลาออก
สมชาย แซ่จิว: การเจรจาต่อรองกับอำนาจเก่า ในการเจรจาต่อรอง ควรจะมีเพดานที่กำหนดว่าแค่ไหนยอมได้หรือไม่ได้ เพราะเมื่อผลเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมา ก็เป็นการชี้ทิศทางได้ระดับหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ต้องการอะไร หรือประชาชนต้องการอะไร จากปรากฏการณ์มาใช้สิทธิกันถล่มทลายขนาดนี้ หรือผลเลือกตั้งอันดับ 1 อยู่ที่พรรคก้าวไกล เป็นการชี้ความต้องการของผู้คนสังคมประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การเจรจาต่อรองควรจะเป็นการต่อรองที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงนี้ หรือตอบสนองความต้องการของประชาชนเหล่านี้
แต่เมื่อการเจรจาต่อรองครั้งนี้ ในมุมส่วนตัวของเรา เรามองว่า เป็นการต่ออายุให้อำนาจเก่า หรือการที่บางพรรคบางคนที่เรารับไม่ได้เข้ามาร่วมด้วย ตรงนี้ทำให้เราตัดสินใจลาออก
ความเห็นส่วนตัวเราพูดในฐานะ ‘คนโฆษณา’ ถ้าเปรียบพรรคการเมืองเป็น product หนึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่ง แล้วถ้าคุณเปลี่ยนสูตร อย่างไรแล้วต้องเหลือสารัตถะ essence ของตัวเองว่าจะไปตรงไหน ถ้าเปลี่ยนไปถึงขนาดเปลี่ยนสูตร เช่น ใส่วัตถุเจือปน โซเดียมกลูตาเมตเพิ่มขึ้น แล้วกินไม่อร่อย ส่วนตัวเราก็ไม่ซื้อเท่านั้นเอง สำหรับเราการลาออกไม่ใช่พลิกขั้ว เพราะมองว่า พรรคการเมืองเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ตัวแทนเราในสภาหรือทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของเราบริหารราชการให้เรา ซึ่งถ้าเขาไม่ตอบโจทย์เราแล้ว เราก็ไม่ซื้อเขาเท่านั้นเอง
การลาออกของเรา ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เป็นความเห็นส่วนตัวเรามากกว่าเรามีเส้น มีเพดานแบบนี้ เราเคยเชื่อว่าเขาจะทำแบบที่เราเชื่อ แต่เมื่อเขาไม่ได้ทำอย่างที่เราเชื่อ เขาเปลี่ยนสูตรอาหาร เราก็ไม่ซื้อไม่กิน แต่ไม่ใช่จะต่อต้านสุดลิ่มทิ่มประตู
อันไหนที่เขาทำดีเราก็ชม ถ้าเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทยทำดี เราก็ชม ถ้าพรรคก้าวไกลทำอะไรดีเราก็ชม แต่ถ้าเขาทำไม่เข้าท่า เราก็ด่า เพราะเราเป็นประชาชนมีสิทธิด่า แล้วโดยส่วนตัว เราไม่เคยเชื่อว่าพรรคการเมืองมีบุญคุณกับเรา
The People: พรรคการเมืองมี ‘ผลงาน’ ไม่ใช่มี ‘บุญคุณ’
สมชาย แซ่จิว: หลาย ๆ คนชอบพูดว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีบุญคุณกับเขามาก ส่วนตัวเราไม่ถือว่าไทยรักไทยมีบุญคุณ แต่เราถือว่า เขามีผลงาน อันนี้คือเขามีผลงาน แต่ไม่ใช่บุญคุณ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่า เขามีบุญคุณจึงต้องตอบแทนเขาแบบสุดลิ่มทิ่มประตู หรือคิดว่าเราอย่าไปแตะเขาเลย
ควรจะเชียร์ให้เขาทำงาน ให้เขามีผลงาน เป็นกำลังใจให้เขา แต่ถ้าเมื่อไหร่เขาเดินผิดพลาด เราในฐานะประชาชนเราต้องกระตุ้นเตือนเขาได้ ไม่ใช่คิดว่า เขามีบุญคุณกับเรา
The People: การต่อรอง สุดท้ายไม่ได้หมายความว่าให้ไปต่อรองอะไรก็ได้
สมชาย แซ่จิว: ถูก ต้องมีสารัตถะ essence ของตัวเองว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยก็รู้แหละ แต่พอตั้งเป้าไปเรื่องการเมืองแล้วก็น่าเสียดาย ทำให้สิ่งที่ควรจะเป็น ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ แต่เราก็ไม่โทษเขานะ
The People: ในฐานะคนในวงการโฆษณา รู้สึกอย่างไรที่ตอนนี้คำว่า ‘ใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น’ เป็นคำที่นำมาใช้ทางการเมืองในเชิงลบ คือเป็นคำตำหนิว่า นักการเมืองขาดความน่าเชื่อถือ ฟังแล้วเชื่ออะไรไม่ได้
สมชาย แซ่จิว: เอาเข้าจริง แม้แต่ในงานโฆษณาก็ต้องมีหลักการนะ คุณหลอกลวงผู้บริโภคไม่ได้ โฆษณา
เกินจริงไม่ได้ มันถึงต้องมีหน่วยงานอย่าง อย. หรือ กองเซ็นเซอร์ ควบคุมดูแลอีกทีหนึ่ง การเมืองกับงานโฆษณา มันเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ คุณอาจเอาศาสตร์ของการโฆษณามาใช้กับงานการเมืองได้ในแง่ของการสื่อสารให้ตรงจุดโดนใจ แต่นโยบายต่าง ๆ ที่คุณใช้หาเสียง มันเป็น ‘สัญญา’ กับประชาชน มันผูกพันกับอนาคตประเทศ มันคือสิ่งที่คุณขายกับประชาชน เขาชอบนโยบายคุณ เขาก็เลยเลือกพรรคคุณ แต่พอคุณได้รับเลือกแล้ว กลับไปบอกว่า อันนั้นพูดเพื่อหาเสียง “ใช้เพื่อการหาเสียง” นี่ก็สมควรจะถูกด่า มันไม่ใช่แค่หลอกลวงผู้บริโภค แต่เป็นการหลอกลวงประชาชน
The People: ก่อนเข้ากลุ่มแคร์ - พรรคเพื่อไทย พี่จิวเคยช่วยงาน พลเมืองโต้กลับ - พรรคอนาคตใหม่
สมชาย แซ่จิว: หลังรัฐประหาร 2557 ยุคนั้นนอกจากนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่ง ก็ยังไม่มีกลุ่มไหนเป็นกลุ่มก้อนว่า ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ ต่อต้านรัฐประหาร ต่อมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเหล่านั้น เป็นการรวมตัวของคนหลากหลายอาชีพ เรียกตัวเองว่าพลเมือง จึงเป็นชื่อพลเมืองโต้กลับ
ตอนนั้นตั้งใจไม่เรียกตัวเองเป็นกลุ่มหรือคณะด้วยซ้ำไป เราเปิดกว้าง ๆ ว่า พลเมืองโต้กลับ เพื่อเปิดให้ใครก็ได้ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมือง แล้วรู้สึกว่าตัวเองถูกขโมยสิทธิไปในตอนนั้นลุกขึ้นมาโต้กลับ ถ้าเป็นปัจจุบันอาจจะเทียบคำว่า หัวคะแนนธรรมชาติ ในยุคนี้คือเป็นใครก็ได้
เมื่อทำกิจกรรมเรื่อยมาก็รู้จักผู้คนมากขึ้น วันดีคืนดี ต๋อม - ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ก็โทรมาชวนให้ไปคุย ตอนนั้นมีป๋าแมวด้วย ก็ได้เจอ เอก - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจออาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ตอนนั้นเขามีความคิดกันว่าจะตั้งพรรคการเมือง แล้วก็อยากให้มาช่วยกัน ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปช่วย ตั้งแต่ตอนที่เริ่มจดแจ้งเลย ไปคุยตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งสีของพรรคก็เกิดจากการคุยวงนั้น สรุปเป็น สีส้ม
ตอนนั้นโจทย์อาจารย์ปิยบุตร ยากมากตอนตั้งชื่อพรรค อาจารย์ปิยบุตร อธิบายว่า อยากมีพรรคแบบไหน อุดมการณ์ของพรรคจะเป็นแบบไหน และพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่มีอยู่แล้ว มักใช้คำว่า ชาติ, ไทย, ประชาธิปไตย ใช้จนเฝือ หรือแม้กระทั่งสีของแต่ละพรรคก็ไม่พ้นสีธงชาติ
แล้วเมื่อเราคิดพรรคการเมืองสำหรับเจเนอเรชั่นใหม่ ตอบรับคนรุ่นใหม่ เป็นข้อเสนอใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ ก็ควรจะมีสีสันใหม่ ตอนนั้นน่าจะเป็น ‘ป๋าแมว’ เป็นคนบอก “เอาสีส้มสิ” ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครใช้สีนี้
ก็ลงตัวที่สีส้ม แล้วจากนั้นก็เริ่มตั้งชื่อขึ้นมา พอมีชื่อ อนาคตใหม่ - Future Forward จำได้ตอนชื่อออกมาตอนแรก มีคนไม่เห็นด้วยเยอะเหมือนกัน เพราะเขามองว่า ‘อนาคต’ ก็หมายถึง ‘ใหม่’ อยู่แล้ว ทำไมมีคำว่า ‘ใหม่’ มาซ้ำด้วย แต่สุดท้ายพอชื่อมันติดตลาด ก็ขายได้
The People: เคยช่วยกลุ่มไหน สุดท้ายเป็นฝ่ายเดินออกมาเองตลอด
สมชาย แซ่จิว: ฉันคุยทุกพรรครักทุกคน เป็นนางงามมิตรภาพ (หัวเราะ) ใครชวนให้ไปช่วยอะไร ถ้าทำได้ก็ทำ เพราะฉะนั้น ตอนอนาคตใหม่ชวนคุยก็ไปคุย แต่สุดท้ายก็มีบางอย่างที่เราไม่ซื้อ ก็คล้าย ๆ ตอนนี้ที่เราไม่ซื้อพรรคเพื่อไทย พอเราไม่ซื้ออนาคตใหม่ เราก็เฟดตัวออกมา ตอนมีพรรคก้าวไกลเราก็ห่างออกมาแล้ว
ต่อมา พอกลุ่มแคร์ชวนไปคุยก็ไปคุยกับกลุ่มแคร์ คนที่ชวนคุยคือหมอเลี้ยบ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รู้จักหมอเลี้ยบก่อนตั้งกลุ่มแคร์ เพราะหมอเลี้ยบก็เป็น 1 ในคนประชุมก่อตั้งอนาคตใหม่ เราก็นั่งอยู่กับหมอเลี้ยบ
ตอนเริ่มกลุ่มแคร์ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเป็นพรรคการเมืองหรือเป็นอะไร ตอนนั้นในพรรคเพื่อไทย ผู้บริหารยังเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ส่วนกลุ่มแคร์ ตั้งขึ้นในความหมายคือ ความห่วงใยบ้านเมือง เราไปคุยตั้งแต่ยังไม่มีชื่อกลุ่ม สุดท้ายก็ชื่อกลุ่มแคร์ ซึ่งเราไม่ใช่คนตั้งนะ ตอนนั้นทางกลุ่มตั้งไว้ว่าจะเป็น think thank ของคนห่วงใยบ้านเมือง เพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็นพรรคหรืออะไร การเปิดตัวก็เชิญบุคลากรแทบทุกภาคส่วน มีนักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ แต่หลัง ๆ เราก็ไม่ค่อยได้ไปร่วมกิจกรรม ตั้งแต่มี care talk คุยกับคุณทักษิณ
The People: ห่างออกมาเพราะคุณทักษิณหรือไม่
สมชาย แซ่จิว: ไม่ใช่ เพราะเราก็ยอมรับคุณทักษิณ ว่าเขาก็มีผลงาน ย้ำว่าผลงาน ไม่ใช่บุญคุณนะ คุณทักษิณเป็นคนสมาร์ทคนหนึ่งในยุคไทยรักไทย เราไม่ได้ห่างออกจากแคร์เพราะโทนี่ หรือลาออกพรรคเพื่อไทยเพราะโทนี่
The People: จากพลเมืองโต้กลับ-อนาคตใหม่-แคร์-เพื่อไทย มีกิจกรรมที่ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
สมชาย แซ่จิว: ไม่เคยมี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่แล้ว
The People: บางคนมีสถานะที่อาจถูกครหาได้ เช่น พิธีกรรายการการเมืองที่มีสถานะ ‘ลูกจ้าง’ ของตระกูลการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่น้ำหนักในการให้การรับฟังข้อเสนอของเขาก็จะถูกลดทอนลงไปด้วยสถานะที่มีผลประโยชน์มีส่วนได้ส่วนเสีย
สมชาย แซ่จิว: ตรงนี้แหละ ทำให้เราตั้งใจไว้อยู่แล้ว จะไม่ทำงานที่ได้ค่าตอบแทน เราจะไม่รับเงิน ไม่ใช่เพราะรวยอยู่แล้ว แต่ไม่ทำงานที่ได้เงินจากพรรคไหนหรือกลุ่มไหน เพื่อที่เราจะได้มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะด่าได้ ฉันเสียตังค์ค่ารถเองด้วยซ้ำไป แล้วบางทีฉันก็เลี้ยงเหล้าเวลาไปคุยการเมือง อาจารย์ปิยบุตรก็รู้ดี ตอนเริ่มตั้งอนาคตใหม่ อาจารย์ปิยบุตรก็บอกเพื่อน ๆ ว่า พี่จิวไม่เอาเงินเพราะจะได้มีสิทธิในการด่าได้
เพราะเมื่อไหร่ที่เราเป็นลูกน้อง หรือลูกจ้าง ก็จะมี moral อีกแบบหนึ่ง เราคงไม่ด่านายจ้างตัวเอง
แต่ถ้าเรามีอิสระ เรามีเสรีภาพ ก็มีอิสระที่จะพูดที่จะแสดงความเห็น มีอิสระที่จะคัดค้าน และมีอิสระที่จะเชียร์ด้วย
เรามีงานโฆษณาเป็นอาชีพเราอยู่แล้ว เป็นพนักงานบริษัทมีลูกค้า มีรายได้ไม่ใช่มาจากเรื่องการเมือง เรามีรายได้จากงานเขียนหนังสือเล่ม และเป็นวิทยากรบรรยายทัวร์ประวัติศาสตร์ด้วย
แต่งานการเมือง ไม่เคยรับเงิน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มที่ด่าหรือกลุ่มที่ชม เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่บางคน เขามาแบบไม่รู้ว่าเราเคยทำอะไรบ้าง บางคนไม่เข้าใจเรา เขาก็มาด่าเรานะ เวลาเราแสดงความเห็น
เพราะในความทรงจำของเขาอาจจะไม่มีเรามาก่อน เขาก็คงสงสัยว่า คนนี้เป็นใครทำไมชอบมาด่าก้าวไกลจังเลย มาแซะส้มอยู่นั่น (หัวเราะ) จริง ๆ แล้ว ฉันคุยทุกพรรครักทุกคน แต่อะไรที่มองว่าไม่ควรก็ทักไปเท่านั้นเอง
The People: ใช้หลักผลประโยชน์สาธารณะหรือหลักอะไรในการแซะ
สมชาย แซ่จิว: ผลประโยชน์สาธารณะก็ดูใหญ่ไป เอาหลักตัวเราเอง คือเรามีมาตรฐานของเราอยู่แล้ว อะไรปล่อยผ่านได้ก็ผ่าน ปล่อยผ่านไม่ได้ก็แซะสักนิดหนึ่ง
The People: พรรคการเมืองยุคใหม่ กับข้อจำกัด อะไรที่ไม่ง่าย และความท้าทายอะไรที่ถ้าหากทำได้ถือว่าประสบความสำเร็จ จากประสบการณ์พี่จิว เห็นการเมืองมาก่อนยุค คสช.รัฐประหาร 2557
สมชาย แซ่จิว: การเมืองสมัยเก่าก่อนยุคพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร คือ ยุคพรรคบรรหาร ศิลปอาชา ยุคพรรคชวน หลีกภัย เน้นขายชื่อหัวหน้าพรรค ขายตัวบุคคล ขายคนบ้านใหญ่มากกว่านโยบายพรรค แต่คนเหล่านั้นใกล้ชิดประชาชน อยู่ในพื้นที่
พรรคการเมืองเหล่านั้นจะไม่ค่อยสนใจนโยบายเท่าไหร่ เขาสนใจการเข้าถึงประชาชน หรือบารมีหัวหน้าพรรค หรือ สส.เขต กับคนในพื้นที่
ประชาชนก็จำพรรคในฐานะเป็นพรรคใคร เช่น พรรคคุณชวน พรรคคุณบรรหาร ฉะนั้น พรรครุ่นเก่า ไม่เน้นการต่อสู้นโยบายแต่เน้นการต่อสู้ที่ความนิยม เพราะนโยบายลอกกันมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
มามีจุดเปลี่ยนหลังจากมีไทยรักไทย เขาเริ่มขายนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายต่าง ๆ พรรครุ่นใหม่ เริ่มขายนโยบายมากขึ้น
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเริ่มเห็นว่า แต่ละพรรคต่อสู้เรื่องนโยบายแล้ว นอกจากนั้น มีเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย ฉะนั้น ไม่ใช่พรรคเทพ-พรรคมาร เหมือนสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่เป็นสเปคตรัมทางการเมืองที่มีหลายเฉด จะเห็นพรรคที่มีอุดมการณ์ค่อนไปทางซ้าย หรือขวา หรือเสรีนิยมกลาง ๆ จะมีสเปคตรัมหลากหลาย แต่ละพรรคขายนโยบาย พรรคการเมืองรุ่นใหม่มาแนวนี้ สู้กันชูนโยบายมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งเราเห็นด้วย
The People: แต่การยึดตัวบุคคลยังมีอยู่ทุกพรรค
สมชาย แซ่จิว: ใช่ ตอนนี้เราก็แตะทักษิณไม่ได้ แตะพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ แตะธนาธร ไม่ได้ ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เราว่าพรรคการเมืองรุ่นใหม่ ควรไปในแนวทางสู้ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น สมรสเท่าเทียม LGBTQ+ ที่รองรับผู้คนที่เปลี่ยนไป นโยบายชาติพันธุ์ หรือมีอีกนโยบายที่ดีมากแต่ยังไม่ได้ทำ คือ ผ้าอนามัยฟรี ซึ่งปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์ ผลักดันแต่เสียดายยังไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายเหล่านี้จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ข้อจำกัดก็คือ องคาพยพเก่า ๆ ยังอยู่ ทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อสิ่งใหม่กำลังจะเกิดแต่ยังมีสิ่งเก่าเหลือ สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ก็คืออสูรกาย คือเกิดการต่อสู้กัน พูดง่าย ๆ อย่างระบบราชการเป็นฟันเฟืองที่ใหญ่มาก แม้จะมีข้าราชการมีเจเนอเรชั่นใหม่ หรือมีข้าราชการที่ดีอยู่จำนวนมาก แต่ว่าตัวระบบมันยังเก่า ก็ต้องไปรื้อระบบ ตรงนี้เป็นข้อจำกัดและความท้าทาย รูปธรรมที่เราเห็นตอนนี้ เช่น อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ต้องต่อสู้กับระบบราชการอะไรต่าง ๆ นานา คงต้องใช้เวลา เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกัน
เราก็เสียดายที่พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ทำงานเป็นรัฐบาล ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล เขาจะได้เรียนรู้ว่า มีข้อจำกัดแบบนี้ มีความท้าทายแบบนี้ แล้วตอนนั้นเราจะมาวัดได้ว่า เขาทำงานได้ไหม สิ่งที่เขาขายนโยบายแต่ละอย่าง เขาจะผลักดันเป็นรูปธรรมได้ไหม เสียดายสำหรับการเลือกตั้งสมัยนี้
ส่วนการเลือกตั้งสมัยหน้ายังมีโอกาสพิสูจน์ว่า เขาจะแก้ไขได้หรือไม่ เขาจะต้องต่อสู้สิ่งเก่า ๆ หลาย ๆ อย่างที่รอการแก้ไขจึงจะพิสูจน์ได้ว่า พรรคก้าวไกลจะชนะข้อจำกัดเหล่านั้นได้ไหม