พระปิ่นเกล้า ‘วังหน้า’ ผู้ทรง popular กระทั่งวางพระองค์ไม่ให้ ‘วังหลวง’ หวาดระแวง

พระปิ่นเกล้า ‘วังหน้า’ ผู้ทรง popular กระทั่งวางพระองค์ไม่ให้ ‘วังหลวง’ หวาดระแวง

เรื่องราวของ พระปิ่นเกล้า ‘วังหน้า’ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงระวังพระองค์ ไม่แสดงบทบาทเพื่อไม่ให้เป็นที่หวาดระแวงของวังหลวง

  • พระปิ่นเกล้า วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเสมอพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง แต่อย่างไรก็ดี ในตำนานวังหน้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัธยาศัยไม่โปรดที่จะแสดงยศศักดิ์
  • ความ popular ของพระปิ่นเกล้า ทำให้ทรงระวังพระองค์ ไม่แสดงบทบาท เพื่อไม่ให้เป็นที่หวาดระแวงของวังหลวง

ภาพ: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับซึ่งเป็นอาคารสองชั้นแบบตะวันตก หรืออาคารแบบฝรั่งแห่งแรก ๆ ในสยาม

ปัจจุบันพระที่นั่งแห่งนี้ตั้งอยู่และได้รับการดูแลโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมเช่นเดียวกับอาคารพระที่นั่งอื่น ๆ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าในอดีต ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน

ภาพ: ห้องรับแขก บนที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นห้องที่พระปิ่นเกล้าเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 มีภาพเขียนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ถวายพระปิ่นเกล้า สะท้อนความสัมพันธ์ไทย - อเมริกา

ภาพ: ห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิ เดิมเคยใช้เป็นห้องเสวย บนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

The People เรียบเรียงพระราชประวัติของ ‘พระปิ่นเกล้า’ จากคำให้สัมภาษณ์ของ ‘ยุทธนาวรากร แสงอร่าม’ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้นำชมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566

ภาพ: ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระปิ่นเกล้า พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 1 พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 พระอนุชาในรัชกาลที่ 3 และ 4

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าน้อย ในรัชกาลที่ 2) พระองค์พระราชสมภพช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ของในหลวงรัชกาลที่ 1

พระปิ่นเกล้าดำรงพระอิสริยศสมเด็จเจ้าฟ้า เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ แต่คำนำหน้าพระนามจะแปรเปลี่ยนไปตามแต่รัชสมัย 

ในปีที่พระปิ่นเกล้าพระราชสมภพ ขณะนั้นพระบรมราชชนกดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้าพระองค์ที่ 2 ในสมัยรัตนโกสินทร์) และในเวลาต่อมาพระบรมราชชนกขึ้นครองราชย์เป็นในหลวงรัชกาลที่ 2 เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระปิ่นเกล้าดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าน้อย ทรงดำรงพระยศนี้ 16 ปี ซึ่งนับว่ายังทรงอยู่ในช่วงพระดรุณ ดังนั้นบทบาทในการบริหารราชการจึงยังไม่ปรากฏ   

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในรัชสมัยนี้พระปิ่นเกล้านับเป็นพระอนุชา (น้องชาย) ร่วมพระบรมราชชนก ต่างพระราชชนนีกับในหลวงรัชกาลที่ 3 พระปิ่นเกล้าดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระนามอย่างเป็นทางการ อยู่ในสถานะทรงกรม คือเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ผู้มีความสามารถ มีอำนาจปกครองไพร่พลทำกิจราชการต่าง ๆ โดยในสมัยนี้พระองค์ท่านกำกับกรมทหารปืนใหญ่

บทบาทของพระองค์มีขึ้นเป็นลำดับตลอดสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งนับเป็นเวลา 27 ปีกว่า พระปิ่นเกล้าทรงสนพระทัยในวิทยาการต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้ของชาติตะวันตก ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2371 มิชชันนารีอเมริกันได้เข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ทำให้ชาวสยามเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ 

ภาพ: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระปิ่นเกล้าทรงคบค้าสมาคมกับพวกมิชชันนารี และทรงศึกษาวิชาการและขนบธรรมเนียมของฝรั่งกับมิชชันนารีอเมริกัน เจ้านายและข้าราชการที่สนใจในวัฒนธรรมตะวันตก ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เวลานั้นยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เวลานั้นยังเป็นหลวงสิทธินายเวรมหาดเล็กต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนารถ

เมื่อฝรั่งเข้ามาทำสนธิสัญญาในรัชกาลที่ 3 นั้น ก็ได้อาศัยความรู้ภาษาอังกฤษจากพระปิ่นเกล้าเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอร์ เจมส์ บรู๊ค (Sir James Brooke) เป็นทูตมาเมืองไทยครั้งนั้นว่า 

“...เห็นว่า ผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ด้วยการครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้...”

ภาพ: จดหมายเหตุกระแสรับสั่งจากในหลวงรัชกาลที่ 3 เรื่องเซอร์ เจมส์ บรู๊ค (Sir James Brooke)

ด้านการทหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดให้พระปิ่นเกล้าทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ โปรดวิชาต่อเรือกำปั่นรบ ได้ทรงศึกษาตำราเครื่องจักรกลกับมิชชันนารี จนทรงสร้างเครื่องเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก

ในหลวงรัชกาลที่ 3 มีกระแสพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ว่า “การแผ่นดินไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่า ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว 

“ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ (รัชกาลที่ 4) ท่านฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า) ๒ พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่า ก็มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจเพียงนี้ จึ่งได้โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่เห็นพร้อมเพรียงกัน การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป 

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพะม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ได้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไป จะไม่มีผู้ช่วยทะนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้การแผ่นดินมีอยู่สี่หมื่นชั่ง ขอสักหมื่น ๑ เถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย”

บรมราชาภิเษก - บวรราชาภิเษก - อุปราชาภิเษก 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ในหลวงรัชกาลที่ 4 เป็นพระเชษฐาธิราช (พี่ชาย) ร่วมพระบรมราชชนกพระบรมราชชนนีเดียวกันกับพระปิ่นเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานพระนามเจ้าฟ้าพระอนุชา (น้องชาย) พระองค์นี้ว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี ก่อนบวรราชาภิเษกให้เป็นวังหน้า

พระปิ่นเกล้า เป็นวังหน้าพระองค์เดียว ที่ใช้คำว่า บวรราชาภิเษกในการมาครองวังหน้า (ส่วนคำว่าบรมราชาภิเษก ใช้สำหรับวังหลวง) ขณะที่วังหน้าพระองค์อื่นใช้คำว่า อุปราชาภิเษก และเป็นที่ทราบกันว่า สมัยพระปิ่นเกล้า วังหน้ามีสถานะสูงสุด มีพระเกียรติพระยศสูงสุดกว่าวังหน้าทุกสมัย และมีทหารจำนวนมาก 

ต่อมาเมื่อบวรราชาภิเษกให้พระอนุชาเป็นวังหน้าแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 4 พระราชทานพระนามพระอนุชาเป็น สมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำว่า พระปิ่นเกล้า เป็นคำที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้พระปิ่นเกล้า เป็นคำที่ทุกคนสามารถเรียกได้ จากเดิมในธรรมเนียมโบราณ ชาวสยามจะไม่ออกพระนามเรียกพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระนามของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่เรียกกันทุกวันนี้ จึงไม่ใช่พระนามที่แท้จริง แต่เป็นพระนามที่ประชาชนเรียกขาน ในรัชกาลที่ 4 พระองค์จึงทรงบัญญัติพระนามแผ่นดิน (นามรัชกาล) เป็นนามที่ตั้งให้คนทั่วไปเรียก ซึ่งพระปิ่นเกล้า เป็นพระนามที่คนทั่วไปสามารถเรียกได้ 

ก่อนหน้านั้น ในวรรณคดีมีคำว่า ‘ปิ่นเกล้า’ หมายถึงกษัตริย์อยู่แล้ว ไม่ได้มีนัยเพียงเครื่องประดับ ในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 พระนามมงกุฎ คล้องกับ crown ในภาษาอังกฤษ สอดคล้องกับธรรมเนียมตะวันตก พระนามรัชกาลที่ 4 แสดงความเป็นกษัตริย์อยู่แล้ว จากเดิมธรรมเนียมโบราณสยามไม่ได้มองว่ามงกุฎคือส่วนสำคัญของความเป็นกษัตริย์ แต่มองเรื่องฉัตรมากกว่า 

เมื่อบวรราชาภิเษกเป็นวังหน้าแล้วทรงจัดตั้งทหารวังหน้าขึ้นทั้งทหารบก ทหารเรือ จ้างนายร้อยเอก โทมัส ยอร์ช น็อกส์ (Thomas George Knox) นายทหารอังกฤษ มาเป็นครูฝึกหัดตามแบบอังกฤษ ส่วนทหารเรือก็โปรดให้พระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์เป็นนายทหารเรือ และทรงต่อเรือรบกลไฟ มีเรืออาสาวดีรส และเรือยงยศอโยชฌิยา เป็นต้น สะสมปืนต่าง ๆ และเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์

ความ popular ของพระปิ่นเกล้า ทำให้ทรงระวังพระองค์ ไม่แสดงบทบาท เพื่อไม่ให้เป็นที่หวาดระแวงของวังหลวง

พระปิ่นเกล้า วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเสมอพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง แต่อย่างไรก็ดี ในตำนานวังหน้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัธยาศัยไม่โปรดที่จะแสดงยศศักดิ์ โดยปรกติเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าก็เสด็จออกที่โรงรถ เมื่อเวลามีการพิธีจึงเสด็จออกท้องพระโรง จะเสด็จที่ใดถ้ามิได้เป็นราชการงานเมืองก็มักจะเสด็จแต่โดยลำพังพระองค์ บางทีทรงม้าไปกับคนตามเสด็จคนหนึ่งสองคน โดยพอพระราชหฤทัยที่จะเที่ยวประพาสมิให้ใครรู้ว่าพระองค์เสด็จ แม้จะเสด็จไปตามวังเจ้านายก็ไม่ใคร่ให้รู้พระองค์ก่อน

พระปิ่นเกล้าไม่โปรดมางานพิธี หลายคนตีความว่าท่านป่วยการเมือง แต่บางทีท่านก็ทรงพระประชวรจริง ท่านไม่โปรดพิธีรีตอง จึงโปรดไปประทับที่สีทา จังหวัดสระบุรี เป็นเวลานาน ไม่ประทับในเมือง เพื่อไม่ต้องมีบทบาทเทียบกับวังหลวง

นอกจากนั้น มีเอกสารพระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 5 พระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ลงวันที่ 23 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 112 ทรงบันทึกเรื่องราวระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า พระปิ่นเกล้ากราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 4 ว่าไม่เคยคิดประทุษร้ายต่อรัชกาลที่ 4

“ในรัชกาลนี้ ถ้าจะว่าในส่วนวังหน้ากับวังหลวง ไม่สู้ปรกติเรียบร้อยเหมือนรัชกาลที่ 2 ด้วยเหตุว่าวังหลวงทรงระแวงอยู่แต่เดิมแล้วว่า จะมีคนนิยมวังหน้ามาก

“ส่วนวังหน้าเล่าท่านจะทรงการอะไรมักจะซู่ซ่ามากเกินไป และมีผู้เขี่ยกลางอยู่ด้วยบ้าง (คนยุ) 

“แต่ครั้นเมื่อลงปลาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวรมากแล้ว จะเป็นในปลายปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ หรือต้นปีฉลู สัปตศก ๑๒๒๗ 

“ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 4) เสด็จไปเยี่ยมประชวร 2 ครั้ง ไม่โปรดให้ลูกเธออื่นตามเสด็จเข้าไปเลย มีแต่พ่อ (รัชกาลที่ 5) เชิญพระแสงอยู่คนเดียว ข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็มีแต่กลีบ ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าจอมมารดาคนโปรด 

“เสด็จเข้าไปเยี่ยมประชวรถึงในห้องพระบรรทม พระที่นั่งอิศเรศรราชานุสร ซึ่งในเวลานั้นเรียกพระที่นั่งวงจันทร์ แต่ยังอยู่ที่พระบรรทมเดิมห้องข้างใต้

“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จเข้ามากอดพระบาท ทรงพระกันแสงว่า หาช่องที่จะกราบทูลอยู่ช้านานแล้ว ก็ไม่มีโอกาส บัดนี้ไม่มีใคร จะขอกราบทูลแสดงน้ำใจที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 

“มีผู้กราบบังคมทูลกล่าวโทษว่า สะสมเครื่องศัสตราวุธ กระสุนดินดำขึ้นไว้ ก็ได้สะสมไว้จริง มีอยู่มากไม่นึกกลัวใคร แต่เป็นความสัตย์จริงที่จะได้คิดประทุษร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่มีเลยสักขณะจิตหนึ่ง แล้วถวายสัตย์สาบานเป็นอันมาก ซึ่งตระเตรียมไว้นั้น เพื่อจะป้องกันผู้อื่นเท่านั้น 

“ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 4) ก็ทรงพระกันแสงกอดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และทรงแสดงความเชื่อถือ มิได้มีความรังเกียจอันใดในข้อนั้น 

“การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กราบทูลนี้ในครั้งแรกซึ่งเสด็จไปเยี่ยมประชวร ต่อไปไม่ช้าก็เสด็จขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้เสด็จสีทา (พระบวรราชวัง ที่สระบุรี) การสมัครสมานชี้แจงกันในระหว่างพี่น้อง ที่ใกล้ชิดกันเช่นนี้ นับว่าเป็นการดีอย่างยิ่ง และเป็นการที่ท่านได้ทรงประพฤติกันมาเป็นตัวอย่างดังนี้”

พระปิ่นเกล้า ‘วังหน้า’ ผู้ทรง popular กระทั่งวางพระองค์ไม่ให้ ‘วังหลวง’ หวาดระแวง

ภาพ: เอกสารพระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 5 พระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ลงวันที่ 23 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 112

หลักฐานที่แสดงความน้อยพระทัยของรัชกาลที่ 4 ต่อมุมมองที่ต่างชาติมองวังหน้าอย่างชื่นชมมากกว่าวังหลวง 

ในหลวงรัชกาลที่ 4 มองว่าชาวต่างชาติลงข่าวคลาดเคลื่อน ผิดไปจากความเป็นจริงในสยาม ทั้งที่ต่างชาติรู้ข้อเท็จจริง 

มีเอกสารจากพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชทานพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพ็ง เพ็ญกุล) คณะทูตไทยไปประเทศอังกฤษไป เมื่อ พ.ศ. 2401 (ฉบับที่ 33) ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับสยามที่ผิดจากข้อเท็จจริง ทั้งเป็นข่าวลือ โดยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจคือ

1) จำนวนทหารระบุว่า ทหารวังหลวงมี 1,000 คน ทหารวังหน้ามี 800 คน  “...ที่จริงทหารวังหลวงมีที่กองพระพหลจำนวน ๘๐๐ เศษ รักษาพระองค์ปืนปลายหอก ๔๐๐ เศษ กับพวกเกณฑ์หัดทหารใหม่อีก ๓๐๐ เศษเท่านั้น” รวมทหารวังหลวง ๑,๕๐๐ คน และทหารวังหน้านั้น “ทหารวังหน้า พวกญวนถึง ๖๐๐ เศษ [ญวนเชลย-อนัมสยามยุทธ] ฤา ๗๐๐ ทหารใหม่ถึง ๒,๐๐๐ ไม่ใช่ฤา” ซึ่งแปลว่าวังหน้ามีทหารไม่ต่ำกว่า 2,600 คน

2) “ขุนหลวงวังหลวงแก่ชราคร่ำคร่า ผอมโซเซ เอาราชการไม่ได้ ไม่แข็งแรง โง่เขลาได้เป็นขุนหลวงเพราะเป็นพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น ถึงการทำสัญญาด้วยอังกฤษ ทะนุบำรุงบ้านเมืองก็ดี แต่งทูตไปก็ดี เป็นความคิดวังหน้าทั้งหมด วังหลวงเป็นแต่อืออือแอแอ พยักพเยิดอยู่เปล่า ๆ เมื่อแขกเมืองเข้ามาหา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึงพูดกับแขกเมืองได้ วังหน้าเป็นหนุ่มแข็งแรงขี่ช้างน้ำมัน ขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤาษีมุนีแพทย์หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก ผู้หญิงก็รักมากเลี้ยงลูกเมียดี เจ้ากลีบเป็นพระมเหสี เฮอมายีสตีข้างใน ข่าวฦาดังนี้ตลอดทั่วเมืองไทยเมืองลาวและจีนฝรั่งอังกฤษทั้งปวงไม่ใช่ฦา...”

ทั้ง 2 ข้อนี้เป็นพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 4 ที่เล่าด้วยความน้อยพระทัยว่าต่างชาติไปเขียนถึงพระองค์ท่านลงหนังสือพิมพ์แบบนี้ 

แต่ตัวต้นฉบับที่เป็นหนังสือพิมพ์นั้น ยังไม่มีใครนำมาเผยแพร่ จึงไม่ทราบว่าจะมีเนื้อความถึงเรื่องอื่นอีกหรือไม่

สำหรับที่มาประเด็นข่าวลือนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เกิดจากมิสเตอร์น็อกส์ นายร้อยเอกทหารอังกฤษอยู่อินเดีย ออกจากอินเดียมาหางานทำในสยาม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้างไว้เป็นครูทหาร โปรดปรานถึงพระราชทานหญิงคนหนึ่งชื่อปรางให้เป็นภรรยา ครั้นรัฐบาลอังกฤษเข้ามาตั้งสถานกงสุล มิสเตอร์น็อกส์เป็นคนรู้ภาษาไทย จึงไปรับเป็นตำแหน่งล่ามอยู่ในสถานกงสุล และอยู่ต่อมาจนได้เป็นกงสุลเยเนราลอังกฤษในกรุงเทพฯ มิสเตอร์น็อกส์เป็นผู้ฝักฝ่ายอยู่ข้างวังหน้า ชอบกล่าวและเขียนติเตียนวังหลวง และยกย่องวังหน้าส่งลงหนังสือพิมพ์

เมื่อมีคำกล่าวติเตียนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จึงทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย และทรงมีพระราชหัตถเลขาข้างต้น

สำหรับในตำนานวังหน้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกว่า “อันเรื่องทรงม้า เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนัก ประทับอยู่พระบวรราชวังเสด็จทรงม้าเล่นในสนามไม่ขาด บางทีก็ทรงคลี...บางทีก็ทรงม้าเข้าล่อช้างน้ำมัน...เห็นจะเปนเพราะเหตุที่โปรดการทหารแกล้วทหารแลสนุกคนองต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ จึงเกิดเสียงกระซิบฦากันว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิชาอาคม บางคนว่าหายพระองค์ได้ บ้างว่าเสด็จลงเหยียบเรือกำปั่นฝรั่งเอียงก็มี กระบวนทรงช้างก็ว่าแขงนัก”

ทั้งนี้ในประเด็นความแตกต่างในระหว่างวังหน้า - วังหลวง ในสายตาชาวต่างชาติ ก็ทำให้คนรุ่นหลังตีความได้เช่นกันว่า ต่างชาติอาจจะต้องการสร้างความแตกแยก เพราะต้องการจะยึดสยาม 

ขณะที่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีการพูดถึงกันอยู่แล้ว สะท้อนว่าชาวต่างชาติคนที่ฝักใฝ่พระปิ่นเกล้ามักจะมีมุมมองแบบนี้ เป็นหลักฐานความ popular ของพระปิ่นเกล้า ซึ่งการเขียนถึง ‘วังหน้า - วังหลวง’ อาจจะมีทั้งส่วนจริงและส่วนที่ไม่จริง 

ขุนนางถูกประหารเพราะชักชวนไพร่พลไปสังกัดพระปิ่นเกล้า 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีกรมการเมือง (ขุนนางระดับต่ำกว่าเจ้าเมือง) ในอีสานถูกประหาร เพราะไปเกลี้ยกล่อมให้คนมาเป็นไพร่พลในสังกัดพระปิ่นเกล้า ซึ่งผิดธรรมเนียม

กรณีที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง คือ ใน พ.ศ. 2379 พระละครบ้านพร้าว ชักชวนไพร่ของเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร ครอบครัวลาวเวียง (เวียงจันทน์) ครอบครัวลาวพวน ไปถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้า) เป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งมีการกวาดคนมาจากหลายที่

ในหลวงรัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพ ข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปชำระบัญชีไพร่พลว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หลังช่วงสงครามเจ้าอนุวงศ์แล้ว

เมื่อทราบว่ามีการชักชวนคนมาสังกัดพระปิ่นเกล้า พระพิเรนทรเทพจึงไม่สามารถทำบัญชีไพร่พลได้ เกิดกรณีความมีการตัดสินว่า พระละครล่วงพระราชอาชญาเอาครัวลาวเมืองหนองคาย เมืองหนองหาร ไปให้เป็นข้าเจ้าต่างกรม มีโทษ ริบราชบาตร (ทรัพย์สิน) และประหารชีวิต

ทั้งนี้นอกจากพระละครบ้านพร้าวแล้ว ยังมีอีกกรณีคือ ขุนประเสริฐเมืองภูเขียว ซึ่งไปเกลี้ยกล่อมชักชวนเลขเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองเขมราฐ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี) มาถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งลูกขุนปรึกษาโทษ เห็นว่าผิดเป็นมหันตโทษให้ประหารชีวิตเสีย

ประเด็นที่น่าสนใจ ในพระราชพงศาวดาร เขียนว่า “การที่เก็บความขึ้นมากล่าวไว้ดังนี้ มีความปรารถนาให้เจ้าและขุนนางต่อไปภายหน้ารู้ไว้ จะได้ไม่คิดตั้งซ่องสุมผู้คนหาผลประโยชน์”

เนื่องจากว่าระบบไพร่หลวง การทำบัญชีไพร่คือ อยากรู้ว่าแต่ละเมืองมีไพร่เท่าไร ซึ่งจะสัมพันธ์กับส่วยที่ส่วนกลางจะได้รับ หากมีไพร่มากก็ต้องส่งส่วยมาก คล้ายภาษีแต่ไม่ใช่เงิน แต่เป็นปริมาณสิ่งของ ถ้าไม่มีของจึงจ่ายเป็นเงิน ก่อนที่สมัยรัชกาลที่ 5 เก็บเป็นเงินอย่างเดียว ทั้งนี้วังหน้าก็มิได้รับส่วยสาอากรเช่นกัน 

เลข (ไพร่) เหล่านี้พอมาขึ้นสังกัดในกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (หรือต่างกรมพระองค์อื่น ๆ ก็ตาม) จัดเป็นกองนอก ไม่เป็นไพร่หลวง เจ้าเมืองก็ไม่สามารถเรียกเก็บส่วยได้ ไม่ถูกเรียกเกณฑ์ใช้แรงงานได้ดังเดิม ชื่ออยู่อีกสังกัด ตัวอยู่ที่เดิม เป็นการทำให้ส่วนกลางเสียผลประโยชน์และดูเป็นการซ่องสุมหาผลประโยชน์ เนื่องจากไพร่กลุ่มนี้ก็ต้องส่งผลประโยชน์ให้เจ้านายที่ตัวเองสังกัดคือพระปิ่นเกล้าแทน

แต่ทั้งนี้จากพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ลงวันที่ 23 พฤษภาคม ร.ศ. 112 

“ครั้งหนึ่งโดยความนิยมนับถือ มีผู้อาสาขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกลาวเป็นกองนอกขึ้นในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นอันมาก ถ้าจะจับว่าเป็นขบถขึ้นในเวลานั้นก็จับได้ แต่ท่าน (รัชกาลที่ 3) หาได้ทรงเช่นนั้นไม่ ให้พิจารณาเอาแต่ตัวผู้ซึ่งขึ้นไปเกลี้ยกล่อมนั้นประหารชีวิตเสีย ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็คงรับราชการอยู่ในตำแหน่งเดิมโดยสนิทสนมเรียบร้อย มิได้ให้มีความสะดุ้งสะเทือนอันใดเลย...”

จากข้อความของรัชกาลที่ 5 ที่เล่าถึงพระปิ่นเกล้าว่า ‘โดยความนิยมนับถือ’ ก็สะท้อนว่าพระปิ่นเกล้าเป็นเจ้านายที่มีคนอยากมาอยู่ด้วย 

วัดกำลังกันระหว่าง ‘วังหน้า - วังหลวง’ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 

วังหน้าเองมีกองกำลังทหาร สามารถเรียกระดมพลได้เคยเกิดเป็นกรณีอยู่ 2 ครั้ง

ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ. 2339 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงไม่เสด็จลงมาเฝ้าฯ จนลุกลามไปถึงว่าข้าราชการวังหน้า ให้เอาปืนใหญ่ขึ้นป้อมไพฑูรย์ และเตรียมต่อสู้กับวังหลวง จนเกือบจะเกิดรบกัน ท้ายที่สุดสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ คือ กรมพระยาเทพสุดาวดี กับกรมพระศรีสุดารักษ์ เสด็จขึ้นไปวังหน้าและสามารถพากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลงมาเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมเชษฐา การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไป 

กรณีดังกล่าวเริ่มต้นจากวังหลวงจะนำปืนไปยิงในพิธีตรุษ เมื่อวังหน้าเห็นเอาปืนขึ้น ก็เอาปืนขึ้นบ้าง เกือบจะรบกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า เพราะความหมายคือ วังหน้าก็สามารถระดมพลได้ ไม่ใช่เพียงวังหลวง เป็นเรื่องที่ต้องมีความระมัดระวังต่อกันมาตลอด

กรณีที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2417 ในประวัติศาสตร์เรียกกันว่า ‘วิกฤตการณ์วังหน้า’ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญคุมกำลังทหารตามแบบอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเรียกระดมทหารวังหน้า ในขณะที่วังหลวงมีไฟไหม้

ท้ายที่สุดหลังจากนั้นจึงมีการกำหนดลดจำนวนทหารลงเหลือ 200 คน จากเดิมวังหน้าสมัยพระปิ่นเกล้ามีทหาร 2,600 คน  “...ให้กรมพระราชวังบวรสฐานมงคล มีทหารปืนเล็กอาวุธสำหรับเฉพาะ ๒๐๐ คน แลทหาร ๒๐๐ คนนี้ให้อยู่แต่ในพระราชวังบวรสฐานมงคล ฤากรมพระราชวังบวรสฐานมงคล จะไปอยู่แห่งใดที่เปนสถานที่วังที่กรมพระราชวังบวรนั้น ทหารจึงจะตามไปอยู่รักษาได้แต่ที่เปนสถานที่วังเท่านั้น...”

ซ่องสุมกำลังคนข้อหาร้ายแรงขั้นประหารชีวิต

กรณีการซ่องสุมกำลังคน จนถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต เมื่อสอบสวนชำระความแล้วมีความผิดฐานกบถ ตัวอย่างแรก หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 สวรรคต ใน พ.ศ. 2346 พระราชโอรส 2 องค์ คือ พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัต ไม่ได้ครองวังประทับในวังหน้า จึงโกรธแค้นคบคิดกันซ่องสุมกำลังจะก่อการ ท้ายสุดเมื่อมีการชำระความได้ความสัตย์ก็ถูกสำเร็จโทษ ถูกประหารชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับก่อการ เป็นเพียงการซ่องสุมแล้วถูกสอดแนม สอบสวนแล้วยอมรับ

อีกกรณีคือ กรณีกรมหมื่นรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2375 นอกจากเรื่องรับสินบนตัดสินคดีความแล้ว ยังมีกรณีเกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมาก ยังไม่ถึงขนาดซ่องสุม

แม้จะทรงให้การว่าไม่ได้คิดก่อการกบถแต่ให้การว่าถ้าสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร จึงโดนข้อหาเรื่องคิดมักใหญ่ใฝ่สูง

นี่คือเหตุการณ์ปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อสิ้นวังหน้าแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 3 ไม่ได้ตั้งใครเป็นวังหน้า แล้วมีเจ้านายหลายพระองค์อยากเป็นวังหน้า ส่วนหม่อมไกรสรถูกประหารชีวิตก็เพราะมีหลาย ๆ ข้อหารวมกัน

 

เรื่องและภาพ : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว