08 พ.ค. 2562 | 14:25 น.
หนึ่งในตัวการที่มีส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม คือ เศษขยะ โดยเฉพาะที่มาจากพลาสติก ซึ่งสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศอย่างมาก หลายคนเลยตราหน้าพลาสติกว่าคือวายร้ายทำลายโลก แต่สำหรับ “เลสลี่ โอลิเวอร์” เขากลับมองต่างว่า พลาสติกก็เป็นผู้ร้ายที่ยังมีหัวใจ “เลสลี่ โอลิเวอร์” (Leslie Oliver) เป็นศิลปินชาวออสเตรเลียที่ทำงานศิลปะหลากหลาย ทั้งประติมากร คนทำหนังทั้งกำกับเองอย่างเรื่อง You can't push the river และเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เขายังเป็นนักการศึกษา ผู้ร่วมก่อตั้ง Sydney Film School และล่าสุดคือเขาใช้ความเป็นศิลปินคืนชีวิตให้กับขยะพลาสติก ซึ่งเขาได้ไปเห็นสิ่งที่เหมือนไร้ค่าพวกนี้ กองเกะกะอยู่ตามหาดทรายในประเทศไทย “ทุกครั้งที่เก็บขยะขึ้นมา ไม่ว่าชิ้นนั้นจะเป็นเหล็ก เป็นโลหะ เป็นพลาสติก ผมชอบคิดไปถึงคนที่มีส่วนในการผลิตวัสดุชิ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ขุดมัน ที่ถลุง ที่หลอมมัน ที่ขึ้นรูปมัน คนที่มีส่วนในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น ทั้งที่พวกเขาก็ไม่ได้ค่าแรงเยอะ แถมยังต้องทนเหนื่อย ทนความร้อน เราเลยต้องรู้สึกถึงชีวิตของวัสดุต่าง ๆ อย่างเศษไม้ทุกชิ้นก็มีเรื่องราวจากหลายแหล่งที่มา บางชิ้นมีอายุมากกว่า 100 ปี กว่าจะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ ที่ถูกคนโค่นในเวลาไม่ถึงนาที แต่ละชิ้นจะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองว่าเติบโตมาอย่างไรในหลายสิบปีที่ผ่านมา ผ่านมากี่ฤดู ผ่านอะไรมามากมาย” ผลงานของเขาเลยออกแนวนามธรรม จากการประกอบวัสดุที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่าขยะ ถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปตระหนักถึงเส้นทางก่อนจะมาเป็นสิ่งของแต่ละชิ้น งานศิลปะของเขาเลยไม่ต่างอะไรกับความพยายามในการคืนชีพให้กับเศษขยะ ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีชีวิต การที่เลสลี่ เติบโตในฟาร์มแถบชนบทของออสเตรเลีย แล้วได้เห็นพ่อแม่ของเขาเก็บสิ่งของมารีไซเคิลอยู่บ่อย ๆ เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขารักในงานนี้ นอกจากนี้แล้วเขายังบอกว่าตอนเป็นเด็กเขาถือว่าเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน ทำให้คิดเลขไม่ค่อยได้ เพราะไม่เข้าใจคำถาม แต่กลับกันเขามองเห็นหลายอย่างเป็นภาพ ช่วยให้มีความถนัดด้านรูปทรง การคำนวณสัดส่วน การจัดวางองค์ประกอบ บวกกับในฟาร์มมีเครื่องมืออุปกรณ์มากมาย ช่วยให้หลังเวลาว่างจากการช่วยงานในฟาร์ม รีดนมวัว ทำเนยสด แล้ว เขาสามารถสร้างผลงานต่าง ๆ ออกมาได้มากมาย เขาบอกว่าความหมายของงานศิลปะ มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เสพแต่ละคน ดังนั้นการไปบอกว่างานชิ้นนี้สื่อถึงอะไร จะกลายเป็นการปิดกั้นความคิดของผู้เสพงานนั้น ตัวผู้สร้างผลงานนั้นก็ไม่ต่างกัน ต้องใช้ความรู้สึก การสัมผัส เพื่อเข้าถึงความสวยงามที่ซ่อนอยู่ข้างใน และรับรู้ว่าวัสดุแต่ละชิ้นมีชีวิตแฝงอยู่ “อยากให้คนรู้ค่าของสิ่งของว่ากว่าจะมาเป็นของแต่ละชิ้น มันได้ผ่านการทำงานของคนหลายร้อยคน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ใช้งาน จนถึงนักศิลปะที่แปรจากขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นงานศิลปะ” นอกจากประติมากรทำงานศิลปะจากขยะแล้ว ศิลปินคนนี้ยังมีส่วนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sydney Film School ซึ่งการเป็นคนทำหนังนี่เองที่เขาได้พบกับ “ปู-อุรชา โอลิเวอร์” หญิงสาวชาวไทย คนที่ต่อมาได้กลายเป็นคู่ชีวิตของเขา “ก่อนหน้าเคยทำงานที่เพื่อนเดินทาง เคยไปเขียนเรื่องที่ เมลเบิร์น บริสเบน ปี 1994 เลยตัดสินใจไปเรียนฟิล์มที่ซิดนีย์ เพราะอยากรู้ว่าเราจะทำได้มั้ย เราสนใจเรื่องหนัง ไปหาหนังอาร์ทที่ร้านเช่าวิดีโอมาดู วันหนึ่งตอนที่ไปหาหนังฝรั่งเศสก็เจอกับเลสลี่” อรุชา เล่าย้อนกลับไปในวันแรกที่ทั้งคู่ได้เจอกัน ซึ่งตอนนั้นเลสลี่ทำงานในร้านเช่าวิดีโอพิเศษ ที่รวบรวมหนังอาร์ทเฮาส์จากทั่วโลกไว้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหนังหายากที่มีเพียงไม่กี่ชิ้น เลยให้เช่าได้ครั้งละวัน ซึ่งตอนนั้นอรุชามีเวลาว่างมาเช่าที่ร้านแค่สัปดาห์ละสองวัน เลสลี่เลยเสนอหนังที่เขาถ่ายขึ้นเองให้เธอยืมไปดูทั้งสัปดาห์ จากภาพยนตร์ที่เลสลี่ถ่ายทำเองเรื่องนั้น เป็นจุดเริ่มให้ทั้งคู่ได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น บังเอิญที่อรุชาสนใจคอร์สเรียนหนังที่เลสลี่ได้สอนอยู่ด้วย ทั้งคู่เลยกลายมาเป็นอาจารย์และลูกศิษย์กัน โดยตอนนั้น เลสลี่ โอลิเวอร์ เป็นคนทำหนังดาวรุ่งอนาคตไกลของวงการหนังออสเตรเลีย ที่กำลังยืนอยู่บนทางแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการใช้ชีวิตเป็นคนทำหนัง กับการเปิดโรงเรียนสอนทำหนัง “ถ้าเป็นคนทำหนัง มันต้องแย่งชิงโอกาสกัน เพราะเงินทุนสนับสนุนในการทำหนังมีไม่เยอะ ส่วนการทำโรงเรียนสอนทำหนัง เราจะได้สร้างสังคมคนทำหนังที่จะมารวมตัวกัน คอยช่วยเหลือกัน แชร์ประสบการณ์ความคิดเห็นว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรกันอยู่ เป็นสังคมที่น่าอยู่กว่ามาก” นักเรียนที่ผ่านโรงเรียนหนังของ เลสลี่ มีมากกว่า 1,000 คน ตลอดสิบกว่าปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2004 มี อรุชา ที่มีภาพยนตร์ที่เป็นสื่อกลางจนมายืนอยู่เคียงข้างเขาคอยให้กำลังใจและสนับสนุน และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sydney Film School ด้วย ทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่า พลังงานของการร่วมมือกันทำงาน จะสร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ เพราะในการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้น ทำแค่คนเดียวไม่ได้ ต้องใช้ทักษะความรู้ของหลายคนมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ช่างภาพ นักแสดง คนจัดไฟ ไปจนถึงคนเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ทุกคนมีส่วนช่วยให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องสำเร็จ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริงที่การทำหนังช่วยสอนให้รู้จักการใช้ชีวิต ให้รู้จักการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเพื่อไปถึงยังเป้าหมายที่ทุกคนวางเอาไว้ร่วมกัน “โรงเรียนของเราเอาสิ่งที่พวกเราไม่ชอบมาปรับปรุง เราสอนทั้งทฤษฎีในการผลิตภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันก็สอนปฎิบัติไปด้วย ให้หยิบกล้องออกไปถ่ายหนัง จากนักเรียนที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ภายในเจ็ดอาทิตย์ ช่วยกันทำหนังไปแล้วกว่า 16 เรื่อง” อรุชา กล่าวเสริมในส่วน Sydney Film School ที่เธอมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ตอนนี้ทั้งคู่กลับมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย โดยเปิดบ้านเป็นที่ทำงานศิลปะ พร้อมกับมองหาโอกาสที่จะเปิดโรงเรียนสอนทำหนังในเมืองไทย ซึ่งจะเน้นการถ่ายทำด้วยฟิล์ม เพราะทั้งสองคนเห็นว่ามันช่วยให้คนทำหนังมีระบบความคิดแบบใหม่ เทียบกันการใช้ถ่ายทำด้วยดิจิทัล การถ่ายทำด้วยฟิล์มในยุคดิจิทัลมีต้นทุนที่สูง และขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้คนทำหนังด้วยฟิล์มต้องประณีต และวางแผนอย่างดี การใช้ฟิล์มจริงเลยเหมือนกับการเรียนรู้สองภาษา ต้องหาจุดเชื่อมระหว่างสองไวยากรณ์ แล้วได้สิ่งใหม่ออกมา นอกจากนี้ทั้งเลสลี่ และ อรุชา มองว่าภาพยนตร์หลายเรื่องนอกจากเปลี่ยนวิธีคิดของคนทำแล้ว ยังมีส่วนในการกระตุ้นให้คนดูตระหนักรู้ได้ เช่นกรณีหนังสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ของ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงภัยคุกคามอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้หลายคนที่ดู เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองเลยทีเดียว “การทำหนังคือการเล่าเรื่อง ภาพที่สวยงามอย่างเดียวมันไร้ค่า น่าเบื่อ ต้องมีเรื่องราวที่แข็งแรงอยู่เบื้องหลัง เหมือนกับชีวิตเราก็ต้องมีเรื่องราว ถ้าไม่มีชีวิตเราก็ไม่เหลืออะไร การทำหนังคือการเชื่อมต่อเรื่องราว ถ้าเราสามารถเล่าเรื่องที่ชัดเจนมีพลังได้ เราก็อาจสามารถเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนไปอีกทางได้เลย”