‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล

‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล

“สตาร์ทอัพไทยเติบโตดี แต่ยังมี Challenge หรือความท้าทายพอสมควร เพราะเวลาสตาร์ทอัพไทยจะพัฒนาอะไรขึ้นมามักจะมองว่า ให้เฉพาะคนไทยใช้ ไม่ต่างกับญี่ปุ่น ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ มูลค่าทางธุรกิจเฉพาะคนไทยที่มีประมาณ 70 ล้านคน มันไม่ใหญ่พอจะทำให้สตาร์ทอัพไทยเป็น Unicorn ได้ง่าย ๆ”

‘แซม ตันสกุล’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงธนาคารมานานกว่า 20 ปี รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนวงการสตาร์ทอัพไทย ฉายภาพให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยว่า มีโอกาสแค่ไหนสำหรับการก้าวสู่เส้นทางการเป็นสตาร์ทอัพระดับ Unicorn เป้าหมายที่ใครหลายคน(ฝัน)อยากไปให้ถึง  

และประเด็นดังกล่าวจากมุมมองของเขาเป็นข้อจำกัดของสตาร์ทอัพไทย และทำให้แตกต่างกับสตาร์ทอัพจากประเทศจีน อินโดนีเซีย หรืออินเดีย ที่มีประชากรจำนวนมหาศาล และเมื่อสตาร์ทอัพพัฒนาอะไรขึ้นมา จึงมีมูลค่าทางธุรกิจที่สามารถเติบโตเป็น Unicorn ได้

‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล

ดังนั้น หากสตาร์ทอัพไทยต้องการเติบโตไปไกลมากกว่านี้ จำเป็นต้องคิดให้ใหญ่ขึ้น และมองภาพการนำโปรดักต์และเซอร์วิสออกไปขายในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นตลาดกัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

นอกจากนี้ การขาด Tech Developer โดยเฉพาะคนเขียนแอปพลิเคชัน ก็ถือเป็นอีกข้อจำกัดของสตาร์ทอัพไทย โดยสาเหตุของเรื่องนี้มาจากปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาที่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยตามไปด้วย ที่สำคัญ คนเก่ง ๆ ทางด้านนี้มักเลือกไปทำงานอยู่ในองค์กรใหญ่หรือองค์กรข้ามชาติ มีเด็กจบใหม่จำนวนไม่มากนักที่จะมาทำสตาร์ทอัพของตัวเอง

“วันนี้ Tech ในเวียดนามมีประมาณเกือบ 500,000 คน ส่วนไทยอาจมีไม่ถึง 50,000 คน ต่างจากเขา 10 เท่า สตาร์ทอัพของไทยเก่งและอาจจะคิดได้ แต่ไม่มีคนทำ นี่คือโจทย์ใหญ่ของประเทศเลยครับ”

แล้วจะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวไปได้อย่างไร?

‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล

ในฐานะที่แซมอยู่ในแวดวงธนาคารมามากกว่า 20 ปี ด้วยการเริ่มต้นทำงานในสายการตลาดให้กับ GE Capital ตามด้วยการเข้าร่วมงานกับทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา ดูแลด้านการตลาดและการลงทุน ก่อนจะขยับมาดูแลด้านนวัตกรรมที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ หนึ่งในบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกและขับเคลื่อนกรุงศรี ฟินโนเวต บริษัท Corporate Venture Capital สำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะธุรกิจ FinTech และธุรกิจที่ส่งเสริมให้การทำงานและบริการของธนาคารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เขามองว่าสตาร์ทอัพไทยต้องพยายามหาความร่วมมือกับผู้คน และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของ Flash Express หนึ่งในสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ของไทยที่ทางกรุงศรี ฟินโนเวต ได้ร่วมลงทุน

“เมื่อพูดถึง Flash Express ทุกคนรู้ดีว่า CEO คือ คมสันต์ ลี แต่จริง ๆ ยังมี Secret Sauce อีกคน ได้แก่ ‘เหว่ย เจีย’ ที่ดำรงตำแหน่ง CTO หรือ Chief Technical Officer นั่งประจำอยู่ปักกิ่งและมีทีมงานกว่า 400 คน คือเขารู้โจทย์และแก้เกมตั้งแต่แรก 

“ผมไม่อยากให้วงการ Tech Startup ของไทยต้องจำกัดอยู่กับคนไทยเท่านั้น ตอนนี้เราเป็น AEC เราเป็นอาเซียน ไม่ผิดที่ผู้บริหารขององค์กรจะเป็นคนไทย ส่วนทีม Tech ข้างหลังบ้านจะมาจากประเทศอื่นอย่างเวียดนามที่เติบโตเร็ว เราจับมือและทำด้วยกัน ผมว่านี่จะเป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งของสตาร์ทอัพไทย”

‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล สำหรับ กรุงศรี ฟินโนเวต ในฐานะ Corporate Venture Capital (CVC) ก็มีเป้าหมายต้องการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยไปเฉิดฉายบนเวทีสากลให้ได้ โดยจุดเด่นของกรุงศรี ฟินโนเวต ก็คือ การเป็น CVC รายแรก ๆ และอาจเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพแบบครบวงจร ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ 3 ส่วนงาน ประกอบด้วย

‘ทีม Investment’ การให้เงินทุน, ทีม Strategic Partnership ดูแลด้านการต่อยอดธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพด้วยการจับคู่กับหน่วยธุรกิจ ไปจนถึงลูกค้าของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัทในเครือ เพื่อสร้างรายได้และการเติบโต 

ส่วนหน่วยงานสุดท้าย ได้แก่ ทีมโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ เรียกว่า Incubator หรือ Accelerator ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนบ่มเพาะในการให้ความรู้ และพัฒนาทักษะสำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งในปี 2024 จะมีการเพิ่มอีกหนึ่งโปรแกรม ใช้ชื่อว่า Finno Efra Accelerator 

“ทำไมกรุงศรี ฟินโนเวตถึงทำครบวงจร เพราะถ้าไม่ครบวงจร จะทำให้สตาร์ทอัพโตได้ลำบาก เราอยากจะให้เหมือนกับนักเรียน คือ ถ้าอยากให้นักเรียนมีคุณภาพดี ควรต้องผ่านโรงเรียนที่ดี ถ้าให้ทุนด้วย ให้โรงเรียนที่มีการสอนการบ่มเพาะที่ดีด้วย เขาจะเติบโตเป็นเด็กมีคุณภาพ ถ้าวันหนึ่งอยากจะโตขึ้นไปเป็น Unicorn ก็จะทำได้”

ณ ตอนนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ 22 กิจการ ในจำนวนนั้นมี 3 บริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ได้แก่ Flash Express, Grab และ Klook สตาร์ทอัพด้าน Travel Destination รวมถึงมีอีก 6 - 7 กิจการที่กำลังเตรียมตัวขอยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO  

“เราไม่ได้บอกว่า ทุกตัวที่ลงทุนต้องการให้เป็น Unicorn เพราะคำว่า Unicorn จริง ๆ แล้วไม่ได้แปลว่าสำเร็จ หากคุณขยายธุรกิจให้เติบโตได้ แต่ยังขาดทุน นั่นคือคุณทำธุรกิจที่ไม่ Sustain ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี โดยธุรกิจที่เราเชื่อว่าดี ต้อง Sustain ด้วยตัวเอง เติบโตและจะต้องสร้างกำไรเกิดขึ้นได้”

‘แซม ตันสกุล’ : วิเคราะห์ศักยภาพและอนาคต ‘สตาร์ทอัพไทย’ บนเวทีสากล

ที่ผ่านมา กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ตั้งกองทุนในรูปแบบ Private Equity ชื่อ Finnoventure Private Equity Trust เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพไทย รวมไปถึงสตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย เวียดนาม และอนาคตจะขยายการลงทุนสตาร์ทอัพในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่ 

ส่วนเป้าหมายในปี 2024 จนถึงปี 2025 ทางกรุงศรี ฟินโนเวต จะเร่งการลงทุนในสตาร์ทอัพ ด้วยการระดมทุนเพิ่มประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อจะลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Pre-Series A โดยเซกเมนต์ที่โฟกัสนอกเหนือจาก FinTech ที่ถนัด ในปีหน้าจะให้น้ำหนักกับสตาร์ทอัพด้าน Digital Transformation อาทิ EdTech ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา, Marketing Technology สตาร์ทอัพด้านการตลาด และ Health Tech สตาร์ทอัพด้านสุขภาพ ฯลฯ

“เรามีเกณฑ์หลายข้อสำหรับคัดเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพ แต่อย่างแรกที่มอง คือ CEO หรือ Co-Founder มีความแข็งแรง มีประสบการณ์แค่ไหน และมี Passion ในการทำธุรกิจหรือเปล่า เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญให้เห็นว่า สตาร์ทอัพรายนั้นจะเดินหน้าได้ไกลหรือไม่  ทิศทางจะเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากผู้บริหารองค์กรอื่น”

เช่นเดียวกับ Passion ของเขาที่ถ่ายทอดสู่กรุงศรี ฟินโนเวต นั่นคือ ทำอย่างไรจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง และสร้างแรงขับเคลื่อนให้สตาร์ทอัพไทยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต รวมถึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาจบใหม่อยากเข้าทำงานใน Tech Company ของไทย เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย  

“มันจะดีกว่าไหมถ้าประเทศไทยจะมีสตาร์ทอัพสัก 1 - 2 รายก็พอ ที่เราปั้นขึ้นมาแล้วสามารถขับเคลื่อนประเทศไปได้ ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมาย และ Passion ของผมเองที่ถ่ายทอดเข้าไปที่กรุงศรี ฟินโนเวต”

.

ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงค์ธรรม