คุยกับ ‘นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา’ ผ่านจุดเปลี่ยนสู่โรงพยาบาลความงามยุคบุกเบิก

คุยกับ ‘นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา’ ผ่านจุดเปลี่ยนสู่โรงพยาบาลความงามยุคบุกเบิก

คำเปิดใจของ นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้ก่อตั้งโรงะยาบาลยันฮี เหตุผลที่ขยายธุรกิจสู่โรงพยาบาล และความท้าทายช่วงที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคของคน และข้อห้ามการโฆษณาชวนเชื่อของยุคนั้น

  • ก่อนเป็นโรงพยาบาลยันฮี เคยเป็นโพลีคลินิกที่รักษาโรคทั่วไป จนถึงวันที่ไม่มีคนไข้
  • นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา เปรียบเทียบโรงพยาบาลด้านความงาม ไม่ต่างอะไรกับโรงพยาบาลหู คอ จมูก ที่ต้องมีเฉพาะทาง
  • กว่าจะประสบความสำเร็จ โรงพยาบาลยันฮี ต้องผ่านอุปสรรคทั้งความเชื่อ และการห้ามโฆษณาของยุคนั้น

 

“สมัยก่อนเมืองไทยไม่มีโรงพยาบาลเสริมความงาม ไม่มีโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่ง ผมมองว่านี่คือช่องทางทางการตลาด ตั้งแต่ปี 2542 เราก็ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่าเราเป็นโรงพยาบาลแห่งความงาม” นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลยันฮี และผู้ปลุกปั้นความเชื่อเรื่้องความสวย

ย้อนไปเมื่อ 39 ปีก่อน ก่อนที่จะเป็น ‘โรงพยาบาลยันฮี’ ด้วยคอนเซ็ปต์สวยครบวงจร ต้องผ่านวิกฤตมากมายทั้งวิกฤตความเชื่อมั่น และวิกฤตการเงินในประเทศไทย ซึ่ง นพ.สุพจน์ได้เล่าย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น และมุมคิดหลายอย่างที่น่าสนใจกับเราผ่านบทสัมภาษณ์นี้

 

สมัยเป็นโพลีคลินิก

นพ.สุพจน์ เล่าย้อนไปถึงช่วงแรก ๆ ที่เขาไปเรียนด้านการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากที่เรียนจบก็ไปเรียนต่อแพทย์ที่ฟิลิปปินส์เพิ่มเติม ตอนนั้นความรู้ที่ได้มามีทั้งแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนปัจจุบัน จากนั้นก็มาฝึกงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

จุดเริ่มต้นของ นพ.สุพจน์ ก็คือ นำวิชาความรู้ทั้งหมดที่ได้มาเปิดคลินิกเป็น ‘โพลีคลินิก’ ก่อตั้งในวันที่ 25 ตุลาคม 2527 ที่เชิงสะพานพระราม 6 แต่ก็ต้องย้ายออกหลังจากนั้นเพราะเจ้าของขอเวนคืนที่ดิน ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เปิดคลินิกมีคนไข้มารักษามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นจุดที่ทำให้ นพ.สุพจน์ ตัดสินใจขยับขยายธุรกิจสู่ ‘โรงพยาบาล’

“จากเดิมที่เรามี 30 เตียง ก็ขยายเป็นโรงพยาบาลที่มี 400 เตียง”

คุยกับ ‘นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา’ ผ่านจุดเปลี่ยนสู่โรงพยาบาลความงามยุคบุกเบิก

 

จุดเริ่มต้นโรงพยาบาลยันฮี

นพ.สุพจน์ เล่าว่า “เราเริ่มออกแบบโรงพยาบาลยันฮี (อาคารยันฮี 1) ในปี 2537 และก่อสร้างในปี 2540

“แต่โชคไม่ดียังก่อสร้างไม่เสร็จก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้แผนการก่อสร้างชะงักไป 2 เดือน เราก็ต้องพยายามหางบมาสร้างต่อให้เสร็จ จนในปี 2541 ก็สามารถเปิดให้บริการโรงพยาบาลได้”

แต่ความเลวร้ายอยู่ที่ว่า ตอนนั้นยังเป็นช่วงรอยต่อของวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้โรงพยาบาลยันฮีไม่มีคนไข้, คนไทยไม่มีกำลังซื้อ และตอนนั้นร้านค้าก็ทยอยล้ม, บริษัทล้ม, แบงก์ล้ม, อสังหาฯ ก็ล้ม ซึ่ง นพ.สุพจน์ บอกสิ่งที่อยู่ในใจตอนนั้นก็คือว่า

“ในเมื่อโรงพยาบาลเราเปิดเป็น General Hospital รักษาทุกโรคแต่ไม่มีคนไข้เลย เราจึงลอง narrow down ลงมาทำให้ธุรกิจดูเป็นเรื่องเฉพาะขึ้น ปรับแผนกการรักษาให้แคบลง ก็เลยมองที่ธุรกิจความงาม”

นพ.สุพจน์ พูดว่า “ในปี 2541 - 2542 เมืองไทยไม่มีโรงพยาบาลความงาม ไม่มีคลินิกศัลยกรรมตกแต่ง ไม่มีโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่ง เราจึงมองว่านี่คือช่องว่างทางการตลาด ในเมื่อไม่มีคนไข้ทั่วไป แต่ก็ยังมีคนที่อยากเสริมสวย อยากทำตา 2 ชั้น ทำจมูก หรือเสริมหน้าอก พวกเขาก็ต้องแอบ ๆ บินไปทำในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อเมริกา

“เราก็มองว่าเมืองไทยไม่มีโรงพยาบาลแบบนี้ แล้วคนจำเป็นต้องแอบไปอยู่ต่างประเทศเพื่อไปผ่าตัดที่ต่างประเทศ เราก็เลยตัดสินใจเปิดเป็นโรงพยาบาลแห่งความงาม ตอนนั้นเรามีหมออายุรกรรมรักษาโรคทั่วไป มีหมอลดน้ำหนัก มีหมอผิวหนัง แล้วก็มีหมอศัลยกรรมตกแต่ง ก็ตัดสินใจมุ่งไปทางโรงพยาบาลความงาม เพราะคิดแค่ว่าสมัยก่อนเรายังมีโรงพยาบาลหู คอ จมูก

“ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เราก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเขารู้ว่าเราเป็นโรงพยาบาลเสริมความงามนะ”

 

อุปสรรคของยันฮี

แน่นอนว่าไทยแลนด์เป็นประเทศเมืองพุทธที่มีการตีกรอบมากมายตั้งแต่อดีต ดังนั้น ความเชื่อเรื่องความสวยความงาม ให้พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ และนี่คืออุปสรรคแรกของโรงพยาบาลยันฮี นพ.สุพจน์ บอกว่า “ปัญหาแรกคือชาวบ้านไม่มารักษาเพราะว่าอาย คนส่วนมากตอนนั้นจะบอกว่าพ่อแม่ให้มาสวยแล้วจะไปผ่าตัดให้เสียเงินทำไม บางคนก็อายเพื่อนบ้าน อายพ่อแม่

“อุปสรรคที่ 2 ก็คือ ห้ามโฆษณา แพทยสภาเขาห้ามโฆษณา กรมประกอบโรคศิลป์ห้ามโฆษณา เราก็มองว่าเราเปิดโรงพยาบาลความงามแล้วไม่โฆษณา ก็เหมือนกับคุณเปิดร้านเสริมสวย แล้วมีแค่คนข้างบ้านแค่นั้นที่รู้จักคุณ

“นอกจากนี้ที่ต้องคิดคือ เราจะโฆษณาอย่างไรให้คนเชื่อถือ เพราะว่าไม่เคยมีโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งในประเทศไทย หมอจะเก่งไม่เก่งพวกเขาก็ไม่รู้ เราก็เลยยิงสโลแกนว่าสวยอย่างปลอดภัย เพราะสมัยก่อนคนจะทำศัลยกรรมตกแต่งต้องบินไปต่างประเทศ หรือไปทำในร้านเสริมสวย ขึ้นบิลบอร์ดเลยนะครับ กรมประกอบโรคศิลป์ก็เรียกไปปรับบอกว่าคุณโฆษณาเกินความจริง

“เว้นระยะไปประมาณ 5 - 6 เดือน เราก็ไปปรึกษากรมประกอบโรคศิลป์ว่า เราอยากจะโฆษณาเพราะไม่มีคนไข้เลย เขาบอกว่าถ้าเราผ่าตัดโดยแพทย์ ก็โฆษณาว่า ‘สวยด้วยแพทย์...สวยที่ยันฮี’ ดังนั้นเราก็ขึ้นบิลบอร์ดใหม่โฆษณาด้วยคำนี้เลย 1 ปีผ่านไปโดนเรียกไปปรับเพราะโฆษณาเกินจริง

“ตอนนั้นคนไข้เริ่มซบเซาแล้ว เราก็คิดคำโฆษณาใหม่ขึ้นมาอีกว่า ‘สวยครบวงจร’ เพราะเรามองว่าเรามีครบ คุณจะทำตา 2 ชั้นเราก็ผ่าตัดให้คุณ คุณจะเสริมจมูกก็ผ่าตัดให้ คุณจะปลูกเส้นผมก็ปลูกให้ คุณจะเสริมหน้าอกก็เสริมให้ ดึงหน้าเราก็ทำได้ เราเลือกที่จะบอกความจริงตรง ๆ กับชาวบ้าน ปรากฏว่าตอนนั้นไม่โดนปรับแล้ว ขณะที่คนก็เริ่มทยอยลองทำที่เรา และก็ยอมรับมากขึ้น”

เรียกว่ากว่าจะผ่านแต่ละอุปสรรคมาได้ก็ปาดเหงื่ออยู่มากพอสมควร แต่ นพ.สุพจน์ บอกว่า “ไม่เคยท้อเลย เพราะมองว่ามันเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น”

ตลอดเวลาที่ผ่านมานับจากวันที่เริ่มต้น โรงพยาบาลยันฮีได้มีการให้ทุนแพทย์เพื่อไปเรียนเฉพาะทางที่ไต้หวัน ตั้งแต่ 3 เดือน จนถึง 1 ปี เพื่อพัฒนาทีมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งในแต่ละด้าน จนปัจจุบันมีครบทุกด้านก็ว่าได้ ซึ่งไม่ได้มีแค่การทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อความงาม แต่รวมไปถึงการผ่าตัดหัวใจ การทำคลอด การฝากครรภ์ เป็นต้น

จากวันที่ นพ.สุพจน์ ได้ก่อตั้งธุรกิจโพลีคลินิก แม้ว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จ แต่เขากลับมองว่า การล้มหรือยุติระหว่างทางนั้นทำให้เราต้องกลับไปนับ 1 ใหม่อีกครั้ง แต่เราควรจะศึกษาดูว่าทำไมเราถึงล้ม และค่อย ๆ แก้ไขไปทีละจุด อย่าล้มเลิกกลางทาง เพราะคุณจะสูญเสียโอกาสในการแก้ไขจุดต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ

“ก่อนที่คุณจะไปถึงจุดที่ล้มเหลว คุณต้องมีความตั้งใจก่อน มีความตั้งใจ มีความรัก มีความชอบ เพราะฉะนั้นคุณทำสิ่งที่คุณรักคุณชอบเนี่ย แล้วมีความตั้งใจอีก ยังไง ๆ ก็สำเร็จ”

 

จากพ่อถึงลูก

ทั้งนี้เราได้ถาม นพ.สุพจน์ ถึงวิธีการหรือเคล็ดลับที่มักจะสอนลูก ๆ ให้เข้าใจในธุรกิจครอบครัวว่าจะเป็นอย่างไร คำตอบสั้น ๆ แต่อธิบายชัดทุกอย่างก็คือ ‘ทำให้พวกเขาดู’

“ลูกผมทุกคนเนี่ย ถ้าพวกเขาว่างก็จะเข้ามาดูพ่อรักษา เวลาเราไปดูธุรกิจหรือดีลกับธุรกิจ เราก็จะเรียกเข้าไปดู ใครว่างก็มาดู ทำให้พวกเขาซึมซับว่าการทำธุรกิจทำอย่างไร และแน่นอนว่าต้องสอนเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า ต่อซัพพลายเออร์ ต่อคนที่มาดีลด้วย เพราะถ้าคุณมีความซื่อสัตย์ ใคร ๆ ก็อยากทำการค้ากับคุณ เงินเขาไม่หาย สินค้าก็ไม่ถูกหลอก ถ้าคุณไม่มีความซื่อสัตย์ เขาคุยกับคุณ 2 ครั้ง เขาก็ไม่มา

“ถึงแม้ว่าบางทีเราตัดสินใจอะไรผิด เราก็ต้องบอกว่าเราก็ต้องซื้อเพราะตัดสินใจไปแล้ว แต่คราวหน้าเราก็ไม่ซื้อ เพราะฉะนั้นเนี่ยต้องมีความซื่อสัตย์ ตกลงอะไรกับใคร เราก็ต้องทำตามนั้น”

สำหรับเป้าหมายสูงสุดของ นพ.สุพจน์ ที่อยากจะเห็น นอกจากเรื่องบริการที่ดีและยั่งยืน ก็คือเปิดเป็นสถาบันให้นักเรียนแพทย์มาดูงาน มาฝึกงาน มาเรียนรู้งานภาคปฏิบัติ เพราะภาคทฤษฎีสามารถเรียนได้จากโรงเรียนแพทย์อยู่แล้ว เช่น การเปิดตำราเสริมจมูก เรียนรู้วิธีการเสริม

ซึ่งจริง ๆ  ตอนนี้โรงพยาบาลยันฮี มีนำร่อง MOU ไปกับโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้ามาดูการผ่าตัดเสริมจมูก เสริมหน้าอก ทำตา 2 ชั้น ดึงหน้า ตัดกราม ซึ่งเฟสต่อ ๆ ไปก็จะเป็นด้านผิวหนัง และอื่น ๆ

มีหลาย ๆ แนวคิดของ นพ.สุพจน์ ที่ทำให้เห็นว่า การต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทางสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และเราเชื่อมั่นจะทำให้ทิศทางธุรกิจชัดเจน เพียงแต่เราต้องรู้จังหวะรู้เวลาที่ถูกต้องของมัน

 

ภาพ : โรงพยาบาลยันฮี