14 ก.ค. 2566 | 15:52 น.
- ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองส.ว. แต่งตั้งว่า เป็นสิ่งที่ควรหมดไปจากประวัติศาสตร์ไทย และเป็นหนึ่งในกับดักที่การเมืองไทยต้องเผชิญ
- อาจารย์สายรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ยังให้มุมมองต่อสภาพการเมืองในความทรงจำ มาจนถึงยุคที่การเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมีนัยสำคัญ
The People สัมภาษณ์ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในยุคหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภา 35’ ทันเห็นบรรยากาศการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ คือเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 (ค.ศ. 2000) และการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544 (2001) เข้าสู่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ประจักษ์ ไม่ใช่เพียงนักรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่มีความเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย เขามองว่า นับแต่ 24 มิถุนายน 2475 (1932) การเลือกตั้งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือ เลือกตั้งส.ส.ปี 2544 (2001) และเลือกตั้งส.ส.ปี 2566 (2023) ครั้งล่าสุดที่ประเทศไทยมี ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรี’ ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ในขณะเดียวกัน ประชาชนยังต้องรอลุ้นการโหวตนายกฯ ของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (2017) ที่มีสิทธิโหวตนายกฯ เช่นเดียวกับส.ส.
ในปีนี้ที่ไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครบรอบ 91 ปี นับจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาย้อนดูที่มาของ ส.ว.จากการแต่งตั้ง เกิดขึ้นได้อย่างไร ในจังหวะเริ่มต้นพัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศเมื่อ 76 ปีที่แล้วนับแต่รัฐประหาร 2490 มาถึงปัจจุบัน
ส.ว.กับแนวคิดประชาธิปไตยของคณะราษฎร
ประจักษ์ ก้องกีรติ: เราต้องพูดในทางหลักการก่อนว่า ส.ว. ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูของประชาธิปไตยเสมอไป ในหลายประเทศ เขาก็มี ส.ว. แล้ว ส.ว. ก็เป็นกลไกที่มาเสริมการทำงานของรัฐสภา ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้ แต่นั่นหมายถึง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แล้วทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนอีกชั้นหนึ่งในการช่วยกลั่นกรอง ในการช่วยตรวจสอบการทำงานของสภาล่างที่เขาผ่านกฎหมายมา ให้รอบคอบขึ้น
หรือช่วยถ่วงดุลกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลทำงานรอบคอบขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ ส.ว. ก็สามารถเป็นกลไกที่ส่งเสริมประชาธิปไตยได้ เพราะเขายึดโยงกับประชาชน ประชาชนเลือกเข้ามา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ใครแต่งตั้งเข้ามา และเขาก็ทำหน้าที่เป็นปากเสียงจริง ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุล อย่างนี้ไม่ขัด การดำรงอยู่ของส.ว.ถ้าดำรงอยู่แบบนี้ ไม่ขัด
แต่ในบ้านเรามันไม่เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะชุดนี้ เพราะถ้าเราย้อนประวัติศาสตร์ไปในภาพรวมทั้งหมด ส.ว. เป็นมรดกตกค้างของระบอบอำนาจนิยม ส.ว.แต่งตั้ง แบบที่เรารู้จักในปัจจุบัน มันเพิ่งมาเกิดขึ้นตอนการรัฐประหารปี 2490 (1947)
เราต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน คือคณะราษฎรไม่ได้ให้กำเนิด ส.ว. ในช่วงแรกของประชาธิปไตย ตอนที่คณะราษฎรมีอำนาจเต็มอยู่จริง ตอนนั้นประเทศไทยมีสภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทีนี้มีรอยต่อที่มีความเปลี่ยนแปลง มาทำให้เกิดระบบ 2 สภาขึ้น สภาสูงกับสภาล่าง
คือตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลประชาธิปไตยของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ขึ้นมามีอำนาจ จึงริเริ่มให้มี 2 สภา
โดยสภาสูงให้เรียกว่า ‘พฤฒสภา’ ก็คือตั้งใจให้เป็นสภาเหมือนในโลกตะวันตกหลายประเทศ คือเป็นสภาที่มีคุณวุฒิสูงหน่อย มีความรู้เฉพาะด้าน ทางกฎหมายการเมืองการปกครอง แล้วก็มาตรวจสอบการทำงานของสภาล่างกับรัฐบาล
แต่ที่สำคัญก็คือ ในการออกแบบของอาจารย์ปรีดี ตอนนั้นรัฐธรรมนูญปี 2489 ‘พฤฒสภา’ จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนของราษฎร ไม่ใช่จากการแต่งตั้ง เพียงแต่ว่า ตอนแรก สมัยแรกยังจัดการเลือกตั้งไม่ทัน ก็ให้ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นองค์คณะแล้วเลือกพฤฒสภาเข้ามาก่อน แต่สุดท้ายก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การที่พฤฒสภา มาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยทั่วไป
รัฐประหาร 2490 ทำลายมรดกของคณะราษฎร
ประจักษ์ ก้องกีรติ: แต่ทุกอย่าง มากลับตาลปัตร ก็คือรัฐธรรมนูญ 2489 ใช้อยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลของอาจารย์ปรีดี โดนรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุนหะวัณ รัฐประหารปี 2490 ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคงทราบ อันนี้คือ จุดกำเนิดเผด็จการทหารในสังคมไทย
รัฐประหารปี 2490 ทำลายมรดกของคณะราษฎรทั้งหมด ยกเลิกโครงสร้างทั้งหลายที่คณะราษฎรออกแบบไว้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร แล้วคราวนี้แหละ เริ่มเอาอำนาจมารวมไว้ที่กองทัพ แล้วที่สำคัญก็คือ สร้างสิ่งที่เรียกว่า ส.ว.ขึ้นมา แล้วเป็น ส.ว.จากการแต่งตั้ง โดยกองทัพเป็นคนแต่งตั้งเอง ส่วนใหญ่แต่งตั้งข้าราชการ ไม่ได้เอามาตรวจสอบรัฐบาล เพราะรัฐบาลตั้งพวกเดียวกันเองกับรัฐบาล ก็คือเอามาเสริมอำนาจรัฐบาล เอามาเป็นแขนขา เป็นกลไกรองรับการใช้อำนาจของทหารในการเมืองไทย
หลังจากนั้นก็มาอีกยาวนานเลยมรดกนี้ หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็คือ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็เป็นกลไกในการรักษาอำนาจของระบอบอำนาจนิยม
ยกเว้นรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้มีการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งแรก รัฐธรรมนูญ 2540 จึงสำคัญ แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องหลายประการที่เรามองย้อนกลับไป เราเห็นแล้วมันยังไม่ perfect เราควรแก้ไขให้มันดีขึ้นกว่าเดิม แต่โดยหลักใหญ่ใจความในการออกแบบการวางโครงสร้างการเมืองไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยที่โปร่งใส ในขณะเดียวกัน มีประสิทธิภาพในการทำงาน องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีความยึดโยงกับประชาชน
ฉะนั้น ส.ว.ก็มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งแรกในปี 2543 คนไทยได้มีโอกาสไปเลือก ส.ว.
เลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกในปี 2543 ครั้งเดียวตามตามรัฐธรรมนูญ 2540
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ครั้งนั้นก็เป็นครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก เพราะพอมารัฐประหารปี 2549 ทหารก็ออกแบบใหม่ รัฐธรรมนูญปี 2550 ถอยหลังกลับไปครึ่งหนึ่ง ก็คือให้เลือกตั้ง ส.ว.แค่ครึ่งเดียว แล้วให้แต่งตั้งอีกครึ่งหนึ่ง พอมารัฐประหารปี 2557 มาออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งหนักเลย ก็คือชุดปัจจุบันที่เราเห็น กลับไปแต่งตั้ง 100% แล้วแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเอง แล้วอยู่ยาวกว่า ส.ส. ที่อยู่ 4 ปี
ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจากคสช. ชุดแรกอยู่ 5 ปี แล้วให้เลือกนายกฯ ได้อีก (2562 และ 2566) ตรงนี้ที่มันหนัก คือคณะรัฐประหารหลายชุด เขาออกแบบรัฐธรรมนูญให้ส.ว. มาจากการแต่งตั้งก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกชุดที่ให้ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ ส่วนชุดปัจจุบันนี้มาจากการแต่งตั้ง อยู่ยาวกว่าส.ส. และยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อีก อันนี้ก็เลยพูดง่าย ๆ ขัดหลักการประชาธิปไตยทั้งหมดที่ควรจะเป็น
ความรู้สึกที่คนไทยมีต่อ ส.ว.ปัจจุบัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ: เลยคำว่าหงุดหงิดไปแล้วมั้งตอนนี้ ความรู้สึกที่คนไทยมีต่อส.ว. ใช้คำว่าหงุดหงิดก็คงไม่ตรงนัก จะใช้คำว่าอะไรล่ะ ให้คนดูเติมคำในช่องว่างละกัน มันมีคำคุณศัพท์หลายตัวที่อาจจะสะท้อนอารมณ์คนได้ตรงกว่านี้
แต่ถ้าย้อนกลับไป เมื่อปี 2543 เป็นการเลือกตั้งส.ว.ครั้งประวัติศาสตร์ ตอนนั้นประชาชนก็รู้สึก เราใหญ่ขึ้นมาเลย ส.ส.เราก็ได้เลือก(2544) ส.ว. เราก็เป็นคนเลือกเอง(2543) สภาสูงจริง ๆ เป็นสภาที่มีเกียรติ ชื่อก็บอกสภาสูง แล้วประชาชนได้เลือกเอง ใครได้รับเลือกเป็นส.ว.ตอนนั้นก็ภูมิใจ เพราะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า มาจากการเลือกของประชาชน ประชาชนเลือกฉันมาเป็น ส.ว. ทำหน้าที่อันมีเกียรติ ความหมายมันต่างกันเลย เป็นส.ว. ที่มาจากคณะรัฐประหาร ที่เคลื่อนรถถังมายึดอำนาจแล้วแต่งตั้ง เป็นส.ว. ที่มาจากปากกระบอกปืน กับเป็นส.ว. ที่มาจากบัตรเลือกตั้งของประชาชน ศักดิ์ศรีมันต่างกันอยู่แล้ว ความชอบธรรมมันก็ต่างกัน
ทีนี้ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เลือกตั้งปี 2543 นั่นขนาดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีความชอบธรรม แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้อำนาจส.ว. ในการเลือกนายกฯ นะ โหวตนายกฯ ไม่ได้ ในโลกนี้การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของส.ส. เท่านั้น เป็นเรื่องของสภาล่าง ส่วนสภาสูงไม่ได้มาเกี่ยวข้องในการโหวตนายกฯ
คือส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ขนาดเขามีความชอบธรรม เขาได้รับการเลือกตั้งมาโดยตรง หน้าที่เขาก็คือแค่กลั่นกรองการออกกฎหมายของสภาล่าง มาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล มาตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ ช่วยสรรหาองค์กรอิสระ แค่นั้นเอง ไม่ได้มีอำนาจเลือกนายกฯ
ฉะนั้น ส.ว. ชุดนี้ก็แปลก ตรงที่ว่า ที่มาก็ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขาดความชอบธรรม มีที่มาจากคณะรัฐประหาร แต่มีอำนาจสูง ตรงนี้ก็เลยย้อนแย้งไปหมด
บทบาทส.ว. ในประวัติศาสตร์ - ปัจจุบัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ผมว่าทุกคนก็หนักใจนะ มันไม่ใช่แค่คนสอนรัฐศาสตร์หนักใจหรอก ตอนนี้เหมือนส.ว.เป็นประเด็นที่ทุกคนในสังคมตระหนักร่วมกันแล้ว มีความทุกข์ใจ ผมเชื่อว่าตอนนี้แรงกดดันก็ส่งไปที่ ส.ว. พอสมควร
คือจริงๆ ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ ควรหมดไปแล้วจากประวัติศาสตร์ไทย มันเป็นมรดกตกค้างตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 (โดยจอมพลผิน ชุนหะวัณ) ถ้าจะปรับให้เข้ากับยุคสมัย ส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ทีนี้ อีกสิ่งที่ควรจะหมดไปก็คือ ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี อันนี้ก็ไม่ควรมี อันนี้ก็เป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจน การที่เรามีส.ว.แบบนี้ ก็สะท้อนว่า บ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เรายังไปไม่พ้นกับดักของระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ
ส.ว. เป็นส่วนหนึ่งของกับดักที่จริงมีกับดักอีกหลายกลไกที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย มันยากมากในรอบนี้ แม้ประชาชนจะส่งเสียงดังและชัดเจนแล้ว แต่เรายังถูกล้อมเอาไว้ด้วยกับดักเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญปี 2560
ซึ่งในแง่นี้ต้องถืออย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่าผมจะชมอะไร แต่ในฐานะคนที่ศึกษารัฐศาสตร์ คนออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เนี่ย จีเนียสนะ เก่ง อันนี้เราไม่ได้พูดถึงว่าดีหรือไม่ดี เราพูดว่าเก่งเฉย ๆ จีเนียสในการออกแบบ ตามวลีที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเรา” อันนี้ชัดเจนในแง่สถาปัตยกรรมทางการเมือง ต้องถือว่าศึกษากันได้อีกชั่วลูกชั่วหลานเลย มันเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบไว้อย่างรอบคอบในการที่จะทำให้ประชาธิปไตยมันแคระแกร็น เหมือนเขาวางกับดักอันนี้เอาไว้ ต่อให้จะเลือกตั้งอย่างไร ประชาชนจะส่งเสียงอย่างไร แต่ถ้ายังทำลายพินัยกรรมอันนี้ไม่ได้ พินัยกรรมของระบอบเผด็จการนี้ไม่ได้ ประชาธิปไตยก็จะแคระแกร็น มันยากที่จะโตขึ้นมาภายใต้พินัยกรรมอันนี้ หรือโครงสร้างอันนี้
ผมอยากให้เรามอง ส.ว. เป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น มันมีอีกหลายตัวที่เราต้องมองให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรค อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเลือกกันไปแทบตาย สุดท้ายองค์คณะของคนไม่กี่คนซึ่งก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชน ก็สามารถยุบพรรคการเมืองได้ ขณะที่มีคนเลือกมาสิบกว่าล้านเสียง อันนี้ก็ขัดหลักประชาธิปไตยอีก ยังมีกลไกอีกหลายอย่าง แต่แน่นอน ส.ว.เป็นจิ๊กซอว์ตัวใหญ่ เพราะมีอำนาจมาชี้เป็นชี้ตายเลยว่าจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่นะครับ
หาก ส.ว. ขวางประชาชน?
ประจักษ์ ก้องกีรติ: มันก็ดูไม่สดใสนักนะ ดูน่ากังวล ผมเชื่อว่า ส.ว. ทุกคนคงต้องใคร่ครวญอย่างดีนะ เพราะตอนนี้เรากำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ ในการเมือง มันไม่ได้มีแต่เรื่องคณิตศาสตร์หรือตัวเลข ว่า 250 เสียง (ส.ว.) 376 เสียง (ส.ส.) นะครับ ถ้ามองแต่ตัวเลข แสดงว่าคุณไม่เข้าใจการเมือง การเมืองมันมีเรื่องคณิตศาสตร์เรื่องตัวเลข เช่น ส.ว. เขาบอก ถ้าอยากตั้งรัฐบาลก็ไปรวมเสียงมาให้ได้ แต่การเมือง ผมอยากจะย้ำว่า มันไม่ได้มีแต่เรื่องคณิตศาสตร์ มันมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มีเรื่องของความฝัน ความต้องการของประชาชน ถ้าส.ว. อ่านไม่เห็นตรงนี้ ผมคิดว่าประเทศเรามีโอกาสที่จะเดินไปสู่จุดที่มันวิกฤต
จริงๆ ส.ว.ไม่ได้กำลังสู้กับใครเลย ไม่ได้สู้กับคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้สู้กับรัฐบาลก้าวไกล สิ่งที่ ส.ว. กำลังเผชิญหน้าอยู่ก็คือ เจตนารมย์ของประชาชนจำนวนมาก มหาศาลในสังคมที่เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง และเขาได้แสดงออกมาแล้วอย่างสงบสันติที่สุด
คือการไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง มันเป็นวิธีที่สงบสันติที่สุดแล้ว เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่แบบธรรมดาสามัญ กระทั่งแบบน่าเบื่อที่สุดแล้ว คือมันไม่ได้มีใครต้องไปประท้วงบาดเจ็บล้มตายกันเลยนะ แล้วประชาชนเขาแสดงออกแบบนี้ ศิวิไลซ์ที่สุดแล้ว
แล้วถ้าเราเป็นส.ว. 250 คนซึ่งประชาชนก็ไม่ได้เลือกเรามา เจ้านายที่แต่งตั้งเรามา ก็หมดอำนาจวาสนาไปแล้ว ถ้าพูดในภาษาโบราณ เราก็ไม่มีเจ้านายเราให้หนุนแล้วด้วยนะ ใครก็ไม่รู้แหละที่ตั้งเรามา เจ้านายเราก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เราจะไปหนุนเขากลับมาได้ด้วย เพราะประชาชนก็ปฏิเสธเขาไปแล้ว
ฉะนั้น ตอนนี้ผมทำอะไรได้ ถ้าผมเป็นส.ว.ที่แบบ ผมไม่สนใจอะไร ผมก็บอกว่า ผมมีอำนาจอยู่ในมือ ฉะนั้น ผมไม่อยากให้คนนี้เป็น ผมก็โหวตไปเรื่อย ๆ ไม่ให้เป็น ไม่ให้เป็น แต่ถามว่า ถ้าอย่างนี้สุดท้ายประเทศเกิดสุญญากาศ รัฐบาลก็ตั้งไม่ได้ ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ผ่านไป 5 - 6 เดือน 6 -7 เดือน คนโทษใคร จำเลยของสังคมจะคือใคร มันชัดเจนมากเลยว่าจังหวะนั้น จำเลยของสังคมคือใคร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไม่อยู่แล้วด้วยซ้ำ ตอนนั้นน่ะ คนก็ไม่ได้ไปโทษตรงนั้นหรอก คนไม่ได้ไปโทษนักการเมืองที่ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะเขาได้เสียงข้างมากแล้วนี่ ประชาชนก็เลือกเขาชัดเจนแล้ว
สุดท้ายตอนนั้น ส.ว. 250 คน ไม่ว่าจะเล่นเกมถ่วงเวลายังไง แม้ว่าจะทำได้ตามกฎหมาย แต่ว่า การเป็นจำเลยของสังคม การที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ประเทศเกิดวิกฤต เกิดสุญญากาศ ผมว่า มันเป็นภาระที่หนักหน่วงมากเลยนะ ตรงนี้ บวกกับการที่ ส.ว. เองก็จะเหลือเวลาอยู่ในอำนาจเพียงแค่ 1 ปี ฉะนั้น จริงๆ ผมเชื่อว่า ส.ว. โดยส่วนใหญ่ เขามีเหตุมีผลนะ rational ถ้าเอาปัจจัยทั้งหมดมาประมวลกันแล้ว
หวังว่าจะไม่นำไปสู่วิกฤต
ประจักษ์ ก้องกีรติ: หวังว่า ไม่ควรจะไปถึงจุดนั้น เพราะว่าสู้ปล่อยให้รัฐบาลตั้งไปทำงาน ถ้าเขาทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งหน้าคนก็ไม่เลือก หรือถ้าไปไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องยุบสภา ต้องลาออก ก็เป็นไปตามกลไก ถึงวันนั้น คนก็โทษรัฐบาลนั่นแหละ ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว ถ้าเลือกมาแล้ว บริหารแล้วมันล้มเหลว คนก็ไปโทษรัฐบาล เขาไม่ได้มาโทษ ส.ว. ถ้า ส.ว.ยอมให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามกลไกตามปกติ
แต่ถ้า ส.ว. มาสกัดขัดขวางตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะทำสำเร็จหรือล้มเหลว คนไม่รู้ คนมาโทษ ส.ว. ก่อนแล้ว ใช่ไหม มันเหมือนเป็นจุดที่ทำให้ทุกอย่างมันเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ตรงนี้มันเหมือนคน 250 คน กำลังมายืนขวางกั้นคนยี่สิบกว่าล้านคนตอนนี้ มันจะยืนต้านไหวเหรอ ใช่ไหม แล้วข้างหลัง ส.ว. คือใคร มีไหม มีใครที่จะมา backup ส.ว. ไหม
ตอนนี้ ถ้าเราดูในสังคม กระแสความรู้สึกโดยทั่วไป ถ้า ส.ว. สดับรับฟังเสียงให้ดี มันแทบจะเป็นฉันทามติเลยนะ ไม่ว่าคนกลุ่มไหนก็ตาม เฉดอุดมการณ์ไหน ผมยังไม่เห็นคนกลุ่มไหนในสังคมเลย ที่ออกมาบอกว่า สนับสนุนให้ส.ว. โหวตสวนมติประชาชน มีกลุ่มไหนไหมกล้าออกมาพูดแบบนี้ ผมว่าไม่มีนะ ไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมสุดอย่างไร ตอนนี้เขาก็ยอมรับผลการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ กล้าออกมาพูดหรือว่า “ให้ ส.ว.โหวตสวนมติประชาชน ให้โหวตผมกลับมา” ก็ไม่มีนะ
ฉะนั้นคือ ผมคิดว่า consensus (ความเห็นของคนส่วนใหญ่ - กองบรรณาธิการ) มันชัดเจน ฉันทามติทางสังคมมันชัดเจนแล้ว มันก่อตัว เพียงแต่ว่าเราจะดื้อดึงหรือไม่ หรือเราจะยอมให้สังคมมันเดินหน้าไป แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนั้น
มรดกของคณะราษฎรด้านการศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกิดจาก 1 ใน หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ประจักษ์ ก้องกีรติ: จุดกำเนิดการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก็คือที่เราพูดถึงหลัก 6 ประการ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็เลยเปรียบเทียบว่าธรรมศาสตร์เหมือนบ่อน้ำบำบัดกระหายความใคร่รู้ของราษฎร ใครๆ ก็มาตักกินได้ มรดกของคณะราษฎร ถูกทำลายไปเยอะ แต่ก่อนตามจังหวัดต่างๆ จะมีสร้างอนุสาวรีย์ หรือจะมีอาคารบริเวณถนนราชดำเนิน ก็โดนทุบไปเยอะแล้ว เป็นการทำลายความทรงจำแบบหนึ่ง
ส่วนที่พอจะเหลืออยู่บ้าง ก็ในธรรมศาสตร์นี่แหละ สัญลักษณ์ต่างๆ ของคณะราษฎรที่ยังซ่อนอยู่ อย่างเช่น หลัก 6 ประการ ซึ่งเป็นหมุดหมายของคณะราษฎรก็ซ่อนอยู่ในเสาของหอประชุมของมหาวิทยาลัย ก็คือ เสา 6 ต้น ก็คือหลัก 6 ประการนี้ เหมือน Da Vinci Code คนรุ่นหลังต้องแกะรอยว่าสัญลักษณ์ต่างๆ ไปซ่อนอยู่ตรงไหน แล้วจะอ่านความหมายอย่างไร
ส่วนหมุดจำลองหมุดคณะราษฎร เป็นจุดลึกลับในธรรมศาสตร์ เด็กธรรมศาสตร์หลายคนหรืออาจารย์ธรรมศาสตร์บางคนก็ยังไม่รู้เลยว่ามีหมุดคณะราษฎร หมุดรำลึกการปฏิวัติ 2475 มาซ่อนอยู่ในนี้ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่เดียวในประเทศไทยที่จะมาดูหมุดนี้ได้ แต่เป็นหมุดจำลองนะ
ส่วนหมุดจริง เดิมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ฝังอยู่บนพื้นถนนเลย แล้วก็หายไปแล้ว อย่างลึกลับ โดยไม่มีใครทราบว่าหายไปไหน จุดที่ฝังไว้เป็นจุดที่อยู่ทางซ้ายของพระบรมรูปทรงม้า
ทำไมฝังไว้จุดนั้น เพราะเป็นจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎร ที่ทุกคนเคารพนับถือ ทั้งอาจารย์ปรีดี และจอมพล ป. เคารพนับถือ พระยาพหลฯ ยืนอ่านแถลงการณ์ตรงนั้น ที่บอกว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร อ่านแถลงการณ์ตรงนั้น ในเช้าวันที่ 24 มิถุนา 2475 หลังจากนั้นจึงมีการฝังหมุดตรงนั้น เพื่อรำลึกว่า การปฏิวัติเกิดขึ้นตรงนี้ ให้คนไม่ลืมเลือน แต่ในที่สุด หมุดก็หายไปในยุคสมัยปัจจุบัน มีการพยายามทำลายล้างความทรงจำ มรดกของคณะราษฎรอย่างที่พูดถึง ทั้งทุบตึก เปลี่ยนป้ายชื่อ เปลี่ยนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันหมุดนั้นก็หายไป เป็นเรื่องลึกลับว่า เอ๊ะ หายไปไหน คนก็ไม่รู้ ส่วนอันนี้ไม่ใช่หมุดจริง เป็นหมุดจำลอง
หมุดของจริงจะเป็นทองเหลือง สวยงามกว่านี้ เวลาย่ำรุ่ง 24 มิถุนา 2475 คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ
มหาวิทยาลัยกับเจตนารมย์คณะราษฎร
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ก็ต้องถือว่าธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพราะว่าธรรมศาสตร์ตั้งโดยเป็น 1 ในหลัก 6 ประการที่สำคัญของคณะราษฎร คือ ขยายการศึกษาไปสู่มวลชน หรือ Mass Education นั่นเอง
คือต้องเข้าใจก่อนหน้านี้ว่า ก่อนหน้าการปฏิวัติ 2475 การศึกษาเป็นเหมือนทรัพย์สมบัติส่วนตัวของชนชั้นสูงเท่านั้น เป็นทรัพยากรที่คนส่วนน้อยมาก ๆ ในสังคมที่จะเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิม ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่รองรับสำหรับการฝึก เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับระบอบการเมืองแบบเก่า แบบ absolute monarchy ฉะนั้น ก็ต้องเป็นลูกขุนนาง ลูกท่านหลานเธอ ลูกกษัตริย์เท่านั้นถึงจะได้เข้าเรียน ซึ่งปีหนึ่งก็รับหลักร้อยคน อันนี้ก็เป็น Pain Point ของสังคมในยุคนั้น
เพราะเราต้องเข้าใจว่า พอคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการศึกษา มันยากที่จะมีการเลื่อนชั้นทางสังคม คนส่วนใหญ่ถ้าไม่มีการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษา ชีวิตจะไปจบอยู่ที่ไหน ถ้าพ่อแม่เป็นชาวนา ลูกก็เป็นชาวนาเกษตรกร ถ้าพ่อแม่เป็นแรงงานลูกก็เป็นกุลีกรรมกรไปตลอดชีวิต ไม่มี asset (ทรัพย์สิน - กองบรรณาธิการ) ไปถึงทรัพยากรที่สำคัญ คือการศึกษาซึ่งจะทำให้สามารถมีอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถได้ ไม่ว่าจะเป็นเสมียน ทนาย ครู สถาปนิก อาชีพเหล่านี้มันต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งมหาวิทยาลัยจึงจะตอบโจทย์
ปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่ รัฐประหาร
ประจักษ์ ก้องกีรติ: การปฏิวัติ 2475 เราต้องเข้าใจว่า มันไม่ใช่แค่การปฏิวัติทางการเมือง แต่คือการปฏิวัติสังคม คือการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ ที่เราเรียกปฏิวัติ ไม่ใช่รัฐประหาร เพราะมันเปลี่ยนสังคมในวงกว้างทั้งหมด มันไม่ใช่แค่การยึดอำนาจว่า เอาอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง อันนี้คือการรัฐประหาร คือการยึดอำนาจเฉยๆ อย่างที่เราเห็นในระยะหลัง รัฐประหารคือทหารกลุ่มหนึ่งแย่งชิงอำนาจมาจากทหารอีกกลุ่มหนึ่ง หรือทหารยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ว่า ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างอะไร
แต่ตอน 2475 โดยคณะราษฎร เขามีโปรเจกต์ใหญ่ที่เขาจะเอาอำนาจมาทำอะไร เอาอำนาจเพื่อมากระจายความมั่งคั่ง กระจายความเจริญ กระจายทรัพยากรให้กับคนทั้งสังคม ซึ่งการศึกษาเป็นทรัพยากรที่สำคัญมาก ก็เลยมาก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นชื่อคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ตอนตั้งขึ้นมา พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ใครก็เข้าเรียนได้ ค่าเล่าเรียนเก็บเกือบจะฟรี แล้วก็ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ได้ เพื่อตอบโจทย์อันนี้ว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่ควรเป็นทรัพยากรที่ถูกผูกขาด หรือสงวนไว้ให้กับชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น มันควรเป็นทรัพยากรสาธารณะ สินค้าสาธารณะที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้
ฉะนั้น เปิดปีแรก คนมาสมัครเป็นหมื่น ๆ คน ชี้ให้เห็นว่า มีความต้องการเยอะขนาดไหนของคนในสังคมที่อยากเข้าถึงการศึกษาระดับสูง แล้วถูกปิดกั้นเอาไว้ หลังจากนั้น คือพูดง่าย ๆ กำแพงมันถูกทลายลง ในเรื่องการศึกษา มันไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องมีชาติกำเนิดที่สูงส่ง คุณถึงจะมีการศึกษา ตอนนี้ใคร ๆ ก็เข้าถึงการศึกษาได้
ก่อตั้งมหาวิทยาลัยปี 2477 (1934) สองปีหลังการปฏิวัติ
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ถือว่าเร็วมากก็คือ 2 ปีหลังการปฏิวัติ มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็หมายความว่าอันนี้เป็น Priority (เรื่องหลัก - กองบรรณาธิการ) เป็นสิ่งที่คณะราษฎรเขาให้ความสำคัญจริง ๆ
คือถ้าเรามองว่าคณะราษฎรเป็นรัฐบาล พูดง่าย ๆ ภายใน 2 ปี เขาทำนโยบายนี้เลย ที่เขาสัญญาเอาไว้ ตอนนั้นก็ไม่ได้หาเสียงกับใครนะ แต่เป็นเหมือนหลักนโยบายที่เขาบอกเขาทำปฏิวัติเพื่อจะทำสิ่งนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก แล้วภายใน 2 ปี เขาทำสำเร็จเลย เรื่องการศึกษาระดับอุดมศึกษา
จริง ๆ ภาพใหญ่กว่านั้นก็คือ ไม่ใช่แค่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การศึกษาระดับมัธยม ระดับประถม ระดับอนุบาลก็ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว อย่างเข้าถึงคนวงกว้าง เข้าถึงคนในต่างจังหวัด
ขณะที่ก่อนหน้า 2475 ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยที่มีแห่งเดียว เพราะโรงเรียนมัธยมก็แทบไม่มี มีน้อยมาก จำกัดตัว ฉะนั้น การศึกษาทั้งระบบ กลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมจำนวนมากขึ้นเข้าถึงได้
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต บ่งบอกประวัติศาสตร์สำคัญการเปลี่ยนแปลงของประเทศ
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ธรรมศาสตร์จริง ๆ ในแง่หนึ่ง มันเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย คือผมรู้สึกเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คือตัวมันเองคือที่บรรจุประวัติศาสตร์ แล้วบันทึกประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนี้เอาไว้ ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน
ฉะนั้น สำหรับคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง เราย่อมรู้ดีว่า ธรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เป็นมากกว่าสถานที่ มันคือความทรงจำ ที่เคลื่อนไหว ที่มีชีวิต ฉะนั้น แน่นอนมันผ่านมาทุกเหตุการณ์ สงครามโลกก็ผ่านมา การปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 แต่รุ่นผมเนี่ย แน่นอนผมไม่ทันเหตุการณ์เหล่านั้นแล้ว
ประจักษ์ ก้องกีรติ...นักศึกษารุ่นหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535
ประจักษ์ ก้องกีรติ: จริง ๆ ตอนเหตุการณ์พฤษภา 2535 ตอนนั้นผมก็ยังไม่ทันเหมือนกันยังไม่ได้เข้าธรรมศาสตร์ เพราะยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่เราถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์นั้นแหละ ตอนนั้นเรียน ม.5 ตอนที่เกิดเหตุการณ์ คือตอนเกิดเหตุพ่อแม่ก็ห้ามไม่ให้มาร่วมม็อบ แต่พอเหตุการณ์สงบลงแล้ว เราก็อยากรู้อยากเห็น ก็เลยขอให้รุ่นพี่แถวบ้านพามา ก็มาเดินถนนราชดำเนิน ยังมาดูรอยกระสุนที่ทหารยิงแล้วมันยังฝังอยู่ตามกำแพงอาคารตลอดถนนราชดำเนิน แล้วก็ถือโอกาสมาเดินดูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเรารู้สึกว่า นี่แหละคือที่ที่เราจะต้องมาเรียนให้ได้ จะต้องสอบเข้าให้ได้ ฉะนั้น ตอนมาเข้า ก็คือ 2 ปีให้หลัง เหตุการณ์พฤษภา 2535
ผมเข้าธรรมศาสตร์ตอน 2537 ตอนนั้นก็ครบรอบ 60 ปีธรรมศาสตร์พอดี สมัยเป็นนักศึกษา ในช่วงนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองยังไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ ช่วงนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองค่อนข้างนิ่ง การเมืองหลังพฤษภา 2535 มีการเลือกตั้งปกติ มีรัฐบาลชวน บรรหาร ชวลิต คือ ไม่ได้มีความอึกทึกคึกโครมมากช่วงนั้น
ช่วงนั้น หลังพฤษภา 2535 มันมีกระแสปฏิรูปการเมือง ตอนนั้นทหารถอยกลับเข้ากรมกอง ไม่มีความวุ่นวายทางการเมืองมาก เป็นช่วงที่การเมืองมันนิ่ง ๆ ไม่เหมือนยุคปัจจุบัน ผมโตมาในช่วงที่การเมืองมันค่อนข้างน่าเบื่อพอสมควร
แต่ว่า เหตุการณ์แรกที่มันมาใกล้กับเรา แล้วก็มีความเคลื่อนไหวในบริเวณธรรมศาสตร์ คือตอนผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะตอนนั้นมันมีกระแสคัดค้านเยอะ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 มันจะเปลี่ยนโครงสร้างหลายอย่าง ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น เปลี่ยนใหญ่ กระทรวงมหาดไทยก็ออกมาต่อต้าน นักการเมืองก็ออกมาต่อต้าน ปรากฏว่าเกิดขบวนการธงเขียวที่มาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นผ่านไปให้ได้ ก็มาชุมนุมแถวสนามหลวง ตอนนั้นเราก็เลยได้เห็นบรรยากาศแล้ว ในฐานะที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี เห็นการเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เป็นเหตุการณ์แรก ๆ
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญและกระทบใจของตัวเองในแง่ส่วนตัว ก็คือการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา 2519 ในปี 2539 ตอนนั้นเราทำงานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นรองนายก อมธ.
เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ที่จริง ๆ แล้วคนไม่รู้จักเลยนะ เหมือนเป็นเหตุการณ์ต้องห้าม ที่ห้ามพูดถึง ฉะนั้น ยิ่งเด็กนักเรียนมัธยมอย่างเราที่เพิ่งมาเข้ามหาวิทยาลัย ยิ่งไม่ได้รู้จักเหตุการณ์นี้ แต่ตอนนั้นมีการเคลื่อนไหวของคนเดือนตุลาที่เขาจัดงานรำลึก เป็นครั้งแรกที่สามารถพูดเรื่อง 6 ตุลา 2519 ในที่สาธารณะได้ มีการจัดนิทรรศการ จัดงานเสวนาที่สนามบอล และที่หอประชุมธรรมศาสตร์ รำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ครั้งแรก มีอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล มาพูด มีอาจารย์หลายๆ ท่านมาพูด มีคนร่วมรุ่นมาเล่าเหตุการณ์ในฐานะผู้ผ่านประสบการณ์รอดตายมาจริง เราเข้าไปนั่งฟัง แล้วเราไปช่วยจัดงานด้วย จัดนิทรรศการเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรามาสนใจประวัติศาสตร์เดือนตุลา ก็เป็นจุดพลิกผันในชีวิตเหมือนกัน
ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์ สร้าง 2539 (1996) ที่ตึกกิจกรรม
ประจักษ์ ก้องกีรติ: มีการร่วมกันของ อมธ. สภานักศึกษา บวกกับศิษย์เก่าทั้งหลายเดือนตุลา ที่ร่วมกันผลักดันจนสำเร็จ
ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ประติมากรรมที่ลานโพธิ์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามทำประติมากรรมทุกจุดที่เป็นจุดไฮไลต์ประวัติศาสตร์สำคัญ จำลองเหตุการณ์ ลานโพธิ์เป็นจุดกำเนิด 14 ตุลา 2516 มีภาพจำ 14 ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนหลายแสนคน ซึ่งก่อนที่คนจะเคลื่อนตัวไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดกำเนิดคือตรงนี้ ตรงนี้คือคณะศิลปศาสตร์ ส่วนตึกเอนกประสงค์ในปัจจุบัน ตรงนี้เมื่อก่อนสำคัญนักศึกษามาชุมนุมเพราะเมื่อก่อนตรงนี้เป็นตึกกิจกรรมนักศึกษา ฉะนั้น เขามาตั้งเวทีตรงนี้ ถ้าเราเห็นในภาพ เวทีเตี้ยๆ ตั้งตรงนี้แหละที่มีอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใครต่อใครมาปราศรัย มีหมามานอนอยู่ ชุมนุมที่ลานโพธิ์ก็ตรงนี้
ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็ตรงนี้ 6 ตุลา ชนวนของเหตุการณ์คือละครแขวนคอ ของนักศึกษาชุมนุมศิลปะและการแสดง เล่นตรงนี้ แต่ไม่ได้แขวนบนต้นโพธิ์ แต่ก่อนมีต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นไม่อยู่แล้ว
วันที่ 5 ตุลา 2519 นักศึกษาเล่นละครจำลองเหตุการณ์พนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเขาเป็นฝ่ายนักศึกษา เป็นฝ่ายก้าวหน้า เขาร่วมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ปรากฏว่าโดนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเอาไปฆ่า ไปแขวนคอ 2 คนอย่างโหดร้าย เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว ขู่ให้คนอย่าออกมาต่อต้านถนอม ก็เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ
ทีนี้นักศึกษาก็เลยต้องการมาจำลองเหตุการณ์นั้น ทำอย่างไรให้คนไม่ลืมเหตุการณ์นี้ว่าตำรวจใช้อำนาจมืดอย่างทารุณโหดร้ายฆ่าคน 2 คนแล้วเอาไปแขวนคอ นักศึกษาก็เลยมาเล่นละครตรงนี้ ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์นั้น ให้คนรำลึกเหตุการณ์นั้น แต่ว่ากลายเป็นโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ เมื่อภาพถูกถ่ายออกมา
มีนักข่าวมาทำข่าว วันที่ 5 ตุลา 2519 และก็ถ่ายภาพออกมา หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ก็ไปลงรูปในมุมที่นักศึกษา (กำลังแสดงละคร) เหมือนบุคคลสำคัญของประเทศ แล้วก็หาว่าการแสดงละครนั้น นักศึกษาต้องการจะล้มเจ้าล้มสถาบัน ก็เป็นการกล่าวหา แล้วภาพนั้นกลายเป็นชนวนไปปลุกระดมให้โกรธแค้น แล้วมาล้อมธรรมศาสตร์ นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ชัดเจน ต้องการรัฐประหารและปราบปรามนักศึกษาเพราะว่าจริง ๆ พอนักศึกษารู้ข่าว เห็นภาพนั้น ก็พยายามไปเจรจาแล้ว กับรัฐบาล กระทั่งคนที่เกี่ยวข้อง แกนนำนักศึกษา มอบตัวด้วยซ้ำ แสดงความบริสุทธิ์ใจ
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งจริง ๆ โดนรัฐประหารเงียบไปแล้ว คือเป็น 'รัฐพันลึก' ของไทย กลไกชนชั้นนำที่ใหญ่กว่า พูดง่าย ๆ เขายึดอำนาจจากรัฐบาลเสนีย์ไปแล้ว เขาไม่ได้ฟังเสนีย์แล้ว ทั้งหมดเป็นแผนรัฐประหารทั้งสิ้น สังหารนักศึกษาตอนเช้า 6 ตุลา 2519 แล้วพอตอนเย็นก็ยึดอำนาจเลย โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ไม่ใช่เพิ่งมาทำกันในวันนั้น แต่วางแผนกันมาหลายเดือนแล้ว
ตั้งแต่การสังหารหมู่ตอนเช้า 6 ตุลา 2519 มีบันทึกชัดเจน คณะรัฐประหารเขาประชุมกัน เขามีการตกลงวางแผนกันอยู่แล้ว คือการเอาถนอมไปบวชเณร กลับมาเพื่อจุดชนวนให้มีการต่อต้าน ทำให้เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นแผนทั้งหมด ส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร
คือเมืองไทยเวลาจะรัฐประหาร ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เอารถถังออกมาเลย มันต้องสร้างสถานการณ์ความไม่สงบก่อนให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย เกิดวิกฤตแล้ว ทหารจึงอ้างเข้ามายึดอำนาจได้ ปี 2557 ก็เป็นอย่างนี้ ปี 2549 ก็เป็นอย่างนี้ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นอย่างนี้ แต่วิกฤตนั้น ถ้าย้อนดู ก็คือ ทหารนั่นแหละมีส่วนสร้างวิกฤตนั้นขึ้น มันไม่ใช่วิกฤตตามธรรมชาติ
จริง ๆ ระเบิดลูกแรกก็คือ ตั้งแต่ตอนก่อนรุ่งสางแล้ว มีการยิงระเบิดเข้ามาก่อน จากบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วก็ตรงหน้าประตูฝั่งสนามหลวง ก่อนที่จะเอารถบุกเข้ามา ก่อนที่จะเคลื่อนพลเข้ามา คือยิงลูกระเบิดมาก่อน ก็มาตกตรงกลางสนามฟุตบอล ใช้อาวุธสงครามหนักเลยตอนนั้น ในการมาโจมตีนักศึกษา
หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ: 6 ตุลา 2519 เช้ามืด มีการบุกเข้ามาทางหน้าหอประชุมใหญ่ มีการล้อมประตูทางฝั่งสนามหลวง จุดนี้เป็นจุดแรกของการปะทะ ก็มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ตรงนี้ นักศึกษาที่เป็นการ์ด อาสามาปกป้องผู้ชุมนุม ก็โดนยิงเสียชีวิต ณ จุดนี้ จำนวนหนึ่ง บุกเข้ามา แล้วก็ข้าง ๆ ธรรมศาสตร์ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ตอนนั้นเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้ตรงนี้มาเป็นที่ซ่องสุมกำลัง แล้วก็ระดมยิงมาจากตึกพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นภาพที่มีในคลิปวิดีโอที่ทหารถือปืนกลต่าง ๆ เครื่องยิงลูกระเบิด เคลื่อนกำลังเข้ามา จากจุดนี้แล้วบุกเข้าไป ตรงนี้เป็นจุดปะทะจุดแรก เพราะบุกเข้ามาทางนี้ แต่ก็มีการยิงระเบิดนำไปก่อนแล้ว ก่อนที่จะบุกเข้ามา ทีนี้ระเบิดก็ไปตก ในสนามฟุตบอล ตั้งแต่ช่วงตีสี่ตีห้าแล้ว ที่เราเรียกว่า ปิดประตูตีแมวก็คือ นักศึกษาไม่มีโอกาสที่จะหนีไปไหนได้เลย
สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ: จุดนี้ก็เป็นจุดสำคัญมาตลอดประวัติศาสตร์ สนามฟุตบอลก็ผ่านมาหลายเหตุการณ์ แต่ว่าที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็คือ 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519
14 ตุลา 2516 มีการนัดชุมนุมก่อน ตอนแรกนักศึกษาไปแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้วโดนจับไป
อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตอนนั้นเป็นแกนนำนักศึกษา ก็นัดประท้วง ตอนแรกเริ่มที่ลานโพธิ์ก่อน แต่คนมาชุมนุมล้นหลามจนบริเวณลานโพธิ์รองรับไม่ไหว ตอนนั้นคนมาเป็นแสนคน ถนนทุกสายหลั่งไหลมาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุดท้ายทุกจุดของมหาวิทยาลัยต้องใช้เป็นที่ชุมนุมหมด ทุกอาคารเรียนแล้วก็สนามฟุตบอล คนก็เต็มสนามฟุตบอลตอนนั้น ก่อนที่ในที่สุด เคลื่อนขบวนออกไปถนนราชดำเนิน ก็คือ คนอัดแน่นอยู่ในนี้เป็นแสนคน ถ้าใครไปดูสารคดี 14 ตุลา 2516 จะเห็นภาพมีกระทั่งเด็กมัธยม กางเกงขาสั้นก็มาร่วมชุมนุม คนทุกวัยทุกอาชีพ ก็มาอยู่ในบริเวณสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์
ตอนนั้น 14 ตุลา 2516 ก็เป็นชัยชนะ เป็นการชุมนุมที่จบลงด้วยการที่สามารถขับไล่เผด็จการได้ แต่พอ 6 ตุลา 2519 สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ก็กลายเป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของโศกนาฏกรรมแทน ถ้าเราเคยเห็นภาพ
ภาพจำของ 6 ตุลา 2519 ภาพหนึ่งก็คือ ตอนที่ทหารเข้ามาปราบได้หมดแล้ว สังหารนักศึกษาเสียชีวิตไปจำนวนมาก แล้วก็บังคับให้นักศึกษาทั้งผู้ชายผู้หญิงต้องถอดเสื้อ แล้วก็นอนราบลงกับพื้น แล้วก็มีรูปทหารถือปืน ฉากหลังเป็นหอประชุมธรรมศาสตร์ แล้วมีผู้หญิงผู้ชายที่เป็นนักศึกษานอนราบอยู่กับสนามฟุตบอล ก็เป็นภาพจำของ 6 ตุลา 2519
เป็นภาพที่โหดร้าย และสะท้อนวิธีคิดของรัฐตอนนั้น ชนชั้นนำตอนนั้นว่า มองนักศึกษาเป็นศัตรู เพราะวิธีแบบนี้ ที่คุณให้คนถอดเสื้อแล้วนอนราบลงกับพื้น เป็นวิธีที่ทหารจัดการกับเชลยศึกเมื่อเขาชนะศึกสงครามแล้ว มันไม่ใช่วิธีที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะจัดการกับผู้ชุมนุมที่เป็นพลเมืองของตัวเอง เราไม่เห็นภาพประเทศอื่น ๆ สมมติมีคนมาชุมนุม พอปราบเสร็จแล้ว ต้องไม่บังคับให้เขาถอดเสื้อแล้วต้องนอนราบลงไปกับพื้น สนามฟุตบอลก็มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นเยอะ
การปลุกระดมกล่าวหาจะใช้ได้ผลหรือไม่ในยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีกว่าหลายคนนะ ผมคิดว่าสังคมไทยมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นในปัจจุบัน คนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แล้วมันยากที่ใครจะปลุกชนวนแบบนั้น ในการจะมาทำร้ายคนอื่น หรือถึงขั้นสังหารหมู่กลางเมืองแบบนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะว่า สังคมผ่านการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องนี้มาพอสมควร แล้วเราระมัดระวังมากขึ้นกับการที่จะปล่อยให้ใครเอาข้อกล่าวหาเรื่องนี้มาเป็นชนวนในการฆ่าคนอื่น
แล้วความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนมันมีมากขึ้น หรือการที่จะฉวยใช้ความเป็นไทย แล้วบอกว่า ต้องคิดแบบนี้เท่านั้นถึงรักชาติศาสน์กษัตริย์ ต้องคิดแบบนี้เท่านั้นถึงเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติ ต่อความเป็นไทย เป็นเรื่องที่คนนำมาถกเถียงกันแล้ว คนต่อสู้ โดยไม่ได้ยอมให้ใครมานิยามความเป็นไทยแบบง่าย ๆ แล้วบอกว่าต้องแบบฉันเท่านั้นถึงเรียกว่ารักชาติ แล้วถ้าใครไม่รักชาติแบบฉัน คุณสมควรตาย
ผมว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี และเป็นสังคมที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น แม้ว่ายังมีความเสี่ยงที่เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา 2519 ขึ้นอีก
มาตรา 112 เคยถูกแก้ไขมาแล้ว หลัง 6 ตุลา 2519
ประจักษ์ ก้องกีรติ: มาตรา 112 เป็นมาตราที่เคยถูกแก้มาแล้ว ไม่ใช่แก้ไม่ได้ มาตรา 112 ที่เราใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นมรดกของรัฐบาลอำนาจนิยมเผด็จการขวาจัด ตอนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นั่นเอง ก็ฉวยใช้จังหวะนั้นในการมาแก้ไขกฎหมายนี้ ให้มันกลายเป็นกฎหมายที่มีลักษณะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่ายขึ้น มีโทษที่สูงขึ้น
เป็นมิติที่สะท้อนพัฒนาการที่ดีของสังคมไทยนะ ผมคิดว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (2566/2023) ที่ทีวีทุกช่อง ถ่ายทอดการดีเบตตามเวทีต่าง ๆ สามารถเอาเรื่องมาตรา 112 มาหยิบยกเป็นประเด็นที่พูดคุยกัน แล้วให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องตอบคำถามเรื่องนี้ แล้วสามารถแลกเปลี่ยนได้ ให้ประชาชนทางบ้านฟัง ผมว่า มันสะท้อนวุฒิภาวะของสังคมไทยที่มีมากขึ้น แล้วถ้าเราสามารถถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ว่า ควรแก้หรือไม่ควรแก้ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร แก้อย่างไรถึงจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับประชาธิปไตย อย่างลงตัวมากที่สุด...
ผมคิดว่า อันนี้เราจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งที่ดีมากๆ ที่แสดงว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะที่แข็งแรงมากขึ้น มันสะท้อนการเติบโตของสังคมนะ ถ้าเราสามารถถกเถียงเรื่องยากๆ ได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน โดยไม่ต้องตีหัวกัน คือสุดท้ายสังคมมันมีเรื่องยาก ๆ เยอะ มีปัญหาโจทย์ยาก ๆ เยอะ ที่มันรอเราอยู่ ทุกสังคม
สังคมที่ไม่มีวุฒิภาวะก็คือเอาปัญหายาก ๆ ทั้งหลายเอาไปซุกไว้ใต้พรม แล้วทำเป็นมองไม่เห็น แล้วบอกมันไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องพูด วันหนึ่งมันอาจจะระเบิดขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะพอ เรากล้าเอาโจทย์ยาก ๆ เหล่านั้น มาคุยกันในที่เปิดเผย ไม่ใช่ไปซุบซิบนินทา ไม่ใช่ไปคุยกันในโลกใต้ดิน มาคุยกันในที่เปิดเผย ที่ที่มันมีความชอบธรรมที่มันมีความศักดิ์สิทธิ์ อย่างเช่นรัฐสภา แล้วเถียงกัน ฝ่ายไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้แก้ ก็เสนอเหตุผล ฝ่ายที่อยากให้แก้ แก้แบบไหน ก็มีตั้งหลายข้อเสนอ ก็เสนอมา ก็ถกเถียงกัน แล้วประชาชนก็ร่วมตัดสินด้วย ยังมีกลไกอีกหลายขั้นตอนที่จะดำเนินไป
แก้กฎหมายฉบับหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ถึงวันนี้มันยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายเลย ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวหรอก ที่บอกจะแก้ไขมาตรา 112 เนี่ย เป็นกระบวนการที่สุดท้ายต้องทำแบบโปร่งใสอยู่แล้ว แล้วทุกฝ่ายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้
ตรงนี้แหละ ผมว่า ถ้าจะมีอะไรที่เป็นพัฒนาการที่ดีของสังคมไทยจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือว่า เราทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ที่มีความหมาย แล้วเอาเรื่องยาก ๆ มาถกเถียงกัน โดยไม่ต้องไปใช้ความรุนแรงต่อกัน
การเมืองก่อนยุคโซเชียลมีเดีย
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ตอนผมเป็นนักศึกษาเป็นยุคเริ่มต้นที่นักศึกษาเริ่มเรียนรู้การใช้อีเมล ห่างไกลมากเลยกับปัจจุบัน ตอนนั้นอยากรู้อะไรก็ต้องมาเข้าห้องสมุด คือห้องสมุดเป็นช่องทางเดียว
เด็กสมัยนี้อาจจะนึกไม่ออก โลกที่มันยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มี Twitter ไม่มี Facebook กระทั่งอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นมันเริ่มมีบล็อก สิ่งที่เรียกว่าบล็อก แต่ไม่ได้มีเว็บไซต์ ยังไม่มี The People หรือเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ทุกอย่างอยู่ในโลกกระดาษกับทีวี ฉะนั้น อยากรู้เรื่อง 6 ตุลา เกิดความสงสัย ก็ต้องวิ่งเข้าห้องสมุดมาค้น แล้วก็มาหาอ่าน
เทคโนโลยีการสื่อสารกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ประจักษ์ ก้องกีรติ: มันเปลี่ยนแปลงแน่ในแง่ speed ในแง่ความเร็ว เทคโนโลยีการสื่อสารแต่ละยุค มันทำให้คน ไม่ได้เป็นผู้รับสารอย่างเดียว ยิ่งในยุคหลัง ๆ เราก็สามารถเป็น Active Citizen ได้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีสื่อที่มันมากขึ้น ที่มันพัฒนาทันสมัยมากขึ้น คือมันเป็นการตอบโต้ 2 ทาง แล้วประชาชนก็สามารถมี input ได้
ยกตัวอย่าง ตอน 14 ตุลา 2516 หัวขบวนไปถึงลานพระบรมรูปฯ แล้ว ท้ายขบวนอยู่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะสื่อสารกันอย่างไร หัวขบวนตัดสินใจแล้ว แต่ท้ายขบวนยังไม่รู้เรื่อง แค่นี้ก็เป็นปัญหาแล้วนะ เกิดการสื่อสารที่ไม่ถึงกัน ต้องส่งม้าเร็วสมัยนั้น คิดดูโบราณขนาดไหน เพราะหัวขบวนตรงม็อบข้างหน้า ตัดสินใจแล้วว่าอย่างนี้ เราเจรจากับรัฐบาลได้แล้ว แต่ท้ายขบวนไปได้ข่าวลือว่า แกนนำเราชะตาขาดแล้ว ตอนนั้นก็เกิดการเข้าใจผิดกันอีก ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง 14 ตุลา 2516 สุดท้ายต้องส่งม้าเร็วก็คือ คนนั่นแหละวิ่งมา นั่งมอเตอร์ไซค์มา แล้วมาบอกอีกจุดหนึ่ง
พฤษภา 2535 ไม่ใช่ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือ
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ตอนพฤษภา 2535 ต่อให้เรียกว่าเป็นม็อบมือถือ มันก็ไม่ใช่ทุกคนมีมือถือนะ คำว่าม็อบมือถือก็ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เหมือนทุกคนมีมือถือแล้วคุยติดต่อสื่อสารกันได้ ตอนนั้นมือถือมันราคาแพงมาก มีไม่กี่คนในม็อบเท่านั้น ต้องเป็นนักธุรกิจ ต้องเป็นคนที่ฐานะร่ำรวยมาก ๆ ถึงจะมีมือถือ
ฉะนั้น การสื่อสารอะไรกัน มันก็ไม่ได้รวดเร็วทั่วถึง การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารก็ง่าย สมัยก่อนตอนพฤษภา เริ่มมีเคเบิ้ลทีวีแล้วสมัยนั้น แต่ว่าสุดท้ายรัฐบาลก็คุมได้หมด ช่องทีวีหลัก มันไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง BBC CNN ได้ในตอนนั้น คิดดูปี 2535 แล้ว การเซ็นเซอร์ ยังทำได้โดยรัฐบาล
เราเลยต้องมาปฏิรูปสื่อ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ว่าปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ละ มันเปลี่ยนไปแล้ว มันซับซ้อนมากขึ้น สื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว แล้วก็เปลี่ยนทัศนคติผู้คน เป็นช่องทางในการสื่อสารแสดงออก
รัฐเองก็ใช้สื่อเป็นช่องทางในการพยายามควบคุมคนด้วย หรือสอดแนมประชาชนด้วย มันไม่ใช่ประชาชนใช้สื่อเพื่อสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างเดียวนะ ผมก็โดนสอดแนม ด้วยสปายแวร์ เพกาซัส (Pegasus) เป็นหนึ่งในคนที่โดนสอดแนม รัฐบาลอำนาจนิยมหลายประเทศก็ใช้ แฮกอีเมล อ่านมือถือ เจาะเข้ามาในมือถือของคน
การใช้ Facebook - Twitter เพิ่งมาช่วงสิบปีกว่ามานี้เอง มันใหม่มาก ส่วนการเลือกตั้ง 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผมเรียกว่า เริ่มเห็นสิ่งที่เรียกว่า social media election เป็นการเลือกตั้งที่ social media เข้ามามีบทบาท เพิ่ง 2562 ส่วน 2566 นี่เราเห็นมันเต็มรูปมากขึ้น TikTok ก็เพิ่งมาในการเลือกตั้งครั้งนี้ 2566 มันเปลี่ยนเร็วมาก
คือคำว่า ‘ม็อบมือถือ’ ผมว่า ต้องทบทวนใหม่ เป็นคำที่ทำให้คนเข้าใจผิดเยอะมาก เหมือนกับว่า การสื่อสารล้ำหน้า แล้วทุกคนเป็นชนชั้นกลางร่ำรวย มีมือถือ แล้วคุยกัน ติดต่อสื่อสารกันได้ ปี 2535 นี่ยังไม่ใช่เลยตอนนั้น
คนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมม็อบจริง ๆ เป็นคนชั้นล่าง เป็นแรงงาน ผู้ประกอบการชั้นล่าง ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 แล้วคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นล่างในเหตุการณ์พฤษภา 2535 คนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ คนร่ำรวย เป็นคนส่วนน้อย มือถือยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีอยู่ไม่กี่คน
ประติมากรรม พฤษภา 2535 ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ตัวประติมากรรมอันนี้คือเหตุการณ์พฤษภา 2535 ส่วนมือถือ มีจำนวนน้อยมาก ตอนนั้นนักศึกษาไม่มีใครมีมือถือสักคน รุ่นผมเนี่ย เข้ามหาวิทยาลัยหลังเหตุการณ์นี้ 2-3 ปี เพื่อนที่รวยๆ เท่านั้นถึงจะมี Packlink เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักแล้วมั้ง Packlink ได้แค่ส่งข้อความ แล้วก็ต้องมีฐานะนะ คนทั่วไปไม่มี ผมก็ไม่มี ส่วนมือถือไม่ต้องพูดถึง เพื่อนเราไม่มีใครมี อาจารย์เราไม่มีใครมีมือถือ
อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ทุกคนคงรู้จัก ตอนนั้นเป็นผู้นำนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตอนเหตุการณ์พฤษภา ถามว่าอาจารย์ปริญญามีมือถือไหม ไม่มี มีสักกี่คนเองตอนนั้น การเรียกม็อบมือถือไปทำให้คนเข้าใจว่าเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางเท่านั้น มันไม่ใช่ แต่มีคนทุกชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นล่างที่เขามาต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา คนที่เสียชีวิตและหายสาบสูญไป ส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นล่าง
พบกันที่ลานโพธิ์ ก็คือนัดชุมนุม อันนี้ดูเหมือนประวัติศาสตร์อันไกลโพ้น ครั้งหนึ่งสังคมเคยมีฉันทามติ นี่ไงข้อความบนประติมากรรม ยืนยันเจตนารมย์ร่วมล้มรัฐธรรมนูญเผด็จการ เอาเผด็จการคืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา ไม่เอานายกฯ คนนอก ตอนนั้นมันชัดเจน ทุกคนไม่ต้องการให้ทหารมาปกครอง มันไม่มีความแตกแยกในเรื่องนี้เลย พูดง่ายๆ คือ สังคมมีฉันทามติ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปัจจุบันกลายมาเป็นว่า ผ่านไปหลายสิบปี ต้องมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้อีก
เทคโนโลยีสื่อสารกับการหาเสียงเลือกตั้งยุคปัจจุบัน
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ก่อนหน้านี้โซเชียลมีเดียยังไม่มีบทบาท คือเป็น ground war เป็นหลัก ในภาษาการเลือกตั้ง ในแคมเปญการเลือกตั้ง มี 2 อย่าง ground war กับ air war
ground war ก็คือว่า เดินหาเสียง เคาะประตูบ้าน แนะนำตัว แจกใบปลิว รวมถึงซื้อเสียง สารพัดวิธีที่เป็นการต้องลงพื้นที่ อันนี้เราเรียกว่า ground war
ส่วน air war ก็คือ การใช้สื่อในการแคมเปญหาเสียง ซึ่งเมื่อก่อนเนี่ย เราใช้ ground war เป็นหลักมาโดยตลอด ใช่ไหม นักการเมือง พรรคการเมืองไทย ส่วน air war อย่างมากก็คือ สื่อวิทยุ ส่วนทีวีมันใช้ไม่ค่อยได้ในเมืองไทย เพราะว่า ตอนนั้นทีวีส่วนใหญ่เป็นของรัฐ แล้วรัฐก็ไม่ได้เปิดให้พรรคการเมืองไปหาเสียงได้ ไปซื้อโฆษณาแบบต่างประเทศก็ไม่ได้
ฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงสู้กันที่ ground war เป็นหลัก ระบบหัวคะแนนจึงสำคัญ ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ การต้องมีคนในพื้นที่ ระบบผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ บ้านใหญ่ มันเลยสำคัญ เมื่อการต่อสู้ในการหาเสียงเลือกตั้งมันมีแต่ ground war เป็นหลัก ที่ต้องสู้กัน
แต่ว่าตอนนี้ พอตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เราชัดมากขึ้น ที่มีเว็บไซต์ต่าง ๆ มีโซเชียลมีเดีย พรรคการเมืองก็มาใช้เครื่องมือเหล่านี้มากขึ้น ในการสื่อสารโดยตรงถึง target ของเขา ถึงผู้เลือกตั้งที่เขาอยากชนะใจ
ผ่านยุคที่ 'นักการเมือง' เป็น 'ผู้ร้าย' มาแล้ว
ประจักษ์ ก้องกีรติ: คนรุ่นผมตอนเป็นนักศึกษายังไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องการเลือกตั้งเท่าไหร่ เหมือนเป็นช่วงรอยต่อ คือในบรรยากาศตอนนั้นส่วนใหญ่ คนรุ่นผมจะสนใจ การเมืองที่เป็นเรื่องการเคลื่อนไหวนอกสภามากกว่า
เราไปร่วมกับชาวบ้าน เอ็นจีโอ เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอะไรที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน แต่ว่า เรื่องการเมืองในระบบ ตอนนั้นเป็นเรื่องที่เราละเลยนะ มองย้อนกลับไป มันก็น่าสนใจว่าทำไม คือเหมือนตอนนั้น วาทกรรมใหญ่ที่มันยังครอบงำสังคมไทยอยู่ คือว่า การเมืองมันเป็นเรื่องสกปรก การเลือกตั้งมันเป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น คนยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเลือกตั้งกับการเมืองในรัฐสภาว่า มันมากระทบกับชีวิตเราอย่างไร
ตอนนั้นคือ คนยังมองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย การเลือกตั้งไม่ใช่พื้นที่ที่เราจะไปเปลี่ยนอะไรได้ ซึ่งไม่เหมือนในยุคปัจจุบันที่คนในสังคมมีมุมมองที่เปลี่ยนไปแล้ว คนมีความคิดที่มันเปลี่ยนไปแล้ว คนเข้าใจแล้วว่าการเลือกตั้งสำคัญ การไปใช้สิทธิหย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้ง มันเปลี่ยนชีวิตได้ แต่ตอนนั้นยังไม่ใช่ ฉะนั้น ถ้าถามคนรุ่นผมตอนนั้น การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เรายังไม่ได้สนใจ
ยุคนักศึกษาสนใจการเมืองนอกรัฐสภามากกว่าในรัฐสภา
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ตอนนั้น มันหลังพฤษภา 2535 มาแล้ว มันมีจุดเปลี่ยน พอทหารเข้ากรมกองไป แล้วมีเลือกตั้ง ได้รัฐบาลชวน หลีกภัย คนนึกว่าจะดี แต่สุดท้ายก็คือคนอกหัก เพราะตอนนั้น คนคิดว่า ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายเทพ ฝ่ายประชาธิปไตย แต่นโยบายหลายอย่าง เรื่องกระจายอำนาจ สัญญาไว้แล้วก็ไม่ทำ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ตอนนั้น ประชาธิปัตย์เป็นคนรับปากก็ไม่ทำ แล้วก็มาเกิด สปก.4-01 อีก คอร์รัปชั่น คนก็อกหัก
ต่อมา รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็มีเรื่องคอร์รัปชั่น รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ สุดท้ายก็วิกฤต ค่าเงินบาท วิกฤตเศรษฐกิจ
คือมันเป็นช่วงที่ต่อเนื่อง 5 ปี ที่ตอนนั้นทหารเงียบไปเลยจริง ๆ ก็เลยไม่ใช่ผู้ร้ายแล้วไง ต้องเข้าใจ ตอนนั้นเปิดข่าวทุกวันก็เห็นแต่นักการเมือง
บรรยากาศโดยทั่วไปก็เลยเป็นเรื่องของนักการเมือง คอร์รัปชั่น แย่งชิงอำนาจ ในสภา อะไรแบบนี้ แล้วก็อายุสั้น คืออยู่ยังไม่ครบวาระก็ยุบสภา ลาออก อยู่กันคนละ 1 - 2 ปี คนก็เลยไม่มีความหวัง ไม่มีการผลักดันนโยบายอย่างแท้จริง รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
การเลือกตั้ง 2 ครั้งที่เปลี่ยนทิศทางประเทศ
ประจักษ์ ก้องกีรติ: จริง ๆ ก็ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นแหละ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เป็น turning point (จุดเปลี่ยน - กองบรรณาธิการ) ของการเมืองไทย คือผมมองว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการเลือกตั้งที่สำคัญ แล้วเป็น Disruption 2 ครั้ง ก็คือ การเลือกตั้งปี 2544 กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ปี 2566 สองครั้งในความหมาย Disruption การเลือกตั้งอื่นๆ เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมเนียม ตามจังหวะเวลา routine ไม่ได้ไปพลิกเปลี่ยนอะไรมาก แต่ 2 ครั้งนี้เปลี่ยนทิศทางของประเทศ ของการเมืองไทย
จุดเปลี่ยนยุคการเลือกตั้ง 2566 (2023)
ประจักษ์ ก้องกีรติ: ตอนปี 2562 เราเริ่มเห็นร่องรอยสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงบางอย่างแล้วแต่มันยังไม่ชัด เราเห็นแล้วว่าคลื่นเริ่มก่อตัว แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่า สุดท้ายจะเป็นคลื่นใหญ่หรือเปล่า หรือสุดท้ายอาจจะซัดเข้าชายฝั่งก็ได้ เป็นคลื่นเล็ก ๆ แค่นั้น
แต่พอมาเกิดการเคลื่อนไหวของเยาวชนต่อเนื่อง 2 - 3 ปี แล้วผลการเลือกตั้งครั้งนี้มันชัดเจนว่า สัญญาณที่เราเห็นตอนปี 2562 เป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงจริง แต่เราอ่านมันไม่ออกแค่นั้นเอง
ตอนนี้ชัดเจนแล้ว คลื่นก่อตัวกลายเป็นสึนามิจริง ๆ แล้วตอนนี้เรากำลังอยู่กับอาฟเตอร์ช็อก ความชุลมุนปั่นป่วนวุ่นวายทั้งหลาย เพราะว่ามันผิดแผนของทุกฝ่ายไปหมด โดยเฉพาะชนชั้นนำ ก็ไม่ได้คิดว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบนี้ ก็ปวดหัวตอนนี้ เหมือนหมากในกระดานที่วางไว้ไม่ได้เป็นไปตามนั้น จะไปอย่างไรต่อ แต่จะล้มกระดานก็ไม่ง่าย เพราะคลื่นนี้มันใหญ่เหลือเกิน