คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

กิ - กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร สมาชิกวง ‘Niece’ เจ้าของเพลง บีบมือ ที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นยุคหนึ่ง วันนี้ เธอผันมาสู่บทบาทคนเบื้องหลังธุรกิจบันเทิง เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินกระแสทางเลือก ในชื่อกลุ่ม Have You Heard?

  • กิ - กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร สมาชิกวง Niece เจ้าของเพลง บีบมือ เป็นอีกหนึ่งศิลปินในยุคค่ายเพลงทางเลือกได้รับความนิยมในไทย
  • ภายหลังผ่านชีวิตแบบศิลปิน และทำงานโปรดักชั่นเบื้องหลัง กิรตรา หันมาทำงานเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตใต้ชื่อกลุ่ม Have You Heard?
  • Have You Heard? สร้างชุมชน จัดงาน และขยายตัวเรื่อย ๆ รองรับความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็หล่อเลี้ยงชีวิต และความสุขของกิรตรา 

สำหรับใครหลายคน เพลง ‘บีบมือ’ ยังอยู่ในความทรงจำควบคู่กับภาพจำของวิถีชีวิตคนยุคสมัยก่อนเทคโนโลยีดิจิทัลจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

เพลง ‘บีบมือ’ ของวง ‘Niece’ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของศิลปินวัยรุ่นคนหนึ่ง เธอคือ กิ - กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร

เวลาล่วงเลยมานานหลายปี สำหรับใครหลายคน ภาพของสมาชิกวง Niece อาจลางเลือนไปบ้างแล้ว สำหรับคนอีกกลุ่มที่ยังคงคลุกคลีกับแวดวงดนตรีในยุคดิจิทัล อาจคุ้นเคยกับ กิ - กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ในอีกบทบาท เมื่อวันนี้ เธอคือผู้จัดคอนเสิร์ตในนามกลุ่ม Have You Heard? 

Have You Heard? ยังคงมีกลิ่นอายและตัวตนที่สำคัญของ กิ - กิรตรา วนเวียนอยู่ เมื่อกลุ่มธุรกิจนี้ ไม่ได้จัดงานของศิลปินกระแสหลัก Have You Heard? กลายเป็นเสมือนชุมชนของผู้คนที่ชื่นชอบศิลปินแบบเดียวกัน แม้ชุมชนแห่งนี้จะไม่ได้มีกลุ่มคนจำนวนมากเป็นฐานลูกค้าแบบเดียวกับซีนดนตรีกระแสหลัก แต่ชุมชนแห่งนี้กลับดำรงอยู่อย่างแข็งแรง เหนียวแน่น 

ติดตามเรื่องราว ตัวตน วิถีชีวิต และการทำงานของ สมาชิกวง Niece จากบทสัมภาษณ์นี้

The People:  มาทำ Niece ได้อย่างไร

กิรตรา: จุดเริ่มต้นของการทำ Niece ก็คือตอนนั้นกิ กับคิท เป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ค่ะ แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่สยามสแควร์เป็นที่ Hang Out ของวัยรุ่น แล้วก็ได้ไปเจอกับพี่สมเกียรติ แล้วก็ตอนนั้นพี่สมเกียรติบอกว่า Bakery กำลังจะทำค่ายที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป กำลังหาศิลปินอยู่อะไรอย่างนี้ค่ะ พี่สมเกียรติก็เลยชวนให้ไปแบบลองออดิชั่น...

The People:  ตอนนั้น DOJO คล้าย ๆ กับกระแสดนตรีทางเลือก พอมาทำ HAVE YOU HEARD? ก็เป็นดนตรีทางเลือก ทำไมถึงไม่สนใจดนตรีกระแสหลักที่มีทั้ง RS และ Grammy ในตอนนั้น หรือว่าเป็นรสนิยมทางดนตรีแบบส่วนตัว?

กิรตรา: เดี๋ยวลองนึกกลับไปก่อน คือจริง ๆ เหมือนตอนเด็กก็ฟังทุกแนว แบบ Grammy - RS ก็ฟังในช่วงนั้น แต่ว่าอาจจะเพราะพอเริ่มทำ Niece ตั้งแต่อายุ 13-14 เราได้อยู่รายล้อมกับพี่ ๆ ที่เขาทำดนตรีที่ตอนนั้นก็คือทางเลือก ดนตรีนอกกระแสเนอะ Bakery ก็เหมือนเป็นดนตรีค่ายอินดี้ ค่ายนอกกระแสตอนนั้น

คิดว่าด้วยสภาพแวดล้อม แล้วก็อย่างเพลงที่คุณพ่อฟังก็จะหลากหลายแนวเหมือนกัน ตั้งแต่เด็กก็เลยคิดว่า เป็นที่สภาพแวดล้อม แล้วพอหลังจากที่ทำ Niece กับ DOJO ก็มีช่วงที่ไปทำงานกับ Smallroom อันนั้นก็เป็นค่ายนอกกระแสเหมือนกัน จะได้เจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ รุ่นน้องที่แลกเปลี่ยนเพลงที่ฟังกัน เลยคิดว่า น่าจะเป็นที่สภาพแวดล้อม

คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

The People: ตอนนั้น พอใจกับการเป็นศิลปิน ฝันอยากเป็นศิลปินไหม มองชีวิตตัวเองเป็นอย่างไร

กิรตรา: ถ้าให้เล่าจริง ๆ ก็ตั้งแต่โตมาคือเห็นคุณพ่อไปคอนเสิร์ต ก็รู้สึกว่า เออ น่าสนุกดี ก็ชอบ ชอบไปคอนเสิร์ตตั้งแต่เด็ก ๆ ไปดูคุณพ่อ ทีนี้พอพี่สมเกียรติ ชวนทำ เราได้ทำกับเพื่อนสนิทด้วย ตอนนั้นก็เด็ก ๆ มันก็เหมือนเหมือนได้ทำอะไรสนุก ๆ ด้วยกัน ไม่ได้คิดมากค่ะ แต่ว่าไม่ได้แบบมีความฝันว่า เออ แบบวันหนึ่ง ฉันอยากเป็นศิลปิน จะเหมือนอาจจะด้วยจังหวะและโอกาส ก็เลยตอบรับแล้วก็ได้ทำตอนนั้นก็สนุกดีค่ะก็คือได้เปิดประสบการณ์มาก ได้ไปทัวร์ ได้ไปเดินสายสัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ แต่ก็เหนื่อยค่ะตอนนั้นเรียนด้วย (หัวเราะ) แล้วก็ทำงาน แต่ว่าก็สนุกดีเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ

The People: เพลง ‘บีบมือ’ เปลี่ยนชีวิตเลยไหม พอจะเรียกเพลงนี้ได้ว่าส่งผลต่อชีวิตแบบไหนบ้าง

กิรตรา: ตอนนั้นด้วยความที่ไม่มีโซเชียลมีเดียใช่ไหมคะ ก็จำได้ โอเค เข้าห้องอัดปล่อยเพลง แล้วเราก็เริ่มไปเล่นคอนเสิร์ต แล้วก็จากไม่มีคนดู แล้วมันก็จะเริ่มรู้ Feedback แล้ว เพราะว่าจะมีจดหมายจากแฟนเพลงมาที่ค่าย จดหมายก็เยอะขึ้นทุกวัน แล้วก็รวมถึงเวลาไปคอนเสิร์ตก็เริ่มมีคนไปรอดูและหรือช่วงที่คิดว่าช่วงที่บีบมือ น่าจะเป็นช่วงที่เดินในสยามไม่ค่อยได้ค่ะ

ตอนนั้นก็คือรู้ตัวแล้ว ตู้สติ๊กเกอร์ ถ้ากิไปเดินกับคิท 2 คน มีแฟน ๆ ก็จะแบบขอถ่ายสติ๊กเกอร์ ตอนนั้นยังไม่มีถ่ายเซลฟี่ ขอถ่ายตู้สติ๊กเกอร์ ขอลายเซ็น คนจะรุม ๆ นิดนึง ตอนนั้นก็เลยเป็นโมเมนต์ที่อ๋อ น่าจะดังแล้ว (หัวเราะ)

The People: ใช้เวลาช่วงนั้นประมาณกี่ปี

กิรตรา: ช่วงที่ทำ DOJO น่าจะประมาณประมาณ 3-4 ปีมั้งคะ ถ้าจำไม่ผิด ใน DOJO ก็เริ่มมีศิลปินคนอื่นๆ ทีนี้ก็จะต้องวนกันแล้วว่า พอ Niece ออก ก็มี TK แล้วก็เป็นพี่ออย เป็น Project H ตอนนั้นก็จะสลับกันออก เป็นช่วงน่าจะ 3-4 ปีค่ะ แล้วก็เหมือนทาง Bakery ก็แยกย้าย

The People: พอหลุดจากสถานะที่เป็นศิลปินซึ่งมีคนรู้จัก มีคนเป็นดึงไปถ่ายรูป แล้วใช้ชีวิตแบบไหนในช่วงหลังจากนั้น

กิรตรา: ก็ปกตินะคะ หลังจากนั้นก็จะมีคนแบบจำได้บ้าง เข้ามาทักบ้าง หลังจากช่วงที่ทำกับ Bakery ก็จะพักไปแป๊บนึงค่ะ แล้วก็ไปทำอัลบั้มหนึ่งกับ Smallroom อันนั้นก็เป็นศิลปินเดี่ยว แล้วก็เป็นช่วงที่โตขึ้นหน่อยนะ ตอนนั้นน่าจะประมาณ 20 20 ต้น ๆ

แล้วก็รู้สึกว่า เออ จริง ๆ แล้วไม่ค่อยชอบอยู่เบื้องหน้าเท่าไหร่ เหมือนยิ่งโตยิ่งอาย (หัวเราะ) ก็อาจจะเพราะไม่มีเพื่อนแล้วด้วย ก็จะเป็นไปทัวร์คนเดียว แล้วก็จะมีวงที่เป็น Backup แต่อาจจะไม่ได้สนิทกันมาก มันก็จะเป็นเหมือนการทำงานคนเดียวแล้ว

อย่างแต่ก่อนถ้าทำกับคิท คิทก็คุยเก่ง เหมือนเวลาไปสัมภาษณ์ คิท จะเป็นสาย Entertain ช่วยคุย ทีนี้พอไม่มี เราก็เลยรู้สึกว่า เออ จริง ๆ เราอาจจะไม่เหมาะกับกับการทำงานเบื้องหน้าเท่าไหร่ เลยเริ่มเป็นจุดหักเหว่าก็ยังชอบดนตรีอยู่ ชอบดูคอนเสิร์ตก็เป็น Passion มาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ เลยเริ่มมาทำ HAVE YOU HEARD? แล้วก็มาทำ Maho Rasop Festival ค่ะ

The People: ที่บอกว่ายิ่งโตยิ่งอาย คิดว่าเป็นเพราะอะไร

กิรตรา: คือตอนเด็ก ๆ คิดว่าทุกครั้งที่ขึ้นเวที เหมือนเหมือนไปมันจะเป็นฟิลเหมือนขึ้นไปเล่นกับเพื่อน คือไม่ได้คิดอะไรมาก เออ Entertain คนดู ขึ้นไปสนุกกับเพื่อนบนเวที ทีนี้พอโตขึ้นก็รู้สึกแบบเขินขึ้น มีแบบ Stage Fright ที่เยอะขึ้น แบบว่า Nervous (ตื่นเต้น) มากเกิน เริ่มทรมานและเริ่มรู้สึกแบบ เฮ้ย ตื่นเต้นแบบเขิน เลยรู้สึกว่า เออ มันอาจจะไม่ใช่ ไม่ใช่ทางของเรา หรือแม้กระทั่งไปออกรายการ ก็เลยรู้สึกว่า เรา Prefer (ต้องการ) ที่จะอยู่เบื้องหลังมากกว่า

The People: พอหลังจากทำ Smallroom แล้วมีทำอะไรต่อ มาเริ่มยังไงบ้างครับ

กิรตรา: หลังจาก Smallroom ตอนนั้นก็เริ่มไปทำงาน Production มีไปทำโฆษณา ภาพยนตร์ แบบไป Production Crew อยู่ช่วงนึง แล้วก็มาเป็น Production ทำคอนเสิร์ต

The People: ทำไมถึงไปทำ Production หรือว่าอยากจะแค่ทำเบื้องหลังอย่างเดียว

กิรตรา: ตอนนั้นก็คือสนใจ Production สนใจงานเบื้องหลังอยู่แล้วค่ะ แล้วก็คิดว่าไม่ค่อยอยากทำงานออฟฟิศที่แบบนั่งที่โต๊ะออฟฟิศ ชอบออกไปข้างนอก ก็เลยสนใจอยากไปลองทำดูค่ะ

The People: Production ก็เป็นด้านดนตรีด้วยไหม

กิรตรา: ไม่ค่ะ เป็นโฆษณา ตอนแรกเริ่มทำที่ฟิโนมิน่าค่ะ ก็ไปเป็นแบบผู้ช่วย Producer ทำโฆษณาเลย แล้วก็ภาพยนตร์จะทำเวลาที่มีหนังต่างประเทศมาถ่ายในไทย ก็คือเป็นพวกงานฝั่ง Producer

The People: แล้วองค์ความรู้ที่เรียน ที่จบมาเกี่ยวข้องกับด้านนี้มากน้อยแค่ไหน

กิรตรา: กิ จบ Marketing ค่ะ Production จริง ๆ ใช้ทักษะการจัดการ ติดต่อกับคน การวางระบบ การบริหารคน ความละเอียด ตัวเลข ต้องดูตัวเลข คุมงบ คุมตารางต่าง ๆ ก็จะเป็นในเรื่องการการบริหารกับการคุยกับคน แต่พอมาทำ HAVE YOU HEARD? เพราะว่าเป็นบริษัทของตัวเอง ก็ดูตอนแรก ๆ ที่เริ่มทำทุกอย่างเอง จะโปรโมตคอนเสิร์ตยังไง ทำ Marketing plan ดู Production ติดต่อศิลปินเอง ทำบัญชีเอง ทำทุกอย่าง (หัวเราะ) จริง ๆ Marketing ก็เอามาเอามาดัดแปลงใช้ได้กับในในทุกธุรกิจนะคะ

The People: ตอนที่ทำ HAVE YOU HEARD? เคยเล่าว่า ศิลปินยังไม่ค่อยเชื่อว่า จะต้องติดต่อไปยังไง เอเจนซีไม่ค่อยตอบรับกลับมา ตอนนั้นคือทำบริษัทแล้วอยู่ได้อย่างไร

กิรตรา: ตอนนั้นยังทำงานฟรีแลนซ์ Production อยู่ค่ะ ปีที่ออกมาทำ HAVE YOU HEARD? เต็มตัวเลยคือปีที่ 2017 ตอนนั้นที่  HAVE YOU HEARD? จากปีหนึ่งมีคอนเสิร์ตแค่ 2 ครั้ง ปีนั้นเริ่มเป็นเดือนละ 2 ครั้ง แล้วก็มีโชว์ใหญ่ ๆ อย่าง HONNE ตอนก่อนที่เขาจะดัง มันก็เป็นโชว์แบบ Sold Out วง Cigarettes After Sex แบบ Sold Out เราก็รู้สึกงานมันเยอะมาก หมายถึงไม่สามารถทำงานประจำอย่างอื่น แล้วทำอันนี้ไปด้วยได้ ก็เลยออกมาทำเต็มตัว

The People: ช่วงที่ยังไม่อยู่ตัว ยังต้องมีงานประจำคอยเลี้ยงอยู่ด้วย

กิรตรา: ใช่ ๆ งานฟรีแลนซ์อื่น ๆ

The People: ตั้งแต่สมัยเด็กหรือว่าตอนโตมา เห็นภาพตัวเองที่อยากจะเป็นคนจัดคอนเสิร์ตตอนไหน

กิรตรา: คือจริง ๆ โตมาก็เป็นคนชอบลองทำอะไรหลายแบบนะคะ ทีนี้พอตั้งแต่โชว์แรก ๆ ที่ทำทำของ HAVE YOU HEARD? เนี่ยก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า เนี่ยคือสิ่งที่เราอยากทำ เพราะว่าเราทุ่มเทกับมันมาก ทำได้ทั้งวันทั้งคืน เหมือนใช้เวลากับมันได้เยอะ แล้วก็ไม่รู้สึกฝืนอะไร รู้สึกเต็มที่มาก ก็เลยคิดว่า เออ นี่แหละคือสิ่งที่เราชอบทำ (หัวเราะ)

The People: จุดเริ่มต้นมันมาจากไหน เป็นเพราะอยากดูศิลปินคนนี้ แล้วไม่มีใครเอามา เลยต้องทำเอง หรือว่ามาจากไหน อย่างไรบ้าง

กิรตรา: (หัวเราะ) ประมาณนั้นค่ะ ก็เริ่มจากที่ทำกับแป๋ง - Yellow Fang ก็คือเป็นเพื่อน ๆ Hang Out กันแล้วก็คุยบิลด์ ๆ กันว่า เฮ้ย อยากดูวงนี้ อยากดูวงนั้น ไม่มีคนเอาเข้ามา ลองทำกันเองไหม แล้วก็คุยกัน เออ เหมือนทุกคนก็น่าจะทำได้นะ หมายถึงว่าตอนนั้นมีเพื่อนอีกคน พอรวม ๆ ดูสกิลของทุกคนแล้วก็คิดว่าทำได้ก็บิลด์กันแล้วก็เริ่มลุยทำ

The People: แล้ว How to มันมาจากไหน สมมติว่าเราอยากจะดูศิลปินวงนี้ ต้องไปเริ่มต้นอย่างไร

กิรตรา: ข้อมูลตรงนั้น ตอนนั้นหว่าน ๆ ค่ะ ก็ Search หาข้อมูลว่าแบบถ้าอยากติดต่อวงนี้ จะต้องอีเมลไปที่ไหน ก็คืออีเมลหว่านเยอะมากเลย แล้วก็ยังไม่ค่อยมีคนตอบเราในช่วงแรก แต่ว่า How to ในการจัดคอนเสิร์ตจริง ๆ ก็เหมือน ๆ แป๋ง ก็คือเป็นศิลปินนี้ ก็คือเคยขึ้นเวทีเป็นเบื้องหน้า เหมือนกิก็คลุกคลีกับคุณพ่อ อยู่หลังเวทีมา แล้วก็ช่วงที่เป็น Niece ช่วงที่อยู่กับ Smallroom ก็พอเข้าใจอยู่ค่ะ

คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

The People: พออีเมลไปเยอะ ๆ หว่านไปเนี่ย แล้วไม่มีใครตอบกลับมา มันเคยทำให้รู้สึกว่ามันใช่ทางเราไหม เคยมีความรู้สึกอย่างนั้นไหม

กิรตรา: ไม่มีค่ะ คิดว่าต้องทำได้ (หัวเราะ)

The People: คล้ายกับคนสมัครงานหรือเปล่า ส่งอีเมลสมัครงานไปหลาย ๆ ที่ แล้วมั่นใจในตัวเองว่า สักวันต้องมีคนตอบกลับมาอย่างนั้นไหม

กิรตรา: ประมาณนั้นค่ะ ใช้เวลาอยู่เกือบปีเหมือนกัน ตั้งแต่วันวันแรกที่ตัดสินใจกันว่า โอเค จะทำคอนเสิร์ต และเราก็เริ่มทยอยอีเมลเกือบปีค่ะ กว่าจะมีคอนเสิร์ตครั้งแรก แต่ว่าอย่างที่บอก รู้สึกว่า เออ เราน่าจะอยากทำอันนี้มาก เราก็ขยัน ไม่ท้อ แบบเฮ้ย มันต้องมีสักวงแหละ มันต้องได้ ก็ทำ ลุยไปเรื่อย ๆ จนมีโชว์ครั้งแรก

The People: เล่าโชว์ครั้งแรกว่ามันเกิดอย่างไร เราหว่านไปแล้ว วันหนึ่ง อยู่ดี ๆ อีเมลส่งตอบกลับมา อย่างนั้นหรือเปล่า

กิรตรา: ใช่ พอเขาตอบกลับมาก็ตื่นเต้นค่ะ แบบเฮ้ย เขาตอบกลับมาแล้ว โอเคที่จะมา แล้วก็พยายามหาสปอนเซอร์ต่าง ๆ แล้วก็วันก็จำได้ว่าตื่นเต้นมาก เดินวุ่นทั้งงาน หมายถึงว่าจริง ๆ มันไม่ต้องเดินเยอะขนาดนั้น (หัวเราะ) มันไม่มีอะไรให้ทำขนาดนั้น คือทุกอย่างมันโอเคแล้ว แต่เราจะแบบ เฮ้ย หน้างานโอเคมั้ย ตรงรับตั๋ว ตรงที่ขายเครื่องดื่ม ตรงซาวด์เป็นยังไง จำได้ว่าเดินเยอะมาก วนอยู่ในงานว่าทุกอย่างโอเคมั้ย แล้วก็จำได้ว่า คนมาเยอะมากกว่าที่คิด แล้วก็ทุกคนแฮปปี้มาก ศิลปินแฮปปี้มาก แล้วก็จำได้ว่า พอจบงานแล้วกลับไปบ้านคือนอนไม่หลับ เหมือนความรู้สึกแบบแบบ…(ยังไม่หลุดออกจากตรงนั้น?) ใช่ มันรู้สึกแฮปปี้อะดรีนาลีนยังอยู่

The People: ตอนนั้นที่ส่งอีเมลไป ส่งไปหลาย ๆ ศิลปินใช่ไหม พอจะประมาณจำนวนได้ไหม

กิรตรา: ส่งเกือบทุกวัน เป็นหลายเดือนค่ะ

The People: เป็น 100 ไหม?

กิรตรา: น่าจะ (หัวเราะ) หรือบางทีก็ศิลปินไม่ตอบ อีกเดือนหนึ่งลองส่งไปอีกรอบ

The People: วงแรกที่ได้จัดเป็น The Pains of Being Pure at Heart วงนี้มีอะไรที่ทำให้อยากดู มี Passion อะไรเกี่ยวกับวงนี้

กิรตรา: ชอบเพลงค่ะ ช่วงนั้นก็เป็นหนึ่งวงที่ฟังบ่อย ๆ แล้วก็เป็นวงที่เพื่อน ๆ ชอบด้วย

The People: พอได้อีเมลกลับมา ช่วยเล่ากระบวนการว่า ในฐานะที่อยากจะจัดแล้วมีอยู่คนเดียว หลังตอบกลับมาแล้วต้องทำอย่างไรต่อ

กิรตรา: พอช่วงที่คิดว่าอยากจัดคอนเสิร์ตก็ลองติดต่อไปหาโปรโมเตอร์ ในประเทศอื่นที่เขาน่าจะอยากจัดงานวงคล้าย ๆ เรา ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่าเราต้องหาพวก เพื่อที่จะติดต่อวงไปด้วยกันน่ะ เขาอาจจะสนใจมากขึ้นว่าแบบโอเค ถ้ามาก็ได้เล่นหลายที่ในเอเชีย เสร็จแล้วก็คือเพื่อนคนนั้นก็ได้ทำโชว์นั้นเหมือนกัน เลยอาจจะได้มีคนช่วยคิดนิดนึงว่าอะไรยังไง เพราะเขาตอบรับมาเสร็จก็จะเป็นเรื่องการ Advance โชว์ และต้องเริ่มทำวีซ่าต่าง ๆ ไฟล์ทเขาจะมาเมื่อไหร่ เขาก็จะส่ง Technical มาให้ว่าพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ สิ่งที่เราต้องเตรียมให้เขามีอะไรบ้าง ก็เริ่มเตรียมงาน ทำ Artwork โปรโมต ขายบัตรค่ะ

The People: สำหรับคนในสายธุรกิจน่าจะสงสัยว่า ต้องมี Advance ทุนไปก่อน ตรงนี้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

กิรตรา: ตอนนั้นเพราะว่าวง The Pains เองก็ไม่ได้ดังมากค่ะ ก็เลยเป็นตัวเงินในตัวเลขที่พอ Advance ไปก่อนได้ แล้วก็เหมือนพอเราเริ่มขายบัตรแล้ว บัตรวิ่งค่อนข้างเร็วก็เลยมีเงินเหมือนรวบรวมไปมัดจำก่อนได้

The People: ต้องรีเสิร์ชก่อนไหม หรือว่าดูจากแค่ศิลปินที่ชอบเลย ต้องมีสำรวจตลาดไหมว่าถ้าเอาศิลปินคนนี้มา เราจะมีคนดูเท่านี้จะไม่ขาดทุนนะ

กิรตรา: ก็ทำตัวเลขประมาณนึงค่ะ แต่ก็กะ ๆ เอา เหมือนเพราะว่าเราอาจจะคลุกคลีในคนที่ฟังเพลงอยู่แล้วก็พอจะเดา ๆ ได้ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเราก็ Expect (คาดการณ์) ว่าจะมีแค่ 400-500 คน ก็คือทำตัวเลขให้มันอยู่ใน Budget ที่มันจะเวิร์ก แต่ว่าสุดท้ายก็ขายบัตรได้เยอะกว่าที่คิด

The People: กังวลไหมว่ามันจะขาดทุน ผู้จัดหลาย ๆ แห่งน่าจะต้องมีบ้างแหละ

กิรตรา: มีค่ะ ทุกวันนี้ก็มี (หัวเราะ) โชว์แรกไม่ขาดทุนค่ะ แต่โชว์ที่สองก็ขาดทุนเลย ก็เริ่มค่อย ๆ เรียนรู้ไป แล้วก็ตอนนั้นวิธีที่ HAVE YOU HEARD? ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความดัง ช่วงนั้นเราจะเป็นเพจแรก ๆ มั้งคะที่เริ่ม เหมือนเป็นเพจแนะนำเพลง แนะนำวง แล้วเราก็เริ่มสร้าง Community ของเรา เพราะเรามี Follower เยอะขึ้น เราจะเริ่มรู้แล้ว ตอนนั้น Facebook มันยังไม่ปิดกั้นการมองเห็น  (หัวเราะ) คือจะรู้แล้วว่า สมมติเราโพสต์ของวงนี้ คนมาไลก์เร็วแค่ไหน คนแชร์เร็วแค่ไหน ตอนนั้นมันวัดได้ประมาณนึง...ทุกวันนี้โพสต์อะไรก็คนไม่ค่อยเห็น (หัวเราะ)

The People: ทำไปถึงจุดไหนที่คิดว่า เราสามารถอยู่ได้ด้วยการทำ HAVE YOU HEARD? ถึงขั้นออกจากงานประจำ

กิรตรา: ก็น่าปี 2017 มี Sold Out หลายงาน แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเรามี Followers ที่แข็งแรงและอย่างที่บอกว่าเราสามารถเดาใจคนที่ติด คนที่มางานของเรา รู้จักเขาค่อนข้างดีแล้วว่า เอาวงแบบไหนมาจะเวิร์กไม่เวิร์ก Connection

ในเรื่องสปอนเซอร์ เราก็ค่อนข้างดีแล้ว รู้จักสปอนเซอร์เยอะ รู้จักกับ Booking Agency เยอะ รู้จักกับโปรโมเตอร์ คือเครือข่ายทุกอย่างค่อนข้างแน่นแล้ว ก็เริ่มวางแผนได้ คือเราจะทำแบบทำโชว์ที่ดัง ๆ ที่คนคนรู้จักเยอะ ๆ ขายบัตรได้เยอะๆ แล้วก็จะเป็นโชว์ที่รู้ว่าขาดทุนแต่ว่าเราอยากดู หรือว่าเป็น Experiment แบบอยากให้คนได้ดู แต่ว่าตัวเลขมันอาจจะยากนิดหนึ่งก็จะพยายามทำทั้ง 2 แบบให้มัน Balance ในแง่ของธุรกิจ

The People: คิดว่าตั้งแต่ที่ทำมา ดรีมโชว์ที่เป็นโชว์ในฝันคือโชว์ไหน

กิรตรา: โอ๊ย ยาก (หัวเราะ) ถ้าในฝันเลย Phoenix ก็เป็นงานที่ค่อนข้างประทับใจ เพราะว่าตอนแรกเราเริ่มต้นทำจากไม่กี่ร้อยคน ตอนนั้น Phoenix เป็นงานใหญ่ที่สุดงานแรก 3,000 คนแล้ว Sold Out แล้วก็ Production แบบจัดเต็ม รู้สึกว่าทุกอย่างมันก็เหมือนเป็นโชว์ที่ดี อันนั้นก็รู้สึกเป็นโชว์ที่ประทับใจ แต่ว่าจริงๆ ถ้าโชว์ที่ประทับใจการแสดงของศิลปินก็จะมีเยอะ แบบ Thundercat ก็จะเป็นโชว์นึง Cornelius ที่มาเล่นที่ Voice Space จริง ๆ ก็ประทับใจหลายโชว์ แต่ก็จะประมาณนี้ค่ะ มี Anderson. Paak ที่มาก่อนเขาจะดัง แล้วก็ Maho Rasop ก็ประทับใจหลายโชว์ค่ะ

The People: ศิลปินที่ดีลยากที่สุดแล้วเขามา และที่คิดว่าดีลแล้วสำเร็จคือดีลไหน

กิรตรา: (หัวเราะ) จริง ๆ ก็ดีลยากค่อนข้างเยอะเลยค่ะ อย่างของ Maho Rasop ก็มี Slow Drive ที่เป็นหนึ่งวงที่กิ ชอบมาก แล้วก็พยายามจะชวนเขามามาเล่นคอนเสิร์ตในไทยนานแล้วค่ะ...ก็เกือบ ๆ จะคอนเฟิร์มหลายปีมาก น่าจะเป็นระยะเวลาแบบ 5-6 ปี แล้วอยู่ดี ๆ เหมือนเขาก็โอเคที่จะมาเล่น Maho Rasop แล้วก็เป็นโชว์ที่แค่เล่น Maho Rasop แล้วก็กลับเลย แล้วก็ได้ดูแบบใกล้ชิด รู้สึกแฮปปี้มากเลย จริง ๆ ก็มีหลายศิลปิน Toro y Moi ก็คุยหลายปี จะมีวงที่ต้องเหมือนคุยเรื่อย ๆ (หัวเราะ)

The People: มีโชว์ที่ทำแล้วขาดทุนและพอจะเล่าได้ไหม

กิรตรา: เยอะค่ะ (หัวเราะ)

The People: มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เราทำอยู่รันต่อไปได้

กิรตรา: ก็จะต้องหาจุด Balance ว่า อย่างที่บอกว่าทำโชว์ที่น่าจะ Sold Out แบบโชว์ที่ขายง่าย ๆ ด้วย แล้วก็บางโชว์ที่คนดูอาจจะเฉพาะกลุ่มนิดหนึ่งก็จะเสี่ยงกับการขาดทุน

The People: ปีแรกของ HAVE YOU HEARD? จัดกี่โชว์

กิรตรา: ปีแรกน่าจะแค่ 2 โชว์ค่ะ แล้วก็เริ่มเป็นปีละ 4-5 ครั้ง แล้วก็เริ่มเป็นเดือนละครั้ง แล้วก็มีปีหนึ่งที่เหมือนจะเดือนละ 2 ครั้ง มันเริ่มถี่ขึ้นค่ะ

คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

The People: พัฒนาเป็น Maho Rasop เป็นนิทรรศการ…พัฒนาไปตรงนั้นได้อย่างไร

กิรตรา: เหมือนพอเราทำไปถึงจุดหนึ่งก็ได้รู้จักคนเยอะขึ้น ตอนนั้นก็เหมือน HAVE YOU HEARD? ก็ได้มีร่วมงานกับ Fungjai บ้าง แล้วก็รู้จักกับพี่ภูมิ ที่ทำ Seen Scene Space ก็คือในซีนก็จะรู้จักกัน แล้วพอคิดว่าเหมือนทุกคนก็โตขึ้นด้วย ทั้ง Fungjai ทั้ง Seen Scene Space ก็คือถึงจุดที่มันจะไปอีกสเต็ปหนึ่งของในสายอาชีพนี้

The People: หมายถึงว่ามีพาร์ทเนอร์ มีเพื่อนที่อาจจะร่วมทางกันช่วยให้สามารถขยายสเกลได้มากขึ้น

กิรตรา: ใช่ค่ะ เพราะว่าถ้าพูดจริง ๆ แบบ HAVE YOU HEARD? ถ้าให้เป็น HAVE YOU HEARD? บริษัทเดียวที่ทำ Maho Rasop ก็คงไม่ไหวเหมือนกันค่ะ แต่ทีนี้พอมี 3 ปาร์ตี้มาทำด้วยกัน แล้วมีความถนัดที่บางเรื่องถนัดเหมือนกัน บางเรื่องถนัดไม่เหมือนกัน แต่พอมารวมกันแล้วก็ทำให้แข็งแรงพอที่จะทำงานที่สเกลใหญ่ขึ้นไปอีก

The People: ตอนนี้คิดว่า HAVE YOU HEARD? อยู่ตัว หรือว่ามีความมั่นคงประมาณหนึ่งแล้วไหม มีความเสี่ยงในทางธุรกิจอะไรอีกไหม

กิรตรา: ถ้าคิดว่า ไม่มีโควิดนะคะ คิดว่าก็จะมั่นคงกว่านี้ แต่ว่ามันมีช่วงโควิดที่เราจัดงานไม่ได้เลยไปประมาณ 2 ปี มันก็เลยเหมือน...(มีกราฟทางธุรกิจที่ขึ้นลงผันผวน?)  ใช่ค่ะ แล้วก็ หลายอย่างเปลี่ยน เช่นพฤติกรรมคน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต แล้วเหมือนตัว Booking Agency หลายที่ก็ปิดไป เราต้อง Reconnect ใหม่กับทาง Audience เรา ทั้งทางฝั่งวง ก็เลยเหมือนอาจจะมีความเริ่มใหม่นิดหนึ่ง

The People: ตอนโควิด ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง ในฐานะที่เป็นธุรกิจที่ต้องจัดงาน พอ Work from home คนกักตัวกัน ต้องทำอย่างไร

กิรตรา: ตอนนั้น HAVE YOU HEARD? ก็เริ่มร้านแผ่นเสียงค่ะ ตอนนั้นทำเว็บไซต์ ก็เริ่มมี HAVE YOU HEARD? Record ขายแผ่นเสียงออนไลน์ก่อน แล้วก็เริ่มทำ Content มากขึ้น ไปจับงานทาง PR มากขึ้น ช่วยศิลปินที่เขาออกอัลบั้มใหม่แล้วมาทัวร์ไม่ได้ เราก็ช่วย PR แคมเปญให้เขาค่ะ

The People: ไปดีลมาได้อย่างไร

กิรตรา: คือจริง ๆ ก็กึ่ง ๆ อยู่ใน Business plan ค่ะ เพราะเรามองว่าเหมือนเวลาเราทำโชว์ทุกครั้ง เราก็จะต้องมีส่งข่าวให้สื่อ ทำให้เรามี Connection กับสื่อต่าง ๆ แล้วก็เรามี Connection กับคนที่ทำคอนเสิร์ตเหมือนกันในต่างประเทศด้วย ก็เลยคิดอยู่ตั้งแต่ก่อนหน้ามีโควิดแล้วว่า โอเค นอกจากคอนเสิร์ตแล้ว เรื่องโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้วงก็เป็นอีกขาหนึ่งที่เราจะไปได้ รวมถึงการช่วยเอาแผ่นเขามาขาย ก็คือช่วยตั้งแต่ทั้ง PR โปรโมตตอนอัลบั้มออก จนถึงช่วยจัดทัวร์ ช่วยทำจากในส่วนที่เป็นคอนเสิร์ต แล้วก็ในเรื่อง Merchandise (ผลิตภัณฑ์) ด้วย

The People: ถือว่ามันคัฟเวอร์ในทางธุรกิจไหม ที่ว่าธุรกิจโชว์ในช่วงโควิดมันชะงักไป แผ่นเสียง ออนไลน์ หรือว่า Merchandise PR มันคัฟเวอร์ตัวเลขในทางธุรกิจ หรือเป็นเพราะว่าคนน้อยอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้มีต้นทุนเยอะหรือเปล่า

กิรตรา: ใช่ ๆ เราโชคดีที่ไม่ได้มีต้นทุนเยอะค่ะ ก็ถามว่ามันคัฟเวอร์ไหม มันก็ช่วยให้พอผ่านช่วงนั้น

The People: พอหลังจากโควิด อย่างปีที่แล้วมาถึงปีนี้ที่บอกว่า มี Event จัดคอนเสิร์ตรัว ๆ กรุงเทพฯ แทบเป็นเมืองคอนเสิร์ต HAVE YOU HEARD? บูมตามไปด้วยไหม HAVE YOU HEARD? มีสภาพอย่างไรช่วงหลังโควิดแล้ว

กิรตรา: จริง ๆ ก็เหนื่อยขึ้นค่ะ เพราะว่ามีผู้จัดเยอะขึ้น การแข่งขันแน่นอนว่าสูงขึ้น คือไม่ใช่ว่าโชว์เดี่ยว Festival ก็เยอะ มีแบบทั่วโลกด้วย ไม่ใช่แค่ในไทย แล้วก็ cost สูงขึ้นเยอะมากหลังจากโควิด เพราะว่าไฟล์ทแพงขึ้น ทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้ค่าตัววงก็แพงขึ้นด้วย แล้วสปอนเซอร์หายากขึ้น (หัวเราะ) การจัดงานจริงๆทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าจัดยากขึ้น แล้วด้วยความที่คอนเสิร์ตหรือ Festival มีถี่มาก ทำให้คนเองก็ไม่สามารถจะ Afford แบบซื้อไปทุกงานได้

The People: ปรับตัวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

กิรตรา: ก็ยังอยู่ในช่วงปรับตัวนะคะ ในช่วงหลัง ๆ จริง ๆ ทำงานของ HAVE YOU HEARD? เองน้อยลงค่ะ ตอนนี้ค่อนข้างโฟกัสกับ Maho Rasop จริง ๆ Maho Rasop ทำเกือบทั้งปี ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ต้นปี คุยกับศิลปินต้องคุยล่วงหน้านาน ตอนนี้ก็จะค่อนข้างโฟกัสกับ Maho Rasop แล้วก็งานของ HAVE YOU HEARD? เอง ปีนี้ก็มีประมาณ 5-6 งาน แล้วก็มีทำของศิลปินไทยด้วย ทำคอนเสิร์ตเดี่ยวให้น้อง Phum Viphurit

The People: พูดถึงตลาดดนตรีอินดี้ แฟนเพลงบ้านเรามีตลาดประมาณนึง ในฐานะคนที่จับตลาดนั้นมันสามารถแปรรูปให้เป็นธุรกิจ หรือว่ามีโอกาสทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

กิรตรา: คิดว่าโตขึ้นเยอะค่ะ ในแง่ของคนฟังก็คิดว่ายิ่งเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ ฟังเพลงเปิดกว้างมาก คิดว่าก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ใช่ แล้วก็ในอินดี้เองก็เหมือนจะมีแมสอินดี้เนอะ อย่างที่สเกลก็ขายได้เป็นพัน ๆ หรืออินดี้แบบนิชมาก ๆ เลยก็มี แต่ว่าคิดว่ากลุ่มของคนที่ชอบฟังเพลง ที่ชอบไปอีเวนต์ ไปคอนเสิร์ตก็โตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็จริง ๆ ตอนนี้พวกเป็นคลับก็กลับมาบูมขึ้น หลาย ๆ คนที่เคยเป็นเด็กฝั่งอินดี้ก็ไปชอบฟังเพลงแบบคลับมิวสิกมากขึ้น เทคโน เริ่มมีปาร์ตี้ เริ่มมีแบบซีนก็เริ่มโตกัน

The People: ในฐานะที่คุณกิ อยู่กับดนตรีกระแสทางเลือก มันมีเสน่ห์อะไรที่ทำให้คุณกิ อยู่กับตรงนั้นมาตั้งแต่ DOJO จนมาถึงทุกวันนี้ ในขณะที่คนไป Mainstream ที่มีคนทำเยอะ โอกาสทำตลาดเยอะกว่า มีมีเม็ดเงินเยอะ อะไรที่ทำให้คุณกิยังอยู่ในตลาดนี้

กิรตรา: คิดว่าเป็นความรู้สึกของการได้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตค่ะ ทั้งซีนฝั่งคอนเสิร์ตด้วย เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของของศิลปินวงนั้น ๆ หรือว่าซีนดนตรีในเมืองไทย รู้สึกชอบกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรตรงนี้มากกว่า เช่นเราได้เป็นคนแรก ๆ เลยที่เอาวงนี้มาเล่นในไทย และทำให้เขาเป็นที่รู้จัก แล้วพอผ่านไป 2-3 ปี เขาก็ดังขึ้น แล้วก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเราจ้างเขาไม่ไหวแล้ว ก็ให้คนอื่นทำ หรือว่าวงน้อง ๆ วงอินดี้ในไทยที่เราให้มาเล่นเปิด ก็ทำให้สเปสเขาที่ได้มาเล่น แล้วคนได้รู้จักเขาแล้วก็ช่วย Support กัน มันเป็น Eco System

ถึง Maho Rasop เองก็อยากจะเป็น Destination ไม่ใช่แค่ในไทย ในเอเชียให้คนบินมาแล้วได้ดูวงต่างประเทศด้วย ได้ดูวงไทยด้วย รวมถึงที่ทำ Listening Bar จริง ๆ ก็จะค่อนข้างเป็น Eco System ของของสิ่งที่พยายามจะทำมาตลอด

The People: ลองตั้งสมมติฐานว่า สิ่งที่ทำคือการเติมเต็ม Passion ในวัยเด็กด้วยหรือเปล่า สมัย DOJO เป็นศิลปินทางเลือกด้วย มันคือการเติมเต็มว่าอยากจะให้มีคนที่เป็นกลุ่มเดียวกับที่เราเคยอยู่กับบริบทแวดล้อมเหล่านั้น สามารถเดินไปได้อีกด้วยไหม เป็นการเติมเต็มอะไรบางอย่างที่วัยนั้นยังไม่ได้ทำ เป็นการทำแล้วแต่ยังไม่สุดหรือเปล่า

กิรตรา: เวลาทำ HAVE YOU HEARD? ก็จะรู้สึกหลาย ๆ ที มีคนบอกด้วยว่า เออ วงแบบนี้ ถ้าไม่มี HAVE YOU HEARD? เอาเข้ามา ก็ไม่มีใครเอาเข้ามาแล้ว ก็จะมีฟิลลิ่งอย่างนั้นอยู่ แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า เออ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำจริง ๆ เนอะ หรือว่าแบบ Maho Rasop เอง เหมือนวงที่เราเลือก หรือบรรยากาศ หรือหลายอย่างก็รู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำก็คงไม่มีใครทำ แบบ Listening Bar แบบนี้ค่ะ

คุยกับ กิ-กิรตรา วง Niece สู่ธุรกิจบันเทิง ผู้จัดคอนเสิร์ตอินดี้แบบใจรัก Have You Heard?

The People: เวลาทำอะไรสักอย่าง การประเมินตัวเองว่า ถ้าเลือกทำในสิ่งที่อยากจะทำแล้วมันล้มก็อาจต้องเจ็บตัว สำหรับคุณกิ กลัวว่าตัวเองจะล้มไหม ถ้าไปทำซีนเหล่านี้ หลายคนมองว่ามีโอกาสที่จะล้ม อะไรที่ทำให้ยังเดินหน้าต่อไป อะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนการทำงาน

กิรตรา: หลัก ๆ น่าจะเป็นความรู้สึกที่เคยบอกว่า เออ นี่แหละที่มันเป็นสิ่งที่แบบ This is me. This is it for me ว่า เออ เรานี่แหละต้องทำสิ่งนี้แหละ แล้วก็ทำมาตอนนี้ก็ 10 กว่าปี ยังรู้สึกว่ามันใช่สำหรับเราอยู่ ทีนี้โจทย์ต่อไปก็คือ ทำยังไงให้เราอยู่ได้ หมายถึงว่าเป็นอาชีพ ซึ่งก็ต้องพัฒนาองค์กร พัฒนาความรู้ตัวเองพัฒนา Connection ก็คือขยายไป เริ่มทำ Merchandise เริ่มไปแตะ PR  

เหมือนเราก็ต้องต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ด้วย ทำการบ้าน ดูตลาดว่าโอเค เดี๋ยวปีนี้ เราจะต้องทำวง ทำโชว์ที่ทำเงินกี่โชว์ เพื่อที่จะได้ทำโชว์ที่เป็น Experimental ที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในแง่ของกำไรมากนัก หรือว่าอย่างมาทำ Listening Bar ก็คือเป็น Source of income อีกอย่างหนึ่งที่มันค่อนข้าง Stable ประมาณหนึ่ง ก็ต้องทำหลาย ๆ อย่าง ถ้ารักที่จะทำอะไรแบบนี้ มันก็จะต้องหาโอกาส หาช่องทางใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ

The People: มาถึงตรงนี้แล้ว คิดว่า HAVE YOU HEARD? ประสบความสำเร็จไหม มีอะไรที่คิดว่าน่าจะไปได้มากกว่านี้ มีอะไรที่อยากจะทำให้มากกว่านี้หรือเปล่า

กิรตรา: คิดว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งค่ะ แต่ก็มีแพลนอย่างที่บอกว่า อยากจะให้ทุกอย่างมันลิงก์กัน อย่างที่บอกว่าทำ PR ด้วย ทำจัดคอนเสิร์ตด้วย มีเรื่อง Merchandise ด้วย ให้มี Umbrella ที่กว้างขึ้นเพื่อที่ตัวองค์กรเองก็จะได้มั่นคงขึ้น ก็อยากจะพัฒนาต่อไป

The People: จากที่อยู่ในซีนธุรกิจอินดี้ เป็นซีนกระแสทางเลือก มีโอกาสที่ HAVE YOU HEARD? จะไป Mainstream หรือโตไปกว่านี้แล้วไปจับ Mainstream ไหม แล้วคิดว่าต้องมุ่งไปให้โตแบบไหน เป็นธุรกิจใหญ่ด้วยไหม จะยังอยู่ในซีนดนตรีที่เป็นอยู่อีกไหม

กิรตรา: จริง ๆ อย่าง The Strokes เราก็อยากทำนะคะ สเกลประมาณนั้น ก็เป็นอะไรที่คิดว่ายังอยากทำอยู่ แต่ถ้าแบบสเกลแบบ Impact Arena เลย คิดว่าไม่ค่ะ เราอยากจะคิดว่าอยากจะ Special Live ในระดับเล็กถึงกลาง กึ่ง ๆ ใหญ่มากกว่า เพราะด้วย Connection ของเรา ด้วยความถนัด เวลาทำโชว์ใหญ่ ๆ มันจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง

พอศิลปินที่เขาดังระดับหนึ่ง ก็จะมีต้องคุยกับทีมที่ใหญ่ คือทุกอย่างมันก็จะซับซ้อนขึ้น ทำงานยากขึ้น เราก็รู้สึกว่าเหมือนโชว์ที่เล็กหรือกลาง มันจะมีบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ที่บอกเป็น Community ที่เราพยายามสร้างมาตลอด แล้วก็พยายามที่จะรักษามันไว้

ถ้าโตไปในแง่ว่า จะไปทำโชว์แบบใหญ่ ๆ เลย คิดว่าไม่ ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของ HAVE YOU HEARD? ค่ะ แต่ว่าอยากจะยังทำโชว์ประมาณนี้ แต่ว่าหาวิธีให้ทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างทุกวันนี้จะมีปัญหาเรื่องที่จัดงาน ที่มันไม่มี Live House แล้ว Production ในการจัดแต่ละทีก็จะแพงมาก คิดว่าอยากจะหาทางให้จัดโชว์ได้ง่ายขึ้นมากกว่าค่ะ

The People: จากที่เป็น Niece ร้องเพลง ‘บีบมือ’ มาจนถึงวันนี้ บทเรียนอะไรที่เป็นคติในการใช้ชีวิตของคุณกิ

กิรตรา: สำหรับกิ กิจะเป็นคนที่ไม่ค่อยฝืนใจตัวเองทำอะไรค่ะ อย่างที่บอกว่า วินาทีที่รู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือใช่ของเราแล้ว ก็จะค่อนข้างเป็นคน Honest (ซื่อสัตย์) กับตัวเองว่า เออ เราแฮปปี้กับการทำอะไรแล้วก็จะพยายามทำอันนั้นให้เต็มที่ที่สุดค่ะ

The People: บางคนมี Passion ว่าอยากจะเป็นคนยิ่งใหญ่ อยากจะเป็นเบอร์บิ๊ก ๆ ทำไมถึงเลือกยังเป็นซีนที่เป็นกระแสทางเลือก ไม่ได้ ‘ดรีมบิ๊ก’

กิรตรา: ถ้าถามตอนนี้ ค่อนข้างแฮปปี้กับจุดที่ตัวเองอยู่ ณ อายุเท่านี้และคิดว่าตอบโจทย์แล้วค่ะ คือได้ทำอะไรที่ชอบ เราสามารถที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ มีออฟฟิศของตัวเอง ที่มันเล็ก ๆ อาจจะไม่ได้หรูหรา แต่ว่าก็เป็นสเปสของเราที่เราแฮปปี้ที่จะมาอยู่ทุกวัน มาทำงานทุกวัน ได้ทำงานแวดล้อมไปด้วยคนใน Community ที่เราแฮปปี้ที่จะอยู่ด้วยและทำงานด้วย

รู้สึกว่าอันนี้คือเป็นเป็นสิ่งที่เค้าเรียกว่าเหมือนเป็นโกลในชีวิตสำหรับกิมากกว่า อาจจะไม่ได้อยากมีชื่อเสียงหรือว่าแบบว่ารวยมาก ๆ หรืออะไรอย่างนี้ รู้สึกว่าการที่ตื่นมาทุกวันแล้ว เราได้ทำอะไรที่เราแฮปปี้ ไม่ต้องฝืนตัวเอง ทำอะไรเหมือนมีความสุขได้กับทุก ๆ วัน คิดว่ามันตอบโจทย์แล้วค่ะ

The People: รสนิยมทางดนตรีมีผลต่อวิธีคิดแบบนี้ไหม ตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่ทำเป็นดนตรีทางเลือก ดนตรีเฉพาะทาง อิเล็กโทรนิกส์ พอมายุคทำคอนเสิร์ต ศิลปินที่ดึงมาก็ใกล้เคียง คล้าย ๆ กับซีนสมัยเป็นศิลปินเอง เหล่านี้มีผลต่อวิธีคิดในการใช้ชีวิตด้วยไหม

กิรตรา: คิดว่าส่วนหนึ่งค่ะ แต่ว่าเหมือนเหมือนช่วงหลัง พอยิ่งโตขึ้น ก็จะอ่านอะไรเกี่ยวกับพวกนี้เยอะ แล้วก็จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการพัฒนา Mindset ตัวเอง เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็พยายามที่จะพัฒนาตรงนั้นเรื่อย ก็เลยคิดว่ามันเลยทำให้มีผลกับในเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรอย่างนี้ด้วย มันเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ