‘โผน กิ่งเพชร’ ตำนานนักชกผู้ยิ่งใหญ่ ‘ตัวแทน’ แห่งความเป็นชาติไทย

‘โผน กิ่งเพชร’ ตำนานนักชกผู้ยิ่งใหญ่ ‘ตัวแทน’ แห่งความเป็นชาติไทย

‘โผน กิ่งเพชร’ นักมวยคนไทยคนแรกที่ครองแชมป์โลก 3 สถาบันหลัก และ ‘ตัวแทน’ แห่งความเป็นชาติไทย

KEY

POINTS

  • ครั้งหนึ่ง ‘โผน กิ่งเพชร’ ได้เคยกล่าวต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่า วันหนึ่งเขาจะเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยให้ได้ 
  • การก้าวขึ้นมาชิงแชมป์โลกของโผน กิ่งเพชร ได้สร้างกระแสความหวังให้แก่พี่น้องชาวไทยเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีการแต่งเพลงเพื่อ ‘เชียร์โผน’ เป็นการเฉพาะ
  • ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง โผน กิ่งเพชร คือ ‘ร่างทรง’ หรือ ‘องค์ประทับ’ ของความเป็นชาติไทย และยังช่วยกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกรักชาติของประชาชนผ่านการชิงแชมป์โลกในคืนวันที่ 16 เมษายน 2567

หากกล่าวถึงวงการมวยสากลอาชีพของไทย เชื่อเหลือเกินว่าชื่อของ ‘โผน กิ่งเพชร’ ต้องผุดขึ้นมาอยู่ในหัวของแฟนมวยพี่น้องชาวไทยอย่างแน่นอน เพราะโผน กิ่งเพชร เป็นนักมวยสากลระดับแชมป์โลกชาวไทยคนแรก ที่สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งยังเป็นนักมวยคนไทยคนแรกที่ครองแชมป์โลก 3 สถาบันหลักอย่าง เดอะริง (The Ring), สภามวยโลก (WBC), สมาคมมวยโลก (WBA) 

ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีเพียงโผน กิ่งเพชร และนักมวยรุ่นน้องอย่าง ‘ชาติชาย เชี่ยวน้อย’ เท่านั้นที่ทำได้

แม้ปัจจุบัน จะถือเป็นยุคซบเซาและตกต่ำของมวยสากลอาชีพของไทย เนื่องจากเหลือนักมวยเพียงคนเดียวที่ยังเป็นแชมป์โลกสถาบันหลักคือ ‘น็อคเอาท์ ซีพีเฟรชมาร์ท’ (รุ่นมินิมัมเวท สมาคมมวยโลก) แต่หากมองย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2503 หรือราว 60 กว่าปีก่อน การที่ประเทศไทยมีนักมวยสากลแชมป์โลกคนแรกอย่าง โผน กิ่งเพชร ถือเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในคืนวันชิงแชมป์โลก 16 เมษายน 2503 ที่คนไทยทุกระดับชนชั้นนับตั้งแต่ลูกจ้างแรงงานไปจนถึงองค์พระมหากษัตริย์ ได้รวมใจกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อ ‘เชียร์โผน’ ในฐานะตัวแทนแห่งความเป็นชาติไทย

ลูกผู้ชายชื่อ โผน กิ่งเพชร

‘โผน กิ่งเพชร’ มีชื่อจริงว่า ‘มานะ สีดอกบวบ’ มีชื่อเล่นว่า ‘แกละ’ เป็นชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ในวัยเด็กโผนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงนัก แต่ก็เป็นคนชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยสากล ซึ่งก็มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งโผนได้เคยกล่าวต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่า วันหนึ่งเขาจะเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยให้ได้ 

‘มวยสากล’ หรือในอดีตเรียกว่า ‘มวยฝรั่ง’ เข้ามาเผยแพร่ในไทยราว พ.ศ. 2455 โดย หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล เป็นผู้นำมาสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ โดยในยุคก่อนหน้าโผน กิ่งเพชร ก็มีนักมวยสากลของไทยที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ผล พระประแดง’ ที่มีชื่อเสียงในช่วงราว พ.ศ. 2487 - 2493 ซึ่งผล พระประแดง เคยถูกจัดเข้าอันดับมวยโลกเป็นคนแรกของไทยในรุ่นแบนตั้มเวทของสถาบันหลักอย่าง ‘เดอะริง’ และก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งเป็นรองแชมป์โลกของรุ่น 

ขณะที่ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ก็มีนักมวยอย่าง ‘จำเริญ ทรงกิตรัตน์’ ที่ได้รับการสนับสนุนดูแลจาก พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ก้าวขึ้นชิงแชมป์โลกสถาบันหลัก NBA (WBA ปัจจุบัน) ถึง 3 ครั้ง (พ.ศ. 2497 - 2498) ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ

ในช่วงปี พ.ศ. 2497 ขณะที่จำเริญกำลังก้าวขึ้นมาชิงแชมป์โลก ก็เป็นช่วงเวลาที่ ‘สง่า สีดอกบวบ’ พี่ชายคนโตของโผน ได้นำโผนมาฝากไว้กับ นายห้างทองทศ อินทรทัต เจ้าของบริษัทเทวกรรม โอสถ และเป็นเจ้าของค่าย ‘กิ่งเพชร’ อันเป็นชื่อเดียวกับซอยที่ค่ายตั้งอยู่ พร้อมกันนั้น นายห้างทองทศ ก็ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ‘โผน’ ด้วยความระลึกถึงน้องชายผู้จากไป ‘โผน อินทรทัต’ ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย เป็นรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และเป็นโฆษกคณะปฏิวัติและแกนนำผู้ก่อการฯ ซึ่งได้ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492

โผน กิ่งเพชร ขึ้นชกมวยสากลครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2498 และทำฟอร์มชนะนักมวยชื่อดังในรุ่นฟลายเวตและแบนตัมเวทของไทยในยุคนั้นหลายคน เช่น บุญธรรม วิถีชัย, พร พัลธุมเกียรติ, สมยศ สิงหพัลลภ และประยุทธ ยนตรกิจ จากนั้นได้ขึ้นชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลฯ (OPBF) ชนะคะแนน ‘แดนนี่ คิด’ เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ จึงทำให้ได้มีชื่อติดอันดับโลก 

เข้าสู่ทศวรรษ 2500 โผนได้มีโอกาสชกกับ ‘มานูเอล อาร์เมนตรอส’ นักมวยระดับรองแชมป์โลกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยนัดนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปเชียร์โผนในเวทีด้วยตัวเอง ซึ่งผลก็ปรากฏว่าโผนได้รับชัยชนะ 

ต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ. 2503 โผนยังคงรักษาฟอร์มสดต่อเนื่องชนะนักมวยฟิลิปปินส์ จึงทำให้ได้รับโอกาสชิงแชมป์โลกกับ ‘ปัสกวล นิโกลัส เปเรซ’ (Pascual Nicolás Pérez) นักมวยสากลชาวอาร์เจนตินา แชมป์โลกเจ้าของฉายา ‘ยักษ์แคระ’ ในเดือนเมษายน 2503

 

โผน เลือดไทย ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า

การก้าวขึ้นมาชิงแชมป์โลกของโผน กิ่งเพชร ได้สร้างกระแสความหวังให้แก่พี่น้องชาวไทยเป็นอย่างมากว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะมีแชมป์โลกในระดับนานาชาติ ถึงขนาดที่ว่าได้มีการแต่งเพลงเพื่อ ‘เชียร์โผน’ เป็นการเฉพาะ และมีการเปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุและรถขยายเสียง โดยจากการสืบค้นของผู้เขียน พบว่าปัจจุบันมีเพลงเชียร์โผน ที่หาฟังได้จำนวน 2 เพลง ได้แก่ เพลงเชียร์โผนทำนองกราวกีฬา ที่ขับร้องว่า 

“กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮา-ไฮ ฮา-ไฮ  กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮา-ไฮ ฮา-ไฮ โผนชิงแชมป์ฟลายเวทเพื่อชูชาติไทย โผนจะได้มีชัย โปรดเป็นกำลังใจ ตะละล้า

วันที่สองเมษามหาฤกษ์ ชาวไทยเอิกเกริกกันทั่วหน้า โผนจะเข้าชิงมงกุฎสุดโสภา ในนามของเหล่าประชาชาติไทย”

จากเนื้อร้องของเพลงเชียร์โผน (ทำนองกราวกีฬา) จะสังเกตว่า ตามกำหนดการเดิมการชิงแชมป์โลกของโผนจะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2503 แต่เมื่อใกล้ถึงวันชิงแชมป์โลก ปัสกวล เปเรซ ติดปัญหาบางประการ ซึ่งเพื่อมิให้เสียรายการทางผู้จัดจึงเลื่อนมาเป็นวันที่ 16 เมษายน 2503

ขณะที่เพลงเชียร์โผนเพลงที่สอง น่าจะเป็นเพลงที่แฟนมวยและคนไทยในยุคนั้นคุ้นหูมากที่สุดเป็นเพลงที่แต่งโดย ‘สุรพล โทณะวณิก’ ขับร้องโดย ‘มีศักดิ์ นาครัตน์’ ทำนองเป็นเพลงมาร์ชปลุกใจให้ฮึกเหิม โดยมีเนื้อหาคำร้องขึ้นต้นว่า

“พวกเราต้องไปเชียร์โผน เพราะโผนเป็นไทย ลูกไทย เลือดไทย
เกิดเป็นไทย สู้เพื่อไทย ปักชื่อไว้ให้ลือทั้งหล้า
อย่าให้ชาติตื่นแถว มาลบรอยไทย เลือดไทย ชาติไทย
ต้องเชียร์โผน ต้องเชียร์โผน ต้องเชียร์โผน โผน โผน โผน โผน
เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทย ก็ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า”

มีเรื่องเล่าสนุก ๆ ว่ากระแสเพลงเชียร์โผน โด่งดังชนิดที่ว่าเด็ก ๆ ในยุคนั้นได้นำเนื้อร้องเพลงเชียร์โผนไปแปลงร้องกันอย่างตลกขบขันว่า “โผน กิ่งเพชร เปเรซ กิ่งไผ่ โผน มือไวต่อยไข่ เปเรซ” ร้องฮิตกันติดปากทั่วบ้านทั่วเมือง

ความน่าสนใจคือ เพลงเชียร์โผนทั้งสองเพลง ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นกระแสการชิงแชมป์โลกของโผน กิ่งเพชร แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงบริบทสังคมและอารมณ์ความรู้สึกในช่วงทศวรรษ 2500 ในเรื่องชาตินิยม (nationalism) และคติเชื้อชาตินิยม (Racism) ของไทย ผ่านการผูกโยง โผน เข้ากับคำว่า ‘ชาวไทย’ ‘ชาติไทย ‘ลูกไทย’ และ ‘เลือดไทย’

คงจะพอกล่าวได้ว่า กระแสการชิงแชมป์โลกของโผนในปี พ.ศ. 2503 จึงมิได้เป็นเพียงแค่เรื่องทางการกีฬาโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกทางสังคมการเมืองไทยในบริบทชาตินิยมและคติเชื้อชาตินิยมที่สืบเนื่องมาหลายทศวรรษก่อนหน้า 

โดยเฉพาะหากนับตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับกรณีข้อพิพาทดินแดนบริเวณประสาทเขาพระวิหารกับกัมพูชา จนนำมาสู่การปลุกเร้ากระแสชาตินิยมภายในประเทศ การตระหนักต่อปัญหาภัยคอมมิวนิสต์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนาม ไปจนถึงประเด็นเรื่องคติเชื้อชาติอย่าง ‘ลูกจีน’ ที่ผูกโยงกับมิติทางการเมืองกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสังคมไทยในยุคนั้นเรียกว่า ‘จีนแดง’ ภายใต้ความกังวลเรื่องภัยคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งคงมิสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ กระแสการ “เชียร์โผน” ก็นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงสุดในชีวิตของโผน กิ่งเพชร จากนักมวยตัวเล็ก ๆ ที่เดินทางจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้ามาตามฝันการเป็นแชมป์โลกในพระนคร โผนเองก็คงจะคาดคิดไม่ถึงว่าการชิงแชมป์โลกจะทำให้เขาได้ก้าวขึ้นสู่ฐานะตัวแทนของ ‘ชาติไทย’

ชาติ ถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งชาติได้ถูก “ย่อส่วน” ให้อยู่ในรูปแบบของ ‘ตัวแทน’ ผ่านนักกีฬาของชาติ ที่เห็นได้ จับต้องได้ และสัมผัสได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นาน แต่ก็พอจะกล่าวได้ว่าในชั่วระยะเวลาหนึ่ง โผน กิ่งเพชร คือ ‘ร่างทรง’ หรือ ‘องค์ประทับ’ ของความเป็นชาติไทย และยังช่วยกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกรักชาติของประชาชนผ่านการชิงแชมป์โลกในคืนวันที่ 16 เมษายน 2503

 

โผน ชนะ เปเรซ

ศึกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทสถาบันเดอะริง ในคืนวันที่ 16 เมษายน 2503 จัดขึ้น ณ สนามมวยลุมพินี กำหนดการชกทั้งสิ้นจำนวน 15 ยก โดยในคืนนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ประทับที่ชั้น 2 ของอัฒจันทร์ด้านทิศใต้ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ โผน กิ่งเพชร

อย่างไรก็ดี แม้การชกชิงแชมป์โลกในครั้งนี้จะไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เนื่องจากในยุคดังกล่าวเพิ่งเป็นช่วงยุคเริ่มต้นรายการโทรทัศน์ กระนั้น ก็มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง และมีการบันทึกภาพไว้สำหรับเป็นภาพยนตร์สารคดีฉายตามโรงภาพยนตร์ในภายหลัง รวมทั้งยังมีการเล่าบรรยายอย่างออกอรรถรสบนหน้าหนังสือพิมพ์ให้ผู้อ่านรับทราบ ดังที่หนังสือพิมพ์สารเสรี รายงานว่า

“ทั้งเปเรซผู้ครองตำแหน่ง และโผนผู้ท้าชิง ขึ้นเวทีเตรียมพร้อมแต่เวลา 19.18 น. โผนอยู่มุมแดง มีอาจารย์นิยม ทองชิต และนายทองทศ อินทรทัต เป็นพี่เลี้ยง ฝ่ายเปเรซในกางเกงขาวอยู่มุมน้ำเงินโดยมีลาซาโร โคซี่ ผู้จัดการ และฟิลิปเป ซิดูรา เทรนเนอร์เป็นพี่เลี้ยง ทั้งสองฝ่ายสมบูรณ์เต็มที่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จถึงเวทีลุมพินีเมื่อเวลา 19.30 น. หลังจากพลเอกถนอม กิติขจร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวกราบบังคมทูลถึงการแข่งขันแชมป์เปี้ยนโลกครั้งนี้เสร็จแล้ว ศึกชิงแชมป์เปี้ยนโลกระหว่างเปเรซแห่งอาร์เย็นตินาผู้ครองตำแหน่งกับโผน กิ่งเพชร ผู้ท้าชิงก็เริ่มขึ้นท่ามกลางความสนใจของแฟนมวยรอบเวทีทั้งไทยและชาวต่างประเทศอันล้นหลาม ซึ่งหมายมั้นดูการชิงแชมป์เปี้ยนโลกกำหนด 15 ยกครั้งนี้”

การชกระหว่าง โผน และเปเรซ ดำเนินไปอย่างเร้าใจ และตลอดเกมส์การชก 15 ยก ก็เป็นไปอย่างสนุกสูสี ชนิดที่ว่า “เปเรซแขนตก โผนก็แย่” ซึ่งหนังสือพิมพ์สารเสรี ก็ได้เล่าถึงบรรยากาศหลังเกมส์การชกครบ 15 ยก และก่อนการประกาศผลคะแนนว่า

“ผลการชิงชัยครบ 15 ยก แฟนมวยกลับเงียบรอฟังผลการรวมคะแนนแต่ละฝ่ายใจระทึก กระทั่งนายเจือ จักษุรักษ์ ผู้เข้ามาเป็นโฆษกคู่นี้ขึ้นมายืนบนเวทีบอกผลการตัดสินของกรรมการทั้ง 3 นาย ดังนี้

กรรมการบนเวทีลอเร็นโซ ทอร์เรียลบา แห่งอาร์เจ็นตินาให้เปเรซ ชนะ 145 ให้โผน 143 เล่นเอาแฟนมวยรอบเวทีนิ่งเงียบไปหมด และเมื่อบอกว่าอาจารย์วงศ์ หิรัณยเลขา กรรมการให้คะแนนโผนชนะ 147 ให้คะแนนเปเรซ 137 เสียงจึงคะนึงกังวานขึ้นมาอีก และต้องเงียบเมื่อต้องฟังผลจากกรรมการชาติที่เป็นกลาง แน๊ต เฟล็ชเชอร์ ชาวอเมริกัน บรรณาธิการนิตยสาร ‘เดอะริง’ อีกคนหนึ่ง

ทันทีที่บอกว่า แน๊ต เฟล็ชเชอร์ ให้โผน 146 และให้เปเรซ 140 เวทีลุมพินีแทบจะถล่มทลาย เป็นอันว่าโผนเป็นฝ่ายชนะคะแนน 2 ต่อ 1 ทอร์เรียลบา ไปยกมือโผนชนะ องค์พระประมุขแห่งชาติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงปรบพระหัตถ์ทั้งสองพระองค์ พร้อมกับเสียงตะโกนโห่ร้องของแฟนมวยดังกังวานไปหมด เป็นอันว่าโผนได้ครองแชมป์เปี้ยนโลกรุ่นฟลายเวท แต่บัดนี้เป็นต้นไปแล้ว

หลังจากได้ครองแชมป์เปี้ยนโลก โผนได้เข้าไปรับพระราชทานถ้วยพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ท่านได้เอาพระหัตถ์ตบหลังแชมป์เปี้ยนโลกคนใหม่ด้วยความพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก”

‘โผน กิ่งเพชร’ ตำนานนักชกผู้ยิ่งใหญ่ ‘ตัวแทน’ แห่งความเป็นชาติไทย

การคว้าแชมป์โลกของโผน กิ่งเพชร ไม่เพียงแต่ทำให้ ณ ช่วงเวลาหนึ่งโผนจะกลายเป็นจุดศูนย์รวมแห่งความรู้สึกดีใจและปลื้มปิติของทุกคนในชาติ แต่โผน กิ่งเพชร ยังมีสถานะราวกับ ‘ตัวแทน’ ที่นำพาประเทศไทยในยุคระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ประกาศศักดาก้าวขึ้นไปสู่เวทีกีฬานานาชาติได้สำเร็จ ดังที่หนังสือพิมพ์สารเสรี พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ว่า

“โผน ชนะ เปเรซ ชกกันอย่างดุเดือดจนอาบเลือดทั้งคู่... ในที่สุดโผนก็ได้นำประเทศไทยไปสู่สังคมอันมีเกียรติยิ่งของโลกด้วยการชกชนะเปเรซท่ามกลางความตื่นเต้นเร้าใจของประชาชนคนดูมากกว่าสามหมื่นคนเมื่อเย็นวันที่ 16 เดือนนี้ ทั้งโผนและเปเรซสู้กันอย่างดุเดือดที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการชกมวยรุ่นฟลายเวท ฝ่ายหนึ่งชกเพื่อป้องกันตำแหน่ง อีกฝ่ายไม่ใช่ชกเพื่อหวังครองตำแหน่งของโลกแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่ว่าเพื่อเกียรติของชาติ ซึ่งประชาชนเอาใจช่วยทั้งประเทศอีกด้วย”

 

ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่ง

หลังได้ตำแหน่งแชมป์โลกจากปาสคาล เปเรซ โผนก็สามารถรักษาตำแหน่งแชมป์โลกไว้ได้ 3 ครั้ง ก่อนต่อมาจะเสียแชมป์ให้กับ ‘ไฟติง ฮาราดะ’ นักชกชาวญี่ปุ่น กระนั้นถึงแม้ว่าจะเสียแชมป์โลกไป แต่โผนก็ยังชิงแชมป์กลับคืนมาได้ในที่สุด และแม้ในช่วงท้ายอาชีพจะมีข่าวเรื่องปัญหาในการฝึกซ้อมและประพฤติตัว แต่โผนก็สามารถคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งที่สาม ก่อนจะเสียแชมป์ในไฟท์ป้องกันแชมป์ถัดมา และเมื่อไม่สามารถทำฟอร์มกลับมาเป็นแชมป์โลกได้อีกครั้ง โผนก็ตัดสินใจแขวนนวมในปี พ.ศ. 2509 ขณะมีอายุ 31 ปี

ตลอดชีวิตการชกมวยสากลอาชีพ โผนเป็นนักมวยสากลอาชีพของไทยที่เป็นแชมป์โลกสถาบันหลักถึงสามครั้ง ได้สร้างความหวังและให้ความสุขแก่พี่น้องคนไทยเป็นอย่างมาก กระนั้นกล่าวกันว่า ในช่วงบั้นปลายชีวิตของโผนกลับไม่น่าอภิรมย์นัก เนื่องจากมีอาการติดสุราและมีหลายโรคภัยรุมเร้าจนทำให้โผนเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุได้ 47 ปี 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียง ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่ง แต่ชื่อเสียงของโผน กิ่งเพชร ก็อยู่ในหัวใจและความทรงจำของคนไทยอยู่เสมอ ดังเห็นได้จากเมื่อโผนเสียชีวิตไปแล้ว บริษัทกันตนาได้ผลิตละครชีวประวัติของโผน กิ่งเพชร ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในปี พ.ศ. 2529 นำแสดงโดย ‘โกวิท วัฒนกุล’ และต่อมามีการสร้างอนุสรณ์สถานโผน กิ่งเพชร ขึ้นที่บริเวณชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.2535 

รวมทั้งมีการกำหนดให้วันที่ 16 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันนักกีฬายอดเยี่ยม’ ของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย และล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2566 โผน กิ่งเพชร ได้รับการยกย่องคัดเลือกเข้าสู่หอเกียรติยศ International Boxing Hall of Fame (IBHOF) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ประจำปี ค.ศ.2023 โดยสภามวยแห่งเอเชียได้ยกย่องโผนว่า คือตำนานนักชกผู้ยิ่งใหญ่ เป็นอดีตแชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) ที่ไม่มีวันลืมเลือน

สำหรับบางคนนั้น ชาติยิ่งใหญ่ ในขณะที่ชีวิตคนนั้นเล็กน้อย แต่สำหรับชีวิตคนเล็ก ๆ อย่างโผน คงไม่มีช่วงเวลาใดจะยิ่งใหญ่มากไปกว่า ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่งที่เขาได้กลายเป็นความหวังและเป็นตัวแทนชาติไทยในวันชิงแชมป์โลก ดังเห็นได้จากประวัติเทปภาพยนตร์การชกชิงแชมป์โลกในคืนวันที่ 16 เมษายน 2503 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวถูกบันทึกด้วยฟิล์ม ๑๖ มิลิลิเมตร ขาว - ดำ โดยสำนักงานสรรพสิริ ของ ‘สรรพสิริ วิรยศิริ’ ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ ซึ่งต่อมาได้มีการนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และเดินสายไปทั่วประเทศภายหลังโผนเป็นแชมป์โลก โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เล่าว่า โผนได้เก็บรักษาภาพยนตร์ชุดนี้ไว้เป็นอย่างดี 

“หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์นี้จาก มณฑา สีดอกบวบ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของโผน ซึ่งมิใช่แต่ฟิล์มภาพยนตร์การชกครั้งประวัติศาสตร์นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟิล์มการชกป้องกันตำแหน่งและการชิงตำแหน่งกลับคืนอีกทุกครั้ง จนครั้งที่แพ้เสียตำแหน่งครั้งสุดท้าย

ภรรยาของโผนเล่าว่า โผนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาฟิล์มการชกของเขาไว้อย่างดี ด้วยความหวงแหนที่สุด เพราะเขาเห็นว่า ฟิล์มภาพยนตร์เหล่านี้คือประจักษ์พยานแห่งฝีไม้ลายมืออันเป็นเลิศของเขา อย่างที่ชอบเรียกกันว่าทางเทวดาหรือขั้นเทพ หากไม่มีภาพยนตร์เหล่านี้ ก็จะไม่มีใครประจักษ์ในความสามารถของเขาและวันหนึ่งโลกจะลืม

ภาพยนตร์นี้ โดยเฉพาะม้วนที่บันทึกการชกครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ จึงเป็นการบันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งของชาติ ในชั่วขณะหรือวาระแห่งความปีติ ความฮึกเหิมและกระแสความสุขร่วมกันของคนไทย ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดได้ด้วยคำพูดใด ๆ”
.
หากประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่ส่วนใหญ่ถูกผูกโยงไว้ด้วยตัวแทนจากชนชั้นสูงและชนชั้นนำ และในบริบทประวัติศาสตร์สังคมไทย (และสังคมโลก) ที่ความคิดเรื่องชาตินิยมยังไม่มีวันเลือนหาย แม้จะเป็นเพียงแค่ ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่งในกัลป์เวลาอันแสนยาวนาน แต่การที่คนธรรมดาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะก้าวขึ้นไปสู่ฐานะ ‘ตัวแทน’ แห่งความเป็นชาติไทย ก็นับว่าควรบันทึกไว้มิให้ลืมเลือน

ด้วยความระลึกถึง โผน กิ่งเพชร
จาก อิทธิเดช พระเพ็ชร

 

ภาพ: ภาพข่าวจากมวยสยาม โดย Nation Photo

อ้างอิง:
     ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด, โผน กิ่งเพชร : ตำนานแชมป์โลกคนแรกของไทย ผู้ผ่านสังเวียนชีวิตที่เหี้ยมโหดยิ่งกว่าบนผืนผ้าใบ
     ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558),
     
ศิลปวัฒนธรรม, “โผน กิ่งเพชร” กลายเป็นแชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย
     ศิลปวัฒนธรรม, โผน กิ่งเพชร ได้รับการยกย่องเข้าสู่หอเกียรติยศมวยโลก ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐ
     หนังสือพิมพ์สารเสรี 19 กุมภาพันธ์ 2502
     หนังสือพิมพ์สารเสรี 17 เมษายน 2503
     
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), การชกมวยชิงแชมเปี้ยนโลกระหว่าง โผน กิ่งเพชร-ปาสคาล เปเรส พ.ศ. ๒๕๐๓ เวทีมวยลุมพินี กรุงเทพฯ
     อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์, กีฬากับความสามัคคีตามแบบชาตินิยม