28 มิ.ย. 2567 | 19:30 น.
เด็กหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้เข้าค่าย ‘ชิมลางสถาปัตย์’ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 10 วันทำให้ จือ - ณัฏฐา สุนทรวิเนตร์ บ่มเพาะความชอบและมองเห็นเส้นทางอาชีพของตัวเองในอนาคต จากโจทย์ที่ได้รับสองหัวที่แตกต่างกันระหว่าง ‘การตกแต่งภายในทำให้คนหย่ากัน’ และ ‘การออกแบบห้องน้ำสำหรับคนพิการ’ เธอเองก็ไม่เตรียมใจมาก่อนว่าช่วงเวลาในครั้งนั้นจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เข้าใจแก่นแท้ของอาชีพอินทีเรียร์ ดีไซน์ ที่ไม่ใช่แค่การมองเรื่องความสวยงาม ความหรูหราเพียงภายนอก แต่เป็นการตอบโจทย์ภายใน
จุดประกายความฝันอาชีพ อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์
“ไม่เคยคิดว่าวิชาชีพนี้จะสามารถมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตคนและช่วยคนได้ขนาดนี้ ทำให้เราเปิดโลกมากว่ามันมีอาชีพที่สามารถช่วยทำให้คนมีความสุข และในทางกลับกันก็เปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้เลยนะ”
โจทย์ที่ลูกค้าเดินทางเข้ามาปรึกษากับ จือ - ณัฏฐา และทีม Double V ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ หรือการสร้างบ้านหลังสุดท้ายสำหรับเป็นสถานที่หลังเกษียณให้กับคนในครอบครัว เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ในชีวิตที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา
“มันจะมีโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของคนบางคนมาให้เราเสมอ พวกเขากําเงินมาหาพร้อมฝากความหวังและความฝันให้เราช่วยดูแล
จากความไว้วางใจที่ลูกค้าให้เธอออกแบบธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ทำให้เด็กคนหนึ่งในวัยอายุ 22 - 23 ปี รับรู้ได้ถึงความทรงเกียรติของวิชาชีพนี้ที่เธอเลือก ทำให้ทุกวันที่เธอตื่นขึ้นมานั้นมีความหมายกับใครบางคนเสมอ
“เรารู้สึกว่าตัวเองมีแรงที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหน้างาน รับมือกับผู้รับเหมา เราไม่ได้แค่สนใจ แต่เราคลั่งไคล้ในความสวยงามและการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ เวลาได้ไปที่สวย ๆ ก็อยากออกแบบพื้นที่แบบนี้ได้เหมือนกัน การเดินทางไปที่ใหม่ ๆ เป็นการต่อยอดได้แบบไม่รู้จบ”
ความช่างสงสัยพาให้เธอเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยยังสนุกกับการสร้างประสบการณ์ที่แปลกแตกต่างออกไป ช่วยสร้างความรู้สึกใหม่ให้กับการอยู่ข้างในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
“ถ้าเราทํารีเทลให้กับแบรนด์แบรนด์หนึ่ง มันต้องทําให้คนรู้สึกแบรนด์ได้ทันทีที่เดินเข้ามาแบบที่เราเคยได้รับจากตัวอย่างการออกแบบของที่อื่นที่เราเป็นมาตรฐานที่อยากทำให้ได้ ดังนั้นงาน Interior มันสามารถสร้างความสําเร็จให้กับการสร้างแบรนด์แก่ธุรกิจได้เช่นกัน”
ไม่ได้สร้างบ้านแต่สร้างความภาคภูมิใจ
บ้านแบบไหนคือบ้านที่เจ้าของบ้านภาคภูมิใจที่ได้อยู่อาศัยและอยากต้อนรับแขก จือ - ณัฏฐา กล่าวอย่างมั่นใจในผลงานที่เธอได้ออกแบบภายในและสร้างบ้านขึ้นมาทุกหลังไว้ว่า
“มันคือความภูมิใจที่เจ้าของบ้านสามารถพูดออกมาได้อย่างเต็มปากว่า I own this house บ้านของฉันไม่เหมือนใคร บ้านที่ Double V สร้างขึ้นมาจะเป็นที่สร้างจากตัวตนของผู้อยู่อาศัยในบ้าน ซึ่งจะมีคาแรกเตอร์ของเจ้าของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เหมือนเป็นการตัดสูทขึ้นใหม่ทุกตัว
จิตวิญญาณของงานออกแบบเฉพาะบุคคล
งานอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ มีอยู่ด้วยกันหลายประเภททั้งในระดับบุคคลและเพื่องานเชิงพาณิชย์ สำหรับ จือ - ณัฏฐา ผู้ก่อตั้ง Double V มองว่างานที่เข้ามือและมีแพสชันด้วยมากที่สุดน่าจะเป็นงานเจาะจงเฉพาะบุคคล
“โปรเจกต์เฉพาะบุคคลมีจิตวิญญาณอยู่ มันมีคนที่เข้าไปอยู่จริง ๆ มีบางคนเลือกไม่รับงานเฉพาะบุคคล เพราะบอกว่างานแบบนี้คนจะเรื่องมาก แต่เราเข้าใจการใช้ชีวิตของลูกค้า เราแพสชันกับการที่ลูกค้าตื่นมาแล้วบอกว่าเห็นหน้าเราอยู่ในทุกมุมเมื่อมองเฟอร์นิเจอร์ที่ไปซื้อด้วยกัน เรารู้สึกว่าแบบนี้จะทำให้บ้านมีชีวิต ถึงแม้จะเคยทำบ้านตัวอย่างมาหลายโครงการแล้ว แต่ไม่รู้สึกว่ามันมีความหมายกับใครคนหนึ่งจริง ๆ”
ด้วยแพสชันและลักษณะเฉพาะทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่เธอจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและออกแบบสำหรับเฉพาะบุคคล
“ลูกค้าเดินมาหาเราแบบไม่รู้เลยว่าบ้านจะเป็นอย่างไร แม้มาแบบว่างเปล่า ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเราถอดรหัสให้เอง จนมีคนบอกกับเราว่าคุณจือเหมือนหมอดูเลย”
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสามารถพิเศษหรือเซนส์ในการอ่านคนที่ดี ทำให้ จือ - ณัฏฐา สามารถมองเห็นสิ่งที่ลูกค้าไม่ได้พูดออกมา คาแรกเตอร์ของลูกค้าแต่ละคนสะท้อนออกมาผ่านการนั่งสนทนากัน ซึ่งบางครั้งสวนทางกับตัวอย่างที่ลูกค้านำมาเป็นต้นแบบก่อนที่จะได้คุยกัน จนเหมือนกับว่าเป็นการทำงานไม่ตรงโจทย์ แต่เธอก็ยอมเสี่ยงที่จะเสนอทางเลือก
“ตัวอย่างเช่น ลูกค้าคนหนึ่งที่ชีวิตเขาเข้มข้นมาก เป็นคนสัมภาษณ์นักการเมืองและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ แต่อยากได้บ้านสีขาว เราเลยจัดเต็มให้เลย ห้องสีน้ำเงินตัดกับสีส้ม เป็นสีคู่ตรงข้ามที่แรงที่สุด กลายเป็นว่าลูกค้าชอบมาก ไม่แก้เลย เพราะรู้สึกว่าสีนี้แหละที่เป็นตัวตนของเขา
“ลูกค้าทุกคนที่เราเสนอไปเขารู้สึกว่าเรามองขาด นี่แหละทำให้เราสะใจที่เราสามารถมองออกโดยเขาไม่ได้พูดออกมา เราสนุกที่ได้ค้นหาตัวตนใหม่ ๆ ของลูกค้าแต่ละคน”
กุญแจไขความสำเร็จตามมาตรฐานของ Double V
“ความละเอียด”
ยังไม่ทันที่เราจะถามคำถามจบ จือ - ณัฏฐา ก็สวนกลับมาทันควัน ซึ่งจากการพูดคุยและสังเกตออฟฟิศปัจจุบันของ Double V ก็จะสัมผัสได้ว่าเธอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริง ๆ โดยจุดแข็งของเธอได้รับการสะท้อนกลับมาจากการทำงานร่วมกันกับลูกค้าจำนวนมากที่ต่างสะท้อนเป็นเสียงเดียวกัน
“ลูกค้าต้องการทำที่เก็บผ้าเพิ่ม คุณแม่ของเขาเลยหาซื้อราวตากผ้ามาให้แขวนเสื้อผ้า สิ่งนี้มีความหมายกับเขา เราจึงทำตู้เสื้อผ้าที่เหมาะกับการใช้งาน แต่เป็นรูปแบบราวแขวน เพื่อสะท้อนให้เห็นความใส่ใจของแม่ที่ซื้อมาให้กับลูก เราออกแบบเพื่อให้เขาได้ระลึกถึงสิ่งที่น่าประทับใจเหล่านี้ไว้ ถึงแม้จะรีโนเวทห้องใหม่ แต่ความทรงจำดี ๆ จะยังคงอยู่”
จือ - ณัฏฐา เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความบ้าดีเทล ในการลงลึกกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เธอสัมผัสและรับฟังลูกค้าทุกคนของเธอ จนทำให้ไม่ว่าใครที่ได้ใช้บริการต่างก็ประทับใจและชื่นชมในความใส่ใจอันเป็นจุดขายที่แข็งแรงของ Double V
“ลูกค้าสะท้อนมาว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้รู้สึก Small things matter to me เรื่องราวในชีวิตของพวกเขามีความหมายต่องานออกแบบได้ขนาดนี้เลยเหรอ”
นี่เป็นเสียงตอบรับจากลูกค้าที่ได้รับการบริการที่เกินความคาดหวังจนตัวเองยังประหลาดใจ ซึ่งส่งผลให้การทำงานในเชิงโครงสร้างก็ได้รับการเอาใจใส่ทุกรายละเอียดตลอดกระบวนการก่อสร้างด้วยเช่นกัน
“ความยืดหยุ่น”
เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ จือ - ณัฏฐา พลิกแพลงสิ่งที่ลูกค้าชอบออกแบบให้สวยที่สุดในเวอร์ชันของเขา นี่คือประสบการณ์ที่เธอได้รับการจากออกแบบให้กับลูกค้าคนสำคัญที่ทำให้เธอรู้จักการหาสมดุลระหว่างความชอบของลูกค้าและหน้าที่ของอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์
“เราไม่มีอีโก้ว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ที่โด่งดัง ลูกค้าต้องรับฟังสิ่งที่เราออกแบบ แต่ห้องที่เราออกแบบเป็นห้องที่ลูกค้าต้องเข้าไปอยู่ นี่เป็นชีวิตของเขา จุดแข็งของเราคือการไม่มีตัวตน ไม่มีสูตรสำเร็จเพื่อให้การออกแบบสวย”
การยืดหยุ่นสำหรับ จือ - ณัฏฐา ไม่ใช่การไม่รักษามาตรฐาน แต่เป็นการเข้าใจเนื้อแท้และแก่นแท้ของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และอีกจุดขายสำคัญของ Double V ภายใต้การนำทีมของแม่ทัพหญิงคนนี้ที่เราสรุปได้ก็คือการเป็นผู้รับฟังที่ดี
จักรวาลของ Double V Group
จุดเริ่มต้นด้วยธุรกิจออกแบบในนาม Double V Space ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจนขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจร จากเดิมผู้คิดมาเป็นผู้สร้างด้วยตัวเองเพื่อควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ช่วยลดรอยต่อระหว่างธุรกิจเพื่อความต้องการของลูกค้า ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ แต่ผลลัพธ์คือความพึงพอใจสูงสุด
“เราพยายามควบคุมคุณภาพให้ได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราจะอุดรูรั่วจุดที่ผิดพลาดหลาย ๆ อย่างจาก Supplier ถ้าเราเป็นผู้กรองด้วยตัวเองก็จะสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”
จึงนำมาสู่การขยายธุรกิจให้ครอบคลุมสู่การรวมตัวเป็น Double V Group เพื่อขยายองค์กรให้สามารถรองรับงานได้ครบและตรงโจทย์ในใจที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด รวมถึงลดการประสานงานที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุดเพื่อให้ปรับแก้ได้
อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหา ค่อย ๆ เดินออกมามองภาพใหญ่ขึ้น ๆ ถอยจากการออกแบบภายในห้องสู่งานโครงสร้างภาพรวม
“การบริหารจัดการมันยากมาก แค่จะเปลี่ยนหน้าต่างหนึ่งบาน ใช้เวลาเป็นสัปดาห์เพื่อนัดประชุม แล้วถึงไปแก้แบบ กลับกันในตอนนี้เราเดินไปที่โต๊ะสถาปนิกแก้แบบทุกอย่างเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง Flow การทำงานเร็วกว่าเดิมมาก สร้างกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพโดยพนักงานในองค์กร”
มาถึงวันนี้ Double V Group มีสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบและโครงสร้างต่าง ๆ อยู่ในองค์กร ขยับขยายสเกลจากที่ดูแลงานในดีเทลระดับมิลลิเมตรสู่การดูแลโครงสร้างอาคารทั้งหมด
เทคนิคเฉพาะตัวแบบ Inside Out
ด้วยความที่ Double V Space เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภายในเป็นฐานรากที่แข็งแรง จึงเข้าใจการจัดการพื้นที่ภายในเป็นอย่างดี ทำให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเป็นเทคนิคการสร้างบ้านที่เรียกว่า Inside Out
“จากเดิมเราซื้อบ้านมาก่อนแล้วหาวิธีการตกแต่งนั่นคือ Outside In แต่นี่จะเป็นกระบวนการคิดแนวใหม่ซึ่งมาจากการทดลองตลอดระยะเวลา 10 ปีของการทำ Double V Space แบบไหนที่โอเคกับการใช้ชีวิต เราได้บ้านมาแล้วเราต้องต่อเติมอะไร ตอนนี้ไม่ต้องต่อเติมและทุกอย่างมาครบเต็มแล้ว”
จากการเรียนรู้ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ทำให้ Double V Space เข้าใจความต้องการ โดยจากประสบการณ์การทำงานค้นพบว่าลูกค้าเรียกร้องขอเพิ่มกับเพิ่มเท่านั้น ดังนั้นการสร้างบ้านจากการใช้ชีวิตข้างในจริง ๆ แล้วเอาอาคารภายนอกมาครอบ แม้อาจจะทำให้สถาปนิกทำงานยากเพราะแทบจะฉีกตำราที่เรียนมาทิ้ง แต่กลับเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่ม Luxury ได้อย่างลงตัว อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ ไม่ต้องมาแก้ปัญหาทุบผนังเพื่อต่อเติมให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง
“สถาปนิกของเราต้องพลิกหัวใหม่ จากสิ่งที่เขาเรียนรู้มา สิ่งที่เขาทํามาทั้งชีวิต เพราะคุณอยู่ในบริษัทที่มีจุดแข็งเรื่อง Interior การทํางานจึงขยายมากขึ้น เพราะเราอยากจะควบคุมทั้งหมดให้ได้คุณภาพ”
การเติบโตของ Double V Space เกิดขึ้นจากความไว้วางใจที่ได้รับจากลูกค้า ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานของพวกเขาขึ้นจากเดิมที่ดูแลเฉพาะงาน Interior ค่อย ๆ ก้าวออกจากห้องหนึ่งห้องมาเป็นบ้านทั้งหลัง และบ้านทั้งหมดในโครงการจนเกิดเป็น Double V Group ในปัจจุบัน
“เราไม่ได้คิดจะขยายมาทำด้านสถาปนิกหรือมาดูแลอาคาร เพราะเรายังคลั่งไคล้เรื่อง Interior และการใช้ชีวิตข้างใน แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เราได้ดูแลด้านนอกด้วย แล้วก็พบว่าโมเดลนี้มันดีนะ ทําไมถึงไม่ทำออกสู่ตลาดให้คนอื่นเห็นว่าแบบนี้มันเวิร์ก ก็เลยกลายเป็นโครงการหมู่บ้านที่ดีไซน์จาก Inside Out เริ่มด้วยโจทย์จาก Interior แทนการหาว่าบ้านนี้จะมีกี่ตารางวา ห้องนอนห้องน้ำมีกี่ห้อง”
ประกอบกับพฤติกรรมหลังจากโควิด-19 ระบาด ทำให้คนหันมาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่บ้านมากขึ้น ทั้งกิน ปาร์ตี้ ดูหนัง โยคะ ตีกอล์ฟ นวด ทำให้ชีวิตในคอนโดฯ เริ่มไม่ตอบโจทย์ บ้านแนวราบเริ่มเป็นที่นิยมและมีลูกค้าจำนวนมากติดต่อมาให้ Double V Space ดีไซน์พื้นที่เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“มันไม่ได้เกิดจากความคิดที่ว่าฉันจะรวยหมื่นล้าน มันไม่ใช่การตั้งโจทย์แบบนั้น มันตั้งโจทย์มาจากที่เรามีของดีแต่ทําไมตอบโจทย์แค่คนกลุ่มหนึ่ง พอเรา develop แล้วค้นพบว่าโปรดักต์นี้มันดี แล้วทําไมไม่ขยายตลาดให้คนอื่นเห็นว่าอยู่ในบ้านที่ไม่ต้องต่อเติม ไม่ต้องทุบ บ้านที่ลงตัวกับคุณตั้งแต่แรก บ้านไม่ต้องช้ำตั้งแต่ก่อนเข้าไปอยู่”
บททดสอบชีวิตทำให้เข้าใจชีวิต
ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สัจธรรมชีวิตที่สอนให้ จือ - ณัฏฐา พบกับบททดสอบที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ตัวในครอบครัว ทำให้ไลฟ์สไตล์และมุมมองการใช้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป คุณแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีกอย่างกะทันหัน ได้ช่วยให้ลูกสาวคนเล็กของครอบครัวคนนี้แข็งแกร่งและเข้าใจชีวิตมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวที่เธอต้องรับมือด้วยตัวเอง
“อยู่ดี ๆ เราต้องบินไปเชียงใหม่เพื่อรีโนเวทบ้านอายุ 30 ปี ให้เหมาะกับคนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เข็นวีลแชร์ไปหาหมอ ทำห้องน้ำคนพิการ”
การผ่านกระบวนการดูแลผู้สูงอายุทำให้เธอเห็นปลายทางของชีวิตตัวเองและอยากที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับอีกหลายชีวิตที่ยังมองไม่เห็นว่าสุดท้ายแล้วบั้นปลายคนเราเมื่ออายุมากขึ้นต้องการบ้านแบบใดเพื่อซัพพอร์ตชีวิตที่เหลืออยู่ให้สะดวกและสมูทมากที่สุด
“เราบอกลูกค้าทุกคนให้เตรียมห้องนอนชั้นล่างไว้ เผื่อพื้นที่สำหรับวีลแชร์ด้วย คุณจะได้ไม่ต้องมานั่งทุกข์ใจ ลูกค้าทุกคนก็แฮปปี้มากที่เราแนะนำเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็น insight ของเราเองที่เคยทุบบ้าน ขยายห้องน้ำเพื่อให้เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องใช้วีลแชร์มาก่อน”
เป้าหมายต่อไปของ จือ - ณัฏฐา และ Double V Group คือการทำหมู่บ้านสำหรับคนที่ต้องการเตรียมความพร้อมเพื่อ early retire ในอนาคต บ้านที่ออกแบบตามมาตรฐานและช่วยคุณวางแผนรูปแบบชีวิตในบั้นปลายที่เราอาจมองข้ามไป
“คุณอาจจะรวมมาก ทำงานยุ่งมาก จนไม่เคยคิดว่าสุดท้ายแล้วในอนาคตแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะต้องเชิญเขามาอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยกันนะ เราอยากชวนให้ทุกคนวางแผนอนาคต นอกจากวางแผนการเงินในแต่ละเดือนเพื่อ retirement คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเลยว่าบ้านแบบไหนที่มันเหมาะกับ retirement แบบนั้นแหละที่จะอยากทํา”
จากประสบการณ์ส่วนตัวกลายเป็นแนวคิดเพื่อทำให้คนวางแผนการออกแบบบ้านสำหรับบั้นปลายชีวิต การเรียนรู้ด้วยตัวเองของเธอทำให้เรามองเห็นความเอาใจใส่ที่มากกว่าการเป็นนักออกแบบ แต่เป็นความห่วงใยที่เธอมอบให้กับลูกค้าที่มากกว่าความคาดหวังที่พวกเขาฝากไว้
“เราผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา ทำให้คิดได้ว่าถ้าแม่ไม่มีเราจะเป็นอย่างไร เราเป็นห่วงชีวิตตอนแก่มากเลยว่าใครจะมาดูแลเรา แล้วเขาจะดูแลได้ดีอย่างที่เราดูแลแม่หรือเปล่า เราเลยทำมันด้วยใจ”
สิ่งที่เธอผ่านมาด้วยตัวเองทำให้ค้นพบว่าถึงแม้จะมีเงิน แต่เงินไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง การที่เธอได้มาช่วยดูแลคุณแม่ทำให้สามารถคัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคุณแม่ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่มีลูกแต่มีเงิน เกียรติศักดิ์ศรีที่ทำมาทั้งชีวิตก็ไม่อาจดูแลรักษาไว้ได้ในยามเจ็บป่วย รายละเอียดชีวิตอีกมากมายที่คุณในวันนี้ยังไม่ได้เตรียมตัว นี่จึงเป็นสิ่ง จือ - ณัฏฐา และ Double V จะเข้ามาเติมเต็ม
“เราเป็นห่วงตัวเอง ห่วงเพื่อน ห่วงคนใกล้ตัว เพราะเราไม่เคยมีแผนรองรับสำหรับเหตุการณ์แบบนี้ เรามัวแต่โฟกัสกับงาน แล้วตอนที่อายุ 50 - 60 ปี เราจะใช้ชีวิตแบบไหน ตอนนี้ที่คุณยังมีสติสัมปชัญญะสามารถตัดสินใจเลือกชีวิตที่คุณอยากได้ในตอนบั้นปลายนะ”
ปัญหาส่วนตัวของ จือ - ณัฏฐา จึงทำให้เธอเปิดวิสัยทัศน์ของตัวเองและอยากเข้ามาช่วยดูแลการวางแผนให้กับลูกค้าทุกคนของเธอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอุบัติเหตุในชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นกับใครเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนเช่นกัน
“เรารู้สึกว่าจะต้องขยายตัวเองมากขึ้น เพราะเราสามารถช่วยคนได้เยอะกว่านี้ แต่ก่อนที่ดูแลแค่เรื่องความฝันคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสําหรับคนอายุ 30 - 40 ปี แต่ตอนนี้ถ้าคุณอายุ 60 - 70 ปี มันคือเรื่องของการใช้ชีวิตจริง ๆ ที่ต้องมองไปข้างหน้าต่อเพื่อเตรียมตัวต่อจากนี้ เราคิดว่าตัวเองจะมีงานทำไปทั้งชีวิตแล้ว และรู้แล้วว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร
“เราผ่านจุดที่ต่ำที่สุดคือแม่ป่วยเข้าไอซียูเป็นเดือน ต้องไปเฝ้าแล้วด้วยตัวเองแล้วกลับมาทุบบ้าน สวมบท Interior ทําบ้านให้ผู้สูงอายุไม่ทันตั้งตัว เศร้าก็เศร้า งานก็ต้องทํา บ้านก็ต้องสร้าง เรารู้สึกว่ามันหนักไปสําหรับคนคนหนึ่ง เราไม่อยากให้ใครต้องมาผ่านประสบการณ์แบบนี้ ถ้าเรามีบ้านที่เตรียมพร้อมไว้สําหรับทุกโอกาส”
กระบอกเสียงเพื่อคุณค่าวิชาชีพดีไซเนอร์
นอกจากหมวกหลายใบที่ จือ - ณัฏฐา รับผิดชอบดูแลภายใต้ Double V Group และการดูแลคุณแม่ในพาร์ตของหน้าที่ลูก ซึ่งก็ทำให้ตารางชีวิตแน่นตั้งแต่เช้าจนหมดวัน แต่หนึ่งในความตั้งใจของเธอคือการทำให้คนในสังคมเห็นคุณค่าของงานออกแบบและอาชีพดีไซเนอร์ จึงทำให้กระโดดลงมาทำคอนเทนต์ที่เปิดอีกด้านของการออกแบบ เพื่อให้คนทั่วไปมองเห็นเบื้องหลังของไอเดียและที่มาความสวยงามที่สำเร็จให้เห็นนั้น มีต้นทุนและฝีมือแรงงานเฉพาะทางจำนวนมากที่โดนมองข้ามไป
การทำงานหนักของเธอถ้าเทียบกับดีไซเนอร์ในต่างประเทศสามารถชื่อเสียงและรายได้จำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ นี่จึงทำให้ จือ - ณัฏฐา อยากลงสนามสร้างคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อเปลี่ยนความคิดคนในสังคมตั้งแต่ต้นตอ
“เราไปสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ให้คนเห็นว่างานดีไซน์มีคุณภาพและมีคุณค่า ไม่ได้มาง่าย ๆ เราอยากให้ความรู้กับสังคมไทยให้มองเห็นคุณค่าของงานออกแบบมากกว่านี้ เข้าใจว่าวิชาชีพนี้มีไว้เพื่ออะไร การเป็น content creator ของเรามีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับวงการนี้ ไม่ใช่ทำงานแล้วได้เงินศูนย์บาท”
สิ่งที่ทำให้เธอยังไม่ย้ายประเทศคือการที่เธอต้องดูแลคุณแม่ จึงทำให้เธอต้องหาวิธีที่จะทำให้อาชีพอินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ที่เธอรัก ได้รับการยกย่องและให้เกียรติมากกว่านี้ และหวังว่าการทำคอนเทนต์จะเป็นหนึ่งในช่องทางยกระดับวิชาชีพนี้ให้เป็นอาชีพที่คนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างภาคภูมิและยั่งยืน
“เป้าหมายของเราต้องการช่วยให้คนในวงการนี้รวยไปด้วยกัน โดยไม่ต้องทํางานอื่น เราสามารถเลี้ยงครอบครัวตัวเองได้ ไม่ใช่ชอบงานนี้ แต่ยังต้องไปขายเสื้อผ้าหรือต้องไปเปิดร้านคาเฟ่ เพราะไม่พอกับรายจ่าย นี่เป็น pain point ของคนที่ทำอาชีพนี้อย่างสุจริตด้วยใจรัก แต่คนดูถูก สำหรับคนประเทศนี้คนคิดหรืองานครีเอทีฟไม่ได้เงิน คนทำผู้รับเหมาได้เงิน”
“เราซื่อสัตย์และให้ใจกับวิชาชีพนี้ แต่ทําไมวิชาชีพนี้ไม่ให้อะไรกลับแก่เราบ้าง เราเลยต้องออกไปทำคอนเทนต์ให้คนเห็นเบื้องหลังและกระบวนการให้คนเห็นความยากลำบากของคนจำนวนมากเพื่อเสกผลลัพธ์ให้คนทึ่งออกมานั้นใช้เวลาและกำลังคนมากมายที่ยังไม่เคยมีใครออกมาพูดถึง”
ทั้งนี้เธอหวังว่าคอนเทนต์ของเธอจะช่วยทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจงานอินทีเรีย ดีไซน์และการออกแบบได้มองเห็นเส้นทางอาชีพของตัวเองในอนาคต ซึ่งเธอพยายามทำให้เห็นว่าตลอดเส้นทางการทำงานมีผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่ช่วยกันเติมเต็มให้งานออกแบบออกมาสำเร็จสวยงามในวันส่งมอบถึงมือลูกค้า
“เด็ก ๆ จะเห็นเลยว่าสามารถทําอาชีพอะไรได้บ้างในงานสายนี้ เพราะว่าเราจะทำให้เห็นอีก 10 อาชีพที่อยู่ในกระบวนการออกแบบ ไม่ได้มีแค่ดีไซเนอร์อย่างเดียว คุณรู้ไหมว่ามีอาชีพนักหาวัสดุที่แต่ละวันมองหาหิน กระจก ไม้ อยู่แต่กับเฉพาะเรื่องวัสดุเท่านั้นอยู่ด้วยนะ แล้วก็ยังมีอาชีพอีกมากในสายงานนี้ที่คุณสามารถเลือกเป็นได้ซึ่งประกอบกันเป็น dream team อยู่ในบริษัท”
พัฒนาตัวเองเพื่อพัฒนาคนในทีม
ถึงแม้ภายนอก จือ - ณัฏฐา จะเป็นผู้นำองค์กรหญิงที่เก่งและแกร่ง แต่แรงปะทะทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวก็ทำให้มีวันที่หัวใจของเธอต้องการการดูแลเช่นกัน จึงทำให้เธอสนใจด้านจิตวิทยาและการจัดการตัวเอง ซึ่งทำให้สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่แต่ยังไม่ได้ฉายแสงนั้นออกมา นอกจากช่วยฮีลใจตัวเองยังนำมาใช้กับทีมงาน Double V ได้เช่นกัน
“เราทำงานเยอะจนถึงจุดที่ burnout จึงต้องหาวิธีจัดการตัวเอง พอเราเรียนรู้วิธีจัดการตัวเองได้ก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์มาก สามารถดึงศักยภาพคนในทีมได้ด้วยการตั้งคำถามที่ถูกต้อง การตอบสนองเมื่อลูกทีมทำงานได้ดี การเสริมแรงทางบวกด้วยการชื่นชม ทำให้ Double V มีคนเก่ง ๆ ที่ทำงานด้วยกันมานาน และอยากอยู่กับเราไปตลอดชีวิต”
สถานที่ทำงานที่คนอยากมาทำงานนอกจากสวัสดิการ ความสะดวกสบายที่เอื้อให้การทำงานคล่องตัว สิ่งสำคัญคือความสบายใจและเข้าอกเข้าใจ ที่ดูแลเอาใจใส่แม้ก้าวพ้นประตูออฟฟิศไปแล้วด้วยเช่นกัน
“ถ้าเราเข้าใจลูกค้าได้ เราก็ต้องเข้าใจลูกน้องเราเองด้วยเหมือนกัน ลูกน้องก็เป็นชีวิตหนึ่ง เราเองเคยผ่านการเป็นลูกน้องคนอื่นมาก่อน เรายิ่งเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของคนทำงานเช่นกัน”
แรงจูงใจที่ Double V ให้กับทีมงานมีทั้งในรูปแบบตัวเงินที่วัดผลตามผลงานและแรงใจที่คอยเติมให้อยู่เสมอเพื่อประกอบกันช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ตอบโจทย์ความต้องการของคนในองค์กรเหมือนกับการทำงานให้กับลูกค้าที่มอบความไว้วางใจ สิ่งที่เธอเรียนรู้มาได้นำมาใช้วางเส้นทางให้กับลูกน้องแต่ละคนมองเห็นเป้าหมายของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น สามารถตัดสินใจได้เฉียบคมขึ้นด้วยตัวเอง รายละเอียดเหล่านี้คือสิ่งที่เธอให้ความสำคัญกับคนในองค์กรทั้งหมดกว่า 30 ชีวิตในการดูแลของเธอ
“เราอยากให้ทุกคนที่เจอ จือ - ณัฏฐา แล้วรู้สึกโชคดี ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานด้วยกัน เป็นลูกค้า หรือ suppiler อยากให้เขารู้สึกว่าเราได้สร้างคุณค่าให้กับเขา”
แหล่งชาร์ตพลังงานของ จือ - ณัฏฐา
เบื้องหลังพลังงานมากมายที่ จือ - ณัฏฐา มอบให้กับทุกคนในวงโคจรของเธอมาจากครอบครัวและคนรักที่คอยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ทำให้เธอสามารถกลับมาบ้านแล้วกลายเป็นแมวตัวน้อย ๆ ที่ต้องการหาที่อบอุ่นพักกายและใจในวันวุ่นวายและแสนเหนื่อยล้า
“ทุกคนเข้าใจว่าเราต้องใช้พลังงานนอกบ้านเยอะมาก พอถึงบ้านไม่มีการคุยเรื่องงานกันเลย วันเหนื่อย ๆ เราแค่อยากได้การกอดจากคนที่เรารัก แล้วถ้าวันไหนที่หมดพลังงานไปมาก ๆ การฮีลที่สำคัญของเราคือการนวด”
เมื่อเธอเข้าใจสมดุลของตัวเองและเข้าใจการทำงานของคนรอบตัว การเติมเต็มจากข้างในช่วยให้พลังงานของเธอแจกจ่ายให้กับคนอีกมากมายที่ต้องทำงานด้วยกันได้เสมอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอและเคารพเวลาส่วนตัวของทีมเป็นสิ่งที่ จือ - ณัฏฐา ยึดถือ
“สำหรับที่ Double V วันเสาร์ - อาทิตย์ เราจะไม่พูดเรื่องงานกัน และเราก็เคารพเวลาส่วนตัวของทีม เพราะเราเคยผ่านทำงาน 7 วัน 24 ชั่วโมง จนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันอะไร เพราะทุกวันคือวันทำงาน สุดท้ายแล้วเราก็ burnout นั่นได้ทำให้เรียนรู้ว่าการทำงานแบบนี้มันยืนระยะนาน ๆ ไม่ได้”
เมื่อค้นพบว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน ทำให้การใช้ชีวิตของ จือ - ณัฏฐา สมดุลขึ้น การให้ความสำคัญกับครอบครัวก็ไม่ต่างกับการให้ความสำคัญกับหน้าที่การงาน ซึ่งต้องลงทุนด้วยการให้เวลากับคนที่เรารักและเป็นห่วงเราเช่นกัน
“เรารู้แล้วว่าอะไรที่สําคัญ เพราะเราเคยขาดมาก่อน เราเคยทํางานจนไม่มีเพื่อน เราไม่เคยได้รับความอบอุ่นที่สามีให้ขนาดนี้ เพราะเราไม่เคยให้เวลากับพวกเขา”
ถึงแม้เธอจะบอกว่าตัวเองเป็นคนสุดโต่ง แต่ก็เป็นการสุดโต่งในระบบที่เซตไว้สำหรับส่วนประกอบสำคัญในชีวิตที่เธอได้เลือกไว้แล้วว่าจะดูแลพวกเขาด้วยเวลาที่เธอมี แม้จะเป็นตารางชีวิตที่แน่นและมีกำหนดกรอบเวลา แต่ก็เป็นวิธีที่เธอค้นพบสมดุลที่มอบให้กับตัวเองและคนรอบตัว
“ถ้าถามว่าเราเอาแรงทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาจากไหน เราพักร่างกายและจิตใจ เพราะเราไม่ได้มาคนเดียว เรามีทีมและทีมเราใหญ่มากด้วย”
10 ปีของ Double V สอนให้รู้ว่า…
“ชีวิต”
เธอตอบสวนกลับมาทันที่ที่เราถามออกไป การหาสมดุลคือสิ่งที่ผู้นำหญิงแกร่งขององค์กรที่ชื่อ จือ - ณัฏฐา ได้เรียนรู้ตลอดเส้นทางการทำงาน 10 ปี จากธุรกิจเริ่มต้น Double V Space สู่ก้าวต่อไปภายใต้ชื่อ Double V Group
“เราได้เห็นชีวิตคนที่หลากหลายมากขึ้นและได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับหลาย ๆ คนมากขึ้น ได้เข้าใจ ได้สร้าง ได้เติบโตและเรียนรู้ไปกับชีวิต อีก 10 ปีเราไม่รู้ว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร ตัวเองจะไปอยู่ตรงไหน แต่เรารู้ว่าจะดูแลทุกคนที่เข้ามาในชีวิตให้ดีที่สุด”