‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

เรื่องราวการนวดวัดโพธิ์ถ่ายทอดโดย ‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ ทายาทรุ่น 3 โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กับ Soft Power ที่อยากให้คนไทยเห็นภูมิปัญญานี้และช่วยกันสร้างคุณค่า

  • การนวดไทยเหมือนกับมวยไทย Soft Power ที่มองว่าเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับก่อนคนไทยเห็นภูมิปัญญานี้
  • เล่าการนวดวัดโพธิ์ผ่าน ‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ ความเป็นมาที่มีคุณค่า และเป็นรากเหง้าของคนไทย

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ ทายาทรุ่น 3 โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) สำหรับเขาแม้ว่าอยากทำตามความฝันเมื่อครั้นที่ยังเป็นวัยรุ่น อยากพิสูจน์ตัวเองให้สมกับที่เป็น ‘เด็กนอก’ เรียนจบถึงเมืองนอกเมืองนา และใช้เวลานาน 2 ปีกับการยื้อไปมาเพราะไม่อยากสานต่อองค์ความรู้ของตระกูล

“ผมเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ไปเรียนที่อเมริกามา ก็ยิ่งไม่อยากมาทำใหญ่เลย”

ประโยคเปิดใจเมื่อผู้เขียนถาม เสรัชย์ เกี่ยวกับการเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งเขาตัดสินใจเข้ามาช่วยดูแลสานต่อธุรกิจตั้งแต่ปี 2537 กว่า 29 ปี ที่เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการนวดแผนไทย ประวัติที่มา และรากเหง้าของตระกูลตั้งตรงจิตร นั่นไม่ง่ายเลย

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

“เวลาหนุ่ม ๆ เราก็อยากจะพิสูจน์ตัวเอง อยากทำงานของตัวเองให้มันเจริญรุ่งเรือง ไม่ได้อยากจะมาทำงานของครอบครัว ซึ่งมีแต่ผู้ใหญ่ จริง ๆ แล้วที่นี่เป็นการทำงานแบบรุ่นต่อรุ่น หมอนวดหลายคนที่อยู่ปัจจุบันนี้ก็มีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายทำงานอยู่ที่นี่มาก่อน”

“ตอนนั้นเราคิดว่า ไม่อยากมาเลย ซึ่งจริง ๆ คุณพ่อก็ไม่ได้อยากเหมือนกันครับ สมัยก่อนแกทำงานอยู่ที่ Bayer (เวชภัณฑ์จากเยอรมนี) เป็นการทำยาแผนปัจจุบัน แกก็มาในเชิงแผนปัจจุบันเลย ซึ่งก็ไม่ได้อยากมาเหมือนกัน”

“ซึ่งมันมีข้อดีข้อเสียแหละ คือว่าลักษณะการบริหารที่นี่ก็จะไม่ใช่สมัยใหม่ จะเป็นลักษณะการบริหารแบบครอบครัวเลย แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องมาช่วยครับ มันถึงจุดที่แบบ...เอ่อ มาก็ได้”

 

คำว่า 'มหัศจรรย์' เปลี่ยนความคิด

แม้ว่าตลอด 2 ปีก่อนมารับช่วงต่อ เสรัชย์ ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะรับช่วงต่อธุรกิจแต่อย่างใด แต่เขาก็มาช่วยที่บ้านอยู่บ้างตามคำขอ ในฐานะที่เป็นเด็กจบจากเมืองนอก มีหลายสิ่งที่เขาช่วยเหลืองานที่บ้านได้ดี เช่น การแปลเอกสารภาษาอังกฤษ และการคุยกับลูกค้าต่างชาติ

“ตอนแรก ๆ เราก็มาช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มาคุยกับลูกค้าบ้าง มาช่วยเหลือตามที่เราเห็นว่าสมควร เราก็แปลเอกสารให้เขาบ้าง ไปคุยกับคนต่างชาติบ้าง”

สำหรับนวดแผนไทย เสรัชย์ ให้มุมมองเกี่ยวกับความนิยมหรือได้รับการยอมรับว่าแทบจะมาจาก ‘ต่างประเทศ’ หรือคนต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งคนที่มานวดยุคแรก ๆ ตามศาลาในวัดโพธิ์ก็คือต่างชาติ แล้วเกิดการบอกปากต่อปาก เพราะพวกเขามานวดแล้วหายจากอาการจริง ๆ

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

“บางคนเขานอนไม่หลับมาปี 2 ปี นอนได้นิด ๆ หน่อย ๆ แต่พอมานวดแล้วทำให้เขาสามารถหลับลึกได้โดยที่ไม่ต้องใช้ยานอนหลับ หรือบางคนเกิดอาการไหล่ติดพอมานวด 2-3 ครั้งก็เริ่มดีขึ้น มันเป็นความรู้สึกพิเศษ แบบว่าคุณมานวดไทย สมัยก่อน 60 บาทนี่คุณหายเลยนะ คุณดีขึ้นเลยนะ มันก็เลยเป็นลักษณะการยอมรับที่เริ่มจากคนต่างชาติ”

จุดที่เรียกว่าทำให้ เสรัชย์ ฉุดคิดขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ส่วนหนึ่งคงมาจากเหตุการณ์นี้ด้วย

“หลายคนที่เราชอบนวดไทย คือพอเขานวดเสร็จเขาตะโกนขึ้นมาดัง ๆ ว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เขาไม่เคยพบมาก่อน ยิ่งตอนนั้นค่านวดไทย 60 บาทแล้วคุณรักษาได้ เขาพูดว่ามันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ซึ่งตอนนั้นผมรู้สึกดีนะรู้สึกภูมิใจที่ได้ยินแบบนั้น”

“ส่วนคนไทยเรายอมรับอยู่แล้ว เพราะว่านวดวัดโพธิ์หรือยาของวัดโพธิ์เนี่ย เขาจะมีสรรพคุณ มีตำรายา ตำรานวดของรัชกาลที่ 3 ที่ได้จารึกไว้ในวัดโพธิ์คือมีการคัดกรองมาอย่างดี เหมือนเป็นงานวิจัยอย่างละเอียดอยู่แล้ว เพราะว่าท่านรับสั่งให้หมอหลวงที่อยู่กับท่านเป็นคนรวบรวม”

เสรัชย์ ได้อธิบายเพิ่มว่า ตำรายาหรือตำรานวดต่าง ๆ ในสมัยก่อน จะมีการนำไปให้หมอหลวงดูก่อนจารึกว่ามีโอกาสที่จะถูกต้องและเป็นไปตามนั้นไหม หากยังมีข้อสงสัยหรือเกิดความเห็นไม่ตรงกัน จะถือว่าใช้ไม่ได้ และจะไม่มีการจารึกใด ๆ

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

 

เรื่องเล่านวดวัดโพธิ์

ก่อนที่จะพูดไปถึง ‘โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)’ ในยุคของเสรัชย์ ผู้เขียนอยากจะเล่าย้อนไปถึงช่วงแรก ๆ ที่เกิดเป็นสมาคมแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ กันก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของคุณปู่

“เราเป็นสมาคมแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ สมัยก่อนเป็นสมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นประมาณปี 2493-2494 ครับในสมัยคุณปู่ โดย vision เดิมก็คือ ต้องการอนุรักษ์ความรู้ เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราจะมีเรื่องของจอมพล ป. ที่เป็นเรื่องของนิยมไทยหรือว่าชาตินิยม”

“ดังนั้น ในวัดตามศาลาต่าง ๆ ก่อนหน้านั้นจะเป็นการสอนภาษาจีน เป็นโรงเรียนจีน เพราะฉะนั้นในยุคของจอมพล ป. เขาจึงถูกไล่ออกจนหมดสิ้น โดยทางเจ้าอาวาสสมัยนั้น ก็คือ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จป๋านะครับ ก็ได้ไปคุยกับคุณปู่ของผมว่าเรามีองค์ความรู้ทางด้านแพทย์แผนไทยและก็การนวดอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นเราควรจะกลับมาฟื้นฟูความรู้ทางด้านนี้เพื่อธำรงรักษาความรู้นี้ไว้”

“ในปี 2479 มีกฎหมายฉบับแรกขึ้นมาโดยมีการแบ่งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งการแพทย์แผนโบราณก็จะต้องมีการขอใบอนุญาต มีใบประกอบโรคศิลปะ และมีวิธีการสอบอะไรต่าง ๆ เพื่อทำให้น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน แต่ในยุคนั้นครูแผนโบราณที่เรียนกันมาทำข้อสอบไม่ค่อยได้ เพราะเราไม่ได้เรียนเดป็นภาษาไทย แต่น่าจะเป็นภาษาบาลี และภาษาขอม”

“มันเป็นภาษาโบราณหมดครับ ดังนั้นเวลาที่สอบเนี่ยก็จะสอบไม่ได้ ขณะเดียวกันกรรมการที่คุมการสอบคือกองประกอบโรคศิลปะสมัยนั้นก็จะเป็นนักวิชาการ ซึ่งพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับหมอแผนปัจจุบันอยู่เยอะ ดังนั้น พอสอบไม่ผ่านก็เลิกเป็นครูกันมาก”

“แล้วก็จะมีอีกเคสหนึ่งก็คือ เรื่องกฎหมายการนวดไทย ในปี 2479 มีการนวดไทยรับเป็นการประกอบโรคศิลปะ แต่ว่าหลังจากนั้นการนวดไทยก็โดนดีดออกไป เหลือแค่แพทย์แผนไทย 3 แขนงก็คือ เวชกรรมไทย, เภสัชกรรมไทย แล้วก็ผดุงครรภ์เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ยากอุปสรรคทั้งหลายที่เล่ามานั้น เดินทางมาถึงปี 2493 ที่เริ่มคิดเรื่องการตั้งโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายก็เปิดโรงเรียนได้ในปี 2500 โดยกระทรวงศึกษารับรองเป็นโรงเรียนราษฎร์ ที่เรียกว่า ‘โรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรกในประเทศไทย’

“ตอนนั้นเราสอนแต่แพทย์แผนโบราณ ก็จะมีวิธีการรักษาแบบโบราณด้วย แล้วก็มีการนวดอยู่บ้างแต่ว่าเราไม่ได้แยกชัดเจน สมัยก่อนมีฝังเข็มด้วยซ้ำ แล้วก็มีผดุงครรภ์ มีเรื่องสมุนไพรเพื่อนำมาปรุงยา”

“ประมาณปี 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดโพธิ์ในงานวันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ท่านรับสั่งถามว่าโรงเรียนเรามีการสอนนวดด้วยหรือเปล่า เพราะว่าในวัดมีองค์ความรู้ คือมีตำราการนวดแก้อาการอยู่ในวัดถึง 60 ภาพ ถ้าเกิดว่าเข้าไปในวัดก็จะอยู่ในศาลาหมอนวดที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์สี่รัชกาล

“สุดท้ายสมเด็จพระวันรัตในสมัยนั้นบอกให้เราเริ่มพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการนวดไทยขึ้นมา ซึ่งเขาใช้คำเรียกว่า ‘นวดวัดโพธิ์’ คือการนวดตามแนวเส้นและจุดที่อยู่ในจารึกของวัดโพธิ์ และเราจะทำตามแนวนั้นเท่านั้น นวดวัดโพธิ์จึงเป็นลักษณะการนวดเฉพาะตัวมาก ๆ”

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

 

นวดไทยกับ Soft Power

นวดวัดโพธิ์มีข้างนอกวัดด้วยเหรอ? หลายคนอาจไม่รู้เพราะว่าไม่ได้ใช้ชื่อเดียวกันเป๊ะ ๆ เป็นเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย ซึ่ง เสรัชย์ บอกผู้เขียนว่า เขาเป็นคนแยกโรงเรียนนวดแผนโบราณออกมาข้างนอก โดยได้เช่าตึกทำโรงเรียน จากนั้นก็ขยับขยายมาทำร้านนวด แล้วก็ทำคลินิก และตอนนี้กำลังจะมีอาหารสุขภาพที่เป็นมังสวิรัติด้วย

อาณาจักรนวดวัดโพธิ์อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันเพราะว่าไม่สามารถเช่าตึกเรียงต่อกันได้ทั้งหมด แต่ก็มีธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในทุกซอยละแวกนั้น ซึ่งผุ้เขียนถามถึงการปูทางเพื่อทายาทรุ่นที่ 4 หรือไม่ จากที่เราเห็นว่าตอนนี้เป็นมากกว่าการนวดในศาลาวัดอย่างเดิมแล้ว เขาได้บอกว่า “อย่างเรื่องอาหารสุขภาพก็จะเป็นลูกสาวที่ตอนนี้เขาเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส คือเขากินอาหารมังสวิรัติ เราก็เลยคิดว่าจะนำความรู้มาผสมกับองค์ความรู้สมุนไพรของไทยอย่างไร เพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทยครับ”

‘เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร’ มองการนวดไทย คล้ายมวยไทย Soft Power ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศก่อน

เสรัชย์ในวัยที่เป็นวัยรุ่นไฟแรงจนถึงตอนนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในมุมของความต้องการเปลี่ยนแปลง จากวันที่เขาคิดพิสูจน์ตัวเอง จนตอนนี้สิ่งที่เขาพยายามอย่างหนักก็คือ จะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมคุณค่าของการนวดไทย หรือภูมิปัญญาไทยให้คนเขายอมรับ แล้วมองว่านวดไทยสามารถเป็นทางเลือกในอาชีพหนึ่งได้ไม่แพ้กัน

“ผมคิดว่าทุกคนไม่ได้คิดหรอกว่าตอนโตจะเป็นหมอนวด เพียงแต่ว่ารู้ไว้บางเวลาที่คุณไปต่างประเทศ เวลาที่คุณไปเป็นนักศึกษาแล้วต้องทำงานพิเศษ คุณจะเสิร์ฟอาหารวันละ 5 เหรียญ หรือคุณจะนวดครั้งละ 50 เหรียญ อันนั้นก็แล้วแต่คุณแหละ”

สำหรับเสรัชย์ มองว่า ‘Soft Power กับการนวดไทย’ เป็นของคู่กัน เขาได้พูดเปรียบเทียบกับ ‘มวยไทย’ ที่มีความคล้ายกันเพราะว่า คนไทยไปทำในต่างประเทศแล้วทุกคนยอมรับ แต่สำหรับคนไทยแม้ว่าจะรู้จักและนิยม (บางกลุ่ม) แต่อาจจะเพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเกินไปจึงมองไม่เห็นคุณค่า และไม่เข้าใจเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าให้กับนวดไทยได้

ทั้งนี้ เสรัชย์ ได้พูดถึงวิธีการทำงานในสไตล์เขา ซึ่งถ่ายทอดหลักคิดส่วนใหญ่มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่และคุณพ่อ (ปรีดา ตั้งตรงจิตร) โดยสิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจก็คือ ‘ความอดทน’ สั้น ๆ ความเข้าง่ายคือ ขยัน อดทน และอดออม

“วิธีการทำงานสำหรับผมจะใกล้เคียงกับพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ ก็คือต้องมีความอดทน ต้องมีสมาธิ แล้วก็พยายามปรับปรุงแก้ไขไปตามเหตุการณ์ มีระบบวิธีคิดที่ไม่ต้องรีบร้อนมากนักเพราะมันไม่มีทางลัด การนวดก็เหมือนกันเพราะไม่มีทางลัด ถ้าคุณนวดไม่ดี นวด 10 ครั้งก็ไม่หาย มันต้องค่อย ๆ เรียนรู้อาการ แล้วการรักษาที่ลงล็อกพอดี”

ในวันที่ผู้เขียนได้ไปเยือนโรงเรียนนวดแผนโบราณฯ รู้สึกชื่นชมในระบบคิดและการสอน ซึ่งมองว่าการสอนนวดที่มีคนไทยและต่างชาติสนใจและเข้ามาเรียนตอนนั้น น่าจะพอสะท้อนภาพการนวดไทยในปัจจุบันได้ดีทีเดียว ก็คงได้แต่หวังว่าความปรารถนาของเสรัชย์ ที่อยากจะเห็นการนวดไทยอยู่คู่กับ Soft Power และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับผู้เขียนหวังเพียงว่า การเดินทางของภูมิปัญญาคนไทยคงจะอยู่ได้อีกนานตราบเท่าคนไทยให้ความสนใจ และภูมิใจที่มีมันในรากเหง้าตนเอง