อัสสชิตะ อวาเล: กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย

อัสสชิตะ อวาเล: กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย

กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย

บรรยากาศยามสายในย่านประตูน้ำนั้นเงียบสงบ มีเสียงพูดคุยเบา ๆ ดังมาจากร้านรวงที่เรียงรายตลอดสองข้างทาง ลึกลงไปในตรอกเล็ก ๆ หลังโรงแรมอินทรา รีเจนท์ ป้ายไฟสีขาวสว่างเขียนว่า ‘Nepali Food’ คือสิ่งที่ดึงดูดสายตาและเชื้อเชิญให้เราแง้มประตูบานเล็กเข้าไปใน ‘Himalaya Restaurant’ ร้านอาหารที่ตกแต่งร้านด้วยรูปภาพ กลิ่นอาย และลวดลายของเทือกเขาหิมาลัย   ชานมเนปาลถูกเสิร์ฟเป็นอย่างแรก กลิ่นเครื่องเทศหอม ๆ รับกับรสของชานมเป็นสัมผัสที่ถูกลิ้นและชวนให้ละเลียดชิมอยู่ไม่น้อย เป็นเมนูเครื่องดื่มที่ ‘ธันวา’ ชายชาวเนปาลผู้เป็นเจ้าของร้านยินดีนำเสนอ ก่อนที่เมนูของคาวจะถูกนำมาวางเรียงบนโต๊ะ   เครื่องเทศ นาน และอาหารสารพัดเมนู เริ่มด้วยเมนู ‘โมโม่ไส้ไก่’ อาหารจานเด็ดจากตอนเหนือในแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ได้รับอิทธิพลจากจีนและทิเบต ทำให้มีหน้าตาคล้ายเกี๊ยวนึ่งที่อุดมด้วยไส้ไก่เต็ม ๆ คำ ถูกเสิร์ฟพร้อมกับ ‘คาจาเซ็ต’ ในจานใบใหญ่ที่เรียงรายไปด้วยยำไก่ ยำหัวไชเท้า ยำมันฝรั่ง และข้าวเม่ากรอบ ๆ ที่ธันวาบอกเราว่าวิธีกินคือคลุกเคล้าข้าวเม่าและเครื่องเคียงรสเด็ดอย่างละนิดให้เข้ากัน เสิร์ฟเข้าปากเป็นคำจะได้ทั้งรสเปรี้ยวอมหวาน และเผ็ดถูกปากคนไทย   จานถัดไปที่ถูกวางบนโต๊ะอาหารคือ ‘บารา’ หรือแผ่นโรตีที่ทำจากถั่วและผัก ให้รสชาติมันและกลมกล่อมไม่น้อย เช่นเดียวกับ ‘ทาลีเซ็ต’ หรือแกงแพะที่ถูกเสิร์ฟพร้อมกับแกงถั่ว ผักกวางตุ้ง และน้ำพริกแบบเนปาลแท้ ๆ กินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยอย่าบอกใคร   ส่วนจานสุดท้ายคือ ‘อีมาดาชิ’ หรือแกงชีสข้น ๆ สีสันจัดจ้าน รสชาติมันและเผ็ด กินคู่กับ ‘นาน’ หรือ ‘การ์ลิคนาน’ แผ่นแป้งรสกระเทียมเหนียวนุ่ม ฉีกเข้าปากกินคู่กันแล้วครบรสกำลังดี   อัสสชิตะ อวาเล: กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย   วัฒนธรรมการใช้มือและการถวายเทพเจ้า อาหารทั้งหมดที่วางเรียงกันบนโต๊ะ คืออาหารพื้นถิ่นของผู้คนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ถูกยกมาเสิร์ฟถึงไทยด้วยรสชาติแบบดั้งเดิม โดยแต่ละจานได้รับวัฒนธรรมการกินมาจากประเทศข้างเคียงที่ต่างกันไป อาหารของผู้คนทางตอนเหนือของเทือกเขาจะคล้ายอาหารจีนและทิเบต ขณะที่ทางตอนใต้คล้ายกับอินเดีย แต่ใช้เครื่องเทศน้อยกว่า และส่วนผสมบางอย่างก็ต่างกัน จนได้รสชาติที่อร่อยและมีเอกลักษณ์   การหยิบข้าวหนึ่งคำออกจากจานแล้ววางไว้ด้านนอก พร้อมด้วยแกงและเครื่องเคียงอย่างละเล็กละน้อย  คือสิ่งที่คนเนปาลอย่างธันวาทำก่อนเริ่มกินอาหาร เขาเฉลยความข้องใจของเราว่า   “คนเนปาล ก่อนที่จะเริ่มกิน เขาจะเอาข้าวแล้วก็แกงนิด ๆ มาถวายเทพเจ้าก่อน คือเอามากองไว้ข้างนอกนิดหนึ่ง เสร็จแล้วถึงจะกิน แม้กระทั่งเวลากินเบียร์ กินเหล้า เอานิ้วมาจุ่มแล้วก็ทำแบบนี้ ถือว่าเป็นการถวายเทพเจ้าก่อน นี่คืออะไรที่ประเทศอื่นอาจจะไม่มีแบบนี้ก็ได้นะ อันนี้คือความเป็นเอกลักษณ์ของเนปาล”   ถัดจากพิธีกรรมถวายเทพเจ้าอันเรียบง่าย ขั้นตอนถัดไปคือการกินอาหารด้วยสองมือ ธันวาใช้มือคลุกเครื่องแกงกับข้าวสวยร้อน ๆ แล้วค่อย ๆ ส่งอาหารเข้าปากแบบพอดีคำ เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ ที่คนเนปาลล้วนใช้มือกินตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน   กินข้าวไปพลาง ฟังเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเนปาลผ่านเมนูอาหารไปพลาง เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากถ้อยคำของธันวาล้วนน่าสนใจและแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมประเทศบ้านเกิดของเจ้าตัว   อัสสชิตะ อวาเล: กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย   อดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘อัสสชิตะ อวาเล’ หรือ ‘ธันวา’ คือชายวัยกลางคนผู้เป็นเจ้าของ ‘Himalaya Restaurant’ ร้านอาหารเนปาลในไทยที่เป็นที่รู้จักมากว่า 13 ปี โดยเสิร์ฟทั้งอาหารเนปาล ภูฏาน อินเดียเหนือ ไปจนถึงอาหารทิเบต ภายในร้านเล็ก ๆ ขนาดหนึ่งคูหาที่ประดับประดาด้วยรูปภาพบรรยากาศและเทพเจ้าหลากองค์   แม้ปัจจุบันธันวาจะรับบทบาทเจ้าของร้านอาหารเต็มตัว ร่วมกับการบริหารบริษัททัวร์ หากเมื่อราว ๆ สามสิบปีก่อนหน้า ชีวิตของธันวาในเมืองไทยนั้นเริ่มจากการทำงานในสายอาชีพนักข่าว   ธันวาเป็นนักข่าวประจำโต๊ะต่างประเทศอยู่ร่วมยี่สิบปี ก่อนที่เหตุการณ์สังหารหมู่พระราชวงศ์เนปาล ในปี 2544 จะเกิดขึ้น และกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่สื่อทุกสำนักล้วนให้ความสนใจ เพราะอยู่ในแวดวงสื่อ เขาเริ่มถูกถามไถ่กึ่งสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวที่บ้านเกิด และกลายเป็นผู้บอกเล่าความเป็นมาของเนปาลให้ชาวไทยได้รับรู้ไปโดยปริยาย   เรากลายเป็นแหล่งข่าวเกี่ยวกับบ้านเรา บางทีเราไม่รู้เราก็พยายามหาข่าวให้ ทำให้เราเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งในกลุ่มสื่อมวลชนไทย หลายคนเริ่มขอติดตามไปด้วยตอนเรากลับบ้านที่เนปาล เริ่มถามถึงการท่องเที่ยว ถามเรื่องอาหาร ถามถึงรสชาติอาหารเนปาลว่าเป็นยังไง   จากการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ธันวาเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับเนปาลลงเว็บไซต์ เริ่มศึกษาเมนูอาหารเพื่อให้เพื่อนฝูงที่สนใจได้ชิมลาง เริ่มสร้างและต่อเติมร้านด้วยการตกแต่งอย่างง่าย เพื่อหวังให้ ‘Himalaya Restaurant’ กลายเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ทำให้คนไทยรู้จักความเป็นไปในบ้านของเขามากขึ้น   อัสสชิตะ อวาเล: กลิ่นเครื่องเทศจากความตั้งใจของอดีตนักข่าวสู่เจ้าของร้านอาหาร ‘เนปาล’ เล็ก ๆ ในไทย   ร้านอาหาร ชุมชน พูดคุยเรื่องคนเนปาล ปากต่อปากบอกเล่า ทั้งจากเพื่อน ๆ นักข่าวและจากผู้คนที่ติดใจในกลิ่นอายของเนปาล เรื่องราวของร้านอาหารภายใต้คอนเซปต์ ‘เนปาลเล็ก ๆ’ แห่งนี้ได้เผยแพร่ไปในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ธันวามีลูกค้ามากขึ้นและเริ่มกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของเนปาลอย่างจริงจัง ในวันที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ‘Himalaya Restaurant’ ก็กลายเป็นชุมชนชาวเนปาลและหิมาลัยขนาดย่อมไปเสียแล้ว   “ที่นี่เป็นศูนย์กลางสื่อ เป็นที่หาข้อมูล นั่งกินนั่งคุย แล้วก็กินชา กินอาหารเนปาลได้” คือคำที่ธันวาพูดถึงร้านอาหารบรรยากาศเป็นกันเองของเขาด้วยความภาคภูมิใจ   จากนักข่าวอาชีพที่ไม่มีประสบการณ์ด้านอาหารมาก่อน แต่ด้วยความรักและความทุ่มเทที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมของเนปาลให้คนไทยได้รับรู้ ตลอดสิบสามปีที่ผ่านมา ธันวา - อัสสชิตะ อวาเล ได้สร้าง ‘Himalaya Restaurant’ ให้เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของความเป็นเนปาลผ่านรสชาติหวาน มัน เค็ม ของเครื่องเทศในเครื่องเคียงได้เป็นอย่างดี และมีเสน่ห์จนผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติล้วนแวะเวียนไปชิม ‘โมโม่ไส้ไก่’, ‘คาจาเซ็ต’ และอาหารรสเด็ดอีกมากมายที่เขาเตรียมไว้ให้ได้ลิ้มลอง   เรื่องและภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว