แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ”

แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ”

นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน

       จินตนัดดา ลัมะกานนท์ หรือที่เรารู้จักเธอในชื่อ “แป้งโกะ” กลายเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างจากการได้เล่นเอ็มวีเพลง “เบา เบา” ของวงซิงกูล่าร์ ซึ่งในเวลาเดียวกันตอนนั้นเธอก็เริ่มต้นปล่อยคลิปการร้องเพลงของตัวเองลงบนสื่ออนไลน์อย่างยูทูบ จนมีคนติดตามเป็นจำนวนมากและกลายเป็น “เน็ตไอดอล” คนโปรดของหนุ่มๆ หลายๆ คน นอกจากหน้าตาน่ารักๆ ที่ว่าแล้วนั้นเสียงร้องกับความชอบที่ไม่เหมือนใคร กลายเป็นความพิเศษที่ทำให้เธอสามารถสร้างลายเซ็นต์ของตัวเองบนวงการบันเทิงได้ไม่ยาก ปัจจุบันแป้งโกะ เป็นทั้งนักร้อง นักแสดงร่วมถึงเป็นนักศิลปะ (อีกมุมหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้) และผลงานออกมาอย่างเรื่อยๆ วันนี้เราได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับเธอคนนี้ในหลายประเด็น เธอจะมีความเห็นอย่างไรกับคำว่า “เน็ตไอดอล” ที่ปัจจุบันมันกลายเป็นคำในแง่ลบ รวมถึงเล่าย้อนกลับไปว่างานศิลปะ, ดนตรี และการแสดง ทำให้อดีตคนที่ติสท์แบบไม่แคร์ใครสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองบนเส้นทางบันเทิงได้อย่างไร The People : อัปเดตชีวิตช่วงนี้หน่อย แป้งโกะ : ก็ช่วงนี้ใช่ไหมคะ เพิ่งมีเป็น Cover project ค่ะ ก็ 3 เพลงเพิ่งปล่อยออกมาสดๆ ร้อนๆ เลย แล้วก็ตอนนี้ก็มีละครออนแอร์อยู่ แต่ว่าก็ใกล้จะจบเต็มทีแล้วค่ะ คือจริงๆ เรื่องงานแสดง ตั้งแต่ปีที่แล้วก็เหมือนแบบ...เหมือนเวลามีคนส่งบทมาให้ เราก็ดูเวลาที่เราได้ด้วย ก็พยายาม เรื่องไหนน่าสนใจจริงๆ เราก็เล่น แต่ว่าก็พยายามรับให้มันมีช่วงว่างบ้างอะไรบ้าง มันจะได้เหมือนแบบมาโฟกัสเรื่องเพลงได้ แต่ว่าสรุปก็ไม่ค่อยว่างเลย เพลงก็เลยหายไปแป๊บหนึ่ง แต่ว่าถามว่าถ้าหลังจากนี้อยากโฟกัสอะไร ก็แอบอยากกลับมาโฟกัสเรื่องเพลงเหมือนกัน เพราะว่ารู้สึกว่าสุดท้ายมันก็ยังเป็นสิ่งที่เราชอบทำอยู่ค่ะ The People : ย้อนความกลับไปหน่อยอะไรดลใจให้ตั้งกล้องถ่ายคลิปตัวเองจนกลายเป็นเน็ตไอดอล แป้งโกะ : คือจริงๆ ช่วงนั้นคนไทยยังไม่ค่อยมีทำมั้ง แต่แป้งเป็นคนที่ชอบร้องเพลง แต่ว่าตอนเด็กๆ จะไม่ค่อยกล้าแสดงออกกับใคร อย่างเช่น มีวงกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยชื่อวงว่าวง ‘ออด๊าซ’ ค่ะ ตอนนั้นวงออกัสกำลังดังใช่ไหม แล้วก็ไม่เคยได้เล่นเลย พอจะเล่นปุ๊บ เราก็จะตื่นเต้น กลัวเวที มันก็เลยมีความรู้สึกว่าเออ เราชอบร้องคนเดียวอยู่ที่บ้าน แล้วก็อัดไว้ฟังเองบ้างอะไรบ้าง เคยมีคนชวนไปประกวด ก็ไม่กล้าไป ก็กลายเป็นว่าโอเคเออ เราอัดแล้ว เราโอเค เรารู้สึกว่าเราพอใจอยู่คนเดียวแล้ว เราไม่ตื่นเต้นด้วย เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นทางที่ดีที่สุดที่เราจะได้ร้องเพลง แล้วก็ช่วงนั้นเนี่ยกระแส Youtube เหมือนเมืองนอกมันเริ่มมาเยอะแล้ว เมืองไทยตอนนั้นที่แป้งได้ดูก่อนที่ตัวเองจะทำ cover อีกก็คือ Room39 ก็เหมือนแบบเป็น channel แรกๆ ที่เราไป follow ด้วย ก็เลยลองๆ ทำแล้วก็ลองๆ ดู ก็เออ มันก็ได้อยู่นะ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะอัพโหลดลงไปนะคะ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าเราก็กลัวว่าเดี๋ยวคนจะแบบ...แกเป็นใคร มาลงอะไร คือตอนนั้นมันไม่ได้เหมือนกับว่าทุกคนมีสื่อเป็นของตัวเองเหมือนตอนนี้ The People : ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงคลิป คิดว่าทุกวันนี้จะทำอะไร แป้งโกะ : แป้งว่าจริงๆ ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ลงนะคะ ก็คง...ไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ The People : สมมติว่าถ้าอยู่ในยุคนี้ คิดว่าจะได้เป็นเน็ตไอดอลไหม แป้งโกะ : ถ้าอยู่ในยุคนี้เอาจริงๆ แป้งก็ว่าไม่นะคะ คือแป้งว่าสมัยนั้นคนใช้อินเทอร์เน็ตก็จะใช้เป็นเหมือนแบบ Pantip Hi5 เด็กๆ หน่อยก็จะมีแบบ Sanook Dek-D MThai ใช่ไหมคะ แต่ว่าไม่ได้ใช้ในการพรีเซนต์ตัวเองออกมาขนาดนั้นค่ะ มันก็จะมีพวกไดอารี่ออนไลน์ แต่ว่าแป้งก็เชื่อว่าทุกคนไม่ใช่คนที่จะชอบมานั่งอ่านอะไรมาก ก็เลยรู้สึกว่าเออ ถ้าเป็นสมัยนี้ เอาจริงๆ เราก็สู้เขาไม่ได้นะ เหมือนเด็กเดี๋ยวนี้บางทีเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ว่าไอเดียเขาสร้างสรรค์มากเลยในการที่เขาจะทำคอนเทนต์ ทำอะไรให้ตัวเองน่าสนใจขึ้นมา แล้วก็แป้งรู้สึกว่า...ไม่รู้ ความคิดสร้างสรรค์เขาไปไกลกว่าเรามาก        เมื่อก่อนเราโชคดีที่คนกลุ่มนี้ยังไม่เยอะมาก เราชอบเขียนเรื่องราว ชอบถ่ายรูป การที่เมื่อก่อนแป้งพกกล้องไปเดินห้าง ทุกคนมองว่ามันเป็นความแปลกเหมือนแบบทำไมต้องพกกล้องไปทุกที่ด้วย เป็นนักท่องเที่ยวเหรอ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทุกคนมีกล้อง ทุกคนถ่ายรูปสวย ทุกคนสามารถสร้างสรรค์อะไรก็ทำลงเน็ต ซึ่งแป้งว่าแบบโห ถ้ามองว่าเป็นคู่แข่ง นี่คือคู่แข่งเยอะมาก ถ้าเดี๋ยวนี้คงมีสิทธิ์ที่คนจะรู้จักเรา แต่อาจจะไม่ได้เยอะเท่าเมื่อก่อน แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ” The People : มองอย่างไรกับการที่เน็ตไอดอลกลายเป็นคำแง่ลบ แป้งโกะ : เน็ตไอดอล แป้งว่ามันก็ยังมีความหมายที่ได้ทั้งสองฝั่งนะคะ คือมองว่าในด้านลบแป้งก็เห็นค่อนข้างเยอะ คือเดี๋ยวนี้คนที่ทำอะไรเป็นกระแสขึ้นมา คนก็จะไปเรียกว่าเน็ตไอดอลแล้ว แต่ว่าจริงๆ คำว่าเน็ตไอดอลในมุมมองของแป้งน่าจะเป็นคนที่...มันถูกแทนด้วยคำว่า influencer มากกว่า ณ ตอนนี้ค่ะ คือโอเค influencer อาจจะคุณเป็นใครก็ได้ หน้าตา รูปร่างเป็นยังไงก็ได้ แค่คุณทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกเฮ้ย เราอยากติดตาม เราได้อะไร ได้แรงบันดาลใจ ได้ไอเดียอะไรจากคนคนหนึ่งใช่ไหมคะ        ซึ่งแป้งว่าจริงๆ เน็ตไอดอลก็คือสิ่งนั้นแหละ เพียงแต่อาจจะบวกเรื่องที่...สมมติอย่างน้องพลอยชมพู (ญานนีน ไวเกล) หน้าตาน่ารักด้วย ทำให้คนรู้สึกว่าเฮ้ย ไม่ว่าคุณเด็กแค่ไหน คุณออกมาร้องเพลง คุณก็มีเพลงของตัวเองได้ แป้งก็มองว่าจริงๆ เน็ตไอดอลมันเป็นอย่างนั้นมากกว่า แป้งก็ยังรู้สึกว่าคำนี้เป็นคำที่ดีนะ เพียงแต่ว่าก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เอาคำนี้ไปเรียกคนกลุ่มที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งก็อาจจะทำให้คำนี้ถูกมองแบบแย่ไปบ้างอะไรแบบนี้ The People : คิดว่าในอีกแง่หนึ่งโลกโซเชียลก็มีส่วนทำให้คนเป็น depression เยอะขึ้นหรือไม่ แป้งโกะ : แป้งรู้สึกว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเดี๋ยวนี้ อาจจะไม่ต้องถึงกับ depress หรอก กดดัน แล้วก็เครียดในชีวิต รู้สึกเหมือนมันไม่มีความสุข คือเรื่องความคาดหวังในตัวเอง เดี๋ยวนี้เราเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนอาจจะมีแค่แบบป้า อุ๊ย ลูกฉันเข้ามหาวิทยาลัยนี้ ลูกฉันได้เงินเดือน 500,000 เดี๋ยวนี้มันเห็นกันในเว็บ ใน IG โห คนนี้รวยมากเลย เมื่อก่อนเขาไม่เห็นรวยแบบนี้เลย ทำไมเขารวยขนาดนี้ คนนี้สวยมาก คนนี้แฟนหล่อ คนนี้ไลก์เยอะ คนนี้ไลก์น้อย มันคือความคาดหวังในตัวเองว่าแบบทำไมฉันไลก์ไม่เยอะบ้างล่ะ ฉันก็ทำงานมาพร้อมเขา ทำไมฉันไม่มี Dior ถือ คือแป้งว่าพวกนี้มันคือความคาดหวังที่มันเกิดขึ้นมาในยุคโซเชียล แล้วมันก็ทำให้คน ถ้าทำไม่ได้แบบนั้น มันเหมือนมันเครียด มันกดดันตัวเอง The People : มาเจอกับดนตรีได้อย่างไร แป้งโกะ : คือตอนเด็ก คือคุณพ่อเป็นดีเจเปิดเพลงในคลื่นวิทยุเลยค่ะ สมัยพ่อหนุ่มๆ ที่บ้านจะมีแผ่นเสียงเยอะมากแบบหลายร้อยแผ่น แล้วก็เปิดในวิทยุเหมือนรายการเพลงรายการ แล้วก็ไปดูคอนเสิร์ตด้วย ก็รู้สึกว่ามันเหมือนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเราฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันเป็นสิ่งที่มันอยู่ในชีวิตเรามาตั้งแต่ต้นเลยค่ะ วันหนึ่งเราก็อยากเป็นคนถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้บ้าง ที่อยากชอบทำมาตั้งแต่เด็ก The People : จากความชอบในดนตรีมาเป็นการวาดภาพได้อย่างไร แป้งโกะ : คือแป้งชอบทั้งคู่ ควบคู่มาตั้งแต่เด็กๆ เลย คือนอกจากพ่อเป็นดีเจแล้ว พ่อเรียน interior ด้วย มันเหมือนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เหมือนแบบว่าพ่อแม่คนอื่นจะส่งลูกเรียนพิเศษตั้งแต่เด็กๆ แต่คือที่บ้านจะแบบซื้อสมุดระบายสีมาให้ค่ะ แล้วก็พ่อจะบอกว่าโอ้ย บ้านแบบที่เด็กเขาวาดกันมันแบบ...ธรรมดามากเลย คือพ่อสอนวาด perspective ตั้งแต่ประมาณป.1 แต่มันก็จะไม่ใช่ตีฟที่แบบสวยๆ นะคะ มันก็จะเป็นเหมือนกับว่ามีข้างหน้าเป็นสี่เหลี่ยมใช่ไหมคะ แล้วก็จั่วเป็นสามเหลี่ยม ทุกคนก็จะจบแค่นี้ถูกเปล่า แต่ของเราจะมีลากเข้าไปเป็นแบบเล็กเข้าไปข้างหลัง อ้า แต่มันอาจจะยังไม่ใช่ตีฟที่ถูกต้อง แต่เรารู้สึกว่าเฮ้ย เราแอดวานซ์กว่าเพื่อนกว่าเพื่อนมาก        อย่างเช่นสมุดระบายสี ก็แบบแทนที่จะระบายสีเดียว ก็สมมติว่าเป็นกำไลเงาๆ พ่อก็จะลงสีข้างๆ เข้มแล้วก็ตรงกลางอ่อน เราก็รู้สึกว่าเฮ้ย มันเท่มากเลยอะไรแบบนี้ มันแบบล้ำกว่าเพื่อน ทุกคนจะฮือฮามาก ก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ย มันเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วเราก็ทำได้ดี แล้วแบบสุดท้ายแป้งมองว่าศิลปะกับเรื่องการออกแบบ รูปวาดหรือว่าดนตรีเนี่ย สุดท้ายมันเป็นสิ่งที่แป้งรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เหมือนกัน มันเป็นการเหมือนกับสื่อสารตัวตนเราออกไปค่ะ เพียงแต่ว่าเป็นรูปแบบที่ต่างกันเท่านั้นเอง The People : รู้ตัวว่าเป็นคนรักงานศิลปะตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอหรือเปล่า แป้งโกะ : ใช่ค่ะ เพราะว่าหนึ่งคือ อย่างเช่นอย่างแป้งไม่เคยเรียนดนตรีนะคะ ไม่เคยเรียนแบบดนตรีมาก่อน แต่ว่าที่โรงเรียนก็จะมีวิชาร้องเพลงอะไรงี้ค่ะ เป็นวิชาที่เรารู้ว่าเรารอคอย รอคอยที่จะเลือกเพลงแล้วก็เอาไปร้องให้อาจารย์ฟัง แล้วก็ได้คะแนนเต็ม ถึงแม้ว่าจะร้องแบบงูๆ ปลาๆ คืออาจารย์เขาบอกร้องไม่เพี้ยนก็โอเคแล้ว แล้วก็อย่างสมมติว่าอย่างวิชาศิลปะก็จะเป็นวิชาที่เราจะได้คะแนนดีตลอด เกรด 4 ตลอดเวลา แต่วิชาอื่นก็จะแบบทั่วไป แบบธรรมดามากๆ เลยเป็นลางบอกเรามาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าเหมือนเรามาเพื่อสิ่งเหล่านี้แหละ The People : ค้นพบลายเซ็นของตัวเองในงานดนตรีได้อย่างไร แป้งโกะ : แป้งก็เคยนั่งคิดนะว่าเฮ้ย เพลงของเรามันต่างจากคนอื่นยังไง บางคนอาจจะบอกว่าเสียงเรามันฟังแล้วก็รู้นะว่ามันเป็นเสียงเรา แต่ว่าในตัวเพลงเองล่ะ แป้งก็จะรู้สึกว่าถ้าเป็นเรานั่งฟังดีๆ เพลงทุกเพลงของแป้งจะมีเกี่ยวกับการเดินทาง การบันทึก        เพลงแรกที่ออกมาชื่อ ‘โปสการ์ด’ ค่ะ เป็นเพลงแรกที่แต่งเอง เพลงแรกและเพลงเดียวที่แต่งเองทั้งเนื้อร้อง ทำนองค่ะ ก็จะพูดถึงการเดินทาง การเขียนจดหมายอะไรยังงี้ หลังจากนั้นก็ ‘โคจร’ ‘ปล่อย’ ‘พระจันทร์’ และอื่นๆ ทุกเพลงก็จะมีคำว่าโลกหมุน ดวงดาว ท้องฟ้า โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้มันลิงก์กัน แต่แป้งมองว่านั่นแหละคือลายเซ็นของเรา คือเหมือนกับว่าเวลาเราไปเที่ยว แล้วเราก็จะจดบันทึกอาจจะเป็นแค่ประโยค เป็นคำ เป็นคอนเซ็ปต์ มาเอาให้โปรดิวเซอร์ดู แล้วก็เขาก็จะแต่งเพลงมาจากสิ่งที่เป็นเรา อย่าง ‘พระจันทร์’ ยังงี้ก็ถือว่าเป็นเพลงที่แบบเป็นลายเซ็นของตัวเองมากๆ เลยนะ เพราะว่าแป้งมองว่ามันคือสิ่งที่เราชอบ คือแป้งอินเรื่องอวกาศ พระจันทร์มาก แป้งชอบเพลงชอบเพลงเศร้าแล้วก็แป้งชอบเสียง Ambient แบบหวึ่งๆ ของบรรยากาศอะไรงี้ค่ะ แป้งก็เลยรู้สึกว่าอย่างพระจันทร์ก็ถือว่าเป็นตัวของเรามากที่สุด แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ” The People : ความฝันอยากเดินทางรอบโลก เปิดร้านกาแฟ เล่นดนตรี ขายโปสการ์ด ยังเป็นความฝันสูงสุดอยู่หรือเปล่า แป้งโกะ : ถามว่าเป็นความฝันสูงสุดไหมมันก็… คือแป้งว่ามันก็เป็นความฝันสูงสุดอยู่นะคะ ความฝันสูงสุดของแป้งคือการที่เราได้ทำทุกๆ อย่างที่เราอยากทำแล้ว ณ วันหนึ่งเราสามารถที่จะ settle แล้วก็ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องไปคิดมากกับมันมาก อย่างเช่น ร้านกาแฟ คือถ้าเปิดตอนนี้มันคงแบบไม่ได้ถือว่าทำความฝันให้เป็นจริง เพราะว่าเปิดตอนนี้มันคงแบบ...ร้านจะขาดทุนไหม จะมีพนักงานไหม ขายได้หรือเปล่า ต้องปิดไหม ค่าเช่าร้าน แต่ถ้าเป็นตอนที่เรารู้สึกว่าเฮ้ย เรา complete ทุกอย่างแล้ว เราแบบเงินก็มีแล้ว ไอ้นู่นก็ได้ทำ ไอ้นี่ก็ได้ทำแล้ว การได้เปิดร้านกาแฟ ได้ท่องเที่ยว ได้อยู่กับอะไรที่เรารัก นั่นคือความฝันที่น่าจะสูงสุด เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นจุดที่ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตขนาดนั้นแล้ว The People : ศิลปะในมุมมองของแป้งโกะเป็นอย่างไร แป้งโกะ : ศิลปะ คือสำหรับแป้งมันก็เหมือนที่บอกไปว่า มันคือการที่เราเหมือนกับสื่อสารตัวเราออกมาผ่านสิ่งๆ หนึ่ง ผลงานชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลง เป็นหนัง หรือว่าเป็นละครหรืออะไรก็แล้วแต่ ในฐานะที่เป็นคนทำนะคะ สมมตินักแสดง โอเค เราอาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเขียนบทอะไร แต่แป้งเชื่อว่าอย่างผู้กำกับหนัง ถ้าถามว่ามันสื่อสารตัวตนเขาออกมายังไง เขาอาจใส่ message ที่เขาอยากบอกใครสักคน แป้งรู้สึกว่าทุกคนมี แต่งเพลงต้องนึกถึงใครบางคนค่ะ สร้างหนังก็คงนึกถึงใครบางคน อยากจะทำหนังให้มีสีแบบที่เราชอบ อยากจะแต่งเพลงให้ที่มี sound แบบที่เราอยากฟังแป้งว่ามันก็คือเป็นสื่อกลางที่จะสื่อสารตัวเราให้คนอื่นได้เห็นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง The People : รู้สึกอย่างไรกับการที่งานศิลปะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นดิจิทัลมากขึ้น แป้งโกะ : แป้งว่ามันก็...มันเคยมียุคหนึ่งที่หายไปมากกว่านี้นะคะ คือตอนนี้แป้งเริ่มรู้สึกว่าคนเริ่มกลับมาเล่นแผ่นเสียง มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้าน นักร้องเริ่มกลับมารู้สึกว่าเราอยากมีซีดีเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันหนังสือก็ยังขายได้อยู่ งานพรินต์ก็ยังขายได้อยู่ งานวาดก็ยังขายได้อยู่ แป้งมองว่าคือมันคงเป็นวัฏจักรแหละ เหมือนคนเราพอมันมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาที่มันสะดวกสบายมากๆ แน่นอนว่าทุกคนก็จะย้ายไปใช้สิ่งนั้น        แต่ว่าแป้งเชื่อว่ายังมีคนที่เหมือนแบบ...ไม่ได้ยึดติดนะคะ แต่รู้สึกว่าบางทีอะไรที่มันจับต้องได้มันมีคุณค่ามากกว่าสำหรับเรา อย่างเช่น ทุกวันนี้แป้งก็ซื้อซีดี ไม่ได้ซื้อพร่ำเพรื่อเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่เราจะซื้อเฉพาะอันที่เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันมีคุณค่ากับเราจริงๆ แผ่นเสียงก็ซื้อนะคะ ซื้ออันที่เรารู้สึกว่าเฮ้ย อันนี้ถ้าเราแบบ...ไม่รู้แหละได้เล่นไหม มันมีคุณค่ากับเรา แต่เพลงอื่นๆ ที่เราแค่อยากฟัง เราก็อะ ซื้อออนไลน์ ซึ่งแป้งมองว่ามันเปลี่ยนไปไหม มันก็เปลี่ยนไปแหละ แต่แป้งรู้สึกว่ามันก็เริ่มกลับมาเหมือนคนเริ่ม...พอวันหนึ่งเราเลยไปไกลแล้ว เราเหมือนจะเหมือนหันมองกลับมาดูว่าเฮ้ย อะไรบ้างที่มันมีคุณค่า เพียงแต่ว่าเขาอาจจะเลือกมากขึ้นว่าจะซื้อของใครมากกว่า The People : มีความเห็นอย่างไรที่คนในบ้านเรายังให้ความสนใจในงานศิลปะไม่มากนัก แป้งโกะ : คนไทยเสพงานศิลปะน้อย แป้งว่าคนไทยเดี่ยวนี้เสพงานศิลปะเยอะขึ้นมากๆ ถึงมากที่สุด สังเกตว่าเดี๋ยวนี้หอศิลป์ผุดขึ้นมาเยอะมาก คนบางคนชอบถ่ายภาพ ชอบวาดรูป ข้างล่างมีร้านของตัวเอง ข้างบนทำเป็นแกลอรีของตัวเอง คือเหมือนกับผู้ใหญ่ก็เริ่มเปิดใจ เหมือนพอผู้ใหญ่เริ่มเปิดใจแล้ว แป้งว่าวัยรุ่น เด็กๆ ก็เริ่มกล้าที่จะเหมือนแบบฉันอยากเรียนอาร์ต ฉันอยากเรียนวาดรูป ฉันอยากทำงานศิลปะมากขึ้น แป้งก็เลยรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน มันหางานศิลป์เสพได้ง่ายมากขึ้นเลยนะคะ อย่างง่ายๆ เลยเข้าเน็ตมันมี Pinterest สมัยก่อนแป้งต้องไปนั่งตาม TCDC แล้วก็ขอเขาถ่ายเอกสารบ้าง ถ่ายรูปบ้าง แล้วก็เอามารีพรินต์ เอาแปะเป็นแบบพิน แล้วก็เป็นมู้ดบอร์ดอีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนมันเหมือนแบบกว่าเราจะได้เสพงานศิลป์ต้องไปดูหนังสือแพงๆ แป้งบินไปอังกฤษทีหนึ่ง ไปมิวเซียมที่เป็นพวกอาร์ต มิวเซียม ซื้อหนังสือแบกกลับมา 20 โลฯ เพราะว่าเมืองไทยมันไม่มีขาย แต่เดี๋ยวนี้คือเข้าเน็ตก็มี ใน Instagram ก็มี Facebook ก็มี ใน Pinterest เสิร์ชอะไรก็ได้ แป้งก็เลยมองว่ามันกลายเป็นเรื่องที่มันใกล้ตัวเรามากขึ้น หรือแม้กระทั่งร้านค้าออนไลน์บางที เดี๋ยวนี้ต้องซื้อของออนไลน์ใช่ไหมคะ เราเห็นเขาทำโปสเตอร์ เห็นเขาทำอาร์ตเวิร์กในรูป เรารู้สึกว่าแบบทำไมคนเดี๋ยวนี้มันแบบมีมุมติสท์เยอะจัง คือถ้าเป็นเมื่อก่อนคนที่ทำแบบนี้ต้องไปจ้างเขานะ แต่อันนี้เขาอาจจะทำเอง ก็เลยรู้สึกว่าคนไทยยอมรับเรื่องศิลปะมากขึ้น แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ” The People : มองว่าตัวเองติสท์ไหม แป้งโกะ : เมื่อก่อนติสท์มากนะคะ ค่อนข้าง ติสท์แบบไม่รู้จะติสท์ทำไม เหมือนแบบบางครั้งเรามองตัวเองกลับไป ก็รู้สึกว่าเออ มันก็เกินเบอร์ไปหน่อยนะ คือแต่ว่าพอมันอยู่ในวงการมานานขึ้นๆ ได้ทำงานหลายอย่างมากขึ้น มันเหมือนเราก็ได้ทลายกรอบของตัวเองไปค่ะ อย่างเมื่อก่อนแบบให้มาเล่นละครยังงี้ แป้งก็แบบไม่เล่นเลย ฉันอยากร้องเพลงอย่างเดียว ฉันมาตรงนี้เพื่อร้องเพลง ทำไมต้องแบบต้องให้ทำอะไรที่มันไม่ใช่ตัวเองด้วย แต่สุดท้ายเหมือนเราก็วิ่งอยู่สิ่งที่เราเป็นแบบ safe zone ของเราแค่นั้นเอง        พอวันหนึ่งได้ลองก้าวออกมา เราก็มองว่าจริงๆ การได้ลองอะไรใหม่ๆ มันก็ไม่แย่นะ เหมือนแบบเออ ไม่ชอบก็แค่เลิกทำ แล้วก็เหมือนมันก็ค่อยๆ ทลายความ...คือติสต์ในแง่นี้ คือติสต์แบบมีความคิดของตัวเองสุดๆ นะคะ พอเราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ รู้สึกว่าเออ จริงๆ มันไม่ได้แย่งตัวตนเราไปไหน มันก็อยู่ที่เดิม เพียงแต่ว่าเราปรับตัวให้เข้ากับสังคม กับผู้คนมากขึ้น แต่เราก็ยังเป็นตัวเองอยู่ ก็เลยมองว่าถ้าติสท์เนี่ยเมื่อก่อนติสท์มาก ติสท์จนแบบสมมตินั่งสัมภาษณ์อย่างนี้ใช่ไหมคะ แล้วก็ถามว่าทำไมถึงชอบร้องเพลงล่ะคะ อ๋อ ก็ชอบอะค่ะ ไม่มีเหตุผล ก็ชอบไงแล้วจะถามทำไมล่ะ ก็ชอบ จบ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมานั่งมองแบบอือ มันก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเหมือนแบบ...ขนาดนั้น เราก็เล่าให้เขาฟังได้นี่ The People : วงการนี้เหมือนที่คิดไว้ไหม แล้วมันสอนอะไรบ้าง แป้งโกะ : อืม ถ้าเป็นวงการเพลงเนี่ย แป้งรู้สึกว่ามันเป็นอย่างที่เราคิดเนี่ยแหละ เหมือนเราเองก็เคยเห็น เคยอะไรอย่างนี้อยู่แล้วบ้างนะคะ แต่ถ้าเป็นวงการแบบวงการการแสดงก็ถือว่าเปลี่ยนไปมากในความคิดของแป้งเลย คือเหมือนแบบเหมือนเราก็เห็นมาเยอะ ทุกคนบอกโห วงการนี้น่ากลัวมาก เหมือนข้างในมีอะไรก็ไม่รู้ เสือสิงห์กระทิงแรดเยอะแยะไปหมด ทุกคนน่าจะเคยได้ยิน        คืออย่างวงการเพลงมันก็เป็นเหมือนที่เราเห็นๆ กันอยู่ค่ะ คือมันเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วก็ตั้งใจจะเข้ามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วค่ะ เราก็ไม่ได้ expect อะไร เรา expect แค่ว่าเราอยากทำเพลง แต่ถ้าพูดถึงละครเหมือนตอนแรกเราก็สร้างกำแพงไว้แล้วว่าเราจะไม่เข้าไปตรงนั้นแน่นอน งานแสดงไม่ใช่อะไรที่...เหมือนติสต์ เหมือนเราจะไม่เป็นคนอื่นหรอก เราจะเป็นตัวเรา แต่ว่าพอได้เข้าไปแล้วมันก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์นะคะ เหมือนตอนแรกแป้งรู้สึกว่าโอเค ถ้าเราลองเล่นสักเรื่องหนึ่งแล้วเราไม่ชอบ เราก็ไม่เล่นอีก ก็เหมือนเข้าไปลอง แต่พอเข้าไปแล้วเนี่ย มันมีหลายอย่างมากเลย มากกว่าที่เราเหมือนเราท่องบท แล้วก็แสดงแล้วก็มีผลงานออกมา คือเบื้องหลังตรงนั้นแป้งรู้สึกว่าเออ บรรยากาศในกองมันเป็นอะไรที่สนุกมากเลยนะ แป้งเมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ชอบเจอคน ไม่ค่อยชอบคุยกับคนอื่น ไม่ค่อยชอบฟังเรื่องของคนอื่น แล้วก็ไม่ชอบเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นฟัง คือรู้สึกว่าแบบแล้วไง ต้องรู้เรื่องเธอด้วยเหรอ แล้วเธอต้องรู้เรื่องฉัน เป็นคนบ้าคนหนึ่งค่ะ แต่ว่าเหมือนแบบพอ The People : เป็นคนโลกส่วนตัวสูงหรือเปล่า แป้งโกะ : สูงมาก แต่คือถ้าเพื่อนสนิทๆ ก็โอเคนะ แต่ว่าถามว่าสูงแค่ไหน สมมติว่าแป้งแอบชอบใครแป้งจะไม่บอกเพื่อนแม้จะสนิทแค่ไหน ก็จะไม่บอก หรือว่าถ้าแป้งไม่ชอบใครก็ไม่เล่าให้เพื่อนฟัง หรือว่ามีปัญหากับเพื่อนก็ไม่เล่าให้ที่บ้านฟัง มีปัญหากับที่บ้านก็ไม่เล่าให้เพื่อนฟัง คือเป็นคนไม่เล่าอะไรให้ใครฟังเลย ไม่เคยปรึกษาอะไรใครเลยยังงี้มากกว่า The People : งานที่ทำให้อยากพรีเซนต์ตัวเองยังคงเป็นดนตรีเสมอหรือเปล่า แป้งโกะ : ใช่ค่ะ คือแป้งมองว่าดนตรีมันเป็นอะไรที่เราเป็นตัวเองได้มากที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายแป้งว่ามันก็ต้องบาลานซ์กันค่ะ เหมือนกับว่าถ้าคุณเป็นตัวของตัวเองมากไป มันอาจจะไม่มีใครเข้าใจเราเลย แล้วเราก็อาจจะออกเพลงมาได้เพลงเดียว แล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้นเพราะว่าไม่มีใครเข้าใจเรา เหมือนเราก็ต้องเก็บกีตาร์กลับบ้านไปร้องคนเดียวเหมือนเดิม The People : เคยต้องต่อสู้กับโปรดิวเซอร์ไหม แป้งโกะ : ไม่ค่อย ไม่ค่อยบ่อยค่ะ แต่เคยต่อสู้กับที่ค่าย เหมือนแบบอยากทำเพลงแนวๆ ค่ะ ก็ไปเล่นละครมาแล้วก็แมสแล้วไงคะ ขอทำเพลงแนวๆ ได้ไหมคะบาลานซ์กัน แต่สุดท้ายเหมือนแบบเราก็ทำเป็นงานด้วยค่ะ ต้องยอมรับว่ามันก็ต้อง โอเค คุณทำเพลงแบบเป็นตัวของคุณได้นะ มันก็มีคนฟัง อาจจะกลุ่มเล็กหน่อย แต่ถ้าทำงานที่แมสขึ้น มีคนรู้จักเราเยอะขึ้น วันไหนที่เราทำงานที่เป็นตัวของตัวเองออกมาอีก คนกลุ่มที่ใหญ่กว่าก็จะลองหันมาฟังเพลงที่เป็นแนวของเราอะไรงี้ แป้งก็มองว่าสุดท้ายทุกอย่างมันคือการบาลานซ์ อย่าติสต์เกินไป แล้วก็อย่าสูญเสียตัวตน ใครชอบอะไรฉันก็ทำแบบนั้นมากเกินไป แป้งโกะ : นักร้อง, นักแสดง และเน็ตไอดอลสายติสท์ กับความฝันที่เกิดมาเพื่อมัน “ถ้าวันนั้นไม่ได้ลงยูทูบคงไม่ได้มาเป็นนักร้อง พูดตรงๆ” The People : ถ้าเป็นดาวสักดวง จะเป็นดาวดวงไหน แป้งโกะ : แป้งชอบดาวหลายดวงมากเลย แป้งเป็นกาแล็กซี่เลยได้ไหม เอ่อ อะไรดีคะ ไม่เคยคิดเลย เมื่อก่อนชอบดาวพฤหัสฯ นะคะ พอรู้ว่าที่เราเห็นลาย มันเป็นพายุก็เลิกชอบไปเลย จริงๆ เมื่อก่อนแป้งโง่ดาราศาสตร์มาก แต่ตอนหลังชอบดาราศาสตร์มาก เป็นพระจันทร์แล้วกันค่ะ เพราะว่ามันใกล้โลกดี มันเป็นอะไรที่เราเห็นอยู่ทุกวัน แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น แต่ว่าพอเรามองจากโลกไปแล้วเราก็ คือสุดท้ายถึงเราจะรู้ว่าดาวมันขรุขระยังไง แต่พอเรามองไปเราก็ยังชื่นชมมันอยู่ดี The People : อยากฝากอะไรถึงแฟนๆ ไหม แป้งโกะ : ฝากถึงแฟนๆ นะคะ ก็ฝากเพลงด้วยนะคะ Cover project นะคะ 3 เพลง ‘ทำได้เพียง’ ‘คำอธิบาย’ แล้วก็ ‘ฉันจะมีเธออยู่’ ฝากเพลงแล้วกัน ฝากผลงาน ก็ติดตามได้ที่ Facebook ของ Whattheduck นะคะ แล้วก็ของแป้ง Wondering pango ค่ะ