สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ เติมเต็มชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC

สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ เติมเต็มชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC

สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ ผ่านการเข้าใจความสุขและเติมเต็มชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC

“เราจะดูแลให้เขามีความสุขกับการทำงานได้อย่างไร เพราะเราเชื่อว่าการทำงานที่มีความสุข มันก็จะส่งมอบคุณภาพงาน ส่งต่อให้ลูกค้าได้ดีกว่า ไม่ใช่ว่ามาทำงานแต่หน้าไม่ยิ้ม แบบนี้งานคงออกมาไม่ดีแน่นอน เราไม่อยากให้ลูกค้าเจอแบบนั้น เลยตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าคนของเรามาทำงาน เขาต้องมีความสุข เราต้องดูแลเขา” 

หนึ่งคำกล่าวที่จริงจังและจริงใจของ สุรัสวดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) ผู้ที่ส่งต่อความสุขให้ผู้คนผ่านพื้นที่ทำงานที่ให้ทั้ง ‘งาน’ และ ‘โอกาส’ ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แน่นอนว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่เปรียบเสมือนพี่ใหญ่และเป็นผู้นำทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัทฯ ที่ทำธุรกิจตอบรับความต้องการทางด้านที่อยู่อาศัยและเติมเต็มคำว่า ‘บ้าน’ ให้หลาย ๆ คนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ ‘น่าอยู่’ สุขใจ ปลอดภัย สะอาด และมีความสุข

เลยถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ เนื่องจากในวันสตรีสากลแบบนี้ ทาง The People ก็อยากจะขอพาไปพูดคุยกับ สุรัสวดี ซื่อวาจา หรือ คุณไก่ เพราะเธอคือกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัทในเครือของ LPN และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังด้าน ‘ความสะอาด’ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการจัดการที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ กับนิยาม ‘ความสะอาด’ ของเธอ คือเลือกที่จะดูแลทั้งความสะอาดของตึก และความเป็นอยู่ของกลุ่มแม่บ้าน ผู้เป็นหัวใจสำคัญของงานนี้ควบคู่กันไป จึงถือเป็นวิธีคิดที่ได้ทั้งการสร้างงานที่มีคุณภาพ และได้ช่วยให้เหล่าแม่บ้านของ LPC สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เพราะเริ่มต้นจากความใส่ใจ จนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ ‘น่าอยู่’ 

 

แต่ก่อนจะไปรู้จักกันอย่างละเอียดนั้น เราจะขอพาย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นที่ LPN ใส่ใจดูแลลูกบ้านมาตลอด จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทดูแลความสะอาดที่ชื่อ LPC

“ต้องย้อนกลับไปที่ LPN ตอนนั้นเขามองว่าเวลาเราสร้างตึกขึ้นมา เขาก็มีความรู้สึกว่าไม่อยากจะสร้างขึ้นมา แล้วปล่อยให้มันผุพังไปตามกาลเวลา แล้วยิ่งเป็นตึกที่ต้องมีคนอยู่อาศัย เราจะดูแลเขาอย่างไรได้บ้าง LPN จึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรจะต้องมีบริการหลังการขาย ก็คือการมีบริษัทบริหารอาคาร ซึ่งอาคารก็ควรต้องมีคนดูแล เพราะฉะนั้นก็ต้องมีบริษัทเข้ามาดูแล รวมถึงงานบริการหลายอย่างมาก ที่จะต้องเกิดขึ้นในตึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย คือ รปภ. การทำความสะอาด คือแม่บ้าน รวมถึงการดูแลสวน ดูแลสระว่ายน้ำ และอีกมากมาย รวม ๆ แล้วคือต้องมีการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งงานบริการทำความสะอาดเป็นงานหนึ่งที่เรามีแนวคิดว่าเราควรทำเอง เนื่องจากพบอุปสรรคและปัญหาของคนที่เข้ามาทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งในตอนนั้นงานนี้เป็นแค่แผนกหนึ่งที่อยู่ในบริษัท Lumpini  Property Management (LPP ในชื่อปัจจุบัน) ด้วยเจตนาหรือวัตถุประสงค์ของการเปิดบริการงานในด้านนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการทำกำไรเป็นหลัก จึงนำมาสู่การแยกเปิดเป็นบริษัท LPC ในปี 2554 จนถึงในปัจจุบัน”

 

สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ เติมเต็มชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC

 

เส้นทางของความใส่ใจ ที่เดินทางตามจังหวะชีวิตคนทำงาน

แต่การก้าวมาทำงานในจุดนี้ของสุรัสวดีนั้นเป็นเส้นทางที่อาศัยเวลาและความเข้าใจเพื่อที่จะเติบโตไปตามจังหวะของชีวิตคนทำงาน โดยเธอได้เริ่มต้นจากสายงานหลัก ก็คือการเป็น ‘นักบัญชี’ จนความตั้งใจของเธอส่งผลให้ได้มีโอกาสลองไปทำงานอื่น ๆ ในบริษัท บวกกับการทำงานให้กับ LPN มาตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ซึ่งทำให้เธอผ่านการทำงานที่แตกต่างจากตำแหน่งเริ่มต้นมาแล้วในหลากหลายรูปแบบที่บริษัทแห่งนี้จะมีให้เธอทำ ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งคนที่ได้รับความไว้วางใจจากทีมผู้บริหารและพนักงานในองค์กร จนวันนี้เธอได้ก้าวมาสู่การเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 

ซึ่งในฐานะกรรมการผู้จัดการ ทำให้สุรัสวดีต้องดูแลพนักงานและคนจำนวนนับพัน ซึ่งนับเป็นบทบาทที่ท้าทายตัวเธอค่อนข้างมาก เพราะจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพจริง ๆ แล้ว เธอเริ่มต้นมาจากนักบัญชีที่ต้องอยู่กับตัวเลขมากกว่าการดูแลบริหารจัดการทีมและผู้คน 

“ก่อนที่จะมาทำตรงนี้ ทำบัญชีมาก่อน เป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี ตอนนั้นลูกน้องก็มีพอควร แต่งานมันจะเป็น Specialist ไม่เหมือนงานตรงจุดนี้  มันไม่ใช่งานที่ดูแลเฉพาะด้าน มันมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของงานและเรื่องของคน”


จนเข้าใจในปัญหา และพร้อมเติมเต็มในส่วนที่ขาด

 

เมื่อได้รู้ปัญหาของคนทำงานในทีมแล้ว สุรัสวดีจึงปักหลักตั้งใจเอาไว้ว่าเป้าหมายของ LPC จะต้องไม่ใช่ดูแลความสะอาดของตึกให้ดีเพียงเท่านั้น แต่จะต้องดูแลคนทำงานซึ่งก็คือกลุ่มแม่บ้านเหล่านี้ให้ดีด้วยเช่นกัน 

“พอลงมาทำเรื่องความสะอาดแล้ว กลุ่มคนทำงานของเราคือแม่บ้าน พอเริ่มทำจริง เรารู้สึกว่าทำไมปัญหามันเยอะเหลือเกิน บางคนมาทำงาน 1 วัน หยุด 2 วัน เราก็ไปพูดคุยกับเขาเลย อยากรู้ว่าเขามีปัญหาอะไร พอได้คุยแล้วเราเลยรู้ว่าปัญหาของพวกเขาเยอะมากจริง ๆ บางคนถูกตามหนี้ ปัญหาครอบครัว เขาไม่พร้อมเลยในทุก ๆ ด้าน บางทีไม่สามารถมาทำงานได้ เพราะไม่มีค่ารถเดินทาง”

 

เริ่มจากการช่วยล้างความสะอาดจน ‘ช่วยล้างภาระ’ ของผู้คนที่ติดค้างมายาวนาน
 

จากวันที่เธอเริ่มต้นกับ LPC จนผ่านกาลเวลามา 9 ปี ถึงตอนนี้ก็มีพนักงานมากกว่า 2,500 ชีวิตที่เธอต้องดูแล แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไปคือการที่สุรัสวดียังคงยึดหลักการบริหารตามแบบฉบับความตั้งใจเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ที่เน้นดูแลทั้งงานทั้งคนให้สามารถทำงานและมีความสุขควบคู่ไปด้วยกัน ทำให้ LPC กลายเป็นพื้นที่ทำงานที่สร้างโอกาสดี ๆ และพลิกชีวิตคนทำงานมาอย่างต่อเนื่องด้วย ‘โมเดล 4 สร้าง’ ที่สุรัสวดีได้ยึดถือมาตลอด คือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้คนทำงาน

 

สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ เติมเต็มชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC

 

“ชีวิตคนคนหนึ่งมันจะดีขึ้นได้ ต้องยอมรับว่าเงินเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่เขาต้องมีก่อน แม่บ้านเราหลายคนเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ความรู้ค่อนข้างน้อย ถ้าเขามาตัวคนเดียวมันไม่ยากเท่าไร แต่พอมีลูกมีหลานที่ต้องดูแลด้วย ชีวิตมันก็ไม่ง่ายที่จะผ่านไปให้ได้ในแต่ละวัน มีพ่อแม่คนไหนบ้างที่ไม่อยากให้ลูกตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการมีชีวิตที่ดีมันก็หนีไม่พ้นเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องด้วย เราก็คิดว่าทำอย่างไรดีให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นได้บ้าง ที่ LPC เราเลยให้งานที่ให้รายได้พวกเขาได้จริง ๆ เราให้ทุกคนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 10% จริงอยู่ที่ต้นทุนเราสูงขึ้นตามมาด้วย ซึ่งเราก็ยิ่งต้องตอบแทนด้วยการควบคุมคุณภาพงานให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราก็ได้ดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงานของเราไปได้ด้วย” 

แต่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มแม่บ้านที่เป็นกำลังหลักของ LPC ไม่ได้อยู่แค่การให้ค่าแรงที่สูงขึ้นกว่าท้องตลาดเท่านั้น สุรัสวดีได้เดินหน้าใช้โมเดล ‘4 สร้าง’ เพื่อส่งเสริมให้แม่บ้านได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในหลาย ๆ มิติ 

“ภารกิจเราคือ เราจะทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งดีขึ้น นอกจากรายได้ที่สูงกว่าตลาด 10% แล้ว เราสร้างรายได้เสริมให้คนทำงานด้วย มีกิจกรรมอะไรเราก็ส่งคนของเราไปเรียน เช่น นวด เขาไปเรียนก็ได้ประกาศนียบัตรมา พอเขานวดเป็น วันไหนที่ไม่ได้ทำงานกับเรา เขาก็ไปหารายได้เสริมของเขาได้ 

“ต่อมาคือ สร้างโอกาส ตรงนี้เราจะช่วยให้คนของเราได้เรียน ไม่ต้องมีคุณสมบัติอะไรเลย ขอแค่อยากเรียน ถ้าใครอยากจะเรียนต่อ ปวช. ปวส. เราจะช่วยให้เขาได้เรียน เรามองว่าการที่เขาได้เรียน ไม่ใช่ตัวเขาได้อย่างเดียว เราก็ได้ด้วย เมื่อพนักงานมีการศึกษาที่ดีขึ้น ก็จะมีโอกาสพัฒนาในเรื่องการงานด้วย ดีต่อตัวเขา ตัวองค์กร พากันดีขึ้นทั้งหมด โอกาสทางการศึกษานี้เราไม่ได้ให้แค่พนักงานของเรา แต่เราสร้างโอกาสนี้ให้ลูก ๆ ของพวกเขาด้วย คือเราให้ทุนการศึกษาของบุตร เรียนดีหรือไม่ดีก็มีสิทธิ์ได้ทุนเหมือนกัน LPC ให้ครอบครัวละ 2 ทุน การที่สามารถส่งลูกให้เรียนจบได้ ก็ถือเป็นที่สุดแล้วของชีวิตพ่อแม่คนหนึ่ง เพราะลูกจะได้มีหน้าที่การงาน มีชีวิตที่ดี ไม่ต้องวนเวียนมาเจอปัญหาชีวิตรุมเร้าแบบที่เขาเคยเจอกันมาก่อน”

 

คุณแนน แม่บ้านที่ LPC ส่งต่อโอกาศจนสามารถเป็นหัวหน้าตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี  

“สร้างที่ 3 คือสร้างศักดิ์ศรี เสื้อของทีม พนักงานทุกคน และผู้บริหารจะใส่ยูนิฟอร์มเดียวกันหมด LPC เราไม่ได้แบ่งแยกว่าเราคือใคร เขาคือใคร ทุกคนคือพนักงานคนหนึ่งที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ นอกจากนั้น เรายังส่งเสริมให้คนของเราก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้ เราจะมีกิจกรรมจิตอาสาทำความสะอาดรอบ ๆ โครงการ และพื้นที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ สะพานลอย เมื่อเขาได้รับแล้วก็ต้องให้คืนแก่สังคมด้วย”

“สุดท้ายคือเรื่องของการสร้างสวัสดิการที่ดี LPC ไม่สนับสนุนการกู้เงินไปใช้ผิดวิธี หรือกู้นอกระบบ เราเลยมีสวัสดิการเงินกู้ให้ทุกคน ปลอดดอกเบี้ย มากู้ได้เลย และเราสนับสนุนให้ทุกคนออมเงิน ถ้าเหลือก็อยากให้เก็บ แล้วเราจะสมทบดอกเบี้ยให้ เหมือนเป็นกองทุนสำรองของเขา หรือเรื่องในชีวิตประจำวัน เราก็ดูแลกัน ที่นี่เรามีข้าวสารให้ฟรี เพราะบางคนเขาไม่มีเงินซื้อข้าวจริง ๆ เราก็มีให้ หุงกันได้เลย อย่างน้อย ๆ เขาเข้ามาทำงานที่นี่ ถึงจะขัดสนไม่มีเงิน แต่เขาจะมีข้าวกินแน่นอน”

 

ส่วนหนึ่งในแม่บ้านที่มาเล่าประสบการณ์ในการร่วมงานกับ LPC

 

เปลี่ยน ‘ชีวิต’ ของคนทำงานด้วยหลักการที่ทำได้จริง

 

โมเดล 4 สร้างของ LPC ทำให้ที่นี่ดูแลคุณภาพ ‘งาน’ และดูแลชีวิต ‘คน’ ได้จริง เปลี่ยนชีวิตกลุ่มแม่บ้านมาหลายต่อหลายคน ให้ได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการเข้ามาทำงานตรงนี้

“ที่นี่มีทุนของบุตร ตรงนี้พี่ชอบมากที่สุดและต้องการมากที่สุด เราตั้งใจว่าลูกเราต้องได้เรียนหนังสือให้ได้ มันคือความฝันของเราเลย บริษัทเขาส่งลูกเราเรียนตั้งแต่มัธยมจนถึงปริญญาตรีเลย ตอนนี้ลูกคนโตจบแล้ว คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เขาได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วยนะ ส่วนคนเล็กกำลังขึ้น ม.3 แล้ว ชีวิตเราตอนนี้ไม่มีหนี้ ลูกก็เรียนจบ เราภูมิใจตรงนี้ เลี้ยงมาคนเดียว แต่เราให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับลูกได้ตั้งแต่ก้าวเข้ามาอยู่ที่นี่”

คุณปัต หนึ่งในแม่บ้านของ LPC เล่าให้เราฟังด้วยแววตาที่ภูมิใจสุด ๆ เหมือนกับป้าจันทร์ที่ชีวิตได้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบในที่สุด

 
 คุณปัต หนึ่งในแม่บ้านของ LPC

 

“น้องชายถูกรถชน เรากู้มาหลักหมื่น แต่จ่ายดอกไปหลักแสน ลูกก็ยังต้องเรียน คิดหนักมาก ตัดสินใจคุยกับหัวหน้า เขาช่วยเราจัดการ คุยกับเจ้าหน้าที่ทำหนังสือสัญญา ปิดหนี้ให้เราทั้งหมด แล้วให้เราไปผ่อนคืนกับเขาแทน ไม่คิดดอกเบี้ยเลย ป้าผ่อนเขาจนหมด ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ป้าไม่เคยต้องไปเป็นหนี้ใครอีกเลย เราอยากทำงานที่นี่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเรารัก ที่นี่เท่ากับชีวิตเราเลยนะ เขาให้ชีวิตใหม่เรา ป้าจะทำงานจนถึงนาทีที่ป้าบอกว่าป้าไม่ไหวแล้วจริง ๆ ถึงจะยอมไป ป้ารักบริษัทนี้มาก เหมือนพ่อแม่ของเราเลย”

 

ป้าจันทร์ หนึ่งในแม่บ้านของ LPC

 

เชื่อว่าทุกปัญหาย่อมต้องมีทางออก เพราะพนักงานทุกคนคือครอบครัว LPC


และในปี 2019 ทั่วโลกต้องพบเจอกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะงานในรูปแบบของ LPC ก็ต้องถูกยกเลิกคิวงานทำความสะอาดไปมากมาย จนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ทำงานด้านนี้เลย แต่ด้วยความตั้งใจตั้งแต่ต้นของการก่อตั้ง บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นมา ที่ตั้งใจดูแลพนักงานให้พร้อมทำงานอย่างมีความสุขไร้ข้อกังวลในปัญหาชีวิตที่เคยมีมา ตอนนั้นสุรัสวดีจึงมีแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจปลีกย่อยขึ้น ภายใต้แบรนด์ LPC นั่นก็คือการเปิดร้านกาแฟ S.H.E Cafe by LPC ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและทำให้พนักงานของบริษัทยังพอที่จะสามารถมีรายได้เข้ามาช่วยเหลือได้อีกทาง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถชวนครอบครัวของตัวเองเข้ามาสมัคร และช่วยกันทำงานที่ร้านกาแฟแห่งนี้ได้อีกด้วย และหลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มลดลง LPC ก็กลับมาเดินหน้าต่อโดยที่สามารถช่วยเหลือพนักงานของบริษัทให้พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกันต่อเพราะการฝ่าวิกฤตในครั้งนั้น พนักงานทุกคนก็มีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่าที่นี่ก็เป็นเหมือน ‘บ้าน’ อีกหลัง และพวกเขากับที่นี่ก็เป็น ‘ครอบครัว’ เดียวกัน


เดินหน้าอย่างเชื่อมั่น และพร้อมส่งต่อโอกาสอย่างต่อเนื่อง

ณ ตอนนี้ สุรัสวดียังคงเชื่อมั่นในภารกิจที่สร้างทั้งงานและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้รับแรงสนับสนุนมาจากผู้บริหารใหญ่แห่ง LPN 

“ผู้บริหารของที่นี่ทำให้เราเชื่อมั่นและศรัทธา ทำให้เราภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงจุดนี้ ซึ่งยิ่งทำยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงานและสังคม พอเรารู้ว่ามันดี เราพร้อมจะลุย ต่อจากนี้ LPC ยังเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มคนสูงอายุที่เกษียณแล้ว เขาเกษียณแล้วแต่ยังต้องการรายได้อยู่ ภาระมันยังมี ตอนนี้ที่ LPC ทำอยู่ก็คือ เรายังให้โอกาสเขาได้ทำงานต่อ นอกจากนี้ก็มีเรื่องกลุ่มแรงงานสตรีและสิ่งแวดล้อมที่ LPC จะเดินหน้าทำต่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราอยากเห็นหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ริเริ่มทำเรื่องพวกนี้เหมือนกัน เพราะจะช่วยสร้าง Impact ได้เยอะและเร็วมาก”

จากวันที่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงวันนี้ LPC ได้สร้างโอกาสมากมายให้คนทำงาน เป็นพื้นที่แห่งการทำงานที่สร้างงานและสร้างคนอย่างแท้จริง มอบโอกาสให้คนนับร้อยนับพันที่ก้าวเข้ามาอยู่ภายในบ้าน LPC แห่งนี้ ได้มีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่และได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีสักที

 

สร้างทุกพื้นที่ให้ ‘น่าอยู่’ เติมเต็มชีวิตพนักงานให้ดีขึ้น กับเธอ ‘สุรัสวดี ซื่อวาจา’ จาก LPC