08 ธ.ค. 2566 | 15:20 น.
กว่าบัตรเครดิตจะถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยแบบทุกวันนี้ ต้องผ่านแรงต้านและอุปสรรคมากมาย ซึ่งหากลองนึกย้อนไปราว 40 ปีที่แล้ว คนทั้งประเทศยังใช้จ่ายด้วยเงินสด และไม่มีใครรู้เลยว่าเจ้าบัตรแข็ง ๆ ขนาดเท่านามบัตรจะนำมารูดปรื๊ดใช้จ่ายแทนเงินสดได้อย่างไร บัตรเครดิตจึงนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใหม่เอี่ยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ที่จะทำให้คนยุคนั้นหันมาเปิดใจกับบัตรเครดิต
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คุณสุรางค์ มงคลอารีย์พงษ์ หรือ ‘พี่รางค์’ ได้เริ่มทำงานเป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ หรือ เซลส์ขายบัตรเครดิตให้กับบริษัทบัตรเครดิตข้ามชาติชั้นนำของโลกเป็นอาชีพแรก ๆ ซึ่งสำหรับเด็กจบใหม่แล้ว ถือว่าเป็นงานที่มีแรงกดดันสูง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แม้จะเป็นงานที่ยาก แต่พี่รางค์ก็สามารถก้าวผ่านมาได้ด้วยดี
และไม่ได้แค่ก้าวผ่านมาแบบธรรมดา แต่พี่รางค์ได้ก้าวกระโดดในสายงานนี้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จาก 16 ปีแรกที่ทำงานในที่เก่า ความมุ่งมั่นที่พี่รางค์ทุ่มเทได้ถูกพิสูจน์จากรางวัลมากมายที่พี่รางค์สามารถกวาดมาเรียบ ไม่ว่าจะเป็นระดับบริษัท ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างไร้ข้อสงสัยว่า ทำไมจากเด็กจบใหม่ตัวเล็ก ๆ ในวันนั้น ถึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก
ตลอดระยะเวลากว่า 36 ปี ในวงการบัตรเครดิต พี่รางค์ได้เก็บเกี่ยวบทเรียนจากประสบการณ์จริงมาจนสุกงอม จึงถือเป็นจังหวะเวลาที่ดี ที่ทาง The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่รางค์ - สุรางค์ มงคลอารีย์พงษ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานบริหารช่องทางการขาย บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ที่เป็นหัวเรือสำคัญในการก่อตั้งทีมขายยุคแรกให้กับ ‘เคทีซี’ บัตรเครดิตสัญชาติไทยแท้ บัตรแรก ๆ ของไทย จนสามารถพูดได้ว่า ผู้หญิงคนนี้คือหนึ่งในกำลังสำคัญ ที่ทำให้เคทีซีกลายเป็นบัตรเครดิตชั้นนำของประเทศในปัจจุบัน
จากความฝันอยากเป็นหมอ สู่ผู้แนะนำผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต
พี่รางค์เป็นลูกสาวคนที่ 4 จากพี่น้อง 5 คนในครอบครัวคนจีน ตั้งแต่เด็กพี่รางค์ถูกปลูกฝังให้เป็นคนขยัน อดทน และมีจิตใจมุ่งมั่น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ พี่รางค์วางแผนชีวิตตัวเองมาแต่ต้น โดยตอนนั้นพี่รางค์มุ่งอยากเป็นหมอเหมือนพี่ชาย พี่รางค์จึงปูทางชีวิตตัวเองให้มาทางนี้ โดยพี่รางค์ได้เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต และตั้งใจเรียนจนได้ผลการเรียนดีเลิศอันดับต้น ๆ กระทั่งต้องนำทฤษฎีที่เรียนมาประยุกต์ในภาคปฏิบัติ
จากเด็กหญิงคนเก่ง ผู้ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ แต่ทั้งซากแมลงสาบและซากกบที่นอนหงายรอให้ผ่าอยู่บนโต๊ะในห้องแล็บชีววิทยา ทำให้มือของเด็กหญิงสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นพี่รางค์ได้ตระหนักถึงปัญหาที่พี่รางค์ก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน จึงกลับมานั่งคิดนอนคิดว่าถ้ายังเป็นแบบนี้จะเป็นหมอได้อย่างไร
ณ ตอนนั้น แม้จะตั้งใจทุ่มเทกับความฝันนี้ไว้มาก แต่ความเป็นจริงที่เหนือการควบคุมทำให้ไปต่อไม่ได้ พี่รางค์จึงไม่ฝืน และตัดสินใจเบนเข็ม จนสามารถสอบเข้าเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แทน
“ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องอยู่กับความจริง มันไม่มีประโยชน์ที่เราจะอยู่กับสิ่งที่เราไปไม่ถึง และถ้าเรายังไม่ตัดสินใจ เวลาจะผ่านไป เมื่อยอมรับความจริงได้แล้ว เราต้องปรับตัวเอง และเปลี่ยนเส้นทาง”
พี่รางค์เล่าเสริมอีกว่า
“เหมือนชีวิตประจำวัน ที่เราทำงาน ถ้าเราคิดว่าเรามีจุดอ่อน แล้วจุดอ่อนเราพัฒนาได้ เราก็ปรับปรุงและพัฒนา แต่ถ้าจุดอ่อนนั้น ทำให้เราทุกข์ใจ เราปรับเปลี่ยนได้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เห็นค่าของตัวเราเอง และคุณค่าของตัวเราเองสำคัญมาก มันก็แค่ใจเรา เราเลิกยึดติดกับสิ่งที่ทำไม่ได้ แล้วเราไปเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำได้จะดีกว่า”
แต่ใครจะไปคิดว่าการตัดสินใจที่ไม่เดินตามความฝันวัยเด็กในวันนั้น จะทำให้พี่รางค์ประสบความสำเร็จในสายงานบัตรเครดิตได้อย่างวันนี้
พบลูกค้าโดยไม่ได้นัดหมาย คือสนามฝึกที่สร้างให้เก่ง
หลังจากพี่รางค์เข้ามาทำงานบริษัทบัตรเครดิตข้ามชาติเพียงไม่กี่วัน บริษัทก็ได้ปรับกลยุทธ์ ให้พนักงานเน้นขายในเชิงรุกมากขึ้น ด้วยวิธีการขายแบบ Knock Door หรือ การเข้าพบลูกค้าโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ซึ่งพี่รางค์ก็ทำผลงานได้ดีและโดดเด่น ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่เด็กจบใหม่
หากมองเผิน ๆ อาจดูเหมือนว่าพี่รางค์ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เบื้องหลังความสำเร็จคือความทุ่มเทอย่างหนักเพื่อเอาชนะความท้าทายชิ้นนี้ ซึ่งในยุคนั้นการขายจะต้องทำการนัดหมายลูกค้าก่อนเท่านั้น การขายแบบ Knock Door เป็นวิธีการขายที่ใหม่มากสำหรับคนไทย ทำให้เสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน และความยากยิ่งทวีคูณเมื่อสินค้าที่ต้องขายคือ บัตรเครดิต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือสูง
แม้จะกดดันและยากลำบากขนาดไหน มาในวันนี้พี่รางค์กลับรู้สึกขอบคุณจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ที่สุดในชีวิต ตอนนั้นถึงจะมีมวลความกลัวลอยอบอวลอยู่รอบตัว แต่ใจพี่รางค์ก็สู้ไม่ถอย โดยพี่รางค์ได้นำความรู้มาใช้วางแผน เลือกกลุ่มเป้าหมาย และสถานที่ อีกทั้งยังเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งเครื่องมือส่งเสริมการขาย (Sales Kit) การแต่งกายและบุคลิกที่สุภาพน่าเชื่อถือ และที่สำคัญคือ ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่พี่รางค์ได้ทำความเข้าใจอย่างแตกฉาน สุดท้ายพี่รางค์ก็ทำสำเร็จ และสามารถปิดการขายได้ตั้งแต่คนแรกที่เดินไปเคาะประตู
หากสังเกตแล้วจะเห็นว่า เมื่อพี่รางค์มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ความมุ่งมั่นสู้ไม่ถอย การวางแผนที่มองปัจจัยรอบด้าน 360 องศา และการลงมือทำ คือ 3 องค์ประกอบสำคัญที่พี่รางค์ใช้ผ่านทุกด่านการทำงานตลอด 36 ปี จนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้
นอกจากนี้เมื่อเกิดอุปสรรคขึ้นคั่นกลางแผนที่วางไว้ พี่รางค์บอกว่า
“การทำงานเป็นเรื่องที่เราต้องเจออุปสรรคอยู่แล้ว หน้าที่เราคือหาสาเหตุของอุปสรรค และวิธีการแก้ไขให้ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดคือ เราอย่าท้อ เพราะกำลังใจคือสิ่งสำคัญ พี่รางค์ผ่านทุกอุปสรรคมาด้วยความมีสติ”
จะเห็นได้ว่า เมื่อเราประสบกับปัญหา ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจความเป็นจริงว่าอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งทัศนคตินี้ช่วยคลายความกังวลและดึงสติกลับมาได้ และในขณะเดียวกันพี่รางค์ไม่ปล่อยผ่านปัญหา เมื่อรวบรวมพลังและสติได้แล้ว จึงมุ่งมั่นหาข้อเท็จจริงให้ครบทุกมุม แล้ววิเคราะห์หาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขต่อไป
Trust คือ หัวใจหลักในการทำงานกับคน
สำหรับพี่รางค์เอง ที่เริ่มต้นจากตำแหน่งผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ตัวเล็ก ๆ จนกลายเป็นผู้นำทัพบริหารช่องทางการขายบัตรเครดิตเคทีซี แน่นอนว่าประสบการณ์การทำงานกับผู้คนมากหน้าหลายตาตลอด 36 ปี ที่พี่รางค์สั่งสมมานั้นมีมากมาย แต่คีย์เวิร์ดเดียวที่พี่รางค์ใช้เป็นแกนหลักในการทำงานกับคนคือ ‘Trust’ หรือความเชื่อมั่น
พี่รางค์กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่น คือหัวใจหลักในการทำงานกับคนที่หลากหลาย โดย Trust แรก เราต้องสร้างให้ตัวเราเอง ด้วยการมุ่งมั่นฝึกฝน - เรียนรู้งานจนถ่องแท้ และมั่นใจว่าเรารู้ทุกซอกทุกมุม สิ่งเหล่านี้จะต่อยอดทำให้เราได้รับความเชื่อมั่นที่สองที่สามตามมา ทั้งจากเจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะลูกน้อง พี่รางค์บอกเสมอว่า
“พี่รางค์ให้อำนาจ (Authority) ลูกน้องไปในขอบเขตที่เขาทำได้ เมื่อเขามีประสบการณ์ มีความพร้อม มีทักษะ มีความตั้งใจที่ดี เรามอบหมายงาน สนับสนุนและผลักดันเต็มที่
“ถ้าเขายังไม่พร้อม อย่าเพิ่ง เพราะการผลักดันคนที่ไม่พร้อมให้เติบโตเร็วเกินไป บางทีเขาอาจขาดความมั่นใจ และกลายเป็นอะไรที่ติดใจไปตลอดชีวิต จะให้ทำอะไรก็กลัว เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน
“ขณะที่บางคนขาดความมั่นใจ พี่รางค์จะค่อย ๆ ให้เขามีความมั่นใจโดยธรรมชาติ ไม่กดดันจนเกินบุคลิกของเขา เพราะหากกดดันมากไป ตอนจิตใจยังไม่พร้อม จะยิ่งทำให้เขาถดถอย เราก็ต้องให้เขาค่อย ๆ เก่ง ค่อย ๆ มั่นใจ และท้ายสุด เขาจะเก่งโดยไม่รู้ตัว”
นอกจากนี้ พี่รางค์ยังให้เกียรติเพื่อนร่วมงานในทุกระดับเท่าเทียมกันเสมอ การให้เกียรติในมุมของพี่รางค์นั้น คือการสื่อสารอย่างชัดเจนและใส่ใจ โดยพี่รางค์จะเล่าที่มาที่ไป และวัตถุประสงค์ของการทำงานร่วมกันเสมอ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจและมองเห็นภาพเดียวกันแล้ว ยังทำให้รู้สึกได้รับการเอาใจใส่ มีคุณค่าต่อองค์กร และเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย
จากพี่ถึงน้อง จากจุดเล็ก ๆ สู่ Legend ของเคทีซี
เกือบ 4 ทศวรรษมานี้ พี่รางค์ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ และเพื่อนร่วมงานมาแล้วมากมาย แต่หากจะมีข้อความใดที่พี่รางค์อยากส่งต่อให้น้อง ๆ ไว้ พี่รางค์บอกว่า
“ขอให้ทุกคนเรียนรู้อดีต เพื่อนำมาเป็นบทเรียน ใช้เป็นจุดแข็ง อันไหนดี เรารักษามันเอาไว้ แล้วหาทางพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา เพื่อนำไปต่อยอดใช้กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต มันต้องมีสองอย่างร่วมกัน ถ้าเราไม่มองอดีตเลย มัวมองแต่อนาคต มันจะเกิดการผิดพลาดได้”
สุดท้ายนี้ พี่รางค์ได้ฝากหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจ ที่ช่วยปลูกความสำเร็จได้ไม่ว่ายุคสมัยไหน นั่นก็คือ ‘ทัศนคติ’ เพราะมันเป็นตัวชี้วัดความสุขในชีวิต สำหรับการทำงาน ถ้าเรา ‘Work With Joy’ เราก็จะมีความสุข และทำงานออกมาได้ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามีทัศนคติเชิงลบ และใช้ความอ่อนไหวของอารมณ์มานำทาง มันจะทำให้เราไม่มีกำลังใจในการทำงาน สุดท้ายแล้วผลเสียก็จะเกิดกับตัวเราเอง
เมื่อมีสิ่งใดมากระทบ เราเพียงปล่อยวางอารมณ์ หายใจลึก ๆ แล้วกลับมาด้วยสติ เท่านั้นเอง
ทั้งหมดนี้คือบทเรียนชั้นดี จากประสบการณ์จริงตลอดระยะเวลากว่า 36 ปีของพี่รางค์ ผู้ที่สามารถเอาชนะทุกความท้าทายมาตั้งแต่เป็นพนักงานตัวเล็ก ๆ จนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดสายงานบริหารช่องทางการขาย และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวเคทีซีอย่างทุกวันนี้นั่นเอง