12 พ.ค. 2566 | 14:15 น.
- ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ นักการเมืองที่ผ่านการติดคุกมาแล้ว 3 สมัย การเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงถูกจดจำในหลายแง่มุม
- หลังจากผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง ในวันนี้ เขามีบทบาทเป็นผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ยังคงคลุกคลีกับงานบนเวทีปราศรัย
The People สัมภาษณ์ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ นักการเมืองผู้มาจากนักพูดในยุครายการ ‘โต้คารมมัธยมศึกษา’ ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย มีตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย
ผ่านการเป็นโฆษกรัฐบาล 1 สมัย ส.ส. 1 สมัย รัฐมนตรี 2 สมัย และติดคุก 3 สมัย
คำปราศรัยในอดีตของเขากลายเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จากยุคที่คนเสื้อแดงต่อสู้เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม
ณัฐวุฒิ เล่าว่า ตั้งชื่อลูกว่า นปก และ ชาดอาภรณ์ ซึ่งหมายถึงคนเสื้อแดง ด้วยความภาคภูมิใจและบอกตัวเองว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะหักหลังหรือทรยศต่อขบวนการต่อสู้นี้ไม่ได้
The People : 22 ปีเวทีการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ครั้งแรกปี 2544
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ผมลงเลือกตั้งภายใต้กติการัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อปี 2544 อายุ 25 ปีเศษถือว่ามีคุณสมบัติลงเลือกตั้งได้ ทีแรกก็มาเสนอตัวที่พรรคไทยรักไทย เพียงแต่ว่าพรรคบอกว่าในพื้นที่มีตัวผู้สมัครแล้ว ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ก็เลยไปที่พรรคชาติพัฒนา
มาที่พรรคไทยรักไทยตั้งแต่แรก เพราะว่าเห็นกระแสนิยมนายกฯ ทักษิณ เห็นกระบวนการทำงานในช่วงของการก่อตั้งพรรคเกิดเป็นความสนใจและเชื่อว่าพรรคการเมืองนี้น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมไทย แต่พอไม่ได้ลงที่นี่ ความตั้งใจเดิมก็ยังอยู่ จึงไปที่ชาติพัฒนาก็ไม่ได้รู้จักใคร มาไทยรักไทยก็ไม่ได้รู้จักใคร เข้าไปเสนอตัวเฉยๆ เลยพิมพ์ประวัติ 3-4 เล่มไปนั่งรออยู่ 2-3 ชั่วโมงถึงจะได้เข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค แล้วก็อธิบายตัวตน นำเสนอประวัติ สุดท้ายก็ได้รับมอบหมายให้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ 4 นครศรีธรรมราช อำเภอสิชล อำเภอขนอม อำเภอท่าศาลา เหตุผลสำคัญที่ได้เป็นผู้สมัคร คงเป็นเพราะว่า พรรคชาติพัฒนาเขาไม่มีใครลง ก็มีผมซึ่งเป็นเด็กใหม่
ตอนที่หาเสียงใช้วิธีการตั้งเวทีปราศรัยเป็นหลัก บวกกับการเดินพบปะพี่น้องประชาชน ผลคะแนนออกมาปรากฏว่า ผมได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของพรรคชาติพัฒนา ภาคใต้
หมายความว่า ผู้สมัคร ส.ส.เขต ตั้งแต่ชุมพร ไปจนถึงนราธิวาส พรรคส่งครบ แล้วผมได้คะแนนมากที่สุด
พรรคชาติพัฒนาก็เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาลกันไปได้สักพักหนึ่งก็มีทีมงานของคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โทรมาตามว่า คุณสุวัจน์ เชิญไปรับประทานอาหารเช้าที่บ้านราชวิถี 20 ผมก็ไปแต่เช้า เขาก็เรียกเข้าไปห้องประชุมบ้านคุณสุวัจน์ซึ่งเต็มไปด้วยส.ส.และรัฐมนตรีของพรรคเวลานั้น
แกก็ถามว่า "น้องนี่เหรอที่อยู่นครฯ" แกบอกว่า สนใจอยากเห็นว่าเด็กหนุ่มที่ไหนสู้กับประชาธิปัตย์ได้แบบนั้นที่นครศรีธรรมราช ถามว่าน้องทำอย่างไร ผมก็บอก ผมเปิดเวทีปราศรัยครับ
แกก็งงใหญ่ว่า เอ๊ะ ปักษ์ใต้นี่ พื้นที่ปราศรัยเวทีประชาธิปัตย์นี่ พื้นที่ประชาธิปัตย์ น้องสู้แบบนี้เหรอ ผมบอก "ครับ"
หลังจากนั้นก็ได้รับเกียรติแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ตั้งแต่วันตั้งเป็นที่ปรึกษาถึงวันนี้ยังไม่เคยปรึกษาอะไรกันเลยนะครับ (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจได้ล่ะ ก็เป็นกระบวนการของพรรคการเมืองที่อยากจะให้บุคคลากรที่พอจะมีศักยภาพอยู่บ้าง ได้เข้ามามีส่วนร่วม ก็ให้เป็นที่ปรึกษา
เป็นที่ปรึกษาอยู่ดีๆ เขาก็มารวมกับพรรคไทยรักไทยโดยไม่ได้ปรึกษาผมด้วยนะครับ แล้วผมก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะถามไปที่เจ้าหน้าที่พรรคชาติพัฒนาว่า เอ๊ะ ถ้าเขารวมกันแบบนี้ แล้วผมที่เคยลงสมัคร ส.ส. เขตของชาติพัฒนาจะได้ลงเขตของไทยรักไทยเลยหรือไม่
เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่เกี่ยวกัน คือเขารวมกันมีส.ส.มีรัฐมนตรีกัน ส่วนผู้สมัครฯ ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ผมก็พิมพ์ประวัติอีกและมาเสนอตัวที่พรรคไทยรักไทย
รอบปี 2548 คราวนั้นกระแสนิยมพรรคไทยรักไทยสูงมาก แต่ละเขตมีผู้เสนอตัวลงสมัคร 4-5 คน เขตผมก็ 4-5 คน สุดท้ายทางพรรคก็มีการทำโพล์สำรวจ ปรากฏว่า เวลานั้น ผมมาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผู้สมัครของพรรคไทยในปี 2548 พอพรรคไทยรักไทยตั้งรัฐบาล คุณภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ชวนผมไปเป็นคณะทำงานด้วย สุดท้ายต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 2549
ก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร นายฯ ทักษิณยุบสภา ผมก็เป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ แบบบัญชีรายชื่อแล้ว (เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549) ในลำดับที่ได้เป็น ส.ส. แน่ๆ คือลำดับที่ 99 (หัวเราะ) เพราะว่าเวลานั้น พรรคใหญ่ลงพรรคเดียว พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายค้านหลายพรรคเขาบอยคอตการเลือกตั้ง ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคตอนนั้นก็เห็นว่าผมไปช่วยเป็นทีมปราศรัยล่วงหน้าให้นายกฯ ทักษิณ ช่วยงานการเมืองในพรรค จึงให้ลงตำแหน่งที่ได้แน่ๆ ลำดับ 99 หรือจะ 98 นี่แหละ ราวๆ นั้น (หัวเราะ)
ก็เลือกตั้งเสร็จ ได้เป็นผู้แทนเหมือนกันนะครับ คือไปรายงานตัวที่รัฐสภา ได้บัตรประจำตัวมาแล้ว แล้วก็ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคใต้ในฐานะส.ส. หนึ่งงาน เป็นงานที่ชาวบ้านเขาจัดแล้วเขาเชิญไป เราเป็นส.ส. แล้วนี่ แต่พอกลับมา การเลือกตั้ง (ถูกศาลวินิจฉัย) เป็นโมฆะเลย ก็ถือว่า ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. แล้วก็มีการรัฐประหาร 19 กันยา 2549
The People : เคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : เป็นคนกลุ่มแรกที่เดินเข้ามาที่พรรคไทยรักไทยในวันรุ่งขึ้น คือรัฐประหารคืน 19 กันยา 2549 วันที่ 20 กันยา พวกผมก็มากันเลย แล้วถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเหมือนกันวันนั้น เพราะว่า ผมตามคุณวีระ มุสิกพงศ์มาที่นี่ แล้วคุณวีระ ก็ขึ้นไปนั่งโต๊ะแถลงข่าวของพรรค ประกาศว่า พวกเราไม่ยอมรับการรัฐประหาร แล้วพวกเราจะต่อสู้กับคณะนี้
คำว่าพวกเรานี่ ผมหันไปหันมา มันรวมผมด้วยนะครับ โดยที่มีพี่วีระ ผม คุณจตุพร หลักๆ มากันเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นก็ตามจักรภพ เพ็ญแข ก่อแก้ว พิกุลทอง อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ใครต่อใครรวมตัวกันมาเรื่อยๆ จนไปเป็นเวที พีทีวี ที่สนามหลวง แล้วก็เป็น นปก.
The People : ความสัมพันธ์ นายกฯ สมัคร สุนทรเวช
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ต่อมาก็มีการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ยุคพลังประชาชน นายกฯ สมัคร
ผมก็เป็นผู้ปราศรัยที่ ว่าที่นายกฯ สมัคร ให้ปราศรัยก่อนหน้าท่าน เวลานั้นท่านนายกฯ สมัคร ท่านจะให้ความสำคัญกับเวทีปราศรัยมาก เพราะว่าท่านเป็นตำนานบนเวทีปราศรัย เพราะฉะนั้น เวลาท่านเดินทางไปแต่ละเวที กะเวลาก่อนถึงเวที 20-30 นาที ท่านจะโทรมาเช็คแล้วว่า "เอ้าโทรไปดูซิว่าใครปราศรัยอยู่ ถ้าเป็นคุณณัฐวุฒิปราศรัยอยู่ก็ให้ปราศรัยต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าผมจะไปถึง ถ้าคุณณัฐวุฒิยังไม่ได้ขึ้น ก็บอกคนที่พูดอยู่ ลงได้แล้ว เอาณัฐวุฒิขึ้น เดี๋ยวผมจะไป" ผมก็ต้องปราศรัยก่อนท่านทุกเวที
เลือกตั้งเสร็จ น่าจะวันที่ 2 มกราคม 2551 พี่วีระก็พาพวกผม มีจตุพร จักรภพ ผม ไปสวัสดีปีใหม่ท่านนายกฯ สมัคร ท่านนายกฯ สมัคร ก็บอกว่า "คุณจักรภพ คุณเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว คุณจตุพรเป็น ส.ส. เหลือคุณณัฐวุฒิ" แกบอก "คุณณัฐวุฒิ ผมหมายตาคุณไว้นะ คุณต้องมาเป็นโฆษกรัฐบาลให้ผม" แกบอกว่า "นานหลายปีมาแล้วที่ผมไม่เคยเห็นเด็กหนุ่มที่ไหนทำได้แบบนั้นบนเวทีท้องสนามหลวง" หมายถึงว่า การปราศรัยปิดท้ายของพรรคพลังประชาชนที่สนามหลวง ท่านนายกฯ สมัคร บอกว่า "คืนนั้น ถ้ามีตุ๊กตาทอง 2 ตัว ต้องเป็นของคุณ 1 ตัว" ผมก็ไม่ได้ถามต่อแล้วอีกตัวของใครนะครับ ก็คงเป็นของท่านล่ะมั้ง
ผมก็ภูมิใจมากเพราะว่า สมัคร สุนทรเวช บนเวทีปราศรัยไม่เป็นสองรองใคร เป็นตำนานหนึ่งแน่ๆ แต่วันนั้น ท่านนายกฯ สมัคร บอกว่า เห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งทำได้แบบนั้นบนเวทีสนามหลวง ก็เป็นความภูมิใจ กลับบ้านมาก็ถามตัวเองว่า ถ้าเป็นโฆษกรัฐบาล ต้องทำงานยังไง เพราะนายกฯ ชี้แล้วนี่ว่าให้เป็นโฆษกรัฐบาล
ปรากฏว่า มีความเห็นหลากหลายในพรรค บางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ผมทำหน้าที่โฆษก ท่านนายกฯ สมัคร ก็ยังไม่ตั้งใคร ก็ให้คุณจักรภพเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ตำแหน่งโฆษก คาไว้แบบนั้นยังไม่ตั้งโฆษกรัฐบาล จนเริ่มมีความตึงเครียดในระหว่างผู้ใหญ่ในพรรคหลายๆ ท่าน ก็เลยมีการพูดคุยกับผมให้ผมรับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลเถอะ ทุกอย่างมันจะได้เดินไปข้างหน้า
ผมก็ตอบรับนะครับ ไปเรียนท่านนายกฯ สมัครว่า ผมยินดีที่จะเป็นรองโฆษกรัฐบาลครับ แล้วอยากจะให้งานมันเดินหน้า ทุกคนจะได้สบายใจก็เลยทำหน้าที่รองโฆษกรัฐบาล แต่ว่าเป็นรองโฆษกรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีใช้งานตรงตลอด มีอะไรบางทีท่านโทรเอง โทรมาสั่งเอง "คุณณัฐวุฒิ คุณดูเรื่องนี้ เขาพูดเรื่องนี้ จัดการชี้แจง" ผมก็ทำหน้าที่
ท่านให้พาคนไปพบท่านที่บ้าน เย็นๆ ค่ำๆ ท่านก็จะให้ผมพาไป เพราะท่านก็จะเป็นคนที่สนใจความเคลื่อนไหวต่างๆ ท่านอยากคุยกับคนกลุ่มไหน ท่านก็จะบอกผม “คุณไปติดต่อคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มนี้ เข้ามาพบผม” ผมก็ทำ ท่านจะใส่ใจรายละเอียดของคนทำงาน ถามว่าใส่เสื้อไซส์อะไร แล้วบางทีท่านเดินห้างเอง แล้วซื้อมาให้ แล้วเรียกจากห้องทำงานรองโฆษก ขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้า แล้วไปลองเสื้อให้ท่านดู "เอ้าๆ ผมไปเดินห้างมา ผมไปซื้อเสื้อมาให้คุณ ลองๆ เลย คุณลองตรงนี้เลย" พอใส่ปั๊บ ใส่ได้พอดี ท่านก็หัวเราะชอบใจ "โอ้ พอดีเลย พอดีเลย" ท่านก็จะน่ารักแบบนั้นนะครับ
The People : โฆษกรัฐบาล ยุคนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : พอหลังยุคนายกฯ สมัคร ท่านนายกฯ สมชายก็มอบหมายให้ผมทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ทีนี้เป็นตัวจริงแล้ว เพราะสถานการณ์มันกำลังเข้มข้นมาก พันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล เราเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้เข้าไปทำงานในทำเนียบกับท่านนายกฯ สมชาย
The People : ส.ส.สมัยแรกและรัฐมนตรี 2 กระทรวง ยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หลังจากพ้นตำแหน่งไปพร้อมๆ กับรัฐบาลนายกฯ สมชาย ผมก็กลับมายืนเต็มตัวในฐานะแกนนำนปช. มีการเคลื่อนไหว มีการชุมนุมใหญ่ทั้งปี 2552-2553 แล้วก็ไปยืนเต็มตัวในฐานะผู้ต้องขังอยู่ 9 เดือน ก่อนติดคุกรอบนั้น เมื่อปี 2550 ติดคุกไปรอบหนึ่งสิบกว่าวัน พอปี 2553 ติด 9 เดือน กลับออกมาก็พอดีเลือกตั้ง คุณอภิสิทธิ์ยุบสภา
ผมก็ทำหน้าที่ผู้ปราศรัยให้กับว่าที่นายกฯ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 49 วันไปกันทุกเวทีทุกจังหวัด จนได้รับเลือกตั้ง ตอนนั้นเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ เปลี่ยนจากลำดับเก้าสิบเก้า เก้าสิบแปด มาเป็นลำดับ 9 ก็ได้ทำหน้าที่ในสภา
ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 เมื่อมีการปรับครม. ผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากรัฐมนตรีช่วยเกษตร ก็ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จนมีการยุบสภา มีการรัฐประหาร (2557) ก็ติดคุกอีกครั้ง (2563) คราวนี้หกเดือนกว่า ออกมาติดกำไลอีเอ็ม ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (2566) ก็มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยจนถึงปัจจุบันนี้
The People : ติดคุกมาแล้ว 3 สมัย
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : เป็นโฆษกรัฐบาล 1 สมัย เป็นส.ส. 1 สมัย เป็นรัฐมนตรี 2 สมัย ติดคุก 3 สมัยแล้ว (หัวเราะ) ติดคุกเนี่ยแซงการดำรงตำแหน่งอื่นๆ ไปแล้ว ก็เป็นเส้นทางที่ผมไม่ได้คิดมาก่อนว่าผมต้องมาทำอะไรขนาดนี้ ผมเพียงอยากเป็นผู้แทนราษฎร เป็นเด็กบ้านนอกที่สนใจการเมืองแล้วอยากทำงานนี้เท่านั้นเอง แต่เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง แล้วก็มาเป็นปัจจุบัน ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าผมต้องทำสิ่งนี้ ผมต้องอยู่ในขบวนการต่อสู้ จะเป็นหรือไม่เป็นผู้แทน เป็นหรือไม่เป็นรัฐมนตรี สำหรับผมวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่
แต่ว่าเป็นตัวผมเป็นณัฐวุฒิอย่างที่เป็น สำหรับผม ผมว่าสำคัญที่สุดเพราะว่า ความเป็นณัฐวุฒิอย่างที่เคยเป็นมา มันคือการรักษาการต่อสู้ คือการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชนที่เขาสู้ด้วยกันมา ในนามของคนเสื้อแดง ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่อะไร เก่งกาจกล้าหาญอะไร ไม่มี ผมไม่เคยพูดแบบนั้น เพียงแต่ ผมต้องทำหน้าที่ปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
ดังนั้น ก็เลยคิดว่า การรักษาจุดยืนของเราไว้ อย่างน้อยที่สุดมันก็มีส่วนช่วยรักษาขบวนการต่อสู้ที่เดินด้วยกันมา
The People : สมัคร สุนทรเวช ในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ผมคิดว่านั่นเป็นทัศนะ นั่นเป็นท่าทีของท่านต่อเหตุการณ์นั้น ซึ่งวันเวลาก็ผ่านมาจนถึงในช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัสท่าน เป็นอีกสถานะหนึ่ง อีกบทบาทหนึ่ง แล้วก็อีกสถานการณ์หนึ่ง ผมเห็นนายกฯ สมัคร อย่างที่ผมสัมผัส เห็นนายกฯ สมัคร อย่างที่ตัวท่านเป็น แล้วก็ในช่วงเวลาที่ผมได้ทำงานกับท่าน เป็นช่วงเวลาที่ 'คนเดือนตุลา' หลายคนก็อยู่ในรัฐบาล อยู่ในพรรคการเมืองที่เราสังกัด แล้วคนเดือนตุลาเหล่านั้น ก็ให้การยอมรับบทบาทและความเป็นนายกฯ สมัคร ณ เวลาปัจจุบัน ผมก็เลยคิดว่า สิ่งที่ผมได้สัมผัสท่าน ได้เจอท่าน ได้ทำงานร่วมกับท่าน นั่นเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่าสำหรับผมในเวลานั้น
The People : บทบาทของ สมัคร สุนทรเวช ยุค 6 ตุลา 2519 ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์บรรทัดนั้นของตัวเอง แต่อย่างที่เรียนว่า ผมเนี่ย ได้มาสัมผัสท่านในภายหลัง
The People : ถูกยุบพรรคมาแล้วกี่ครั้ง
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : สามครั้ง ทำแฮตทริกไปแล้ว ไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ถ้านับดีๆ ก็จะสี่พรรคแล้ว เพราะชาติพัฒนาก็ยุบรวมไทยรักไทยรอบหนึ่ง
มันก็เป็นเส้นทางที่อธิบายความไม่ปกติ ความไม่ชอบธรรม และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยชัดเจนมาก เส้นทางที่ผมเดินมา คือมันจะเป็นไปได้ยังไงในช่วงเวลาสิบกว่าปี จะมีพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลถูกยุบแล้วยุบอีก มีการรัฐประหาร 2 รอบ มีอะไรต่างๆ นานาเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาที่ผมเดินเข้ามาสู่การเมือง มันทำให้การเมืองของผมอยู่นอกสภามากกว่าในสภา แล้วการเมืองของผม กินนอนอยู่กับประชาชนมากกว่าที่จะคลุกคลีกับนักการเมืองอื่นๆ โดยทั่วไป
The People : เกิดมาเจอรัฐประหารแล้ว 4 ครั้ง
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : รัฐประหารปี 2519 ผมยังอยู่ในเปล อายุ 1 ขวบ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาหรอก รัฐประหารปี 2534 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 'พฤษภา 35' ตอนนั้นเรียนมัธยมปลาย ก็มีความรู้สึกต่อต้านมากๆ กับการทำรัฐประหารคราวนั้น คือผมไม่ได้ผูกพันอะไรกับรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย แต่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการที่เอารถถังมายึดอำนาจกัน เขามีการชุมนุมในเหตุการณ์ 'พฤษภา 35' ผมยังเรียนอยู่ที่นครศรีธรรมราช ไม่ได้มาร่วมอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ว่าไปร่วมชุมนุมที่สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลายครั้ง ไม่เคยได้ขึ้นปราศรัยอะไรกับเขา ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้รู้จักใครบนเวที แต่ไปเป็นตัวเพิ่มจำนวน
ออกจากบ้านก็นุ่งกางเกงวอร์ม ใส่เสื้อยืดรองเท้าผ้าใบกระชับรัดกุมเผื่อมีเรื่อง ไปนั่งชุมนุมกับเขาตั้งแต่เย็น ยันดึกจนเลิก กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ไปใหม่ เป็นผู้ชุมนุม แล้วก็พอรัฐประหาร 2549 ทีนี้ เป็นแกนนำชุมนุมเองแล้ว
รัฐประหาร 2557 นี่ไปกันใหญ่เลย กลายเป็นคนที่อยู่ในวินาทีที่ยึดอำนาจ กลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับร่วมกับอีกหลายๆ คนที่สโมสรกองทัพบก
The People : ตอนถูกจับกุม เป็นอย่างไร
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ขั้นตอนการจับกุมเขาก็ไม่ได้แจ้งกำหนดการล่วงหน้านะครับ คือเขาจับเลย พอพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แกก็ลุกออกจากโต๊ะ แล้วทำท่าจะเดินออกไปนอกห้องประชุม
พอเดินไปถึงหน้าประตูห้องประชุม แกก็หันกลับเข้ามาชี้เข้ามาในห้อง "ห้ามใครออกไปไหนนะ" ผมก็นึกในใจ ใครจะออกไปไหนได้ ทหารเต็มไปหมด อาวุธครบมือ แล้วประกบเป็นคน เข้าใจว่ามันมีการเตรียมการทางยุทธวิธีไว้แล้วว่าจุดไหนคุมตัวใคร ผมก็ได้รับเกียรติสัก 5 - 6 คน ยืนถือปืนอยู่รอบตัวไปหมด แล้วก็คุมตัวไปทีละชุด ทีละชุด
The People : ถูกคุมตัว ปิดตา หลังรัฐประหาร 2557
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ปิดตาบนรถ ตอนอยู่ในห้องประชุมยังเห็นภาพเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ แต่ว่าตอนเขาเอาออกจากห้องประชุม ลงมาขึ้นรถตู้ บนรถตู้เขามัดมือด้วยสายรัดมือที่เป็นพลาสติก แล้วก็เอาถุงดำคลุมหัว ผมก็พยายามจะจับเส้นทาง พยายามจะประเมินระยะเวลานั่งรถเนี่ย ว่าเขาพาไปทางไหน พาไปประมาณไหน เพราะเลี้ยวไปเลี้ยวมา
ลงจากรถเขาก็จูงไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ทั้งๆ ที่ยังมัดมือและคลุมหัวอยู่ แล้วพอเฮลิคอปเตอร์จอด เขาจูงมือลง รู้สึกได้ว่าฝนตกพรำๆ เพราะว่าร่างกายโดนฝน ผมก็พยายามเดินลากเท้า ก็รู้สึกว่าเดินอยู่บนสนามหญ้า จากเฮลิคอปเตอร์เขาก็เอาขึ้นรถอีกทีหนึ่ง เพื่อพาไปเข้าในห้องนอน
ผมได้รับเกียรติพิเศษสุด ขังในห้องท่อประปา ถ้าเรานึกออกสถานที่ราชการต่างจังหวัดจะมีแทงก์ประปาสูงๆ ในแทงก์ประปาสูงๆ ข้างล่างสุดจะเป็นห้องเก็บเครื่องมือ ผมอยู่ในห้องนั้น ไม่มีหน้าต่าง มีหลอดไฟดวงเดียว แล้วตรงกลางห้องก็จะมีท่อประปา เป็นเหล็กยาวทะลุขึ้นไป เขาก็เอาเตียงสนามเป็นเตียงเหล็กไปวางไว้ข้างท่อนั้น แล้วผมก็นอน
ห้องนั้นไม่ใช่ห้องสำหรับคนนอน แต่ว่าผมได้รับเกียรติ ห้องน้ำก็ไม่มีเพราะห้องประมาณสามคูณสามเมตร คืนแรกคือคืนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เขาเอาผมไปอาบน้ำ เป็นห้องน้ำที่ไม่น่าจะมีการใช้งานแล้ว เดินออกจากแทงก์ประปาไปประมาณ 20 เมตร ประตูก็พังๆ ปิดไม่ได้ แล้วก็มีขัน
ขันใบนั้นน่าจะผ่านสงครามโลกมาแล้ว มันเยินมาก แตกทะลุหมด แล้วก็ห้องน้ำเตี้ยๆ แล้วก็มีถังที่น่าจะผ่านสงครามอ่าว เพราะแตกพังหมด ผมตักน้ำอาบก็ต้องเอามือช้อนไปด้วยเพราะขันมันรั่ว ก็อาบน้ำ โดยมีทหารยืนเฝ้าหน้าห้อง นั่นคือคืนแรก
เช้ามามันร้อนมาก ผมพยายามวัดระยะ เพราะผมคิดว่าอาจจะถูกขังในนั้นเป็นปี วัดระยะ ผมทำอะไรได้บ้างก็วิดพื้นได้ กระโดดตบได้ แค่นั้น ไม่มีหน้าต่าง แต่จะกระโดดตบได้ยังไงพอยิ่งสายยิ่งร้อน ผมก็ถอดเสื้อถอดกางเกงเหลือแต่กางเกงในนั่งอยู่ แล้วเหงื่อท่วมตัว นึกในใจว่าอาจจะตายได้ คือ ไม่ได้ตายเพราะตรอมใจหรืออะไร แต่ตายโดยสภาพ เพราะไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้
สักสิบเอ็ดโมงเศษๆ ทหารก็เคาะประตู บอกว่า ให้เตรียมตัวนะครับ เดี๋ยวจะพาเปลี่ยนที่นอนที่มันน่าจะดีกว่านี้ น่าจะ นะ
แต่ผมนึกในใจว่า ถ้าคุณหาที่ที่มันแย่กว่านี้ได้อีก ก็สุดยอดแล้วล่ะ ไม่รู้จะพูดคำไหนแล้ว เขาก็พาผมออกมา ไปอยู่ห้องสักหกคูณสี่เมตร มีห้องน้ำในตัว เป็นเหมือนห้องพักทหาร แต่ว่าก็ไม่ได้ติดแอร์อะไรนะครับ เป็นห้องพัดลม ก็ได้อยู่ห้องนั้น
พอเขาปล่อยตัวออกมา ผมก็ถามพรรคพวกว่าเขาพาไปไว้แบบไหน ทุกคนได้อยู่ห้องแบบนั้น (เหมือนห้องพักทหาร) ตั้งแต่คืนแรก มีผมคนเดียวที่เขาเอาไปไว้ในห้องแทงก์ประปาก่อน 1 คืน เป็นการรับน้อง ผมไม่เชื่อว่าไม่มีห้องว่าง
แล้วค่ายทหารทั้งค่าย คุณเตรียมการไว้แล้วว่าคุณจะยึดอำนาจจะเอาใครมาบ้าง แต่ว่าสำหรับผม เขาจัดให้พิเศษ
ก็อาจจะเป็นจิตวิทยา อาจจะเป็นเกมอะไรของเขานะครับ ซึ่งมันไม่ได้ผลสำหรับคนแบบผม แต่ว่า ถือว่าเมื่อเขาทำ เราก็ต้องเผชิญรับให้ได้ เขาจะมีวิธีการแบบนี้
The People : ทหารคุกคามครอบครัว จึงออกมาร้องเพลงให้ทหารฟัง
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ร้องเพลงแล้วเช้าวันต่อมา ผมเดินหาเองว่าทหารยังมาไหม ปรากฏไม่มา ตอนสายๆ ก็เห็น พ.อ.วินธัย สุวารี แถลงข่าวว่า คสช. ลดระดับการติดตามนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะนายณัฐวุฒิ ได้ใช้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สร้างกระแสในโลกออนไลน์
คือผมจะไปใช้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สร้างกระแสอะไร เขาจะมากดดันผม ผมก็ตอบโต้ด้วยวิธีการนั้น
เราต้องแสดงออกให้เห็นว่า การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม มันเป็นเรื่องน่าขำสำหรับคนที่ไม่กลัว แล้วก็ได้ผล คนดูกันเป็นล้านวิว เกิดเป็นไวรัลในช่วงเวลานั้น ที่เราออกไปร้องเพลงแล้วก็เต้นให้ทหารดูเนี่ยนะครับ
ผมเรียกว่ากวนตีนครับ เพราะว่า ผมถือว่าการมากดดันผมแบบนั้น มันไม่ให้เกียรติกันและคุณคุกคามผมคุกคามลูกเมียครอบครัวผม
จุดที่มันเป็นจุดตัดที่ผมต้องทำอะไรบางอย่างก็คือ เขาตามลูกผมถึงในโรงเรียน เช้าวันนั้นมีรถเก๋งทหารขับตามไปเลย ตามไปกระชั้นชิดเลยครับ แล้วน้องคนที่ขับรถให้แฟนผม เขาก็ดูกระจกหลัง เขาก็บอกมีรถคันนี้ตามมา ระหว่างที่เขาคุยกับแฟนผม ลูกๆ ผมก็ได้ยิน เขาก็ตกใจ ถามแม่ว่า แม่ แล้วเขาตามเรามาทำไม แม่ก็ไม่รู้จะตอบว่ายังไง ก็ตอบว่าเขาคงเห็นรถเราสวยมั้งลูก เขาเลยตาม ลูกชายผมบอก ไม่ใช่ รถแบบเรามีตั้งเยอะแยะ ทำไมเขาตามแต่ของเรา
แล้วตามไปถึงในโรงเรียนนะครับ รถผมจอด ลูกผมลงจากรถเข้าโรงเรียน รถคันนี้จ่อท้ายเลย แฟนผมก็ลงไปทุบกระจก แล้วก็บอกว่า ณัฐวุฒิอยู่ที่บ้าน ณัฐวุฒิไม่ได้อยู่นี่ นี่ลูกเขามาโรงเรียน กลับไปตามณัฐวุฒิโน่น อย่ามายุ่งกับลูกเขา กลับมาก็มาเล่าให้ผมฟัง
ผมก็เอ๊ะ มันเยอะไป คุณทำแบบนี้กับผมไม่ได้ เพราะผมไม่กลัวคุณ เย็นวันนั้นก็เลยออกไปร้อง ท.ทหารอดทน
สำหรับทหารจะเรียกยุทธวิธีอะไรก็ตามนะครับ แต่สำหรับผม ผมกวนตีน แล้วในที่สุด เขาก็ออกจากบ้านผมไป
มีหลายรูปแบบที่ผมเจอ ซึ่งถ้าเจอกับผม ผมไม่ค่อยสนใจ แต่ว่า ถ้ามาถึงลูกเมีย ถึงครอบครัว ผมว่าใช้วิธีการแบบนี้ไม่ได้ ผมไม่ใช่โจรผู้ร้าย ผมไม่ใช่ขบวนการค้ายาเสพติด จะมาคุกคามอะไรกับเด็กๆ ที่เขาไม่รู้เรื่อง หรือว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านดูแลลูก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เข้ามาในชีวิตผม มันมีสารพัดรูปแบบ
The People : ปืนกล รถจี๊ป จอดหน้าบ้าน
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : คืนหนึ่งหลังการรัฐประหาร แล้วก็ปล่อยตัวผมมาได้ไม่นาน ผมกินข้าวกับพรรคพวกในบ้าน ทหารสัก 50 คนได้นะครับ อาวุธครบมือมา ใส่เครื่องแบบมา แล้วก็มีรถจิ๊ป ที่มีปืนกลติดอยู่บนรถ นั่นน่ะรถจิ๊ปนั้นมาจอดหน้าบ้านผม แล้วกระบอกปืนกลหันเข้ามาในบ้าน แล้วทหารสัก 40-50 คน มาฝึกแถวอยู่หน้าบ้านผม แถวตรง แถวตอน เรียงห้าเรียงหกอะไรของมันก็ไม่รู้วิ่งอยู่หน้าบ้าน แล้วเพื่อนบ้านในซอยปิดไฟหมดเลย เขาตกใจไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็ออกมายืน ผมไล่ทุกคนเข้าบ้านหมด แล้วผมก็ออกมายืนอยู่คนเดียว แล้วทหารฝึกแถวกันอยู่
สักพักหนึ่งผมก็บอกว่า ท่านเจ้าหน้าที่ครับ ผมว่าต้องมีใครมาคุยกับผมสักคนหนึ่งว่าคุณจะเอาอะไร เพราะว่าคุณมากันแบบนี้ และทำแบบนี้อยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าคุณต้องการอะไร แล้วข้างในมีเด็กมีผู้หญิง
ก็มีทหารคนหนึ่งยังหนุ่มอยู่เลย น่าจะเป็นหัวหน้าชุด หรืออะไรเนี่ย มาถามว่าในบ้านมีอะไร ผมก็บอกว่ากินข้าวกันธรรมดา จะเข้าไปดูก็ได้ แต่ว่าเข้าไปคนเดียวนะ เพราะเข้าไปหมดไม่ได้ เด็กเขากลัว หลังจากนั้นไปฝึกแถวกันอยู่สักพักหนึ่งสบายใจแล้วก็กลับ เอารถจิ๊ป ปืนกล เอาอะไรต่ออะไรกลับไปด้วย เนี่ยไอ้แบบนี้ก็มี
เข้ามาในหมู่บ้านเอาปืนจี้รปภ.นอนราบกับพื้นเลยนะครับ หลังรัฐประหารปี 2557 จี้นอนคว่ำราบอยู่กับพื้น แล้วพอทหารออกไปจากหมู่บ้าน รปภ.ก็ร้องไห้ ขี่จักรยานไปเล่าให้ผมฟัง เขาก็ร้องไห้ เขาบอกว่า เขาแค่ทำหน้าที่เป็นรปภ.เขาไม่ได้รู้อะไรเลย แล้วทำแบบนี้กับเขาได้ยังไง เขาเป็นชาวบ้าน ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ปลอบใจ ให้กำลังใจกันไป
ไอ้ประเภทขับรถตาม แสดงตัว แสดงอาวุธ เยอะแยะไปหมด แต่อย่างที่บอก ถ้าทำกับผม ผมไม่สน แล้วก็สื่อสารไปตลอดว่าเราไม่กลัวกัน คือ เขาไม่มีเหตุผลอะไรต้องกลัวผมอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่มีหน้าที่จะกลัวเขาเหมือนกัน เราอยู่กันแบบนี้
The People : เสียงจากดินถึงฟ้า คำปราศรัย ดังอีกครั้งในการชุมนุมของเยาวชน ปี 2563
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : บางคนเรียกว่าเป็นบทกวี แต่ที่จริงไม่ใช่ เป็นการปราศรัยสดๆ นี่แหละ ไม่ได้มีการร่างขึ้นไว้ก่อน ไม่ได้มีการเตรียมการเป็นบท ไม่มีสคริปต์
เหตุการณ์วันนั้น คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ เราล้อมอาคารรัฐสภาไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะผลักดันเปิดประตู ผมเฝ้าอยู่นะครับ ดันกับผมอยู่สักประมาณตีสาม จนถึงบ่ายๆ จนคุณอภิสิทธิ์ไปแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศไปแล้วถึงเลิก เพราะฉะนั้น ผลักดันกันหลายรอบ
ผมอยู่ตั้งแต่ตีสามจนถึงบ่าย ไม่ได้นอนเลย จนตำรวจก็ถอยไป ไม่พยายามที่จะผลักดันประตูนั้นอีก ผมก็ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นการป้องกันด่าน ตอนนั้นเราเรียกกันสนุกๆ ว่าเป็นด่านมะขามเตี้ย เหตุการณ์ปลายปี 2551 ก่อนจะเข้าช่วงสิ้นปี ผมก็พอเสร็จภารกิจตำรวจพังด่านนั้นไม่ได้ ป้องกันด่านนั้นไว้ได้ก็ไปนอนหลับได้พักหนึ่งก็ตื่นมาที่หน้าสภาอีก เพราะเราปราศรัยปิดท้าย แล้วบอกประชาชนว่าแยกย้ายกันไปปีใหม่ หลังปีใหม่ค่อยว่ากันอีกที
ในช่วงของการปราศรัยตอนหนึ่งก็พูดออกมา พูดออกมาเพราะว่าผมรู้สึกว่ามันอยู่ในสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงถูกกระทำจากสารพัดอำนาจสารพัดวิธีการ แล้วความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรมนี้ ผมว่ามีความจำเป็นที่ฟ้าดินต้องรับรู้ ผมว่ามีความจำเป็นที่ผู้คนทั้งประเทศ ควรจะสนใจและทำความเข้าใจ ก็เลยเป็นคำปราศรัยอันนั้น จะสังเกตเสียงแหบๆ แห้งๆ เพราะผมตะโกนใช้เสียงในการดันอยู่กับตำรวจครึ่งค่อนวัน แล้วก็สภาพร่างกายยังอ่อนเพลียอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้นอน ข้าวก็ยังไม่ได้กินวันนั้น แล้วก็ขึ้นมาบนเวทีปราศรัย
มีคนตัดคลิปเฉพาะท่อนนั้น เผยแพร่กันไปมากจริงๆ แล้วก็มีการพูดถึง มีการวิเคราะห์อธิบายกันในทางสัญลักษณ์ ในหลายแวดวง หลายเวที มาทราบภายหลังว่า ในห้องเรียนคณะรัฐศาสตร์ของบางมหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์ มีการเอาคลิปนี้ไปเปิดในห้องเรียนแล้วก็วิเคราะห์กัน เป็นมุมในทางวิชาการ แต่ว่าก็เงียบหายไปตามกาลเวลา
ปี 2552 ก็มีเรื่องเสื้อแดงเข้มข้น ปี 2553 ก็เรื่องไพร่-เรื่องอำมาตย์ ส่วนเสียงจากดินถึงฟ้า ก็เป็นสิ่งที่มี แต่เหมือนกับว่าจะพล่าเลือนไปแล้วด้วยเวลา
วันหนึ่งผมอยู่ในคุก (ปี 2563) มีพี่น้องเสื้อแดงมาเยี่ยม เขาก็เล่าให้ฟัง ได้ยินทีแรกก็ตกใจว่า เฮ๊ย มันเกิดขึ้นได้เหรอ ประหลาดใจ แล้วก็ภูมิใจ ไม่ใช่ภูมิใจเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผมพูด ภูมิใจเพราะว่า ความเป็นคนเสื้อแดง การต่อสู้ของคนเสื้อแดง ได้ถูกเปิดรับจากคนหนุ่มสาว ได้ถูกพูดถึงกันในรั้วมหาวิทยาลัย รั้วสถาบันการศึกษา โดยที่นิสิตนักศึกษา เขาเรียนรู้เอง เข้าใจเอง และเลือกที่จะแสดงมันออกมาเอง เป็นความภูมิใจในมิตินี้
ก็น้ำตาไหลเหมือนกันนะครับ ผม พี่วีระ พี่วิภูแถลง หมอเหวง อยู่กันในคุก มีพายัพ ปั้นเกตุอีกคน เขาติดคุกรออยู่แล้วจากคดีอื่น เราเล่าสู่กันฟังเราก็น้ำตาไหล วันหนึ่งถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล ผมก็เลยบอกทีมงานว่า ที่มีกระแสเข้าใจคนเสื้อแดง ขอโทษคนเสื้อแดงเนี่ย ช่วยรวมมาให้ดูหน่อย ทีมงานก็ปริ้นท์มาปึกหนึ่ง เป็นคอมเมนท์จากทวิตเตอร์บ้าง เป็นโพสต์จากเฟซบุคจากอะไรก็แล้วแต่ที่คนหนุ่มคนสาวเขาเขียนมา
ผมก็เอาปึกนั้นมานั่งอ่านใต้ถุนศาลโดยมีทุกคนเป็นผู้ต้องขังล้อมวงฟัง ผมก็เปิดอ่านทีละแผ่น ทีละแผ่น ร้องไห้กันหมดเลย พี่วีระ หมอเหวง พี่วิภู ผม พายัพ ทุกคนไม่มีคำพูด แต่ว่าน้ำตาก็ไหลออกมา เพราะ อย่างที่บอก เขาบอกว่า เขาเข้าใจคนเสื้อแดง เห็นใจคนเสื้อแดง อยากขอโทษคนเสื้อแดง ซึ่งเราก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งนี้หรอก แต่ว่า เมื่อวันหนึ่งมันมาถึง แล้วถูกหยิบยื่นให้โดยคนหนุ่มคนสาว ก็เป็นเกียรติ ผมอยากให้เพื่อนพี่น้องที่ต่อสู้ร่วมกันเวลานั้น มวลชนทุกคนได้รับเกียรติเหล่านี้ ผมอยากให้คนที่ตายที่จากไปตั้งแต่การต่อสู้ปี 2552 - 2553 ได้รับเกียรติเหล่านี้
ผู้ต้องขังอื่นมองเข้ามาเห็นผมนั่งอ่านกระดาษเป็นปึกแล้วรอบๆ ร้องไห้ เขานึกว่าผมอ่านคำพิพากษา เขานึกว่า โห คงติดคุกอะไรกันเยอะแยะ อ่านแล้วร้องไห้ บางคนผมอ่านจบ ลุกขึ้นเดิน ผู้ต้องขังบางคนถามว่า พี่โดนคนละกี่ปีครับ นึกว่าที่ผมอ่านคือคำพิพากษา แล้วคงโดนหนัก ร้องไห้กันหมดเลย
ไม่ใช่ หรืออาจจะใช่ก็ได้นะ เป็นคำพิพากษา แต่ว่า ไม่ได้พิพากษาโดยศาล พิพากษาโดยคนหนุ่มสาว พิพากษาโดยนิสิตนักศึกษาว่า คนเสื้อแดงควรถูกพูดถึงแบบนี้ อย่างน้อยก็คือในทัศนะของพวกเขา
ผมไม่รู้สึกว่าเป็นเกียรติอันพิเศษ ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ผมว่า มันเป็นเกียรติของคนเสื้อแดง
สมัยก่อนคนเสื้อแดงก็คือ (ถูกเรียกว่า) พวกไร้การศึกษา พวกถูกล้างสมอง ทาสทักษิณ ม็อบไข่แม้ว พวกรับจ้าง ไม่มีพื้นที่ยอมรับในใจคนบางกลุ่มเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมเมือง แต่ว่า วันเวลา มันเป็นบทพิสูจน์เหมือนกันนะว่าขบวนการต่อสู้ที่ปรากฏขึ้นในห้วงสิบกว่าปีของความขัดแย้ง ขบวนการอื่นสิ้นสภาพไปหมดแล้ว แต่ขบวนการคนเสื้อแดงยังดำรงอยู่ แม้ว่าองค์กรนำอย่าง นปช. จะไม่อยู่แล้ว ไม่มีสภาพแล้วก็ตาม แต่ว่า ถ้าพูดถึงคนเสื้อแดง ยังจับต้องได้นะครับ ยังเห็นตัวตน ถ้าเราเทียบกับกลุ่มพันธมิตรฯ หรือเทียบกับกลุ่ม กปปส. ก็จะพบว่า แตกต่างกัน
สิบกว่าปีที่เราต่อสู้กันมา จากวันเวลาที่ยากลำบาก จากวันเวลาที่ถูกเขาเหยียดหยามดูแคลน มาถึงวันเวลาที่คนอีกส่วนหนึ่งเปิดใจรับมากขึ้น เข้าใจ เห็นใจ ผมว่าก็เป็นบทพิสูจน์อย่างสำคัญในทางหลักการว่า สิ่งที่เรายืนยันในการต่อสู้ ถึงที่สุดมันเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับว่ามันถูกต้อง เพราะฉะนั้น การปราศรัย เนื้อหาสาระหรือหลักการที่เราพูดตั้งแต่เวทีแรกๆ ยังคงเป็นจริงจนถึงปัจจุบัน และยังพูดเหมือนเดิมได้จนถึงปัจจุบัน อันนี้คือ วิถีของความเป็นคนเสื้อแดง
แล้วพอเกิดการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว คนเสื้อแดงจำนวนมากก็อยู่ในนั้น เพียงแต่ว่า แรกๆ เขาไปร่วมแบบเก้ๆ กังๆ หน่อยมั้ง ตอนผมอยู่ในเรือนจำ เพราะว่า คนที่เขาไปเยี่ยมผม เขาบอกว่า ไปช่วยดูแลลูกๆ หลานๆ นี่แหละ แต่ว่าไม่กล้าเข้าไปใกล้เด็กๆ มากหรอก กลัวเขารังเกียจคนเสื้อแดง กลัวเขาไม่อยากให้คนเสื้อแดงเข้าไปยุ่ง จนเมื่อหลายๆ เวที เขาประกาศเรียกหาคนเสื้อแดง เขาเชิญชวนคนเสื้อแดงไปร่วมต่อสู้ด้วย ก็ปรากฏชัดขึ้นครับ
The People : พบแกนนำผู้ชุมนุมปี 2563 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ปี 2563 อานนท์ เพนกวิน ไผ่ ไมค์ เข้าเรือนจำ ผมไม่เคยรู้จักน้องๆ กลุ่มนี้นอกจากอานนท์ เพราะอานนท์ เขาเป็นทนายความในคดีก่อการร้ายให้กับจำเลยคนอื่น ส่วนน้องๆ คนอื่นๆ ไม่เคยเจอกัน แต่เขาก็ดีนะ เขาทำงานมวลชนละเอียด เข้าไปเจอผมที่ข้างใน ติดคุก คือ อยู่ข้างนอก ผมไม่มีโอกาสเจอเขา เขาก็เลยเข้าไปให้เจอซะข้างในเลย ครบเลย
อานนท์เนี่ย คืนแรกที่เข้ามา คือผมต้องขึ้นเรือนนอนก่อน ผมก็จัดแปรงสีฟัน สบู่ กางเกง ผ้าเช็ดตัว คือข้าวของที่ผมหาได้ ก็เตรียมมาให้อานนท์หมด แล้วบอกน้องผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ว่าเดี๋ยวทนายอานนท์มา เอาของนี้ให้เขานะ แล้วก็บอกว่าพี่เต้นฝากมา แล้วบอกพรุ่งนี้เช้าเราเจอกัน
พอเช้า เขาเบิกตัวอานนท์ลงมาก่อน รอทำประวัติ แล้วก็เบิกตัวพวกผมลงมาทีหลัง เห็นอานนท์นั่งชะเง้อคอ มองโน่นมองนี่ ผมก็ตะโกนบอกว่า เฮ่ย เอ็งตามมาเยี่ยมพี่ถึงในนี้เชียวหรือวะ อานนท์เขาหันมาเห็นผมแล้วก็ยกมือไหว้แล้วยิ้ม คงมองหาอยู่ว่าพี่อยู่ไหนวะ
อานนท์เข้าไปพร้อมไมค์รอบแรกนะ แล้วหลังจากนั้นก็คง ชวนๆ กันมา เพนกวิน ไผ่ แอมมี่ หมอลำแบงค์ เอกชัย พี่สมยศ ใครต่อใคร ช่วงนั้นเข้ากันไปเยอะ
เขาก็ถามถึงประสบการณ์ที่เราเคยต่อสู้มา เขาก็ถามถึงมุมมอง ของเราต่อเหตุการณ์ต่างๆ ผมก็ตอบไปเฉพาะที่เขาถาม เพราะพูดกับน้องๆ เสมอว่า ถ้าพวกน้องถาม พี่ถึงพูดนะ จะให้พี่พูดขึ้นมาเอง พี่ไม่ทำ เพราะพี่ถือว่า นักต่อสู้มันต้องเคารพกัน ไม่ได้หมายความว่าน้องอายุน้อยกว่าแล้วพี่อายุมากกว่าพี่มีหน้าที่พูดให้น้องฟัง ไปอบรมไปสั่งสอน ไม่ได้
คนเราเมื่อออกมายืนอยู่บนเวทีต่อสู้ หนึ่งชีวิตคุณค่าเท่าเทียมกัน เราต้องเคารพกันในจุดนี้ แต่ถ้าเขาถาม ผมก็บอก เขาก็จะเรียกว่าประหลาดใจก็ได้มั้ง ที่เวลานั้น ผมพูดถึงเรื่องไพร่ เรื่องอำมาตย์ พูดถึงบทบาทของพลเอกเปรมในฐานะประธานองคมนตรี...
เขาก็ประหลาดใจ เพราะว่า เรื่องราวของพวกเขามันก็ไปอีกแบบหนึ่งแล้ว ไปอีกสถานการณ์หนึ่งแล้วThe PeoPle : จำคุกปี 2563 ด้วยคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ปี 2550
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ปี 2563 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกถึงที่สุด 2 ปี 8 เดือน จากการชุมนุมปี 2550 คือเวลานั้นเนี่ย เราพูดถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประเทศจะระเบิดแล้วนะ คือโอ้โห สารพัดที่เข้ามาเป็นแรงเสียดทาน เป็นแรงกดดัน เป็นอะไรต่างๆ มากมาย
การเดินไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในยุคนั้นนะครับ ปี 2550 เรื่องใหญ่มากนะครับ ปานว่าฟ้าถล่ม ดินทลาย ความหมายมันคืออย่างนั้นเลยนะครับ แต่ว่า เมื่อเหตุการณ์มันเดินผ่านไปเรื่อยๆ ผ่านไปเรื่อยๆ มาถึงยุคปัจจุบันนี่ก็อีกบริบทหนึ่งอีกสถานการณ์หนึ่ง แต่ผมว่า เป็นสายธารการต่อสู้ที่เชื่อมต่อเนื่องถึงกันครับ
ก็สถานการณ์มันไม่ไปไหนนี่ มันยังเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่สังคมไทยยังไม่ได้คำตอบ อันเป็นข้อยุติร่วมกันของคำถามข้อใหญ่ก็คือ ใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในประเทศนี้ ระหว่างประชาชนทุกคนเท่าๆ กัน หรือคนบางคน คนบางกลุ่มเท่านั้น ตราบใดที่คำถามนี้ไม่มีคำตอบ ไม่ยุติ ไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน มันก็จะยังคงมีความขัดแย้งและมีการต่อสู้ในหลายๆ รูปแบบเสมอ
The People : ผังล้มเจ้า ยุคสิบกว่าปีที่แล้ว
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ในปี 2553 เราชุมนุมที่ผ่านฟ้ามาราชประสงค์ วันหนึ่ง ศอฉ. หน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นจัดการกับการชุมนุมเวลานั้น ก็ออกผังล้มเจ้า โยงใยรายชื่อ คนเป็นร้อยนะครับ มีทั้งแกนนำนปช. นักวิชาการ นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ นักเคลื่อนไหวอะไรทั้งสิ้น รวมกันเข้าไว้ในผังเดียวกัน เรียกว่าผังล้มเจ้า แล้วก็เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
ผู้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมอยู่แล้ว ไปไกลเลย บอกว่านี่คือ ขบวนการล้มเจ้า ขบวนการล้มล้างสถาบัน
หลายคนนี่ยุยงให้ฆ่าคนพวกนี้เสีย หลายคนเมื่อมีความตายเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็กลายเป็นความสะใจ กลายเป็นความเดือดดาล ที่อยากจะให้ตายอีก อยากจะให้กวาดล้างให้หมดไป นี่มันเป็นบรรทัดที่น่าสยดสยองสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทยที่วันหนึ่งคนร่วมชาติสามารถจะปลุกความเกลียดชังในหัวใจคนออกมา แล้วเรียกร้องการเข่นฆ่าคนอีกกลุ่มกลางเมือง
เราสู้กันจนคดีมาถึงศาล ทนายจำเลยซักถามพยานของฝ่ายโจทก์ ทั้งคุณถวิล เปลี่ยนสี ที่เป็นเลขา ศอฉ. เวลานั้น และเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารถึงเรื่องผังล้มเจ้า
ได้ความว่ามันเป็นจินตนาการของนายทหารฝ่ายเสธ. กลุ่มหนึ่ง เท่านั้นนะครับ แล้วก็เขียน แล้วก็กล่าวหา แล้วก็ทำให้เกิดความชิงชังจนถึงเข่นฆ่า เท่านั้นจริงๆ
นี่คือสิ่งที่เป็นบาดแผล นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรตั้งสติ และไม่ควรจะให้ใครคนใดก็ตามใช้เรื่องราวความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มาโจมตี มาทำลายล้างกัน หรือว่ามาเป็นเครื่องมือ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
The People : สถานะปัจจุบัน ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : อย่างที่ผมทำอยู่ ขึ้นเวทีปราศรัยได้ พูดจาสนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้ เพราะว่า การเป็นผู้ช่วยหาเสียงตามกฎหมายก็คือพรรคการเมืองสามารถที่จะตั้งผู้ช่วยหาเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทีนี้ สถานะของผม บางคนไปเข้าใจว่า เหมือนกับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ซึ่งที่จริงไม่เหมือนกัน กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบถูกตัดสิทธิ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ของผม ผมติดคุกในคดีอาญา คำพิพากษาคดีอาญาคือ ให้จำคุกอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง แต่ลงสมัครไม่ได้ เพราะมันมีคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับผู้ลงสมัคร ผมไม่ได้ถูกตัดสิทธิอื่น มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามปกติ และสถานะต่างกับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบอย่างที่เล่าให้ฟัง
The People : ตั้งชื่อลูก นปก และ ชาดอาภรณ์
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ก็มาจากขบวนการต่อสู้ นปก ทีแรก ผมเห็นว่า น ตัวเดียว แปลว่าฟ้า ปก ก็คุ้มครอง ผมก็เลยตั้งชื่อเด็กชาย นปก ฟ้าคุ้มครอง แต่ว่ามีพระอาจารย์รูปหนึ่ง อยู่วัดชลประทาน ปากเกร็ด ท่านบอกว่า ที่จริง น ป ก เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าสายน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ผมกับแฟนก็เลยมองว่า ความหมายดี เราก็เลยให้ความหมายชื่อลูกชายอีกครั้งว่า นปก แปลว่า สายน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ซึ่งสะกดเหมือนกับ นปก. แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ที่ผมและพี่น้องประชาชนต่อสู้ด้วยกันมา
ส่วนลูกสาวชื่อเด็กหญิงชาดอาภรณ์ แปลว่า เสื้อแดง ชื่อเล่นชื่อน้องตราตรึง เพราะว่าวันที่เกิด เป็นวันที่ตราตรึงอยู่ในชีวิตผม เนื่องจากว่า ผมอยู่ที่เวทีชุมนุมราชประสงค์ (2553) แล้วหลบออกไปดูลูกสาวที่โรงพยาบาล แล้วต้องหลบกลับเข้ามาเวทีโดยยังไม่ได้อุ้มลูก เพราะว่ามีหมายจับแล้วเขาจะไปจับที่โรงพยาบาล แล้วมาเจอลูกสาวอีกครั้งตอนผมออกจากคุก ถึงได้เจอลูก
ผมออกจากคุกปี 2554 เข้าไปตั้งแต่ 19 พฤษภาคม 2553 ไปอยู่ค่ายนเรศวรเดือนหนึ่ง แล้วก็ไปอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีก 8 เดือน
ชื่อลูกทั้ง 2 คนเป็นความภาคภูมิใจของผม แล้วผมบอกกับตัวเองเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะหักหลังจะทรยศต่อขบวนการต่อสู้นี้ไม่ได้ เพราะว่า ขบวนการต่อสู้นี้ เป็นชื่อของลูกๆ ผมด้วย เป็นการยืนยันทั้งต่อตัวเอง ทั้งต่อผู้คนที่ร่วมต่อสู้กันมา ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมรักคนชื่อนี้ รักขบวนการต่อสู้นี้ในชีวิตผม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตผมอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ลูกเราชื่อนี้ ผมว่าไม่มีพ่อที่ไหนจะหักหลังลูกได้ ผมไม่ได้เป็นพ่อของขบวนการต่อสู้นี้นะ ผมเป็นเพื่อนคนหนึ่งในขบวนการนี้ แต่ว่า ผมจะซื่อสัตย์กับมันจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต
The People : ปี 2566 ทั้ง นปก และ ชาดอาภรณ์ มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือยัง
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : ยัง ปีนี้ 2566 เขายังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่มีสิทธิ์เชียร์แล้ว ให้ทายก็ได้ เขาเชียร์พรรคไหน
The People : ทั้ง 2 คนรู้ความหมายชื่อตัวเองไหม
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : เริ่มรู้แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดอะไรนะ เพราะผมบอกเขาเสมอว่า พ่อรักคนเสื้อแดง พ่อรักขบวนการต่อสู้ที่พ่อทำมา เขาก็ดูจะภูมิใจไปด้วย โดยเฉพาะลูกชาย เขาจะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องการเมือง เขาก็จะเข้าใจเรื่องคนเสื้อแดงมากพอสมควร ส่วนลูกสาวเขาจะสนใจเรื่องการเมืองน้อยกว่าหน่อย แต่ว่า เอาล่ะ เขารู้ว่า ที่พ่อตั้งชื่อลูกทั้ง 2 คนแบบนี้ เพราะอะไร