ผู้ก่อตั้งโกโก้ วัลเล่ย์ อดีตพนักงานที่ทิ้งเงินหลักแสน สู่เกษตรกรที่ตามหาคำตอบของชีวิต

ผู้ก่อตั้งโกโก้ วัลเล่ย์ อดีตพนักงานที่ทิ้งเงินหลักแสน สู่เกษตรกรที่ตามหาคำตอบของชีวิต

‘ชีวิตเกิดมาทำไม’ เป็นคำถามที่ทำให้ ‘มนูญ ทนะวัง’ ตัดสินใจลาออกจากงานที่มีเงินเดือนหลักแสนบาท แล้วกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดในฐานะเกษตรกรผู้ก่อตั้ง ‘โกโก้ วัลเล่ย์’ ซึ่งที่นี้เขาไม่ได้ต้องการให้สร้างความสุขและความอยู่รอดให้กับเขาคนเดียวเท่านั้น แต่ยังอยากทำให้ชุมชนและสังคมรอบข้างเข้มแข็งเติบโตไปด้วยกัน

จากคนที่เกิดและโตที่ อ.ปัว จ.น่าน โดยครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรมีรายได้แค่พอเลี้ยงชีพ  ความฝันวัยเด็กของมนูญ จึงอยากมีอาชีพดี ๆ มีเงินเยอะ ๆ เพื่อจะทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเมื่อเรียบจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาโชคดีได้ทำงานเป็นพนักงานแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทต่างชาติ มีเงินเดือนในหลักแสนบาท 

ณ ตอนนั้นมนูญรู้สึกมีความสุข เพราะมีเงินมาเติมเต็มชีวิตในช่วงวัยเด็ก เขาใช้ชีวิตแบบอยากได้อะไรก็ได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ และเที่ยวกลางคืนชนิดไม่เช้า ไม่กลับบ้าน แต่พอไปถึงจุดหนึ่งเขาเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ‘ชีวิตเกิดมาทำไม’  

นั่นเป็นที่มาให้เขาออกตามหาความหมายของชีวิต และเลือกกลับบ้านเกิด เนื่องจากการได้อยู่ที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต โดยวางแผนเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นเกษตรกรปลูกโกโก้ และสร้าง ‘โกโก้ วัลเล่ย์’ ขึ้นมา จากวันแรกมีพื้นที่ปลูก 10 กว่าไร่ ตอนนี้ขยายเครือข่ายเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นพันไร่ อีกทั้งมีการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้มากขึ้น ไม่ว่าจะสร้างที่พัก การนำโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ ฯลฯ

ปัจจุบันโกโก้ วัลเล่ย์ ไม่เพียงสร้างรายได้ให้ครอบครัวของมนูญอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ตามเจตนารมณ์ของมนูญที่อยากทำให้ชุมชนและสังคมรอบข้างเข้มแข็งเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ใน จ.น่าน แห่งเดียว ยังขยายเครือข่ายไปในหลายจังหวัด อาทิ แพร่ พะเยา ลำปาง พิษณุโลก ระยอง เป็นต้น      

มนูญบอกกับ The People ว่า มาถึงวันนี้เขาค้นหาคำตอบของชีวิตได้แล้ว และอยากส่งต่อแนวคิดเหล่านี้ให้กับใครหลายคนที่กำลังค้นหาเส้นทางชีวิตของตัวเอง รวมถึงคนที่ฝันอยากกลับบ้านเกิด

และจากนี้คือเรื่องราวที่เราได้พูดคุยกับเขา

ณ วันที่อยากกลับบ้าน

อย่างที่เกริ่นไปเบื้องต้น จุดเปลี่ยนของชีวิตมนูญเกิดขึ้นเมื่อเขามีคำถามในใจว่า ‘ชีวิตเกิดมาทำไม’ ซึ่งเขาไม่สามารถคำตอบให้กับตัวเองได้จนเครียดหนัก กินน้ำไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ จนวันที่ 3 กลืนน้ำไม่ลง ภรรยาของเขาเลยบอกว่า อะไรที่ทุกข์ก็ไม่ต้องคิด และเป็นจุดเตือนสติให้เขาเริ่มต้นมองหาเป้าหมายและอนาคตของตัวเอง 

“ผมปรึกษากับภรรยา ซึ่งเป็นคนน่านเหมือนกัน แล้วเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียน โอเคเมื่อไม่มีความสุขกับปัจจุบัน เรากลับบ้านเกิดก่อนแล้วกัน  เพราะเป็นช่วงชีวิตที่รู้สึกมีความสุขที่สุด เลยย้อนกลับไปยังจุดที่มีความสุข เราลาออกจากงาน ขายทุกอย่างที่มีแล้วกลับไปเริ่มต้นชีวิตที่บ้านเกิด”

แต่การจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดก็ไม่ใช่ง่าย ๆ จำเป็นต้องวางแผนชีวิตว่า จะทำมาหากินอะไร เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในบ้านเกิด

“ตอนนั้นผมคิดว่าจะไปเป็นเกษตรกรเหมือนครอบครัว แต่ต้องเป็นการเกษตรที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สามารถกำหนดบางอย่างได้ นั่นคือต้องแปรรูปได้ ไม่ได้ปลูกมา ขายไป หรือต้องหวังพึ่งพ่อค้าคนกลางเหมือนการเกษตรในยุคพ่อแม่ โดยก่อนกลับบ้านเริ่มลิสต์รายชื่อพืช 100 รายชื่อ แล้วตัดเหลือ 5 รายชื่อ สุดท้ายเลือกโกโก้ เพราะเราชอบกินโกโก้

“ตอนแรกไม่ได้มองว่า เราจะเติบโตหรือไปไกลแค่ไหน แค่อยากกลับบ้านและทำการเกษตรเป็นอาชีพ เริ่มต้นจากทำอะไรเล็ก ๆ จากการปลูกโกโก้ ต่อมาค่อย ๆ ขยายมาทำที่พัก แปรรูปผลิตภัณฑ์ เปิดคาเฟ่เล็ก ๆ เพิ่มเรื่องท่องเที่ยวเข้าไป จนตอนนี้โกโก้ วัลเล่ย์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของน่าน”  

รอดคนเดียวไม่ได้ ชุมชนต้องรอดด้วย 

เมื่อสร้างอาชีพให้ตัวเองสามารถอยู่รอดที่บ้านได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของมนูญ คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้โกโก้ วัลเล่ย์ เป็นธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน และดีต่อสังคมรอบข้างด้วย เพราะตัวเขาเองมีอุดมการณ์ ไม่อยากทำธุรกิจที่เน้นเรื่องสร้างรายได้เพื่อให้ตัวเองรอดเพียงอย่างเดียว โดยหัวใจของการทำธุรกิจของมนูญ คือ Profit-People-Planet

“เรามีอุดมการณ์อยากให้เกษตรกรมีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะผมเคยเห็นพ่อกับแม่ที่เป็นเกษตรกรปลูกข้าว ปลูกพืชเกษตรมาเยอะแยะเกือบทั้งชีวิต แต่ยังมีชีวิตยากจน จนสงสัยว่า ทำไมเกษตรกรเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของแรงงาน แต่เวลาขายกลับกลายเป็นกลุ่มที่ได้กำไรน้อยที่สุด เราเลยอยากแก้ Pain Point ตรงนี้

“แล้วจะทำยังไง เราถึงลงมือทำให้คนในชุมชนเห็นตัวอย่างว่า สิ่งที่เราทำดีอย่างไร เมื่อคนในชุมชนเห็นว่า สิ่งที่ทำเวิร์ค เขาก็มาขอเข้าร่วมด้วย เกิดการพัฒนาเครือข่ายที่ค่อย ๆ พัฒนาเติบโตไปด้วยกัน และเราจ้างงานผู้สูงอายุมาทำหน้าที่ฝัดเมล็ดโกโก้ ให้เงินเดือน 4,000-5,000 บาท เพื่อให้คนสูงวัยมีคุณค่าของชีวิต ได้เงินใช้จ่ายหรือจุนเจือครอบครัว

“และด้วยเราแปรรูปได้ เพิ่มมูลค่าได้ แล้วอยากกระจายรายได้ให้คนในชุมชนด้วย เช่น เรารับโกโก้สดเป็น Cocoa bean ในราคาสูง เนื่องจากเราแปรรูปเอง เรารู้ต้นทุนในการเขยิบแต่ละสเตปจากโกโก้สดไป Cocoa bean ไปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เป็นอาหาร เป็นช็อกโกแลต เราตัดทอนกำไรแล้วก็ให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มรายได้ และเราให้ความสำคัญกับโลกด้วย โดยธุรกิจของเราต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของโกโก้ วัลเล่ย์อยู่กว่า 400 ครอบครัว ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะใน จ.น่าน แห่งเดียวเท่านั้น ยังมีการขยายเครือข่ายไปในอีกหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำปาง พิษณุโลก ระยอง ชลบุรี เป็นต้น   

คนอยากกลับไปอยู่บ้านเกิดต้องทำอย่างไร? 

มาถึงวันนี้มนูญบอกกับเราว่า ได้ค้นหาความสุขและคำตอบของชีวิตแล้ว นั่นคือ การกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด รวมถึงได้ร่วมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยสร้างความเข็มแข็งและทำให้ชีวิตการเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การที่คนจะเจอคำตอบของเส้นทางชีวิตได้แบบเขาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ รวมถึงคนที่ฝันอยากกลับไปใช้ชีวิตยังบ้านเกิดด้วย ซึ่งมนูญมีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก 

1. ทุกอย่างเริ่มต้นจาก ‘ความเชื่อ’ 2. พยายามวาด Mind map เพื่อให้เห็นภาพเส้นทางที่ตัวเองอยากเดินไปได้อย่างชัดเจน 3. ‘ใจต้องพร้อม’  4. หากอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่รอดได้ที่บ้านเกิด ต้องนำ ‘บริบทในพื้นที่’ มาเป็นองค์ประกอบในการวางแผนด้วย และสุดท้าย ‘ทำในสิ่งที่มีความสุข’

“ผมว่าสิ่งที่สำคัญสุดคือความเชื่อ ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่อยากทำหรือสิ่งที่เรารัก เราจะพยายามหาทางไปต่อได้ แล้วค่อย ๆ ต่อยอดไป แต่การค้นหาครั้งแรกว่ามันจะคืออะไรเป็นเรื่องยากมาก ผมถึงบอกต้องทบทวนตัวเอง ต่อมาพยายามเขียนภาพออกมา เช่น ทำความฝันเหมือนเป็นบันไดว่า จุดที่ไกลที่สุดของเราอยู่ตรงไหน จากจุดนี้ไปถึงอีกจุดต้องทำอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน” 

ภาพเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนได้ตลอดขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อย่างตอนมนูญเริ่มต้นทำโกโก้ วัลเลย์ เขาไม่ได้มองเป็นแค่ธุรกิจ แต่มองเป็นคน ๆ หนึ่งที่มีตัวตนอยู่จริง และเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ ไม่ว่าวันนั้นตัวของมนูญยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ 

“ส่วนคนอยากกลับบ้านเกิดแล้วอยู่รอดได้ ประเด็นสำคัญ ใจต้องพร้อมครับ เคยมีเพื่อนที่อยากกลับมาอยู่บ้านเหมือนกัน แต่ทุกคนกลับไปอยู่ได้แค่ 2 ปีก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ซึ่งพอนั่งวิเคราะห์สิ่งที่เจอเป็นเรื่องของใจ 

“เพราะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่กับในชนบทไม่เหมือนกัน ถ้าหากคุณยังชอบการเดินห้าง กินกาแฟแบรนด์ มีชีวิตกับแสงสี ผมว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่ควรกลับบ้าน เราควรจะจบกับตัวเองก่อนว่า ฉันพร้อมที่จะใช้ชีวิตง่าย ๆ แบบสโลว์ไลฟ์ได้ อยู่กับคนในชุมชนได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่คนอยากกลับบ้านจะต้องพิจารณาตัวเองให้ได้จบก่อนว่า พร้อมจริง ๆ

.

ประเด็นถัดมา ต้องดูบริบทของบ้านเกิดสำหรับเป็นองค์ประกอบของการวางแผนชีวิต เนื่องจากบางคนกลับบ้านไปโดยใช้เงินลงทุนในการทำธุรกิจเพื่อจะอยู่รอด เช่น ลงทุนทำคาเฟ่แบบชิค ๆ ที่ตอนนี้กำลังฮิตกันมาก แต่ไม่ได้มองบริบทของบ้านเกิดว่า การใช้ชีวิตคนเป็นอย่างไร จะมีคนมาหรือไม่ หรือบางคนอยากทำแหล่งท่องเที่ยว ทั้ง ๆ ที่บ้านเกิดไม่ได้เหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว 

“บริบทของบ้านเราสำคัญผม เมื่อรู้จะทำอะไร ตอนแรกไม่ควรลงทุนเยอะ เอาแค่เราอยู่รอดก่อน แล้วค่อยต่อยอดพัฒนา เช่นตัวผมมีใจอยากช่วยเหลือคนอื่น ก็ค่อย ๆ ทำไป เพราะหากเราเอาตัวไม่รอด เราช่วยใครไม่ได้หรอก”

สุดท้าย ควรทำในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข อย่าไม่เบียดเบียนใคร เพราะการจะวัดความสำเร็จของคนเรา ไม่ได้ดูเฉพาะแค่รายได้หรือหาเงินได้มากแค่ไหน เช่น คุณทำรายได้เยอะ ทำกำไรได้ 100% 200% แต่ชีวิตคนรอบข้างหรือสิ่งแวดล้อมแย่ลง นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี 

“มันมีทางเลือกที่เราหาเงินไปด้วยแล้วเกื้อกูลแบ่งปันช่วยเหลือต่อผู้คน พร้อมกับช่วยโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ เพียงแค่มองและต้องคิดนิดนึง แล้วจริง ๆ สุดท้ายคนเราต้องตายอยู่ดี เราอยากให้ผู้คนจดจำเราแบบไหนหลังจากที่เราตาย อันนี้ผมว่าสำคัญครับ”