08 ม.ค. 2567 | 16:57 น.
- มด - นิสา ศรีคำดี เจ้าของผลงานอาร์ตทอย Crybaby ที่โด่งดังในต่างประเทศก่อนไทย
- Crybaby อาร์ตทอยเจ้าน้ำตาที่ใครมองว่าเป็น 'เด็กผู้หญิง' แต่ความจริงไม่ใช่
- Crybaby คือ อาร์ตทอยนามธรรม ไร้เพศ ไร้คำจำกัดความใด ๆ
สำหรับ Crybaby อาร์ตทอยจากศิลปินชื่อดังคนไทย ที่มองอย่างไรก็คล้ายเด็กผู้หญิงทุกตรง แต่เบื้องหลังของการสร้างผลงานกลับไม่ได้หมายถึงเด็กผู้หญิง หรือบุคคลด้วยซ้ำไป เพราะสำหรับ มด - นิสา ศรีคำดี เจ้าของผลงานอาร์ตทอย Crybaby เธอมองผลงานตัวเองค่อนข้างเสรี ไร้กรอบ ไร้คำจำกัดความใด ๆ
หลายครั้งที่มีคนพูดถึง ‘น้ำตา’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอาร์ตทอย Crybaby ที่มีชื่อเสียงไปไกลในหลายประเทศ จึงมีการตีความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือสิ่งที่ Crybaby เป็นว่าคืออะไรกันแน่
แต่ มด - นิสา หรือในวงการจะเรียกเธอว่า ‘มอลลี่’ บอกกับผู้เขียนว่า Crybaby คือตัวแทนของนามธรรมทั้งปวง ไม่ใช่รูปธรรม
Crybaby ได้อิทธิพลช่วงน้องหมาเสีย
“Crybaby ที่เราเห็นอาจจะคิดว่ามันดูเป็นเด็กผู้หญิงเนอะ แต่จริง ๆ ไม่ใช่นะคะ เพราะ Crybaby ไม่มีเพศ ไม่มีคำกำจัดความ ไม่ได้เป็นแค่บางสิ่งบางอย่าง เพราะเราไม่ได้ตีกรอบเขา
“เพียงแต่ว่า Crybaby น่าจะได้อิทธิพลช่วงที่น้องหมาที่เราเลี้ยงป่วยแล้วก็เสีย ดูรวม ๆ บางคนอาจจะดูเป็นผม เป็นบ๊อบ แต่ถ้ามองข้างหลังจะรู้เลยว่าเหมือนหูหมา ไม่ใช่ทรงผม มันเป็นแค่ช่วงประจวบเหมาะในตอนนั้นค่ะ เราเลยจินตนาการออกมาเป็นแบบนี้”
สารภาพว่าเป็นคนที่เคยตีความหมายทรงผม Crybaby มาก่อนว่า เหมือนเด็กผู้หญิงทรงผมบ๊อบ ซึ่งบทสนทนาในวันนั้นไขความสงสัยผู้เขียนได้เยอะทีเดียว มด - นิสา ได้เล่าย้อนช่วงชีวิตของเธอต่อ ด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความทรงจำมากมายในช่วงวัยนั้น
เธอบอกว่า ‘ของเล่น’ คำคำนี้สำหรับเธอในตอนนั้นดูเหมือนจะเกินเอื้อมมาก เพราะครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยอะไร การซื้อของเล่นจึงดูเป็นเรื่องไม่ปกตินัก เพราะมันแพง ถ้าอยากได้ต้องเก็บเงินซื้อเอง ดังนั้น ข้อจำกัดตรงนี้ทำให้เกิดพรแสวงในการเริ่มประดิษฐ์ของเล่นด้วยตัวเอง จนเธอกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับของประดิษฐ์ ของ DIY ที่หาได้ง่าย ๆ จากที่บ้านนั่นแหละ
“มดหมกหมุ่นกับงาน toy งานวาดรูป งานศิลปะมาก ๆ ก็เลยรู้สึกตั้งแต่เด็กแล้วว่าอันนี้แหละ โตขึ้นฉันจะต้องเป็นนักออกแบบของเล่นให้ได้”
ความคิด ‘ศิลปินไส้แห้ง’ ครอบงำ
เราจะเจอคนพูดประโยคนี้บ่อยมาก “ศิลปินไส้แห้ง” ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค Baby Boomer และถูกถ่ายทอดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความเชื่อและหลักคิดที่ครอบงำในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ ซึ่งพ่อแม่ของ มด - นิสา ก็คือหนึ่งในตัวอย่างที่เล่าเสียงสะท้อนนี้ได้ดังชัดเจน
“ในยุคพ่อแม่ หรือว่าผู้ใหญ่ เขาไม่เข้าใจว่าการเรียนศิลปะเรียนแล้วไปทำอะไร ทำมาหากินอะไร เราก็เลยมีความรู้สึกว่าโอเค งั้นเราเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งก็คือกราฟิกดีไซน์ค่ะ คิดว่ามันน่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เราชอบด้วย แล้วก็คงทำเป็นอาชีพได้”
หลังจากที่เรียนจบ เธอได้ทำงานสายกราฟิกดีไซเนอร์ตามที่ตั้งใจ ทำอยู่แบบนั้นนาน 7 ปี จนรู้สึกว่าไฟในตัวเองเริ่มมอด ความโหยหาในงานดีไซน์มันอิ่มตัว จึงตัดสินใจลาออกและเลือกทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งเธอเคยทำงานด้านแอนิเมชันอยู่บ้างช่วงที่ยังทำงานที่เดิม จึงมองว่าเป็นข้อดี เพราะมันทำให้เธอได้ลิ้มรสประสบการณ์ในการทำงานได้หลากหลาย
จนวันหนึ่งที่เธอรู้สึกว่า passion ที่เคยมีมาก ๆ ช่วงวัยเด็ก มันหายไปจากชีวิตนานมากแล้ว และนั่นก็คือวันที่ มด - นิสา เริ่มปั้น prototype จากสิ่งที่อยู่ในหัวขึ้นมาครั้งแรก!
Crybaby ถือกำเนิด
เช้าวันหนึ่ง หลังจากที่ มด - นิสา พักมาอย่างเต็มที่ ความคิดที่โลดแล่นในหัวเริ่มกระซิบบอกเธอดังขึ้นว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จากที่ทุกทีเธอจะสเก็ตช์ภาพคาแรกเตอร์บนกระดาษ โดยเฉพาะ ‘กระต่าย’ ที่มักจะอยู่ในภาพไดอารี่ของมด - นิสา เกือบทุกครั้งที่อารมณ์ศิลปินประทับร่าง
แต่วันนั้นกลับไม่เหมือนเดิม เธอเริ่มใช้มือปั้นตัวต้นแบบ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืออะไร ค่อย ๆ บรรจงปั้นตามเสียงที่อยู่ในหัว วันแล้ววันเล่า จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งที่อยู่ตรงหน้าในตอนนั้นกลับไม่ใช่กระต่าย แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่มีตา จมูก และหูที่คล้ายกับหูน้องหมา สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากความสูญเสียและความเศร้าโศกช่วงที่น้องหมาที่ มด - นิสา เลี้ยงป่วยและได้จากไป
“Crybaby ที่เราเห็น อาจจะคิดว่ามันดูเป็นเด็กผู้หญิงเนอะ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่นะคะ Crybaby ไม่มีเพศ ไม่มีคำจำกัดความทั้งสิ้น Crybaby คือตัวแทนของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ดังนั้น ทุกอย่างที่เราเห็น จริง ๆ น่าจะได้อิทธิพลมาจากหูหมา มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของผมอย่างที่หลายคนเข้าใจ
“เพราะถ้าดูด้านหน้าจะเห็นเหมือนเป็นผมบ๊อบ แต่จริง ๆ ถ้าดูด้านหลังจะรู้เลย หรือว่าด้านข้างจะเห็นเลยว่ามันเป็นหูมากกว่าที่จะเป็นผม
“เราค่อย ๆ ทำขึ้นมาเรื่อย ๆ ใช้เวลา 2 เดือนเต็ม ๆ ค่ะ จากแบบว่าโอเค มันใกล้เคียงแล้ว ก่อนหน้าที่จะเป็นหน้าตาอย่างนี้ มันเป็นหน้าตาอย่างอื่นมาตลอด แต่เราทำตามความรู้สึก อินเนอร์ของเรายังไม่สิ้นสุด ก็ปรับมาเรื่อย ๆ ปล่อยไปตามอารมณ์ แก้ไปเรื่อย ๆ ตัวสั้นไป ตัวยาวไป อยากให้มันอ้วนกว่านี้...คือทุกอย่างก็ถูกแก้มาเรื่อย ๆ เรารื้อจนมันออกมาเป็น Crybaby
“ซึ่งตัวต้นแบบของเราที่มากับน้ำตาเม็ดใหญ่ ๆ เป็นเพราะเราหลงใหลในน้ำตาอยู่แล้ว ยิ่งใหญ่ยิ่งรู้สึกว่ามันคือการร้องไห้ที่เต็มที่ จากการอัดอั้น การอดทน หรืออะไรก็ตาม คือน้ำตาเม็ดใหญ่สำหรับมด มันเหมือนได้ตะโกนออกมาดัง ๆ
“ตอนที่ปั้นตัวต้นแบบ มันมาจากอินเนอร์ที่เรารู้สึกว่า เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดอยู่ในกรอบสังคม ไม่กล้าที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่า เราก็มีมุมที่เราไม่ไหวเหมือนกัน มีวันที่เรารู้สึกว่าเราต้องการจะระบายมันออกมา เรากลัวที่จะให้ทุกคนเห็นหรือทุกคนรู้ ก็เลยใส่มันไปใน Crybaby แทน เหมือนเราหยิบน้ำตาเม็ดเป้ง ๆ แบบฉันก็มีมุมที่ฉันไม่ไหวเหมือนกันนะ แล้ววางมันลงไปในตัว Crybaby”
ไม่ว่า มด – นิสา จะเคยผ่านเหตุการณ์หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกเศร้า หม่น จนอยากจะร้องไห้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า บางทีคนเราก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากเหตุการณ์หรือห้วงอารมณ์ที่ตัวเองเคยเก็บซ่อนได้เหมือนกัน
อย่างที่ มด - นิสา บอกกับเราว่า “การร้องไห้มันแปลว่าคุณยังมีชีวิตอยู่นะ มันควรจะโอเค ไม่ว่าทุกวันนี้เขาจะได้ยินมันดังแค่ไหน หรือเบาแค่ไหนก็ตาม เราสร้าง Crybaby เหมือนเราพยายามจะตะโกนบอกทุกคนว่า น้ำตาไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอนะ ก็หวังว่าวันหนึ่งทุก ๆ คนจะได้ยินในสิ่งนี้ค่ะ”
บางเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ก็อาจจะเกิดจากจุดเล็ก ๆ ของใครบางคนก็ได้ เหมือนกับเรื่องราวของ Crybaby ที่ครั้งหนึ่งเพียงอยากจะสื่อสารว่า ฉันก็ร้องไห้ได้นะ ฉันก็อ่อนแอเป็นนะ แม้ว่าจะเติบโตขึ้นมาในสังคมที่อยากให้เข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม เพราะฉันเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ที่บางครั้งก็ไม่เข้าใจอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง แต่ฉันแค่อยากซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง มันก็แค่นั้นเอง...