09 ต.ค. 2563 | 21:10 น.
การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ประเทศไทยแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาด ‘โดยตรง’ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากความตื่นตัวในการป้องกันตัวเองของประชาชนทำให้อัตราการระบาดและอัตราผู้เสียชีวิตมีตัวเลขค่อนข้างต่ำ แต่ ‘ผลข้างเคียง’ ของโควิด-19 สร้างผลกระทบที่ร้ายแรงกับประเทศไทยยิ่งกว่าผลโดยตรง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แม้อัตราการระบาดในประเทศต่ำ แต่ถ้าการระบาดในต่างประเทศยังสูง การเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เช่นเดียวกัน ภายใต้ภาวะเช่นนี้ อัตราการบริโภคและความต้องการสินค้านำเข้าของประเทศต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไปด้วย หลังการระบาดมานานเกือบครบ 1 ปี ความหวังว่าประชากรส่วนมากจะเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ในเร็ววันคงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อตัวเลขการระบาดรอบสองในบางประเทศของยุโรปมีตัวเลขที่สูงยิ่งกว่ารอบแรก (ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีความเสี่ยงเข้าตรวจหาเชื้อมากกว่ารอบแรก) สิ่งที่เป็นความหวังว่าโลกจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วที่สุดก็คือ ‘วัคซีน’ หลายประเทศเดินหน้าการพัฒนาวัคซีนไปไกล บางประเทศเร่งให้มีการนำวัคซีนมาใช้โดยเร็ว เช่น รัสเซีย ที่ให้การรับรองวัคซีนตัวใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม (ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากองค์การอนามัยโลก กรณีลัดขั้นตอนการทดลองขั้นสุดท้ายเพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผล - The New York Times) ในประเทศไทยก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนดูแลโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยทีมวิจัยของจุฬาฯ เผยว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย น่าจะสามารถทำการทดลองในคนได้ภายในปลายปีนี้ (2020) และมีความมั่นใจว่า แม้เชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่สูง แต่วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาก็ยัง ‘เอาอยู่’ (จากพื้นฐานข้อมูลในปัจจุบัน) และเขาก็เชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อคนไทย เพราะความหวังว่าจะได้ใช้วัคซีนจากต่างประเทศน่าจะเป็นเรื่องยาก ไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ขึ้นใช้เอง รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้ The People : อยากให้อธิบายการทำงานของวัคซีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายของเรา นรินทร์ : เวลาพูดถึงวัคซีนในการป้องกันโรค เรากำลังพูดถึงการป้องกันโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากเชื้อโรค วัคซีน หลักการก็คือ สมัยก่อนเขาก็เอาเชื้อโรค เชื้อตัวนั้น หรือเชื้อใกล้เคียงกันมาสกัดแล้วก็ใส่เข้าไปในร่างกายของมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นมา เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่เราสนใจจะป้องกัน หลักการก็คือ เวลาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาตอบโต้มันอยู่แล้ว คราวนี้บังเอิญร่างกายไม่มีภูมิอยู่ก่อน บางทีมันสร้างไม่ทัน เขาก็เลียนแบบธรรมชาติ แทนที่จะให้มันติดเชื้อโดยธรรมชาติ ก็สกัดองค์ประกอบบางอย่างของเชื้อโรคที่เป็นตัวก่อโรคเข้ามาแล้วก็เพาะ เสร็จแล้วก็ทำให้อ่อนตัวลง แล้วก็ฉีดเข้าไปในสัตว์ทดลองก่อน พอได้ผลดีก็ฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกัน องค์ประกอบของวัคซีนตัวนี้ เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นมา เพราะฉะนั้นสมัยก่อนเราก็ใช้วิธีแบบนี้ ทำให้เชื้ออ่อนตัวลง แล้วก็ฉีดกระตุ้นเข้าไปในร่างกายมนุษย์ แต่มันก็มีอันตราย เพราะว่าพวกนี้มันเป็นเชื้อมีชีวิต ถึงแม้ว่าทำให้มันอ่อนตัวลงก็ไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า มันอาจจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น อาจจะติดเชื้อโรคตัวนั้น หรือทำให้ภูมิต้านทานผิดเพี้ยนไปหรือเปล่า? ในปัจจุบันเขาก็เลยพยายามให้ใช้วิธีสังเคราะห์ใหม่ คือแทนที่จะใช้เชื้อเป็น ๆ เขาก็ไปสกัดเอาสารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อโรคที่เรารู้จัก อย่างโควิด-19 เราก็สกัดสารพันธุกรรมบางส่วนของมัน แล้วก็เอาใส่เข้าไปในเซลล์เพาะเลี้ยงที่เป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่เขานิยมทำกันมากก็คือ พวกเซลล์ไตลิง เพราะว่ามันมีคุณสมบัติอื่น ๆ พอใส่สารเข้าไปแล้วมันจะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณได้เยอะ หรือว่าจริง ๆ บางคนก็ฉีดเข้าไปในไข่เพื่อให้เชื้อแบ่งตัวเยอะ ๆ อันนั้นมันยังฉีดเชื้อเป็นเข้าไป แต่ว่าพอเรา apply ใหม่ แทนที่เราจะฉีดเชื้อเป็นเราสกัดสารพันธุกรรมบางส่วน แล้วเราก็มีองค์ความรู้ว่า การใส่สารพันธุกรรมบางอย่างเข้าไปในสิ่งมีชีวิตบางอย่างมันสามารถกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตนั้นสร้างภูมิต้านทานเลียนแบบภูมิต้านทานในมนุษย์ได้ เขาก็มีความรู้ว่าพืชบางอย่างเราใส่สารพันธุกรรมบางตัวเข้าไปมันกระตุ้นให้พืชสร้างโปรตีนตอบสนองสารพันธุกรรมอันนี้ได้ ที่เขาพบมาก็คือ พวกข้าว ข้าวโพด หรือแม้กระทั่งมันฝรั่ง มันสามารถกระตุ้นให้พืชสร้างโปรตีนเลียนแบบสารพันธุกรรมอันนี้ได้ดีมาก แล้วเราก็มีองค์ความรู้ใหม่ว่า ใบยาสูบซึ่งเป็นใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลีย เขาก็ไปศึกษามาพบว่า เมื่อเราใส่องค์ประกอบบางอย่างของเชื้อเข้าไป พืชตัวนี้มันจะตอบสนอง คือเหมือนกับใส่คล้าย ๆ ยีนเข้าไปมันจะกระตุ้นให้สร้างโปรตีนตอบสนองขึ้นมาได้จำนวนมากเลย แล้วข้อดีของใบยาสูบนี้ก็คือ มันโตเร็ว สามารถสร้างโปรตีนได้จำนวนมากในเวลาไม่นาน แล้วมันก็ทนต่อสภาพแวดล้อมในหลาย ๆ ที่ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย มันก็เลย apply เอาใบยาสูบซึ่งเป็นพันธุ์ออสเตรเลียมาปลูกในประเทศไทย แล้วเราก็สกัดสารบางอย่างในเชื้อโรคไปกระตุ้นให้มันสร้างโปรตีนขึ้นมา แล้วก็เอาโปรตีนนั้นมาสกัดทำวัคซีนอีกทีหนึ่ง ก็ทำให้ลัดขั้นตอน คือเราไม่ต้องเอาเชื้อไปใส่ในไข่ ไม่ต้องเอาเชื้อไปใส่เซลล์ของพวกไตลิงแล้ว เพราะอะไร? เพราะมันง่ายกว่าเยอะในการใส่เข้าไปในพืช แล้วมันก็ค่อนข้างบริสุทธิ์ เมื่อใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ โอกาสที่จะมีผลแทรกซ้อนก็น้อย นี่ก็เป็นพื้นฐานของการผลิตวัคซีนจากพืช The People : เราเริ่มพัฒนาวิธีการผลิตวัคซีนด้วยพืชมานานแค่ไหนแล้ว? นรินทร์ : ถ้าพูดถึงการพัฒนาวัคซีนจากพืช จริง ๆ มันพัฒนามาไม่ต่ำกว่า 10-20 ปีแล้ว แต่ของวัคซีนโควิด-19 เข้าใจว่ามันก็พัฒนามาสองสามปีที่ผ่านมา คือคงไม่ใช่เรื่องของโควิด-19 วัคซีนมันตั้งแต่สมัยของโรคซาร์ส แล้วก็โรคอีโบลา ที่ระบาดเมื่อหลายปีก่อน ก็มีคนใช้วิธีเดียวกันนี้ คือสกัดชิ้นส่วนบางอย่างของเชื้อโรค แล้วก็มาใส่ในพืชแล้วกระตุ้นให้เกิดโปรตีนสร้างขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นเขาก็เอามาทำเรื่องของยารักษาอีโบลา หรือแม้กระทั่งเอาไปทำวัคซีน แล้วก็รู้จักมาตั้งแต่ ผมเข้าใจว่าเกือบสิบปีแล้ว แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เรื่องของโควิดวัคซีน ผมเข้าใจว่าเราเริ่มพัฒนามาสองสามปีที่ผ่านมา แต่ว่าจริง ๆ เริ่มต้นเราไม่ได้ผลิตวัคซีนนะ เราเอาสารของตัวโควิด-19 ไปกระตุ้นให้สร้างโปรตีนบางอย่างที่เรามาทำเป็นตัวทดสอบ ที่เขาเรียกวัตถุทดสอบว่องไว ก็สามารถเอาโปรตีนสกัดเป็นสตริป (strip - แถบสำหรับตรวจวัดหาองค์ประกอบบางอย่าง) แล้วก็เจาะเลือดปลายนิ้ว แล้วก็ทดสอบดูว่า ร่างกายของคนคนนั้นมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 หรือยัง? เอาไว้ใช้ในการคัดกรอง คนที่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 อันแรกที่เราทำเลยคือ คัดกรองคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ตอนหลังมา เราก็มาพัฒนาเพื่อออกมาในรูปของการทำวัคซีนแทน อันนี้เป็นพัฒนาการที่เราทำมา ทำมาประมาณสองสามปีแล้ว The People : การผลิตวัคซีนโควิด-19 อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว นรินทร์ : ทุกวัคซีนต้องผ่านการทดลองในห้องทดลอง แล้วก็ผ่านการทดลองในสัตว์ก่อน ตอนนี้จริง ๆ พืชที่ผมพูดถึงก็คือ ใบยาสูบจากออสเตรเลีย เรามาปลูกในประเทศไทยแล้ว แล้วเราก็สกัดสารตัวนี้ไปกระตุ้นมันแล้ว เราได้โปรตีนจำนวนมากจากตัวใบยาสูบพันธุ์ออสเตรเลีย เราก็มาสกัดให้บริสุทธิ์แล้วก็ใส่ไปในสัตว์ทดลอง สัตว์ทดลองที่เราใส่เข้าไปตั้งแต่หนู จนกระทั่งตอนนี้ถึงลิง ตอนนี้เราพบว่า สกัดเข้าไปใส่ในหนูและลิง ภูมิต้านทานมันสูงมากเลย พูดง่าย ๆ คือ มันสามารถกระตุ้นให้ร่างกายของสิ่งมีชีวิตอย่างพวกสัตว์ สามารถสร้างภูมิต้านทานได้สูงมาก เราไปทดสอบดูมันก็ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ด้วย ก็เลยเชื่อว่า ลิงมันใกล้เคียงกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นขั้นตอนต่อไปตอนนี้เรารอผลจากการทดลองในลิงขั้นสุดท้ายให้เรียบร้อย จากนั้นเราก็จะเริ่มผลิตจำนวนวัคซีนให้มากพอ แล้วก็จะเริ่มการทดลองในคน ซึ่งเราเชื่อว่าตอนนี้ที่เราทดลองมา ผ่านมาสักสามสี่เดือน ข้อมูลในสัตว์ทดลองมันค่อนข้างหนักแน่นแล้ว เพราะฉะนั้นเชื่อว่าเราน่าจะเริ่มการทดลองในคนได้ เข้าใจว่าภายในปลายปีนี้ The People : จากการทดลองในคนไปสู่การใช้จริง ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร? นรินทร์ : คือจริง ๆ ก็ต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกอยู่หลายระยะ โดยทั่วไปโดยมาตรฐานมันจะต้องผ่าน 3 ระยะ คือ ระยะ 1 ระยะ 2 ระยะ 3 ระยะ 1 ก็เป็นการทดสอบดูก่อนว่า วัคซีนที่เราเอามากระตุ้นในคนมันปลอดภัยนะ ซึ่งเราก็ใช้อาสาสมัครไม่มาก อาจจะสักร้อยสองร้อยคน พอผ่านว่าปลอดภัย ขั้นที่ 2 เราต้องมาดูว่าเราต้องใช้ปริมาณเท่าไร มันปลอดภัยแน่ ๆ นะ ใช้หลักประมาณเกือบ ๆ หลักพันคน พอได้ผลขั้น 2 ขั้น 3 เนี่ยเต็มที่แล้ว อันนี้ต้องใช้อาสาสมัครเป็นหมื่นคนเลย ถ้าเราผ่านทั้ง 3 ระยะได้ เราก็จะสามารถยื่น อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อจดทะเบียนแล้วก็สามารถที่จะเอามาใช้ในประชาชนได้ ก็ต้องผ่าน 3 ระยะ ซึ่งก็เชื่อว่าถ้าเราเริ่มประมาณปลายปีนี้ ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนี้ไปที่จะได้ผล แล้วก็สามารถที่จะยื่นขอจดทะเบียนของ อย. ได้ The People : ปัญหาการกลายพันธุ์ของโควิด-19 กระทบต่อการพัฒนาวัคซีนหรือไม่? นรินทร์ : ประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้เรื่องการผลิตวัคซีนของพวกโรคติดเชื้อ เราได้เรียนรู้เยอะคือเชื้อ HIV หรือเชื้อ AIDS ซึ่งเชื้อ HIV หรือเชื้อ AIDS ผมว่ามันก็มีองค์ความรู้ว่าจริง ๆ มันกลายพันธุ์เร็วมาก เพราะฉะนั้นนี่คือปัญหา จะเห็นว่าเราพัฒนาวัคซีนป้องกัน HIV ยังไม่ได้ผลเลย ไม่สามารถใช้ได้ เพราะมันกลายพันธุ์เยอะ ภูมิต้านทานที่เราสามารถกระตุ้นให้เกิดได้ เดี๋ยวเชื้อมันกลายพันธุ์ไปแล้ว แปลว่าภูมิต้านทานไม่สามารถป้องกันเชื้อที่กลายพันธุ์ไปได้ แต่เชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัส บังเอิญมันไม่เหมือนกับเชื้อ HIV เราพบว่าที่เราสกัด เขาเรียกว่าเป็น ตัวหนาม ตัวหนามที่มันจะไปเกาะกับเซลล์มนุษย์ เราสกัดส่วนที่เป็นหนาม สารพันธุกรรมของหนามมา แล้วก็ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน เราพบว่าต่อให้มันกลายพันธุ์ไป ไอ้ตัวหนามมันก็ยังค่อนข้างคงที่ คือมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเยอะเหมือนกับเชื้อ HIV AIDS ก็เลยเชื่อว่า ข้อมูลในปัจจุบัน ภูมิต้านทานที่ถูกกระตุ้นต่อให้มันกลายพันธุ์ไปตัวหนามมันยังคงเหมือนเดิม ก็เลยเชื่อว่าภูมิต้านทานที่เราได้จากวัคซีนก็ยังสามารถป้องกันมันได้ เพราะฉะนั้นเวลานี้เรายังไม่กังวลเรื่องกลายพันธุ์ (ในปัจจุบันนะ) แต่ในอนาคตคงต้องติดตามดูเหมือนกันว่ามันจะกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือเปล่า ปัจจุบันการกลายพันธุ์ระดับนี้เราเชื่อว่า วัคซีนที่เราทำภูมิต้านทานยังสามารถป้องกันมันได้ผลดีอยู่ The People : การผลิตวัคซีนครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานใดบ้าง? นรินทร์ : ปกติวัคซีนผลิตจากพืชเป็นความร่วมมือของ 3 ส่วนงาน อันที่ 1 ก็คือ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือทีมวิจัย เป็นอาจารย์ของคณะเภสัชฯ สองสามท่าน แล้วทางคณะเภสัชฯ ก็ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี ในเรื่องของห้องปฏิบัติการ ในการทดลองเบื้องต้น อันที่ 2 จะเป็นความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะการทดลองในสัตว์มันต้องใช้สัตว์ ทั้งสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ แล้วก็ต้องมีการควบคุมความปลอดภัยให้ดี เราก็ใช้ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จังหวัดสระบุรีเป็นหลัก เป็นสถานที่ในการทดสอบ อันนี้ก็เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชฯ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งสำคัญมากก็คือ บริษัทสตาร์ตอัปมีชื่อบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่เริ่มต้นจากจุฬาฯ บริษัทสตาร์ตอัปแปลว่าอะไร? แปลว่า เขาหาแหล่งเงินจากภาคเอกชน อะไรหลาย ๆ อย่างมาช่วยในการทำวิจัยอันนี้ ซึ่งบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มก็มาสนับสนุนค่อนข้างมากเลย ก็เป็น 3 ส่วนแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือ เราก็ร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องของกระบวนการทำต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุน หรือแม้กระทั่งการที่เราจะได้รับการรับรองโดย อย. สถาบันวัคซีนแห่งชาติก็มาช่วยตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราก็ร่วมมือกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนด้วยที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนตัวนี้ The People : ทราบมาว่าทางไฟโตฟาร์มยังวิจัยใบยาสูบเพื่อใช้เป็น ‘ภูมิคุ้มกันบำบัด’ ในการรักษามะเร็งด้วย มันมีจุดร่วมอย่างไร? นรินทร์ : คือพืชมันสร้างให้หมด มันอาจจะสร้างเป็นโปรตีนที่ไปทำวัคซีน สร้างเป็นโปรตีนที่เอาไว้ใช้รักษา สร้างโปรตีนเอาไปเป็นภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง หรือแม้กระทั่งสร้างโปรตีนที่เราเอาไปทำทดสอบคัดกรองโรค คือพืชมันแล้วแต่เราใส่สารพันธุกรรมเข้าไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถใส่สารพันธุกรรมบางอย่างของเซลล์มะเร็งเข้าไป พืชตัวนี้มันก็สามารถสร้างโปรตีนอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ก็อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาการกระตุ้นให้พืชสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อโรคมะเร็ง อันนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัย\แล้วก็เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าพอสมควรด้วยในอนาคตอันใกล้ เพราะฉะนั้นประโยชน์ของพืชตัวนี้คืออะไร? มันไม่เฉพาะเรื่องของวัคซีน มันสามารถสกัดสารโปรตีนเอามาใช้ในหลายมิติมาก ป้องกันโรคก็ได้ รักษาโรคก็ได้ คัดกรองโรคก็ได้ เพราะฉะนั้นนี่คือองค์ความรู้ใหม่ที่เราพัฒนาขึ้นมา แล้วเราคิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นองค์ความรู้จากนักวิจัยของคนไทยเราเอง แล้วผลิตผลที่ได้ก็เป็นผลิตผลของคนไทยที่เราไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ แล้วสำคัญที่สุดก็คือ เราสามารถเอาไปใช้กับคนไทยได้ก่อนเลย เรื่องของวัคซีน พูดเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ตอนนี้ถ้ารอวัคซีนต่างชาตินี่คงยากมาก ที่เราจะเอาวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะอะไร? ต่างประเทศเขาหนักกว่าเราตั้งเยอะ เขาก็จำเป็นต้องเอาวัคซีนไปใช้ในประเทศเขาก่อน เช่น ประเทศจีน ประเทศรัสเซีย คงได้ข่าวใช่มั้ย เขาเริ่มใช้วัคซีนกันแล้ว อย่างของเรา ถ้าเราขืนรอวัคซีนต่างชาติ โห! เราคงเข้าคิวกันตาย แต่ถ้าเราสามารถผลิตวัคซีนอันนี้ได้จากองค์ความรู้ของเราเอง ผลิตขึ้นมาด้วยสตาร์ตอัป หรือแม้กระทั่งหน่วยงานของเราเองในประเทศไทย เราก็สามารถเอาวัคซีนอันนั้น approved เรียบร้อยโดย อย. เราก็สามารถเอามาใช้กับคนไทยเราได้ก่อน ผมว่านี่คือจุดประสงค์สำคัญเลย ที่เราหวังเอาวัคซีนตัวนี้มาใช้กับประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคมะเร็ง การคัดกรองเราก็หวังเอามาใช้กับประเทศไทยให้ได้ก่อนเลย เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ ก่อนดูแลสุขภาพของประชาชนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้