‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

เรื่องราวของ ‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ มือสเกตช์ภาพคนร้าย - เด็กหายมือหนึ่ง ภารกิจไม่มีวันหมด แม้หมดอายุราชการ

เมื่อครอบครัวเด็กหายไม่เคยยอมแพ้ อดีตมือสเกตช์ภาพแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงหยุดทำงานไม่ได้เช่นกัน แม้ในวันที่หมดอายุราชการไปแล้ว 

จากหนุ่มที่กำลังไปได้ดีในสายอาชีพโฆษณา ‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ เลือกกระโจนเข้าสู่เส้นทางสีกากี ด้วยหวังจะใช้ ‘ศิลปะ’ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน 

ตลอดระยะเวลา 27 ปี ชายผู้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ผกก.ป้อม’ ใช้ทั้งฝีมือในการวาดภาพ และหลักจิตวิทยาในการพูดคุย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตามหาเด็กจำนวนมากที่พลัดพรากจากอ้อมอกครอบครัว และร่วมไล่ล่าคนร้ายที่สร้างความสูญเสียในสังคม  

แม้วันนี้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่เขายังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนต่อไป โดยไม่ได้ยึดติดว่าการช่วยเหลือต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจเท่านั้น และไม่ได้ยึดติดอะไรเลยกับคำว่า “มือหนึ่ง”

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ ‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ ตั้งแต่วันที่รู้ตัวว่าหลงรักในวิชา ‘ศิลปะ’ และเส้นทางการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
 

The People: มาเป็นนักสเกตช์ภาพเพราะว่าตอนเด็ก ๆ ชอบวาดภาพหรือเปล่าคะ 

ผกก.ป้อม: ตอนเด็ก ๆ ชอบวาดภาพครับ ชอบวิชาศิลปะ เพราะว่าวิชาศิลปะเป็นวิชาที่คิดแล้วว่ามันมันง่ายที่สุดช่วงเวลานั้น ถ้าเป็นวิชาอื่นเราก็จะมีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ เลยกลายเป็นชอบศิลปะ แล้วตอนเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ทางอาจารย์อาจจะเห็นฝีมือ เลยส่งประกวดในงานประจำจังหวัดเพชรบุรี ก็ได้รับรางวัลที่ 1 หลังจากนั้นจึงมีความอินเข้าไปในโลกของศิลปะมากขึ้น จนจบมัธยม ต้องเลือกระหว่างช่างกลกับศิลปะ 

ทีนี้เรามองในเรื่องของจบไปแล้วจะทำงานอะไร ช่างกลจบไปมีงานแน่นอน อันนี้คิดแบบพื้นฐานเด็ก ๆ แต่จบศิลปะจะไปทำอะไรยังไม่รู้เลย ถามใครก็ไม่มีใครที่จะตอบให้เราได้ในสมัยนั้น แต่ด้วยความที่มันคือสิ่งที่เราคิดว่าชอบ แล้วมันมีสถาบันไทยวิจิตรศิลป์ในสมัยนั้น ซึ่งอาจจะเชื่อมต่อไปสอบต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง ก็เลยตัดสินใจ เรียนไทยวิจิตร จนจบปวช. มา ก็ไปต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง สอบได้คณะจิตรกรรมสากล ซึ่งเป็นคณะที่คนเลือกเยอะ ก็ยังคิดว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ก็โชคดีที่ได้เข้าไปเรียนในคณะจิตรกรรมสากล 
 

The People: แล้วจากคนที่เรียนด้านศิลปะ มาเป็นตำรวจได้อย่างไรคะ

ผกก.ป้อม: จริง ๆ ผมอาจจะเป็นคนที่แปลก ทำอะไรทำได้ทำหมด เป็นทั้ง Artist , Visualizer เป็น Art Director หรือจะอยู่โรงพิมพ์เล็ก ๆ ก็เคยอยู่ เราอยากลองสัมผัสไงครับ ไม่ใช่ออฟฟิศหรูเหมือนบริษัทโฆษณา เป็นตึกแถวบ้างอะไรบ้าง เราทดลองไปสัมผัสดูเพื่อที่ให้รู้ว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง แล้วก็ก้าวไปเรื่อย ๆ จนไปถึงบริษัทโฆษณา จนถึงจุดหนึ่งมันอาจจะอิ่มตัว ประกอบกับเริ่มคิดเรื่องความมั่นคงในการทำงาน 

จนวันหนึ่งไปเห็นงานที่เกี่ยวข้องกับการสเกตช์ภาพคนร้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราก็มองว่าเราน่าจะลองเข้าไปอยู่ในส่วนนี้ แต่ก่อนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าองค์กรของราชการเขาทำอะไร เข้าไปแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง เราไม่ได้คิด ไม่รู้เลยไม่เคยมีความรู้พื้นฐานเลย แต่ก็ลองที่จะมาสอบ 

จากการสอบเข้ามาในชั้นสัญญาบัตร เนื่องจากเราไม่ได้จบนักเรียนนายร้อยมา จึงต้องมีช่วงเวลาการฝึกประมาณ 3 - 4 เดือน ซึ่งหนักหนาเหมือนกันสำหรับคนที่เคยอยู่ในบริษัทโฆษณา มีผมที่ไม่สั้นไม่ยาว พอมาถึงก็ต้องตัดให้สั้นเรียบร้อย แล้วก็ไปฝึกในสถานที่ฝึกของโรงเรียนของตำรวจ เวลาทุกวินาทีอยู่ในการควบคุมของครูฝึก ซึ่งเราไม่เคย ไม่ชิน เข้าไปวันแรกก็อยากจะกลับไปบริษัทโฆษณาเหมือนกัน เพราะเวลาจะกินข้าวก็จะมีพิธีการ เพื่อฝึกให้เรามีความอดทน มีการลงโทษเวลาทำผิด ทุกอย่างมาเข้าใจตอนจบ คือเป็นการฝึกให้เรามีจิตใจอดทน และมีระเบียบวินัย ใช้เวลา 4 เดือนแต่เหมือน 4 ปี มันนานมาก

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

The People: หลังจากเข้าไปเป็นตำรวจแล้ว บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร 

ผกก.ป้อม: ช่วงที่เข้าไป คือช่วงที่ทางทีมกำลังพัฒนาพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ จากที่เคยสเกตช์ภาพด้วยการ Drawing ใช้ดินสอสเกตช์บนกระดาษ ก็มีปรับเปลี่ยนมาใช้แผ่นใสบ้าง ใช้เครื่องฉายสไลด์บ้าง หลัง ๆ ก็จะเป็นแนวคอมพิวเตอร์ ตอนที่เราเข้าไปก็อยู่ในช่วงที่สร้างชิ้นส่วนสร้างโปรแกรม ก็มีโอกาสได้เข้าไปทำตรงนี้นะครับ

เมื่อก่อนอยู่บริษัทโฆษณาก็ไม่รู้จักเครื่อง Macintosh ก็จะงง ๆ หน่อยว่า เอ๊ะ มันเครื่องอะไร มันทำได้ทุกอย่างเลยเหรอ แต่พอมาอยู่สำนักงานตำรวจก็ต้องมาเจอกับเครื่อง Macintosh อีกรอบหนึ่ง ต้องมาใช้เมาส์ในการสเกตช์ 

แรก ๆ มันไม่ชินเลยนะครับ เพราะว่าเมาส์กับปากกา วิธีจับก็คนละอย่างกัน การใช้ประสาทสัมผัสก็คนละอย่างกัน เราต้องจับเม้าส์เขียนบนแผ่นรอง แต่ตาเราต้องมองหน้าจอ มุมต่าง ๆ อะไรต่างๆเนี่ย มันก็จะฝืนไปหมด เพราะปกติเราตั้งกระดานสเกตช์ เราลากเส้นตรงก็ตรง เส้นฉากก็ฉาก แต่พอเป็นเม้าส์ไม่ใช่แล้ว เราต้องใช้สมองกะทิศทางว่า อ๋อ ตรงนี้มันลากขึ้น ตรงนี้มันจะฉากนะ คือมันไม่ชิน ใช้เวลาหลายเดือนที่กว่าจะชิน 

The People: พอทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีคล่องแล้ว ถึงจุดไหนที่คนเรียกเราว่า นักสเกตช์ภาพมือหนึ่งของประเทศคะ

ผกก.ป้อม: หนึ่งของประเทศ จริง ๆ ส่วนตัวเราก็ไม่อยากใช้คำนี้นะ การทำงานมันต้องเป็นทีมเวิร์คอยู่แล้ว แต่อาจเป็นเพราะเราจบด้านนี้ แล้วเราอาจจะทำงานมาหลากหลาย แล้วก็ด้วยนิสัยเองที่ชอบทำอะไรหลายอย่าง ทั้งงานสเกตช์ภาพคนร้าย และในส่วนของการสเกตช์ภาพเด็กหายที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดก็เพื่อสนับสนุนเป้าหมายจริง ๆ ก็คือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ก็คือเรื่องของการทำเพื่อสังคม เพื่อสังคมเพื่อประชาชนนะครับ สิ่งเหล่านี้มันจะไปสนับสนุนฝ่ายสืบสวนให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นครับ

The People: คดีไหนที่ทำให้คนรู้จักมากที่สุด

ผกก.ป้อม: มันก็อาจจะเกิดเป็นภาพที่คนเขามองเข้ามาเห็นการทำงาน บวกกับคดีสำคัญ ๆ ที่พอเราสเกตช์ไปแล้ว มันมีการจับกุมได้ แล้วภาพออกมามีความคล้าย  หลาย ๆ ครั้งคนก็เริ่มรู้จัก อย่างคดีก่อนหน้านี้ก็จะมีแต่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่พอมันมีคดีระเบิดที่แยกราชประสงค์ ที่เป็นภาพสเกตช์มีลักษณะคล้ายของผู้ต้องสงสัย ตรงนี้ก็ทำให้ประชาชนที่ติดตาม รวมถึงนักข่าวที่เขาให้คำนี้ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง แต่จริง ๆ มีหลายคนนะครับ ก็มีผู้ใต้บังคับบัญชาหรือว่าเพื่อนร่วมงานที่ทำงานร่วมกันตลอด แต่เราก็จะลงไปทำงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยนะครับ

The People: ทำไม ผกก.ป้อม ถึงได้ไปสเกตช์ภาพผู้ต้องสงสัยในคดีนี้คะ

ผกก.ป้อม: เผอิญว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค่อนข้างรุนแรง แล้วก็เป็นคดีที่ไม่ค่อยได้เกิดบ่อย ๆในประเทศไทย แล้วก็ความคาดหวังของผู้บังคับบัญชาคือต้องต้องจับกุมตัวให้ได้ แต่ในความเป็นจริงในคดีพวกนี้ยากนะครับ ในต่างประเทศบางทีก็จับไม่ได้ เพราะผู้ที่ก่อเหตุเนี่ยมีการวางแผนเป็นอย่างดี มีความชำนาญมีความเชี่ยวชาญ หรือแม้กระทั่งพลีชีพก็มี 

The People: ความรู้สึกหลังจับกุมคนร้ายได้ เป็นยังไงบ้างคะ

ผกก.ป้อม: พอเราเข้ามาเป็นตำรวจ ความรู้สึกเหล่านี้มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราคิดที่จะทำงานเพื่อประชาชนต่อไป เพราะว่าทุกคดีคือความเดือดร้อนของประชาชนนะครับ คดีนี้เป็นคดีที่ผู้บาดเจ็ ผู้เสียชีวิตไม่ใช่คนเดียวนะ แต่เป็นหลายคน เป็นกลุ่ม เราก็เลยรู้สึกว่าอันนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากที่จะทำงานเต็มที่เลย แม้ว่าจะเป็นงานปิดทองหลังพระก็ตาม เพราะการสเกตช์ภาพเป็นหนึ่งในวิธีที่นำไปสู่การหาตัวผู้ต้องสงสัย 

The People: นอกจากความแม่นยำในการสเกตช์ภาพ การทำงานร่วมกับพยานก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนนี้ถือว่ายากไหมคะ

ผกก.ป้อม: ถ้าเราเจาะในเรื่องของการสเกตช์ภาพคนร้าย ถือว่าากนะครับ คือคดีที่เราจะสเกตซ์ภาพเนี่ย เราต้องซักถามพยานก่อน ในการซักถามพยานเป็นความสำคัญที่สุดนะครับ เราต้องใช้จิตวิทยาในการซักถามร่วมด้วย อย่างบางคนอาจจะเห็น แต่อาจจะบอกว่าไม่เห็น ไม่อยากมีส่วนร่วม ไม่อยากที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่บางคนไม่เห็น แต่อยากจะโชว์ก็มี อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ข้อเท็จจริงก่อนว่าพยานเห็นจริงหรือไม่จริง เราต้องช่วยพนักงานสอบสวนด้วย แม้ว่าเขาจะสกรีนมาแล้วรอบหนึ่ง แต่เราเองเราก็ต้องสกรีนอีกรอบหนึ่ง ไม่ใช่พอมาถึงเราก็ถามเขา พยานบอกไปตามเรื่อง ภาพออกมาบอกเหมือน โอเคจบแ ค่นั้นไม่ใช่นะครับ เราต้องรู้ให้ลึกมากกว่านั้น ต้องเค้นออกมาให้ได้ ทีนี้วิธีการเค้น ไม่ใช่ว่าจะใช้คำขู่ไม่ใช่นะครับ เราก็ต้องพูดกับเขาดี ๆ ใช้จิตวิทยา อย่างเช่นบางคนอาจจะไม่ชอบตำรวจเลยก็ได้ แอนตี้ตำรวจ อยู่ ๆ ต้องมาเป็นพยาน เจอตำรวจก็แทบไม่อยากมองหน้า ไม่อยากให้ข้อมูล เราก็ต้องคุยกับเขาให้เข้าใจ มีหลายคนที่ไม่ค่อยอยากให้ข้อมูล แต่พอคุยกันเหมือนเพื่อน ไม่สร้างกำแพงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับประชาชน ถามเขาว่าเรียนที่ไหน อ้าวเรียนที่เดียวกันอีก ก็กลายเป็นเรื่องที่สานต่อไปได้ 

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

The People: นอกจากการพูดคุยกับพยาน มีส่วนไหนที่ยากกว่านี้อีกไหมคะ

ผกก.ป้อม: ปัญหาที่เราพบเจอคือพยานจำไม่ค่อยได้ครับ คือการจำมันมีแบบจำแค่สามารถชี้ตัวได้ แต่ถ้าจะให้บอกรายละเอียด บอกไม่ได้ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะสมองคนเราจะจำลักษณะใบหน้าคนแบบภาพรวม ไม่ได้สังเกตอะไรมากไม่ได้ลงรายละเอียดถึงขั้นว่าตาชั้นเดียวหรือสองชั้น จมูกใหญ่ขนาดไหน คิ้วหนาหรือบาง ผมเป็นอย่างไร 

อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ แล้วเราก็ทำโครงการเชิงรุก ด้วยการออกไปหาประชาชนหรือว่าเยาวชน เพื่อให้เขารู้จักรับรู้สถานการณ์รอบตัวเพื่อสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ ต่อมาคือให้สังเกตเพื่อที่จะสามารถให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งปัจจุบันคนก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้วนะครับ เวลามีเหตุขึ้นมาก็จะสามารถให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นะ 

The People: การทำงานนานเกือบ 30 ปี ส่วนไหนคือส่วนที่มีความสุขที่สุดคะ

ผกก.ป้อม: ส่วนที่มีความสุขที่สุดเนี่ย มันคือการที่เราได้ทำอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่นการได้พบปะผู้คนหลากหลาย พบทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่เป็นผู้เสียหาย คนที่เป็นคนร้ายหลากหลายมาก เจอผู้คนเยอะมาก หลายระดับชั้น ระยะเวลาที่อยู่มาทำให้เรารู้จักคนเยอะ แล้วก็เป็นเพื่อนกันก็เยอะนะ จากคนที่เป็นพยานหรือผู้เสียหายอะไรต่าง ๆ เหล่านี้กลายมาเป็น Connection ดี ๆ ก็เยอะ 

เหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า เวลาที่คนเรามีปัญหา เขาได้รับความเดือดร้อนนะครับ ตรงจุดนี้ทำให้เรามีอุดมการณ์ในเรื่องการทำงาน คือการทำงานของตำรวจ เป้าหมายคือทำเพื่อประชาชนนะ บทสรุปก็คือตำรวจดูแลทุกข์สุขของประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าไปทำอะไรได้ เราก็จะเลือกทำหมด อย่างที่พูดไปตอนนี้ก็คือตั้งแต่สเกตช์ภาพคนร้าย สเกตช์ภาพเด็กหาย สเกตช์ภาพจากศพโครงการเตือนภัย อันนี้ก็คือเพื่อสังคมทั้งนั้น มันเป็นงานป้องกันอาชญากรรมทั้งนั้นเลย

แล้วเวลาเราเจอผู้เสียหายที่เป็นครอบครัวเด็กหาย โห เป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกมากนะครับ ครอบครัวของเด็กหายหลาย ๆ คน ไม่ใช่แค่ทำงานแล้วจะไม่เจอกันอีก ครอบครัวของน้องจีจี้ เราก็ติดต่อกันมาเป็น 10 ปี แล้ว เราก็ยังมีการโทรคุยบ้าง มีกิจกรรมอะไรก็ร่วม เรารู้เลยว่าครอบครัวของเด็กหาย ถึงแม้ลูกเขาจะหายไปเป็นระยะเวลา 5 ปี 10 ปี แต่พอเจอเขาทีไรก็น้ำตาไหลทุกครั้งนะครับ ก็ยังรอคอย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำเนี่ย เรามองไปถึงจุดนั้นไง มองถึงความเดือดร้อน ก็พยายามจะคิดอะไรที่มันทำแล้วตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงานให้มันมีการทำงานเพื่อสังคมมากที่สุด

The People: ช่วยเล่าถึงชีวิตในช่วงหลังจากออกจากชีวิตข้าราชการตำรวจหน่อยค่ะ

ผกก.ป้อม: เรารับราชการตำรวจมาเป็นเวลา 27 ถึงวันที่เราเกษียณ สิ่งหนึ่งที่เรายังต้องทำต่อก็คือบทบาทของอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ซึ่งผมเองก็สอนมา 20 ปีแล้วนะครับ ในหลักสูตรเกี่ยวกับคดีอาญา นอกจากนี้ก็ยังเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ และช่วงปีหลัง ๆ ก่อนที่เราจะเกษียณ เราทำงานเชิงรุกเพิ่มขึ้น จนสุดท้ายได้ไปทำวิจัยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมกับ NECTEC เป็นโปรแกรมจับชิ้นส่วนใบหน้า เพื่อให้ประชาชนเลือกประกอบบนมือถือ

อย่างเช่นประชาชนคนหนึ่งที่ไม่มีพื้นฐานทักษะอะไรเลย เกิดไปนั่งอยู่ร้านกาแฟแล้วมีคนร้ายก่อเหตุ เขาก็จะสามารถเอาโปรแกรมนี้ไปใช้บันทึกลักษณะตำหนิรูปพรรณใบหน้าคนร้ายคร่าว ๆ ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ขยายผลต่อ 

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

The People: เห็นว่ายังเดินหน้าทำเรื่องเด็กหายต่อด้วยใช่ไหมคะ

ผกก.ป้อม: ทุกวันนี้เราก็ทำเป็น Production House ผลิตรายการทีวี และทำช่อง YouTube ด้วยวัตถุประสงค์คือเราต้องการทำงานต่อครับ ประชาชนมีความเดือดร้อนหรือว่ามีเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเรื่องเด็กหาย เรื่องของอาชญากรรม เรื่องของการป้องกันอาชญากรรม เราก็จะให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือในอีกช่องทางหนึ่งนะครับ อันนี้คือสิ่งที่เราจะทำต่อไป

นอกจากนี้ ก็มีคุยกับมูลนิธิกระจกเงา คือถ้ามีเคสที่เราสามารถที่จะช่วยเหลือได้ ในเรื่องของคนหายหรือเด็กหาย เราก็จะทำเต็มที่นะครับ 

โดยเป้าหมายคือเราไม่ได้ทำแล้วออกมาเหมือน 100% หรือว่าคล้ายมาก แต่เราต้องทำเพื่อให้กระบวนการติดตามมันเดินหน้า มันอาจจะเป็นช่องทางสุดท้ายแล้วนะครับ เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดตามให้มากขึ้น

The People: เหมือนเป็นความหวังของผู้ปกครองด้วยใช่ไหมคะ

ผกก.ป้อม: ใช่ครับ เพราะว่าเวลาสเกตช์ภาพครั้งหนึ่งเนี่ย อย่างน้อยสื่อก็จะช่วยกันประชาสัมพันธ์ บางทีหายที่กรุงเทพฯ คนเชียงใหม่ไม่รู้หรอก แต่พอมันมีการสเกตช์ภาพขึ้นมา เผยแพร่ขึ้นมา คนเชียงใหม่ก็จะรับรู้ คนใต้ก็จะรับรู้ อีสานรับรู้ รับรู้ทั่วประเทศเลย เขาเรียกพลังของการประชาสัมพันธ์ที่จะทำให้มีการช่วยเหลือได้มากยิ่งขึ้นครับ

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

The People: มีเคสไหนที่ตามเจอ แล้ว ผกก.ป้อม ได้เจอตัวน้อง ไหมคะ

ผกก.ป้อม: ยังไม่มีเลยนะครับ จริงๆ เรื่องของเด็กหาย ถามว่าเราไม่ทำอะไรเลยได้ไหม มันไม่ได้ ตราบใดที่เรายังไม่เจอหลักฐานที่บอกว่าเด็กคนนี้เสียชีวิต เราก็ต้องดำเนินการ ต้องทำต่อ เหมือนน้องจีจี้ เราสเกตช์ภาพมาตั้งแต่ปี 2563 ผมยังนำภาพไปแสดงที่งานศิลปะด้วย โดยทำขึ้นมาใหม่ด้วยการเพิ่มอายุ เป็นการเอางานศิลปะมารวมกับกระบวนการยุติธรรม จัดแสดงสำหรับคนที่มาดูงานหรือว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องนี้

นอกจากนี้ก็ยังมีพอกเก็ตบุ๊ค เป็นเรื่องราวของประวัติส่วนตัวและการทำงาน เป้าหมายคืออยากให้ให้เด็ก เยาวชน หรือคนที่เรียนศิลปะ ได้รู้ว่าในวิถีชีวิตของการทำงาน เราสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ รวมถึงการแต่งเพลงให้กำลังใจกับหน่วยงานของกรมควบคุมโรค 

The People: ขอย้อนไปเรื่องเด็กหายอีกนิดหนึ่งค่ะ ผกก.ป้อม เคยมีความขัดแย้งในใจในระหว่างที่เราสเกตช์ภาพหรือไม่ว่า เขาไม่น่าอยู่บนโลกนี้แล้ว

ผกก.ป้อม: ตอนที่ทำเราทำงานสเกตช์ภาพเด็กหาย เราต้องเจอกับผู้ปกครองนะครับ  มันทำให้เราไม่คิดเลยว่าเด็กเสียชีวิต ไม่กล้าคิด คืออยากจะคิดว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ อาจจะมีแอบคิดไปบ้างว่าเขาจะอยู่ไหมหรืออะไรต่างๆ แต่ด้วยความมุ่งมั่น เรายังยังเชื่อว่าเด็กทุกคนยังมีชีวิตอยู่นะครับ

The People: เคยคิดไหมคะว่า จากเด็กที่ชอบวาดรูป วันหนึ่งจะได้ช่วยสังคมมากขนาดนี้

ผกก.ป้อม: ไม่เคยคิดนะครับ ไม่เคยคิดเลย ตอนเรียนศิลปะก็ยังไม่รู้ว่าจบไปจะทำอะไร จบมาใหม่ ๆ ก็ไปอยู่บริษัทโฆษณาเลย ทิ้งการเขียนรูปไป 20 ปีนะครับก็ จนกลับมาอีกครั้งหนึ่งก็มาเขียน Portrait แล้วก็เข้ามาสู่ในองค์กรตำรวจครับ

‘ชัยวัฒน์ บูรณะ’ นักสเกตช์ภาพมือหนึ่ง ไล่ล่าคนร้าย - ตามหาเด็กหาย

The People: ทุกวันนี้ยังวาดรูปอยู่ไหมคะ

ผกก.ป้อม:  ปัจจุบันนี้ก็ยังทำงานศิลปะอยู่นะครับ เขียนสีน้ำมันบ้าง สีน้ำบ้าง สีอะคริลิคบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพ Portrait ที่เขียนจากดิจิตอลครับ หลายภาพที่เราเขียนไปก็มีการจัดแสดงนิทรรศการ แล้วก็มีคนที่ซื้อภาพก็เยอะนะครับ มีการประมูลด้วย  รายได้ก็ช่วยการกุศล 

The People: พอไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว ความเครียดลดน้อยลงไหมคะ

ผกก.ป้อม: ไม่เครียดนะครับ ระยะหลังของการทำงานจะไม่มีความเครียดเลยนะครับ เพราะมองว่าสิ่งที่เราทำมันทำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม พอคิดอย่างนั้นแล้ว ต่อให้เหนื่อยมันก็จะมีความสุขครับ เพราะคนที่ได้รับ คนที่รอผลของการทำงานคือประชาชน ตรงนี้ก็ทำให้เรามีความสุขนะครับ

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม