ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว : บทเพลงพระราชนิพนธ์ ทำให้หลงใหลในดนตรีแจ๊ส

ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว : บทเพลงพระราชนิพนธ์ ทำให้หลงใหลในดนตรีแจ๊ส

ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว ชายที่เคยหลงรักแนวเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยเดิมมาก่อน แต่เมื่อได้ยินเสียงแซกโซโฟน และดนตรีแนวเพลงแจ๊ส จากบทเพลงพระราชนิพนธ์ ทำให้หลงใหลและอยากเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีแจ๊สมากขึ้น จนเขาสามารถก่อตั้ง ‘Saraburi Jazz Community’ เพื่อแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น

  • เพราะบทเพลงพระราชนิพนธ์ทำให้ 'ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว' หลงรักในเสียงดนตรีแจ๊ส และท่วงทำนองจากแซกโซโฟน
  • ‘ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว’ ผู้ก่อตั้ง Saraburi Jazz Community ความสุขจากดนตรีแจ๊ส สู่ผู้อื่นในจ. สระบุรี

 

“ผมอยากเพิ่มพื้นที่ว่างให้กับดนตรีแจ๊ส และอยากให้ดนตรีแจ๊สเป็นหนึ่งในตัวเลือกการฟังเพลงของใครหลายคน”

นี่คือคำกล่าวของ แม็กซ์ หรือ ‘ธนวัฒน์ สิงห์เหนี่ยว’ ชายที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส จากนักร้องลูกทุ่งและเพลงไทยเดิม สู่ผู้ก่อตั้ง ‘Saraburi Jazz Community’ ขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับนักดนตรีแจ๊สในจังหวัดสระบุรี และเปิดโอกาสให้ดนตรีแจ๊สได้มีพื้นที่ในสังคมมากยิ่งขึ้น 

จุดเริ่มต้นในวัยเด็กของแม็กซ์ ได้ซึมซับดนตรีลูกทุ่งจากพ่อแม่ จากบทเพลงของศิลปินระดับตำนานอย่าง ‘ทูล ทองใจ’, ‘ยอดรัก สลักใจ’, ‘เสรี รุ่งสว่าง’, ‘ระพิน ภูไท’ และได้ประกวดร้องเพลงที่โรงเรียน จุดเริ่มต้นที่ทำให้แม็กซ์เริ่มซึมซับเพลงไทยเดิมเข้ามาในชีวิต

จนกระทั่งได้ฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีลักษณะท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ส และเสียงแซกโซโฟนอันไพเราะ รวมถึงในช่วงวัยเด็กของแม็กซ์ ที่ได้เห็นตัวละครจากเรื่องขบวนการห้าสี ‘เจ็ทแมน’ (Jetman) ตัวละครสีดำได้มีการนำแซกโซโฟนมาเป่า ด้วยมนต์เสน่ห์และภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แม็กซ์เริ่มหลงใหลในเสียงของเครื่องเป่าชนิดนี้จนถอนตัวไม่ขึ้น เขาพยายามค้นหาความหมายของคำว่า ‘แจ๊ส’ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส

เมื่อแม็กซ์ได้เล่าเรียนและศึกษาเกี่ยวกับดนตรีจนกระทั่งเรียนจบ ได้สั่งสมประสบการณ์จากการฟังเพลงแจ๊สมากขึ้น และได้สังเกตเห็นจุดเด่นบางอย่าง ซึ่งแม็กซ์ได้ให้เหตุผลว่า ดนตรีแจ๊สแตกต่างจากดนตรีแนวอื่น ๆ อย่างไร อะไรที่เป็นเสน่ห์ของแจ๊ส?

แม็กซ์ได้กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ดนตรีแจ๊สมีเสน่ห์และน่าดึงดูด คือการ ‘อิมโพรไวส์’ (Improvise) ซึ่งก็คือการเล่นออกมาตามความรู้สึก ณ ขณะนั้น โดยไม่ได้เตรียมตัวเอาไว้ก่อน แต่การอิมโพรไวส์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเล่นอะไรออกมาก็ได้ การที่จะอิมโพรไวส์ออกมาให้ดี ทำให้ผู้ฟังและผู้ร่วมแจมดนตรีรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปด้วย คือการมองดูว่าตัวบทเพลงที่กำลังเล่นให้ความรู้สึกอย่างไร เราจะใส่อะไรลงไปให้มันสอดคล้องและไปด้วยกันได้อย่างไหลลื่น

“การอิมโพรไวส์ไม่ได้หมายถึงอะไรก็ได้ซะทีเดียว มันจะอยู่ในกรอบและขอบเขตที่ตั้งเอาไว้ แต่กรอบนั้นมันสามารถแต่งแต้มวาดเขียนและวางอะไรลงไปในนั้นได้พอสมควร แต่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเรา มันอิสระกว่าเพลงป็อป เพลงลูกทุ่ง ทั้งชีวิตที่เคยสัมผัสมา นั่นจึงทำให้หลงรักในดนตรีแจ๊ส”

แน่นอนว่าดนตรีแจ๊สมีอยู่ทุกที่บนโลกใบนี้ และดนตรีแจ๊สในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่ดนตรีแจ๊สของไทยมีความแตกต่างจากดนตรีแจ๊สสากลอย่างไร?

แม็กซ์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของดนตรีแจ๊สไทยและสากล ว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร ทั้งระบบการศึกษา สื่อโซเชียลฯ การเข้าถึงต่าง ๆ ทำให้คนที่ชื่นชอบหรืออยากศึกษาดนตรีแจ๊สเข้าถึงได้แตกต่างกัน และด้วยวัฒนธรรมแต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

“ดนตรีแจ๊ส มันเปรียบเหมือนกับฝนที่อาจจะตกในพื้นที่ไหน ประเทศไหน จังหวัดไหน พอมันได้หลอมรวมกับดินตรงนั้น มันก็จะออกมาเป็นธรรมชาติของท้องถิ่นนั้น ๆ นั่นจึงทำให้มีความเป็นอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างชัดเจน”

ซึ่งดนตรีแจ๊สทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดมา ทั้งในเรื่องของระบบแนวคิด ระบบการบันทึกเสียง อย่างเช่น ดนตรีแจ๊สในยุค 40’s ระบบการอัดเสียงก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการพัฒนาระบบการบันทึกเสียงที่มีคุณภาพ และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบแนวคิดในการเรียบเรียงดนตรีศิลปินมักจะมองหาอะไรที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ทำให้ดนตรีแจ๊สมีวิวัฒนาการอยู่ตลอด

เช่นเดียวกับกรณีของศิลปินแซกโซโฟนชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘เคนนี จี’ (Kenny G) ที่ถึงแม้ว่าจะมีแฟนเพลงชื่นชอบในผลงานของเขาอย่างมาก แต่เขากลับถูกวิจารณ์ในแง่ลบจากเหล่าศิลปินแจ๊สด้วยกันเอง

โดยหลายคนมองว่า เคนนี จี ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของดนตรีแจ๊สดั้งเดิม เนื่องจากเขาได้มีการนำดนตรีแจ๊สไปพัฒนาและต่อเติมให้มีความแปลกใหม่มากกว่าแจ๊สแบบเดิม ๆ จึงไม่แปลกใจที่ศิลปินที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งเก่า ๆ เอาไว้ จะรู้สึกไม่คุ้นชินกับอะไรที่ใหม่

“ซึ่งแท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับทุก ๆ คนอยู่แล้ว รวมถึงดนตรีแจ๊สด้วยเช่นกัน ที่มีวิวัฒนาการในแต่ละยุค ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้สามารถบอกได้ว่าในแต่ละยุค ได้มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง ในแต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม้กระทั่งตัวโน้ตที่มีความซับซ้อน มีลูกเล่นชั้นเชิงที่มากขึ้น ฉะนั้น ดนตรีแจ๊สที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ  ทำให้มันมีเสน่ห์เฉพาะตัวในแต่ละยุคสมัย

“รวมไปถึงภาพจำของดนตรีแจ๊ส ที่ว่าจะต้องเป็นดนตรีที่มีความยากและซับซ้อนอยู่เสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วดนตรีแจ๊สและดนตรีแนวอื่น ๆ เปรียบเหมือนภาพวาดศิลปะ ดนตรีแจ๊สจะมีลักษณะคล้ายกับภาพ ‘แอบสแตรกต์’ (Abstract) มีวิธีการบอกเล่าหรือสื่อสารค่อนข้างต่างจากแนวดนตรีอื่น ๆ 

“ซึ่งเป็นการบอกเล่าว่าในแต่ละวันหรือแต่ละเหตุการณ์ ผู้แต่งไปประสบพบเจออะไรมาบ้าง รู้สึกอย่างไร จะนำเสนอมันออกมาด้วยวิธีแบบไหน จากวิธีการบอกเล่าแบบเดิม ๆ ดนตรีแจ๊สก็จะมีวิธีการบอกเล่าแบบใหม่ นั่นจึงกลายเป็นเสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส”

 

ความนิยมของดนตรีแจ๊สในสระบุรี

เป็นที่รู้กันดีว่าแจ๊สค่อนข้างจะเป็นดนตรีที่เฉพาะกลุ่ม แม็กซ์ได้เล่าถึงดนตรีแจ๊สในจังหวัดสระบุรี ที่เดิมทีแล้วยังไม่ได้รับความนิยม แต่แม็กซ์ที่ชื่นชอบดนตรีประเภทนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนนักดนตรีมาร่วมทำกิจกรรมสนุกด้วยกัน เพื่อหาพื้นที่เล่นดนตรีแจ๊ส 

ทั้งสองเริ่มต้นจากการนำดนตรีแจ๊สไปเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้คนสัญจรไปมา จนผู้คนค่อย ๆ ซึมซับเพลงแจ๊สที่ทั้งสองบรรเลง หลังจากที่ได้เล่นดนตรีด้วยกันตามสถานที่ต่าง ๆ ผู้คนเริ่มพบเห็นและรับรู้มากขึ้น

จนกระทั่งได้มีการจัดงานเล็ก ๆ เพื่อให้นักดนตรีแจ๊สในสระบุรีได้มาพบเจอกัน จำนวนสมาชิกที่เกิน 10 คน สำหรับแนวเพลงแจ๊สในต่างจังหวัดแบบนี้ถือว่าเป็นจำนวนเริ่มต้นที่เยอะพอสมควรแล้ว ซึ่งจากนั้นก็ได้มีการรวมตัวกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“ในมุมของผู้ฟัง ก็มีคนที่สนใจในเพลงแจ๊สมากขึ้นด้วยเช่นกัน มีคนพูดถึงมากขึ้น เมื่อใดก็ตามที่เราได้มีโอกาสเล่นดนตรีตามร้านอาหารหรือสถานที่ต่าง ๆ ก็จะมีผู้คนแวะเวียนมาฟังบ่อยขึ้น นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ ที่สามารถทำให้ดนตรีแจ๊สเริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนในสระบุรี 

“เรานำดนตรีแจ๊สมาเชื่อมเข้ากับหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ทั้งการไปทำประโยชน์สาธารณะ เช่น การนำดนตรีแจ๊สไปเล่นให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลฟัง จึงทำให้ผู้คนค่อย ๆ ซึมซับดนตรีแจ๊ส”

 

การผลักดันและเข้าถึงดนตรีแจ๊ส

หลังจากที่แม็กซ์ได้ร่วมผลักดันดนตรีแจ๊สกับกลุ่มเพื่อน ๆ ในจังหวัดสระบุรี และได้ผลตอบรับที่ดี มีผู้คนที่ชื่นชอบดนตรีแจ๊สเพิ่มมากขึ้น ในมุมมองของแม็กซ์เอง ก็อยากให้ในประเทศไทยมีการผลักดันในเรื่องของกิจกรรมและเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องของดนตรีแจ๊สให้กับคนทั่วไป

“ความจริงผมก็ไม่ได้อยากจะให้คนมาชอบดนตรีแจ๊ส เอาจริง ๆ บนโลกนี้มีดนตรีอยู่มากมาย แต่ผมอยากให้ดนตรีแจ๊สเป็นหนึ่งในตัวเลือกการฟังเพลงของใครหลายคน

“ซึ่งจริง ๆ แล้วดนตรีแจ๊สมันไม่ได้เข้าถึงยาก ดนตรีทุกแนวมันมีความยากและง่ายในตัวของมัน ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นจะไปเจอกับดนตรีประเภทนั้นในมุมไหน

“เมื่อก่อนผมร้องเพลงไทยเดิม มีเพลงเถา เพลงลาว เพลงมอญ มีเยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าสมมติคุณไปเจอเพลงประเภทเหล่านี้ คุณหลับแน่นอน เพราะอาจจะเข้าถึงได้ยาก

“ดนตรีแจ๊สก็เช่นกัน สมมติคุณเปิดไปเจอเพลงของ ‘จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) ’, ‘ชาร์ลี ปาร์คเกอร์’ (Charlie Parker) หรือเพลงของบรมครูวงการแจ๊ส คุณฟังแล้วอาจจะเบื่อก็ได้ แต่เพลงที่เข้าถึงได้ง่าย อาจารย์เหล่านั้นก็เคยประพันธ์ไว้อยู่บ้าง เราอาจจะลองเริ่มฟังจากสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ง่าย ๆ ก่อน ถือว่าเป็นการเปิดใจและเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย

“เช่นเดียวกับผมที่เริ่มต้นจากเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง เพลงไทยเดิม แล้วพอได้เริ่มฟังเพลงสากล อย่างในเพลง ‘Just The Way You Are’ ของ ‘บิลลี่ โจเอล’ (Billie Joel) ซึ่งผมได้ยินเสียงเป่าแซกโซโฟนแล้วมีตัวโน้ตที่มันแปลกออกไป ทำให้เกิดความสงสัยว่าโน้ตนั้นมันคือโน้ตอะไร ผมก็เริ่มลองศึกษา แล้วค้นหาไปเรื่อย ๆ นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมตกหลุมรักเพลงแจ๊ส” 

 

ดนตรีแจ๊สกับกระแส ‘Soft Power’

ในช่วงเวลานี้ เป็นที่รู้กันดีว่ากระแสของ Soft Power กำลังเป็นที่พูดถึงในประเทศไทย ทำให้เกิดความสงสัยว่าเราจะสามารถร่วมผลักดันให้ดนตรีแจ๊สเป็น Soft Power ได้หรือไม่?

“ในมุมมองของผม ผมคิดว่าสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ แต่ถ้าหากเทียบกับประเทศอื่นที่มีต้นทุนในเรื่องของดนตรีแจ๊สมาก่อนแล้ว อย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่เรื่องดนตรีแจ๊สของพวกเขา เป็นอะไรที่สุดยอดมาก รวมถึงดนตรีอื่น ๆ ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นมีการผลักดันและสนับสนุนอยู่เสมอ จึงทำให้มีนักดนตรีแต่ละประเภทเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

“ผมไปเชียงใหม่มาหลายปี ผมประทับใจมาก นอกเหนือจากดนตรีแจ๊ส วงการศิลปะในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะ ที่เชียงใหม่สามารถทำให้มีเอกลักษณ์ได้ และเติบโตได้ไว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนถึงอยากไปเชียงใหม่กัน

“นอกเหนือจากเรื่องความสวยงามทางธรรมชาติ ไลฟ์สไตล์ ความเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะผ้าทอ เครื่องนุ่งห่ม งานศิลปะ ทุกอย่างน่าสนใจ ด้วยระบบความคิด วิถีชีวิต ถ้าหากเรานำมาพัฒนาและต่อยอดกับบ้านเกิดของเรา ในแต่ละจังหวัด หรือว่าในระดับประเทศ ผมคิดว่ามันจะทำให้ประเทศเราพัฒนาได้ต่อเนื่องไวมาก นั่นก็คือความเจริญเติบโตของคุณภาพชีวิตและคุณภาพจิตใจ เราจะไม่มีงานลอกเลียนแบบ เราจะมีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เราจะมีแต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในศิลปะและดนตรี”

แม็กซ์และเพื่อน ๆ นักดนตรี Saraburi Jazz Community ได้ร่วมกันทำกิจกรรมหลายอย่างขึ้นมา เพื่อผลักดันและเพิ่มพื้นที่ให้กับดนตรีแจ๊ส ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ กิจกรรม ‘Saraburi Jazz Festival’ ที่จะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 และวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 ได้รับเกียรติจากนักดนตรีแจ๊สและศิลปินแห่งชาติ อย่าง ‘วินัย พันธุรักษ์’ มาร่วมขับกล่อมบทเพลงอันไพเราะท่ามกลางบรรยากาศลมหนาวในหุบเขา  

เพื่อตอกย้ำว่าสระบุรีเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ไม่ใช่แค่เมืองทางผ่าน เพราะในอนาคตอันใกล้ จะเป็นเมืองที่มีการท่องเที่ยวและการลงทุนที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน มีการลงทุนทั้งในโรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงแรม รวมถึงห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

“เมื่อมีการพัฒนาและการลงทุนที่มากขึ้น ในสระบุรีก็มีดนตรีแจ๊สเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาภายในจังหวัดสระบุรี ซึ่งมุ่งหวังว่าพวกเราจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สามารถขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีให้พัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่หยุดอยู่กับที่ ทั้งในภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และดนตรีแจ๊ส”

จากความพยายามของแม็กซ์ และกลุ่ม Saraburi Jazz Community ที่ร่วมกันผลักดันตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ดนตรีแจ๊สได้มีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น และในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นนักดนตรีแจ๊สจากจังหวัดสระบุรีที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

 

ภาพ : Max Tone/Facebook