นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้

นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้

เป็นหนี้ต้องคุย บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เปิดโอกาสแก้ไขอย่างยั่งยืนเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและชีวิตได้ไปต่อ

ถ้าจะบอกว่า นารถนารี รัฐปัตย์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM เข้าวงการจัดการหนี้ได้ถูกที่ถูกเวลาก็คงไม่ผิดมากนัก เพราะในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกงานระหว่างสายวิทยาศาสตร์และการเงินที่เรียนมาควบคู่กันนั้น เด็กจบใหม่แบบเธอต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง จึงเบนเข็มอาชีพมาเริ่มงานแรกในสายการเงิน โดยรับหน้าที่การบริหารจัดการหนี้เสียในบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แห่งหนึ่งตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา 

ท่ามกลางการควบรวมธนาคาร บริษัทไฟแนนซ์กว่าห้าสิบแห่งที่ปิดตัวลงอย่างกะทันหัน ในวิกฤติครั้งนั้นจึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายสำหรับเด็กจบใหม่แบบเธอ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ นารถนารี ได้ก้าวเข้ามานำทัพให้กับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ที่ถือว่าเป็น AMC ของภาครัฐเพียงหนึ่งเดียว ที่เธอเคยได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานมาแล้ว ก่อนที่จะออกไปท่องยุทธภพ แล้วกลับมาอีกครั้ง ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา หนี้ครัวเรือนของคนไทย กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องการมือดีที่เข้าใจการบริหารตัวเลขและมนุษย์ เข้ามาจัดการ

หน่วยงานเพื่อการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน
ประวัติโดยย่อของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถ้าสังเกตจะพบว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ซึ่งรับโอนหนี้เสียมาบริหารจัดการในยุคนั้น มักตั้งชื่อตามถนนที่สำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าของหนี้เดิมตั้งอยู่ เช่นเดียวกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ที่เริ่มต้นรับโอนหนี้ของธนาคารกรุงไทยมาบริหาร ซึ่งสำนักงานใหญ่ของธนาคารแต่เดิมตั้งอยู่ถนนเส้นสุขุมวิทนั่นเอง 

วิสัยทัศน์ขององค์กรที่ SAM ยึดมั่นมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งขึ้น คือ เพื่อเป็นหน่วยงานที่เข้ามา ‘แก้ไขหนี้’ ไม่ใช่หน่วยงาน ‘ทวงหนี้’ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานเพื่อสังคมของ นารถนารี เช่นกัน 

นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้


Vision ของ SAM คือต้องการแก้ไขหนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทําให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสามารถฟื้นตัวแล้วกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปกติของประเทศได้อีกครั้ง

โอกาสสุดท้ายของหนี้เสีย
เมื่อใครก็ตามที่ประสบอุบัติเหตุทางการเงิน ทำให้ชีวิตสะดุดหรือธุรกิจชะงัก จากหนี้เพื่อการเติบโตจนกลายเป็นหนี้เสีย แต่ธุรกิจและชีวิตต้องไปต่อ การมอบโอกาสในการฟื้นฟูตัวเองจึงเป็นเสมือนเครื่องปั๊มหัวใจเพื่อกระตุ้น ชีวิตให้กลับมา และทำให้กลับมามองเห็นหนทางแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา

“สิ่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แบงก์ชาติ หรือ SAM เอง ต้องการ ไม่ใช่ยึดทรัพย์สิน หรือสิ่งที่ลูกหนี้มีแต่ต้องการให้ลูกหนี้เข้ามาคุยกันว่าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันได้ยังไง เพื่อทําให้ธุรกิจและการดำเนินชีวิตไปต่อได้ เป็นการ restructure ที่องค์กรเราทำได้ยืดหยุ่นมากกว่าธนาคาร”

“Motto ของเรา คือ การมอบโอกาสให้กับลูกค้าได้รับการแก้ไขจากสิ่งที่ก้าวพลาด เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง” 

 

สามภารกิจหลักของ SAM
ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กรคือการสนับสนุนให้ประชาชนและภาคธุรกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน SAM จึงวางบทบาทหน้าที่หลักไว้ 3 เรื่อง คือ การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (NPL: Non-Performing Loan), การบริหารจัดการ อสังหาริมทรัพย์มือสอง หรือ ‘ทรัพย์สินรอการขาย’ (NPA: Non-Performing Asset) และการแบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชนผ่านโครงการ ‘คลินิกแก้หนี้ by SAM’ 

นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้

“เราไม่ใช่หน่วยงานทวงหนี้ แต่ต้องการช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าของ SAM ทุกคน อยากให้เข้ามาพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน”

“ตอนนี้สิ่งที่เราทําอย่างแรกคือรับโอนหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน, ที่ดิน, โรงงานหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการทําธุรกิจ เพื่อมาปรับโครงสร้างหนี้ อย่างที่สองคือทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่เรามีอยู่เกือบ 5,000 รายการรวมทุกประเภทแล้วกว่า 23,000 ล้านบาท งานของเราในส่วนนี้คือการคุยกับคนมีเงินที่สนใจซื้อทรัพย์สินทั้งเพื่ออยู่อาศัยและลงทุนเหล่านี้ไปปรับปรุงหรือต่อยอด เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่มีกำลังซื้อด้วยเช่นกัน”

“และเรื่องสุดท้ายคือหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็คือหนี้ครัวเรือนที่น่าเป็นห่วงและกำลังเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ ซึ่งภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากแบงก์ชาติให้รับหน้าที่ดูแลผ่านโครงการที่ชื่อ คลินิกแก้หนี้ by SAM เริ่มต้นขึ้นในปี 2560 ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว

 

กลไกตัวกลางเพื่อปลดหนี้เสีย
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าคนทั่วไปมีปัญหาหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 17% มาเป็น 20% ในปี 2565 โดยคาดว่า 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทย เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 

อยากให้ผู้อ่านลองเปิดกระเป๋าเช็กกันดูว่าตอนนี้คุณถือบัตรเครดิตอยู่กี่ใบ แล้วถ้าคุณมีหนี้คงค้างแต่ละใบที่ทยอยจ่ายอยู่ทุกเดือน ๆ จากที่เคยจ่ายได้เต็มจำนวนเริ่มหมุนเงินโยกบัญชีใบนี้ไปใช้ใบนู้น เผลอจับจ่ายเกินตัวโดยไม่ได้คำนวณดอกเบี้ยที่จะตามมา วังวนนี้กลายเป็นความเครียดและภาระที่พอกพูน สุดท้ายตกอยู่ในกับดักหนี้ที่ค้างชำระเกินกำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วง 
(อ้างอิง https://projects.pier.or.th/household-debt/) 
คำอธิบาย : In general ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก BOT การเป็นหนี้เกิน 90 วัน ก็ถือเป็นหนี้เสียหรือ NPL แล้ว

“ถ้าใครที่มีบัตรเครดิตหลายใบ เมื่อใบหนึ่งเกิดหนี้ก็ไปหมุนเงินจากอีกใบ ใบที่สองเป็นหนี้อีกก็ใช้ใบที่สามหมุนไปหมุนมากลายเป็นหนี้เสียทั้งหมดสามใบเท่ากับว่าคุณมีเจ้าหนี้สามคน เมื่อต้องเข้าไปเจรจาหนี้ต้องคุยกับทั้งสามคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้คนกลุ้มใจ เพราะทั้งสามแห่งก็มีวิธีการติดตามทวงถามที่แตกต่างกัน บางแห่งไม่ยืดหยุ่นเลย ถ้าเป็นหนี้เสียแล้วไม่สามารถจ่ายขั้นต่ำได้ สถาบันการเงินส่งฟ้องเลยก็มี”

SAM ภายใต้การบริหารโดย นารถนารี จึงรับหน้าที่จากแบงก์ชาติให้เป็นคนกลางระหว่างลูกค้ารายย่อยที่มีหนี้เสียค้างชำระเกิน 120 วัน โดยเปิดให้เข้ามาสมัครร่วมกับ “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” เพื่อเป็นองค์กรเข้าไปเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ เป็นบริการแบบครบจบในที่เดียว หรือ One Stop Service ที่ช่วยแบ่งเบาความวิตกกังวล รวมถึงการบรรเทาการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้

นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้

“เราเชื่อว่าทุกคนไม่มีใครอยากเป็นหนี้เสีย แต่เมื่อเป็นหนี้เสียแล้วต้องจ่ายคืน ดังนั้น เราพร้อมมอบโอกาส เพื่อให้เขารอดและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง”

โดยโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ออกแบบการผ่อนชำระหนี้ที่มีระยะเวลายืดหยุ่นให้ลูกหนี้ได้เลือกตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็จะผันแปรตามระยะเวลาเช่นกัน

“จำง่ายๆ ว่าถ้าจ่ายจบเร็วดอกเบี้ยก็จะถูก ถ้าจ่ายจบช้าดอกเบี้ยก็จะแพงขึ้นกว่านิดหน่อย ซึ่ง SAM จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนที่จะรับลูกหนี้เข้าโครงการ แล้ว SAM จึงทำการเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีทั้งหมดในโครงการ เพื่อตกลงทำสัญญาโดยลูกหนี้ สามารถดำเนินการทุกขั้นตอนนี้ผ่าน SAM ที่เป็นตัวกลาง”

ตลอด 7 ปีที่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้ขึ้นมา มีจำนวนบัญชีที่เข้าร่วมโครงการสะสมกว่า 195,000 บัญชี ซึ่งเก็บเงินคืนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท แต่ นารถนารี บอกกับเราว่าบริษัทก็ยังต้องการให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาอีกจำนวนมากได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในโครงการนี้

“ข้อดีของโครงการนี้อย่างแรกคือช่วยให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยถูกลง ส่วนที่สอง เจ้าหนี้ทุกคนจะหยุดการดำเนินการทวงถามหรือฟ้องร้อง และสุดท้ายเมื่อจ่ายได้ครบตามกำหนดแล้ว ดอกเบี้ยที่เหลือค้างไว้จะยกให้” 

เธอกล่าวเสริมว่าในปีนี้อัตราของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนก่อนส่งฟ้องศาลมีจำนวน มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ SAM สร้างการรับรู้ได้มากขึ้นนั่นเอง 

 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการคลินิกแก้หนี้
แน่นอนว่าทุกองค์กรมีเป้าหมายของตัวเองในการดำเนินงานเช่นเดียวกันกับ SAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสำหรับ “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” ที่แก้หนี้ ให้กับภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาของคนจำนวนมาก เราจึงอยากรู้ว่าการวัดความสำเร็จของโครงการนี้นั้นคงไม่ใช่การมีลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น 

“จำนวนผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ตามเป้าหมายและสัดส่วนคนที่จะถูกฟ้องร้องบังคับคดีมีจำนวนลดลง ปีที่ผ่านมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 50,000 บัญชี ซึ่งไม่ได้มีส่วนในแง่กำไรขององค์กรเป็นงานที่เรายินดีทำเพื่อประชาชน เพราะแนวทางที่แบงก์ชาติต้องการให้เราดำเนินงานคือการ consolidate รวบรวมยอดหนี้ไว้ในที่เดียวเพื่อแก้ไขอย่างยั่งยืน”

ลูกหนี้ไม่ต้องเสียเวลาและลุ้นกับกระบวนการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้หลายๆ แห่ง สามารถใช้สมาธิไปใช้กับการทำงานและหารายได้ ออกจากวังวนหนี้ที่มีอยู่ ได้หายใจหายคออย่างเต็มปอดและเดินหน้าใช้ชีวิตอีกครั้ง

 

Step ต่อไปของโครงการคลินิกแก้หนี้
สิ่งที่ SAM ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การให้บริการกับลูกค้าที่มีปัญหาหนี้เสียได้อย่างทั่วถึง ด้วยข้อจำกัดของสถานที่และจำนวนพนักงาน เป้าหมายต่อไปของ นารถนารี ที่วางไว้ในฐานะหัวเรือใหญ่ ขององค์กร คือการสร้างระบบการติดต่อสื่อสารที่เข้าใจพฤติกรรมผู้รับการบริการ 

“พวกเราต้องเข้าใจก่อนว่าคนเป็นหนี้เสียคงไม่อยากเจอใคร แล้วพฤติกรรมคนยุคนี้ ที่สะดวกกับการใช้แอปพลิเคชันในการเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ในระหว่างที่เราอยู่ในวาระการตำแหน่งนี้ จึงวางเป้าหมายในระยะยาวไว้ว่าอยากเพิ่มในเรื่องไอที ซึ่งเป็นเครื่องมือในการให้บริการคนที่เป็นลูกค้าของเราได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหนี้เสีย หรือผู้ที่สนใจซื้อ NPA ก็ตาม” 

“รวมไปถึงการขยายขอบเขตในการทำธุรกิจที่ต้องการเปิดรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เนื่องจากเรามองตัวเองว่า SAM เป็นที่ที่ให้โอกาส จึงอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม”

 

ผู้นำในสไตล์ นารถนารี รัฐปัตย์
จากสองชั่วโมงที่เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับ นารถนารี เรียกได้ว่าไม่มีช่วงเว้นวรรค เธอได้แสดงวิสัยทัศน์และขยายความรู้ความเข้าใจให้กับทุกคนในห้องได้เห็นภาพรวมของทิศทาง และเป้าหมายขององค์กร ถึงแม้การทำงานสายการเงินที่ต้องอยู่กับตัวเลขและความแม่นยำ แต่บรรยากาศการพูดคุยไม่ได้จริงจังเคร่งขรึมเหมือนอย่างที่คิด เธอกลับช่วยให้เห็นโครงสร้างการทำงานได้กระจ่างยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวของผู้นำองค์กรคนนี้นี่เอง 

นารถนารี รัฐปัตย์ ผู้นำองค์กรที่ใช้ความเข้าใจมนุษย์แก้ไขปัญหาหนี้

“เราไม่ใช่คนที่เน้นเฉพาะวิชาการ แต่ให้ความสำคัญกับความเข้าใจ และการเข้าถึงข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาคำตอบ อย่างเป็นเหตุเป็นผล ถือเป็นพื้นฐานของการทำงาน”

“สำหรับผู้นำจะต้องเป็นคนที่ลองลงไปเดินบนดินด้วย จะทำให้เรามีความเข้าใจกับทุกอย่าง เริ่มจากเข้าใจว่าองค์กรนี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วจึงสร้างความเข้าใจให้พนักงานเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการบริหารองค์กรที่มีคนหลายร้อยคนแบบนี้ ไม่อย่างนั้นการทำงานร่วมกันจะยิ่งยากขึ้น สุดท้ายพนักงานของเราต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้าเพราะการแก้หนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาเดียวกันแต่มีทางออกที่แตกต่างกัน”

“พนักงานของเราจึงต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจบริบทของลูกค้า อีกทั้งต้องเก่งในการหาหนทางแก้ไขที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล สำหรับผู้นำองค์กรต้องทำให้พนักงานเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันและต้องทำให้พวกเขามีความรู้ครบถ้วน เพื่อไปดูแลลูกค้าต่อไป”


สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากเธอคือการเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด ตรงไปตรงมาและเรียบง่าย 

“เมื่อเราทำงานที่ไหน เราจะรักที่นั้น การตัดสินใจเลือกงานที่ทำจึงตั้งอยู่บนภารกิจขององค์กรที่ทำอยู่ เพราะนั่นเป็น passion ของเรา คนที่จะมาอยู่ภายในองค์กรร่วมกันก็ต้องมีคนที่มีทัศนคติแบบเดียวกัน เราอาจไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก แต่เรารักในสิ่งที่เราทำ นั่นแหละที่จะทำให้มีความสุข”

ชีวิตที่ถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหา
เราทุกคนต่างมีปัญหาของตัวเองเล็กบ้างใหญ่บ้าง มีทั้งเรื่องซับซ้อนและแก้ไขง่าย ปัญหาเรื่องหนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาว่ากันว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ แล้วสำหรับ นารถนารี กับการแก้ไขปัญหาของคนอื่นตั้งแต่วันแรกของการทำงานเป็นอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่เราสนใจ 

“เราชอบงานที่ทำอยู่ตอนนี้มาก สิ่งนั้นคือการแก้ปัญหา ชีวิตในการทำงานก็ได้เข้าไปอยู่ในองค์กรที่ต้องแก้ไขปัญหามาตลอด ซึ่งตรงกับสิ่งที่เป็น passion ของเรา”

“ถ้าได้แก้ปัญหาให้คนๆ หนึ่งได้สำเร็จนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ถือเป็นความภูมิใจของเราเองและพนักงานทั้งองค์กรด้วยเช่นกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านการทํางานแก้หนี้มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ถึงเราและลูกค้าจะ deal กันไม่ลงตัว แต่ทุกคนที่ได้เข้ามาเจรจามีความสุขเพราะอย่างน้อยพวกเขามีที่ระบาย มีคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ ก็ช่วยผ่อนคลายปัญหาลงได้” 

 

การมีหนี้มีประโยชน์แต่…
เรามักคุ้นเคยกับประโยคที่ว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แล้วมุมมองจากคนที่ดูแลจัดการหนี้มาทั้งชีวิตอย่าง นารถนารี นั้นเธอกลับมองต่างออกไป 

“การมีหนี้เป็นประโยชน์แต่ไม่ทั้งหมด คุณต้องใช้เงินนั้นให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ธุรกิจอาจไม่สามารถรอเงินทุนสะสมเพื่อเติบโตขึ้นได้ การเป็นหนี้ในเชิงธุรกิจเพื่อดำเนินธุรกิจจึงมีประโยชน์เช่นกัน อาทิ ในเรื่องการลดหย่อนภาษี”

“สำหรับเรามองว่า คนที่ผ่านการกู้จากธนาคารเสมือนเป็นโรงเรียนที่ทำให้ได้แจกแจงรายรับ รายจ่ายหมุนเวียน นั่นคือวินัยทางการเงินที่ช่วยให้คนทำธุรกิจได้จัดระเบียบตัวเอง คำนวณต้นทุนกำไรที่คุ้มค่าการลงทุน”

“การใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ทิศทางการทำธุรกิจ สร้างวินัยการเงินเพื่อใช้เงินที่ได้มาต่อยอดสร้างรายได้”

 

หมุดหมายที่วางไว้ให้กับ SAM
สองเรื่องหลักๆ ที่ นารถนารี วางเป้าหมายในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ไว้คือ หนึ่งการได้ดูแลลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเฉพาะรายย่อย รวมถึงวางระบบการไอทีที่ช่วยสร้างเครื่องมือติดต่อสื่อสาร เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงองค์กรได้ง่ายและสะดวกใจในการพูดคุยเรื่องหนี้ แม้ไม่ต้องพบปะระหว่างบุคคลก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ได้เช่นกัน 

“ตอนนี้โทรศัพท์ไปก็ไม่มีใครรับเพราะคิดว่าเป็น call center จะมาหลอกเอาเงิน จึงทำให้การทำงานยากขึ้น แต่ถ้าจะให้เราไปตั้งสาขาทั่วประเทศก็มีต้นทุนที่ต้องบริหารเช่นกัน ซึ่งเป้าหมายทั้งสองข้อที่อยากทำให้สำเร็จเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องใช้เวลา สำหรับเป้าหมายระยะสั้นคือการเพิ่มอัตราการเข้ามาประนอมหนี้มากขึ้น อยากให้ลูกค้าเห็นว่าเราเป็นมิตรนะ ไม่ต้องกลัวเรา”

 

SAM ที่นี่มีโอกาส 
นอกจากโครงการคลินิกแก้หนี้ ที่เป็นช่องทางบรรเทาภาระหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับการเติมเงินในกระเป๋ากราย ๆ แล้ว SAM ยังมีภารกิจในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย หรือ Non-Performing Asset (NPA) สำหรับใครที่ต้องการต่อยอดสร้างโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์มือสอง ก็มีให้เลือกสรรในราคาที่เข้าถึง ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ช่วยทำเงินให้งอกเงย

“ข้อดีของทรัพย์มือสองคือของที่ขายมีให้เห็นสำเร็จรูปและราคาจับต้องได้ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับคนที่ต้องการจะมีทรัพย์สินที่ไม่แพงเกินไปหรือเป็นโอกาสสำหรับลงทุน” 

สนใจศึกษารายละเอียทรัพย์มือสองเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ https://www.sam.or.th/site/sam/ 

สนใจศึกษารายละเอียดของโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAMเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ https://www.debtclinicbysam.com/ หรือง่ายๆ ติดต่อ 1443