‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย

‘ก้อง - อรรฆรัตน์ นิติพน’ พิธีกรรายการอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เขตประเวศ-สะพานสูง จากพรรคเพื่อไทย กับการเปิดเปลือยตัวตน ตั้งแต่ความทรงจำวัยเด็ก มาจนถึงวันที่ตัดสินใจลงสมัครชิง ส.ส. ในเขตบ้านเกิด

ใกล้เข้ามาเต็มทีกับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่(อาจจะ)เปลี่ยนอนาคตประเทศไทย และดูเหมือนว่านานวันเข้าแสงแห่งความหวังจะส่องสว่างมากขึ้นทุกที อาจเป็นเพราะเรากำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคเลยพากันขนนโยบายออกมาให้ประชาชนอย่างเรา ๆ ได้เลือกสรรกันอย่างคับคั่ง

แน่นอนว่านโยบายเหล่านั้น ย่อมทำให้คนอ่านใจสั่นระรัว เพราะหาก ‘เสียง’ ที่พวกเขาร้องขอจากพวกเรา ช่วยผลักให้พวกเขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ถล่มซัด ชะล้างประเทศไทยในคราวเดียวก็เป็นได้

หนึ่งในนโยบายที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น ‘นโยบายด้านเศรษฐกิจ’ อย่างที่รู้กันว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ต้องเผชิญพร้อมกันทั่วทั้งโลก ซึ่ง ‘คน’ ที่ The People สนใจพูดคุยประเด็นนี้เป็นพิเศษ คือ ‘ก้อง - อรรฆรัตน์ นิติพน’ ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย ชายที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากการที่เขาเป็นพิธีกรรายการ อายุน้อยร้อยล้าน ปัจจุบันผันตัวมาสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว

อรรฆรัตน์ไม่ใช่แค่เพียงผู้ลงสมัคร ส.ส. ผู้เกิดมาพรั่งพร้อมทุกอย่าง เพราะเขาบอกกับเราอยู่ตลอดว่า ตั้งแต่ลงพื้นที่หาเสียงก็ได้เผชิญกับโลกความจริงมากขึ้นทุกขณะ โลกที่เทากว่าตาเห็น และหม่นจนไม่น่าเชื่อว่าในประเทศไทยยังมีส่วนหนึ่งของสังคม กำลังเผชิญกับความหมองหม่นในชีวิตถึงเพียงนี้

เขายังได้หยิบยกคำพูดสุดไวรัลจากโฆษณาชิ้นหนึ่งขึ้นมาว่า “การเกิดเป็นลูกคนรวย ถ้าไม่หัว*วย จนเกินไปคงประสบความสำเร็จกันทุกคน” (ยิ้ม)

และนี่คือเรื่องราวของ อรรฆรัตน์ นิติพน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หน้าใหม่ เขตประเวศ - สะพานสูง กทม. จากพรรคเพื่อไทย ผู้เชื่อว่าการเกิดมาบนกองเงินกองทอง ไม่ได้เป็นเครื่องมือรับประกันว่าคุณจะไม่ล้มเหลว หากเรายังหยุดอยู่ท่ามกลางเศษซากแห่งรัฐประหารที่มีแต่จะฉุดรั้งไม่ให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย

The People : ก่อนที่คุณจะลงเล่นการเมือง ช่วยเล่าเรื่องราวในชีวิตคุณให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน แล้ววัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

อรรฆรัตน์ : ผมเกิดปี 2520 วันศุกร์ ปีมะเส็ง (ยิ้ม) เกิดในครอบครัวคุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ ซึ่งคุณพ่อมีผมเป็นลูกคนสุดท้อง ผมมีพี่น้อง 9 คน มี 4 แม่ ผมเป็น (ลูก) ภรรยาคนสุดท้ายของคุณพ่อ แต่ว่าลูกทุกคนก็ตอนเด็ก ๆ โตมาด้วยกันอยู่ที่บ้านของผม ซึ่งเป็นครอบครัวน่าจะเป็นศิลปะบันเทิงนะ เพราะว่าก็มีพี่ชายเป็นพี่อ่ำ (อัมรินทร์ นิติพน) เป็นนักร้อง แล้วก็มีพี่อุ๋ม (อาภาศิริ นิติพน) เป็นนางแบบ 

แต่ทุกคนที่เป็นเหมือนกันคือเป็นนักกีฬา เพราะพ่อขอ 2 อย่าง ขอให้เล่นกีฬา แล้วก็ขอให้เล่นดนตรี ทุกคนได้ทุกอย่างหมด ยกเว้นผมไม่ได้ดนตรี ก็เรียนไม่เก่ง ก็เรียนมัธยมที่เตรียมพัฒน์ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ก็เรียนพอรอดแล้วกัน 2 กว่า ๆ ตอนนั้นมียุคของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เห็นว่าเขาเท่ ก็เลยอยากจะเป็นแบบเขาบ้าง เพราะเราก็เรียนเลขไม่เก่ง แต่พอโตมากลับชอบเลข ก็เลยเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะรู้ว่าไม่ต้องเข้าห้องเรียน เข้าห้องเรียนประมาณ 20%

แต่ก็มีจุดเปลี่ยนคือว่าพี่ชายได้เวลาจากสมัย ผอ. มิ่งขวัญ 2540 ตอนนั้นอายุ 20 กว่า ก็ได้มาทำรายการทีวีกับพี่ แล้วเราก็มาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ มี 3 คน พี่ลุยไปข้างหน้า ผมมีหน้าที่ set up บริษัทข้างหลัง หาลูกค้า เรียนรู้อะไรต่าง ๆ เป็นพี่น้องทั้ง 3 - 4 คนครับ จนมาเป็นธุรกิจของตัวเองตอนอายุประมาณ 26 ตั้งแต่นั้นมาก็ชอบตัวเลขมาโดยตลอด ไม่ชอบเรียนเลข แต่ชอบตัวเลขที่เป็นตัวเงิน ชอบตรรกศาสตร์ ชอบประวัติศาสตร์

The People : จากที่รู้ ๆ กัน ทุกคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาคุณว่าเป็นพิธีกร แล้วก็เจ้าของอายุน้อยร้อยล้าน คือตั้งแต่รับหน้าที่ตรงนี้มองเห็นสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง คนมีความมั่งคั่งมากขึ้นไหม หรือว่าสภาพสังคมเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ

อรรฆรัตน์ : จริง ๆ แล้วผมเริ่มก่อตั้งบริษัทผมเองปี 2545 ก็อายุประมาณ 25 รายการอายุน้อยร้อยล้านน่ะ เป็นรายการที่ผมเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทผมชื่อ Mushroom Group ตอนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท บางกอกโพสต์ จํากัด (มหาชน) แล้วก็ทำรายการมาเกือบ 10 ปีถึงได้ทำอายุน้อยร้อยล้าน ซึ่งเทปแรกวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่อายุน้อยร้อยล้านก็เป็นรายการธุรกิจ น่าจะเป็นรายการเดียวที่เกิน 1 ทศวรรษ ก็ประมาณ 11 ปีแล้ว

สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในฐานะผมที่เป็นพิธีกร เป็น SME ก็คือบรรยากาศ ผมเรียนจบปี 2541 เริ่มทำธุรกิจ 2546 ก็เป็นยุคของ เพิ่งเห็น crisis ที่หลายคนเพิ่งผ่าน crisis มา แล้วก็เป็นยุครุ่งเรืองของรัฐบาลคุณทักษิณ ได้เห็นบรรยากาศของความรู้สึกที่มัน โอเค มันมีความหวัง แล้วที่ผ่านมาพอเป็นอายุน้อยร้อยล้านเนี่ย มันเป็นสิ่งที่เราเห็นว่าจริง ๆ แล้ว มันมีโอกาสที่เกิดขึ้นได้

คอนเซ็ปต์ของอายุน้อยร้อยล้านคือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ต้นทุนชีวิตเป็นแบบไหน การศึกษาเป็นอย่างไร คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณมุ่งมั่นพอ แต่สิ่งที่เห็นก็คือว่าเปอร์เซ็นต์มันน้อยมาก เปอร์เซ็นต์มันน้อยมากจริง ๆ SME ในประเทศนี้มี 3,500,000 SME จดทะเบียนอยู่ประมาณ 850,000 บริษัท เป็นบริษัทที่สามารถทำยอดขายเกิน 100 ล้านได้เนี่ยมีหลักหมื่น ซึ่งนับว่าน้อยมาก แล้วก็เป็นไมโคร 2.4 ล้านราย ยอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2.4 ล้านราย

คนที่เกิดในที่ที่หลาย ๆ ที่ที่ขาดโอกาส เป็นไปได้ยากมากที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือทำธุรกิจแล้วก็จะต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถที่จะไปถึงความฝันอะไรบางอย่างได้ แล้วก็คงเหมือนกับที่พี่แวน (ตัวละครจากโฆษณา) เขาบอกเอาไว้ว่า ถ้าเป็นลูกคนรวย ถ้าไม่หัว*วยเกินไปก็คงสำเร็จกันทุกคน

แต่แค่กำลังจะบอกว่าก็ยังคงมีโอกาส ยังคงมีความหวัง แต่ว่าสิ่งที่อยากเห็นก็คืออยากเห็นแบรนด์คนไทยเติบโตขึ้น อยากเห็นคนอายุน้อยประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อย ๆ อยากเห็นคนไทยเก่งขึ้น มีแบรนด์ของคนไทยระดับ Global Brand อันนี้คือสิ่งที่อยากเห็น หน้าที่ของผมในฐานะพิธีกรคือสร้างฝัน ปลูกไฟเติมฝันให้กับคนไทยมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้

The People : แต่เหมือนกับว่าช่วงหลัง ๆ มีกระแสดราม่าเข้ามา เบื้องหลังของแขกที่มาออกไม่ค่อยขาวสะอาด

อรรฆรัตน์ : มีประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นก็มีเพจหนึ่งที่เป็นกระแสที่เป็นตัวจุดติด ชื่อครูชัยขี้โม้ vs โค้ชแก่ขี้แซะ เขาทะเลาะกันเอง แล้วเขาก็เหวี่ยงมาถึงผม ก็ไม่ได้เยอะมาก แค่วันละ 12 โพสต์ เป็นเวลาทุก ๆ เดือน มีผู้คอมเมนต์มาหาผมหลายแสนคน หลักการของอายุน้อยร้อยล้านก็คือว่าคุณต้องเป็นคนอายุน้อย หน้าตาดี มีธุรกิจร้อยล้าน ชีวิตและเส้นทางสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ สิ่งที่โดนตอนนั้นก็คือว่าแขกรับเชิญที่มาออกรายการเนี่ยไม่ได้มีร้อยล้านจริง เสียเงิน เสียตังค์ก็ดังได้ เสียตังค์ 1 ล้านบาทก็ดังได้ครับ

ก็ตอนนั้นน่ะมันเป็นไม่ได้อยู่แล้วที่สามารถเข้าไป track เพื่อดูการส่งภาษีในประเทศไทย SME 3.5 ล้านราย ส่งภาษีอยู่ในระบบประมาณ 800,000 ส่งตรงแล้วมีกำไรประมาณ 400,000 รายนะครับ แล้วก็มีที่เสียภาษีประมาณ 2 แสนกว่า ๆ หน้าที่ของเราเนี่ย อายุน้อยร้อยล้านเป็นรายการที่ซีเรียสมากเกี่ยวกับเรื่องคัดเลือกแขกรับเชิญ เราจะมี content’s day 1 วันในแต่ละเดือน แขกรับเชิญประมาณ 30 คน จะคัดเหลือแค่ 4 คนเท่านั้นในแต่ละสัปดาห์ เท่านั้นเองจริง ๆ

ยอดขายร้อยล้านแน่นอน แต่ตอนนั้นน่ะผมทำได้แค่ถาม แล้วก็ Research โดยตรง แล้วพอไปสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เคสที่เกิดขึ้นอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมไปวันนั้นน่ะ ผมบอกว่าเนี่ยของกองอยู่ตรงหน้า 3 ล้านชิ้น แล้วก็แต่ละชิ้นน่ะ 100 บาท นั่นคือมูลค่าที่กองอยู่ตรงพื้น 300 ล้านบาทนะ เป็นวันที่เขาส่งมอบกับตัวแทนในวันนั้นน่ะประมาณ 400 คน แต่ตอนนั้นด้วยสิ่งที่เราทำ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเขาส่งภาษีเท่าไร การทำธุรกิจกับการส่งภาษีเป็นอีกเรื่องหนึ่งของ SME ไทย สิ่งที่เห็น reputation หน้าตาตึก ออฟฟิศ ยอดขาย ยังไงก็เกินแน่นอน

แต่ว่าการส่งภาษีอันนั้นรายการไม่อาจทราบได้ อันนี้อันที่ 1 นะครับ อันที่ 2 เนี่ย บางทีที่ตอนนั้นน่ะเขาไป ชาวเน็ตได้ไปควานหากันมาเนี่ย บางบริษัท รายการเราเวลาพูด เราพูดนี่คือแบรนด์ของ The People โดยไม่ได้รู้ว่า The People เป็น holding เป็นบริษัทย่อยอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งอันนั้นน่ะมันก็เลยเกิดกระแสว่าเสียตังค์ก็ดังได้ แล้วตัวผมเองในฐานะผู้ก่อตั้ง เจ้าของ ผู้ดูแลการผลิต เราก็จะไปบอกว่าเขาไม่ส่งภาษี มันก็ไม่ใช่ อันที่ 1

ประเด็นที่ 2 ก็คือว่าเป็นธุรกิจ เป็นรายการทีวีเก็บตังค์ได้อย่างไร นั่นหมายความว่าไม่ใช่มีตังค์อย่างเดียว ก็คือเขาเป็นผู้สนับสนุนรายการ ณ ช่วงนั้นผมเป็นระเบิดลูกแรกแล้วกัน น่าจะเป็นระเบิดลูกแรก ๆ ของวงการเราที่ว่ามีเดียก็คือมีเดีย ธุรกิจหนึ่ง เราอยู่ในธุรกิจโฆษณาเนี่ยสำคัญ เรามีหลักเกณฑ์หลักการในการคัดเลือกแขกรับเชิญ อันนี้เป็นสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยเห็น อันที่ 3 คือเราต่อสู้กับอะไรก็ไม่รู้ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ตำรวจช่วยเราไม่ได้นะ ตอนนั้นเราเป็นเคสแรก ๆ Facebook ก็ไม่ถาม สอยลูกเดียวครับ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย The People : คุณได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

อรรฆรัตน์ : ช่วงนั้นก็เครียดเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่รู้สู้กับอะไร แล้วก็เป็นบทเรียนที่ให้เราเห็นก็พอ ผมน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่โดนเกี่ยวกับเรื่องของ ใช้คำว่าอะไรนะ ความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตทางคอมเมนต์อย่างหนักหน่วง Social bully แล้วกัน ณ ตอนนั้นผมก็เดินทางปรึกษา ก็ปรึกษาพี่โจ้ - ธนา ปรึกษา Workpoint ปรึกษาใครหลาย ๆ คนที่ตอนนั้นเขาพอโดนบ้าง

แต่ไม่มีเคสที่เป็นแบบผมเลย เพราะผมโดนเพจซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นเพจที่ไม่มีตัวตน ถ้า ณ สมัยนี้เขาเรียกว่าเป็นเพจปั่น แล้วก็มี account เข้ามาช่วยกัน build กันต่อ ก็เครียดเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แล้วเราเองอาจจะไม่รู้จะปรึกษาใครแล้วกัน เลยอาจจะออกตัวมาเร็วไปหน่อย ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่ควร

ถ้าเป็นสิ่งที่จะแนะนำคนรุ่นใหม่ที่จะโดนก็คือว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโดนได้ในเรื่องที่มันไม่เป็นจริง แต่ว่าสามารถมี io เข้ามาทำอะไรบางอย่าง ก็คือจิตต้องนิ่งเท่านั้น บางทีอาจจะไม่ต้องรีบออกมาแสดงตัวมากนักก็ได้ ตอนนี้ผมมีหน้าที่ด้วยนะว่าแล้วแขกรับเชิญผมสัมภาษณ์ประมาณสักหลักพัน มีถูกดำเนินคดีหรือว่าไปโกงเขา 5 ปีให้หลังเนี่ย ประมาณสัก 5 เคส ต่อไปนี้ผมก็ต้องถาม คุณยอดขายเท่าไร เช็กแล้ว ทำกินมากี่ปี อันนี้เช็กแล้ว อีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะโกงเขาไหม

ไม่ทราบว่ามันเป็นบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของเราหรือเปล่า ต้องสัญญานะอีก 5 ปีจะไม่ไปโกงใคร แล้วมันก็เป็นลักษณะนาม เป็นคำนามแล้วกัน อายุน้อยร้อยล้าน บางคนก็เอาของเราไปใช้ โดยที่ไม่เกี่ยวเลย แล้วก็ไปโกง อายุน้อยร้อยล้านทำอีกแล้ว อันนี้คือที่โดนตามมา แต่ก็ทำให้เรียนรู้ว่ามันมีข้อเท็จจริงกับมีความคิดเห็น

The People : จริง ๆ ก็ได้ยินเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าอายุน้อยร้อยล้าน ขอแค่มีเงินก็มาออกรายการได้ แล้วยิ่งคุณเป็นเจ้าของพ่วงตำแหน่งพิธีกรอย่างคุณก็ยิ่งต้องรับมือหนักหน่วงมาก

อรรฆรัตน์ : ไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน ถ้ามีโอกาสได้พูด ผมว่าทุก ๆ คนมีสิทธิ์ที่จะโดนสิ่งเหล่านี้ได้ ทุก ๆ แบรนด์มีสิทธิ์ที่จะโดนได้ ก็คือแค่บอกว่าอะไรที่มัน Social bully เนี่ยต้องทำอย่างไร เราก็ต้องช่วยเหลือด้วยตัวเองเพื่อที่จะหลุดพ้นจากช่วงเวลานั้นมา

อยากจะทราบความเห็นของเพื่อน ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นผู้ช่วยคุณในการจัดกำหนดการต่าง ๆ หน่อยว่า คุณมองเห็นอรรฆรัตน์จากวัยมัธยม มาจนถึงวันที่ลงสมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ใช้คำว่าเด็กเกเรตามช่วงอายุก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ ก็มาเรื่อย ๆ แต่ว่าตั้งแต่เด็กจนโตเนี่ยระบบคิด เขาเป็นคนที่มีระบบคิดเป็นระบบมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ มากน้อยเข้มข้นต่างกับช่วงเวลาหรือกิจกรรมที่เขาทำ ถึงตอนนี้ระบบคิดก็เข้มข้นมาก คือเขาจะมีตัวเลขมีคำถามคำตอบเป็นสมการอยู่เสมอ ถึงแม้เรื่องหลาย ๆ เรื่องมันจะต้องใช้ emotional ในการตัดสิน แต่เขาจะมีชุดนี้อยู่เสมอ ซึ่งชุดนี้มันก็เป็นชุดคำตอบที่ถูกต้องอยู่เสมอ อย่างที่เขาบอกว่าเขาชอบตัวเลข มันจะมาแบบนี้ครับ

The People : มีจุดเปลี่ยนอะไรเข้ามาที่ทำให้คุณหักดิบทุกอย่างเพื่อมาทำธุรกิจ

อรรฆรัตน์ : จุด turning point ผมอยู่ตอนที่อายุ 26 ตอนที่ออกมาตั้งบริษัท จริง ๆ ก็ชอบเที่ยวตั้งแต่ ม.3 เที่ยวกลางคืนตั้งแต่ ม.3 ก็ปาร์ตี้จนถึง 25 นี่แหละ แล้วก็วันที่มาเริ่มต้นบริษัท ก็ทุกอย่างเลย แต่ตอนนั้นก็คือว่าอยากทำบริษัทให้มันดี ใช้คำว่าทำงานตลอดเวลา ไม่เคยมีเสาร์ - อาทิตย์ จนข้ามผ่านจาก 26 ไป 30 กว่าเลย ไม่เคยมีวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์

ทำรายการทุกวันตลอดเวลา แต่เราอยากสำเร็จกับการทำธุรกิจ มันเบื่อแล้ว มันปาร์ตี้เยอะ มันเยอะไป มันรู้สึกว่าเสียดายเวลาที่ผ่านมา แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราปาร์ตี้ไปเจอคน ได้ดื่ม ได้เที่ยว ได้ฟังเพลง มันไม่ได้สนุกสำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งที่มันสนุกท้าทายเราก็คือการทำธุรกิจให้มันสำเร็จ การก่อตั้งบริษัทตั้งแต่อายุ 25 - 26 แล้วอยากเห็นรายการของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายเรา

ตอนนั้นมันก็คงมีความฝัน เพราะว่ารายการทีวีพอเริ่มเป็น Production House เราก็อยากที่จะมีรายการทีวีเป็นของเราเอง แล้วตอนนั้นช่องมันมีแค่ 4 ช่อง ก็มีความฝันว่าอยากจะมีแอร์ไทม์อยู่ใน free tv เราก็พยายามที่จะได้รายการ พยายามที่จะได้แอร์ไทม์ จริง ๆ อยากเป็นพิธีกร แต่ไม่มีคนจ้างเรา เราก็จ้างตัวเอง (หัวเราะ)

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย The People : ตอนเด็กมีความฝันอะไรเป็นพิเศษไหม

อรรฆรัตน์ : ไม่ได้มีอะไรมาก อยากสนุก อยากเที่ยว เราเติมเต็มความฝันเราได้งาน เพราะว่าพ่อบอกเสมอว่าสิ่งที่พ่อให้ได้ก็คือการศึกษานะลูก อยากได้ก็คือส่งลูกทั้ง 9 คนเรียนจบมหา’ลัย พ่อก็เก่งมากแล้วสำหรับลูกทุกคน เพราะฉะนั้นคืออยากไปเที่ยว เที่ยวเอง ตั้งแต่เป็นเด็กก็คือไม่ได้ไปเที่ยว ไม่เคยได้ไปเที่ยวไหน ไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว กับพ่อแม่อะไรอย่างนี้ ก็เลยใช้งานนี่แหละ เป็นตัวที่พาเราไป

ตอนนั้นอายุ 25 - 26 ก็ทำรายการ ก็ขอตังค์ True ตอนนั้นชื่อเป็น UBC แหละมั้ง ทำรายการ ก็ทำให้แบบได้ไปเที่ยวหลาย ๆ ที่ที่เราอยากไป ก็ใช้งานนี่แหละไปขอตั๋วเครื่องบิน ไปขอตังค์ ได้ไปหลาย ๆ ประเทศที่เราอยากไป ใช้ไอ้นี่เป็นตัวนำทาง ได้เจอคนที่เราอยากเจอ

ทำรายการ Zapp Same Same ในช่อง UBC เจอคนมาสัก 600 คนที่เป็นคนเก่ง ๆ ได้ไปเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศที่เราอยากไป ถ้าในประเทศทุกจังหวัดเราไปเกือบหมด อันนี้คือสิ่งที่เราใช้งาน มันถึงกลับกลายมาเป็นทำงานมาสัก 8 ปีเนี่ย สิ่งที่เราไปเที่ยวไปเจอคนเป็นไลฟ์สไตล์ ตอนแรก Mushroom (Group) ความเข้มแข็งหรือจุดเด่นคือเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

แล้วพอเป็น 2555 นั่นหมายความว่าเราอยากจะเจอคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ด้วยไอเดียที่ว่าที่ผ่านมา เราเชื่อว่าสื่อสำคัญ เราเชื่อว่าคอนเทนต์สำคัญ เราเชื่อว่าญี่ปุ่น เกาหลีสร้างชาติจากคอนเทนต์ เราก็เห็นว่ารายการทีวีซึ่งมันสำคัญมาก ณ ตอนนั้นน่ะ มันมีแต่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากเป็นดารา อยากเป็นนักร้อง เราเชื่อว่านักธุรกิจสามารถเป็นไอดอลให้กับคนได้ เราก็เลยทำรายการชื่ออายุน้อยร้อยล้านครับ

The People : ตัดสินใจนานไหมที่จะลงเล่นการเมือง

อรรฆรัตน์ : นาน ก็นานกว่าจะเริ่มขยับตัว แต่ว่าพอทำปุ๊บก็เสร็จภายในเดือนเดียว เพราะเป็นคนชอบอะไรที่มันท้าทายกับชีวิต ชอบหาเรื่องใส่ตัวแล้วกัน เมื่อวันนี้ของปีที่แล้วอยู่ดี ๆ ก็บอกว่าอยากจะเป็นนักวิ่งมาราธอน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยวิ่งแม้แต่กิโลฯ เดียว แล้วก็ลงสมัครมาราธอนเลย เริ่มซ้อมครั้งแรก 23 พฤษภา ต้องลงมาราธอน 30 ตุลา มีเวลาซ้อม 5 เดือน จาก 0 ถึง 42.125 เลย อันนี้ที่ผ่านมาคือจะ 6 เดือนแล้วกัน มีโอกาสพอเราทำ SME มีข้อมูล SME มีพรรคเพื่อไทยเขาก็อยากเชิญ SME เพราะเป็นฝั่งทำนโยบาย แล้วก็มาบอกเราว่าอยากขอความรู้ขอข้อมูล เข้ามาขอความคิดเห็นหน่อย พา SME เข้ามาหน่อยได้ไหม

เราก็ไปคุยกับเขาเรื่อยมา พาคนเข้าไปเพื่อทำนโยบาย เพราะจริง ๆ แล้วเรารู้ว่าเราเป็นมีเดีย เราเป็นพิธีกร ที่ผ่านมาเราก็สัมภาษณ์นักการเมืองตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สัมภาษณ์นายกฯ ทำงานให้หลาย ๆ คน หลายรัฐมนตรี หลายกระทรวง เรารู้เราต้องเป็นกลาง และรู้สึกว่าสังคมไทยหรือธุรกิจไทยหรือใคร ๆ ก็แล้วแต่

ซึ่งการแสดงจุดยืนทางการเมืองเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่ผ่านมาผมไม่เคยแสดงจุดยืนทางการเมืองเลย เป็นกลางมาโดยตลอด คนนี้เขาไปเป่านกหวีด ผมก็ไม่ได้ไป พี่ผมขึ้นเวที ผมก็ไม่ได้ไป ก็คือเพราะเรารู้ว่าบทบาทหน้าที่เราไม่ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองมั้ง ณ ช่วงเวลานั้น เพราะฉะนั้นการตัดสินใจที่จะลงหรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันก็ต้องตัดสินใจเยอะเหมือนกัน เพราะเราก็มีบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทสื่อด้วยครับ

The People : เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับคุณมดดำด้วยหรือเปล่า ทำให้คุณมาอยู่จุดนี้ได้

อรรฆรัตน์ : ไม่เกี่ยวเลย อาจจะใช้คำว่าเห็นมันมีข่าวออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่ผม จะพูดว่าไม่รู้ข้างหลังบ้านมันเป็นยังไงนะ เพราะจริง ๆ ผมเข้าใจว่าทางเลือกของการเมือง มันจำเป็นจะต้องมีการเช็ก การยืนยันจากใครหลาย ๆ คน คนที่ผมมาทำงานด้วยตอนแรกก็คือผมอยากทำงานกับหมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ตอนแรกผมจะเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งช่วงหลังเนี่ยก็มีทางพี่แจ๋น (พวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ก็คือ มาดาม กทม. บอกว่าอยากจะให้มาลงเขต ก็มีการได้พูดคุย พูดคุยกับผู้บริหารทุกคน

เพราะว่าการจะมาเป็นผู้สมัครขอลงเขตเนี่ย ของพรรคเพื่อไทย เป็นสิ่งที่ผ่านกระบวนการคัดกรอง ซึ่งยากมาก ในประเทศมี 400 คน กรุงเทพฯ มี 33 แล้ว แต่ละคนก็เก่ง ๆ ทั้งนั้นเลย ลงพื้นที่มาอย่างยาวนาน ก้องมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าก็คงต้องมีการถามกันว่าคนคนนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องมีการคุยแล้วก็ซักประวัติ มีคณะกรรมการ เจอทั้งรองหัวหน้าพรรค เจอพี่อ้วนหัวหน้าพรรค เจอทุกคนเลย ผมว่าถ้าถามว่าจากมดดำ ไม่ได้ไปบอกมดดำ มดดำ กู อยากลงการเมือง ไม่ใช่

The People : ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

อรรฆรัตน์ : ไม่รู้ข้างหลังเป็นอย่างไร เพราะว่ามดดำเขาก็มีความสัมพันธ์ซึ่งลึกซึ้งกับพรรคนี้ ผมว่าพรรคเพื่อไทยก็เป็นเหมือนครอบครัว หลาย ๆ คนที่อาจจะต้องมีคณะกรรมการถามไถ่ตรวจสอบที่มาหลายคน แต่ก็เห็นข่าวเหมือนกันว่าเป็นก้อง…สัมพันธ์กับมดดำ ผมก็ไม่รู้ข้างหลังเป็นอย่างไร แต่ว่าผมไม่ได้บอกมดดำว่าผมอยากลงการเมือง เพราะผมอยากทำหน้าที่เป็น PL ตอนแรก แต่ทว่าอยากมีส่วนที่จะผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้วก็ SME

แต่ว่าที่มาลงเขตเนี่ย เพราะว่าทางพรรคบอกว่ามีเขตหนึ่งที่ว่าง มีเขตหนึ่งที่ก้องน่าจะพอได้ ก็คือเขตประเวศ 21 ประเวศ - สะพานสูง ซึ่งคือบ้านผมเลยนะ เกิดเติบโตที่นี่ ก็เลยแรก ๆ ก็เลยน่าสนใจ จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็ได้คุยกับอีก 3 พรรคด้วยซ้ำ

The People : คุณคิดว่าความแตกต่างระหว่างนักธุรกิจกับนักการเมืองคืออะไร

อรรฆรัตน์ : มีสิ่งที่คล้ายกัน แล้วก็มีสิ่งที่แตกต่างกัน เป็นพื้นฐานเหมือนกันก็ธุรกิจคือที่ใดมีปัญหาที่นั่นมีโอกาส ที่นั่นมีธุรกิจ ก็มีการแลกเปลี่ยนกัน โดยการใช้เงิน ใช้ประโยชน์ ใช้เงินแล้วกัน ไปธุรกิจเป็นตัวตั้ง ส่วนนักการเมืองเนี่ย ต้องเกินนักธุรกิจอีกขั้นหนึ่ง ก็คือว่าต้องมีการวางใจ ผมว่าการจะได้มาอะไรบางอย่าง เป็นการใช้ใจของประชาชนในท้องที่เรา การจะวางใจ ไว้ใจ วางใจได้เนี่ย มันต้องเกินคำว่าเชื่อถือเชื่อมั่นได้ใจไปเรียบร้อยแล้ว

เพราะเขาต้องสามารถที่จะศรัทธา เขาต้องสามารถที่จะรัก เขาสามารถที่จะไว้วางใจ เพื่อให้เราไปทำหน้าที่แทนเขา ซึ่งอันนี้มันต้องแลกมากับเวลา แลกมากับการเห็น แลกมากับการที่คนคนนั้นได้พิสูจน์ตัวตนจริง ๆ นักการเมืองที่สามารถเชื่อมโยง โยงใย รวมถึงอยู่ในพรรคการเมืองที่สามารถที่จะสนับสนุนความเชื่อมั่นอันนี้ให้เขาได้ ส่วนนักธุรกิจเนี่ย การจะขายของหนึ่งได้เนี่ยมาจากความเชื่อมั่น ความชอบ แต่ว่าไว้วางใจเนี่ย มันเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองจะต้องมี

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย The People : ‘มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนเห็นแก่ตัว’ ในฐานะที่คุณก็ประกอบธุรกิจมาก่อน แน่นอนว่าต้องมีความเห็นแก่ตัวในมุมใดมุมหนึ่งเพื่อที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ คุณคิดว่าจะเปลี่ยนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ให้เป็นผลประโยชน์สูงสุดของคนในสังคมได้อย่างไร

อรรฆรัตน์ : เห็นแก่ตัวเป็นคำกล่าว นั่นหมายความว่าธรรมชาติที่มันอยู่ใน DNA ของมนุษย์เนี่ยคือเราต้องเอาตัวรอด เราต้องอิ่ม เราต้องสามารถส่งต่อพันธุกรรม ก็คือครอบครัว Family ของเราได้ ซึ่งถ้ามันเกินจุดนั้นไปแล้วเนี่ย นั่นก็คือสิทธิขั้นพื้นฐาน เราอิ่ม เราปลอดภัย เรารู้สึกว่าเราป่วย เรามีคนดูแล เรารู้สึกว่าเราไม่หิว มีอาหารสำหรับเรา พอมันข้ามจุดนั้นไปแล้ว มันจะกลายเป็นการแบ่งปันกับสิ่งอื่นได้ แต่ไอ้ความที่มันไม่เพียงพอหรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันก็ทำให้โลกหมุนไปข้างหน้า มันก็คือการสร้างวัฏจักร นั่นหมายความว่าทุกคนเห็นแก่ตัว เพราะว่าเขาไม่มี เขาขาด เขาไม่ได้มั่นคง เขาไม่ได้ปลอดภัย เขายังมีอีกหลายอย่างที่มันไม่ได้เติมเต็ม

ซึ่งจุดนี้ถ้ามันถึงจุดจุดหนึ่งที่มันเติมเต็มได้ เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เราจะมีงานมีคนดูแล ลูกหลานเราได้รับการดูแล ตัวเราเองจะปลอดภัย ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมที่มันเกิดขึ้นมาของมนุษย์หลายพันปี ประเทศไทยหลายร้อยปี มันไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าคนเนี่ย มันมีคนที่พอแล้ว แล้วก็พอเพียง แล้วก็แบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นต่อมา ผมคิดว่าอันนี้มันก็อาจจะคล้าย ๆ กับ Maslow ที่เขาบอกว่าพอมันข้ามขั้นนั้นไปแล้ว มันก็จะเป็นเรื่องของอุดมการณ์จิตวิญญาณ เรื่องของสังคมของมนุษย์เรา เพราะสุดท้ายแล้วเห็นแก่ตัวในเรื่องของความอยากความได้ความอิ่มก็แล้วแต่ ถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว ความสุขที่แท้จริงก็น่าจะเป็นการที่เราเป็นผู้ให้อะไรบางอย่าง มันอาจจะไม่ต้องมากครับ แต่ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องราวของมนุษย์อีกแบบหนึ่ง

The People : สิ่งที่ท้าทายในการที่คุณเป็นผู้ลงสมัครชิง ส.ส. หน้าใหม่คืออะไร

อรรฆรัตน์ : เวลา เพื่อให้คนไว้วางใจเรา หัวใจที่สุดก็คือว่าผมเป็นหน้าใหม่ครับ ผมจะขาดซึ่งเวลา ซึ่งหลายคนลงพื้นที่มาก่อนผม ทุก ๆ คนบอกจุดยืนของเขาได้ดีกว่าผม ผมต้องการความไว้วางใจ เพื่อให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่าผมสามารถที่จะโยงใยเชื่อมโยงกับประเวศบ้านเกิดของผม แล้วผมสามารถที่จะเป็นตัวแทน แทนคนของพวกเราชาวประเวศ - สะพานสูง เพื่อไปทำหน้าที่ในสภา เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ เพื่อให้เกิด… เมืองของเราประเวศของเรามันดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็น connecting dot ที่ Steve Jobs บอกไว้ก็อาจจะเป็นตรงที่ว่ามันมี 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนอาจจะพอเห็นผมบ้าง ในฐานะพิธีกรไม่กี่คนที่ยืนเคียงข้าง SME ที่เป็นเรื่องของการทำมาหากิน มันก็อาจจะเชื่อมโยงตรงนี้ได้ส่วนหนึ่งว่าเขาเห็นแล้วเขา อ๋อ มันคือพี่ก้อง มันคือก้องที่ทำอายุน้อยร้อยล้าน ที่อยู่มา 10 กว่าปี อันนี้เราจะได้เห็นได้รู้กันในวันที่ 14 พฤษภาที่จะมาถึงนี้ เพราะโดยตัวเลขเนี่ย ผมมี 171,000 คนของ 3 เขต ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 121,000 คนนี่แหละ ซึ่งเป็นบ้านมีรั้วประมาณ 46,000 หลัง ชุมชนประมาณ 17,000 หลังคาเรือน เดี๋ยวเราจะได้รู้ว่า 10 ปีที่ทำรายการเนี่ย มันสามารถที่จะโยงใยเชื่อมโยงให้เกิดเป็นความไว้ใจให้กับพี่น้องของเขตสะพานสูงกับผู้สมัครหมายเลข 13 ได้หรือเปล่า

The People : คาดหวังระดับไหน

อรรฆรัตน์ : ถ้าลงมาขนาดนี้จริง ๆ เราไม่ได้ทำงานคนเดียว ซึ่งนักการเมืองเวลาที่ตอนแรกเข้าใจเนี่ยมันไม่ใช่เขานะ เขามีทีม ผมก็มีพี่ชายแล้วก็ทีมรอบข้างไม่ต่ำกว่า 40 คน มีพรรคการเมืองจากพรรคเพื่อไทยที่มีผู้สมัครกรุงเทพฯ อีก 33 คน คนที่อยู่ข้างหลังหลายร้อย เราก็มีความเชื่อมั่นจากผู้ที่ศรัทธาเรา เชื่อในตัวเรา ในท้องที่ของเราแล้วอยากให้เราชนะ บางคนก็รู้จักก้องรู้จักเพื่อไทย บางคนรักเพื่อไทยก็เลยมารักก้องด้วย แล้วก็มีคนที่รักทั้งก้องแล้วรักเพื่อไทย นั่นหมายความว่าการมายืนอยู่ตรงนี้ได้ ไม่มีคำว่าถอย ไม่มีคำว่าแพ้ ไม่มีคำว่าท้อ ยังไงก็ต้องชนะครับ ชนะเมื่อครั้งที่แล้วเนี่ย 27,000 คะแนน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 121,000 คน ถ้า 70% คงประมาณ 96,000 นะ ครั้งที่แล้วผู้ที่ได้รับชัยชนะก็คือ 27,000 คะแนน ครั้งนี้ผมขอ 40,000 คะแนน

The People : มองเห็นปัญหาอะไรในเขตประเวศถึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ทราบว่าเพราะเขตนั้นว่างพอดี แต่มันมีปัญหาอะไรในเขตนี้เป็นพิเศษด้วยไหม

อรรฆรัตน์ : คงเป็นโอกาสแล้วกัน เพราะว่าไม่เคยคิด ไม่รู้สึก ก็รู้สึกว่ามันท้าทาย แต่ว่าถ้าเป็นเขตอื่นจะไม่ได้รักเท่ากับประเวศ ก็อยู่มาตั้งแต่เกิด พ่อก็อยู่ที่นี่ ลูกก็เกิดที่นี่ ที่เห็นใหญ่ ๆ จริง ๆ แล้ว มันมี 2-3 เรื่อง ตั้งแต่เรื่อง เรื่องแรกก่อนก็คือว่าเราเป็นพิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน เราเป็นนักธุรกิจหลายอย่าง เราเห็นว่าอันนี้มันเป็นโอกาส นั่นหมายความว่าตรงนี้มันเรียกว่ากรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งก็คงเป็นบางนา สวนหลวง ประเวศของผมนี่แหละ เส้นบางนา - ตราดกิโลที่ 1  มีไบเทคบางนา มีห้างที่กำลังจะเกิดคนมหาศาล

เมกะบางนาคนระดับหมื่น เซ็นทรัล มีซีคอน และสำคัญที่สุดไปอีกแค่ 10 กว่ากิโลมีสนามบินสุวรรณภูมิ ตอนนี้เมืองเริ่มย้ายมาทางนี้ MQDC เป็น Mixed Use ระดับใหญ่ มีตึก AIA นี่คือเมืองที่กำลังจะมีเยอะที่สุดของกรุงเทพมหานคร สุวรรณภูมิตรงนี้ก่อนโควิด-19 มี 40 ล้านคน หลังโควิด-19 ปีที่แล้วเหลือ 12 ล้าน ปีนี้น่าจะกลับมา 40 ภายใน 5 ปีถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 100 ล้านคน เมืองที่มีรถไฟฟ้าเส้นสุขุมวิทสีเหลืองศรีนครินทร์ เมืองที่กำลังคนเข้ามาเยอะขนาดนี้ มีโอกาสมากขนาดนี้ เตรียมรองรับเมืองแห่งอนาคตขนาดไหน งานในวันนี้จะไม่เหมือนงานที่ผ่านมา อีก 8 ปี 4 ปี 8 ปี 12 ปีข้างหน้า งานจะเป็นแบบไหน เมืองนี้ ประเวศ - สะพานสูงของเราเนี่ย เตรียมรับมืออย่างไรกับโอกาสที่จะเข้ามา

ซึ่งจากประสบการณ์การทำรายการ ใครที่มันพลิกรู้ shift ตรงนี้ได้ มีโอกาสที่จะเป็นอายุน้อยร้อยล้านคนต่อไป อันนี้คือเห็นว่ามันเป็นโอกาส แล้วก็เป็นอุปสรรคของเมืองของเขตที่สามารถที่ทำให้คนในท้องที่สามารถที่จะเปลี่ยนกลายเป็น City ที่สำคัญของประเทศนี้ได้นะ อันนี้คือสิ่งที่มองเห็น แล้วก็มองเห็นว่ามันต้องใช้คนที่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าผมเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน

เรื่องที่ 2 อ่อนนุช ซึ่งอยู่ในเขตประเวศ เรียกว่าเขตนี้เป็นเขตที่สำคัญ เพราะในกรุงเทพฯ ของเราเนี่ยมีขยะวันหนึ่ง 10,000 ตัน ถูกกระจายไป 2 ที่ ที่หนึ่งไปหนองแขม ที่ที่ 2 มาที่อ่อนนุช วันละประมาณ 4,000 - 5,000 ตันต่อวันนะ ไม่มีโรงงานไฟฟ้า ไม่มีระบบเก็บขยะเผาขยะ ซึ่งกลิ่นของมันใช้กว่า 10 ตารางกิโลเมตร หมู่บ้านแถวนี้ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่อยู่กันแบบพื้นที่เปราะบาง บ้านราคา 30 ล้าน 100 ล้าน ได้รับกลิ่นขยะกันถ้วนหน้าเป็นเวลากว่า 10 ปี ถามว่าสิ่งนี้มันควรจะมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบหรือเปล่า

นี่คือขยะของเมืองใหญ่สำคัญมาก ๆ แล้วขยะของเมืองใหญ่มาอยู่ที่อ่อนนุชประเวศในเขตของผม ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ แล้วก็กลิ่นให้กับคนหลายหมื่นคนเป็นระยะเวลานับ 10 ปี แล้วมีทีท่าจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ถ้าเมืองนี้เขตนี้คนจะเข้ามาอยู่เยอะขึ้น มันขยายตัวแบบนี้ขึ้น เราจะรองรับมัน

แล้วก็จากที่ลงพื้นที่ ตอนแรกเป็นพิธีกรก็ได้เจอคนเยอะระดับหนึ่งแล้วนะ พอมาเป็นผู้สมัครได้เจอเยอะขึ้นกว่าเดิมอีก เพิ่งได้เข้าใจคำว่าพื้นที่เปราะบางที่ไม่มีโอกาส ที่พูดกันว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น รู้ว่ามันเหลื่อมล้ำ แต่ไม่คิดว่าจะเหลื่อมล้ำขนาดนี้ ข้ามเพียงแค่คลองบ้านหลังร้อยล้านกับคนที่อยู่ข้างล่าง อยู่กับขยะ ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็อยากให้สิ่งนี้มันเกิด ใช้คำว่าสิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้ สมกับความเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นคนไทย มันน่าจะเกิดขึ้นกับท้องที่ของเราครับ

The People : สมมติว่าได้รับเลือก สิ่งแรกที่คุณจะเข้ามาแก้ปัญหาคืออะไร

อรรฆรัตน์ : เป้าหมายที่มาที่นี้ตรงนี้ ก็คือวันแรกที่เข้ามาเนี่ย อยากขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ อยากขับเคลื่อนเรื่องของ SME สิ่งที่เห็นก็คือแล้วอยากจะทำก็คือ ตอนนี้เป้าหมายของผมถูกให้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ให้ดูเรื่อง Soft Power ซึ่ง Soft Power ก็คือศักยภาพของคนไทยที่ซ่อนเร้น ที่พอที่จะนำมาพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าถ้าจะมองภาพเป็นประเวศ sandbox ได้นะ นั่นหมายความว่าการ upskill reskill การหางานใหม่ ๆ ธุรกิจใหม่ ๆ โดยมีประเวศของเราเป็นต้นแบบก็น่าจะดี 

ซึ่งจริง ๆ แล้วอันนี้มันสำคัญ สำคัญเพราะว่าสิ่งที่ทุกคนรอคอยสำหรับพรรคเพื่อไทยหลังจากที่ลงพื้นที่นะ หลาย ๆ ที่ ทุกคนคาดหวังบรรยากาศเศรษฐกิจที่มันดีขึ้น ทุกคนคาดหวังงานที่มันจะพอมีให้กับทุกคน ค้าขายดีขึ้น เขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นนะ นี่ก็คือสิ่งหนึ่งที่เป็นปากท้อง เรื่องของปากท้องอยู่ดีกินดี อันนี้คือสิ่งที่อยากจะทำเป็นสิ่งแรก ๆ อยากจะทำคือเรื่องนี้

ซึ่งมันก็ตรงกับ headline ของเพื่อไทยนะ ก็คือว่าเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ขยายโอกาส เราเป็นพรรคการเมืองที่ทำเรื่องนี้แล้วก็ทำมาได้แล้วค่าแรงขั้นต่ำปริญญาตรี งานใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่าแม้เงินเดือนที่มันไม่ได้เยอะเนี่ย แต่ว่าถ้ามันเกิดอุบัติเหตุกับชีวิต ป่วย ไม่สบาย ยังคงมี 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะดูแลเราได้ ผมเองก็ไปลงพื้นที่ตรงนั้นนะครับ มันมีโรงพยาบาลหนึ่งชื่อสิรินธร

แต่ก่อนนี้เวลาคน 30 บาทรักษาทุกโรคเนี่ย จะมีประมาณ 7 โรงพยาบาลอยู่ตรงนั้น ตอนนี้ทุกอย่างเลิก เหลือแค่สิรินธรที่เดียว คนไปตอนเช้า เมื่อเช้าไปกับพี่ชายมาตี 5 ครึ่ง คนต่อคิวกันแล้ว มีวันละประมาณ 1,200 คน เพื่อมาที่นี่ การส่งคนไข้ข้ามโรงพยาบาลใช้เวลานานมาก อันนี้คือ 30 บาทรักษาทุกโรค plus เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ขยายโอกาสเพื่อปากท้อง นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ อยากจะตั้งใจทำครับ

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย The People : ยังไม่ได้ถามเลยว่าทำไมถึงเลือกพรรคเพื่อไทย มองเห็นศักยภาพหรือความหวังอะไรในพรรค

อรรฆรัตน์ : เป็นความหวังแล้วกัน ถ้าเป็นฟุตบอล เราคงเติบโตมากับบรรยากาศของสมัยรัฐบาลคุณทักษิณที่ทุกอย่างมันสดใส ทุกอย่างเกิดขึ้น แล้วเขาเป็นพรรคที่ขายนโยบาย เป็นพรรคที่ขายนโยบายจริง ๆ แล้วเวลาขายนโยบายจริง ๆ เนี่ย เราก็ต้องดูว่าพรรคไหนทำได้จริง ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้จริง มีระบบระเบียบแล้วก็มี Reference ที่ทำได้จริง มันเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ ในช่วงกีฬาสีหลาย ๆ อัน ซึ่งเราเป็นกลางที่ผ่านมา

หรือแม้แต่ช่วง 6 เดือนที่เรามาเป็นที่ปรึกษาในการวางนโยบาย เป็นสิ่งที่แปลก 10 กว่าปีแล้ว ทำไมคนยังพูดถึงชื่อคนคนหนึ่งอยู่ นั่นหมายความว่านโยบายเนี่ยมันทำได้จริง โครงการ 30 บาท โครงการเงินเดือน SML เศรษฐกิจ OTOP มันเป็นสิ่งที่มันทำได้ มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง มีคนที่รับประโยชน์กับมันจริง ๆ แล้วมันก็ยากจริง ๆ ที่จะทำ ซึ่งใช้คำว่าเคยทำมาแล้ว ทำได้ เป็นความหวัง

แล้วก็เป็นพรรคที่ขายนโยบาย เพราะฉะนั้นแล้วแทบจะตัดอันอื่นไปเลย แล้วก็มีอันหนึ่งก็คือว่าเป็นประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามันเป็นเหมือนพรรคที่มีคนเลือกเยอะที่สุด เป็นขวัญใจคนไทยมากที่สุด แต่ถูกปฏิวัติมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าถามว่าทำไมถึงรักเพื่อไทย เป็นความหวังทางนโยบาย ทำได้จริง อยู่มานาน ทำเรื่องยาก ๆ ให้เกิดขึ้นได้ และเขาคงทำจริงและทำต่อไป

The People : ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อหรือเปล่า

อรรฆรัตน์ : อันนั้นก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปี ไม่กี่เดือนแล้วกัน ก็คงเป็น Startup ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

The People : นอกจากเขตประเวศ - สะพานสูงแล้ว อยากจะทราบว่าถ้าเกิดเรามองประเทศไทยทั้งประเทศเลย อะไรที่เป็นปัญหาสำคัญที่น่าจะต้องเร่งพัฒนาเป็นอันดับแรก

อรรฆรัตน์ : เป็นประเทศที่มีศักยภาพ เราเองทำรายการ สิ่งหนึ่งที่เราทำรายการก็คือนำเสนอความภูมิใจของคนไทยในภาคส่วนต่าง ๆ ว่าเราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม เราเป็นประเทศที่มีทรัพยากร เรามีคนที่เก่งมีคุณภาพ แต่คำถามคือทำไมเรายังติดกับดักอะไรบางอย่าง ทำไมเราถึงไม่ข้ามขั้นตรงนี้ไปได้ อันนี้คือสิ่งที่มองเห็นในภาพใหญ่ แล้วก็ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผมเห็นเรื่องหลายอย่างที่มันทำให้เราถอยหลังหรืออยู่เฉย ๆ ในขณะที่คนอื่นเขาไป เราก็ตามติดในเรื่องของอาเซียนเอเชียว่า GDP เรา การแข่งขันเราเป็นอย่างไร คุณภาพชีวิต EQ IQ ของเด็กเรา ตอนนี้เราน่าจะอยู่ในหลักท้าย ๆ ของอาเซียน

นั่นหมายความว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาหนึ่งคือผู้นำ วุฒิภาวะของผู้นำ ความเป็นประชาธิปไตยที่จะสามารถยืนได้บนเวทีโลก อันที่ 3 คือการที่เราสามารถที่จะวางแผนระบบระเบียบประเทศ วางโครงสร้างกันอย่างยาวนาน หมายความว่าเราก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในรุ่นเดียว พอไม่สามารถแก้ไขในรุ่นเดียว ก็คือว่าเราวางโครงสร้างพื้นฐาน เราวางการศึกษา เราวางอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างไร อันที่ 2 เราสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ของเราเนี่ย มาสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพวกเราได้อย่างไร ก็คือแก้ที่ผู้นำ แก้ที่คน แก้ที่ระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าถ้าจากตัวเลขบางอย่างเนี่ย เราบอกว่าเราเป็น SME 3,400,000 คน แต่จริง ๆ แล้ว เกษตรกรของคนไทยที่มีประมาณอีก 40% ของประเทศเราที่มีอยู่ 8,000,000 ครัวเรือน จริง ๆ แล้วเขาเป็น SME นะ แต่เขายังขาดกระบวนการการเข้าถึงข้อมูล

ถ้า shift จากเกษตรกรเป็น SME ซึ่งเอาจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้นนะ เขาลงทุน เขามีพื้นที่ เขาขายของ ขอเพียงแค่เขามีการตลาด นำสิ่งที่เขา Production ซึ่งอันนี้รัฐบาลรับเข้ามาช่วย อะไรหลาย ๆ อย่างเนี่ยที่ผ่านเราก็เป็น SME ที่เราไขว่คว้า เราต่อสู้ เราไม่ได้ผ่านกระบวนการส่งเสริมที่เป็นคุณภาพ การส่งเสริมที่เป็นระบบ ให้ยกตัวอย่างถ้าสิ่งที่ผมเข้ามา เขาอยากจะเข้ามาดูแลก็คือ 1 ครอบครัว 1 Soft Power

นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะให้ของไทยมีมูลค่าในตลาดโลกจริง ๆ ได้ ที่ผ่านมาคนรู้จักผัดไทย รู้จักมัสมั่น รู้จักอาหารไทย แต่ว่าเป็นคำถามนะ แม้แต่ตัวคนไทยเอง การที่เราจะกินปลาทอดน้ำปลาจานหนึ่งในราคา 750 บาท ซึ่งปลามันใหญ่มากนะ กับเล้งอันหนึ่งใหญ่ ๆ ที่มันสัก 550 แล้วกันนะ หลายคนอาจจะมีคำถาม แต่ถ้าซูชิคำหนึ่ง 300 โอมากาเสะ 2,500 หรือพาสต้า พิซซ่า สเต๊กจานหนึ่งที่เกินพัน ไม่มีคำถามนะ แต่อาหารไทยที่ราคาเกิน 300 - 500 บาท มีคำถาม เหตุผลเพราะอะไร

The People : คุณคิดว่ามันเป็นเพราะอะไร ทำไมคนไทยเราถึงมักตั้งคำถามกับราคาอาหารไทย ทั้ง ๆ ที่อาหารตะวันตกมีราคาสูงมาก แต่ไม่เคยรู้สึกสงสัยเลย หรือว่าเป็นเพราะวัตถุดิบหรือเปล่า

อรรฆรัตน์ : Soft Power นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นวดไทย 250 บาท นี่คือคุณค่าอะไรบางอย่างที่มันจำเป็นจะต้องถูกการวางโครงสร้าง ถูกการวางระบบ ถูกการให้ความรู้ upskill reskill และรัฐช่วยนำพา หรือแม้แต่ซีรีส์ Y ของเราซึ่งอันดับต้น ๆ ของโลก ไปกันเองนะ ไม่ได้ไปโดยรัฐบาล ไม่ได้ไปโดยส่วนกลางที่ส่งเสริม อาหารไทยแบรนด์ไทยอะไรหลาย ๆ อย่าง มันไม่ได้ถูกนำตรงนี้มาจัดระเบียบอย่างเป็นทางการ ถ้าเป็นเกาหลี ที่ผ่านมามีกระแส K-WAVE ใช่ไหม มันเริ่มต้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปีที่แล้วเป็นปีของไก่ทอดจากเกาหลี ทุกซีรีส์ทุกเรื่องทุกหนัง ส่งเสริมกับซีรีส์คือไก่ทอด ปีนี้ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยได้เป็นไก่ทอดหาดใหญ่ อาจจะสู้กับเกาหลีได้ 

The People : แล้วผู้นำที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร

อรรฆรัตน์ : เป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติ นั่นหมายความว่ากลับไปเมื่อสักครู่นี้ ผม ถ้ามีโอกาสจะเป็นส่วนหนึ่ง 1 ใน 33 ของกรุงเทพมหานคร ก็คือเขต 21 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากร 170,000 คน ถ้าทั้งประเทศก็คือ 400 เขต คน 67 ล้านคน นั่นหมายความว่าผู้นำของเราได้รับความ- เกินข้ามไปกว่าความเชื่อใจ เชื่อมั่น ได้รับความไว้วางใจ ภูมิใจ ศรัทธาจากคนส่วนมากในประเทศที่จะตัดสิน ที่จะพาเราไปรอดจากวิกฤตที่มันเกิดขึ้น เป็นความภูมิใจได้ นำพาธุรกิจของเราไปบนเวทีโลก พาของคนไทย แบรนด์คนไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ไปในเขตดินแดนใหม่ ๆ ตอนนี้แอฟริกาซึ่งเป็นเขตใหม่ที่เกิดขึ้น ผู้นำของไทยเบอร์ 1 เบอร์ 2 เราไปไหม ในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือเปล่า หรือแม้แต่วุฒิภาวะในการตอบคำถามอะไรบางอย่าง เพื่อเชื่อมโยงก็คือผมเชื่อว่าผู้นำก็คือคนที่โดยเฉพาะผู้นำก็เรื่องหนึ่ง ผู้นำของประเทศมันต้องเชื่อมโยง โยงใยแต่ละท้องถิ่น แต่ละที่ เพื่อนำพาให้คนในชาติไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง เอาแค่หลักการก่อนเลย เราจะไปไหน

The People : ตอนนี้เราจะไปไหน

อรรฆรัตน์ : เราจะไปไหนก่อน จะไปด้วยวิธีไหน จะไปด้วยวิธีอะไร กลับมาแค่เบสิกนะ เราเป็นใครก่อน ตอนนี้เรายังสับสนว่าประเทศไทยคืออะไร เราคือ New economy เราคือ Technology startup เราคืออะไรเนี่ย เราคือฐานการผลิต เราคือ Innovation เราคือ Holistic Medical เราคืออะไรก่อน เราจะไปทางไหน เราไปด้วยอะไรด้วย ภายในเวลาเท่าไร เอาเบสิกอันนี้ก่อน อันนี้มันจะผ่านการกำกับ ระเบียบ ดูแล ผ่านโครงสร้าง ก็เข้าใจว่ามันยาก เข้าใจว่าถ้าเป็นบริษัทองค์กรหนึ่งก็คงยากแหละ

แต่นี่มัน 70 ล้านคนนะ ผ่านกระทรวง ผ่านข้าราชการประจำ ซึ่งวิสัยทัศน์มันจำเป็น ถ้าถามผมเข้าใจอย่างนี้นะ ยังไม่มีใครบอกเลย เราเป็นใคร แล้วเราจะไปไหน ไปด้วยวิธีอะไร ยังเห็นยังตบตีกันอยู่เลย ก็เขายังให้ Search Google อะไรบางอย่าง ให้กินไข่ ให้ไปดาวอังคาร

The People : ตั้งแต่ที่เราเด็ก ๆ จนถึงตอนนี้ ก็ได้ยินว่าเราจะเป็นศูนย์กลางของนู่นนี่นั่นตลอดเลย มันก็ไม่มีทิศทางกำหนดชัดเจนว่าเราจะเป็นอะไรกันแน่

อรรฆรัตน์ : เราเป็นประเทศที่มีศักยภาพนะ นักท่องเที่ยวเรามาประมาณ 37 ล้านคน แล้วก็เราเป็น hub อยู่ตรงนี้ แต่คำถามว่าเรายังไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อได้กับ One Belt One Road เรายังมีคนที่เข้ามา แต่เราไม่สามารถเพิ่มมูลค่ากับนักท่องเที่ยวที่มาได้ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเราเนี่ยยังคงใช้วันละประมาณเฉลี่ยต่อหัว 5,000 บาท ในขณะที่คนไปที่สิงคโปร์ใช้เงินเฉลี่ยต่อหัว 45,000 บาท ในขณะที่สิงคโปร์เป็นเกาะที่เล็กกว่าเรา แล้วเขาไม่มีอะไรเลย แต่เขาเป็น man-made เขาบอกภารกิจเขามา ที่ผมตั้งแต่เด็กจนโตเนี่ย เขาประกาศเลยว่าเขาจะเป็นศูนย์กลางการเมือง เขาจะเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี เขาจะเป็นศูนย์กลางของศิลปะ แล้วเขาก็ทำได้จริง เขาจะเป็นศูนย์กลางของนักท่องเที่ยว

ตอนนี้ทั่วโลกต่างคิดว่าสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของอาหาร เขาดึง Event ระดับโลกอย่าง Formula 1 night Formula 1 เข้ามาได้ เขาเป็นศูนย์กลางของ startup แล้วแทบจะเป็นศูนย์กลางการเมืองโลกแทนฮ่องกงในช่วงปีที่ผ่านมา มันผ่านการวางระเบียบ โครงสร้างการศึกษาอย่างชัดเจนที่เป็นระบบ เรามีความสามารถทางการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่เราไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวที่เข้ามา กับรักษานักท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมกับรายได้ที่เข้ามากับการดูแลสภาพแวดล้อมที่เป็นทรัพย์สมบัติของเราอย่างเหมาะสม

ย้อนกลับไปเมื่อ 2546 ตอนที่ผมทำรายการท่องเที่ยว วันนั้นเป็นวันที่มาเลเซียเปิดประเทศ มาเลเซียเปิดเกาะแล้วกัน เกาะหนึ่งชื่อเกาะสิปาดัน เปิดเกาะให้นักท่องเที่ยวไปดำน้ำ เขาให้ license กับรีสอร์ตที่อยู่ตรงนั้น 13 license วันหนึ่งสามารถมีคนไปได้ 10 คนหรือ 20 คนนี่แหละ ผมไม่แน่ใจ เพราะงั้นวันหนึ่งจะมีคนไปที่สิปาดันแห่งนี้ ประมาณร้อยกว่าคน 10 กว่าปีผ่านมา 20 ปีผ่านมา สิปาดันสวยขึ้นกว่าเดิม แล้วยังคงเป็นอย่างนี้เสมอ รวมจนถึงภูเขาไฟที่ต้องมีคนเข้าไปในจำนวนที่เหมาะสม ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวไทยสวยกว่า พีพี สิมิลัน ไม่เคยมีการจำกัดเรือที่เข้าไป ผมเคยไปดำน้ำแล้วมีเรือที่ข้างล่างเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้า รวมถึงการควบคุมเชิงปริมาณและคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปไกลเลย เอาแค่ขยะอ่อนนุชก่อน

The People : ตั้งแต่เปิดตัวผู้สมัครจนถึงวันนี้อุดมการณ์ของคุณสั่นคลอนไปบ้างไหม

อรรฆรัตน์ : อยากเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น SME เล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เราอยากเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งที่เราทำรายการก็คือว่าหน้าที่หนึ่งของผมก็คือว่าเรามีหน้าที่ที่จะบอกทุกคนว่าอาชีพเดียวมันไม่พอ เราควรจะมีอาชีพหลาย ๆ อาชีพ เพื่อให้เข้ากับเศรษฐกิจที่มัน โลกที่มันกำลังเปลี่ยนแปลง อันนี้ผมรู้สึกว่าอันนี้มันเป็นหน้าที่ของผมในฐานะพิธีกร เพื่อนำสิ่งดี ๆ เพื่อนำความหวังมาสู่ผู้ชมของผม ด้วยคำถามที่ผมถามคุณผู้ชม แต่มันก็เรียนรู้ว่าถามอย่างเดียวเพื่อให้ได้ มันไม่เพียงพอ

ถ้ามีโอกาสได้ผลักดันกฎหมาย ได้ผลักดันนโยบาย ผมจะเปลี่ยนจากคนถามมาเป็นคนทำ นี่คือสิ่งหนึ่งที่มันทำให้รู้สึกเติมเต็มชีวิตที่มันเหนื่อยมาก ๆ เลย  ให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำแล้วมีโอกาส แล้วจะเปลี่ยนจากคนถามเป็นคนทำ ได้รับความไว้วางใจจากคนในเขตประเวศ - สะพานสูง 170,000 คนแล้วเราเป็นตัวแทนเนี่ย คราวนี้คำถามของเราจะได้เป็นคนทำแล้ว เราจะได้ผลักดัน เราจะได้สานต่อนโยบาย อันนี้คือสิ่งที่อยากจะทำ แล้วก็ไม่หาย มันคือจุดยืนของเราที่ชัดเจนตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

12 ปีที่ผ่านมาเราเป็นรายการ ถ้าทำราย- ผมทำรายการมาทั้งหมด 116 รายการนะ ของ Mushroom (Group) ทำโฆษณามาสัก 1,000 ชิ้น จุดยืนของผมก็คือว่าไม่ว่าจะไกลขนาดไหน ไม่ว่าแขกรับเชิญคนนั้นน่ะจะตัวเล็ก ตัวใหญ่เพียงใด ผมสัมภาษณ์ตั้งแต่ชาวนา คนขายปลาหมึกปิ้ง จนถึงเจ้าสัวในบริษัทตลาดหลักทรัพย์หลาย ๆ บริษัท นักธุรกิจแสนล้าน ผมไปมาหมด ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่เชียงราย จะอยู่ที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเป็นรายการธุรกิจเดียวที่ on location

ผมว่าอันนี้มันคือเป็นเหมือนจุดที่เชื่อมโยงให้ผมมาถึงจุดนี้ เหมือนกับผมได้เตรียมความพร้อมในการพูดกับคน ในการฟังคน ในการสร้างแรงใจให้คน มันถึงจุดจุดหนึ่งถ้าผม ถ้าวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ผมสามารถ shift จากจุดหนึ่งที่ผมสั่งสมมา แล้วมากลายเป็นสิ่งที่ผมสามารถทำแทนคนไทยหลาย ๆ คนในฐานะเจ้าของ SME หรือคนที่อยากจะเติบโต คนที่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิต ก็เป็นสิ่งที่เป็นความภูมิใจของผม

The People : “การทำอาชีพเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว” ในโลกออนไลน์ก็มีดีเบตกันในประเด็นนี้ เป็นเพราะอะไร ทำไมถึงทำอาชีพเดียวไม่พอ ทำไมต้องมีหลาย ๆ อาชีพ คุณมีมุมมองต่อข้อดีเบตอันนี้อย่างไรบ้าง

อรรฆรัตน์ : แต่ก่อนมันเป็น career path เด็ก ๆ คิดว่าเรื่องเงินน่ะเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอโตแล้ว ทำให้รู้ว่าเรื่องเงินสำคัญมาก ไม่มีเงินนี่ตายเลย นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีเงินมากพออย่าเพิ่งพูดว่ามันไม่สำคัญ เอาอย่างนี้แล้วกัน เราเรียนจบแล้วเราก็หางานสักที่ เริ่มต้นทำธุรกิจ เพื่อจะเติบโต เงินเดือนเริ่มต้นสัก 20,000 16,000 12,000 มีรถมีบ้าน เพื่อเป็น career path แล้วเมื่อป่วยก็มีประกันสังคม ซื้อประกันอะไรก็แล้วแต่ แต่ถามว่าในอนาคตความมั่นคงปลอดภัยที่เกิดขึ้น disruption เกิดขึ้นตลอดเวลา นั่นหมายความว่าแล้วรายได้ที่เรามีมันก็แตกต่างจากค่าใช้จ่ายที่มันเกิดขึ้น ตอนนี้ต่อให้เงินเดือน 20,000 บาท ค่ารถเข้าเมือง 67 บาทขาเดียว 2 ขา 300 บาทพอไหม 600 บาทพอหรือเปล่า นี่คือคำถาม

อัตราขั้นต่ำกับการดำรงชีวิตมันไม่สอดคล้องกันอย่างแน่นอน ประกอบกับตรงที่ว่าสื่อมัน Social Media หรือสื่อตอนนี้มันรุมเร้า การที่เราอยากจะมีอะไรบางอย่างเนี่ย มันมีอารมณ์ยั่วยุของสื่อต่าง ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา คนไทยกำลังใช้คำว่าทำงานตั้งแต่อายุ 25 จนถึง 60 โดยไม่ได้มีเงินเก็บ และจะเกษียณไปพร้อมกับหนี้

เรื่องเงินนี่เป็นเรื่องสำคัญ นั่นหมายความว่าอาชีพเดียวมันอาจจะไม่เพียงพอ มันถูก disruption ได้ทุกเมื่อ อันที่ 1 ถามว่ามันจะพอไหม อันที่ 2 อันที่ 3 ในขณะที่โอกาสมันเกิดขึ้น ที่ในอนาคตของประเทศที่มีศักยภาพ มันควรที่ทำให้มันไม่ใช่ career path มันเป็น job path นั่นหมายความว่าความเชื่อของคนในอนาคตอาจจะไม่ได้อยู่ที่องค์กรเดียว

หรือถ้าองค์กรเดียวมันอาจจะเป็น entrepreneur นั่นหมายความว่าพัฒนาศักยภาพของเรา มันจะกลับมาถูกว่ามนุษย์ในอนาคตระบบการศึกษาที่เรียนมาเพียงแค่ 4 ปี แล้วจะกำหนดชีวิตเราไปอีกในอนาคตอีก 40 ปีมันคงไม่ใช่ นั่นหมายความว่า Lifelong Learning สำคัญไง การ upskill reskill ตลอดเวลา การที่เราจะต้องสามารถมี job path เพื่อให้เรามีความมั่นคงในชีวิต

ในขณะที่แผนการเงินกับการลงทุนที่มีการให้ความรู้และสามารถทำให้ประเทศเราพัฒนาไปข้างหน้า เพราะอย่างไรเราก็ต้องตอบโจทย์ด้วย GDP เราก็ต้องตอบโจทย์ด้วยรายได้ของประเทศ ของเรา 400,000 บาทต่อปีเฉลี่ย ในขณะที่เกาหลี 1,900,000 บาท นี่คือ gap เกาหลีใต้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีพอ ๆ ใช่ไหม ตอนนี้เฉลี่ยของเรารายได้ประมาณ 400,000 - 440,000 เกาหลี 1,800,000 ญี่ปุ่น 1,600,000 สิงคโปร์ 1,200,000 มาเลเซียประมาณ 600,000 อันนี้คือไม่ได้เปรียบเทียบ เปรียบเทียบกับตัวเอง เปรียบเทียบกับคนอื่นในระดับโลก

แล้วก็เป็นคำถามว่าก็มีงานเดียวมันพอไหมล่ะที่จะเกิดขึ้น ก็ถ้าโอกาสมันเกิดขึ้น เพื่อให้เราไปสู่ peace of mind กับการวางแผนทางการเงินแบบยั่งยืน เพื่อสามารถจะดูแลตัวเองได้ แล้วไม่ไปรบกวนคนอื่น และสามารถที่จะไม่เป็นอะไรที่ ใช้คำว่าอะไรดี ต่ำกว่า mean ของประเทศนี้ มันก็จะทำให้ประเทศเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า และก้าวข้ามผ่านประเทศรายได้ระดับปานกลาง

‘ก้อง-อรรฆรัตน์’ พิธีกรอายุน้อยร้อยล้าน ผู้ลงสมัครชิง ส.ส. เติมไฟฝันดัน Soft Power ผ่านเพื่อไทย The People : ถ้าเกิดว่าในอนาคตเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล เข้ามาดูแลทำหน้าที่ดูแลประเทศ รับใช้ประชาชน คิดว่าภาพประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

อรรฆรัตน์ : เพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศเปลี่ยนทำได้ทันที นั่นหมายความว่าเร่งด่วนที่เกิดขึ้นคือเราให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยที่กินได้ นโยบายเร่งด่วนก็คือปากท้อง แล้วก็คุณภาพชีวิตขยาย เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ขยายโอกาส เพิ่มรายได้ 10,000 บาทให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งหลายคนมองว่ามันเกิดขึ้นได้ยาก แต่ว่ามันจำเป็นต้องเกิด  

อย่างน้อยปากท้อง อย่างน้อยเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ เศรษฐกิจปัญหาปากท้องถูกแก้ การรักษาพยาบาลถูกแก้ อันนี้ก็น่าจะนำกำลังใจ น่าจะนำบรรยากาศที่หลายคนคิดถึงกลับคืนมาได้ จะมีผู้นำที่เราน่าจะมีความศรัทธา เราน่าจะไว้วางใจได้ในอนาคตเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 14 พฤษภาคม แต่ว่าเป็นเลือกตั้งที่สำคัญแล้วก็เป็นเชิงกลยุทธ์ด้วย นั่นหมายความว่าทุกคนรู้ ทุกคนยอมรับว่าเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1

แต่อันดับ 1 ครั้งนี้อาจจะไม่จัดตั้งรัฐบาลด้วยกระบวนการซึ่งมันขัดต่อความรู้สึก ขัดต่อความยุติธรรมอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอาจจะต้องขอกำลังใจ ขอแรงใจ ขอคะแนนเสียง ให้กา 2 ใบจากทุก ๆ คนเพื่อให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์ นี่เป็นทางรอด เป็นความหวังของประเทศไทย ก็ขอให้กาเพื่อไทย 2 เบอร์ แลนด์สไลด์ แต่ดีที่สุดคือเขต 21 ประเวศ - สะพานสูง กาก้องเบอร์ 13

The People : ประเทศไทยในอุดมคติของคุณมีภาพเป็นอย่างไร

อรรฆรัตน์ : เป็นความภูมิใจ เราภูมิใจมาก เรา Made in Thailand เราทำที่ประเทศไทย เราเกิดที่ประเทศไทย ของ ๆ ไทยเป็นของที่ทุกคนอยากได้ อาหารไทยเป็นอาหารที่ทุกคนชอบ แล้วก็ยอมจะจ่ายในราคาสูง ประเทศไทยเป็น Top destination ที่คนอยากจะมา เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราวางใจ ถ้าเราวางใจในประเทศของเรา เรารู้ว่าเราจะไม่อดตาย เรารู้ว่าเราจะมีอนาคต เราจะสามารถแก่ตายอย่างมีความสุขในโรงพยาบาลที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ลูกเราจะเติบโตไปในที่ที่มีอนาคต เท่านี้เราก็คงพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่นได้

ผมเชื่อว่าไม่มีคนต้องการที่อยากเอาเปรียบคนอื่น แต่มันจำเป็นจะต้องปากกัดตีนถีบ คือทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้เราอยู่รอดไปในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าถ้าประเทศในอุดมคติเนี่ย มีความภูมิใจ มีศักดิ์ศรีในระดับโลก เรามีความมั่นคง อุ่นใจไว้วางใจว่าเราจะสามารถมีชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดีระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือเนี่ยก็อยู่กับความมุ่งมั่นและความตั้งใจของตัวเองที่ทำให้เราสามารถที่จะไปได้ดีกว่าเมื่อวานที่เราเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องกลับมาที่อายุน้อยร้อยล้าน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การศึกษาเป็นอย่างไร คุณสามารถที่จะสำเร็จได้ถ้าคุณมุ่งมั่นพอ ภายใต้การส่งเสริมที่มีมาตรฐานและเท่าเทียมจากรัฐบาลประเทศไทยครับ